แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเป็นอปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติไม่ผิด อันเกี่ยวแก่วาทะคือถ้อยคำต่างๆ ไว้หลายแห่ง และในที่อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่ เกสปุตตนิคม อันเป็นที่อยู่ของชาวกาลามะทั้งหลาย ชาวกาลามะได้เข้าเฝ้า และก็ได้กราบทูลว่าได้มีสมณะพราหมณ์ทั้งหลายเข้ามาสู่แคว้นนี้ ก็ได้แสดงวาทะสอน สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งก็สอนอย่างนี้ สมณะพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็สอนอย่างนั้นและชาวกาลามะก็ได้กราบทูลถึงวาทะที่สมณะต่างๆ ได้แสดงสอน ก็เช่นเดียวกับที่ได้เสด็จไปในบ้านแห่งหนึ่ง และชาวบ้านแห่งนั้นก็ได้กราบทูลเหมือนอย่างนี้ และก็ได้กราบทูลถามว่าจะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติตน ในทางที่ไม่ผิดด้วยการปฏิบัติอบรมธรรมสมาธิ และจิตตสมาธิ
ส่วนในเกสปุตตนิคมนี้ ชาวกาลามะก็ได้กราบทูลถามเช่นเดียวกันว่าจะปฏิบัติอย่างไร กาลามะสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนว่า เพราะเหตุนั้น คือเพราะเหตุที่สมณะพราหมณ์พวกต่างๆ ที่เข้ามา ต่างแสดงวาทะสอนต่างๆ กัน ฉะนั้นจึง
อย่าเชื่อถือเอาโดยฟังต่อกันมา
อย่าเชื่อถือเอาโดยนำสืบๆ กันมา
อย่าเชื่อถือโดยตื่นข่าว
อย่าเชื่อถือโดยอ้างตำรา
อย่าเชื่อถือโดยนึกเดาเอา
อย่าเชื่อถือโดยคาดคะเน
อย่าเชื่อถือโดยตรึกเอาตามอาการ
อย่าเชื่อถือโดยพอใจว่าต้องกันกับทิฏฐิคือความเห็น
อย่าเชื่อถือโดยพอใจว่าควรเชื่อได้
อย่าเชื่อถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
แต่ว่าให้ชาวกาลามะทั้งหลายได้ใช้ปัญญาพิจารณาดูตามเหตุผลว่าธรรมเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ อันวิญญูคือผู้รู้ ติเตียนหรือสรรเสริญ พระองค์ก็ได้ตรัสถามชาวกาลามะเป็นข้อๆ ไป และชาวกาลามะก็ได้ตอบเป็นข้อๆ ไป
สรุปความเข้าว่า ตรัสถามว่าโลภะ คือความโลภอยากได้ โทสะ คือความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะ คือความหลง มีคุณหรือมีโทษ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญหรือติเตียน ชาวกาลามะก็กราบทูลว่าเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียน พระองค์ก็ตรัสถามว่าบุคคลที่โลภแล้ว โกรธแล้ว หลงแล้ว จึงฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามทั้งหลายบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งของความประมาทบ้าง เป็นกุศลหรืออกุศล มีคุณหรือมีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญหรือติเตียน ชาวกาลามะก็กราบทูลว่าเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียน
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามในด้านตรงกันข้ามว่า ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง และบุคคลที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จึงเว้นจากการฆ่าเขาบ้าง เว้นจากการลักของๆ เขาบ้าง เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลายบ้าง เว้นจากพูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความประมาทบ้าง เป็นกุศลหรืออกุศล มีคุณหรือมีโทษ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญหรือติเตียน
(เริ่ม) ชาวกาลามะก็กราบทูลว่าเป็นกุศล มีคุณ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วสรรเสริญ ดั่งนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสย้ำว่าเพราะเหตุนี้เอง พระองค์จึงได้ตรัสสอนว่า อย่าได้เชื่อถือโดยฟังตามกันมา โดยนำสืบๆ กันมา โดยตื่นข่าวลือเป็นต้น
ความปลอดโปร่งใจ ๔ ประการ
จากนั้นพระพุทธองค์ก็ประทานพระพุทธโอวาทต่อไปว่า บุคคลที่มีจิตไม่โลภเพ่งเล็งอยากได้ของใครมาเป็นของตน ไม่พยาบาทมุ่งร้าย เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ไม่ฟั่นเฟือน มีสัมปชัญญะคือความรู้พร้อม มีสติอยู่เฉพาะหน้า ย่อมแผ่พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปในทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ที่ตรัสว่าทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ในเบื้องบน ในเบื้องล่าง ในเบื้องขวางโดยรอบ ทั่วโลกทั้งสิ้น โดยความที่เป็นที่รวมกันเข้า เหมือนอย่างเป็นอัตตาตัวตนคนเดียวกันทั้งหมด ใหญ่ครอบโลกทั้งหมด เมื่อปฏิบัติแผ่พรหมวิหารธรรมไปดั่งนี้ ย่อมจะได้ความภูมิใจ ความปลอดโปร่งใจ ๔ ประการ
คือ ถ้าโลกอื่นมี ผลของบุญบาปที่ทำไว้แล้วมี ตัวเราเองเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกทำลาย ก็ย่อมจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์
ถ้าโลกอื่นไม่มี ผลของบุญบาปที่ทำแล้วไม่มี ตัวเราเองก็จักรักษาตนให้เป็นสุขอยู่ได้ในโลกนี้
ถ้าบาปมี คือทำบาปก็เป็นอันทำบาป ทุกข์ก็จะไม่ถูกต้องเรา เพราะว่าเรามิได้ทำบาปแต่ที่ไหน
ถ้าบาปไม่มี คือทำบาปไม่เป็นอันทำบาป เราก็จักเป็นผู้ที่รักษาตนให้บริสุทธิ์โดยส่วนทั้งสอง คือว่า บาปจะมีก็ตาม บาปจะไม่มีก็ตาม เราก็รักษาตนให้บริสุทธิ์ได้ ดั่งนี้
ทุกคนต้องรับผิดชอบความเชื่อของตนเอง
พระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่ชาวกาลามะนี้ ได้เป็นที่นับถือของบุคคลเป็นอันมาก และโดยเฉพาะแสดงลักษณะของพุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสั่งสอนบังคับให้เชื่อ แต่ให้เชื่อด้วยปัญญา แม้คำสั่งสอนของพระองค์เอง ก็ทรงสอนให้เชื่อด้วยปัญญา ให้ใช้ปัญญาพินิจพิจารณา เพราะฉะนั้น ทุกๆ คนจึงสมควรที่จะได้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทปัญญา คือไม่ประมาทหมิ่นปัญญา ใช้ปัญญาที่มีอยู่เพ่งพินิจพิจารณา ก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะคิดอ่านในเรื่องอะไรๆ ตามที่ได้เห็นด้วยตา ได้ฟังด้วยหู หรืออ่าน ได้ทราบด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย และได้คิดรู้ด้วยใจต่างๆ ใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนที่จะเชื่อจะถือปฏิบัติ ในสิ่งนั้นๆ ทุกอย่าง
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะชื่อว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติไม่ประมาทปัญญา ไม่หมิ่นปัญญา คือมีสติ เฉลียวใจ ระลึกได้ ตรวจตราไตร่ตรองให้รู้จักในสิ่งที่จะเชื่อ จะทำ จะพูด จะคิดต่างๆ ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล มีคุณหรือมีโทษ อันวิญญูคือผู้รู้พิจารณาแล้วสรรเสริญหรือติเตียน คือพิจารณาเข้ามาถึงตนเองในการที่จะเชื่ออะไร ในการที่จะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร เป็นการโต้ต่อสิ่งที่ได้เห็นได้ยินเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น อันมีประจำอยู่ทุกวัน ว่าการที่ตัวเราเองจะเชื่อจะทำจะพูดจะคิดนั้น ก็เป็นความเชื่อของตัวเราเอง เป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น บรรดาสื่อภายนอกต่างๆ ที่ผ่านเข้ามานั้น โดยเป็นรูปที่ตาเห็น เป็นเสียงที่หูได้ยิน ดังเป็นวาทะต่างๆ เป็นต้นนั้น จะมาก่อให้เกิดความเชื่อถือของตัวเราเอง ก่อให้เกิดกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตัวเราเองต่างๆ เราจะต้องรับผิดชอบต่อความเชื่อของตัวเราเอง ต่อการถือปฏิบัติที่เป็นการทำการพูดการคิดต่างๆ ของตัวเราเอง
ความเชื่อถือทำพูดคิด
อันนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะบรรดาสื่อต่างๆ ที่เป็นภายนอกนั้น ก็เป็นสิ่งที่เห็นเป็นรูปต่างๆ เป็นเสียงที่ได้ยิน เป็นวาทะต่างๆ ตลอดถึงเป็นเรื่องที่ใจคิด และที่ใจรับรู้ และบรรดารูปที่เห็นเหล่านั้น บรรดาเสียงต่างๆ ที่พูดกันนั้น ตลอดจนถึงบรรดาเรื่องที่ใจเรารับรู้ และคิดต่างๆ นั้น เห็นแล้วก็ผ่านไป ได้ยินแล้วก็ผ่านไป ตลอดจนถึงได้คิดได้รับรู้แล้วก็ผ่านไป ก็เป็นอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นคนเรานั้น วันหนึ่งๆ ไม่รู้ว่าเห็นรูปอะไรกี่ร้อยกี่พันอย่าง ได้ยินเสียงอะไรกี่ร้อยกี่พันเสียง ได้คิดรับรู้อะไรต่างๆ กี่ร้อยกี่พันเรื่อง และก็ล้วนผ่านไปๆ ๆ เท่านั้น
แต่ว่าการที่เราทุกคนนั้นจะเก็บเอามาเชื่อถือทำพูดคิด เหล่านี้ล้วนเป็นธรรมะที่บังเกิดขึ้นแก่ตัวเราเอง ถ้าหากว่าความเชื่อความถือคือการปฏิบัติต่างๆ เป็นการทำการพูดการคิดต่างๆ หรือเป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมต่างๆ นั่น เราจะต้องรับผิดชอบ ถ้าหากว่าเป็นความเชื่อผิดถือผิด ทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็เป็นอกุศลเป็นโทษ เป็นสิ่งที่วิญญูคือผู้รู้ติเตียน ติเตียนตัวเราเองนั่นเอง เป็นโทษแก่ตัวเราเองนั่นเอง เป็นอกุศลต่อตัวเราเองนั่นเอง บรรดาสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยินต่างๆ นั้นไม่ได้เกี่ยวข้อง คือว่าไม่พลอยรับเป็นอกุศลเป็นโทษ และเป็นสิ่งที่วิญญูติเตียนด้วย ตัวเราเองต่างๆ ที่รับเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามา ก่อเป็นความเชื่อถือทำพูดคิด และเป็นฝ่ายผิดไม่ถูกต้อง ก็เป็นอกุศลเป็นโทษแก่ตัวเราเอง วิญญูคือผู้รู้ก็ติเตียนตัวเราเอง
เพราะฉะนั้น การที่ตัวเราเองนั้นไปพลอยรับเป็นอกุศลเป็นโทษ และถูกผู้รู้ติเตียน เพราะเหตุแห่งสิ่งที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยินเป็นต้นดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดดับไปแล้วดั่งที่กล่าวมานั้น เป็นความโง่หรือเป็นความฉลาด ก็จะต้องตอบว่าเป็นความโง่ ไม่ใช่เป็นความฉลาด อยู่เฉยๆ ยังเป็นสุขกว่า หรือแปลว่าคนหูหนวกตาบอดยังเป็นสุขกว่า แต่การที่หูดีตาดี และใจก็ดีเป็นปรกติ แต่ยังมีความโง่ไปรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดดับไปแล้ว มาก่ออกุศล ก่อโทษทุกข์ ก่อความถูกติเตียนจากผู้รู้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร สู้คนที่หูหนวกตาบอดไม่ได้ เพราะฉะนั้น การประมาทหมิ่นปัญญาของตน เพราะเหตุที่ไปรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระ มาก่ออกุศลโทษทุกข์แก่ตนเองดังกล่าวนั้นจึงเป็นความโง่ ไม่ใช่ความฉลาด
ความเชื่อด้วยปัญญา
พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลไม่ตกจมไปในความโง่ แต่ว่าให้ถอนจากความโง่มาสู่ความฉลาด ด้วยใช้ปัญญาพิจารณา ดูที่ตัวความเชื่อถือ ดูที่ตัวกรรมคือสิ่งที่กระทำลงไปของตัวเอง ทางกายทางวาจาทางใจ จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในโลกนี้ ถ้าหากว่ากรรมคือการงานที่กระทำของตัวนั้นเป็นกุศล เป็นสุข คือให้เกิดสุข ไม่เป็นโทษทุกข์ เป็นคุณ และผู้รู้สรรเสริญ ดั่งนี้ จึงประกอบกระทำออกไป โดยที่ให้มีศรัทธาคือความเชื่อนั้นเป็นไปในทางที่ถูกต้อง คือไม่ได้เชื่ออันเป็นเหตุให้ถือปฏิบัติ ด้วยฟังตามๆ กันมา ด้วยนำสืบๆ กันมา ดั่งที่ตรัสสอนไว้ข้างต้นนั้น แล้วมาใช้ปัญญาพิจารณา คือให้เชื่อด้วยปัญญา
และข้อที่ให้เชื่อด้วยปัญญานั้น ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องไปรู้ลึกซึ้งถึงโลกนี้โลกหน้าเป็นต้น เพราะว่าสามัญชนนั้น ยังไม่มีญาณที่จะหยั่งรู้ถึงโลกนี้โลกหน้าได้ เพราะฉะนั้น จึงให้รู้ในปัจจุบันธรรมนี้เอง คือให้รู้ด้วยปัญญาที่ใจของตัวเอง และให้รู้ที่กรรมที่จะประกอบกระทำออกไปของตัวเอง คือดูให้รู้จักว่าใจของตัวเองนี้ประกอบด้วยโลภโกรธหลงหรือเปล่า และกรรมที่กระทำออกไปนั้นเป็นการฆ่าเขาหรือเปล่า เป็นการลักของๆ เขาหรือเปล่าเป็นต้น อันสืบเนื่องมาจากโลภโกรธหลง
ทุกคนรู้โลภโกรธหลงในใจตนเอง
เพราะทุกคนนั้นสามารถรู้ได้ โลภโกรธหลงที่บังเกิดขึ้นที่ใจของตัวเอง โลภโกรธหลงก็ตะโกนอยู่ในใจของตัวเองแล้ว ว่าโลภมาแล้ว โกรธมาแล้ว หลงมาแล้ว และใจที่ถูกโลภโกรธหลงครอบงำก็ตะโกนอยู่แล้วว่า ใจของเราโลภแล้ว ใจของเราโกรธแล้ว ใจของเราหลงแล้ว ทุกคนได้ยินทั้งนั้น ได้รู้ทั้งนั้น และกิเลสเหล่านี้ถ้าเกิดน้อย ก็ตะโกนเบา หรือกระซิบๆ ให้รู้ ว่าจะโลภจะโกรธจะหลง หรือเริ่มโลภเริ่มโกรธเริ่มหลง
ในเมื่อกิเลสเหล่านี้แรงมากขึ้นแล้วจะตะโกนดังมาก เราโลภแล้ว เราโกรธแล้ว เราหลงแล้ว โลภมาแล้ว โกรธมาแล้ว หลงมาแล้ว แต่ทุกคนทำตนให้เป็นคนหูหนวกตาบอด ไม่ยอมที่จะรับฟังคำตะโกนของกิเลสดังกล่าวมานั้น เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้หลงเป็นผู้โง่ ที่เรียกว่าพาลอันแปลว่าโง่ หรือแปลว่าเขลา มีตาก็เหมือนไม่มีตา มีหูก็เหมือนไม่มีหู ที่จะรับรู้เสียงของกิเลส อาการของกิเลสที่ปรากฏขึ้น เพราะฉะนั้น กิเลสจึงจูงบุคคลเช่นนี้ไปเป็นทาส ให้ประกอบกรรม ที่เป็นเครื่องเบียดเบียนตน และผู้อื่นให้เดือดร้อนต่างๆ และการฆ่าเขาก็ดี การลักของเขาก็ดี ก็เป็นกรรมที่บอกตัวเองว่าเบียดเบียน เบียดเบียนผู้อื่น
การเบียดเบียนผู้อื่นคือการเบียดเบียนตน
แต่ว่าการเบียดเบียนผู้อื่นนี้ ก็คือเบียดเบียนตนเองนั้นเอง เพราะว่าทำให้ตนเองนั้นเป็นคนชั่ว และทำให้ตนเองนั้นเป็นทุกข์เพราะกิเลส ถูกกิเลสเผา แต่ว่าไฟคือกิเลสที่เผานี้ ในตอนแรกจะรู้สึกคล้ายกับไฟเย็น หรือเป็นไฟร้อน ก็รู้สึกว่าร้อน แต่ว่าเพราะเหตุที่ยังไม่ยอมรับรู้ คนเราจึงได้ทำชั่วต่างๆ แต่ถ้าหากว่ามีสติเฉลียวใจ มาดูที่ใจตัวเอง มาดูที่กรรรมตัวเองแล้ว ก็จะรู้ว่าเป็นบาปเป็นอกุศล มีโทษมีทุกข์ และผู้รู้ก็ติเตียน พระพุทธเจ้าก็ติเตียน พ่อแม่ก็ติเตียน ครูบาอาจารย์ก็ติเตียน ก็จะนึกขึ้นมาได้ เฉลียวใจเป็นตัวสติ
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว หากว่าอบรมสตินี้ คือความเฉลียวใจนี้ให้มีขึ้นบ่อยๆ ก็จะทำให้ไม่ประมาทหมิ่นปัญญา ปัญญาก็จะโผล่ขึ้นมาเองว่า นี่อะไรเป็นอะไร นี่เป็นบาปอกุศล มีโทษทุกข์ ผู้รู้ติเตียน ส่วนว่าการกระทำที่ตรงกันข้าม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นกุศล มีคุณ ให้เกิดความสุข บัณฑิตคือผู้รู้สรรเสริญ ปัญญาจะเป็นผู้ที่บอกเอง เสียงของปัญญานี้จะดังขึ้นๆ เสียงของสติก็ดังขึ้นๆ
แต่ในตอนแรกเมื่อยังเป็นผู้ที่โง่เขลาอยู่มากนั้น เสียงกิเลสตะโกนก็ไม่ได้ยิน หรือไม่ยอมรับฟัง เพราะว่าปัญญานั้นถูกประมาทหมิ่นไปเสียแล้ว ไม่โผล่ขึ้นมา แต่เมื่อมีความเฉลียวใจที่เป็นตัวสติ คอยหมั่นนึกตรวจตราอยู่พอสมควรแล้ว ก็เป็นโอกาสให้ปัญญานี้โผล่ขึ้นมาในใจได้ และปัญญานี้เองจะได้ยินเสียงกิเลสร้องตะโกนบอกตัวเอง และปัญญานี้เองก็จะเป็นผู้บอก ว่านี้ดี นี้ชั่ว เป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น และเมื่อนั้นแหละก็จะได้เป็นผู้ที่สามารถชนะกิเลสได้ สามารถที่จะทำความเชื่อความถือคือการปฏิบัติต่างๆ ให้ถูกต้องได้ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
เพราะฉะนั้น ความที่เป็นผู้ที่มีสติคอยเฉลียวใจอยู่เสมอ ไม่ประมาทหมิ่นปัญญาของตน ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้นี้ จึงเป็นทางตรงอันถูกต้องที่สุด คือตรงเข้ามาที่ตัวเราเอง จัดการกับตัวเราเองให้ดี พระพุทธเจ้าตรัสสอนดังนี้ และตรัสสอนเป็นกลางๆ ไม่ว่าในวาทะของใคร วาทะของพระองค์เอง หรือวาทะของสมณะพราหมณ์ หรือของผู้อื่นก็ตาม ก็ให้ปฏิบัติใช้ปัญญาเช่นเดียวกัน
และเมื่อปัญญาของตัวเราเองบังเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาก็จะรับรองเอง ว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง ธรรมะนั้นก็เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกดีแล้วจริง พระสงฆ์คือศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีแล้วจริง ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป