แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจนมัสการพร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์ ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ในการปฏิบัติสมาธินั้น แนวทางปฏิบัติทั่วไป ก็อาศัยแนวทางแห่งองค์ทั้ง ๕ ของปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ อันคำว่า ฌาน นั้นตามศัพท์แปลว่าความเพ่ง หมายถึงจิตที่เพ่งแนบแน่น เป็นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่แนบแน่น จึงจะเรียกว่าฌานคือความเพ่ง เป็นความเพ่งของจิตในกรรมฐานอย่างแนบแน่น จึงจะเรียกว่าฌาน ซึ่งอัปปนาสมาธิ สมาธิอย่างแนบแน่นอันเรียกว่าฌานนั้น ก็ยังมีลักษณะของความแนบแน่นเป็นชั้นๆ ขึ้นไป
อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน
สำหรับในชั้นแรกซึ่งเป็นปฐมฌานความเพ่งที่ ๑ นั้น มีองค์ ๕ คือ
๑. วิตก ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเราแปลกันทั่วไปว่าความตรึก แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความตรึกนึกคิดทั่วไป แต่หมายถึงความตรึกนึกกำหนดในอารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น
๒. วิจาร ความตรอง ที่แปลกันทั่วไปว่าความตรอง แต่สำหรับสมาธิหมายถึงความประคองจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน คือให้ตรึกนึกกำหนดอยู่จำเพาะอารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น ความที่คอยประคองจิตไว้ดั่งนี้เรียกว่าวิจาร ซึ่งมักแปลกันทั่วไปว่าความตรอง แต่ไม่ได้หมายความถึงความตรองเรื่องอะไรต่ออะไร
๓. ปีติ ความอิ่มใจดูดดื่มใจ
๔. สุข ความสบายกายความสบายใจ และ
๕. เอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์อันเดียว ซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิโดยตรง เพราะสมาธิโดยตรงนั้นจะต้องมีเอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว หรือความมีอารมณ์เป็นอันเดียวกันของจิต เรียกว่าเอกัคคตาเป็นลักษณะของสมาธิทั่วไป
องค์ฌานทั้ง ๕
องค์ทั้ง ๕ นี้เป็นองค์ของฌาน ตั้งต้นแต่ปฐมฌานคือฌานที่ ๑ แต่แม้ว่าจิตจะยังไม่เป็นสมาธิแนบแน่นถึงปฐมฌาน ในการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่เบื้องต้นที่เป็นขั้นบริกัมมภาวนา การภาวนาเริ่มต้น อุปจารภาวนา ภาวนาที่จิตเป็นสมาธิใกล้จะแนบแน่น ก็จะต้องอาศัยการปฏิบัติในองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ เป็นอันว่าจะต้องมีการอาศัยองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น
คือ ๑ ในการเริ่มปฏิบัติในขั้นบริกัมมภาวนา ก็จะต้องมีวิตก คือความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ ดั่งเช่นจะยกเอาลมหายใจเข้า ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของสมาธิ คือเป็นกรรมฐานที่จะปฏิบัติ ก็ต้องยกจิตมากำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ตั้งต้นแต่ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ว่านั่งกายตรง ดำรงสติมั่น จำเพาะหน้า คือนำสติมาตั้งอยู่จำเพาะลมหายใจเข้าออก เรียกว่าจำเพาะหน้า เพราะว่าต้องการลมหายใจเข้าออกมาเป็นกรรมฐาน ลมหายใจเข้าออกจึงได้ถูกยกขึ้นมาไว้จำเพาะหน้า จำเพาะหน้าของจิตนั้นเอง เหมือนอย่างจิตเป็นบุคคล ก็มีหน้าจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ดูอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เห็นอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ด้วยสติคือความกำหนด อาการที่ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก กำหนดอยู่ด้วยสติ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ดั่งนี้เรียกว่าวิตกคือความตรึก ต้องใช้วิตกคือความตรึกนี้ ตรึกถึงสมาธิ คือตรึกถึงอารมณ์ของสมาธิ แต่ไม่ตรึกนึกคิดไปในเรื่องอื่นตั้งแต่ในเริ่มต้น อันนี้แหละเป็นตัวบริกัมมภาวนา คือการภาวนาที่เป็นการปฏิบัติเบื้องต้น ต้องมีการกระทำโดยรอบ
ความหมายของคำว่าบริกรรมภาวนา
บริกัมมนั้นตามศัพท์ก็แปลว่ากระทำโดยรอบ ก็หมายความว่ากระทำสติ คือความกำหนดลมหายใจนี้โดยรอบ คือว่าทั่วถึง เมื่อไม่ทั่วถึงก็แปลว่าไม่โดยรอบ ทั่วถึงก็คือว่าลมหายใจเข้าก็ให้รู้ ลมหายใจออกก็ให้รู้ และซึ่งความทั่วถึงนี้ ท่านอาจารย์จึงได้มีอธิบายดังที่กล่าวแล้ว ว่าหายใจเข้านั้นก็เข้าไป ๓ จุด ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน อุระคือทรวงอก นาภีที่พองขึ้น และเมื่อหายใจออกก็ ๓ จุด นาภีที่ยุบลง อุระคือทรวงอก และก็มาออกที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน
แปลว่ามีสติกำหนดให้ทั่วถึงดั่งนี้จึงเรียกว่าบริกัมมที่แปลว่ากระทำไว้โดยรอบ คือกระทำสติกำหนดลมหายใจเข้าออกทั้งหมดคือโดยรอบ และก็ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้วว่า เมื่อจิตรวมตัวเข้ามาแล้ว ก็ไม่ต้องเอาจิตเดินทางดูลมหายใจ เข้าไป ๓ จุด ออก ๓ จุดดั่งกล่าวนี้ เพราะว่าเมื่อนำจิตเดินทางเข้าเดินทางออก ตามลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ดั่งนี้ จิตก็ยังไม่เป็นเอกัคคตา คือยังไม่มีอารมณ์เป็นอันเดียว ยังต้องเดินทางเข้าเดินทางออกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อรวมจิตเข้าแล้ว ท่านจึงตรัสสอนให้ทิ้งเสีย ๒ จุด เหลือแต่จุดเดียว ซึ่งบางอาจารย์ก็ได้แนะให้ใช้ริมฝีปากเบื้องบนหรือปลายจมูกดังกล่าวนั้น อันเป็นที่ๆ ลมกระทบเมื่อหายใจเข้า กระทบเมื่อหายใจออก และก็ให้รู้อยู่ตลอด
เอกัคคตา
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตจึงจะมี เอกัคคตา คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว ซึ่งท่านเปรียบเหมือนช่างกลึง ช่างกลึงนั้นเมื่อกลึงไม้ กลึงสั้นก็รู้ กลึงยาวก็รู้ และก็ดูอยู่ที่จุดเดียวไม่ต้องไปตามดู ทีแรกนั้นก็จะต้องตามดูสิ่งที่กลึงนั้นทั้งหมด แต่เมื่อการกลึงนั้นดำเนินไปด้วยดีแล้ว ก็กำหนดดูอยู่เพียงจุดเดียวได้ หรือเหมือนอย่างว่าทอผ้า หรือเหมือนอย่างว่านั่งชิงช้า เมื่อนำเด็กลงนั่งชิงช้า แล้วก็พี่เลี้ยงก็แกว่งชิงช้า ไกวชิงช้าไปมา ทีแรกก็ดูชิงช้าทั้งหมด ทั้งตรงที่เด็กนั่ง และทั้งหัวทั้งท้าย แต่เมื่อไกวชิงช้าเข้าที่แล้วก็ไม่ต้องตามทั้งหมด ดูที่จุดเดียว เช่นว่าดูตรงที่เด็กนั่ง จะเห็นเด็กแกว่งไปแกว่งมา ไม่ต้องไปดูหัวดูท้ายของชิงช้า การกำหนดลมหายใจเข้าออกก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้น จิตจึงจะมีอารมณ์เป็นอันเดียว ดั่งนี้ต้องใช้วิตกคือความตรึก คือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ด้วยสติ และกำหนดดูให้รอบคอบ เรียกว่าเป็น บริกัมม คือการกระทำโดยรอบ ซึ่งเป็นภาวนาเบื้องต้นทีแรก และเมื่อจิตออกไปจากอารมณ์ของสมาธิเช่นจากลมหายใจเข้าออก ก็ต้องนำจิตเข้ามาด้วยสติ
ในเวลาปฏิบัติทีแรก
เพราะบางคราวนั้น หรือบ่อยๆ เสียด้วยในเวลาปฏิบัติทีแรก จิตจะแว่บออกไปข้างนอก ไม่อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ สติตามไม่ทันทีแรก หลุดออกไปเสียก่อนแล้วจึงได้สติ ก็ต้องมีสติ เอาสตินำจิตกลับเข้ามาตั้งไว้ใหม่ แล้วก็ใช้สตินี้เองคอยประคองเอาไว้ คือคอยระมัดระวังที่จะไม่ให้จิตหลุดออกไป ดั่งนี้เรียกว่าวิจารคือความตรอง คือการที่คอยประคองจิตไว้ให้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ ต้องมีวิตกและมีวิจารดังกล่าวนี้อยู่ตลอดเวลา สำหรับในขั้น บริกัมมภาวนา การปฏิบัติในเบื้องต้น จิตจึงยังไม่ได้สมาธิในเบื้องต้น แต่เมื่อได้ใช้วิตกวิจารดั่งนี้อยู่ไม่ขาดแล้วจิตก็จะเริ่มเชื่องคืออยู่ตัวขึ้น กำหนดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ และเมื่อกำหนดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ ก็แสดงว่าจิตใกล้ต่อความเป็นสมาธิเข้ามา จึงเรียกอุปจาระสมาธิ สมาธิที่เป็นอุปจาระ หรืออุปจารคือใกล้ที่จะเป็นตัวสมาธิ คือที่แนบแน่นเข้ามา และการปฏิบัติในขั้นนี้ก็เรียกว่าอุปจารภาวนาดังที่ได้กล่าวแล้ว
เมื่อจิตเริ่มรวมตัวเข้ามาดั่งนี้แล้ว ก็จะทิ้งวิตกวิจารไม่ได้ ก็จะต้องมีวิตกวิจาร อันเป็นตัวสตินี่เอง ไม่ใช่อื่น คอยยกจิตเอาไว้ กำหนดจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธินั้น และต้องคอยประคับประคองจิตเอาไว้ ไม่ให้ออกไปอยู่ตลอดเวลา และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้เป็นผลขึ้น ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจจากการปฏิบัตินั้น
อันปีตินี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอันดับของวิตกวิจาร นับว่าเป็นข้อที่ ๓ และเมื่อได้ความอิ่มใจ ได้ความดูดดื่มใจในสมาธิที่เริ่มจะมีขึ้น จิตก็จะสยบอยู่กับสมาธิได้ สยบอยู่กับอารมณ์ของสมาธิได้ วิตกวิจารนั้นก็จะไม่ต้องทำงานหนักมาก แต่ก็ต้องมี วิตกวิจารก็จะเบาลงได้ แต่ว่าสตินั้นต้องมีอยู่ประจำ เป็นวิตกวิจารอย่างละเอียด ประคับประคองจิตอยู่ร่วมกับปีติคือความอิ่มใจ จิตก็จะอยู่ตัวขึ้น
อาลัยของจิต
เพราะว่าในเบื้องต้นนั้น การที่จิตยังไม่ยอมอยู่กับสมาธินั้น เป็นธรรมดาของสามัญชนทั้งปวง เพราะว่าจิตนั้นมีปรกติเป็นกามาพจร คือเที่ยวไปในกาม คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย กามคุณารมณ์จึงเป็นเหมือนอย่างที่อยู่ของจิต ในชั้นที่เป็นกามาพจรนี้ของสามัญชนทั่วไป จึงได้ตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างปลาที่มีน้ำเป็นที่อาศัย เรียกว่า อาลัย อาลัยนั้นก็คือว่าที่อาศัย น้ำเป็นอาลัยคือที่อาศัยของปลา จิตที่เป็นชั้นกามาพจรก็เช่นเดียวกัน มีกามคุณารมณ์เป็นอาลัยคือเป็นที่อาศัย และอาลัยนี้เองที่เป็นเครื่องหน่วงจิต หรือดึงจิตที่จะให้ไปสู่กามคุณารมณ์อยู่เสมอ จิตยังได้ปีติคือความดูดดื่มใจ พร้อมทั้งความสุขอยู่ในกามคุณารมณ์ อันเรียกว่าเป็นกามสุข มีความคุ้นเคยอยู่ในกามคุณารมณ์ อยู่ในกามสุข
เพราะฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นมาสู่อารมณ์ของสมาธิ ซึ่งจิตยังไม่ได้ปีติพร้อมทั้งไม่ได้สุขอยู่ในสมาธิ สมาธิจึงเป็นของแห้งแล้ง และจิตเมื่ออยู่กับสมาธิเพราะเหตุว่ามีวิตกวิจารนำเข้ามาดั่งนี้ จิตจึงไม่มีปีติ ไม่ได้ความอิ่มใจอะไร แล้วก็ไม่ได้สุขคือความสบาย จึ่งได้มีอาการที่เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความรำคาญ แปลว่าไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้นจะต้องหลบออกไปสู่กามคุณารมณ์ เหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก ก็จะต้องดิ้นที่จะไปลงน้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลา
จิตก็เช่นเดียวกัน ก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปสู่กามคุณารมณ์ ซึ่งเป็นอาลัย หรือเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นชั้นกามาพจรดั่งกล่าว ( เริ่ม) จนกว่าจะเริ่มปฏิบัติเป็นขั้นบริกรรมภาวนา และเมื่อเริ่มมีสติที่มีพลังขึ้น สมาธิที่มีพลังขึ้น ก็แปลว่าจับจิตเอาไว้พออยู่ หรือว่าดักจิตเอาไว้พออยู่ จะเรียกว่าเป็นการบังคับก็ได้ บังคับจิตเอาไว้พออยู่
ปีติ สุข
พอจิตอยู่ตัวได้บ้าง จิตก็เริ่มได้ปีติ ซึ่งเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นผลของวิตกวิจารนั้น คือความอิ่มใจ แล้วก็ได้ข้อที่ ๔ คือสุข คือความสบายกายสบายใจต่อไป และเมื่อถึงขั้นนี้แล้วจิตก็จะเริ่มพอใจในสมาธิ ในอารมณ์ของสมาธิ เพราะว่าจิตรู้สึกว่าอยู่สบาย จึงลดความฟุ้งซ่านความกระสับกระส่ายคับแค้นใจในสมาธิเสียได้ จิตก็อยู่ตัวขึ้น อยู่ในเอกัคคตาคืออารมณ์อันเดียวซึ่งเป็นตัวสมาธินั้นได้นานขึ้น แต่ยังไม่แน่น เผลอเมื่อไหร่ก็ยังหลุดออกไปอีก ต้องกลับเข้ามาด้วยสติใหม่ แล้วก็จะเริ่มอยู่ได้เป็นพักๆ มากขึ้น ก็เป็นอุปจารสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะได้สมาธิที่แนบแน่นยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นวิตกวิจารนี้ต้องมีเป็นเบื้องต้น แล้วก็เมื่อมีวิตกวิจารก็จะได้ผลของวิตกวิจารก็คือปีติคือความอิ่มใจ และก็จะได้ความสุขคือความสบายกายสบายใจ และเมื่อได้ปีติได้สุขมากเพียงไรจากสมาธิ จิตก็จะอยู่กับสมาธิได้มากเพียงนั้น
และในขั้นนี้เองผู้ปฏิบัติจึงจะรู้สึกว่าสามารถทำสมาธิได้ และสามารถอยู่กับสมาธิได้ ในทีแรกนั้นจะนั่งสัก ๕ นาที ก็ไม่สามารถจะสงบจิตได้ จะดึงจิตได้ จิตจะดิ้นกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไม่หยุด แต่พอได้ปีติได้สุขคือพอสบายขึ้น สงบขึ้น อิ่มใจขึ้น จิตก็จะเริ่มอยู่ตัว นั่ง ๑๐ นาทีก็นั่งได้สบาย และเมื่อได้ปีติได้สุขมากขึ้นเพียงใด จะนั่งนานเท่าใดก็นั่งนานได้ โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ ครึ่งชั่วโมงก็ไม่เบื่อ ชั่วโมงหนึ่งก็ไม่เบื่อ สองชั่วโมงก็ไม่เบื่อ ตามแต่ที่จะมีปีติมีสุขในสมาธิเพียงใด
แต่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นก็จะต้องรู้ความสมควร ว่าสมควรที่จะใช้เวลาปฏิบัติสักเท่าไร หรือว่ามีเวลาที่จะปฏิบัติสักเท่าไร เช่นว่ามีเวลาปฏิบัติสักครึ่งชั่วโมง ก็ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงก็หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมงก็สองชั่วโมง แล้วก็ให้กายพักผ่อน เช่นว่าหลับนอนตามที่ร่างกายต้องการ เพราะว่ามีกิจการที่จะต้องปฏิบัติกระทำเป็นอันมาก ยิ่งเป็นฆราวาสก็จะต้องมีอาชีพที่จะต้องปฏิบัติกระทำ ก็จะต้องจัดเวลาให้พอเหมาะพอดี เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็เป็นอันว่าจิตก็จะได้สมาธิด้วย และจะไม่เสียการเสียงานของตนเองด้วย
อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ
และเมื่อจิตมีปีติมีสุขอยู่กับสมาธินานขึ้น ก็เป็นอุปจาระสมาธิ และเมื่ออุปจาระสมาธินี้มีมากขึ้นๆ ก็จะเป็นอัปปนาสมาธิต่อไป และการปฏิบัตินั้นก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่เป็นอุปจารภาวนา และเป็นอัปปนาภาวนาไปโดยลำดับ จนถึงปฐมฌานอันเป็นขั้นต้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้สมาธิ นับว่าเป็นขั้นที่ ๑ แต่เมื่อยังไม่ถึงปฐมฌานขั้นที่ ๑ นี้แล้ว การปฏิบัตินั้นก็ยังไม่ชื่อว่าได้สมาธิที่เป็นขั้นอัปปนา แต่เมื่อปฏิบัติไปโดยลำดับแล้ว ก็ย่อมจะได้จะถึงความเจริญของสมาธิขึ้นไปโดยลำดับ
วันนี้ยุติเท่านี้