แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงนำด้วยพระสังฆคุณบทว่า ปาหุเนยโย ที่แปลว่าผู้ควรของต้อนรับ หรือผู้ควรต้อนรับ อันมีความหมายว่า หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ปฏิบัติชอบเหมาะแล้ว หรือชอบยิ่งแล้ว อันได้แก่บุรุษบุคคล ๔ คู่ นับรายตัวบุคคลเป็น ๘ ดังที่เรียกว่าอริยสาวกสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้ควรของต้อนรับ หรือควรต้อนรับ คือเมื่อไปที่ไหนก็เป็นผู้ควรต้อนรับ ควรของต้อนรับในที่นั้น ซึ่งบทนี้เป็นบทที่คู่กับ อาหุเนยโย ผู้ควรของที่นำมาบูชา อันหมายความว่าเมื่อไม่ได้ไปที่ไหน อยู่ในที่พักอาศัยของท่านเอง มีผู้มาบูชา นำของมาถวายบูชา ก็เป็นผู้สมควรรับ เพราะเหตุเดียวกัน คือเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้น
ฉะนั้น การที่เป็นผู้ควรของที่เขานำมาบูชา ก็เพราะเป็นเหตุให้ผู้ที่นำมาบูชานั้น ได้รับผลแห่งการนำมาบูชา สมตามเจตนาของเขา ซึ่งเมื่อเขาต้องการนำของมาบูชาท่านผู้บริสุทธิ์ และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้นก็เป็นผู้บริสุทธิ์จริง ผู้นำมาบูชาไม่ต้องเสียความหวัง เพราะเมื่อหวังมาบูชาท่านผู้บริสุทธิ์ ท่านผู้รับนั้นก็เป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริง เป็นผู้สมควรบูชาจริง
นี้เป็นความของบทว่า อาหุเนยโย ท่านอยู่กับที่ มีผู้นำของมาบูชา ก็เป็นผู้ควรรับของบูชาที่เขานำมานั้น และเมื่อท่านไปไหนก็เป็นผู้ควรต้อนรับ เป็นผู้ควรรับของต้อนรับ ที่เขาต้อนรับ ก็เพราะเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จริง เขาต้อนรับด้วยคิดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรแก่การต้อนรับ ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ควรแก่การต้อนรับจริง
ผู้เลื่อมใสชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์
และโดยเฉพาะในข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ ซึ่งอาจจะใช้ได้ทั้งในบทว่าอาหุเนยโย และทั้งในบทนี้ คือได้ตรัสเอาไว้มีความว่า ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้นนั้น ย่อมชื่อว่าปฏิบัติไปสู่สวรรค์ ผู้ที่ต้อนรับอภิวาทกราบไหว้ จัดอาสนะถวายให้นั่ง ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกิดในสกุลสูง ผู้มีจิตละมลทินคือความตระหนี่ในเมื่อได้เห็นได้ต้อนรับพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความมีอานุภาพมาก ผู้ที่ได้สละถวายชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยทรัพย์ ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมะที่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วแสดง ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก
พระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นี้จึงเป็นการที่ได้ทรงแสดงว่าพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ควรของต้อนรับ หรือเป็นผู้ควรต้อนรับ
ภิกษุ ผู้ขอโดยปรกติ
อนึ่ง พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วนั้น เมื่อไปที่ไหนก็ไม่ไปเพื่อเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่ทำการขอ ไม่ทำการประทุษร้ายคฤหัสถ์แม้ด้วยการประจบ ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นที่พอใจของคฤหัสถ์ให้เขารักเขานับถือ และแม้ว่าจะเป็นภิกษุที่แปลว่าผู้ขอ อันหมายความว่าผู้ขอโดยปรกติ ตามธรรมเนียมของสมณะในพุทธศาสนา ก็อุ้มบาตร เดินไปในละแวกบ้านโดยปรกติ ไม่ได้เปล่งวาจาขอ ไม่ได้เรียกร้อง หรือไม่ได้ทำกิริยาต่างๆ เหมือนอย่างที่เรียกว่ายาจกวณิพก ยาจกก็แปลว่าผู้ขอ คือขอทาน เหมือนอย่างคนขัดสนจนยากที่ขอทานเขาเลี้ยงชีวิต วณิพกนั้นก็เป็นผู้ขอชนิดที่มีการแลกเปลี่ยนเช่นว่าร้องเพลงให้เขาฟังแล้วเขาก็ให้ แต่ว่าภิกษุซึ่งแปลว่าผู้ขอนั้นเป็นผู้ขอโดยปรกติ
เดินอุ้มบาตรเข้าไปในละแวกบ้าน ด้วยอาการที่สำรวม สำรวมตา สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ เดินเข้าไป ผู้มีศรัทธาเกิดความเลื่อมใสก็ใส่บาตรถวาย และผู้ถวายนั้นก็ไม่ได้ดูหมิ่นว่าเป็นยาจกวณิพก แต่ว่าถวายด้วยความเคารพนับถือ ถือว่าเมื่อใส่บาตรถวายพระแล้วก็ได้บุญ เพราะฉะนั้นเมื่อพระอุ้มบาตรเข้าไป คนไทยเราจึงเรียกว่าพระมาโปรด อันแสดงว่าใส่บาตรถวายด้วยความเคารพ และถือว่าได้บุญกุศล เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์แล้วไปไหนจึงเป็นที่ยินดีต้อนรับ ผู้นับถือพุทธศาสนานั้นมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ก็ย่อมต้อนรับ เช่นใส่บาตรถวาย หรือนิมนต์ให้เข้าไปฉันในละแวกบ้านตามที่กำหนด
ดังที่ปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาล บรรดาตระกูลทั้งหลายที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปรับบิณฑบาตเสวยในบ้านของตน นิมนต์พระสงฆ์น้อยบ้างมากบ้างตามกำลัง หรือว่าจัดชุมนุมกันใส่บาตรถวาย ที่เรียกว่า อังคาส พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์สาวกให้เสวยในที่ๆ กำหนดประชุมกันนั้นๆ สำหรับผู้ที่ไม่นับถือพุทธศาสนานั้นเมื่อยังไม่เลื่อมใสก็ไม่ใส่บาตรถวาย และก็ปรากฏว่าบรรดาผู้ที่ไม่เลื่อมใสนั้น เมื่อได้เห็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ เดินผ่านบ้านของตนไปบ่อยๆ ด้วยอาการที่สำรวม เกิดศรัทธาขึ้นมาถวายใส่บาตรดั่งนี้ก็มี
แม้ท่านพระสารีบุตรเองเมื่อยังไม่ได้เข้านับถือพุทธศาสนาเป็นศิษย์อยู่ในสำนักอาจารย์สญชัย วันหนึ่งได้เห็นพระอัสสชิเดินบิณฑบาตอยู่ในละแวกบ้าน เห็นเข้าก็มีความเลื่อมใส เพราะเห็นอาการที่ท่านพระอัสสชิออกบิณฑบาตนั้น เต็มไปด้วยความสำรวม เกิดความเลื่อมใส ว่าบรรพชิตรูปนี้จะต้องมีภูมิธรรมสูงในใจ และจะต้องมีอาจารย์ที่เป็นผู้มีคุณธรรมสูง เพราะยังไม่เคยเห็นใครเดินอย่างสงบดั่งนี้ จึงได้ติดตามท่านพระอัสสชิไปจนถึงที่ที่ท่านพักอยู่
(เริ่ม) และเมื่อเป็นโอกาส จึงได้เข้าไปไต่ถาม นำให้ท่านพระสารีบุตรนั้น ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม ในเมื่อได้ฟังถ้อยคำสั้นๆ ของท่านพระอัสสชิ และได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา และได้เข้าบวชในพุทธศาสนา นี้ก็เกิดสืบมาจากที่ได้เห็นพระสงฆ์บิณฑบาตนั้นเอง
เพราะฉะนั้นอาการที่ขออย่างภิกษุดั่งนี้ จึงไม่ใช่เป็นการขอที่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบว่า เหมือนอย่างแมลงผึ้งที่เคล้าเอารสของดอกไม้ เพื่อไปทำน้ำผึ้ง โดยไม่เบียดเบียนดอกไม้ ไม่เบียดเบียนกลิ่นของดอกไม้ ไม่เบียดเบียนรสส่วนใดส่วนหนึ่งของดอกไม้ต้นดอกไม้ นำเอารสหวานไปเท่านั้น มุนีผู้ที่จาริกบิณฑบาตไปในละแวกบ้านก็เช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนชาวบ้านให้เดือดร้อน รับแต่ของที่เขาแบ่งมาใส่บาตรคนละเล็กคนละน้อย โดยไม่ทำให้ผู้ที่ใส่บาตรต้องเดือดร้อน ต้องเสียหายแต่อย่างใด เพราะโดยปกตินั้นเขาก็ปรุงอาหารไว้สำหรับบริโภคอยู่แล้ว และโดยมากนั้นก็มักจะปรุงไว้มีส่วนเหลือ เพราะฉะนั้นแม้เขาจะแบ่งมาใส่บาตรบ้าง ก็ไม่ทำให้เขาต้องขาดอาหารบริโภค แล้วก็ใส่บาตรกันหลายๆ คน คนละเล็กคนละน้อยดังที่กล่าวมานั้น
เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสเปรียบเหมือนอย่างแมลงผึ้ง ที่นำเอารสของดอกไม้ไปโดยที่ไม่เบียดเบียนดอกไม้ ไม่เบียดเบียนกลิ่น ไม่เบียดเบียนอะไรของดอกไม้ ต้นไม้ดอกนั้นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์แล้ว จึงเป็นผู้ไปเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ที่ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
พระปัจฉิมวาจา
และการที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ออกไปได้ก็ตั้งต้นที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายในชั้นแรก มีจำนวนทั้งพระพุทธเจ้าด้วยเพียง ๖๑ องค์ พระพุทธเจ้าทรงส่งไปเพื่อประกาศพระพุทธศาสนาในที่นั้นๆ โดยที่ให้ไปทางละรูป ทางละองค์เดียว ไม่ให้ไปสององค์ เพื่อว่าจะได้แยกกันไปได้มากทางในคามนิคมชนบทนั้นๆ โดยที่ตรัสสั่งให้จาริกไปประกาศพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์ที่ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูล ความสุขแก่ประชาชนในคามนิคมชนบทนั้นๆ
พราะฉะนั้นการจาริกไปประกาศพระพุทธศาสนาตั้งต้นดั่งกล่าว และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา ในครั้งพุทธกาลตลอดเวลาที่พระพุทธเข้าทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ได้หยุดอยู่จำพรรษา และเมื่อพ้นฤดูกฐินก็เสด็จจาริกไปดังกล่าวตลอดพระชนมาชีพ ถึงฤดูเข้าพรรษาก็หยุดจำพรรษา ย้อนกลับมาเข้าพรรษาในเมืองเก่าบ้าง ในที่อื่นบ้าง และพระองค์ทรงดำเนินด้วยพระบาทดั่งนี้จนถึงวาระสุดท้าย
ในวันนั้นพระองค์ก็ยังเสด็จจาริกด้วยพระบาทไปตลอดวัน และเมื่อถึงสถานที่ที่ทรงกำหนดว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงได้ทรงหยุดดำเนินด้วยพระบาท และทาบพระองค์ลงบรรทมในท่าสีหไสยาตะแคงขวา และก็ยังทรงบำเพ็ญพุทธกิจสั่งสอนต่างๆ จนถึงเวลาที่ใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงได้ตรัสปัจฉิมวาจา พระวาจาสุดท้ายว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ
ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด แล้วก็หยุดรับสั่ง และก็ทรงเริ่มทำพระทัยเพื่อที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน และก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งราตรีนั้น
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
แสดงว่าพระองค์ได้ทรงจาริกออกไป ด้วยดำเนินด้วยพระบาทไม่มีหยุดหย่อน ตลอดเวลา ๔๕ ปี จนถึงวันสุดท้ายก็ยังดำเนินด้วยพระบาท ไปจนถึงจุดที่สุดแล้ว หยุด ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานในที่นั้น เพราะฉะนั้นพระองค์จึงอยู่ในฐานะที่เป็น อาหุเนยโย และ ปาหุเนยโย อยู่ตลอดเวลา และปาหุเนยโยนั้นก็การที่ได้เสด็จจาริกไปในที่ต่างๆ ดังกล่าว และผู้ที่ต้อนรับพระองค์ต่างก็ได้รับประโยชน์เกื้อกูล ได้รับประโยชน์ที่ต้องการ รับประโยชน์เกื้อกูล รับความสุข ตามควรแก่ภูมิชั้นของตน เป็นประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายนั้น ได้เป็นผู้ที่นำประโยชน์ต้องการ ประโยชน์เกื้อกูล และความสุข ไปประทาน ไปมอบให้แก่ประชาชนผู้ต้อนรับทั้งหลายในที่นั้นๆ
เอหิ สวากขตะ วาที
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์แล้ว เมื่อไปในที่ไหนก็ชื่อว่าเป็น สวากขตะ สำหรับที่นั้น คือประชาชนในที่นั้น ต่างได้รับประโยชน์ที่ต้องการ เกื้อกูล และความสุข จากการเสด็จมาของพระองค์ จึงชื่อว่าเป็นผู้ที่มาดีแล้ว ไม่ใช่มาร้าย มาดีด้วยการนำเอาสุขประโยชน์ต่างๆ มาให้ สมดังคำที่กล่าวต้อนรับว่ามาดี แล้วก็เชื้อเชิญให้มา ดังคำที่ท่านผูกว่า เอหิ สวากขตะ วาที คือผู้มีวาทะว่ามาดีแล้ว จงมา พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ทรงเป็นผู้ที่มาดีแล้วอย่างนั้นในที่ทุกแห่ง จึงเป็นผู้ควรของต้อนรับ ควรการต้อนรับในที่ทุกแห่ง
วาทะพราหมณ์ผูกโกรธ
และนอกจากนี้ แม้ว่าผู้ที่ต้อนรับนั้นเขาต้อนรับด้วยความไม่พอใจ พระองค์ก็รับได้ พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ก็รับได้ ดังที่มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไปถึงบ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งได้ผูกใจโกรธพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช ว่าปฏิบัติผิดจารีตของพราหมณ์ และยังมาสั่งสอนให้คนทั้งหลายปฏิบัติผิดจารีตของพราหมณ์ จึงได้กล่าวด่าพระองค์ต่างๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า พราหมณ์เคยรับแขกอย่างไร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็จัดข้าวจัดน้ำเป็นต้นไว้รับแขกที่มา
พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้น เขาไม่บริโภคข้าวบริโภคน้ำ ไม่ดื่มน้ำ ข้าวและน้ำที่จัดไว้นั้นเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็เป็นของเจ้าของบ้านเอง เป็นของตนเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าถ้าเช่นนั้นคำที่ท่านด่าเราเป็นการต้อนรับนั้นเราไม่รับ เพราะฉะนั้น คำที่ท่านด่าทั้งหมดนั้นก็เป็นของท่านเอง เราไม่ร่วมวงกับท่าน ถ้าเรารับก็คือเราก็ร่วมวงกับท่าน แต่นี่เราไม่รับเราก็ไม่ร่วมวงกับท่าน คำที่ท่านด่าทั้งหมดก็ต้องตกเป็นของท่านเองดังที่ท่านกล่าวนั้น ก็ของต้อนรับต่างๆ เมื่อแขกเขาไม่รับ ของนั้นก็ตกเป็นของเจ้าของบ้านเอง พราหมณ์นั้นก็กลับเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกที่บริสุทธิ์ทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ที่ควรของต้อนรับแม้ที่ไม่น่าปรารถนาพอใจ เช่นต้อนรับด้วยอาการที่ไม่ดี หรือแม้ด้วยการหยาบ ด้วยการด่าว่า
แต่ว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายก็รับได้ ด้วยวิธีที่ไม่สะดุ้งสะเทือนจิตใจ และก็สามารถที่จะกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้ ตามควรแก่เหตุนั้นๆ เหตุการณ์ดังที่กล่าวมานี้ได้บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งหลายอยู่เนืองๆ ในการที่จาริกไปในคามนิคมชนบทนั้นๆ ฝ่ายที่ไม่พอใจไม่เลื่อมใสก็ต้อนรับด้วยการด่าว่า จ้างให้มาด่าว่าก็มี ด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ และพระพุทธเจ้าก็ทรงรับได้อันหมายความว่าทรงมีพระทัยที่ไม่หวั่นไหว และก็ทรงแก้ไขได้ด้วยพระปัญญา ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง
ดังที่มาประมวลผูกเป็นบทพาหุง ๘ บท ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ แม้พระสงฆ์สาวกก็เช่นเดียวกัน ดั่งนี้ก็คือทรงเป็นอาหุเนยโย และทรงเป็นปาหุเนยโย ในพระสังฆคุณบทว่า ปาหุเนยโย ที่แสดงนี้ และพระสังฆคุณบทว่า อาหุเนยโย ที่ได้แสดงไว้ก่อน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป