แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า อัญชลิ กรณีโย นำ พระสังฆคุณบทนี้แปลว่า ผู้ควรกระทำอัญชลี คือพนมมือไหว้ อันหมายความว่าเป็นผู้ควรรับคารวะ คือความเคารพ เพราะเหตุที่หมู่แห่งสาวกที่เรียกว่า สาวกสังฆะ สาวกสังโฆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นต้น ดังบทสวดสรรเสริญว่า สัทธัมโย แปลว่าเป็นผู้เกิดจากสัทธรรม ประกอบด้วย สุปฏิปัติ คือปฏิบัติดีเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ควรกระทำความเคารพ มีกระทำอัญชลีพนมมือไหว้เป็นต้น
อันการแสดงความเคารพนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเคารพ ในพระศาสดา พระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ อันเป็นรัตนะทั้ง ๓ รัตนะทั้ง ๓ นี้ เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ และความเคารพนั้นก็ได้แก่การอภิวาทกราบไหว้ อภิวาทกราบไหว้อย่างเดียวบ้าง อภิวาทกราบไหว้พร้อมกับเปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณบ้าง การลุกขึ้นยืนรับ การกระทำอัญชลี คือพนมมือไหว้ การแสดงความนอบน้อมอย่างอื่นต่างๆ การกระทำสามีจิกรรม อันหมายความว่า การกระทำที่เหมาะสมอันแสดงถึงว่ามีความเคารพ เพราะฉะนั้น การแสดงความเคารพนั้นจึงมีวิธีทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกายทางวาจา และด้วยใจที่มีความเคารพนับถืออย่างแท้จริง
บุคคลไม่มีสิ่งพึงเคารพย่อมเป็นทุกข์
อันความเคารพนี้พระพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสไว้ว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงมี คือพึงมีที่เคารพ บุคคลที่เคารพ สิ่งที่เคารพ และกระทำความเคารพในบุคคลที่ควรเคารพ ในสิ่งที่พึงเคารพ ในที่ๆ พึงเคารพดังกล่าวนั้น ทุกๆ คนจะไม่มีที่เคารพ บุคคลที่พึงเคารพ วัตถุที่พึงเคารพเสียเลยนั้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมชื่อว่าได้ขาดสิ่งที่ควรจะมี ควรจะทำ
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ได้ตรัสไว้ว่า พระองค์ไม่ทรงเห็นบุคคล หรือวัตถุ หรือที่พึงเคารพอื่น ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทั้งหมด แต่ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า แม้พระองค์เองจะไม่มีที่เคารพเสียเลยก็หาควรไม่ จึงได้ทรงแสวงหาว่าจะพึงเคารพในอะไร ก็ได้ทรงพบว่าพึงทรงเคารพในพระธรรม หรือสัทธรรม จึงทรงเคารพในพระธรรม หรือพระสัทธรรม และก็ได้ตรัสไว้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ก็ได้ทรงมีพระสัทธรรมเป็นที่เคารพมาแล้วในอดีต พระพุทธเจ้าในอนาคตก็จะมีพระสัทธรรมเป็นที่เคารพในอนาคต พระพุทธเจ้าในปัจจุบันคือพระองค์เองก็ทรงมีพระสัทธรรมเป็นที่เคารพอยู่ และก็ได้ตรัสสอนไว้โดยทั่วไปว่าบุคคลพึงกระทำความเคารพพระสัทธรรม เมื่อระลึกถึงศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดั่งนี้
พระพุทธเจ้าทรงเคารพพระธรรม|
และก็ได้ตรัสอธิบายไว้ด้วยว่า ทรงปฏิบัติอย่างไรจึงชื่อว่า ทรงเคารพพระสัทธรรม ทรงอธิบายว่า คือทรงแสดงธรรมสั่งสอนแก่บุคคลทุกชั้น ทุกคน ด้วยตั้งพระหฤทัยสงเคราะห์สม่ำเสมอกันหมด ไม่มีเลือกว่าถ้าเป็นบุคคลชั้นสูงจึงจะทรงแสดงธรรมที่ประณีต ถ้าเป็นบุคคลชั้นต่ำก็ทรงแสดงธรรมที่ไม่ประณีต หาได้ทรงตั้งพระหฤทัยดั่งนั้นไม่ แต่ทรงตั้งพระหฤทัยสม่ำเสมอกันหมด มุ่งสงเคราะห์สม่ำเสมอกันหมด ในคนทุกชั้น ทุกประเภท ทุกคนที่ทรงแสดงธรรมสั่งสอน มุ่งสุขประโยชน์แก่ผู้รับเทศนาทุกคนเป็นที่ตั้ง ทรงปฏิบัติดั่งนี้ คือเป็นการทรงแสดงความเคารพ พระธรรมหรือพระสัทธรรม ดั่งนี้
และสำหรับบุคคลทั่วไปนั้น จึงพึงเคารพพระสัทธรรม หรือพระธรรม ในการปฏิบัติทั้งปวง ตามเนติของพระพุทธเจ้า แต่ว่าบุคคลทั่วไปนั้นย่อมมีบุคคล หรือสิ่ง หรือสถานที่ อันเป็นที่พึงเคารพ ดังเช่น บุตรธิดาก็เคารพในมารดาบิดา ศิษย์ก็เคารพครูอาจารย์ พสกนิกรคือประชาชนผู้อยู่ในปกครอง ก็เคารพในผู้ปกครอง ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขผู้ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และพุทธบริษัทก็เคารพในพระรัตนตรัยคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดั่งนี้เป็นต้น และนอกจากนี้ก็ยังมีบุคคล หรือสิ่ง หรือวัตถุอันเป็นที่พึงเคารพอย่างอื่นอีกมาก จึงอาจจะปันบุคคลได้เป็น ๒ จำพวก คือจำพวกหนึ่งเป็นผู้ที่พึงเคารพ หรือตั้งอยู่ในฐานะที่พึงเคารพ อีกจำพวกหนึ่งเป็นผู้กระทำความเคารพ หรือควรกระทำความเคารพในบุคคลที่พึงเคารพนั้นๆ
เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งอยู่ในฐานะใด ก็พึงปฏิบัติให้เป็นผู้สมควรแก่ฐานะนั้น เช่นเมื่อตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพของเขา ก็ปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรที่เขาจะพึงเคารพได้ เช่นเมื่อเป็นมารดาบิดา ก็ปฏิบัติตนให้เป็นมารดาบิดาที่ดี อันบุตรธิดาจะพึงเคารพ เป็นครูอาจารย์ก็ปฏิบัติตนให้เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ศิษย์จะพึงเคารพ เป็นผู้ปกครองก็ปฏิบัติตนให้เป็นผู้ปกครองที่ดี ตั้งอยู่ในธรรม ปกครองโดยธรรม ที่ผู้อยู่ในปกครองจะพึงเคารพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระบรมศาสดานั้น ย่อมทรงปฏิบัติเป็นที่พึงเคารพอย่างสูงสุดโดยแท้ ไม่มีบกพร่อง และเมื่อผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะที่ผู้อื่นพึงเคารพ ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับเป็นที่เคารพของเขาดั่งนี้ ก็ชื่อว่าทำตนให้เป็นผู้พึงเคารพได้โดยแท้จริง
(เริ่ม) ส่วนบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้พึงทำความเคารพนั้น เช่นบุตรธิดาก็พึงทำความเคารพต่อมารดาบิดา ศิษย์ก็พึงทำความเคารพต่อครูอาจารย์เป็นต้นดังกล่าวแล้ว ก็ปฏิบัติตนทำความเคารพในบุคคลที่พึงเคารพ ไม่ทำจิตใจให้กระด้าง ไม่แสดงตนกระด้าง ไม่เคารพ อันเป็นการปฏิบัติลบหลู่ท่านผู้มีคุณพึงเคารพ เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่ในฐานะที่พึงกระทำความเคารพ ก็ปฏิบัติทำความเคารพด้วยดี ทั้งจิตใจ ทั้งกาย ทั้งวาจา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญความเคารพไว้ว่าเป็นมงคล คือเหตุให้ถึงความเจริญอันอุดม และได้ตรัสไว้ว่าเป็นเครื่องเจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ ดังที่พระสงฆ์ได้สวดอนุโมทนากันอยู่เป็นประจำว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน ผู้อภิวาทกราบไหว้อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เจริญทั้งหลายอยู่เป็นนิจจตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ธรรมสี่ประการย่อมเจริญ อายุ วรรโณ สุขัง พลัง คืออายุ ๑ วรรณะผิวพรรณ ๑ สุข ๑ พละคือกำลัง ๑ ดั่งนี้ ความเจริญอายุวรรณะสุขะพละ เป็นผลของการปฏิบัติอภิวาท อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เจริญทั้งหลายเป็นนิจ
ผู้เจริญ ๓ จำพวก
และผู้เจริญคือวุฒบุคคล ทั้งหลายนั้น โดยทั่วไปก็แสดงไว้ ๓ คือ เจริญโดยชาติ มีชาติสูง เจริญโดยวัย คืออายุ และ เจริญโดยคุณ คือคุณงามความดี พระสงฆ์คือหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น กล่าวได้ว่าเป็นผู้เจริญโดยคุณ มี สุปฏิปัติ ปฏิบัติดีเป็นต้น และก็กล่าวได้ว่าเจริญโดยชาติ คือเมื่อได้เข้ามาเป็นสงฆ์ ก็ชื่อว่าได้เกิดใหม่ในอริยะชาติ คือชาติที่เป็นอริยะ ประเสริฐ หรือชาติของบุคคลผู้เป็นอริยะคือผู้ประเสริฐ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเจริญโดยชาติดังกล่าวด้วย และเมื่อมีวัยเจริญก็เจริญโดยวัย ประกอบเข้าอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นบุคคลที่พึงกระทำความเคารพ
พระพุทธเจ้าและพระธรรมก็เช่นเดียวกัน และก็จะต้องพึงกล่าวว่าพึงกระทำความเคารพในพระพุทธเจ้าในพระธรรมยิ่งขึ้นไปกว่าเพราะฉะนั้น ในบทสังฆคุณนี้จึงใช้เพียงคำว่าอัญชลี พนมมือไหว้ อัญชลีกรณีโย ควรกระทำอัญชลีพนมมือไหว้ เป็นการแสดงถึงการกระทำความเคารพที่ลดหลั่นลงมา จากพระพุทธเจ้าและพระธรรม แต่ก็รวมอยู่ในจำพวกเป็นบุคคลที่พึงทำความเคารพด้วยกัน
เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลมาตั้งใจสวดสดุดีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ พนมมือกราบไหว้ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จึงชื่อว่าได้ประสบมงคล เหตุให้ถึงความเจริญ เจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส และเจริญในที่ทั้งปวง ในกาลทุกเมื่อ
พระอินทร์นับถือบุคคลเช่นไร
อันบุคคลผู้ที่ปฏิบัติตนดีเหมาะสม แม้เป็นคฤหัสถ์ ก็ชื่อว่าเป็นผู้พึงเคารพของเทพและมนุษย์ทั้งหลายได้ ดังเช่นที่มีแสดงไว้ว่า มาตลีเทพบุตรได้ถามท้าวสักกะที่เราเรียกกันว่าพระอินทร์จอมเทพ ว่าท้าวสักกะนับถือในบุคคลเช่นไร ท้าวสักกะก็ตรัสตอบว่าคฤหัสถ์ผู้ใดเป็นอุบาสกมีศีล บำรุงเลี้ยงดูภรรยาโดยธรรม เรานอบน้อมคฤหัสถ์ผู้นั้น ดั่งนี้
อันแสดงว่าแม้จอมเทพเองก็ให้ความยกย่อง นับถือคฤหัสถ์ผู้ซึ่งเป็นอุบาสกตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติตนไว้โดยชอบในครอบครัวของตน ส่วนผู้ที่พึงเป็นที่เคารพเช่นว่าครองผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าย้อมกลักย้อมน้ำฝาด เป็นภิกษุสามเณรในพุทธศาสนาก็ตาม หรือเป็นนักบวชภายนอกพุทธศาสนาก็ตาม แต่ปฏิบัติตนไม่ถูกไม่ชอบ คือไม่ปฏิบัติดีเป็นต้น ก็ไม่เป็นผู้ที่พึงเคารพ ดังที่มีแสดงเป็นชาดกว่า ฝูงช้างซึ่งมีช้างพระโพธิสัตว์เป็นหัวหน้า เมื่อพบพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งครองผ้ากาสาวพัสตร์ ช้างโพธิสัตว์ผู้เป็นหัวหน้าก็ย่อกายลงแสดงความเคารพ ช้างอื่นๆ ทั้งหลายก็กระทำความเคารพพระปัจเจกพุทธเจ้าตามได้มีพรานช้างผู้หนึ่งได้เข้าไปล่าช้างถึงในเขตฝูงช้างของพระโพธิสัตว์นั้น สังเกตเห็นอาการอันนั้นจึงได้หาผ้ากาสาวะผ้าย้อมกลักย้อมน้ำฝาดมาคลุมตัว แสดงให้เป็นเหมือนอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า ช้างทั้งหลายทีแรกผ่านมาก็ทำความเคารพ และพรานช้างนั้นก็คอยจ้องที่จะแทงช้างตัวสุดท้าย เมื่อช้างตัวสุดท้ายมาถึงก็แทงช้างตัวสุดท้ายนั้น
ต่อมาหัวหน้าช้างซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์นั้นก็คอยสังเกต จับได้ ก็แสดงความกำราบด้วยถ้อยคำว่า ผู้ใดที่ยังไม่สิ้นกิเลส ที่เป็นเหมือนอย่างน้ำฝาด ปราศจาก ทมะ คือความข่มใจ สัจจะความจริงใจ ย่อมไม่ควรแก่ผ้ากาสาวะผ้าย้อมกลักหรือย้อมน้ำฝาด ส่วนผู้ใดที่สิ้นกิเลสที่คายกิเลสเหมือนอย่างน้ำฝาดเสียได้แล้ว มีศีลประกอบด้วยธรรมะความข่มใจสัจจะความจริงย่อมควรแก่ผ้ากาสายะ หรือกาสาวะ คือผ้าย้อมน้ำฝาด ย้อมกลัก ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น บุคคลที่ตั้งอยู่ในฐานะอันพึงเป็นที่เคารพ หรือว่าครองเพศที่พึงเป็นที่เคารพ หากไม่ปฏิบัติตนให้สมกับเป็นที่พึงเคารพแล้ว ก็ย่อมจะไม่ได้รับความเคารพ และย่อมจะได้รับความพิบัติ ความเป็นอัปปมงคล ฉะนั้น เมื่ออยู่ในภาวะอันพึงเป็นที่พึงเคารพ ทั้งบรรพชิตทั้งฆราวาส ก็พึงปฏิบัติตนให้สมควรเป็นที่เคารพด้วย คือให้ควรกระทำอัญชลีพนมมือไหว้ดังบทพระสังฆคุณนี้ และความที่จะเป็นผู้สมควรดังนั้นได้ ก็ต้องเป็นผู้ประกอบด้วย สุปฏิปัติ ปฏิบัติดีเป็นต้น ดังที่แสดงมาในบทพระสังฆคุณโดยลำดับ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป