แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุ หรืออัน วิญญู คือ ผู้รู้ พึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิอัน วิญญู คือ ผู้รู้ พึงรู้เฉพาะตน เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานอบรมสติในกาย เวทนา จิต ธรรม ย่อมจะได้ สติ เป็นสติปัฏฐาน และย่อมจะได้ ญาณ คือความหยั่งรู้ หรือปัญญา ความรู้คู่กันไปกับสติ ทำให้เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม และเมื่อปฏิบัติสติปัฏฐานถูกต้องก็จะมิใช่รู้ติด แต่ว่ารู้ปล่อยรู้วาง คือรู้กายแต่ไม่ยึดกาย ปล่อยวางกาย
รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ก็ไม่ติดไม่ยึด แต่ว่าปล่อยวาง เวทนา จิต ธรรม
และเมื่อสติตั้งเป็นสติปัฏฐาน ได้ความรู้ซึ่งเป็นตัวญาณหรือปัญญา ที่ปล่อยวางในกาย เวทนา จิต ธรรม ย่อมจะเป็นโพชฌงค์ขึ้นมา คือเป็นสติสัมโพชฌงค์ สติที่เป็นไปเพื่อรู้ จะได้ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรมเลือกเฟ้นธรรมที่จิตของตัวเอง อันเป็นไปเพื่อรู้ อะไรบังเกิดขึ้นก็จะรู้ทันทีว่านี่เป็นกุศลเป็นอกุศล นี่มีโทษไม่มีโทษ นี่เป็นธรรมดำ นี่เป็นธรรมะขาวโดยเปรียบเทียบ จะรู้ทันที เพราะมีวิจัยคือเลือกเฟ้นบังเกิดขึ้นที่จิต ด้วยอำนาจของสติที่บริสุทธิ์
แต่เพราะเหตุที่ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นกิเลสจึงโผล่ขึ้นมาได้ แม้ในขณะที่กำลังปฏิบัติ แต่เมื่อกิเลสโผล่ขึ้นมาก็รู้ทันทีว่านี่กิเลส วิริยะก็จะละได้ แต่เมื่อสติสมาธิโผล่ขึ้นมาก็จะรู้ทันทีว่านี่เป็นสตินี่เป็นสมาธิ และวิริยะก็จะรักษาเพิ่มพูน ทำให้จิตนี้บริสุทธิ์เพราะถูกขัดเกลาให้ละส่วนเศร้าหมอง ความปภัสสรคือผุดผ่องของจิตก็ปรากฏ
ก็จึงปรากฏเป็นปีติความอิ่มใจ เป็นธรรมปีติอิ่มใจในธรรม คือในสติในปัญญาพร้อมทั้งในสมาธิที่บังเกิดขึ้น ปัสสัทธิสงบกายใจก็บังเกิดขึ้น จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ขึ้น ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แต่ก็ปล่อยวางกายเวทนาจิตธรรม ไม่ยึดถือ สงบอยู่ภายใน จึงได้อุเบกขา จิตจึงว่างเพราะไม่ยึดกาย ก็ว่างจากกาย ไม่ยึดเวทนา ไม่ยึดจิต ไม่ยึดธรรม ก็ว่างจากเวทนา จากจิต จากธรรม ว่างสงบอยู่ภายใน สว่างอยู่ในภายใน ตื่นอยู่ในภายใน ไม่ออกมาข้างนอกรับอารมณ์ทั้งหลาย
ข้อว่าจิตอ่อนควรแก่การงาน
จิตที่ตั้งมั่นดั่งนี้เป็นตัวสมาธิที่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยอุเบกขาที่บริสุทธิ์ ก็เป็นอันว่าวางกาย วางเวทนา วางจิต วางธรรม จิตที่เป็นสมาธิ อุเบกขา สัมปยุตกันอยู่ดังนี้แหละที่เป็นจิตอ่อนควรแก่การงาน คือควรแก่วิปัสสนากรรม กรรมคือวิปัสสนาที่จะรู้แจ้งเห็นจริงต่อไป ฉะนั้นจิตที่ประกอบด้วยสมาธิด้วยอุเบกขาอันบริสุทธิ์นี้ จึงกำหนดทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ก็จะปรากฏสภาวทุกข์ขึ้นในความรู้ ว่าขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าคือรูปกายอันนี้ เวทนาก็คือเวทนาที่อาศัยรูปกายอาศัยจิตบังเกิดขึ้น สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สังขารคือความคิดปรุงหรือปรุงคิด แต่ในขั้นนี้ก็คืออุเบกขากับสมาธิ และเป็นตัวสังขาร
วิญญาณก็คือตัวรู้ ตัวรู้ที่มโนคือใจ กับธรรมะ คือสมาธิอุเบกขาที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ประกอบกันอยู่ ก็ย่อมจะได้วิญญาณคือตัวรู้ รู้อยู่ในภายใน และก็ย่อมจะได้ความรู้ที่เป็นเวทนาสัญญาสังขารดังกล่าว ทั้งหมดก็รวมเป็นนามธรรมซึ่งประกอบอยู่กับรูปธรรมอันนี้ ทั้งหมดนี้ต้องแก่ ต้องเกิดต้องแก่ต้องตาย ต้องประกอบกับต้องมีโสกะ ความโศก ปริเทวะ ความคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจความคับแค้นใจ ต้องประจวบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ต้องพบกับความปรารถนาไม่ได้สมหวัง
ทั้งหมดนี้ก็ปรากฏอยู่ที่รูปกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เอง ไม่ใช่ปรากฏที่อื่น ก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่แหละ เป็นสิ่งที่เกิด แก่ ตาย เป็นสิ่งที่เป็นตัวโศกทุกข์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ประจวบ เป็นสิ่งที่พลัดพราก เป็นสิ่งที่ปรารถนาไม่สมหวังต่างๆ ก็อยู่ที่รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้เอง
วิปัสสนาภูมิ
และอาการที่เป็นทั้งหมดนี้สรุปเข้ามาแล้ว ก็คือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น ภาวะเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ก็ปรากฏขึ้นว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้ ก็จะเห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นสังขาร เห็นวิญญาณ ที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อขันธ์ ๕ นี้ปรากฏ อันนี้แหละเป็นตัววิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา
เหมือนอย่างดูนาฬิกา เห็นหน้าปัทม์นาฬิกา เห็นตัวเลขบอกชั่วโมงนาที เห็นเข็มยาวเข็มสั้นที่ชี้เวลาของชั่วโมงนาที หรือแม้ถึงวินาที หน้าปัทม์ที่บอกเวลากับเข็มสั้นยาวเหล่านี้ ก็เท่ากับขันธ์ ๕ เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว ลักษณะที่เป็นไปของขันธ์ ๕ คือเกิดก็จะปรากฏ ดับก็จะปรากฏ เหมือนดูนาฬิกาเมื่อพบหน้าปัทม์ดังกล่าว ก็จะเห็นเข็มสั้นยาวนั้นเคลื่อนไปอยู่เสมอตามเวลา เป็นอดีตเป็นปัจจุบันเป็นอนาคต ที่ผ่านมาแล้วก็เป็นอดีต กำลังเป็นอยู่ก็ปัจจุบัน ข้างหน้าก็เป็นอนาคต และอนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันก็เป็นอดีต ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นความเกิดความดับของขันธ์ ๕ จึงปรากฏตามที่เป็นไปจริงของขันธ์ ๕
ดั่งนี้เรียกว่าเป็น การปฏิบัติเพื่อเห็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ทุกขสัจจะก็จะปรากฏแจ่มชัดขึ้น ทั้งนี้จะต้องมีอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ ๒ ข้อข้างหลังนั่นแหละ รวมกันอยู่เป็นหลัก และเมื่อได้โพชฌงค์ ๒ ข้อนี้ มีอุเบกขาประกอบด้วยสมาธิที่บริสุทธิ์ ที่ปล่อยวาง ไม่ยึดถือกายเวทนาจิตธรรม ก็เป็นโอกาสที่จิตจะกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตรัสสอนมาแล้วในขันธปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยขันธ์นั้น
แต่ว่าข้อที่ตรัสสอนไว้ที่ได้เรียนได้ฟังมาแต่เดิมนั้นเป็นปริยัติ แต่เมื่อมาปรากฏในขั้นที่ได้สมาธิอุเบกขา ขันธ์ ๕ ก็จะมาปรากฏตามที่เป็นจริง ที่ตนเอง และลักษณะของขันธ์ ๕ ที่เกิดดับก็จะปรากฏตาม เหมือนอย่างเมื่อเห็นเข็มนาฬิกา เห็นหน้าปัทม์ก็จะเห็นเข็มสั้นยาวนั้นเคลื่อนไปอยู่เสมอ เวลาก็เป็นอดีตปัจจุบันอนาคตอยู่ตลอดเวลา ความเกิดความดับก็ปรากฏ ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติที่ทำให้เห็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ จะเห็นได้ก็จะต้องได้อุเบกขา ได้สมาธิในสัมโพชฌงค์นั้นก่อน และการที่จะมาปฏิบัติกำหนดจิตพิจารณาขันธ์ ๕ จึงจะเป็นไปได้ ทุกขสัจจ์จึงจะปรากฏ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป