แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งเราทั้งหลายถือเป็นหลักปฏิบัติทางจิตตภาวนาตลอดมาถึงทุกวันนี้ และสติปัฏฐานเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติธรรม และการปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องมีจิตตภาวนาอบรมจิต จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมที่เข้าถึงธรรมได้ อันต้องอาศัยสติเป็นข้อสำคัญ และสตินั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปก็มี ๒ อย่าง คือ สัมมาสติ สติชอบ และ มิจฉาสติ สติผิด
สัมมาสติ มิจฉาสติ
อันคำว่า สติ นั้นที่แปลว่าความระลึกได้ ความระลึกรู้ ความกำหนดของใจ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาที่ทุกคนมีอยู่ตั้งแต่เกิดมา และทุกคนก็ต้องอาศัยสตินี้เองในการปฏิบัติ การกระทำทั้งหลาย เป็นต้นว่าในการ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทั้งปวง ต้องอาศัยสติความระลึกได้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีสติก็ไม่สามารถจะทำได้ถูกต้อง แต่ว่าสติที่มีทั่วไปอันเป็นธรรมชาติธรรมดานี้อาจจะเป็นมิจฉาสติได้ในเมื่อมีกิเลสชักนำ คือมีกิเลสกอง โลภะ โทสะ โมหะ โลภ โกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะชักนำ ก็นำให้ระลึกไปผิด กำหนดใจไปผิด
อีกอย่างหนึ่งทุกคนย่อมมีกิเลสอย่างละเอียดที่เรียกว่า อาสวะอนุสัย คือกิเลสที่นอนจมหมักหมมดองจิตใจอยู่เป็นพื้นอยู่ด้วยกัน และเมื่อทุกคนได้ประสบอารมณ์ คือจิตใจนี้เองของทุกคนรับเรื่องที่ผ่านเข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อันเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตหมกมุ่นถึง เรียกว่าอารมณ์ เมื่อจิตมีอารมณ์จึงทำให้อา-สวะอนุสัยที่หมักดอง นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตส่วนลึกฟุ้งขึ้นมา (เริ่ม) ปรากฏเป็นโลภ โกรธ หลง หรือราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งมีอาการเป็นตัณหาความทะยานอยากของจิตใจไปต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงนำให้ความระลึก ความกำหนดนึกของจิตใจ อันเรียกว่าสตินี้เป็นมิจฉาสติ สติที่ผิด
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสให้อบรมจิตเพื่อให้เกิดเป็นสัมมาสติคือระลึกชอบ คือระลึกไปในอารมณ์ก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึงนั่นแหละ อันเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล อารมณ์ที่ดี ตรงกันข้ามกับอารมณ์ของมิจฉาสติ ดังที่เรียกว่า กามคุณารมณ์ อารมณ์คือกามคุณ ซึ่งปรกติก็มี ๕ สำหรับที่เป็นส่วนรูป คือเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย อันนำให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี เกิดโลภะความโลภอยากได้ แต่เมื่อได้รับอารมณ์ที่ตรงกันข้ามก็เป็นชนวนให้เกิดโทสะ ความกระทบกระทั่ง หงุดหงิด โกรธแค้น ขัดเคือง หรือแม้ว่าไม่ประสบกับอารมณ์ที่เด่นชัดในทางก่อให้เกิดราคะ โลภะ หรือโทสะดังกล่าว ที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ที่เป็นกลางๆ ก็มิได้จับขึ้นมาพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริง ของอารมณ์นั้น ผ่านเลยไปๆ ดั่งนี้ ก็เรียกว่าเป็นโมหะคือความหลง
ปรกติจิตของสามัญชน
เพราะฉะนั้น เมื่อปล่อยให้จิตระลึกนึกคิดกำหนดอยู่ในอารมณ์ฝ่ายอกุศล ดั่งนี้ จึงเป็นไปเพื่อเพิ่มอาสวะอนุสัย คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งสามกองดังกล่าวนั้นให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ปรกติของจิตสามัญชนทั้งหลายจึงเรียกตามภาษาอภิธรรมว่า กามาพจร ท่องเที่ยวไปในกาม หรือว่าตกอยู่ในกาม มีกามเป็นอาลัย คือที่อาศัย เหมือนอย่างปลาที่มีน้ำเป็นที่อาศัย อาลัยของปลาคือน้ำ อาลัยของจิตก็คือกามคุณารมณ์ อันเป็นกามาพจรดังกล่าว สามัญชนย่อมตกอยู่ในกามาพจรดังกล่าวนี้
เพราะฉะนั้นจึงมีจิตใจมากด้วยนิวรณ์ทั้งหลาย อันปรากฏเป็น กามฉันท์ พอใจรักใคร่ในกามบ้าง เป็น พยาบาท หงุดหงิด ขัดเคือง โกรธแค้น มุ่งหมายล้างผลาญบ้าง ถีนมิทธะ ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญบ้าง วิจิกิจฉา เคลือบแคลงสงสัยบ้าง ทำให้จิตฟุ้งซ่านไม่อาจที่จะสงบได้โดยง่าย
อันความไม่สงบของจิตนี้ ผู้ไม่ปฏิบัติธรรมะอาจจะไม่รู้สึก แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรมะคือทำกรรมฐาน เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก รวมจิตให้กำหนดอยู่รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของตนเอง จึงจะรู้ว่าจิตใจนี้รวมเข้ามายาก เดี๋ยวก็ออกไปนั่น เดี๋ยวก็ออกมานี่ กำลังที่สวดมนต์อยู่ตั้งใจจะให้จิตอยู่กับถ้อยคำที่สวด อยู่กับบทที่สวด ก็มักจะไม่ค่อยได้ ปากสวด แต่ว่าจิตไม่สวด จิตท่องเที่ยวไปที่อื่น เมื่อรู้สติรู้ตัวขึ้นมาก็นำจิตกลับเข้ามาใหม่ และจิตก็ออกไปอีก
บางทีจิตออกไปโดยที่ไม่รู้ตัวเอง ออกไปสักครู่หนึ่งจึงรู้ก็มี แต่ปากก็ยังสวดไป แต่ว่าบุคคลผู้สวดนั้นเมื่อจิตออกไปแล้วก็ไม่รู้ว่าสวดอะไรไปบ้าง ปากว่าไปได้แต่ว่าจิตไม่รู้ นี้คืออาการของจิตที่เป็นกามาพจร ที่ฟุ้งซ่านออกไปอยู่ได้เสมอดั่งนี้ จึงไม่ได้สมาธิไม่ได้ปัญญา พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปฏิบัติในสัมมาสติ สติชอบ ก็คือให้มีสติระลึกไปในอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล อันตรงกันข้ามกับอารมณ์ที่จิตนอนจมอยู่ อาศัยอยู่ อันเป็นกามาพจรดังกล่าวนั้น เช่นยกตัวอย่างกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าวมานั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะ ก็คือการปฏิบัติที่ทำสัมมาสติให้บังเกิดขึ้นนั้นเอง และจึงจะรู้ว่าเมื่อทำสัมมาสติจิตใจของตนเองนั้นดิ้นรนเพียงไร กวัดแกว่งเพียงไร แต่เมื่อไม่ปฏิบัติธรรมก็ย่อมไม่รู้
เหมือนอย่างปลาอยู่ในน้ำก็แหวกว่ายไปในน้ำ จิตที่อยู่ในกามคุณารมณ์ก็แหวกว่ายไปใน กามา กามคุณารมณ์ แล้วก็มีความสุขหรือความสบาย หรือเมื่อมีความทุกข์ก็มีความสบายเข้ามาแก้ จึงไม่รู้สึกว่าจิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายเพียงไร แต่เมื่อมาให้ปฏิบัติกรรมฐานจึงจะรู้สึกว่าจิตนี้ดิ้นรนมาก กวัดแกว่งมาก ทำสมาธิได้ยาก พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบว่าเหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำ แล้ววางไว้บนบก ปลาก็ย่อมดิ้นเพื่อที่จะลงน้ำ และเมื่อลงน้ำได้แล้วก็หยุดดิ้น แหวกว่ายไปในน้ำ อันเป็นอาลัยคือที่อาศัยของปลา
จิตก็เหมือนกัน เมื่อจับยกขึ้นจากอาลัย คือที่อาศัยของจิต ที่เป็นพื้นกามาพจรดังกล่าว มาสู่กรรมฐานเพื่อสัมมาสติ ก็ดิ้นเพื่อที่จะได้กลับไปสู่อาลัย คือกามคุณารมณ์อันเป็นที่อยู่อาศัย แต่ว่าจิตนี้ไม่เหมือนอย่างปลา ซึ่งมีน้ำเป็นอาลัยคือที่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนจิตหาได้มีอาลัยคือกามคุณารมณ์เป็นที่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่ เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง เป็นธาตุรู้ รู้อะไรๆ คิดอะไรๆ ได้ และเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ การที่เป็นกามาพจรก็เพราะว่าจิตน้อมไปมากในกามา กามคุณารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงมีความคุ้นเคยอยู่ในกามคุณารมณ์ เรียกว่าอยู่กับกามคุณารมณ์มานาน อยู่กับกามคุณารมณ์มาก โดยมาก อยู่กับกามคุณารมณ์บ่อยๆ
ฉะนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติธรรมะมีสติความระลึกได้ในฝ่ายอารมณ์ที่เป็นกุศล คือกรรมฐาน มีความรู้ตัวอยู่ มีความเพียรไม่ทิ้งความเพียร ปฏิบัติอยู่บ่อยๆ ในกรรมฐาน ทำให้มากในกรรมฐาน และทำให้อยู่นานในกรรมฐาน จิตก็จะน้อมมาสู่สัมมาสติ สู่กรรมฐานอันเป็นฝ่ายกุศล สู่อารมณ์ของกรรมฐาน อารมณ์ของสัมมาสติอันเป็นฝ่ายกุศลได้ สามารถที่จะละทิ้งอาลัยซึ่งกามคุณารมณ์ อันเป็นกามาพจร มาอยู่ในภูมิชั้นของจิตอันประกอบด้วยสัมมาสติ สัมมาสมาธิทางฝ่ายกุศลได้
กุศลวาสนา อกุศลวาสนา
และเมื่อน้อมจิตให้เข้ามาอยู่ในสัมมาสติสัมมาสมาธิได้แล้ว จิตก็ไม่พอใจที่จะน้อมไปในฝ่ายกามาพจร เพราะว่าน้อมมาอยู่ตัวในฝ่ายกุศลได้แล้ว ก็ทิ้งอกุศลได้ การที่ปฏิบัติน้อมจิตมาให้อยู่ในฝ่ายกุศลได้อยู่ตัวนี้เรียกว่า วาสนา ก็คือ ความอยู่ตัว อยู่ตัวในฝ่ายกุศล และอันที่จริงนั้น คำว่าวาสนาคือความอยู่ตัวนี้ ก็ใช้ได้ในทางอกุศลเหมือนกัน อยู่ตัวในฝ่ายอกุศลก็เป็น อกุศลวาสนา อยู่ตัวในฝ่ายกุศลก็เป็น กุศลวาสนา เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องพยายามปฏิบัติทำสัมมาสติสัมมาสมาธิ อันเป็นไปเพื่อสัมมาทิฏฐิหรือสัมมัปปัญญาอยู่เสมอๆ บ่อยๆ ทำให้มาก ทำให้อยู่ได้นานขึ้นๆ จนถึงจิตน้อมมาอยู่ตัวในฝ่ายกุศลเป็นกุศลวาสนา
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมะก็ย่อมจะรู้สึกตัวว่าปฏิบัติในสมาธิได้ง่าย ทำในสัมมาสติได้ง่าย และการปฏิบัติธรรมดังกล่าวนั้นก็คือการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นเอง คือปฏิบัติตั้งสติ ตั้งสัมมาสติ ให้กำหนดกาย กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นที่ประมวลของอารมณ์แห่งสัมมาสติทั้งหมด อันตั้งต้นด้วยฝ่ายสมถะ ทำใจให้สงบเป็นสมาธิ และต่อไปจนถึงทางปัญญาหรือวิปัสสนา อบรมให้เกิดปัญญา เห็นจริงรู้แจ้ง หรือเห็นแจ้งรู้จริง
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นที่ตั้งของสติ ที่ตั้งของปัญญา ตลอดจนถึง วิชชาวิมุติ อันเป็นผลแห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะปฏิบัติธรรมะ ด้วยการหัดตั้งสติไว้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ซึ่งเมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็คือ ในสิ่งที่สมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพ เป็นตัวเรานี้เอง
สมมติ บัญญัติ
ตัวเรานี้เป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นบุคคลนั้นเป็นบุคคลนี้ เป็นชายเป็นหญิง เป็นนั่นเป็นนี่ และก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าเป็นตัวเราจริงๆ เสียด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีความยึดถือว่าเป็นตัวเราจริงๆ จึงเป็นการยึดถืออยู่ในสมมติบัญญัติ ดังที่กล่าวมานั้น ซึ่งสมมติบัญญัตินั้นอันที่จริงไม่มีจริงตามที่สมมติบัญญัติ แต่ว่ามีตามที่สมมติบัญญัติ เช่นว่า สมมติบัญญัติว่าต้นไม้ เช่นทุกคนเมื่อเห็นต้นไม้ก็ย่อมจะรู้จักว่าต้นไม้ และถ้าจะรู้จักชื่อก็ย่อมจะรู้จักว่า ต้นมะม่วง ต้นขนุน ต้นไม้อย่างนั้นต้นไม้อย่างนี้
คำว่าต้นไม้หรือว่าต้นมะม่วงเป็นต้นนั้นเป็นสมมติ คือเป็นถ้อยคำที่สำหรับรู้กัน สำหรับเรียกกัน เป็นบัญญัติคือเป็นถ้อยคำที่บัญญัติขึ้น ที่แต่งตั้งขึ้น มุ่งถึงเป็นสิ่งที่บัญญัติคือแต่งตั้งขึ้นก็เรียกว่าบัญญัติ มุ่งถึงสำหรับที่จะให้รู้กันก็เรียกว่าสมมติ แต่อันที่จริงนั้นต้นมะม่วงจริงๆ ไม่มี ต้นขนุนจริงๆ ไม่มี หรือต้นไม้จริงๆ ก็ไม่มี คือไม่มีต้นไม้ ไม่มีต้นมะม่วง ไม่มีต้นขนุนเป็นต้น เป็นเพียงธาตุทั้งหลายมาประกอบกันเข้าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้
บุคคลก็เหมือนกัน ที่เกิดขึ้นมาเป็นชายเป็นหญิง ต่อมาก็มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ ก็เป็นสมมติบัญญัติดังที่กล่าวนั้น แต่ความจริงไม่มีตัวบุคคล ไม่มีความเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ในตัวบุคคล เป็นธาตุทั้งหลายมาประกอบกันเข้า แต่ว่าก็ต้องมีสมมติ ต้องมีบัญญัติ คือต้องมีการแต่งตั้งถ้อยคำสำหรับพูด แต่งตั้งภาวะฐานะเป็นต้น สำหรับที่จะรู้จักกัน เป็นบัญญัติ เมื่อเป็นสมมติก็คือสำหรับที่จะให้รู้กัน จึงสามารถที่จะพูดถึงกันได้ เป็นภาษาขึ้นมาได้ แต่อันที่จริงนั้นไม่มีความเป็นบุคคลตัวตนเราเขาอยู่ในสิ่งที่สมมติบัญญัตินี้ แต่ว่าอาศัยที่บุคคลมีความยึดถือเป็นอุปาทานความยึดถืออยู่ในสมมติบัญญัติ จึงได้มีความเข้าใจว่าเป็นจริงๆ เป็นตัวเราจริงๆ เป็นนั่นเป็นนี่จริงๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีอวิชชาคือความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริง ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ อันเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และของความทุกข์ต่างๆ เป็นที่ตั้งของกรรมคือการงานที่กระทำลงไป ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นกรรมดีบ้าง เป็นกรรมชั่วบ้าง เป็นกรรมกลางๆ บ้าง (เริ่ม) จึงต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์อยู่ด้วยกัน
การปฏิบัติในขั้นปัญญา
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ตลอดถึงในปัญญา มุ่งให้ได้ปัญญาวิมุติอันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญญา เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราดังกล่าวก็จะหมดไป เพราะว่าเท่ากับยึดถือเงาว่าเป็นตัวจริง เหมือนอย่างยึดถือภาพถ่ายว่าเป็นตัวจริง ในภาพถ่ายนั้นไม่มีตัวจริง ในเงาก็ไม่มีตัวจริง ในธาตุทั้งหลายที่มาประชุมกันเข้า อันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าตัวเราของเรานี้ ก็ไม่มีตัวเราของเราจริง เป็นเพียงสมมติบัญญัติเท่านั้น
แต่ในขั้นปัญญานี้เป็นขั้นที่จะต้องฝึกไปโดยลำดับ อันจะต้องสืบเนื่องมาจากหัดปฏิบัติในศีล หัดปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้มีสัมมาสติสัมมาสมาธิดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วก็จะได้ปัญญา มองเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริงขึ้นโดยลำดับ ในการนี้ก็ต้องอาศัยการฝึกหัดปฏิบัติตั้งสติ กำหนดกาย กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม อันรวมกันเข้าก็คือตัวเราของเรา คืออัตภาพอันนี้นั้นเอง เพราะอัตภาพอันนี้หรือตัวเราของเรานี้ก็คือกายส่วนหนึ่ง เวทนาส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง ธรรมะส่วนหนึ่ง รวมกันเข้าเป็นก้อนเดียวกัน
ฉะนั้นก็ต้องจับพิจารณาด้วยสติกำหนดดูที่กาย ให้รู้ว่านี่กาย กายมีอยู่อย่างนี้ ที่เวทนา ให้รู้ว่านี่เวทนา เวทนามีอยู่อย่างนี้ ที่จิต ให้รู้ว่านี่จิต จิตมีอยู่อย่างนี้ ให้รู้ว่านี่ธรรมะคือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต ธรรมะมีอยู่อย่างนี้ และทั้ง ๔ นี้ก็รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน แต่มีลักษณะที่พึงกำหนดได้แต่ละอย่าง เหมือนอย่างว่ารถคันเดียวกัน ก็กำหนดได้ว่านี่เป็นล้อรถ นี่เป็นตัวถังของรถ นี่เป็นส่วนนั้นส่วนนี้ของรถดั่งนี้เป็นต้น รวมกันเข้าก็สมมติบัญญัติเรียกว่ารถ เพราะฉะนั้นก็หัดกำหนดทำสติดูแต่ละส่วนของรถให้รู้จักว่านี่เป็นนี่ นั่นเป็นนั่น ที่ตัวเรานี่ก็เหมือนกันหัดกำหนดให้รู้จักว่า นี่เป็นกาย นี่เป็นเวทนา นี่เป็นจิต นี่เป็นธรรม และทั้ง ๔ นี้รวมกันอยู่
การที่กำหนดให้รู้จักดังกล่าว ก็จะต้องรู้จักภายนอก ต้องรู้จักภายใน ต้องรู้จักทั้งภายนอกทั้งภายใน เหมือนอย่างว่าจะกำหนดดูรถ รถคันหนึ่งก็ต้องรู้จักภายนอกของรถ ภายในของรถ หรือแม้แต่ชิ้นหนึ่งของรถเช่นล้อ ก็รู้จักภายนอกของล้อ ภายในของล้อเป็นยังไง ต้องรู้จักว่านี่เป็นกายให้สมบูรณ์ นี่เป็นเวทนา จิต ธรรม ให้สมบูรณ์ แล้วก็ดูความเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของสิ่งทั้ง ๔ นี้ ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับๆ อยู่เสมอ ไม่มีอันใดที่จะตั้งอยู่คงที่ไม่เกิดไม่ดับ
ในตอนแรกนั้นก็เป็นขั้นสติ ขั้นสมาธิ และเมื่อเห็นเกิดดับก็เป็นขั้นปัญญา อันจะทำให้จิตใจนี้ไม่ยึดถือ ปล่อยวางได้ เพราะว่าที่ยังยึดถืออยู่นั้นก็เพราะเห็นว่ายังตั้งอยู่ ยังเป็นสิ่งที่จะพึงยึด แต่เมื่อเห็นว่าดับ ก็ไม่มีอะไรจะยึด อุปาทานก็หลุดไปเอง ไม่ต้องตั้งใจจะให้อุปาทานหลุด อยากให้อุปาทานหลุดๆ ไปนั้นไม่ได้ อุปาทานไม่ยอมหลุดไปด้วยความคิดว่าจะให้หลุดจะให้พ้น ต้องเห็นดับของสิ่งที่ยึด เมื่อเห็นดับของสิ่งที่ยึดแล้วอุปาทานหายไปเอง เพราะไม่มีอะไรจะยึด เมื่อไม่มีอะไรจะยึดก็ปล่อยไปเอง เพราะฉะนั้น จึงสำคัญที่ต้องปฏิบัติทำปัญญานี้ให้เกิดขึ้น คือเห็นเกิดดับคู่กันไป อุปาทานแม้ไม่ปรารถนาจะให้เขาหลุด เขาก็หลุดไปเอง
ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป