แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพรหมวิหารข้อที่ ๒ คือกรุณา อันเป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติที่ไม่ผิด กรุณานี้ท่านแสดงคำแปลเป็นภาษาไทยโดยมากว่า ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ คือเมื่อได้เห็นหรือได้ยินว่าสัตว์บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมีทุกข์ ก็มีจิตคิดช่วยให้พ้นทุกข์ ดังที่เรียกกันในภาษาไทยว่าสงสาร และกรุณาที่มีอาการดั่งนี้ จะต้องปราศจากวิหิงสา คือความเบียดเบียนใครๆ ให้เป็นทุกข์ หรือคิดเบียดเบียนใครให้เป็นทุกข์ และปราศจากโทมนัส คือความเศร้าเสียใจที่อาศัยเรือน อันหมายถึงอาศัยกิเลสที่เป็นตัวความรัก อันจิตใจโดยปรกติของบุคคลนั้น ในบางคราวก็มีความสงสารในเมื่อเห็นใครเป็นทุกข์ คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ในบางคราวก็มีใจประกอบด้วยวิหิงสาคือความเบียดเบียน ตั้งต้นแต่คิดเบียดเบียน
วิหิงสาความคิดเบียดเบียน
และอันวิหิงสาคือความเบียดเบียนดังกล่าวนี้ อาจมีเป็นพื้นใจของคนสามัญ เป็นต้นว่าเมื่อเกิดไฟไหม้บ้านเรือน ก็พอใจไปดู และในขณะที่ดูนั้น ก็มักไม่ได้นึกถึงความทุกข์เดือดร้อนของคนที่ถูกไฟไหม้บ้านเรือน คล้ายๆ กับว่าพื้นของจิตใจมีความพอใจในด้านที่เกิดการทำลาย
และมิใช่เรื่องไฟไหม้อย่างเดียว แม้ในเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งมีการทำร้ายกัน มีการบาดเจ็บเสียหาย หรือแม้มีอุบัติเหตุเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย แก่ยวดยานพาหนะ ก็พอใจมุงดูกัน และก็ไม่ได้คิดถึงผู้ที่เจ็บผู้ที่เสียหายหรือสิ่งที่เสียหายเท่าไร จิตใจคนเป็นอันมากมักเป็นดั่งนี้ คล้ายกับพอใจในความวินาศเสียหายของใครๆ แต่ในด้านสร้างเสริมความสุขต่างๆ นั้น ก็มักไม่ค่อยจะสนใจเท่าไร เช่นในการสร้างบ้านสร้างเรือน ก็ไม่สนใจจะดูกันเท่าไร แต่เมื่อบ้านเรือนถูกไฟไหม้ ก็พามาดูกันมาก
เพราะฉะนั้น ทุกคนควรที่จะกำหนดดูใจของตัวเอง และคอยระมัดระวังใจไม่ให้เกิดความคิดซ้ำเติม อันจะเกิดเป็นบาปกรรมแก่ตัวเองโดยไม่จำเป็น โดยไม่ใช่เหตุที่จำเป็น อันความคิดซ้ำเติม หรือแม้ความพอใจในความทุกข์ของผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ควรจะแก้ใจของตัวเองไม่ให้เกิดความคิดซ้ำเติม มุ่งที่จะเห็นความเสียหายยิ่งๆ ขึ้น แต่ควรที่จะทำใจของตัวเองให้เกิดความสงสาร
และนอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่ฉวยโอกาส เช่นในขณะที่เกิดไฟไหม้บ้านเรือน ก็ฉวยโอกาสหยิบฉวยเอาทรัพย์ของคนที่ถูกไฟไหม้บ้าน หรือว่าประสบคนต้องอุบัติเหตุ ก็ฉวยโอกาสถอดเอาทรัพย์จากร่างกายของเขา ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสกระทำโจรกรรม อันเป็นการกระทำบาปที่น่าเกลียดน่าชัง
ในเมื่อคนอื่นเป็นทุกข์ ก็ยังฉวยโอกาส ที่จะไปเพิ่มทุกข์ของเขาให้มากขึ้นอีก แสดงถึงชั้นของจิตใจที่ต่ำทราม ควรที่จะหัดทำใจให้เกิดสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เท่าที่สามารถจะช่วยได้ เช่นเมื่อใครถูกไฟไหม้อยู่เป็นมิตรเป็นสหาย หรือแม้ไม่เป็นมิตรเป็นสหาย หากชอบไปดู มีโอกาสที่พอจะช่วยเขาได้ก็ช่วยตามที่จะช่วยได้ เช่นรักษาทรัพย์ที่เขาขนออกมาได้ หรือเป็นญาติมิตรกันช่วยกันขนทรัพย์ออกมาเท่าที่จะทำได้ หาทางช่วยให้เขาพ้นอันตราย ไม่ใช่ไปคิดซ้ำเติม และไม่ใช่ไปปฏิบัติเบียดเบียนทรัพย์ของเขาซ้ำเติม เป็นโจรกรรมให้มากขึ้นไปอีก หัดใจให้มีความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ และเมื่อช่วยได้ก็ช่วย เมื่อช่วยไม่ได้ก็ไม่สามารถจะช่วย แต่ก็ไม่คิดซ้ำเติม
อันความทุกข์ต่างๆ นั้นที่ทุกคนได้รับกันอยู่ จากบุคคลด้วยกันเองก่อขึ้น ก็คือจากวิหิงสาคือการเบียดเบียนนั้นเอง วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ บุคคลก่อให้แก่กันเอง ผู้ที่ก่อการเบียดเบียนแก่ผู้ใด ผู้ที่ถูกเบียดเบียนนั้นก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น หากความคิดเบียดเบียนบังเกิดขึ้น ก็ต้องคิดระงับความเบียดเบียนเสีย การเบียดเบียนแม้ที่กล่าวมาข้างต้น คือความคิดซ้ำเติม หรือการฉวยโอกาสลักขโมย เมื่อเขาประสบภัยต่างๆ หรือแม้ว่าเป็นผู้ที่ก่อภัยแก่เขาเอง เบียดเบียนเขาเอง ดั่งนี้คือวิหิงสา ซึ่งคนด้วยกันทำแก่กันเอง
และวิหิงสานี้ บางคราวก็ทำด้วยโมหะคือความหลง มุ่งความสนุก มุ่งการเป็นกีฬาเป็นต้น มุ่งการสนุกหรือมุ่งการเป็นกีฬาเป็นต้น ก็เช่นเล่นยิงนกตกปลา เห็นเป็นการสนุกเป็นการบันเทิง จากการที่ทำร้ายชีวิตและร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย (เริ่ม) ไม่ได้เกิดจากความที่โกรธเคืองอะไร เพราะฉะนั้น แม้การเบียดเบียนดั่งนี้ก็เป็นบาปเป็นอกุศลไม่ควรที่จะทำ
แม้การเบียดเบียนที่ไม่จำเป็นต่างๆ เช่นว่ามียุงมากัดก็ตบยุงทันที การตบยุงนั้นก็เป็นการทำโทษยุงถึงตาย แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า โทษที่ยุงมากัดนั้นไม่น่าจะต้องมีโทษถึงตาย ใช้วิธีอื่น เช่นค่อยๆ ปัดให้เขาไปเสีย หรือใช้ยากันยุง หรือว่าอยู่ในมุ้งลวดเหล่านี้เป็นต้น ก็ย่อมเป็นการที่ทำได้
และนอกจากนี้ยังมีอื่นๆ อีกมาก แม้การที่กักขังสัตว์ให้อดอยากก็เป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง การทรมานสัตว์ก็เป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง การที่ใช้แรงงานบุคคลด้วยกันเกินไปก็เป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง เมื่อจ้างใช้ให้พอเหมาะพอดี ไม่ถึงกับทำให้เขาเป็นทุกข์เดือดร้อน โดยที่มีค่าตอบแทนตามที่ตกลงกัน หรือตามที่จะพึงให้ได้ ก็เป็นการไม่เบียดเบียน แต่เมื่อใช้แรงงานเกินไปก็เป็นการเบียดเบียน การให้ใครทำอะไรเกินไป ทำให้ลำบากโดยที่ไม่ควรจะเป็น ก็เป็นการเบียดเบียน
อหิงสาความไม่เบียดเบียน
เพราะฉะนั้น อะไรที่ก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นสัตว์อื่นแล้ว ก็พึงหลีกเลี่ยง เป็นอหิงสาคือไม่เบียดเบียน ทั้งคนและทั้งสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย และการที่จะละความไม่เบียดเบียนนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการหัดแผ่จิตออกไป ให้เกิดความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ในเมื่อเขาประสบทุกข์ และแม้เขาไม่ประสบทุกข์ ก็ปรารถนาให้เขาไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน ไม่คิดไม่ทำอะไรที่จะให้เขาเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะมีความสงสาร
ดั่งนี้ ก็เป็นลักษณะของกรุณา อันตรงกันข้ามกับการเบียดเบียน เพราะเบียดเบียนนี้เป็นตัวเหตุก่อให้ใครๆ เป็นทุกข์ แต่กรุณาเป็นเหตุให้ไม่เบียดเบียน และเป็นเหตุให้คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ในเมื่อเขาเป็นทุกข์ด้วย
โทมนัสที่อาศัยเรือน
และนอกจากนี้ความโทมนัสความเสียใจก็อาจเกิดขึ้นได้ ในเมื่อเห็นบุคคลที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ต้องประสบความทุกข์ หรือแม้ว่ารู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์ ต้องประสบความทุกข์ ก็อาจเสียใจให้แก่ตัวเอง ว่าต้องเป็นทุกข์ ความเสียใจที่เป็นโทมนัสดังกล่าวมานี้ เรียกว่าอาศัยเรือน ท่านหมายถึงอาศัยกามที่เป็นตัวความรัก เมื่อมีความรักในผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นที่รัก เมื่อบุคคลเป็นที่รักเป็นทุกข์ ตัวเองก็โทมนัส รักในตัวเอง เมื่อตัวเองเป็นทุกข์ ก็โทมนัส และแม้โทมนัสดังกล่าวนี้ ถึงว่าจะทำให้เกิดสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ต่อไปด้วย แต่เป็นความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์อันประกอบด้วยโทมนัสดั่งนี้ ก็ยังมิใช่กรุณาที่บริสุทธิ์
เพราะฉะนั้น ก็ต้องปฏิบัติที่จะละโทมนัสมิให้บังเกิดขึ้น ด้วยอาศัยความคิดพิจารณาว่า โทมนัสคือความเสียใจใดๆ ความทุกข์ใจใดๆ ความไม่สบายใจใดๆ ที่บังเกิดขึ้น ในเมื่อเห็นใครเป็นทุกข์ หรือแม้ตัวเองเป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเครื่องช่วยให้บุคคลนั้นๆ หรือตนเองพ้นทุกข์ได้ ทั้งยังจะทำให้ไม่เกิดปัญญาที่จะพบทางช่วยที่เหมาะสมได้ทันท่วงที เพราะมัวแต่เสียใจ ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ทำให้ไม่เป็นอันคิดที่จะแก้ไข
เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของโทมนัส และเมื่อเห็นโทษของโทมนัสดั่งนี้แล้ว โทมนัสก็จะสงบลงได้ ทำให้กรุณาเด่นขึ้นเป็นความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ ความคิดที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ มองเห็นทางที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ถนัดขึ้น ได้ดีขึ้น ตามที่สามารถจะทำได้ และเมื่อสามารถจะช่วยได้เพียงไร ก็ช่วยเพียงนั้น ถ้าไม่สามารถจะช่วยได้ก็คิดสงสารอยู่ในใจ ไม่คิดซ้ำเติม และไม่เห็นสนุกไปในความทุกข์ของผู้อื่นดังที่กล่าวมาข้างต้น เห็นอกเห็นใจ และเมื่อช่วยได้ก็ช่วยตามที่สามารถช่วยได้ โดยทางที่ถูกชอบ
กรุณาในทางที่ชอบ
บุคคลที่เป็นที่สรรเสริญพระคุณว่าประกอบด้วยกรุณา ก็คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ในทางประเทศชาติบ้านเมือง ก็ได้แก่องค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระมหากรุณา อันที่จริงนั้น เมตตาก็ย่อมมีอยู่ หรือแม้กรุณา หรือแม้มุทิตา อุเบกขา ก็ย่อมมีอยู่ในพระพุทธเจ้า และในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรม แต่ว่ายกเอาข้อกรุณานี้ออกหน้าพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า เพราะว่าข้อกรุณานี้แสดงออกเป็นการกระทำที่ช่วยต่างๆ ทางกายทางวาจา อันเกิดจากใจที่กรุณา พร้อมทั้งเมตตา พร้อมทั้งมุทิตา อุเบกขา แต่อาการที่แสดงออกปรากฏ อันเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือต่างๆ นั้นพ้นทุกข์ ได้มีความสุขก็คือกรุณา อันเป็นลักษณะที่ปรากฏว่าช่วยต่างๆ อย่างนั้นอย่างนี้
และการที่ช่วยนี้ทางพุทธศาสนาต้องการให้ช่วยในทางที่ชอบ เช่นว่า บุคคลที่ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุต่างๆ อันควรแก่ความกรุณา แต่ไม่สามารถจะช่วยๆ ได้ เช่น ผู้ต้องโทษเพราะกระทำผิด ทางบ้านเมืองตัดสินลงโทษต้องจำคุกก็ต้องมีความทุกข์ ก็เป็นบุคคลที่พึงกรุณาสงสาร แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยได้ จะไปช่วยให้เขาแหกคุกหนี ดั่งนี้ก็ไม่ได้เป็นการผิดไม่ควรทำ ต้องช่วยในทางที่ชอบ เช่นแผ่เมตตาจิตช่วยไปให้เขามีความสุขตามที่ควรจะเป็นได้ ไม่คิดซ้ำเติมให้เป็นทุกข์มากขึ้น
เรื่องธิดาช่างทอหูก
พระพุทธเจ้าเองทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์โลกทุกถ้วนหน้า และก็ทรงช่วยด้วยการทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ให้เขาซึ่งเป็นผู้ฟังได้ปัญญาเห็นธรรม และบรรลุมรรคผลตามภูมิตามชั้น ทรงช่วยได้ดั่งนี้ แต่จะทรงช่วยประการอื่นย่อมทำไม่ได้ ดังเช่นบุคคลที่มีกรรมมาถึงเข้า อันจะต้องถึงแก่ความตายตามกรรม พระพุทธเจ้าจะไปทรงช่วยให้เขาไม่ต้องตายในเมื่อกรรมมาถึงเขานั้นไม่ได้ แต่ทรงช่วยได้ด้วยวิธีอื่น ดั่งเช่นที่มีเรื่องเล่าถึงธิดาของช่างทอหูก ซึ่งตอนเช้าก็นำอาหารไปให้บิดาที่โรงหูก พระพุทธเจ้าทรงทราบว่านางถึงวาระที่จะต้องทำกาลกิริยา คือตายในวันนั้น จึงได้เสด็จออกไปทรงบิณฑบาตโดยปรกติ ไปดักอยู่ในทางที่ธิดาของช่างทอหูกนั้นจะต้องผ่าน และเมื่อธิดาของช่างทอหูกนั้นผ่านไปถึง นางก็หยุดถวายความเคารพพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามปัญหาว่าจะไปไหน นางก็ตอบว่าไม่รู้ พระองค์ก็ตรัสถามอีกว่าไม่รู้หรือ นางก็ตอบว่ารู้ แล้วมีอีกสองข้อ แต่ในที่นี้จะยกมาเพียงสองข้อเท่านี้ก่อน ประชาชนที่เฝ้าอยู่ด้วยนั้นก็กล่าวหาว่านางเจรจาไม่เคารพ ต่อพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา พูดเป็นเล่นๆ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า เมื่อทรงถามว่าจะไปไหน นางตอบว่า ไม่รู้ คืออย่างไร นางก็กราบทูลว่าไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ก็ตรัสถามอีกว่า ครั้นตรัสถามว่าไม่รู้หรือ นางตอบว่า รู้ หมายความว่าอย่างไร นางก็ตอบว่า รู้ว่าจะต้องตายแน่ พระพุทธเจ้าก็ทรงสาธุการ ธิดาช่างทอหูกนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเป็นโสดาบันบุคคล เมื่อเป็นโสดาบันบุคคลแล้ว จะตายเมื่อไรก็ไม่ตกทุคติ
มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า อีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้โปรดนางแล้ว ก็เสด็จต่อไป ธิดานายช่างหูกนั้นครั้นได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วก็เดินต่อไปยังโรงหูก บิดากำลังหลับคาหูกอยู่ ได้ยินเสียงนางเดินกุกกักเข้าไป ก็ตกใจตื่น ก็กระชากหูกโดยแรง กระสวยของหูกก็พุ่งไปถูกอุระของนางถึงแก่ความตายทันที พระพุทธเข้าได้ทรงช่วยดั่งนี้ ทรงรู้ว่านางจะต้องตาย แล้วก็เป็นกรรมที่มาถึงนางเข้า อันเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น พระองค์ทรงรู้แล้ว พระองค์ก็ช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้ตายในวันนั้น แต่ทรงช่วยได้ในทางที่จะไปโปรดนางให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้เป็นผู้ที่มีจิตใจบรรลุถึงที่พึ่งอันแน่นอนแล้ว
ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน
พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เองว่าทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน และพระองค์ก็มีพระญาณหยั่งทราบ อดีต อนาคต ปัจจุบัน ทรงรู้หมดในวาระสุดท้ายของทุกๆ คน แม้แต่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์เอง พระองค์ก็ทรงทราบ และจะถึงเมื่อไหร่ก็ทรงทราบ หากว่าทรงอาศัยพระญาณหยั่งรู้ดั่งนี้เที่ยวช่วยใครต่อใคร เช่นธิดาของช่างทอหูกนั้น ก็ช่วยเหนี่ยวรั้งเอาไว้ให้นางกลับไปบ้านเสีย อย่าไปที่โรงหูก จะได้ไม่ต้องตาย ดั่งนี้ก็ทรงทำไม่ได้ เพราะเป็นการผิดคติธรรมดา ฉะนั้นผู้ที่มีญาณหยั่งรู้อดีตอนาคตปัจจุบันนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส หรือมีกิเลสที่เบาบางแล้ว ไม่ทำอะไรที่ผิดธรรมชาติธรรมดา เมื่อวาระควรจะมาถึงอย่างไรเป็นไปตามกรรม ก็ให้เป็นไปอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติดั่งนี้
และแม้เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูจับขังไว้ในที่คุมขังที่เชิงเขาคิชฌกูฏ พระองค์ก็ไม่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องการเมือง และก็ทรงทราบถึงกรรม และผลของกรรมที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงปฏิบัติมาทำมา จะต้องมีวาระเป็นไปอย่างใด แต่พระองค์ก็โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยวิธีที่เสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏ ผ่านที่คุมขังของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็ทอดพระเนตร เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นเสด็จลง ก็ทรงเจริญพุทธานุสสติ ทรงมีความสุข แม้ว่าจะไม่ได้ทรงได้พระกระยาหารเพียงพอ หรือจนถึงไม่ได้พระกระยาหาร ก็ทรงอยู่ได้ด้วยปีติสุขอันเกิดจากพุทธานุสสติ ที่เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นลงเขาคิชฌกูฏ ทรงช่วยดั่งนี้ อันเป็นการกระทำที่ถูกของพระพุทธเจ้า
แม้การช่วยของท่านผู้อื่นซึ่งเป็นผู้มีพระกรุณา เช่นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรม ก็เช่นเดียวกัน ทรงช่วยในทางที่ควรช่วยต่างๆ ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาช่วยประชาชน ในด้านต่างๆ ดังที่ปรากฎ ในทางที่ควรช่วย ในทางที่พึงทำ อันเป็นการไม่ผิด เพราะฉะนั้นจึงรวมเข้าว่าต้องช่วยให้ไม่ผิดด้วย ช่วยให้ถูก ช่วยในทางที่ถูกตามควรแก่ภาวะของบุคคลนั้นๆ เพราะฉะนั้นกรุณาจึงมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ศัตรูที่ใกล้ก็คือโทมนัสดังกล่าว ศัตรูที่ไกลก็คือวิหิงสา เพราะฉะนั้น แม้ในการปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติที่จะไม่ให้วิหิงสาบังเกิดขึ้นแม้ในจิตใจ และไม่ให้โทมนัสบังเกิดขึ้น ทั้งสองอย่าง และวิธีปฏิบัตินั้นก็อาจปฏิบัติได้ ตามวิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗ ดังที่แสดงมาแล้วในข้อเมตตา
บัดนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป