แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จะแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม ได้แสดงธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ด้วยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก แต่ก็รวมเข้าเป็นเอกายนมรรค คือทางไปอันเดียว เพื่อนิพพาน ความดับกิเลสและกองทุกข์ในที่สุด
นิพพานในขั้นของ ศีล สมาธิ ปัญญา
ผู้ปฏิบัติแม้จะเริ่มต้นปฏิบัติ ก็ชื่อว่าได้บ่ายหน้าไปสู่นิพพานคือความดับกิเลส และกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แม้จะยังอยู่ไกลนิพพานมากเท่าไรก็ตาม เมื่อปฏิบัติเข้าทางก็ชื่อว่าบ่ายหน้าไปสู่นิพพานด้วยกันทั้งนั้น และก็ย่อมได้รับความดับกิเลส ดับความทุกข์ตั้งแต่เบื้องต้นมาโดยลำดับ
ดั่งเช่นเมื่อปฏิบัติในศีล ตั้งใจสำรวมระวังศีลด้วยดี ก็เป็นการดับอกุศลเจตนา และอกุศลกรรมต่างๆ ได้ เรียกว่าดับกิเลสอย่างหยาบได้ ก็เรียกว่าเป็นนิพพานดับกิเลสและความทุกข์ในขั้นศีล เมื่อปฏิบัติในสมาธิสามารถรวมใจได้ให้เป็นเอกัคคตา คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว อันได้แก่อารมณ์ที่เป็นกรรมฐานเท่านั้น ก็ดับกิเลสที่เป็นนิวรณ์ได้ในขณะที่จิตยังอยู่ในกรรมฐาน ก็เป็นนิพพานขั้นดับนิวรณ์
เมื่อปฏิบัติทางปัญญาได้ความรู้แจ้งเห็นจริงในนามรูป ก็ดับกิเลสที่เป็นอุปาทานคือความยึดถือลงได้ ดับตัวเราของเราลงได้ ก็เป็นความที่ได้ดับกิเลสอย่างละเอียดเข้ามา ก็เป็นนิพพานในขั้นดับกิเลสอย่างละเอียดเข้ามานั้น แม้เป็นนิพพานชั่วขณะก็ชื่อว่าเป็นความดับ เป็นนิพพานเหมือนกัน
(เริ่ม) ผลของการปฏิบัติจึงมีขึ้นทันทีเมื่อมาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา และก็เป็นการปฏิบัติเข้าทางมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าองค์ ๘ นั้นย่อเข้าก็เป็นไตรสิกขา หรือเป็นพระโอวาท ๓
หลักปฏิบัติในจิตตภาวนา
การปฏิบัติในสติปัฏฐานซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติในจิตตภาวนาการอบรมจิต ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติอันประกอบไปด้วยศีลสมาธิปัญญานั้นเอง และก็รวมเข้าในเอกายนมรรคคือทางที่ไปเป็นอันเดียวกัน เพื่อนิพพานดับกิเลสและกองทุกข์ดังกล่าวนั้น เพราะว่าการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นก็จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น หรือว่ามีการละกายทุจริต ละวจีทุจริต ละมโนทุจริต ตั้งอยู่ในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อันนี้ก็คือศีลนั้นเอง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงมีศีลนี้เองเป็นภาคพื้นสำหรับที่จะเหยียบที่จะตั้งอยู่ ทำสมาธิ และปัญญาต่อไป
อนุปัสสนา ภายใน ภายนอก
โดยเฉพาะสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นก็เป็นหลักปฏิบัติทางสมาธิและทางปัญญาต่อเนื่องกัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสติที่เป็น อนุปัสสนา คือตามเห็น ตามดู ตามรู้ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
ที่จะต้องมีคำกำหนดอีกคำหนึ่งว่า ในกาย สำหรับข้อกาย ในเวทนา สำหรับข้อเวทนา ในจิต สำหรับข้อจิต ในธรรมะ สำหรับข้อธรรมะนั้น ก็เพราะว่าในการตามดูตามเห็นกายนั้น ก็ต้องตามดูตามรู้ตามเห็นในกายจึงจะพบกาย ในเวทนาจึงจะพบเวทนา ในจิตจึงจะพบจิต ในธรรมจึงจะพบธรรม แต่ถ้าตามดูตามรู้ตามเห็นกายในภายนอกจากกาย เวทนาในภายนอกจากเวทนา จิตในภายนอกจากจิต ธรรมะในภายนอกจากธรรม ก็ย่อมจะไม่พบกายเวทนาจิตธรรม เหมือนอย่างเมื่อต้องการจะดูของที่เก็บไว้ในกระเป๋าใบนี้ ก็ต้องดูที่กระเป๋าใบนี้ ไปดูที่กระเป๋าอื่นก็ย่อมจะไม่พบสิ่งนั้น
อีกอย่างหนึ่ง ก็มีความหมายที่นักปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้พบกายในกายที่เป็นภายใน พบเวทนา พบจิต พบธรรมที่เป็นภายใน ในก็คือภายใน ไม่ใช่ในภายนอก เพราะฉะนั้นจิตที่กำหนดจึงต้องกำหนดอยู่ในภายใน ถ้ากำหนดออกไปในภายนอก ก็ไม่ชื่อว่าสติปัฏฐานในข้อนั้น แต่เป็นการกำหนดผิดที่ และการกำหนดเช่นนั้นก็คือความฟุ้งซ่านของจิต จิตไม่ตั้งกำหนดอยู่ในสิ่งที่ต้องการให้จิตตั้งกำหนด
ส่วนที่มีข้อต่อไปถึงวิธีปฏิบัติในสติปัฏฐานว่าให้มีสติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก กำหนดดูว่า กาย เวทนา จิต ธรรม ที่กำหนดนี้ มีเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดขึ้นทั้งดับไปเป็นธรรมดา และได้ตรัสสอนไว้ด้วยว่าตั้งสติกำหนดดูว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่ แต่ว่าที่มีอยู่นี้ก็เพียงเพื่อเป็นที่ตั้งสติ แต่เมื่อตั้งสติกำหนดแล้วก็ไม่ยึด ทั้งไม่ยึดถืออะไรๆ ในโลกทั้งสิ้น ในวิธีปฏิบัติดังที่ตรัสสอนไว้นี้ สำหรับที่ว่าภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอกนั้น พระอาจารย์ก็มีอธิบายในขั้นธรรมดาว่าภายในก็คือที่ กาย เวทนา จิต ธรรม ของตนเอง ภายนอกก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ของผู้อื่น
ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อปฏิบัติก็จะพบภายในภายนอกอีกอย่างหนึ่ง คือทั้งภายในทั้งภายนอกนั้นมีอยู่ในภายในนี้ทั้งหมด ดังในบทกำกับว่า ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ซึ่งมีความหมายดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งย้ำอีกทีหนึ่งว่า ความหมายที่ ๑ ก็คือการตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายก็ต้องในกาย จะไปดูนอกกายก็ไม่เห็นกาย กำหนดเวทนาก็ต้องในเวทนา จะไปกำหนดข้ออื่นก็ไม่ใช่เวทนา ไม่พบเวทนา จะกำหนดจิตก็ต้องในจิต จะไปกำหนดที่อื่นก็ไม่พบจิต ในธรรมก็ต้องในธรรม จะไปกำหนดที่อื่นก็ไม่พบธรรม
ตามนัยยะที่ ๑ นี้ ก็ใช้ได้กับอธิบายของอาจารย์ที่อธิบายธรรมดาว่า กำหนดกายเวทนาจิตธรรมในภายในก็คือภายในตนเอง ในภายนอกก็คือนอกตนเองคือผู้อื่น แม้ในความหมายธรรมดาดั่งนี้ก็มีความหมายที่เข้ากันได้กับอธิบาย ในข้อว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา ดังกล่าวนั้น
ส่วนประการที่ ๒ นั้นมีความหมายว่า ต้องเป็นกายเวทนาจิตธรรมในภายในนี้ทั้งหมด ก็หมายความว่าที่ตนเอง ไม่ใช่ที่คนอื่น เพราะว่าในการปฏิบัติทำสติปัฏฐาน ที่กำหนดพิจารณาดังกล่าวนี้ ก็ต้องปฏิบัติในภายในตัวเองนี้เอง ไม่ใช่ว่าไปมุ่งดูภายนอก คือดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ของผู้อื่นในภายนอก เมื่อปฏิบัติไปดูในภายนอกดั่งนี้ ก็ย่อมไม่เห็นกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่น ต่อเมื่อมากำหนดกายเวทนาจิตธรรมของตัวเอง จึงจะเห็น จึงจะพบ เช่นไปกำหนดว่าผู้อื่น ผู้นั้นผู้นี้หายใจเข้าหายใจออก ก็ไม่สามารถจะไปกำหนดได้ในลมหายใจของเขา
ข้อเวทนาก็เหมือนกัน สุขทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข จะไปดูเวทนาของเขาก็คงไม่พบอีกเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าเขาเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างไร จิตก็เหมือนกัน เมื่อไปกำหนดก็ไม่รู้ว่าจิตของเขาเป็นอย่างไร ธรรมะคือเรื่องในจิตก็เหมือนกัน เมื่อไปกำหนดก็ไม่รู้ว่า เขามีธรรมะคือเรื่องในจิตเป็นกุศลเป็นอกุศลอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ว่าไม่สามารถปฏิบัติทำสมาธิ ด้วยไปกำหนดกายเวทนาจิตธรรมของผู้อื่นได้ จะทำสมาธิได้ด้วยกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรมของตัวเอง
เพราะฉะนั้น ในข้อที่อธิบายต่อไป ว่าให้ตั้งสติกำหนดดู พิจารณาดู กายเวทนาจิตธรรมภายในภายนอก ทั้งภายในภายนอก เป็นต้นดังกล่าวมานั้น จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งทางปัญญาที่จะกล่าวต่อไป แต่ว่าในขั้นของสติปัฏฐานที่เป็นสมาธินี้ ถ้าหากว่าจะมาใช้คำว่าภายในภายนอกก็จะต้องอธิบายอีกอย่างหนึ่ง ว่าทั้งภายในทั้งภายนอกนี้ กำหนดดูที่ตัวเองทั้งหมด ทั้งสองอย่าง เช่นว่าตั้งสติกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ภายนอกก็คือว่าลมหายใจเข้าออก ที่มากระทบที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน คือกำหนดให้รู้อาการที่ลมกระทบ ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบนดังกล่าว นี่เป็นภายนอก
คราวนี้กำหนดให้ลมหายใจเข้าออกที่เป็นภายนอกนี้เอง มาเป็นอารมณ์ของจิตในภายใน คือกำหนดดูตัวอารมณ์ของจิต เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้าก็มาเป็นอารมณ์ของจิต หายใจออกการหายใจออกก็มาเป็นอารมณ์ของจิต จิตตั้งกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก อันเป็นภายนอกนั้น มาเป็นลมหายใจเข้าออกของจิต คือมาเป็นอารมณ์ของจิต เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้สมาธิ ที่เป็นอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติในการทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าวมานี้ ในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ จิตคิดตั้งกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้หายใจออกก็รู้ ถ้าหากว่าการกำหนดนี้ไม่เข้าไปเป็นอารมณ์ของจิตพร้อมกันไปในขณะเดียวกัน คือกายหายใจเข้ากายหายใจออก แต่ว่าจิตไม่หายใจเข้าไม่หายใจออกไปพร้อมกัน ก็เรียกว่าจิตไม่ตั้งกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเสียแล้ว จิตออกไปเที่ยวข้างนอก เที่ยวในอารมณ์อื่น หายใจเข้าหายใจออก ก็หายใจเข้าหายใจออกอย่าง..ไป จิตก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป กายก็หายใจเข้าหายใจออกไป
คล้ายๆ กับว่าครึ่งสมาธิครึ่งไม่ใช่สมาธิ เพราะก็คล้ายกับรู้เหมือนกันว่าหายใจเข้าหายใจออก แต่ในขณะที่รู้นั้นจิตก็คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่อยเปื่อยไป เหมือนอย่างการสวดมนต์ ปากก็สวดไป ก็สวดได้ แต่ว่าใจนั้นไม่สวด ใจคิดเรื่อยเปื่อยไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ปากก็สวดมนต์ไป ก็สวดมนต์ไปได้ แล้วก็ไม่ผิด อาจจะผิดตามธรรมดาบ้าง แต่ที่ไม่ผิดก็มาก ปากว่าถูกแต่ใจนั้นไม่สวด ดั่งนี้ก็ไม่ได้สมาธิในการสวดมนต์
การทำอานาปานสติก็เช่นนั้น เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้หายใจออกรู้ ก็เหมือนกับรู้ดั่งนี้แหละ รู้ แล้วก็จิตก็คิดเรื่อยเปื่อยไปด้วย คล้ายๆ กับว่าจิตทำหน้าที่สองอย่าง รู้ก็รู้ แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปอีกอย่างหนึ่ง แปลว่ามีความคิดเรื่อยเปื่อยนี้แทรกแซง เป็นความฟุ้งซ่านอยู่ภายใน ดั่งนี้ไม่ได้สมาธิ
ภายในภายนอกในทางปฏิบัติ
ฉะนั้น เมื่อกายหายใจเข้าออก จิตก็ต้องหายใจเข้าออกไปพร้อมกับกาย คือรู้ รับเอารู้นั้นเข้ามาตั้งอยู่ที่จิต ว่าหายใจเข้า ว่าหายใจออก หายใจที่กายนี้เป็นภายนอก หายใจที่จิตนี้เป็นภายใน เมื่อกายกับจิตตรงกันดั่งนี้แล้ว จึงจะเป็นสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน เหมือนอย่างปากสวดมนต์ จิตก็กำหนดตามไปกับบทที่สวดนั้นไม่ไปไหน แปลว่าจิตก็สวดไปพร้อมๆ กับปาก ดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้สมาธิในการสวดมนต์ ถ้าจิตไม่พร้อม ไม่สวดไปพร้อมๆ กับปาก ปากสวด จิตคิดเรื่อยไป ดั่งนี้ก็แปลว่าไม่ได้สมาธิในการสวดมนต์
การทำสมาธิก็เช่นนั้น แม้ในการกำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม อีก ๓ ข้อก็เหมือนกัน เวทนาจิตธรรมที่กำหนดนั้นชื่อว่าเป็นภายนอก จิตที่นำเข้ามากำหนดพร้อมกันไปเป็นภายใน และเมื่อภายนอกกับภายในพร้อมกันดั่งนี้จึงจะได้สมาธิ เป็นสติปัฏฐานในข้อนั้นๆ เพราะฉะนั้น คำว่าภายในภายนอกนั้นจึงอาจอธิบายได้ดั่งนี้ และในทางปฏิบัติก็ต้องเป็นดั่งนี้
แต่ว่าในทางปัญญานั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดยที่สติปัฏฐานนี้เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปทั้งด้านสมาธิ และด้านปัญญา เพราะฉะนั้นทางด้านสมาธินั้น เมื่อว่าถึงภายในภายนอกก็ต้องอธิบายดังที่กล่าวนั้น และในทางที่เป็นสมาธินี้ก็มีข้อหนึ่ง ที่ตรัสกำกับไว้ในตอนท้ายว่า ให้รู้ว่ากายเวทนาจิตธรรมมีอยู่ ความรู้ว่ามีอยู่นี้เป็นข้อสำคัญ (เริ่ม) แสดงว่าจิตนี้ตั้งกำหนดอยู่ ยกตัวอย่างอานาปานสติดังกล่าวนั้น ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้หายใจอยู่ หายใจออกก็รู้ รู้อย่างไร ก็คือรู้ว่ามีอยู่ หายใจเข้ามีอยู่ หายใจออกมีอยู่
เมื่อกำหนดเวทนา เมื่อกำหนดจิต เมื่อกำหนดธรรมะในจิตก็เหมือนกัน ก็รู้ว่าเวทนามีอยู่ สุขมีอยู่ ทุกข์มีอยู่ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขมีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมะคือเรื่องในจิตมีอยู่ ทั้งที่เป็นส่วนกุศลและส่วนอกุศล และส่วนที่เป็นกลางๆ ถ้าหากว่ารู้ว่ามีอยู่ดั่งนี้ คือมีอยู่ในจิต ไม่ใช่มีอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรมอย่างเดียว แต่มีอยู่ในจิต จิตที่กำหนด และมีอยู่เป็นปัจจุบันธรรม
กำหนดว่ามีอยู่
เพราะฉะนั้นคำว่า มีอยู่ นี้จึงเป็นข้อสำคัญในการที่จะพิจารณา ดูการปฏิบัติของตน ดูที่จิตของตนเอง เมื่อกำหนดในกายคือในลมหายใจเข้าออกดังกล่าวก็รู้ว่ามีอยู่ หายใจเข้ามีอยู่ หายใจออกมีอยู่ ถ้าหายไปก็แปลว่าจิตฟุ้งซ่านออกไปแล้ว ถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่านออกไปแล้วจะต้องรู้ว่ามีอยู่ๆ ทุกขณะที่หายใจเข้า ทุกขณะที่หายใจออก จะต้องเป็นดั่งนี้
แต่ว่าก็ต้องระมัดการปฏิบัติดั่งนี้ ว่าต้องไม่ติด ต้องไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลกทั้งหมด ทำความปล่อยวาง คือรู้ปล่อยรู้วาง และเมื่อรู้ว่ามีอยู่ดั่งนี้ ดูอยู่ที่รู้อยู่นั้น ก็จะเห็นเกิดเห็นดับของกายของเวทนาของจิตของธรรม ดังที่ตรัสสอนไว้ในทางปฏิบัติว่า ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายเวทนาจิตธรรม ในภายใน ในภายนอก ว่ามีเกิดขึ้นเป็นธรรมดามีดับไปเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา
ขั้นเห็นเกิดดับ
แต่ในขั้นที่จะเห็นเกิดเห็นดับดังกล่าวนี้จะต้องผ่านขั้นที่ว่ามีอยู่ดังกล่าวนี้ก่อน กายเวทนาจิตธรรมที่ปรากฏเป็นปัจจุบันธรรมนั้นไม่หายไป มีอยู่ตามที่เป็นไปในปัจจุบัน และเมื่อเห็นสิ่งที่มีอยู่นี้ ก็จะเห็นเกิดเห็นดับควบคู่กันไป เช่นลมหายใจที่หายใจนั้นก็มีเกิดมีดับคู่กันไป
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วสมาธิที่กำหนดก็จะเลื่อนขึ้นเป็นวิปัสสนา ซึ่งเป็นตัวปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง และเมื่อเป็นตัวปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดั่งนี้แล้ว จึงจะไม่ยึดถือสิ่งที่รู้ เพราะรู้ว่ามีอยู่ก็จริง แต่ว่ามีอยู่ในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม แล้วเกิดดับ ไปพร้อมกับที่มีอยู่นั้น จึงไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก เพราะทุกอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งนั้น
เมื่อถึงขั้นปัญญาดั่งนี้แล้ว ปัญญานี้เองก็จะรู้ครอบโลกไปได้ทั้งหมด กายเวทนาจิตธรรม ภายในของตัวเอง ภายนอกของผู้อื่น อะไรๆ ในโลกทั้งหมดล้วนเกิดดับทั้งนั้น เพราะฉะนั้นภายในภายนอกที่เป็นตัวเองและผู้อื่นนี้ จึงเป็นปัญญาที่รู้ครอบโลก ทั้งตัวเองทั้งผู้อื่นก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งนั้น ดั่งนี้สติปัฏฐานก็เลื่อนขึ้นเป็นปัญญา อนุปัสสนาก็เป็นวิปัสสนา จะเรียกว่าเป็นอนุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็มาเป็นวิปัสสนาสติปัฏฐาน คือตัวปัญญา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำสมาธิสืบต่อไป