แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระสังฆคุณนำสติปัฏฐานในบทว่า อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ สงฆ์คือหมู่แห่งสาวกผู้ฟัง คือศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติตรงแล้ว พระสังฆคุณบทนี้แสดง อุชุปฏิปัติ หรืออุชุปฏิบัติ ปฏิบัติตรง คำว่า ตรง นั้นมีความหมายที่ใช้ทั่วไป ก็คือตรงไม่คด แต่ว่ามีความหมายจำกัดเข้ามาอีกว่าเป็นตรงดี คือตรงไม่คดนั้นในทางปฏิบัติดำเนิน อาจจะตรงแน่วไปทางชั่วก็ได้ แต่ว่าในที่นี้ต้องเป็นตรงดี คือตรงไปในทางดี และคำว่าตรงเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็มีใช้กันอยู่ในทางปฏิบัติทั่วไป กับในทางตรงต่อผลที่ประสงค์
สำหรับประการแรก คือตรงในทางปฏิบัติทั่วไปนั้นก็เช่น ซื่อตรง อันได้แก่ไม่คิดคด หรือ ปฏิบัติคด ทรยศ รักษาคำพูด รักษาสัญญา และปฏิบัติภายนอกภายในตรงกัน เช่น พูดอย่างใดใจก็อย่างนั้น หรือใจอย่างใดพูดอย่างนั้น ตรงที่เป็นความเที่ยงธรรมก็คือตรงต่อความถูกต้องเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงไปด้วยอคติทั้ง ๔ คือไม่ลำเอียงไปด้วยฉันทาคติ คือลำเอียงไปเพราะรักชอบ ไม่ลำเอียงไปเพราะโทสาคติ คือลำเอียงไปเพราะโกรธชังไม่ชอบ ไม่ลำเอียงไปเพราะโมหาคติ คือลำเอียงไปด้วยโมหะคือความหลง คือไม่สอบสวนให้รู้จริงถูกต้อง ปฏิบัติไปด้วยความเข้าใจผิด ชั่วเป็นดี ดีเป็นชั่ว เป็นต้น ไม่ลำเอียงไปเพราะ ภยาคติ คือความกลัว การปฏิบัติจึงเที่ยงธรรม
ปฏิบัติตรงต่อประโยชน์ ๓ ประการ
ส่วนตรงต่อผลที่ประสงค์นั้น ก็หมายถึงปฏิบัติตรงต่อผลที่ต้องการ ซึ่งหมายถึงผลที่ถูกชอบ และโดยเฉพาะที่เหมาะที่ควรแก่ภาวะแห่งพระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ใช่หมายความว่าตรงต่อผลที่ไม่เหมาะไม่ควร ดังเช่นปฏิบัติตรงต่อ ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่งอันได้แก่มรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ตรงต่อ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบัน สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายหน้า อันยังเป็นโลกิยะ เกี่ยวอยู่กับโลก
ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงว่าสอนเขา แต่ว่าหมายความถึงว่าปฏิบัติตนเอง คือหมู่แห่งสาวกผู้ฟังของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระสงฆ์ในรัตนะ ๓ นี้ มุ่งถึงอริยสงฆ์ และแม้ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรแต่เดิมมาก็มุ่งต่อ อริยผล ที่เป็นโลกุตรมรรคผลนิพพานดั่งนี้ เพราะสำหรับประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้านั้น ไม่ต้องบวชเป็นคฤหัสถ์ก็ปฏิบัติได้
(เริ่ม ) พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนประโยชน์ไว้ทั้ง ๓ เพราะการสอนนั้น ผู้ฟังก็มีทั้งผู้ต้องการบวช และผู้ที่ไม่ต้องการบวช ผู้ต้องการบวชก็ทรงสอนตรงไปยังมรรคผลนิพพาน ผู้ไม่ต้องการบวชก็ทรงสอนให้ตรงต่อประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า สำหรับที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน โลกภายหน้า เป็นสุข เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นพระสงฆ์ซึ่งเป็นรัตนะ จึงปฏิบัติตรงต่อปรมัตถประโยชน์มรรคผลนิพพาน จนถึงบรรลุถึงมรรคผลชั้นต้น จึงนับเข้าเป็นสงฆ์ในรัตนะทั้ง ๓ นี้ เมื่อยังปฏิบัติอยู่แม้เพื่อมรรคผลนิพพาน เมื่อยังไม่บรรลุก็ยังไม่นับเข้า แต่เมื่อบวชเป็นภิกษุ เมื่อประชุมกันตามองค์กำหนด ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ก็เรียกว่าสงฆ์ตามพระวินัย เป็นพระสงฆ์ที่บวชกันอยู่
และพระสงฆ์ตามพระวินัยนี้ แม้ท่านผู้ที่ปฏิบัติตรงต่อมรรคผลนิพพาน บรรลุมรรคผลขั้นแรกเป็นโสดาบันบุคคล ซึ่งนับเข้าในพระสงฆ์ในรัตนะทั้ง ๓ เมื่อยังไม่บวชเป็นภิกษุตามพระวินัย ก็ยังไม่เป็นภิกษุตามพระวินัย และเมื่อรวมกันตั้งแต่ ๔ ขึ้นไปก็ยังไม่นับว่าเป็นพระสงฆ์ตามพระวินัย ยังปฏิบัติให้สำเร็จสังฆกรรมต่างๆ ตามพระวินัยไม่ได้ เมื่อบวชเข้ามาแล้วจึงจะเป็นภิกษุซึ่งจะเป็นสงฆ์ตามพระวินัยได้ ปฏิบัติสังฆกรรมต่างๆ ตามพระวินัยได้
ปฏิบัติตรงต่อมรรคมีองค์ ๘
อีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าตรงต่อมรรคมีองค์ ๘ เพราะมรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน ย่อเข้าก็คือตรงต่อศีล ต่อสมาธิ ต่อปัญญา รวมเข้าคำเดียวก็คือว่าตรงต่อธรรมที่เป็นธรรมาธิไตย คือมีธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีโลกเป็นใหญ่ ไม่ใช่มีตนเป็นใหญ่ แต่มีธรรมะเป็นใหญ่เป็นธรรมาธิปไตย พระพุทธเจ้าเองแม้จะได้ตรัสรู้เองชอบ ทรงแสดงธรรมทรงบัญญัติวินัยด้วยพระองค์เอง ไม่ได้ปรึกษาหารือใคร ทรงสอนทรงสั่งด้วยพระองค์เอง แต่ก็ด้วยทรงมีธรรมะเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย และทรงมีธรรมะเป็นที่เคารพ คือทรงเคารพพระธรรม เพราะเมื่อมีธรรมะเป็นใหญ่ ก็เคารพสิ่งที่เป็นใหญ่นั้นคือพระธรรม ฉะนั้นแม้ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป ซึ่งปฏิบัติตามหลักอธิปไตยทั้ง ๓ ในพุทธศาสนานี้ คือปฏิบัติมีธรรมะเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย ก็ย่อมจะมีความเคารพธรรมซึ่งเป็นใหญ่นั้น และปฏิบัติตามธรรม
ฉะนั้นเมื่อมีธรรมเป็นใหญ่มีความเคารพธรรมด้วยจิตใจ อันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญาหรือมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นผู้ที่มีจิตใจตรง คือตรงต่อธรรมที่เป็นใหญ่ที่เคารพนั้น มีเจตนาตรง มีกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจตรง จึงชื่อว่ามีกายตรงมีวาจาตรงและมีใจตรง ดั่งนี้จึงเป็น อุชุปฏิปันโนปฏิบัติตรงแล้ว เมื่อกำลังปฏิบัติอยู่ ก็ชื่อว่ากำลังปฏิบัติอยู่ใน อุชุปฏิปัติ คือปฏิบัติตรง คือตรงต่อธรรม จะยกเอามรรคมีองค์ ๘ ยกเอาไตรสิกขาศีลสมาธิปัญญา หรือยกเอาข้อธรรมาธิปไตยก็ได้ ซึ่งเป็นหลักของการปฏิบัติ
การปฏิบัติที่ไม่เนิ่นช้า
และการที่ปฏิบัติตรงดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เนิ่นช้า แต่ถ้าปฏิบัติไม่ตรงก็ย่อมจะเนิ่นช้า การปฏิบัติที่เนิ่นช้านั้นก็คือการที่ไม่ปฏิบัติตรงต่อธรรม ที่เป็นธรรมาธิปไตย เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นไตรสิกขาคือศีลสมาธิปัญญา แต่ว่ายังแวะเวียนไปใน กามสุขัลลิกานุโยค คือประกอบตนพัวพันด้วยความสุขในกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่น่าปรารถนาพอใจ ด้วยอำนาจของกิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ปรารถนาต่างๆ หรือไม่เช่นนั้นก็ปฏิบัติไปในทางที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค คือปฏิบัติประกอบตนให้พัวพันในการทรมานกายให้ลำบาก ดังที่เรียกว่า ทุกรกิริยา
เมื่อปฏิบัติแวะเวียนมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกาม หรือว่าด้วยการทรมานกายดังกล่าวนั้น ก็ทำให้เนิ่นช้าไม่บรรลุถึงผลที่มุ่งหมาย จะเนิ่นช้าเท่าไรนั้นก็สุดแต่ความแวะเวียนนั้นจะเนิ่นช้าเพียงไร ถ้ายังแวะเวียนอยู่นานเท่าไร ก็ไม่บรรลุถึงผลที่มุ่งหมายนานเท่านั้น ต่อเมื่อละการแวะเวียนนั้นได้ ปฏิบัติเข้าทางตรง คือทางมรรคมีองค์ ๘ ทางไตรสิกขา หรือทางธรรมาธิปไตยดังกล่าวนั้น ก็จะบรรลุถึงผลที่มุ่งหมายได้ไม่เนิ่นช้า
ปฏิบัตินานเท่าไรจึงจะเป็นพระอรหันต์
เพราะฉะนั้นในพระสูตรหนึ่งจึงได้มีกล่าวไว้ว่า พราหมณ์ท่านหนึ่งที่ได้ถามท่านพระสารีบุตร ว่าเมื่อปฏิบัติธรรมะสมควรแก่ธรรม อันเรียกว่าธรรมานุธรรมปฏิปัติ ได้แล้ว นานเท่าไหร่จึงจะเป็นพระอรหันต์ได้ ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่าไม่นาน ดั่งนี้ เพราะปฏิบัติไม่แวะเวียน ปฏิบัติให้เป็นธรรมานุธรรมปฏิปัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็คือปฏิบัติดีปฏิบัติตรงนั้นเอง ตรงเพื่อนิพพิทาความหน่าย วิราคะความสิ้นติดใจยินดี นิโรธะ ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย
การปฏิบัติแวะเวียนนั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษา เพิ่มพูนความเพลิดเพลิน ความติดใจ ความดิ้นรนทะยานอยากในกามทั้งหลาย และแม้ในทุกรกิริยา คือการทรมานกายอันตรงกันข้าม อันเรียกว่าเป็นสุดโต่งสองข้าง ยังไม่เข้าทางที่เรียกว่า มัชฌิมา คือทางกลาง อันไม่ข้องแวะกับทางสุดโต่งทั้งสองข้างนั้น เพราะฉะนั้นจะชื่อว่าปฏิบัติตรง หรือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็คือปฏิบัติเพื่อนิพพิทา คือหน่ายจากความเพลิดเพลิน เพื่อสิ้นติดใจยินดีคือไม่ติดใจไม่ยินดี และเพื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ปล่อยวางกามทั้งหลาย ปล่อยวางการทรมานกายให้ลำบากทั้งหลาย พ้นได้จากกามทั้งหลาย จากการทรมานกายให้ลำบากทั้งหลาย
ซึ่งการทรมานกายให้ลำบากนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน ท่านก็รวมเอาโทสะเข้าด้วย เพราะว่าโทสะคือความโกรธนั้นตรงกันข้ามกับกามหรือราคะ กามหรือราคะนั้นไปในทางชอบ โทสะไปในทางชัง หรือกามราคะนั้นไปในทางที่เรียกว่ายินดี โทสะนั้นไปในทางที่เรียกว่ายินร้าย และกามนั้นที่โลกยังติดใจยินดีก็เพราะว่ากามให้ผลเป็นความสุข แต่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ความสุขความพอใจน้อย แต่ให้ทุกข์มาก ถ้าหากว่ากามไม่ให้ความสุขความเพลิดเพลินเสียเลยแล้วคนก็จะไม่ติดในกามไม่ติดในโลก แต่เพราะกามนั้นให้ความสุขให้ความเพลิดเพลิน คนจึงติดจึงยินดีไม่เหนื่อยหน่าย
แต่เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าให้ความยินดีน้อยให้ความสุขน้อย แต่ว่าให้ทุกข์มาก และเมื่อพิจารณาเห็นตามที่ทรงสั่งสอนไว้ ก็คือทรงสั่งสอนให้เห็นอนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ คือไม่ตั้งอยู่คงที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา คือเป็นอนัตตา และเมื่อเห็นตามที่ทรงสั่งสอนนั้นจึงจะได้นิพพิทาคือความหน่าย และเมื่อหน่ายก็จะได้วิราคะคือความสิ้นติดใจยินดี และได้ความดับ ดับความดิ้นรนทะยานอยาก จึงจะดับทุกข์ร้อน หรือดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้
ข้อว่าปฏิบัติตรง
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่ไม่แวะเวียนแต่ปฏิบัติให้เกิด นิพพิทา วิราคะ นิโรธะ ดังกล่าว จึงจะเป็นการปฏิบัติตรง และการปฏิบัติตรงดั่งนี้ก็ชื่อว่าธรรมานุธรรมปฏิปัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือสมควรแก่มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา หรือว่าธรรมาธิปไตยดังที่กล่าวนั้น ท่านที่ปฏิบัติตรงได้แล้ว บรรลุถึงมรรคผลนิพพานในขั้นต้นได้แล้ว และตั้งแต่ขั้นต้นนั้นขึ้นไปจึงจะได้ชื่อว่า อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว
เมื่อกำลังปฏิบัติอยู่ก็เรียกว่ายังไม่แล้ว คือยังต้องทำอยู่ปฏิบัติอยู่ และแม้พระอริยสงฆ์ทุกท่านก่อนจะเป็นพระอริยสงฆ์ท่านก็ต้องปฏิบัติอยู่ เหมือนอย่างที่นักปฏิบัติทั้งหลาย หรือเราทั้งหลายที่กำลังปฏิบัติกันอยู่นี้ และเมื่อปฏิบัติให้เป็น อุชุปฏิปัติ ปฏิบัติตรงแล้ว ก็จะบรรลุถึงภูมิชั้นที่สูงขึ้น ไม่นาน แต่จะสูงแค่ไหนนั้นก็สุดแต่กำลังของการปฏิบัติตรงจะเป็นไปได้
จิตตภาวนา
การปฏิบัติจิตตภาวนาข้อปฏิบัตินั้นก็เป็นการปฏิบัติตรง เป็นการปฏิบัติดีด้วย แม้ผู้ปฏิบัติจะยังไม่มุ่งมรรคผลนิพพาน แต่ว่าข้อปฏิบัตินั้นก็เป็นการปฏิบัติตรง เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นของสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นไปสตฺตานํ วิสุทฺธิยา เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย เพื่อก้าวล่วง โสกะ ความโศก ความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจ จนถึงคร่ำครวญออกมาทางกาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย เพื่อดับทุกข์โทมนัส ญายสฺส อธิคมาย เพื่อบรรลุญายะธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุยิ่งๆ ขึ้นไป นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย เพื่อกระทำให้แจ้งพระนิพพาน ดั่งนี้
เหมือนอย่างว่าเมื่อปฏิบัติเดินทาง เช่นเมื่อหันหน้าเดินทางมาสู่วัดนี้ แม้จะไม่อยากมาวัดนี้ ไม่ประสงค์จะมาวัดนี้ แต่เมื่อทางที่เดินมานั้นมาสู่วัดนี้ ก็ย่อมจะต้องถึงวัดนี้ หรือใกล้วัดนี้เข้ามา ทีแรกจะอยู่ไกลแสนไกลก็ตาม แต่เมื่อหันหน้ามาสู่วัดนี้แล้ว ถึงแม้จะไม่อยากมาถึง ก็ถึงเองหรือใกล้เข้ามาเอง การปฏิบัติในสติปัฏฐานของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น ให้ตั้งใจปฏิบัติไปตามที่ตรัสสอนคือปฏิบัติทำสติ ตั้งสติคือตั้งใจกำหนด ดังที่ได้เริ่มแสดงมาแล้วในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ตรัสสอนไว้ ยกเอาข้ออานาปานปัพพะ คือข้อที่ว่าด้วยลมหายใจเข้าออกเป็นข้อต้น และยกภิกษุเป็นที่ตั้งว่า เข้าสู่ป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง อันหมายความว่าปลีกตนออก ให้ได้กายวิเวกคือความสงัดกาย อาศัยสถานที่ที่สงบสงัด และแม้การที่มาประชุมกันปฏิบัติในที่นี้มากคนด้วยกัน แต่ว่าต่างก็ตั้งอยู่ในความสงบ ก็ชื่อว่าสงบสงัดด้วยกัน และก็อยู่ในที่สงบสงัดด้วยกัน
และให้นั่งขัดบัลลังก์คือขัดสมาธิ ตั้งกายตรงดำรงสติจำเพาะหน้า คือตั้งใจกำหนดเข้ามาจำเพาะหน้าคือที่ตนเอง หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้ายาวออกยาว ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้ายาวออกยาว หายเข้าสั้นออกสั้น ก็ให้รู้ว่าหายใจเข้าสั้นออกสั้น และหัดทำความรู้ตัวทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก และหัดที่จะสงบตัวทั้งหมดนี้ หายใจเข้าหายใจออก นี้เป็นการกล่าวถอดความมาอย่างสั้นๆ ในหัวข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เอง อันเป็นหลักสำคัญเพราะเป็นพระพุทธพจน์ การที่จะอธิบายนั้นจะได้ทำต่อไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป