แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเป็น อปัณณกปฏิปทา คือการปฏิบัติไม่ผิดในที่ทุกสถาน ดังเช่นที่ตรัสไว้แก่นายบ้านผู้หนึ่งซึ่งเมื่อกราบทูลถามว่า ได้มีสมณะพราหมณ์หลายจำพวกผ่านมาที่หมู่บ้านนั้น และก็ได้แสดงวาทะสอนต่างๆ กัน เช่นจำพวกหนึ่งก็สอนว่าทานที่ทำแล้วไม่มีผล การบูชาที่บูชาแล้วไม่มีผล ผลของบาปบุญที่ทำแล้วไม่มี มารดาบิดาไม่มี สมณะพราหมณ์ที่ชื่อว่าผู้ปฏิบัติชอบไม่มี อีกจำพวกหนึ่งก็มาสอนตรงกันข้ามว่าทานที่ให้แล้วมีผล การบูชาที่บูชาแล้วมีผล ผลของบาปบุญมี มารดาบิดามี สมณะพราหมณ์ที่ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติชอบมี
อีกจำพวกหนึ่งก็มาสอนว่า บุญบาปที่ทำไม่ใช่ว่าเป็นบุญไม่เป็นบาป คือไม่มีการกระทำที่เป็นบุญเป็นบาป ส่วนอีกจำพวกหนึ่งก็มาสอนว่าบุญบาปที่ทำมี คือทำบุญก็เป็นบุญ ทำบาปก็เป็นบาป เมื่อเป็นดั่งนี้จะปฏิบัติอย่างไร
กุศลกรรมบถ
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของตนให้บริสุทธิ์ คือว่าให้เว้นจากการฆ่า ให้เว้นจากการลัก ให้เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ก็เป็นอันประพฤติทำกายกรรมให้บริสุทธิ์ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ก็เป็นอันทำวจีกรรมให้บริสุทธิ์ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พยาบาทมุ่งร้ายหมายทำลายผู้อื่น ไม่เห็นผิดแต่มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ก็เป็นอันทำมโนกรรมให้บริสุทธิ์ และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้ ก็ปฏิบัติตั้งสติ ทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว มีจิตไม่ฟั้นเฟือน ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ถูกต้อง ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ผิด ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติถือเอากฎได้ หรือถือเป็นกฎเกณฑ์ได้ ว่าจะประสบความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน โดยไม่ต้องคำนึงถึงวาทะต่างๆ ของสมณะพราหมณ์ทั้งหลายดังกล่าว
เพราะว่าทานที่ให้แล้วจะมีผลหรือไม่มีผลก็ตาม ผลของบุญบาปจะมีหรือไม่มีก็ตาม บุญบาปที่ทำแล้วจะเป็นบุญบาป หรือไม่เป็นบุญบาปก็ตาม แต่ผู้ที่ปฏิบัติตนดั่งนี้จะต้องไปดีเสมอ ไปดีในโลกนี้ ถ้าโลกหน้ามีก็ไปดีในโลกหน้า แม้ว่าถ้าโลกหน้าไม่มีก็ชื่อว่าได้เป็นผู้ปฏิบัติตนไว้โดยชอบ เป็นการปฏิบัติไม่ผิด
ธรรมสมาธิ จิตตสมาธิ
และเมื่อเป็นดั่งนี้พิจารณาดูเข้ามาที่ตน ได้เห็นตนเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด อันจะทำตนให้ประสบความสวัสดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ก็ย่อมจะบังเกิดความปราโมทย์บันเทิงใจ เมื่อมีความปราโมทย์บันเทิงใจก็ย่อมจะมีปีติ คือความอิ่มใจ ดูดดื่มใจ เมื่อมีปีติก็ย่อมจะมีปัสสัทธิคือความสงบ สงบกายสงบใจ และเมื่อมีความสงบกายสงบใจก็ย่อมจะมีสุข คือความสบายปลอดโปร่งกาย สบายปลอดโปร่งใจ เมื่อมีสุขดั่งนี้ก็ย่อมจะได้สมาธิคือความตั้งจิตมั่นไม่หวั่นไหว เรียกว่า ธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม หรือสมาธิที่เกิดจากธรรมปฏิบัติ อันไม่ผิด และผู้ที่ได้ธรรมสมาธิดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ จิตตสมาธิ
สมาธิแห่งจิต คือจิตจะตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปเพราะวาทะของใครๆ จะตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติธรรม คืออบรมธรรมสมาธิ และจิตตสมาธิดั่งนี้ อันเป็นอปัณณกปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดนัย เพราะวาทะทั้งหลายที่กล่าวกันอยู่ในโลก
โลกธรรม ๘
อันวาทะทั้งหลายที่กล่าวกันอยู่ในโลกนี้ย่อมมีอยู่เป็นอันมาก เป็นการกล่าวถึงเรื่องนั้นถึงเรื่องนี้ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นการกล่าวถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ ว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ และเมื่อกล่าวออกไปก็ต้องเข้าหูใครๆ และผู้ที่ฟังก็กล่าวต่อกันไป ก็แพร่หลายกันออกไป ซึ่งคนส่วนใหญ่นั้นก็ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงของเรื่องที่กล่าวกันนั้นๆ วาทะที่กล่าวกันอยู่ในโลกย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะเป็นโลกธรรม ธรรมะสำหรับโลก
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงโลกธรรมทั้ง ๘ คือลาภเสื่อมลาภ ยศเสื่อมยศ นินทาสรรเสริญ และสุขทุกข์ ๔ คู่ด้วยกัน สามคู่แสดงถึงส่วนที่น่าปรารถนานำ คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ ลาภ ยศ และสุข เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ กับทุกข์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ใน ๓ คู่นี้แสดงอารมณ์ที่น่าปรารถนาไว้หน้า ส่วนคู่นินทา สรรเสริญนั้น แสดงนินทาไว้หน้าสรรเสริญ นินทาเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ส่วนสรรเสริญเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา
พระอาจารย์อธิบายว่า
เพราะนินทานั้นเป็นไปมากในโลก ส่วนสรรเสริญนั้นเป็นไปน้อยกว่า และบุคคลทุกคนในโลกนี้จะต้องถูกนินทามากกว่าถูกสรรเสริญ แม้ว่าในเวลาต่อหน้ามักจะได้รับคำสรรเสริญมากกว่านินทา แต่ว่าถ้าลับหลังแล้วมักจะนินทากันมากกว่าสรรเสริญ โลกธรรมเป็นไปอยู่ดังนี้ เพราะฉะนั้นวาทะที่กล่าวกันต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องที่นินทาแล้วก็มักจะทำให้เกิดความสนใจที่จะฟัง และที่จะพูดต่อกันไป ส่วนที่เป็นสรรเสริญแล้วมักจะไม่ค่อยพูดต่อกันไปเท่าไร ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตใจของชาวโลกนั้นมักจะสนใจในทางร้ายของผู้อื่นหรือว่าสิ่งอื่นมากกว่าสนใจในทางดี เช่นในเวลาที่ไฟไหม้บ้านก็ไปสนใจดูกันเป็นอันมาก แต่เวลาสร้างบ้านนั้นไม่มีใครสนใจที่จะดู อัธยาศัยของชาวโลกทั้งปวงมักจะเป็นไปดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงสนใจในคำนินทากันยิ่งกว่าที่จะสนใจในคำสรรเสริญและมักจะพูดต่อกันไป แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ส่วนใหญ่นั้นก็ไม่ทราบข้อเท็จจริง โลกเป็นดั่งนี้
และแม้วาทะของอาจารย์ทั้งหลายที่สอนกัน แม้ในวาทะของอาจารย์ผู้สอนในพุทธศาสนาเอง ก็ยังสอนกันไปในแนวต่างๆ ซึ่งดูจะขัดแย้งกันบ้างก็มี เป็นไปด้วยกันได้ก็มี เมื่อเป็นคำสอนของศาสนาอื่นก็ย่อมจะเป็นไปกันคนละอย่างเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เป็นธรรมดาสามัญก็อาจจะคล้ายคลึงกัน
(เริ่ม) แต่ส่วนที่เป็นหลักใหญ่นั้นอาจจะต่างกัน ดังเช่นวาทะของอาจารย์ ๔ จำพวก ที่ชาวบ้านหมู่นั้นได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า จำพวกหนึ่งสอนว่าทานไม่มีผล มารดาบิดาไม่มีเป็นต้น อีกจำพวกหนึ่งสอนว่ามี จำพวกหนึ่งสอนว่าทำบาปไม่เป็นบาปทำบุญไม่เป็นบุญ อีกจำพวกหนึ่งสอนว่าทำบาปก็เป็นบาปทำบุญก็เป็นบุญ เมื่อเป็นหลักสำคัญแล้วก็มีวาทะต่างๆ กันดั่งนี้
กฎคาหะ กฎเกณฑ์อันถูกต้อง
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน ไม่ให้สนใจในด้านรับหรือในด้านปฏิเสธ แห่งวาทะที่ต่างๆ กันเหล่านี้ แต่ให้สนใจในการที่ปฏิบัติตัวเอง นี่แหละเป็นข้อสำคัญ ในข้อปฏิบัติที่เป็นอปัณณกปฏิปาคือการปฏิบัติที่ไม่ผิด ก็ดังที่ได้แสดงแล้ว ให้มาปฏิบัติทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของตนให้บริสุทธิ์ ทำสติให้ตั้งมั่น ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัว ให้มีจิตไม่ฟั้นเฟือน มั่นปฏิบัติอยู่ในทางที่ถูกต้อง
และก็นำเอาวาทะเหล่านี้เข้ามาพิจารณาว่า ถ้าวาทะเหล่านี้จริง จริงในด้านว่ามี หรือจริงในด้านว่าไม่มี และเมื่อตนเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิดแล้ว ก็มีความเกษมสวัสดีทั้งนั้น ทานไม่มีผล มารดาบิดาไม่มี โลกหน้าไม่มี ตนก็มีความสวัสดีอยู่ในโลกนี้ หรือว่าทานมีผล มารดาบิดามี โลกหน้ามี ตนไปโลกหน้าก็มีความสวัสดี เพราะทำดีไว้ หรือว่าบุญบาปไม่มี แต่ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นข้อที่ไม่ผิด ก็มีความสวัสดี ถ้าบุญบาปมีตนก็ได้ทำบุญไม่ทำบาป เพราะไม่ได้เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงให้เดือดร้อน จึงมีความสุขสวัสดีในที่ทุกสถาน นำเอาวาทะเหล่านี้มาพิจารณาดั่งนี้ ในทางที่เป็นอปัณณกคือไม่ผิด เมื่อเป็นดั่งนี้จึงชื่อว่า กฎคาหะ คือถือเอากฎเกณฑ์ ที่พระอาจารย์ท่านแปลว่าเป็นผู้ชนะ คือเข้ากฎเกณฑ์อันถูกต้อง ได้กฎเกณฑ์อันถูกต้อง
เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดความปราโมทย์ ให้เกิดปีติความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ ให้เกิดปัสสัทธิความสงบกายความสงบใจ ให้เกิดความสุขความสบายปลอดโปร่งกายปลอดโปร่งใจ จึงทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ต้องพะวักพะวนในวาทะของใครๆ ทั้งนั้น เป็นธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม และเมื่อได้ธรรมสมาธิดั่งนี้ก็ย่อมได้จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต จิตย่อมสงบเป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วคราว หรืออุปจารสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะสงบแน่วแน่ หรืออัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จะสามารถที่จะน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อปัญญา ที่เป็นตัววิปัสสนาเห็นแจ้งรู้จริงยิ่งๆ ขึ้นไป
วาทะต่างๆ ยากจะรู้ตามเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้จึงเป็นการปฏิบัติไม่ผิด เพราะว่าวาทะที่พูดกัน จะเป็นนินทาสรรเสริญของโลกทั่วๆ ไปดังกล่าวก็ดี หรือแม้ว่าจะเป็นวาทะของสมณะพราหมณ์ หรือของศาสนา ที่สอนในหลักสำคัญต่างๆ กันดังกล่าวมาก็ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ยากจะรู้ตามเป็นจริง เมื่อว่าถึงนินทาสรรเสริญทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ไม่เห็นด้วยตัวเอง และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องไปสืบสวนให้รู้ว่าเป็นจริงอย่างไร ถึงแม้ว่าสืบสวนก็ไม่อาจจะสืบสวนให้รู้เป็นจริงได้ นอกจากพูดๆ กันไปเท่านั้น ถ้าหากว่าพูดผิดก็เป็นบาปเป็นอกุศล เชื่อผิดก็ยิ่งเป็นบาปเป็นอกุศล แม้ว่าจะพูดถูกเชื่อถูกแต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร ไม่ให้เกิดเป็นความดีอะไรของตนขึ้นมา
โลกนี้โลกหน้า
และเมื่อว่าถึงหลักที่อาจารย์ทั้งหลายสอนในศาสนาต่างๆ ดังเช่นคำสอนของสมณะพราหมณ์ ๔ จำพวกนั้น ทุกคนที่เป็นสามัญชนนี้ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้โลกนี้โลกหน้า ไม่ต้องกล่าวถึงโลกหน้า โลกนี้เองของตนเองก็ไม่รู้ เช่นว่าพรุ่งนี้ตนเองจะเป็นอย่างไร มะรืนนี้ตนเองจะเป็นอย่าง ก็ย่อมไม่รู้ เพราะฉะนั้น คนที่ตายกันอยู่ทุกๆ วัน ด้วยเหตุต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ก่อนวันตายของตนส่วนใหญ่ก็ย่อมไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ตนจะตายแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องกล่าวถึงอนาคตในโลกหน้า อนาคตในโลกนี้เองทุกคนก็ไม่รู้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วการที่จะไปกังวลวุ่นวายอยู่ด้วยว่าโลกนี้โลกหน้า มีจริงหรือไม่จริงอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนอย่างไม่รู้ว่าตัวเองพรุ่งนี้จะเป็นยังไง นอกจากที่กำหนดใจเอาไว้ว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะไปคิดค้นวุ่นวายในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ที่ไม่อาจจะรู้ได้ หรือว่าถึงรู้ได้ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดความดีความชั่วได้
ความเห็นผิดแม้ระลึกชาติได้
และบางทีแม้จะระลึกชาติได้ แต่ว่าระลึกได้เพียงชาติเดียว เช่นว่าในชาติหน้า หรือในชาติอดีตถอยหลังไปเพียงชาติเดียว ก็ทำให้เกิดความเห็นผิดได้ ดังที่มีแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ว่าบางท่านระลึกในชาติอดีตได้เพียงชาติเดียว ว่าได้ทำไม่ดีไว้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทำไมในชาตินี้จึงเกิดมาดี ก็ทำให้เกิดความสงสัยในกรรมและผลของกรรม ว่าที่สอนว่าทำดีได้ดีนั้นน่าจะไม่จริง เพราะเมื่อชาติที่แล้วตัวทำไม่ดี มาชาตินี้ทำไมถึงดี
เพราะฉะนั้น แม้การระลึกชาติได้เพียงชาติเดียวก็เป็นโทษได้ดั่งนี้ จะต้องระลึกชาติย้อนหลังไปได้มากมายดังที่พระพุทธเจ้าทรงได้บุพเพนิวาสญาณ ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อยู่ รู้ ระลึกรู้ถึงขันธ์เป็นที่อยู่ในชาติก่อนได้ ย้อนหลังไปมากมาย จึงได้ทรงจับได้ถึงกรรมและผลของกรรม ที่การให้ผลของกรรมนั้น กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ กรรมบางอย่างให้ผลในชาติหน้า กรรมบางอย่างให้ผลในชาติถัดๆ ไป เพราะคนเรานั้นทำกรรมซับซ้อนไว้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การมามุ่งในข้อว่าชาติหน้ามีหรือไม่ หรือชาติหน้าไม่มี เป็นต้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เสียเวลาที่จะคิดค้น
และแม้ว่าจะทราบได้ระยะสั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ อาจจะเกิดความเข้าผิดได้ดังกล่าวแล้ว ยกตัวอย่างถึงในชาติย้อนหลังไปนั้น ก็เหมือนอย่างว่าย้อนหลังไปเมื่อวานนี้ บางคนที่ทำดีเมื่อวานนี้มากมาย มาถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีผลอะไร ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าทำดีไม่ได้ผลดี หรือว่าคนที่ทำไม่ดีไว้เมื่อวานนี้เป็นอันมาก แต่ในวันนี้ก็ยังเป็นสุขอยู่ ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่ากรรมชั่วไม่ให้ผลชั่ว แต่อันที่จริงนั้นยังมีวันข้างหน้าอีกเป็นอันมาก มีปีข้างหน้าอีกเป็นอันมาก กรรมชั่วหรือกรรมดีที่ยังไม่ได้ผลนั้นก็เพราะว่า ในปัจจุบันนี้ยังมีกรรมเก่าอื่นๆ ให้ผลอยู่ ที่เป็นกรรมดีก็ให้มีสุข ที่เป็นกรรมชั่วให้มีทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมองกันไปในระยะไกลๆ ต้องมีญาณที่หยั่งรู้ไปไกลอย่างพระพุทธเจ้า จึงจะสามารถวินิจฉัยได้ตามเป็นจริง
ฉะนั้น ทุกคนจึงควรมาปฏิบัติในอปัณณกปฏิปทา คือทางปฏิบัติที่ไม่ผิด คือไม่ผิดในทุกด้าน ในด้านว่าทานมีผลหรือไม่มีผล ก็ไม่ผิด ในด้านว่าบุญบาปที่ทำไม่เป็นบุญบาปหรือเป็นบุญบาป ก็ไม่ผิด ไม่ผิดในทุกทาง ทำตนให้มีความสวัสดีได้ในทุกๆ ทาง เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นี้ จะทำให้ได้ธรรมสมาธิ ได้จิตตสมาธิ เจริญในสัมมาปฏิบัติ เจริญในอปัณณกปฏิบัติ คือการปฏิบัติที่ไม่ผิด
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป