แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า อาหุเนยโย ซึ่งนับว่าเป็นบทที่ ๕ นำสติปัฏฐาน ในบทพระสังฆคุณนี้ เมื่อได้แสดงบทที่ ๑ สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ ถึงบทที่ ๔ สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ แล้ว ก็ได้มีบทต่อไปว่า ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยูกานิ คือบุรุษ ๔ คู่ อัตถะ ปุริสปุคคลา นับรายบุคคลเป็น ๘ เอสะ ภควโต สาวกสังโฆ นี้หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงต่อบทที่ ๕ ว่า อาหุเนยโย ซึ่งแปลกันทั่วไปว่าเป็นผู้ควรมาบูชา
ตามศัพท์ของอาหุเนยโยนี้ประกอบด้วย อาหุนะ คำว่า หุนะ นั้นแปลว่า การให้ การบูชา การบำบวงหรือเซ่นสรวง เป็นคำที่ใช้มาเก่าก่อนพุทธกาล เพราะพราหมณ์ได้มีพิธีบูชาบำบวงเซ่นสรวงเช่น บูชาไฟ และการบูชาในที่นี้ก็คือการให้นั้นเอง ให้เชื้อแก่ไฟตามลัทธิ เช่นให้เชื้อที่เป็นหญ้าเป็นไม้แก่ไฟ เป็นการบูชาไฟ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ให้สัตว์ดิรัจฉานแก่ไฟ หรืออย่างแรงที่สุดให้มนุษย์แก่ไฟ คือเอาสัตว์ใส่ไฟให้ไฟเผาไหม้เป็นการบูชา หรือเอามนุษย์ใส่ไฟให้ไฟเผาไหม้เป็นการบูชา เป็นการเผาทั้งเป็นทั้งสัตว์ทั้งมนุษย์ ตามที่มีปรากฏเล่าอยู่ในตำนานต่างๆ ตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล การบูชาดั่งกล่าวนี้ก็บูชาแก่เทพ หรือสิ่งที่นับถือบูชาด้วยความเกรงกลัว เพื่อให้เทพหรือสิ่งที่นับถือนั้นไม่ทำอันตราย คุ้มครองรักษา บูชาเพื่อลาภผลด้วยต้องการให้เทพหรือสิ่งที่บูชานั้นอำนวยให้ได้ลาภผลต่างๆ
ในครั้งเก่าก่อนพุทธกาลก็ได้มีการให้เป็นการบูชากันเช่นที่กล่าวมา และก็หมายถึงการให้เป็นการบูชาอย่างธรรมดา เช่นการให้แก่ผู้มีพระคุณ เช่นมารดา บิดา ครูบาอาจารย์ เป็นการบูชาคุณของท่านดั่งนี้ก็เป็นการบูชา และคำว่า อา นั้น มาเป็น อาหุนะ ก็แปลว่า การให้โดยความเอื้อเฟื้อ หรือการบูชาโดยความเอื้อเฟื้อ และแปลอีกอย่างหนึ่งว่า นำมาบูชา คือบุคคลหรือสิ่งที่รับบูชานั้นอยู่ในที่อยู่ของตน ผู้ที่ต้องการบูชาก็นำเอาสิ่งที่จะบูชาเข้ามาสู่สำนักของท่านหรือของสิ่งนั้น มอบให้หรือบูชาตามที่เข้าใจว่า สิ่งที่บูชานั้นจะถึงแก่ผู้ที่ต้องการบูชา คือถ้าเป็นไฟ เคารพไฟ จะให้แก่ไฟ ก็คือว่าก่อไฟให้ติดขึ้นแล้วก็เอาสิ่งนั้นใส่เข้าไปในไฟ หรือถ้าจะใช้ไฟเป็นสื่อเพื่อบูชาแก่เทพหรือสิ่งที่มองไม่เห็น ก็อาศัยใส่ไฟนั่นแหละเป็นสื่อ ปฏิบัติกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาลดังนี้
และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ทรงเป็น อาหุเนยโย ที่แปลว่า เป็นผู้ควรอาหุนะ คือเป็นผู้ควรให้หรือบูชาโดยเอื้อเฟื้อ เป็นผู้ควรนำมาบูชา หรือเป็นผู้ควรมาบูชา คือเมื่อพระพุทธเจ้าพระสาวกสงฆ์ประทับและอยู่ในที่ใด ผู้มีศรัทธาปสาทะก็นำเอาอาหารผ้านุ่งห่มเป็นต้นมาสู่สำนักของพระองค์ของท่าน และก็ถวายอาหารหรือผ้านุ่งห่มนั้น
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย พระพุทธสาวกทั้งหลาย พระอริยะสาวกทั้งหลาย เป็นผู้ควรนำมาบูชาหรือนำมาให้ดั่งนี้ แต่ว่าการที่นำมาบูชานั้นไม่ได้ใช้อย่างที่ทางพราหมณ์ปฏิบัติกันมาดั่งที่กล่าวข้างต้น แต่ใช้เครื่องบูชาสักการะเช่นดอกไม้ ธูปเทียน หรืออาหาร ผ้านุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้ ซึ่งเป็นปัจจัยบริขารมาถวายเพื่อให้ได้บริโภคใช้สอยดำรงชีวิต
การบูชาที่เป็นประโยชน์
และพระพุทธเจ้าไม่ตรัสสรรเสริญการบูชาแบบบูชาไฟ แบบนำเอาสัตว์เดรัจฉานบ้างมนุษย์บ้างมาเผาไฟบูชา ดังที่พวกพราหมณ์ปฏิบัติกันมาแล้ว ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์ และเป็นบาปเป็นอกุศล เพราะเมื่อเป็นปาณาติบาตก็ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดศีลทางพระพุทธศาสนาทั้งนั้น จึงปรับปรุงการบูชามาในทางที่เป็นประโยชน์ เปลี่ยนแปลงวิธีบูชามาในทางที่เป็นประโยชน์ และเครื่องบูชาสักการะนั้นก็ยังใช้ดอกไม้ ใช้เทียน ซึ่งก็เป็นไฟเหมือนกัน ใช้ธูปก็เป็นการจุดให้เป็นไฟเหมือนกัน จุดเทียนก็ให้เกิดแสงสว่าง จุดธูปก็เพื่อให้มีกลิ่นหอม ดอกไม้ก็เป็นสิ่งที่ให้กลิ่นหอมหรือให้ความงดงาม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเครื่องสักการบูชาที่ทางพุทธศาสนาก็ใช้อยู่
พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงคัดค้าน และเมื่อบูชาด้วยมีจิตศรัทธาปสาทะ ก็ตรัสสรรเสริญว่าเป็นบุญเป็นกุศลอันเกิดจากศรัทธาปสาทะนั้น และสิ่งที่บูชานอกจากนั้นเช่นอาหารผ้านุ่งห่มเป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่ควรแก่สมณะบริโภค ด้วยความสันโดษมักน้อย พอดำรงชีวิตอยู่ได้วันหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ให้มีการสะสม และยังได้มีกำหนดว่าผู้ที่จะพึงรับบูชานั้น พึงเป็นอาหุเนยยะ ที่แปลว่าผู้ควรซึ่งการให้หรือการบูชาโดยเอื้อเฟื้อ หรือเป็นผู้ควรนำมาบูชา
การให้ที่จะมีผลอย่างสูง
อันคำว่าเป็นผู้ควร หรือเป็นผู้สมควรนี้ เมื่อพิจารณาตามพระสังฆคุณที่แสดงมาโดยลำดับ ก็ได้แก่หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว ดังที่แสดงมา เมื่อกล่าวเป็นกลางๆ ท่านผู้ที่ปฏิบัติดั่งนี้จึงเป็นอาหุเนยยะผู้ควรนำมาบูชา หรือผู้ควรบูชา ทั้งบุคคลผู้ที่นำมาบูชานั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสรรเสริญว่าเป็นทายกผู้ให้ หรือทายิกาผู้ให้ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์คือเป็นผู้ที่มีศีล และสิ่งที่นำมาบูชานั้นจะเป็นเครื่องสักการะดอกไม้ธูปเทียน หรือเป็นวัตถุเช่นอาหารผ้านุ่งห่มเป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้กุศลได้บุญที่สูง
และผู้รับนั้นเล่าซึ่งเป็นปฏิคาหกคือผู้รับเมื่อเป็นอาหุเนยยะ คือเป็นผู้ปฏิบัติดีเป็นต้นดังแสดงในสังฆคุณ จึงจะเป็นผู้ที่ควรรับของที่เขานำมาบูชา เพราะจะทำให้การบูชาของเขานั้นบังเกิดผลแก่ผู้บูชา พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นอาหุเนยยะผู้ควรนำมาบูชา เพราะเป็นผู้ที่มีพระคุณอันอุดม นำให้การบูชาของผู้บูชาบังเกิดผลเป็นบุญเป็นกุศล และหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเป็นอริยะบุคคลก็เช่นเดียวกัน ตรัสว่าเป็นอาหุเนยยะดังที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณบทนี้ เพราะทำให้ผู้บูชานั้นได้รับผลเป็นบุญเป็นกุศลอย่างสูง
เพราะฉะนั้นจึงเข้าในหลักของการให้ว่า การให้ที่จะมีผลเป็นบุญเป็นกุศลอย่างสูงนั้น ผู้ให้ก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ผู้รับก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ และสิ่งของที่ให้นั้นก็เป็นสิ่งของที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ดั่งนี้ ย่อมจะให้เกิดผลเป็นบุญเป็นกุศลอย่างสูง และพระพุทธเจ้าก็ยังได้ตรัสยกย่องมารดาบิดาว่า เรียกว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์ เป็นอาหุเนยยะ คือผู้ควรมาบูชา ผู้ควรนำมาบูชา ผู้ควรบูชาโดยเอื้อเฟื้อ ผู้ควรให้โดยเอื้อเฟื้อ เป็นผู้อนุเคราะห์ประชาคือบุตรที่เกิดมาดั่งนี้
ธรรมะที่ทำให้เป็นผู้ควรบูชา
และยังได้ตรัสถึงธรรมะที่ทำให้บุคคลเป็นอาหุเนยยะไว้ในที่อื่นอีก ดังเช่นที่ตรัสไว้ว่าภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุคือตา ได้ยินเสียงด้วยโสตะคือหู ทราบกลิ่นด้วยจมูก ทราบรสด้วยลิ้น ทราบสิ่งถูกต้องด้วยกาย รู้คิดธรรมะคือเรื่องราวด้วยมโนคือใจ ก็ไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีใจเป็นอุเบกขาคือมัธยัสถ์เป็นกลาง มีสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ดั่งนี้ ผู้ปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นอาหุเนยยะผู้ควรบูชา หรือเป็นผู้ที่ควรนำมาบูชา
พิจารณาดูหลักธรรมตามที่ตรัสสอนเอาไว้นี้ ก็จะเห็นได้ว่า เพราะท่านผู้ที่ชื่อว่าควรนำมาบูชานั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง มีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งหลายที่เขานำมาบูชา นำมาให้ด้วยความเคารพ จะเป็นสิ่งที่เลวก็ไม่ยินร้าย เป็นสิ่งที่ดีก็ไม่ยินดีตื่นเต้น คงมีใจเป็นอุเบกขาเสมอกัน มีสติมีสัมปชัญญะในการที่จะบริโภคใช้สอย
(เริ่ม) และก็เมื่อเป็นผู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งทั้งหลาย ที่รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่ดั่งนี้ ก็เป็นผู้ที่ไม่มีโลภะในสิ่งเหล่านั้น ไม่มีตัณหาอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่มีโทสะโมหะอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ไม่มีความติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ชื่อว่ามักน้อยสันโดษ สิ่งทั้งหลายที่นำมาบูชานั้นไม่ทำให้ยินดีไม่ทำให้ยินร้าย ไม่ทำให้โลภโกรธหลง ไม่ทำให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ผู้ที่ปฏิบัติตนอยู่ดั่งนี้จึงเป็นผู้ที่ควรนำมาบูชาตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
ความปฏิบัติในอินทรียสังวร
เพราะฉะนั้นจึงอาจทำความเข้าใจในคำว่า อาหุเนยยะ นี้ ในทางปฏิบัติทางจิตใจได้อีกอย่างหนึ่งว่า คือความที่มาปฏิบัติมีอินทรียสังวร ความสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลายที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ยึดถือให้เกิดความยินดีความยินร้ายไหลเข้ามาสู่จิตใจ มาเป็นอาสวะอยู่ในจิตใจ บรรดารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในขณะเมื่อยังพำนักอยู่ในที่อยู่อาศัยของตนเอง เป็นสิ่งที่เข้ามา เข้ามาให้ได้เห็น เข้ามาให้ได้ยิน เข้ามาให้ได้ทราบทางจมูกทางลิ้นทางกาย ให้คิดให้รู้ทางใจ ก็ไม่ยึดถือ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายเป็นกิเลสเข้ามาสู่จิตใจ
การที่ปฏิบัติมีความสำรวมระวังอยู่ดั่งนี้ ต่ออารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาสู่สำนักที่อาศัยอยู่ เช่นอาศัยอยู่ในวัดนี้เอง ในกุฏินี้เอง ก็มีอารมณ์เหล่านี้เข้ามา และก็มีสติพร้อมทั้งปัญญารักษาจิตใจ รับอารมณ์ที่เข้ามานี้ได้ โดยไม่ยึดถือก่อให้เกิดความยินดีความยินร้าย เป็นกิเลสเข้ามาสู่ใจ สิ่งเหล่านั้นที่เข้ามานั้นก็กลายเป็นเครื่องบูชาไม่เป็นโทษ ถ้าหากว่ายึดถือยินดียินร้ายเป็นกิเลสเข้ามาสู่ใจ สิ่งเหล่านั้นก็เท่ากับว่าเครื่องประหัตประหารเป็นโทษ ดังมารที่มาผจญพระพุทธเจ้าถืออาวุธเข้ามาเพื่อจะทำร้าย พระพุทธเจ้าทรงเสี่ยงพระบารมีชนะมาร มารก็กลายเป็นถือเครื่องสักการบูชา บูชาพระพุทธเจ้า
ทางปฏิบัติให้เป็นอาหุเนยยะ
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทางจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมะ ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์ จึงอยู่ที่การปฏิบัติในการที่จะรับอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาดังที่กล่าวนี้ เมื่ออารมณ์เข้ามา ยึด ยินดีบ้างยินร้ายบ้างเป็นกิเลสเข้ามา บังเกิดเป็นตัณหา เป็นโลภโกรธหลงในจิตใจ ดั่งนี้ อารมณ์ที่เข้ามานั้นก็เป็นมาร เป็นอาวุธ เป็นสิ่งที่เข้ามาทำร้าย แต่ถ้าหากว่าอารมณ์ที่เข้ามานั้นไม่ยึดถือไม่ยินดีไม่ยินร้าย มีอุเบกขาปล่อยวางได้ มีสติมีสัมปชัญญะคุมใจอยู่ อารมณ์ที่เข้ามานั้นก็กลายมาเป็นเครื่องบูชา
เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติใจดั่งนี้ก็ชื่อว่า ได้ปฏิบัติใจไม่ให้เป็น อาหุเนยยะ ถ้าหากว่ายึดถือเกิดยินดียินร้าย ถ้าไม่ยึดถือไม่ยินดีไม่ยินร้ายปล่อยวางมีสติสัมปชัญญะ ก็เป็นการปฏิบัติตนให้เป็น อาหุเนยยะ และเมื่อเป็นอาหุเนยยะแล้วก็สามารถรับอารมณ์ได้ที่เข้ามา มีคนเขาเข้ามาถึงในบ้านในที่อยู่อาศัย มาร้องด่าอยู่ ก็จะไม่โกรธตอบ แต่จะหาทางระงับด้วยวิธีสันติที่เรียบร้อย ดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นการปฏิบัติชื่อว่าเป็นอาหุเนยยะได้
เพราะฉะนั้นคำว่าอาหุเนยยะนี้จึงสามารถเป็นชื่อของผู้ที่ปฏิบัติธรรมะทั่วไป ในการที่หัดรับอารมณ์ที่เข้ามา ด้วยจิตใจที่ไม่ยึดถือไม่ยินดีไม่ยินร้าย ปล่อยวางได้ มีสติมีสัมปชัญญะ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป