แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มาโดยลำดับ พรหมวิหารทั้ง ๔ นี้เป็นกรรมฐานหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรม และก็ได้แสดงวิธีปฏิบัติอบรมมาโดยลำดับแล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือ การอบรมจิตใจของตนนี้เอง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา ปรารถนาให้มีความสุข ปราศจากทุกข์ ในสัตว์บุคคลนั้นๆ โดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยกรุณา ปรารถนาให้สัตว์บุคคลนั้นๆ ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ให้พ้นจากทุกข์นั้นๆ โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยมุทิตา ความพลอยยินดีด้วยความสุขความเจริญ คิดปรารถนาไม่ให้พ้นไปจากความสุขความเจริญ อย่าให้ต้องเสียหายไปจากความสุขความเจริญ โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจง
คิดแผ่จิตออกไปด้วยอุเบกขา คือความมีจิตเป็นกลาง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ปลงจิตลงไปในกรรม (เริ่ม) ว่าทุกสัตว์บุคคล ทั้งตนเองทั้งผู้อื่น ต่างมีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทรับผลของกรรม โดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจง
พรหมวิหารปฏิบัติได้ถึงอัปปนา
การปฏิบัติแผ่จิตออกไปดั่งนี้ ก็เรียกว่าการปฏิบัติในกรรมฐานหมวดนี้ อันชื่อว่าพรหมวิหาร ที่แปลว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่ของพรหม พรหมนั้นโดยกำเนิดก็หมายถึงผู้ที่เกิดเป็นพรหมในพรหมโลก ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็แสดงว่า ผู้ที่ปฏิบัติในกรรมฐานหมวดนี้ จนจิตได้สมาธิถึงอัปปนาคือแนบแน่น
จิตที่เป็นสมาธิอันเกิดจากกรรมฐานหมวดนี้ แม้ไม่ถึงแนบแน่น เป็นสมาธิในขั้นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะก็ดี อุปจาระสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น เข้าเขตที่จะแนบแน่นก็ดี ก็ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์จากพยาบาทและสิเนหา ด้วยเมตตา เป็นจิตที่บริสุทธิ์จากวิหิงสาความคิดเบียดเบียนและโทมนัสเสียใจ ในเพราะความทุกข์ของผู้อื่น ด้วยอำนาจกรุณา เป็นจิตที่บริสุทธิ์จากความริษยา และโสมนัสคือความดีใจประกอบด้วยอิจฉา คือความปรารถนาใคร่ที่จะเป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นความปรารถนาที่เป็นความต้องการอยากได้ เป็นจิตที่บริสุทธิ์จากราคะคือความติดใจยินดี ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง และความไม่รู้อันหมายถึงว่าอุเบกขาชนิดที่ไม่รู้ ด้วยอำนาจของอุเบกขา
และในวิธีที่คิดแผ่ออกไปนั้น เมื่อได้คิดแผ่ออกไปโดยไม่เจาะจงโดยไม่มีประมาณ คือไม่มีขอบเขต ดั่งที่ตรัสเอาไว้ว่าแผ่จิตออกไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่ไพบูลย์ ที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความทุกข์ ตลอดโลกทั้งหมด
โดยความเป็นเหมือนอย่างอัตตา คือตัวตนเดียวกันกับตัวตนของเราทั้งหมด ไม่มีแบ่งแยกว่านี่เป็นมิตรนี่เป็นศัตรูเป็นต้น มีจิตแผ่เสมอกันออกไปหมด ตลอดโลกทั้งสิ้นทั้งปวงดังกล่าว ในที่ทั้งปวง ในทิศเบื้องหน้า ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องขวา และโดยขวางคือในทิศน้อยทั้ง ๔ ของทิศใหญ่ทั้ง ๔ นั้น คือในทิศน้อยของทิศเบื้องหน้า ในทิศน้อยของทิศเบื้องหลัง ในทิศน้อยของทิศเบื้องซ้าย ในทิศน้อยของทิศเบื้องขวา เป็น ๘ ทิศ และแผ่ขึ้นไปในเบื้องบน ในเบื้องล่าง หรือจะแผ่ไปในเบื้องล่างก่อน และก็ในเบื้องบน ก็รวมเป็น ๑๐ ทิศ
ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงโดยไม่เจาะจงดังกล่าวนั้น จงมีความสุขไม่มีความทุกข์ จงพ้นจากทุกข์ จงอย่าเสื่อมจากสมบัติที่ได้ และทั้งหมดต่างมีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่อคิดแผ่จิตออกไปดั่งนี้ จิตก็จะเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ บริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวงดังที่กล่าวนั้น
อัปปมัญญาพรหมวิหาร
และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ถึงยอดของพรหมวิหารทั้ง ๔ หรือของการแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ ตลอดโลกทั้งสิ้นดังกล่าวทั้ง ๔ อันเรียกว่าอัปปมัญญา แปลว่าไม่มีประมาณ ว่ายอดของเมตตานั้นก็คือความงาม อันหมายความว่าจะเห็นสัตว์ทั้งปวงต่างมีความงามด้วยอำนาจเมตตา เพราะเมตตานั้นแผ่จิตออกไปด้วยความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข จึงทำให้เกิดความรู้สึกเห็นว่างามในสัตว์บุคคลที่แผ่ไปนั้น ไม่มีปฏิกูลสัญญาความเห็นว่าไม่งดงาม
แต่ว่าความเห็นว่างามที่เป็นยอดของเมตตาดังกล่าวนั้น ไม่เจือด้วยพยาบาท ไม่เจือด้วยราคะตัณหา เป็นความงามที่บริสุทธิ์ และยอดของกรุณานั้นตรัสไว้ว่าคือ อรูปที่ ๑ อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนะ ซึ่งอรูปฌานที่ ๑ นี้เป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปฌาน ในขั้นเมตตานั้นเมื่อได้อัปปนาสมาธิก็ยังเป็นขั้นรูปฌาน เพราะยังมีรูปเป็นอารมณ์ แต่ว่าเป็นสมาธิที่เห็นในรูปว่าสมาธินั้นว่างาม
อากาสานัญจายตนะ
ส่วนกรุณานั้นสูงกว่ารูปฌาน ที่ตรัสสอนให้ภาวนาบริกรรมว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุด เพราะในอากาศไม่มีอะไร ไม่มีรูปอะไรเป็นความว่าง ว่างจากรูปทั้งสิ้น กรุณานั้นมีอากาสานัญจายตนะ คืออรูปฌานที่ ๑ นี้เป็นยอด เพราะเมื่อแผ่จิตออกไปด้วยกรุณาขอให้สัตว์ทั้งปวงพ้นจากทุกข์
ทุกข์ย่อมบังเกิดขึ้นที่รูป
อันความทุกข์ต่างๆ นั้นย่อมบังเกิดขึ้นที่รูป ปรากฏที่รูป เมื่อสัตว์ทั้งปวงจะพ้นจากทุกข์ ก็จะต้องพ้นจากรูป เมื่อไม่มีรูปนั่นแหละจึงจะพ้นจากทุกข์อันเกี่ยวกับรูปได้ เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติแผ่จิตออกไปด้วยกรุณามากขึ้นๆ จนจิตไม่เห็นทุกข์ในรูป ของสัตว์ทั้งปวง ก็จะปรากฏเป็นอากาศคือความว่างเปล่าไม่มีอะไร เมื่อไม่มีรูปทุกข์ของรูปก็ไม่มี ความเจ็บป่วยของรูปก็ไม่มี ก็พ้นจากทุกข์ได้ทั้งหมด อันเกี่ยวกับรูป เพราะฉะนั้นกรุณานี้จึงนำให้ได้อรูปที่ ๑ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจะต้องไม่เห็นรูปอะไร เป็นความว่างเปล่า จึงจะไม่เห็นทุกข์ของรูปทั้งหมด เป็นกรุณาอย่างยอด
วิญญาณัญจายตนะ
ยอดมุทิตานั้นก็ได้แก่วิญญานัญจายตนะ คืออรูปที่ ๒ ที่กำหนดวิญญาณคือตัวความรู้ว่าไม่มีที่สุด เพราะว่าวิญญาณนั้นคือความรู้ ย่อมเกี่ยวกับจิตที่ประกอบด้วยมุทิตา คือความที่จิตยินดีในความสุขความเจริญของใครๆ ทั้งโลก ไม่ริษยา ทั้งไม่โสมนัส คอยกระหยิ่มอยากได้ด้วย จึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์ และจิตที่บริสุทธิ์ดั่งนี้ย่อมเป็นตัวความรู้ที่บริสุทธิ์ เพราะว่าถ้ายังมีรูปอยู่ ของสัตว์บุคคลนั้นๆ ก็จะต้องมีความเสื่อมสิ้นไปของสมบัติที่ได้ เป็นธรรมดา ต้องมีความเสื่อมสิ้นไปของชีวิตร่างกายอันนี้ ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายในที่สุด เพราะฉะนั้นจะไม่ให้เสื่อมจากความสุขที่ได้นั้นก็เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อยังเป็นโลกิยะสุขสมบัติ
ฉะนั้นเมื่อ กรุณา นำให้ได้ถึงอรูปที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนะ อากาศไม่มีที่สุด เป็นความว่างเปล่าไปทั้งหมด มุทิตา ก็ทำให้ได้วิญญาณัญจายตนะคือความรู้ อากาศไม่มีที่สุดเพียงไหนเพียงใด ความรู้ก็ครอบคลุมไปถึงเพียงนั้น เพราะว่า ข้อว่าอากาศไม่มีที่สุดนั้น ก็ปรากฏอยู่ในตัววิญญาณคือความรู้นี่เอง ความรู้ว่าอากาศไม่มีที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดดูอากาศซึ่งเป็นวัตถุหรือเป็นอารมณ์ของความรู้ สูงขึ้นมาจึงมากำหนดตัวความรู้เอง ความรู้ในอากาศนั้น ว่าตัวความรู้เองก็ไม่มีที่สุด อันเป็นผลที่ได้จากมุทิตาคือจิตที่บริสุทธิ์ ก็ทำให้ความรู้แผ่ไปไม่มีที่สุด เป็นความรู้ที่ไม่มีอะไร คือไม่มีรูปอะไรเป็นอารมณ์ทั้งหมด เป็นยอดของมุทิตา
อากิญจัญญายตนะ
ครั้นมาถึง อุเบกขา ตรัสว่ามีอากิญจัญญายตนะเป็นยอด อันหมายความว่าให้บรรลุถึงสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี เพราะว่าในตัวอากาศเองที่เป็นความว่าง ในตัวความรู้ในอากาศที่เป็นความว่างนั้น อากาศก็ว่าง ความรู้ก็ว่าง เพราะฉะนั้น ในความว่างนั้นเมื่อมากำหนดให้ลึกซึ้งเข้าไปอีก ก็จะพบว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี คือไม่มีอะไรอยู่สักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง เพราะถ้ามีอยู่ก็ยังไม่ว่างจริง เมื่อว่างจริงคือเป็นอากาศที่ว่างจริง และเป็นวิญญาณคือความรู้ในความว่างที่ว่างจริง ก็จะต้องไม่มีอะไรสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ก็มากำหนดดูว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนี้ ก็เป็นอรูปที่ ๓ ซึ่งเป็นยอดของอุเบกขา
เพราะเมื่อปฏิบัติในอุเบกขามีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง เมื่อเป็นกลางจริงๆ ก็ต้องไม่เอียงไปทางโน้น ไม่เอียงไปทางนี้ แม้แต่น้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ถ้ายังเอียงไปทางโน้นทางนี้สักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง หรือว่ายังมีทางโน้นทางนี้สำหรับให้เอียงไป ก็เป็นอุเบกขาที่เป็นยอดไม่ได้ เพราะยังมีน้อยหนึ่งนิดหนึ่งข้างนี้บ้างข้างนั้นบ้าง สำหรับที่จะให้เอียงไป ไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้น เมื่อจะเป็นกลางกันจริงๆ ก็ต้องไม่มีอะไรสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ต้องมัธยัสถ์เป็นกลางจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงให้ได้ถึงอรูปที่ ๓นี้
ยอดของเมตตาคือสุภะความงาม
เพราะฉะนั้น ยอดของเมตตาก็คือสุภะความงาม ไม่ปรากฏความปฏิกูล ไม่ปรากฏสิ่งที่จะทำให้จิตใจนี้เกลียดชัง เป็นความงามที่บริสุทธิ์ ไม่ปรากฏว่าน่าเกลียดชังสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่งเหมือนกัน ถ้าน่าเกลียดชังสักน้อยหนึ่งนิดหนึ่งแล้ว ก็จะต้องมีความชัง ซึ่งสงเคราะห์ในกิเลสกองพยาบาท เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์จริงๆ แล้ว ก็จะต้องงามบริสุทธิ์ ไม่มีน่าเกลียดน่าชังสักนิดหนึ่งน้อยหนึ่ง แต่ว่ายังต้องอาศัยเกาะอยู่กับตัวรูป เพราะความงามนั้นปรากฏเกาะอยู่กับตัวรูป รูปของสัตว์บุคคลนั้นๆ ที่แผ่จิตออกไปถึง แต่เป็นความงามที่บริสุทธิ์ ไม่เจือด้วยความเกลียดความชัง หรือแม้ด้วยความรัก
เพราะเมื่อมีความรักที่เป็นตัวกามแล้ว ก็ยังเป็นความงามที่บริสุทธิ์ไม่ได้ ตามนัยนี้เมตตาก็ให้ถึงรูปฌาน ถึงขั้น ๔ ขั้น ๕ ได้ แต่กรุณาให้ถึงอรูปที่ ๑ ได้ มุทิตาให้ถึงอรูปที่ ๒ ได้ อุเบกขาให้ถึงอรูปที่ ๓ ได้ ตามนัยพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้นี้
อนุปุพพปฏิบัติ การปฏิบัติไปโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น พรหมวิหารธรรมหรืออัปปมัญญาทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นกรรมฐานข้อสำคัญ (เริ่ม) ที่ทุกคนควรปฏิบัติ แต่การที่จะปฏิบัติให้ถึงขั้นยอดนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และหากว่าปฏิบัติขึ้นมาโดยลำดับแล้ว เหมือนอย่างบันไดที่ขึ้นไปทีละขั้น ก็ไม่ยาก แม้จะสูงมากแต่ว่ามีบันไดขึ้นไปตั้งร้อยขั้นสองร้อยขั้น ขึ้นไปทีละขั้นแล้วก็จะไม่ยาก แต่ว่าหากว่ายังไม่ได้ขึ้นสักขั้นหนึ่ง แหงนคอดูขั้นร้อยขั้นสองร้อยข้างบนสุดโน่น ก็จะเห็นว่ายากขึ้นไม่ไหว เพราะจะขึ้นก้าวเดียวขึ้นไปนั้นไม่ได้ แต่ถ้าเริ่มขึ้นไปทีละขั้นตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งแล้ว ขั้นที่สองก็ขึ้นง่ายไม่ยาก ขั้นที่สามก็ไม่ยาก จนถึงขั้นที่ร้อยขั้นที่สองร้อยก็ไม่ยาก ไปโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น จะคิดว่ายากไปไม่ได้ไม่ถึงเสียก่อนนั้น จึงไม่ถูกต้อง เหมือนอย่างการที่จะขึ้นภูเขาสูง มีบันไดขึ้นไปสองร้อยขั้นสามร้อยขั้น คือบนยอดนั้นมีทรัพย์ที่มีค่า มีสิ่งที่ประเสริฐอยู่ และมีบันไดขึ้นด้วย พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานบันไดไว้ให้ ก็ขึ้นไปทีละขั้น คือปฏิบัติเริ่มต้นไปโดยลำดับ ดั่งนี้ก็ทำได้ แต่เมื่อยังไม่ได้ขึ้นเลย หรือขึ้นไปได้สองขั้นสามขั้น แหงนขึ้นไปดูถึงขั้นที่สูงสุด ขั้นที่ร้อยขั้นที่สองร้อย ก็บอกว่าทำไม่ได้เสียแล้ว ถ้าไม่ขึ้นไปก็ทำไม่ได้จริง แต่ถ้าขึ้นไปทีละขั้นแล้วก็ทำได้ แล้วก็ไม่ยาก
เพราะขึ้นไปทีละขั้นเป็น อนุปุพพปฏิบัติ ปฏิบัติไปโดยลำดับ หรือเรียกว่าก้าวไปทีละขั้น ทีละก้าว ซึ่งการก้าวขึ้นไปทีละก้าวนี้ก็มีคำบาลีแสดงไว้แล้ว คือคำว่าสิกขาบทๆ อย่างสมาทานสิกขาบท ว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ จะไม่ลักทรัพย์ คำว่าสิกขาบทนี้ก็แปลได้ว่าศึกษาไปทีละก้าว บทะ นั้นแปลว่าก้าวก็ได้ แปลว่าถึงก็ได้ ศึกษาปฏิบัติไปทีละก้าว ทีละก้าว
อย่างการรักษาศีล ๕ นั้น จะให้เป็นศีล ๕ บริสุทธิ์จริงๆ ต้องเป็นพระโสดาบัน แต่เมื่อยังเป็นผู้ปฏิบัติยังไม่ถึงโสดาบัน จะให้ศีล ๕ บริสุทธิ์จริงๆ ก็ยาก เพราะฉะนั้น ก็เมื่อไปดูถึงความบริบูรณ์สูงสุดแล้วบ่นว่ายาก ไม่ได้ ดั่งนี้ก็เป็นความจริง ในเมื่อยังไม่ได้ก้าวไปทีละก้าว
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่าให้สมาทานสิกขาบท คือให้สมาทานศึกษาไปทีละก้าวทีละก้าว ว่าเราจะไม่ฆ่าสัตว์ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น และเมื่อได้สมาทานปฏิบัติไปดั่งนี้ ก้าวที่หนึ่ง ก้าวที่สอง ก็จะต้องมีศีลขาดบ้าง ไม่ขาดบ้าง สมาทานกันใหม่บ้าง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการสมาทานรับศีลกันอยู่บ่อยๆ ในเวลาที่จะทำกุศลทุกคราว ถ้าหากว่าบริบูรณ์แล้วก็ไม่ต้องสมาทานกัน หนเดียวก็พอ นี่ไม่ๆ เช่นนั้น ก็เพราะว่าจะต้องปฏิบัติกันไปทีละก้าวทีละก้าว ขาดตกบกพร่องไปบ้าง ถูกบ้างผิดบ้าง ก็แก้ไขกันไปปฏิบัติกันไปโดยลำดับ
ดั่งนี้แล้วก็จะเป็นความบริบูรณ์ขึ้นทุกที จนถึงยอดในที่สุด เหมือนอย่างการที่จะอบรมในพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้ อัปปมัญญาทั้ง ๔ นี้ ก็เช่นเดียวกัน ก็หัดปฏิบัติไปทีละก้าว ทีละครั้งทีละคราว ได้บ้างเสื่อมบ้าง มีกิเลสเข้ามาบ้าง ดับกิเลสได้บ้างไม่ได้บ้าง เสียเมตตาไปบ้าง ทำขึ้นใหม่บ้าง ปฏิบัติอยู่บ่อยๆ เสมอๆ ดั่งนี้แล้ว ก็จะสูงขึ้นไปสูงขึ้นไป จนถึงยอดในที่สุดได้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป