แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงนำด้วยพระสังฆคุณบทที่ ๙ อันเป็นบทที่สุด อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญของโลกอันยอดเยี่ยม พระสังฆคุณบทนี้แสดงว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งกว่า ก็คือยอดเยี่ยม
คำว่าบุญ
ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจของคำว่า บุญ ก่อน อันคำว่าบุญนั้นได้มาใช้ในภาษาไทย เป็นภาษาไทย และเพราะการทำบุญโดยมากที่มองเห็นด้วยตา ก็คือการทำทาน หรือทำการให้ จึงมักเข้าใจกันว่า ทำบุญ ก็คือทำการให้ หรือทำทาน และก็ยังมาใช้ถึงการให้หรือการทำทานนี้แตกต่างกันอีก อย่างที่พูดกันว่าทำบุญให้ทาน ซึ่งเข้าใจกันว่าทำบุญก็คือการทำบุญแก่พระ ถวายสิ่งต่างๆ แก่พระ ทำทานก็คือการให้แก่ยาจกวณิพกคือผู้ขัดสนจนยากที่มาขอ อย่างที่เรียกว่าขอทาน คนไทยมักจะเข้าใจกันดั่งนี้ ก็เป็นความเข้าใจที่ถูกส่วนหนึ่ง แต่ว่าไม่ถูกตามความต้องการของคำว่าบุญทั้งหมด ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจคำว่าบุญนี้ว่ามี ๒ อย่างก่อน คือบุญโดยเหตุ และบุญโดยผล
บุญที่เป็นส่วนเหตุ
ประการแรกนั้นได้แก่การทำบุญ อันสำเร็จด้วยทานบ้าง สำเร็จด้วยศีลบ้าง สำเร็จด้วยภาวนาบ้าง จะเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่าทำความดีก็ได้ และทานนั้นแปลว่าสิ่งที่ให้ก็ได้ แปลว่าการให้ก็ได้ แปลว่าเจตนาที่ให้ก็ได้ แปลว่าสถานที่เป็นที่ให้ก็ได้ และที่เป็นกิริยาก็แปลว่าการให้ จะให้แก่พระคือถวายพระ หรือให้แก่ยาจกวณิพกผู้ขัดสนที่มาขอทาน หรือให้เป็นส่วนสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ก็เรียกว่าทานทั้งนั้น ทำบุญแก่พระคือถวายพระก็เป็นทาน ทำทานแก่คนขอทานก็เป็นทาน เมื่อเป็นการให้แล้วก็เรียกว่าทานเหมือนกันหมด
บุญที่เป็นส่วนเหตุนี้ตามถ้อยคำเดิมแปลว่าเครื่องชำระฟอกล้าง โดยตรงก็คือชำระฟอกล้างจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด จากกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองใจทั้งหลาย และการกระทำซึ่งเป็นเครื่องชำระฟอกล้างดั่งนี้เรียกชื่อว่าบุญ
บุญกิริยาวัตถุ
วิธีกระทำนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงไว้โดยย่อเป็น ๓ วิธี ดังที่ตรัสไว้ในบุญกิริยาวัตถุ คือที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๓ อย่าง อันได้แก่ ทาน ดังกล่าวนั้น ๑ ศีล ความประพฤติงดเว้นจากภัยเวรทั้งหลาย ศีลที่เป็นทั่วไปก็คือศีล ๕ งดเว้นจากภัยเวร ๕ ประการ คือการฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ และการดื่มน้ำเมา อันเป็นทางแห่งความประมาท พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าการกระทำทั้ง ๕ นี้เป็นภัยเป็นเวร เพราะเป็นเครื่องก่อให้เกิดภัย ก่อให้เกิดเวร เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุจริต เพราะฉะนั้นความที่ตั้งใจงดเว้นได้ก็เรียกว่าศีลก็เป็นข้อที่ ๒ (เริ่ม) ข้อที่ ๓ ภาวนา ก็คือการอบรมจิตใจให้สงบ ให้ได้สมาธิ อันเรียกว่าสมาธิหรือสมถะ และให้ได้ปัญญาเห็นแจ้ง อันเรียกว่าปัญญาหรือวิปัสสนา รวมเรียกว่าภาวนา
เพราะฉะนั้นการกระทำทั้ง ๓ นี้ คือ ทาน ศีล ภาวนา จึงเป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้งของการทำบุญ คือการกระทำที่เป็นเครื่องชำระฟอกล้างจิตใจดังกล่าว ดังที่ท่านแสดงแยกเพื่อให้เห็นชัดต่างกัน ว่า ทานนั้นเป็นเครื่องชำระฟอกล้างโลภะ คือความโลภอยากได้ มัจฉริยะคือความตระหนี่เหนียวแน่น ศีลนั้นเป็นเครื่องชำระโทสะ ภาวนานั้นเป็นเครื่องชำระโมหะ
แต่ว่าตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นั้น ก็ตรัสแสดงไว้รวมกันไป ว่าทุกข้อนั้นก็เป็นเครื่องชำระอกุศลมูล คือราคะโทสะโมหะ หรือโลภะโทสะโมหะ อันกิเลสดังกล่าวเป็นเครื่องทำจิตใจให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ เหมือนอย่างสิ่งที่ไม่สะอาดทำให้ร่างกายไม่สะอาด หรือทำให้สิ่งต่างๆ ไม่สะอาด ทองที่มีสิ่งไม่สะอาดพอกอยู่ ก็ไม่ปรากฏเนื้อทองที่บริสุทธิ์ เพชรพลอยที่ยังไม่ได้เจียระไน มีเครื่องหุ้ม ก็ทำให้ไม่ให้เห็นเนื้อเพชรพลอยที่บริสุทธิ์แจ่มจรัส จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจที่เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง เมื่อมีกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองหุ้มห่ออยู่ ก็คือกิเลสที่เป็นกองโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะนี้เอง อันเป็นตัวอกุศลมูลต่างๆ ก็ทำให้จิตใจไม่บริสุทธิ์ เป็นจิตใจที่เศร้าหมองไม่ผ่องใส ไม่แจ่มจรัส ไม่ผุดผ่อง
เพราะฉะนั้น การทำบุญนั้นจึงมุ่งที่จะปฏิบัติชำระจิตใจ คือชำระเครื่องเศร้าหมองของจิตใจนี้ออกจากจิตใจ เพื่อให้จิตใจแจ่มจรัส ผุดผ่อง เหมือนอย่างเจียระไนเพชรพลอยเอาเครื่องหุ้มห่อออก จึงจะได้เม็ดเพชรพลอยที่ผุดผ่องแจ่มจรัส ทองที่มีเครื่องหุ้มห่อก็ขัดสีเอาเครื่องสกปรกนั้นออกเนื้อทองที่บริสุทธิ์ก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น การทำบุญในพุทธศาสนาที่เป็นส่วนเหตุนั้น จึงมุ่งถึงการปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา เพื่อชำระฟอกล้างจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดดังกล่าว ดั่งนี้เป็นบุญที่เป็นส่วนเหตุ
บุญที่เป็นส่วนผล
ส่วนบุญที่เป็นส่วนผลนั้นได้แก่ความสุข ดังมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อคำว่าบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดั่งนี้
บุญส่วนผลนี้เมื่อพิจารณาดูแล้วที่จิตใจของตนเอง เมื่อทำบุญอันเป็นส่วนเหตุไปแล้ว ก็ย่อมจะมองเห็นว่าเมื่อทำบุญที่เป็นส่วนเหตุไปแล้ว กิเลสที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง กองโลภ กองโกรธ กองหลง หรือกองราคะ โทสะ โมหะก็จะหายไป จิตก็บริสุทธิ์ และเมื่อจิตบริสุทธิ์ จิตก็ย่อมจะได้ดื่มความบริสุทธิ์นี้ จึงเป็นจิตที่อิ่มเอิบด้วยความบริสุทธิ์ จึงเป็นจิตที่มีความสุขคือความสบาย จิตใจก็สบาย กายก็สบายไปตามจิต การทำบุญทุกครั้งย่อมให้บังเกิดผลดั่งนี้ ตัวความสุขที่เกิดจากความบริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ ชื่อว่าเป็นบุญโดยส่วนผล
เทียบกันได้กับทางร่างกาย เมื่อร่างกายสกปรกด้วยเหงื่อไคล และสิ่งสกปรกต่างๆ ก็เป็นร่างกายที่เศร้าหมองก็มีความทุกข์ อึดอัดในความสกปรกของตัวเอง ครั้นเมื่ออาบน้ำชำระกาย สะอาดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ก็ย่อมรู้สึกว่ามีความสุข สดชื่น การอาบน้ำชำระกายนั้นเป็นส่วนเหตุ ความสุขสดชื่นที่ได้จากความที่มีร่างกายสะอาดเป็นส่วนผล ชื่อว่าเป็นบุญทางกาย ส่วนการกระทำบุญทางใจอันใช้กายกระทำเหมือนกัน คือทาน ศีล ภาวนานี้สำคัญยิ่งขึ้น ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และก็ได้ความสุขที่เกิดจากความบริสุทธิ์นั้น นี้เป็นการทำบุญในทางพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้
คำว่ากุศล
และยังมีอีกคำหนึ่งที่คู่กันไป คือกุศล ดังที่เรียกว่าทำบุญ ทำกุศล คำว่า กุศล นี้ตามถ้อยคำแปลว่า กิจของคนฉลาด มาจากความฉลาดซึ่งเป็นตัวปัญญา และเมื่อมีความฉลาด กิจที่ทำด้วยความฉลาดนี้เรียกว่ากุศล และทางพุทธศาสนานั้น จะเรียกว่ามีความฉลาด ก็ต้องเป็นความฉลาดที่เป็นสัมมัปปัญญา คือความรู้ชอบ สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ จึงจะเรียกว่าฉลาด ถ้าเป็นความรู้ชั่วรู้ผิด เป็นความเห็นผิดไม่เรียกว่าความฉลาด เพราะฉะนั้น ฉลาดนี้จึงหมายถึงฉลาด คือความรู้ที่ถูกต้อง เช่นความรู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ อันเป็นปัญญาที่เป็นพื้นฐานทั่วไปทางความประพฤติ ตลอดจนถึงรู้อริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน เป็นมรรคปัญญา ปัญญาที่เป็นตัวมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความฉลาดที่ถูกต้องดั่งนี้ จึงทำให้ละชั่วทำดี ละบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ทำสิ่งที่เป็นบุญกุศลสุจริตต่างๆ ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา นี้เอง โดยสรุป
เพราะฉะนั้นคำว่ากุศลนี้เมื่อมองออกมาที่การกระทำ ก็เป็นการกระทำที่เป็นบุญนั่นแหละ คือเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนา แต่มาจากความฉลาดคือความรู้อันถูกต้อง ที่เป็นความรู้จักบาปบุญคุณโทษมิใช่ประโยชน์เป็นสามัญดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงอาจทำให้เห็นว่า คำว่ากุศลนี้มีความหมายที่แน่นอนว่าจะทำดี เช่นบุญดังกล่าว ได้โดยถูกต้อง เพราะเมื่อมีความฉลาดดังกล่าวแล้ว การที่กระทำออกไปก็ต้องเป็นความดี ละความชั่ว ต้องเป็นบุญ คือเป็นเครื่องชำระเครื่องเศร้าหมองคือกิเลส ตลอดถึงความชั่วด้วย
ถ้าทำบุญโดยขาดปัญญา
แต่ว่าคำว่าบุญนั้นมิได้มีคำว่าปัญญาประกอบอยู่ด้วย ตามถ้อยคำก็ว่าเป็นเครื่องชำระดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทำบุญโดยขาดปัญญา บุญนั้นจึงไม่อาจเป็นบุญ ที่ตรงตามความประสงค์ หรือเป็นบุญโดยไม่ถูกต้อง เช่นว่าการทำทานถ้าขาดปัญญา ก็ทำให้ไม่รู้จักเลือกให้ และอาจจะไปแสวงหาในทางที่ผิดเพื่อมาทำทาน หรือว่าทำทานที่ทำให้ตนเองและให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น หรือว่าทำทานด้วยความมุ่งหวังผลคือเป็นตัวกิเลส ด้วยทานนั้นมุ่งที่จะละโลภ ละมัจฉริยะ แต่บางทีทำทานเพื่อเพิ่มโลภะความโลภ มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น เช่นทำหน่อยหนึ่งแต่มุ่งผลตอบแทนมาก แบบการให้สินบน ก็ไม่เป็นทานที่บริสุทธิ์ และไม่ได้ผลในการที่จะชำระกิเลส กลับเป็นการเพิ่มกิเลส ดั่งนี้ก็ขาดปัญญา
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วก็ย่อมจะเห็นว่า การทำบุญนั้นต้องให้เป็นกุศลด้วย คือต้องให้ประกอบด้วยปัญญาด้วย และเมื่อประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็ทำให้ทำบุญได้โดยถูกต้อง ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการของพระพุทธเจ้า การที่กระทำนั้นก็เป็นบุญคือความดีอันถูกต้อง แล้วก็เป็นกุศลด้วย เพราะว่าเป็นการกระทำด้วยความฉลาด บุญกุศลจึงต้องควบคู่กันไปอยู่เสมอ และต้องมีความสัมพันธ์กันอยู่ดั่งนี้
แต่ว่าจะกล่าวว่าบุญนั้นด้อยกว่ากุศล กุศลดียิ่งกว่าบุญ หรือว่ากุศลต่ำกว่าบุญ บุญสูงกว่า จะยกข้างใดข้างหนึ่งให้ยิ่ง ให้หย่อนกว่ากัน ให้ยิ่งกว่ากัน หรือจะกดข้างใดข้างหนึ่งให้หย่อนกว่ากันดั่งนี้ ก็ไม่ตรง เพราะว่าบุญที่จะเป็นบุญจริงนั้น ก็ต้องประกอบด้วยกุศล กุศลเองก็ต้องออกมาเป็นบุญ คือเป็นการกระทำที่เป็นทานเป็นศีลเป็นภาวนาอันเรียกว่าบุญ ซึ่งต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องมีทั้งสอง
ขุมทรัพย์คือบุญ
และก็ได้มีพระสูตรที่แสดงถึงผลของบุญใน นิธิกัณฑสูตร คือสูตรที่ว่าด้วยขุมทรัพย์คือบุญ ว่าย่อมให้ประสบมนุษย์สมบัติ รติ ความยินดีในสวรรค์ก็คือสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ สมบัติทั้ง ๓ นี้ย่อมได้ด้วยบุญ หรือขุมทรัพย์คือบุญ ความที่อาศัย มิตตสัมปทา คือความถึงพร้อมด้วยมิตร และโยนิโสมนสิการคือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ด้วยปัญญา ได้ วิชชาวิมุติ แม้ข้อนี้ก็สำเร็จได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญ
ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในข้อนี้ก็แสดงว่าบุญนี้ก็ต้องประกอบด้วยกุศล คือต้องเป็นกิจของคนฉลาด มีความฉลาดอยู่ด้วย เพราะว่าอาศัยความถึงพร้อมด้วยมิตร เช่นพระพุทธเจ้า และอาศัยโยนิโสมนสิการ ความกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือปัญญาได้วิชชาวิมุติ นี่ก็คือเป็นการปฏิบัติได้ทั้งปัญญา และทั้งวิมุติคือความหลุดพ้น ที่ตรัสว่าได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญก็คือกุศลนั่นเองประกอบกันไป สาวกบารมี ความตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ภูมิของพระพุทธเจ้า คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดนี้ก็ได้ด้วย บุญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญ ดังที่เราเรียกว่าบุญบารมี
เพราะฉะนั้น ผลของบุญจึงให้ถึง ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน เป็นพระอรหันต์ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้า ก็ด้วยบุญบารมี แต่ก็ต้องเข้าใจว่าต้องประกอบเป็นกุศลไปด้วยกัน ก็เป็นอันว่าบุญที่แท้จริงนั้นจะต้องเป็นกุศล และกุศลนั้นก็จะต้องเป็นบุญ ทั้งสองนี้จึงต้องประกอบซึ่งกันและกันอยู่ดั่งนี้ จะยกเอาฝ่ายใดหนึ่ง ฝ่ายใดต่ำ ฝ่ายใดสูงนั้นก็ย่อมจะไม่ได้ ก็ต้องไปด้วยกัน ขาดปัญญาแล้วก็เป็นบุญที่ถูกต้องไม่ได้ ขาดบุญคือไม่เป็นทาน ไม่เป็นศีล ไม่เป็นภาวนา ไม่เป็นความดีต่างๆ ก็เป็นกุศลไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน แปลความว่าความดีทุกๆ อย่างที่กระทำนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะเป็นความดีที่ถูกต้อง ที่จะให้ผลถูกต้องตามต้องการตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
นาบุญอันเยี่ยม
หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ที่ชื่อว่าเป็นนาบุญอันเยี่ยมนั้น ก็หมายความว่าท่านเป็นนาของบุญกุศลดังกล่าวนั้นด้วยตนของท่านเอง คือท่านปฏิบัติทำบุญ ทำกุศลมาเอง เทียบอย่างชาวนาที่มีนาก็ทำนาด้วยตนเอง ให้ตนเองได้ข้าวขึ้นมา หมู่แห่งสาวกของพระพุทธเจ้านั้นทุกองค์ทุกท่านต่างก็ได้ทำบุญทำกุศล เป็นบุญบารมีมาดังที่ยกพระพุทธภาษิตมาแสดงแล้วว่าสาวกบารมี ด้วยตนของท่านเอง ด้วยองค์ของท่านเอง จนเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้น ที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณบทต้นๆ มาโดยลำดับ
เหมือนอย่างชาวนาที่มีนาของตนเองแล้วก็ทำนา จนได้ข้าวในนาของตน จึงจะเรียกว่ามีนาข้าว ทำข้าวของตนเอง ทำนาของตนเองสำเร็จแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เช่นเดียวกัน ก็ทำบุญในนาของท่านเอง คือที่กายวาจาใจของท่านเอง เป็นนาของท่านเองที่ท่านได้ทำบุญมา บำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างเต็มที่ดังกล่าว และท่านก็ทำมาเป็นเยี่ยมที่เรียกว่า อนุตระ คือไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งกว่านั้น ก็เพราะว่านาบุญนี้ให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ เป็นผู้ที่เสร็จกิจที่จะพึงกระทำอย่างนี้อีก คือเพื่อความสิ้นทุกข์อีก อย่างสูงก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นนาบุญที่ยอดเยี่ยม ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งไปกว่า ถ้าจะมีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่าก็แปลว่าท่านยังปฏิบัติไม่เสร็จกิจ ยังจะต้องปฏิบัติต่อไป แต่นี่ท่านปฏิบัติเสร็จกิจแล้ว จบศีล จบสมาธิ จบปัญญาแล้ว สิ้นกิเลสหมดแล้ว แปลว่าถึงที่สุดแล้ว ไม่ต้องทำกิจอื่นเพื่อความเป็นเช่นนั้นอีก สิ้นสุด จึงเรียกว่ายอดเยี่ยม ไม่มีอื่นจะยิ่งกว่า
แต่ถ้ายังมียิ่งกว่าก็จะต้องยังไม่เสร็จดังกล่าว คำนี้จึงไม่ใช่คำอวดอ้างแต่เป็นคำจำกัดความหมายดังที่กล่าวนั้น เพื่อให้ทราบว่าเสร็จสิ้น คือเสร็จสิ้นกิจที่จะพึงกระทำเพื่อให้สิ้นทุกข์อีกต่อไป (เริ่ม) เพราะฉะนั้น คำว่าเป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ความหมายที่ ๑ คือต้องเป็นดั่งนี้ คือองค์ท่านเองทำนาเสร็จแล้ว บำเพ็ญบุญบารมีเสร็จกิจแล้วดังกล่าว ไม่ต้องทำอีก ซึ่งแปลว่ายอดเยี่ยมคือไม่ต้องทำอีก ถ้ายังจะต้องมีอีกก็ยังไม่เป็นอนุตระดังที่กล่าวนั้น ความหมายที่ ๑ ต้องเป็นดั่งนี้
นาบุญของโลก
จึงมาถึงความหมายที่ ๒ ว่าเป็นนาบุญของโลก ซึ่งมีความหมายว่าเมื่อท่านทำเสร็จกิจแล้ว ท่านทำนาบุญของท่านเสร็จกิจแล้ว ท่านก็แจกจ่ายคือแสดงธรรมะสั่งสอนตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน สืบต่อพระพุทธศาสนา สั่งสอนโลกให้ทำบุญทำกุศล อันสำเร็จด้วยทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้างเป็นต้นดังกล่าวนั้น เหมือนอย่างชาวนาทำนาด้วยข้าวแล้ว ไม่บริโภคเองแล้ว ก็จำหน่ายข้าวนั้นให้แก่ผู้อื่น เพื่อบริโภคต่อไป นี่เป็นความหมายที่ ๒
และแม้ในข้อ ๒ นี่ก็ยอดเยี่ยมอีกเหมือนกัน เพราะว่าสามารถที่จะแจกจ่ายคือแสดงธรรมะสั่งสอนให้ผู้อื่นซึ่งเป็นเวไนยนิกร คือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้นั้น ได้ประกอบการบุญการกุศล ได้รับผลไปตามควรแก่ความปฏิบัติที่กระทำได้ เรียกว่าให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ได้เช่นเดียวกับที่ท่านได้รับนั้น แต่ก็ต้องเป็นไปตามควรแก่กำลังปฏิบัติของตน และสิ่งที่เวไนยนิกรคือผู้ที่ได้รับคำสั่งสอนจากพระสงฆ์ได้ปฏิบัติ และได้รับนั้น ก็จนถึงขั้นที่เป็นยอดเยี่ยมอีกเช่นเดียวกัน คือบรรลุถึงนิพพานสมบัติได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีนาบุญอื่นที่จะสอนให้ผู้ฟังได้บรรลุจนถึงนิพพานสมบัติ แต่ว่าหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นนาบุญของโลกที่ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งขึ้นไปกว่า
ตามความหมายนี้จะเห็นได้ว่า คำนี้ไม่ได้หมายเพียงข้อที่ว่ามาทำบุญแก่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นมาถวายทานแก่ท่าน ทำให้ทานของตนได้รับผลมหาศาล ซึ่งเป็นความหมายเพียงนิดเดียวในความหมายอันกว้างขวางของคำว่า อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งขึ้นไปกว่า
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป