แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า ญายะปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นญายะแล้ว พระสังฆคุณบทนี้สืบเนื่องมาจาก อุชุปฏิปันโน และ สุปฏิปันโน บทแรก สุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้ว บทที่สองอุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว ญายะปฏิปันโน เป็นที่สาม ปฏิบัติญายะที่มักจะแปลกันว่า เป็นธรรม หรือว่าถูก คือปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ปฏิบัติถูกแล้ว
พระสังฆคุณแม้สามบทนี้ก็ย่อมมีความสัมพันธ์กัน ดังจะพึงกล่าวได้ว่า ชื่อว่าปฏิบัติดีก็จะต้องตรง เป็นอุชุปฏิปันโน ต้องเป็นธรรมหรือต้องถูก เป็นญายะปฏิปันโนด้วย และที่ชื่อว่า อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรง ก็ต้องดี ต้องเป็นธรรม หรือต้องถูกด้วย แม้ในข้อนี้เองจะชื่อว่าญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นธรรมหรือปฏิบัติถูก ก็ต้องดีด้วย ตรงด้วย และจะต้องประกอบกับบทต่อไปอีกด้วย แต่ว่าเมื่อแยกแสดงออกเป็นบทๆ ก็ย่อมมีพยัญชนะคือถ้อยคำจำเพาะบทนั้นๆ คือยกเอาคุณลักษณะข้อดีขึ้นแสดง ก็เป็นสุปฏิปันโน ยกเอาคุณลักษณะข้อตรงขึ้นแสดง ก็เป็นอุชุปฏิปันโน ยกเอาคุณลักษณะข้อที่ว่าเป็นธรรมหรือถูกขึ้นแสดง ก็เป็นญายะปฏิปันโน แม้ข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน
และการอธิบายนั้นก็อธิบายอาศัยถ้อยคำหรือพยัญชนะที่เป็นแม่บทเป็นที่ตั้ง และเมื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ก็กล่าวแสดงไว้ด้วย เพราะทั้งหมดก็ย่อมจะเนื่องเป็นอันเดียวกัน ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ แต่เมื่อแยกออกแสดงด้วยยกถ้อยคำที่มุ่งจะยกเอาคุณลักษณะพิเศษเป็นบทๆ ไป การแสดงก็ต้องแสดงไปตามถ้อยคำหรือพยัญชนะที่เป็นแม่บทนั้นเป็นแนวแสดง แต่ว่าบทว่า ญายะปฏิปันโน นี้ ว่าถึงถ้อยคำย่อมมีข้อที่พึงพูดมากกว่าสองข้อข้างต้นนั้น และเป็นคำที่ไม่ได้ใช้พูดกันในภาษาไทย เหมือนอย่างคำว่าดี หรือคำว่าตรงซึ่งพูดกันอยู่ และในการแสดงถ้อยคำนี้ก็ย่อมประกอบด้วยเนื้อความของถ้อยคำ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ในด้านปฏิบัติที่ควรทราบ
อริยะธรรม ญายะธรรม
พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้คำนี้ไว้ในพระสูตรหลายแห่ง เช่น ในที่แห่งหนึ่งได้ตรัสแสดงไว้โดยความว่า พระองค์ทรงบัญญัติบุคคลว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ ด้วยธรรมะเหล่านี้คือ ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก ตั้งคนเป็นอันมากไว้ใน อริยะ ญายะ คือกัลยาณธรรม ธรรมะที่งาม กุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล และยังตรัสต่อไปอีกว่า
บุคคลผู้ที่หวังจะตรึก ความตรึกอันใด ก็ย่อมตรึกความตรึกอันนั้นได้ทันที ไม่หวังที่จะตรึกความตรึกอันใด ก็ไม่ตรึกความตรึกอันนั้นได้ทันที หวังที่จะดำริความดำริอันใด ก็ดำริความดำริอันนั้นได้ทันที ไม่หวังที่จะดำริความดำริอันใด ก็ไม่ดำริความดำริอันนั้นได้ทันที เป็นผู้ที่มีอำนาจใจ มีความเชี่ยวชาญทางใจ มีความคล่องแคล่วทางใจ ในวิถีทางแห่งวิตกคือความตรึกนึกคิดทั้งหลายดังกล่าว
อนึ่ง เมื่อใคร่ที่จะได้ฌานทั้ง ๔ ก็ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ยากลำบาก และอย่างสูงสุดก็เป็นผู้ที่กระทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง เข้าถึงเจโตวิมุติความพ้นทางใจ ปัญญาวิมุติความพ้นทางปัญญา ที่ไม่มีอาสวะ เพราะละอาสวะทั้งหลายได้ อยู่ในปัจจุบันได้ทีเดียว บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวนี้ พระองค์จึงทรงบัญญัติว่าเป็นผู้มีปัญญามากเป็นมหาบุรุษ และโดยเฉพาะในข้อแรกที่ตรัสเอาไว้ว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแห่งชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแห่งชนเป็นอันมาก ตั้งชนเป็นอันมากไว้ได้ ในอริยะญายะ คือกัลยาณธรรม กุศลธรรมดั่งนี้
ทรงไขความแห่งคำว่า อริยะญายะธรรมไว้เองว่าคือกุศลธรรมกัลยาณธรรม เพราะฉะนั้น ญายะปฏิปันโนจึงมีความหมายตามพระพุทธาธิบายนี้ว่า ปฏิบัติเป็นกัลยาณธรรม คือเป็นธรรมะที่งาม เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมะที่เป็นกุศล คือเป็นกิจของคนฉลาด อันหมายถึงธรรมะที่เป็นส่วนดีนั้นเอง เมื่อกล่าวอย่างไทยๆ ก็กล่าวได้ว่าปฏิบัติถูก หรือแม้กล่าวว่าปฏิบัติเป็นธรรม อย่างที่ชอบแปลกันก็ใช้ได้ เพราะก็หมายความว่าปฏิบัติเป็นกุศลธรรม หรือเป็นกัลยาณธรรม ตามพระพุทธาธิบายนั้นเอง
ปฏิบัติอย่างไรชื่อว่ารักษาตน
และนอกจากนี้ยังได้ทรงใช้คำว่าญายะนี้ในความหมายรับรองว่าถูกต้อง ดังที่ได้มีปัญหาว่าปฏิบัติอย่างไรชื่อว่ารักษาตน และรักษาผู้อื่นด้วย ก็ได้ทรงยกเอาเรื่องของการเล่นแสดงอย่างหนึ่ง ที่ในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเล่นแสดงที่เป็นวงของจัณฑาลคือบุคคลชั้นต่ำ คือการเล่นของบุคคลสองคนที่ต่อตัวกันขึ้นไป โดยคนหนึ่งยืนอยู่บนพื้นดิน อีกคนหนึ่งขึ้นไปยืนอยู่บนบ่า และก็แสดงท่าทางต่างๆ ให้คนดู ในสองนี้คนหนึ่งเป็นอาจารย์ คนหนึ่งเป็นลูกศิษย์
ก่อนที่จะแสดงอาจารย์ก็บอกแนะลูกศิษย์ว่า ให้ลูกศิษย์รักษาอาจารย์ อาจารย์ก็จะรักษาลูกศิษย์ในขณะที่กำลังแสดง ฝ่ายลูกศิษย์ก็แย้งว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นไปได้ อาจารย์ก็รักษาอาจารย์เอง ลูกศิษย์ก็รักษาตัวลูกศิษย์เอง และเมื่อต่างรักษาตัวของตัวเองอยู่ในการแสดงดั่งนี้ ก็เป็นอันว่ารักษาซึ่งกันและกัน จะทำให้การแสดงสำเร็จได้ลาภตามประสงค์
พระพุทธเจ้าก็ตรัสรับรองว่านั่นเป็นญายะคือถูกต้องในข้อนี้ ผู้รักษาตนซึ่งชื่อว่ารักษาผู้อื่น และผู้รักษาผู้อื่นซึ่งชื่อว่ารักษาตนด้วยนั้น ก็ให้ส้องเสพย์ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ พูดสั้นๆ ก็คือว่าให้ตั้งสติ ให้มีสติความระลึกได้ กำหนดอยู่ และเมื่อมาปฏิบัติส้องเสพย์สติปัฏฐาน ๔ ตั้งสติในสติปัฏฐาน ๔ ดั่งนี้ ก็ชื่อว่ารักษาตนเองด้วย รักษาผู้อื่นด้วย หรือว่าชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วย รักษาตนเองด้วย และก็ได้ตรัสในทางปฏิบัติต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อจะรักษาตน และชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วยนั้น ก็ให้ปฏิบัติส้องเสพย์สติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าว และให้ประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยขันติ ประกอบด้วยความเอ็นดู เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่ารักษาตนและรักษาผู้อื่นด้วย รักษาผู้อื่นและรักษาตนด้วยดั่งนี้
เพราะฉะนั้น คำว่าญายะที่ทรงใช้ในที่นี้จึงหมายถึงถูกต้อง คือถูกต้องอย่างที่ลูกศิษย์พูดแย้งอาจารย์ ในการแสดงนั้นแต่ละคนก็ต้องรักษาตนเอง เพื่อทำการแสดงให้ถูกต้อง โดยมีสติปัญญากำกับอยู่กับตน เป็นการรักษาตนเอง แล้วก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาคนอื่นด้วยที่ร่วมกันแสดง คำที่ลูกศิษย์พูดนั้นถูกต้อง แต่คำที่อาจารย์แนะนั้นไม่ถูก เพราะฉะนั้น ญายะปฏิปันโน จึงแปลได้ว่าปฏิบัติถูก ปฏิบัติถูกต้องไม่ผิด
ข้อว่าปฏิบัติในทางปัญญา
อีกอย่างหนึ่งได้ทรงใช้คำว่าญายะนี้ในทางปัญญา คือว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นญายะ ก็ทรงสอนว่าคือให้ปฏิบัติใช้ปัญญาจับเหตุจับผล ให้รู้ว่าเมื่อสิ่งนี้มี ก็ย่อมมีสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี ก็ไม่มีสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีสิ่งนี้เกิด ก็ไม่มีสิ่งนี้เกิด อันหมายความว่าที่ใช้คำว่า สิ่งนี้ ด้วยกันนั้น ไม่ใช่หมายความว่าสิ่งเดียวกัน คือเป็นสองสิ่งหรือหลายสิ่ง ถ้าพูดอย่างสามัญก็พูดกันว่า เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนั้นก็มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นก็ดับ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ ก็ไม่มีสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นคำว่า นี้ ที่ใช้ซ้ำกันสองทีนี้จึงหมายถึงว่าสองสิ่ง พูดง่ายๆ คือว่า นี้ กับ นั้น
และเมื่อตรัสนำขึ้นดั่งนี้แล้ว ก็ตรัสชักเข้าปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ว่าเพราะมีอวิชชาจึงมีสังขาร ดั่งนี้เป็นต้น และเพราะอวิชชาดับสังขารก็ดับดั่งนี้เป็นต้น หรือหากว่าจะจับเข้าในเหตุผลทางกรรมก็จับได้ เหตุผลทางอริยสัจจ์ก็จับได้ อันหมายความว่าจะทำความเข้าใจในพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนว่าให้ใช้ปัญญาดังกล่าวนี้ และชักเข้าปฏิจจสมุปบาทนั้น ทำความเข้าใจยกเอาเหตุผลทางกรรม และเหตุผลทางอริยสัจจ์เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้นก็อาจใช้อธิบายได้ ว่าเมื่อมีอกุศลมูลคือโลภโกรธหลง ก็ย่อมมีกรรมซึ่งเป็นบาปอกุศลทุจริต และเมื่อมีกรรมที่เป็นบาปอกุศลทุจริต ก็ย่อมมีทุกข์เป็นผลต่อไป เมื่อไม่มีอกุศลมูลคือโลภโกรธหลง ก็ย่อมไม่มีบาปอกุศลทุจริต และเมื่อไม่มีบาปอกุศลทุจริต ก็ย่อมไม่มีทุกข์เป็นผลต่อไป
ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีกุศลมูลคือความไม่โลภความไม่โกรธความไม่หลง เช่นมีกุศลเจตนาต่างๆ มีเมตตากรุณาเป็นต้น ก็ย่อมมีกรรมที่เป็นกุศลเป็นสุจริตเป็นบุญ เมื่อมีกรรมที่เป็นกุศลเป็นสุจริตเป็นบุญ ก็ย่อมมีสุขเป็นผลต่อไป แต่เมื่อไม่มีกุศลมูล กุศลธรรมต่างๆ ก็ย่อมไม่มี สุขที่เป็นผลต่างๆ ก็ย่อมไม่มี ย่อมเป็นไปตามเหตุตามผลดั่งนี้ เป็นกฎของกรรมทางพระพุทธศาสนา หรือยกเอากฎทางอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ได้ คือเมื่อมีทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ก็ย่อมมีทุกข์ เมื่อมีมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ย่อมมีนิโรธความดับทุกข์ นี้เป็นเหตุเป็นผลทางอริยสัจจ์
( เริ่ม ) การใช้ปัญญาจับเหตุจับผลให้ถูกต้องได้ดั่งนี้ชื่อว่าได้รู้ญายะธรรม หรือรู้ญายะ เพราะฉะนั้น ตามที่อ้างเอาพระพุทธภาษิตที่ทรงใช้คำว่าญายะมาแสดงนี้ ก็ย่อมรวมความเข้าด้วยว่า ญายะปฏิปันโนนั้นอาจแปลได้เป็น ๓ อย่าง คือปฏิบัติเป็นกุศลธรรม เป็นกัลยาณธรรม จะแปลว่าปฏิบัติถูกก็ได้ ปฏิบัติเป็นธรรมเฉยๆ ก็ได้ ก็มีความหมายถึงว่าปฏิบัติเป็นกัลยาณธรรม เป็นกุศลธรรมนั้นเอง แปลว่าปฏิบัติเห็นธรรมก็ได้ คือเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริงตามเหตุและผล อีกอย่างหนึ่งนั้นแปลว่าปฏิบัติบรรลุถึงธรรม ปฏิบัติให้สำเร็จธรรมะที่พึงบรรลุ ในประการที่ ๓ นี้มีนิทัศนะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาแล้ว ดังที่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง มีความว่า ผู้ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่ให้สำเร็จญายะ คือไม่ให้สำเร็จถึงธรรมะที่พึงบรรลุได้ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติชอบปฏิบัติถูกต้อง จึงจะให้สำเร็จญายะธรรม คือให้บรรลุถึงธรรมะที่พึงบรรลุได้
การปฏิบัติเข้าทางที่งดงาม
เพราะฉะนั้น คำว่าญายะนี้จึงมีความหมายที่ใช้กันดั่งนี้ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้ตรัสแสดงไว้เอง และแต่ละความหมายนั้นย่อมมีความสำคัญในด้านปฏิบัติทั้งนั้น ประการแรกญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นกุศลธรรม เป็นกัลยาณธรรม หรือพูดสั้นๆ ว่าปฏิบัติเป็นธรรม หรือพูดเป็นไทยๆ ว่าปฏิบัติถูก ก็มีความหมายว่าญายะนั้นก็คือว่า เป็นการปฏิบัติเข้าทาง นำเข้าทางที่งดงามที่เป็นกุศล คือที่ถูกต้อง
ตามศัพท์ของคำว่าญายะก็แปลว่าเข้าทางได้ หรือว่านำเข้า แปลว่านำเข้าคือนำเข้าทาง ส่วนที่แปลว่าปฏิบัติเห็นธรรมนั้น คำว่าญายะก็แปลได้ว่าสัจจะที่พึงรู้ หรือธรรมะที่พึงรู้ คือคำว่าญายะนี้แปลว่ารู้ได้ ส่วนที่แปลว่าปฏิบัติให้สำเร็จญายะธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุ คำว่าญายะนั้นเองก็แปลว่าธรรมะที่พึงบรรลุได้ คือที่พึงเข้าถึง จึงแปลว่านำเข้าทาง นำเข้าอันหมายถึงนำเข้าทางอย่างหนึ่ง แปลว่าที่พึงรู้อย่างหนึ่ง แปลว่าเข้าถึงคือที่พึงบรรลุถึงอีกอย่างหนึ่ง คำว่าญายะจึงมีความหมายอันสำคัญ
ประการแรกการปฏิบัตินั้น ก็ต้องเป็นการปฏิบัติที่เป็นกุศลธรรม เป็นกัลยาณธรรม ก็ต้องปฏิบัตินำเข้าคือนำตนผู้ปฏิบัตินั้นเองเข้า หมายถึงเข้าทาง เข้าทางที่เป็นกุศล ที่เป็นกัลยาณะคืองาม ที่เป็นทางชอบถูกต้อง อันนี้เป็นส่วนเหตุ แต่ในการที่จะปฏิบัตินำเข้าคือนำเข้าสู่ทางที่ชอบ ที่เป็นกุศลที่เป็นกัลยาณะดังกล่าวนั้นได้ ก็ต้องอาศัยมีปัญญารู้สัจจะคือความจริงตามเหตุและผล หรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง ตามที่เป็นแล้ว คือตามที่เป็นจริงแล้ว จับเหตุจับผลได้ว่าเมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด หรือว่าเมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่เกิด สิ่งนี้ก็ไม่เกิด หรือเมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ จับเหตุจับผลได้ดั่งนี้ตามหลักของกรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ และตามหลักของอริยสัจจ์ อันเป็นธรรมะที่ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ เพราะว่าสัจจะคือความจริงตามเหตุและผล ด้วยเหตุผลตามเป็นจริง ดั่งนี้ เป็นญายะคือเป็นข้อที่พึงรู้ ที่พึงเข้ารู้ ที่พึงรู้ เมื่อรู้แล้วจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง
สาวกภูมิต้องอาศัยศรัทธาปัญญา
แต่สำหรับผู้ที่เป็นภูมิสาวกต้องมีพระศาสดา ดังเราทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา ยังไม่มีปัญญาที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องตามหลักกรรมและตามหลักอริยสัจจ์ ก็อาศัยศรัทธาคือฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ และสิ่งใดที่รู้เองได้ก็อาจที่จะรับรองได้ด้วยปัญญาของตน แต่สิ่งใดที่ไม่อาจรู้เองได้ก็ต้องอาศัยศรัทธาคือความเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ แต่แม้เช่นนั้นก็ใช้ ญาณปรีชา คือความพิจารณาจับเหตุจับผลไปตามก็ย่อมจะพอรู้ได้เข้าใจได้ และอาจจะตัดสินได้ว่าเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
การที่อาศัยศรัทธาคือความเชื่อนี้ทุกคนก็ต้องอาศัยศรัทธากันอยู่แล้วเป็นอันมาก เช่นทุกคนที่เกิดมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่ ต้องอาศัยพ่อแม่ท่านบอก จึงทราบว่าเกิดมาเมื่อนั่นเมื่อนี่ อันนี้ก็ต้องเชื่อตามที่ท่านบอก เพราะตัวเองไม่รู้ และรู้จักพ่อรู้จักแม่ก็ด้วยอาศัยความที่ท่านได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่ต้น ให้ความรักความเมตตามาตั้งแต่ต้น และแม้แต่ในเรื่องอื่นก็ต้องอาศัยศรัทธาอันประกอบด้วยวิจารณญาณอยู่เป็นอันมาก โดยที่ตนเองนั้นไม่อาจจะไปรู้ไปเห็นด้วยตาตัวเองได้ หรือไม่อาจที่จะรู้ด้วยปัญญาได้ เช่นผู้พิพากษาตัดสินคดี ผู้พิพากษาเองนั้นก็ไม่ได้ไปเห็นเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นเอง ต้องอาศัยหลักฐานสำนวนต่างๆ และมาพิจารณาตามเหตุและผล แล้วก็ตัดสินไปตามที่มีหลักฐานพยาน เป็นต้น
นี้ก็ต้องใช้ศรัทธา แต่เป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้ อันหมายความว่าใคร่ครวญไปตามเหตุผลหลักฐาน เท่าที่สามารถจะทำได้ การสอบความรู้ต่างๆ ของคนก็เหมือนกัน ไม่มีใครไปรู้ว่าใครมีปัญญาคือความรู้เท่าไหร่ จึงต้องอาศัยการสอบไล่ ออกข้อสอบมาให้เขียนให้ตอบ หรือสัมภาษณ์ ฟัง แล้วก็ตัดสินเอาตามกฎเกณฑ์ว่าให้สำเร็จการศึกษาขั้นนั้นขั้นนี้ ก็อาศัยศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยญาณคือความที่พินิจพิจารณาให้หยั่งรู้
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ยังไม่สามารถจะรู้เองได้ก็ต้องอาศัยศรัทธา และก็พิจารณาไปตามเหตุผล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะว่าได้ทรงชี้แจงถึงเหตุผลประกอบไปด้วยในคำสั่งสอนทั้งปวง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๓ ข้อ ว่าทรงสั่งสอนเพื่อให้รู้ให้เห็นในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น มีนิทาน เหตุผลหลักฐานที่พึงตรองตามไปเห็นจริงได้ และมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติให้ได้ผลได้ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ญายะปฏิปันโนนั้นจึงปฏิบัติใช้ปัญญาให้เห็นธรรมที่พึงรู้พึงเห็น จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นกัลยาณธรรม เป็นกุศลธรรม หรือเป็นธรรม หรือว่าถูกต้องได้ อันเป็นส่วนเหตุ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้บรรลุญายะธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ ที่พึงเข้าถึงอันเป็นส่วนผล ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น คำว่าญายะปฏิปันโนนี้ จึงประกอบด้วยความหมายที่สมบูรณ์มากอยู่ในคำเดียว คือปฏิบัติเป็นกัลยาณธรรม เป็นกุศลธรรม หรือเป็นธรรม หรือว่าถูก ปฏิบัติเห็นธรรมคือสัจจะที่เป็นตัวความจริง ตามเหตุและผล คือปฏิบัติให้รู้ถึงธรรมะที่พึงรู้ ถึงข้อที่ควรรู้ ที่พึงรู้ จับเหตุจับผลได้ตามเป็นจริง และปฏิบัติให้สำเร็จผลได้ คือให้บรรลุถึงธรรมที่พึงบรรลุได้ ถึงผลที่พึงบรรลุได้ ตามควรแก่ความปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่า ญายะปฏิปันโน ซึ่งเรามักจะแปลกันง่ายๆ ในความหมายว่าแรกว่าปฏิบัติเป็นธรรม หรือปฏิบัติถูก
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจปฏิบัติสืบต่อไป