แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพรหมวิหารข้อ ๓ มุทิตา ความยินดีในเมื่อได้เห็นได้ยินได้ทราบผู้อื่นว่ามีความสุข ประสบสมบัติ มีความเจริญ อันความพลอยยินดีด้วยผู้อื่นในเมื่อเขาประสบสุขสมบัติดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องกำจัด อรติ ความไม่ยินดีด้วยหรือ อิสสา ความริษยา อันความริษยานี้มาจากคำว่าอิสสา ไม่ใช่มาจากคำว่าอิจฉาดังที่มักจะพูดกัน ว่าเมื่อเห็นเขาได้ดีมีสุขก็มีความอิจฉาตาร้อน เพราะฉะนั้น เมื่อเรียกให้ถูกด้วยภาษาบาลีก็จะต้องเรียกว่าอิสสา หรือไม่เช่นนั้นก็เรียกว่าริษยา
แต่ว่าอิจฉานี้ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่งของมุทิตาเหมือนกัน แต่ว่าต้องเป็นอิจฉาคือความปรารถนากระหยิ่มอยากจะได้ในสุขสมบัตินั้นๆ ด้วย เพราะอิจฉานี้แปลว่าความปรารถนา เมื่อเห็นเขาได้ดีมีสุขก็เกิดปรารถนาอยากจะได้ดีมีสุขเช่นนั้นๆ ด้วย ดั่งนี้เป็นอิจฉาได้ ซึ่งท่านใช้คำเรียกว่า โสมนัส คือความยินดีพอใจ ซึ่งภาษาธรรมะเรียกว่าอาศัยเรือน อันหมายความว่าอาศัยกามคุณ อันมีลักษณะที่ทำให้ต้องการอยากจะได้ด้วย
เหตุให้คิดทำลายล้าง
อันมุทิตานี้จะเป็นมุทิตาที่บริสุทธิ์ ก็จะต้องปราศจากอันตรายที่ใกล้ คือโสมนัสหรืออิจฉาดังกล่าว และต้องปราศจากอิสสาหรือริษยา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าความไม่ยินดีด้วย หรืออิสสาคือความริษยานี้ เป็นสิ่งที่มีโทษมาก เพราะเป็นเหตุให้คิดทำลายล้าง ริษยาจึงไม่ใช่หมายความว่าไม่ยินดีด้วยอย่างเดียว แต่คิดทำลายล้างด้วย คือคิดที่จะให้เขาเสื่อมจากสุขสมบัตินั้นๆ ที่เขาได้ จึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งที่ว่า อรติ โลกนาติกา ความไม่ยินดีด้วยคือความริษยา ยังโลกให้พินาศ เมื่อกลับความตรงกันข้าม มุทิตาคือความยินดีด้วยย่อมยังโลกให้เจริญให้มีสุข
และความริษยานี้กล่าวได้ว่า มีอยู่เป็นสันดานของคนเป็นอันมาก ที่ไม่อยากจะเห็นใครได้ดีมีสุข แต่ตนเองนั้นต้องการได้ดีมีสุข เมื่อคนอื่นได้ดีมีสุขก็ไม่ชอบ คิดทำลายล้าง และอาการที่ไม่ชอบนี้ย่อมเกิดจากเหตุต่างๆ ประกอบอยู่ด้วย เช่น เมื่อตนได้ดีมีสุข หากผู้อื่นได้ดีมีสุขมาเทียมเท่าเข้า ก็อาจจะแย่งความได้ดีมีสุขไปจากตน เพราะความได้ดีมีสุขนั้นย่อมเกี่ยวกับ ลาภบ้าง ยศบ้าง สรรเสริญบ้าง สุขบ้าง ลาภกับยศนั้นมีเป็นอันมากที่มีส่วนอันจำกัด ยศบางอย่างหรือเรียกว่ายศทุกอย่างก็ได้มีส่วนจำกัด นี้เป็นยศในทางโลก และผู้ที่ได้ดีมีสุขได้ครองลาภครองยศอันใดอันหนึ่งที่มีจำนวนจำกัดนั้นอยู่ ก็ย่อมไม่ปรารถนาให้ใครเจริญขึ้นมาเทียมเท่า ซึ่งอาจจะทำให้ตนต้องตกต่ำจากลาภยศนั้น ฉะนั้นเมื่อต้องการที่จะรักษาลาภยศของตน ที่ตนครองอยู่นั้น ก็ต้องคอยทำลายล้างผู้ที่จะเจริญขึ้นมาเทียมเท่า ดั่งนี้ก็เป็นความริษยา
คนเป็นอันมากเป็นอย่างนี้
แต่ว่าริษยาที่เป็นสันดานของมนุษย์ทั่วไปนั้น ก็มีอยู่ที่ไม่อยากให้ใครได้ดีมีสุข แม้ว่าตนเองก็ไม่คิดว่าตนเองจะได้ดีมีสุขอย่างนั้นๆ แต่ว่าใครได้ดีมีสุขอย่างนั้นๆ ก็มักจะไม่ชอบ ก็คิดที่จะให้ผู้ที่ได้ดีมีสุขนั้นต้องเสื่อมไป จากความได้ดีมีสุขนั้นๆ สันดานของคนเป็นอันมากมักจะเป็นอย่างนี้ คือนอกจากจะมีสันดานที่ชอบเห็นความพินาศของผู้อื่นแล้ว ยังมีสันดานที่ไม่ชอบจะเห็นความเจริญของผู้อื่นอีกด้วย เพราะฉะนั้น อิสสาคือความริษยานี้จึงเป็นสิ่งที่มีโทษมาก ในโลกนี้การที่ความเจริญต่างๆ ไม่บังเกิดขึ้นเท่าที่ควร และที่บังเกิดขึ้นแล้วก็ถูกทำลายล้าง ก็มีเหตุมาจากอิสสา คือความริษยาอันนี้เป็นสำคัญส่วนหนึ่ง
อันเหตุแห่งความพินาศตัดทอนความเจริญไม่ให้เกิดความเจริญ นอกจากอิสสาคือริษยานี้แล้ว ก็ยังมีพยาบาทซึ่งตรงกันข้ามกับเมตตา วิหิงสาเบียดเบียนที่ตรงกันข้ามกับกรุณาดังกล่าวมาแล้วด้วย และยังมีราคะปฏิฆะที่ตรงกันข้ามกับอุเบกขาที่จะกล่าวต่อไป ก็แปลว่ากิเลสทุกข้อที่ตรงกันข้ามกับพรหมวิหารธรรมนี้ ล้วนเป็นอันตรายแก่ความสุขความเจริญทั้งนั้น กล่าวจำเพาะข้ออิสสาคือริษยานี้ ก็เป็นอันตรายดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้หัดปลูกมุทิตาจิต คือจิตที่ประกอบด้วยความบันเทิงยินดี ต่อความสุขความเจริญของผู้อื่น เป็นเครื่องกำจัดความริษยา
พรหมวิหารในส่วนอันคับแคบ
แต่ว่าอันมุทิตานี้มิใช่ว่าจะไม่มีในสันดานของมนุษย์ เช่นเมตตากรุณาก็เหมือนกันไม่ใช่ว่าจะไม่มี แต่ว่ามีอยู่ในส่วนอันคับแคบ ตั้งต้นแต่มีอยู่ในความสุขความเจริญของตน เมื่อตนเองได้รับสุขสมบัติ ได้รับความสำเร็จที่ต้องการต่างๆ ตนเองก็ย่อมจะมีความยินดี มีความบันเทิงสุข ในความสุขความเจริญของตน ในความสำเร็จของตน เช่นผู้ที่เป็นนักเรียนสอบไล่ สอบไล่ได้ก็มีความยินดี ผู้ที่ทำการงานได้งานที่ต้องการ ได้ยศได้ลาภก็มีความยินดีบันเทิงใจ นี้คือมุทิตาต่อตัวเอง
แต่นอกจากนี้ก็ยังมีมุทิตาต่อบุคคลซึ่งเป็นที่รักของตน เช่นในบุตรธิดา ในบุคคลที่เป็นที่รักทั้งหลาย เมื่อบุคคลที่เป็นที่รักได้รับความสุขความเจริญ ก็มีความบันเทิงใจยินดีด้วย เพราะฉะนั้น อาการที่เรียกว่ามุทิตานี้จึงมีอยู่ในสันดานของคนดังกล่าว ไม่ใช่ไม่มี พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้อบรมมุทิตา ที่มีอยู่เป็นพื้นในจิตใจของตนนี้แหละ แผ่ขยายให้กว้างออกไป ซึ่งทีแรกท่านก็สอนให้แผ่ไปในบุคคลที่เป็นที่รักก่อน ตั้งจิตให้เขาได้รับความสุขความเจริญประสบความสำเร็จ เมื่อเขาได้รับประสบสุขสมบัติ ได้รับความสำเร็จ ก็บันเทิงยินดี ซึ่งทำได้ง่ายอยู่แล้ว
จากนั้นก็ตรัสสอนให้แผ่ไปในบุคคลที่เป็นกลางๆ เมื่อทำได้ก็สอนให้แผ่ไปในบุคคลที่เป็นศัตรู หรือที่ไม่ชอบกัน เมื่อบุคคลที่เป็นกลางๆ หรือแม้ที่เป็นศัตรูที่ไม่ชอบกันได้ความสุขความเจริญ ก็แผ่ใจออกไปให้เขา พลอยยินดีในความสุขความเจริญของเขา เป็นเครื่องกำจัดอิสสาคือความริษยา
มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน
และนอกจากนี้ความพลอยยินดีดังกล่าวมานี้ ยังเป็นเครื่องกำจัด มักขะ คือ ความหลบหลู่คุณท่าน อีกด้วย คือท่านผู้มีคุณ จะเป็นท่านที่มีคุณต่อตนก็ตาม มีคุณต่อผู้อื่นที่เป็นจำเพาะบุคคล หรือเป็นส่วนรวมก็ตาม ก็อย่าให้มีความลบหลู่คุณท่านที่เรียกว่ามักขะ บางทีก็รู้ว่าท่านมีคุณ แต่ก็ลบหลู่คุณท่าน จนถึงทำลายด้วยวิธีที่บิดเบือนความจริงกล่าวร้ายป้ายสีทั้งที่รู้ เพื่อทำลายคุณของท่าน และเมื่อทำลายคุณของท่าน ก็ทำลายความเคารพนับถือที่มีอยู่ในท่านด้วย และนอกจากนี้ที่ร้ายขึ้นไป ก็คือทำลายล้างกิจการต่างๆ ของท่านที่ท่านทำ หรือที่ท่านได้เริ่มตั้งขึ้นไว้ให้เสียหาย หรือถ้ายังไม่มีกิจการที่ทำขึ้น แต่ว่าได้มีแนวคิดที่ท่านให้ไว้แล้ว มีแผนผังที่ท่านวางไว้แล้ว ในทางที่เป็นประโยชน์เป็นคุณ แต่ก็ต้องการทำลายบุคคลนั้นก็ลบหลู่ ว่าแบบแปลนแผนผังหรือแนวความคิดที่ตั้งไว้นั้นไม่ดี ก็เลิกล้างไม่ทำ เหล่านี้เป็นมักขะคือลบหลู่ แล้วก็เป็นอกตัญญูคือเป็นผู้ที่ไม่รู้คุณที่ท่านทำไว้แล้วด้วย แล้วก็เจือด้วยความริษยาด้วย
เพราะฉะนั้น หากว่าได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คืออบรมมุทิตาจิตนี้ให้บังเกิดขึ้น ยินดีพอใจในความสุขความเจริญของผู้อื่น ตลอดจนถึงในงานการที่เป็นประโยชน์ของผู้อื่น ที่จะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติการงานที่เป็นประโยชน์นั้น ได้ประสบความสำเร็จในการที่จะปฏิบัติการงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าท่านผู้ที่ทำประโยชน์นั้นจะได้ชื่อได้เสียงได้เกียรติยศ ได้ลาภได้ผล อันจะทำให้ตนเองต้องตกต่ำ ตัดความคิดที่ผิดความปรารถนาที่ผิดดั่งนี้เสีย เรียกว่ามุ่งสนับสนุนคนดี สนับสนุนความดี สนับสนุนความสุขความเจริญของใครๆ ก็จะทำให้หมู่ชนเรานี้ได้มีคนดีมีสติปัญญามีความสามารถที่จะทำดีต่างๆ สามารถที่จะทำดีต่างๆ เพื่อความสุขความเจริญต่างๆ ได้ ทั้งแก่ตนเองทั้งแก่ส่วนรวม
ถ้าคนเราไม่ลุอำนาจของกิเลสที่เป็นความริษยา เป็นความมักขะลบหลู่คุณท่าน เป็นความเห็นแก่ตัว (เริ่ม) มีความยินดีในความสุขความเจริญ ของผู้ที่ประสบความสุขความเจริญ อันรวมตลอดจนถึงในคนดีทั้งหลาย ที่สามารถสร้างความสุขความเจริญได้ ให้แก่ตนให้แก่ส่วนรวม อันอยู่ในลักษณะของมุทิตาด้วยอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้หมู่ชน ประเทศชาติ ตลอดจนถึงโลกมีความสุขความเจริญขึ้นพร้อมๆ กันมาก แต่เพราะความริษยาดังที่กล่าวมานี่เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการทำลายล้างโลก ทำลายล้างหมู่ชน ทำลายความสุขความเจริญต่างๆ ของโลกของหมู่ชน
โทษของความริษยา
เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงควรมองเห็นโทษของความริษยา และไม่ต้องไปมองเห็นโทษความริษยาของใคร ในทางธรรมปฏิบัตินั้น ก็ให้ดูความริษยาในใจของตัวเอง เมื่อใครมีความสุขความเจริญอย่างไร แต่ใจของตัวเองมีความริษยา ก็ให้รู้ใจของตัวเองว่านี่เป็นความริษยาเป็นสิ่งที่มีโทษไม่ควรจะมี ควรที่จะมีมุทิตา คือความพลอยยินดี ขอให้เขาได้ตั้งอยู่ในสุขสมบัติ อย่าให้เสื่อมจากสุขสมบัติ เหมือนอย่างที่มีมุทิตาต่อตนเอง และมีมุทิตาต่อคนที่เป็นที่รักทั้งหลาย หัดเตือนใจตัวเอง คอยระงับความริษยา แต่ทำมุทิตาให้บังเกิดขึ้น ตลอดจนถึงคอยระงับโสมนัสชนิดที่เป็นอิจฉา คือความปรารถนาต้องการ ที่จะแข่งดีแข่งเจริญอันเป็นตัณหาโลภะเสียด้วย
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าตนเองนั้น จะหยุดไม่ทำอะไรเพื่อความสุขความเจริญของตัวเอง ตัวเองนั้นก็ควรจะต้องปฏิบัติ มีความพากเพียรพยายาม เพื่อสร้างความสุขความเจริญให้แก่ตัวเอง เป็นความเพียรที่เป็นส่วนเหตุ ก็ต้องทำ แต่ว่าเมื่อทำอย่างเต็มที่แล้วผลที่ได้เท่าไรก็ยินดีเท่านั้น เป็นความสันโดษคือสันโดษในผล เพราะว่าเมื่อได้เท่านั้น ถึงจะไปเสียใจเท่าไรก็ไม่เพิ่มขึ้นอีกได้ หรือว่าอยากได้เท่าไหร่ก็ไม่อาจจะเพิ่มขึ้นอีกได้ เพราะเป็นผลที่พึงได้เท่านั้น ก็ควรทำความยินดีรับผลที่พึงได้เท่านั้น แต่ก็พยายามในเหตุต่อไป ไม่ยินดีในพอใจ คือไม่สันโดษในความเพียรที่จะทำต่อไป แต่สันโดษในผล ทั้งนี้ก็หมายความว่า ก็อย่าให้เกินพอดี คือให้อยู่ในกำลังที่จะพึงเพียรได้ และให้อยู่ในขอบเขตอันสมควรด้วย จึงจะเป็นสันโดษที่ถูกต้อง
สันโดษในผล ไม่สันโดษในกุศล
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ว่าให้สันโดษในผลที่ได้ต่างๆ เช่นได้ลาภ สำหรับภิกษุก็เช่นในปัจจัยทั้ง ๔ จีวรคือผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไขตามที่ได้ แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย คือในการที่จะประกอบความเพียร ทำความดีปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ปฏิบัติในศีลก็ปฏิบัติสมาธิต่อไป ปฏิบัติปัญญาต่อไป เพิ่มการปฏิบัติให้สูงขึ้นๆ ดั่งนี้คือไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้ดั่งนี้ เพื่อให้เป็นผู้ที่จะได้เป็นคนดี เป็นบุคคลที่เป็นกัลยาณชน จนถึงเป็นอริยชน เสมอด้วยกัลยาณชนและอริยชนทั้งหลาย ตรัสสอนให้ปฏิบัติตนเองดั่งนี้ แต่ตรัสสอนไม่ให้มีความริษยา ในการบรรลุถึงสุขประโยชน์ของใครๆ เมื่อใครๆ บรรลุสุขประโยชน์ ก็มีจิตใจโมทนายินดีในสุขประโยชน์ที่เขาได้รับ และตนเองก็ปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ดังกล่าว เพื่อให้เป็นคนดี เสมอด้วยคนดีทั้งหลาย เมื่อใครเขาจะเป็นคนดีไปก่อนก็ให้เขาเป็นไป มีความยินดีด้วย ตนเองต้องการเป็นคนดีบ้างก็ปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดี ให้เป็นคนดีด้วยกัน ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง
การปฏิบัติแผ่มุทิตา
เพราะฉะนั้น การอบรมจิตให้มีมุทิตานี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ด้อยไปกว่าข้อเมตตากรุณา ต้องมีมุทิตานี้ด้วย ทำลายความริษยา และทำลายความดิ้นรนทะยานอยากเป็นโลภะตัณหาในสิ่งที่เขาได้ ที่เรียกว่าโสมนัสหรือเรียกว่าอิจฉาดังกล่าว
และวิธีที่จะแผ่ มุทิตา ซึ่งเป็นการหัดปฏิบัติอบรมนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้ให้แผ่ไปโดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจง และก็ตรัสสอนไว้ให้แผ่ไปโดยเจาะจง ก็คือแผ่ไปในบุคคลที่เป็นที่รัก ในบุคคลที่เป็นปานกลาง และในบุคคลที่เป็นศัตรูกัน เป็นการหัด และก็แผ่ไปโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป ดังที่ได้แสดงไว้ครั้งหนึ่งในข้อเมตตาแล้ว และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้หายจากอิสสาริษยา หายจากโลภะตัณหาอิจฉาที่จะแข่งดี อยากจะได้เป็นของตนด้วย เป็นมุทิตาที่บริสุทธิ์ขึ้นในจิตใจ ซึ่งสามารถทำได้ และจะให้ผู้ที่แผ่มุทิตาจิตดังกล่าวนี้ออกไปได้มีความสุขก่อน และใจที่มีมุทิตาดั่งนี้ก็จะทำให้ปฏิบัติในทางที่เกื้อกูลสนับสนุนกันและกัน ให้มีความสุขความเจริญ ไม่ตัดรอนกัน
และความคิดแผ่นั้น ก็ดังที่ท่านผูกเอาไว้เป็นคำสวดว่าสัตว์ทั้งปวง มาลัทธะ สัมปัติโต วิรัติชันตุ จงอย่าไปปราศจากสมบัติที่ตนได้แล้วเถิด คือทุกๆ สัตว์บุคคล เมื่อได้สมบัติที่เป็นสุขสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ก็ขอให้ดำรงอยู่ในสุขสมบัตินั้นๆ อย่าให้เสื่อมไปจากสุขสมบัติที่ตนได้แล้ว ดั่งนี้เป็นการหัดแผ่จิตด้วยมุทิตา
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป