แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสังฆานุสสติ อนุสสติคือสติที่ระลึกถึงพระสงฆ์ สืบต่อจากพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติที่ได้แสดงมาแล้ว นำสติปัฏฐาน อันเป็นข้อปฏิบัติทางจิตตภาวนาอบรมจิต อันเป็นหลักสำคัญที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปสังฆะ หรือ สงฆ์ ที่เราเรียกกันว่าพระสงฆ์ อันหมายถึงรัตนะ หรือสรณะที่ ๓ ต่อเนื่องมาจากพระพุทธะและพระธรรมะ มาจากคำที่สวดกันอยู่ในสังฆานุสสติว่า ภควโต สาวกสังโฆ ที่แปลว่าสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
สาวกแปลตามศัพท์ว่า ผู้ฟัง คือ ศิษย์ สงฆ์ก็มาจากสังฆะ ที่แปลว่า หมู่ สาวกสังโฆ ก็แปลว่าหมู่แห่งสาวก คือผู้ฟังหรือศิษย์นั้นเอง และคำว่าสังฆะหรือสงฆ์ที่แปลว่าหมู่นี้ ก็ใช้ในความหมายทั่วไปด้วย เช่นหมู่นกก็เรียกว่า สกุณะสังโฆ ที่แปลว่าหมู่แห่งนก ส่วนในทางพระพุทธศาสนาก็นำมาใช้ถึงหมู่แห่งสาวก ผู้ฟัง คือศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือพระพุทธเจ้า
สรณะ ๒
โดยที่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม เมื่อยังไม่ได้เสด็จจาริกไปทรงสั่งสอน ก็มีเพียงรัตนะ ๒ หรือสรณะ ๒ อันได้แก่พระพุทธเจ้า และพระธรรม ฉะนั้น จึงมีแสดงไว้ในพุทธประวัติว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ยังมิได้ทรงสั่งสอน ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าโดยได้พบพระพุทธเจ้า ได้ความเลื่อมใสในพระองค์ ก็เปล่งวาจาถึงพระองค์ คือพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะที่แปลว่าที่พึ่ง คือถึงสรณะ ๒
พิจารณาดูว่าผู้ที่ถึงสรณะ ๒ นั้น ได้รู้จักพระธรรมอย่างไร ก็ได้มีแสดงไว้ต่อมาที่ทำให้จับความได้ว่า ผู้ที่ได้พบเห็นพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น ได้เห็นพระฉวีวรรณ พระอากัปกิริยาที่ผ่องใส สงบ ก็ทำให้นึกว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ได้มีคุณวิเศษทางจิตใจ ซึ่งท่านได้บรรลุแล้ว และคุณวิเศษทางจิตใจนั้นเขาผู้นั้นเองก็ไม่รู้จักว่าอะไร แต่เข้าใจว่าต้องมีจึงทำให้มีพระฉวีวรรณผ่องใส มีพระอากัปกิริยาสงบ มีแววพระเนตรที่บริสุทธิ์แจ่มใส แสดงถึงความที่เต็มไปด้วยพระมหากรุณา (เริ่ม) อาการเหล่านี้เขาก็เข้าใจรวมเข้าในคำว่าธรรม หรือธรรมะ ซึ่งท่านผู้นี้จะต้องมีธรรมะอันเป็นคุณวิเศษอยู่ในจิตใจอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น แม้จะยังไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ได้ฟังธรรมะ ยังไม่รู้จักธรรมะ เมื่อเห็นพระองค์เข้าอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในจิตใจแล้ว ว่าต้องมีของวิเศษอยู่ในจิตใจ คือคุณวิเศษอยู่ในจิตใจหรือธรรมะ รวมเรียกว่าธรรมะนั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงได้เปล่งวาจาถึงพระองค์และพระธรรมที่ทรงมีอยู่ในจิตใจนั่นแหละ เป็นสรณะคือที่พึ่ง ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกทีแรก จึงได้มีสรณะ ๒ ได้แก่พระพุทธเจ้า และพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ และต่อมาเมื่อได้เสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนา ตั้งต้นแต่ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นฤษี ๕ องค์ และเมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาจบ ท่านโกณฑัญญะที่เป็นหัวหน้าก็ได้ดวงตาเห็นธรรม อันเรียกว่าธรรมจักขุ หรือธรรมจักษุ คือได้เกิดความรู้ขึ้นว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ที่ท่านแสดงว่าท่านสำเร็จเป็นโสดาบันบุคคล ซึ่งเป็นอริยบุคคลชั้นแรกในพุทธศาสนา และท่านได้ขออุปสมบทจากพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ประทานพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยพระวาจาว่า เอหิภิกขุ จงเป็นภิกษุมาเถิด
ปฐมเทศนา
เพราะฉะนั้น ในวันที่ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา และท่านพระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้นเป็นองค์แรกนั้น จึงได้นับถือว่าเป็นวันเริ่มบังเกิดขึ้นของพระสงฆ์ แต่อันที่จริงนั้น เรียกว่าเป็นวันเริ่มเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่เป็นพระสงฆ์ที่สมบูรณ์ เพราะคำว่าสงฆ์แปลว่าหมู่ ท่านโกณฑัญญะองค์เดียวยังไม่เป็นหมู่ เพราะเป็นเพียงองค์เดียว หมู่จะต้องตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป และถ้าในวินัยบัญญัติก็ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป และคุณวิเศษที่ท่านได้นั้นคือธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม ก็ทำให้ท่านได้สำเร็จเป็นโสดาบันบุคคล ก็ยังเป็นอริยบุคคลชั้นแรก ยังละกิเลสไม่ได้หมด เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นวันที่เริ่มบังเกิดขึ้นของพระสงฆ์ได้ แต่ยังไม่เป็นพระสงฆ์ที่สมบูรณ์ และในวันนั้นก็คือวันอาสาฬหบูชา ที่เราทั้งหลายได้กระทำการบูชา อันตรงกับวันเพ็ญ เดือนอาสาฬหะหรือเดือนแปด และต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมอีก ๔ ท่าน จนได้ดวงตาเห็นธรรมทั้งหมดแล้ว
คือเป็นโสดาบันด้วยกันหมดแล้ว รวมทั้ง ๕ องค์ จึงได้ทรงแสดงทุติยเทศนา เทศนาที่ ๒ อันเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร พระสูตรที่แสดงลักษณะเครื่องกำหนดหมาย ขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน พระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น ซึ่งได้อุปสมบทเป็นภิกษุทั้งหมดแล้ว จึงได้มีจิตพ้นจากอาสวะทั้งสิ้น เป็นขีณาสวะคือเป็นผู้มีอาสะสิ้นแล้ว สิ้นกิเลสทั้งหมดแล้ว เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ซึ่งตรงกับวันแรม ๕ ค่ำแห่งเดือนอาสาฬหะคือเดือน ๘ ที่เราทั้งหลายฝ่ายบรรพชิตได้ไปสวดมนต์กันที่วัดพระแก้วในวันแรม ๕ ค่ำนั้น เป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย
เพราะพระองค์ได้ตรัสสั่งเอาไว้เมื่อได้เสด็จปริวัตรจากบรรพชิตเพศ ออกไปเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๔ เมื่อถึงวาระเข้าพรรษา พระเถระ พระภิกษุที่เป็นสัทธิวิหารริกของพระองค์ท่าน ได้เคยทำวัตรเข้าพรรษาคือนำสักการะถวาย ดังที่เราทั้งหลายได้กระทำกัน แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงปริวัตรไปเป็นฆราวาสแล้ว จึงไม่เป็นฐานะที่จะไปถวายทำวัตรเข้าพรรษาได้ จึงได้ตรัสสั่งไว้ว่าเมื่อสัทธิวิหาริกทั้งหลาย ศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระองค์ ก็ให้เข้าไปทำวัตรสวดมนต์ที่วัดพระแก้วในวันแรม ๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่ได้บังเกิดพระสงฆ์ขึ้นอย่างสมบูรณ์
วันอาสาฬหะบูชา
และเมื่อบังเกิดพระสงฆ์ขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอันว่ารัตนะทั้ง ๓ สรณะทั้ง ๓ ได้มีครบบริบูรณ์ขึ้นแล้วในโลก ตั้งแต่วันแรม ๕ ค่ำเดือนอาสาฬหะนั้น เพราะว่าได้เป็นสังฆะคือหมู่แห่งสาวก คือผู้ฟังของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ตาม อันเรียกว่าอนุพุทธะคือผู้ที่รู้ตาม ตรัสรู้ตามพระองค์ เป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลส เป็นพระอรหันต์ขึ้นเหมือนดั่งพระองค์ เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระอรหันต์ขึ้น ๖ รูป ๖ พระองค์ ในโลกในวันแรม ๕ ค่ำนั้น คือพระพุทธเจ้า ๑ และพระเบญจวัคคีย์อีก ๕ ก็รวมเป็น ๖ องค์ด้วยกัน เพราะฉะนั้นพระสงฆ์จึงเกิดขึ้นสมบูรณ์ตั้งแต่ในวันนั้นมา และสงฆ์ที่สมบูรณ์นี้จึงหมายถึงสงฆ์ที่มีอาสวะสิ้นแล้ว คือสิ้นกิเลสดองสันดานทั้งหมด
แต่แม้เช่นนั้นทางพระพุทธศาสนาก็ได้แสดงถึงสงฆ์ไว้ว่ามี ๔ คู่ นับเรียงบุคคลก็เป็น ๘ อันได้แก่ท่านผู้ที่ได้ฟังธรรมเป็นสาวกคือเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมขึ้นเป็นชั้นที่เรียกว่า ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล นี่เป็นคู่หนึ่ง ที่สูงขึ้นไป ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค ตั้งอยู่ในสกทาคามีผล คู่หนึ่ง ที่สูงขึ้นไป ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค ตั้งอยู่ในอนาคามีผล คู่หนึ่ง ที่สูงสุด ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ตั้งอยู่ในอรหัตตผล คู่หนึ่ง จึงเป็น ๔ คู่ และเมื่อนับเรียงเป็นบุคคลก็เป็น ๘
และเมื่อนับเป็นบุคคลผู้บรรลุมรรคผลที่เป็น ๔ คู่นั้น โดยที่ไม่แยกเป็นมรรคเป็นผลดังกล่าว ก็นับได้ ๔ คือเป็นโสดาบัน ๑ เป็นสกทาคามีบุคคล ๑ เป็นอนาคามี ๑ เป็นอรหันต์ ๑ ก็เป็น ๔ และที่แบ่งเป็น ๔ ชั้นดั่งนี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายตรัสไว้ ว่าแบ่งตามการละกิเลสได้บางส่วน และก็ละได้เพิ่มมากขึ้นๆ จนถึงละได้หมดโดยลำดับ เป็นพระขีณาสพ คือเป็นผู้สิ้นกิเลสที่ดองสันดานทั้งสิ้น คือเป็นพระอรหันต์เป็นที่สุด
เอหิภิกขุอุปสัมปทา
เพราะฉะนั้นพระสงฆ์นั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่บังเกิดมาในทีแรก จึงเริ่มมาตั้งแต่ได้ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม และก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ด้วยวิธีที่ตรัสเรียกว่าเอหิภิกขุ จงเป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุแล้ว ในเบื้องต้น ซึ่งวิธีบวชในชั้นแรกนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ที่มีในชั้นแรกจึงมีความเป็นมาดั่งนี้ แล้วก็เป็นภิกษุทั้งหมด คือบวชเข้ามาทั้งหมด
แต่ว่าในการรับรองว่าเป็นสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงรับรองด้วยการละกิเลสเป็นข้อสำคัญ เมื่อละกิเลสได้ตั้งแต่บางส่วนจึงนับว่าเป็นสงฆ์ ซึ่งการละกิเลสได้บางส่วนนั้น ก็ได้แก่การละกิเลสของบุคคล ที่เรียกว่าโสดาบันนั้นเอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเบื้องต้น แต่ว่าก็มุ่งเอาการละกิเลสนี้เป็นประการสำคัญ และต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแผ่พระพุทธศาสนา เสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมะสั่งสอนแก่เวไนยนิกร คือหมู่ชนผู้ที่พึงแนะนำได้ ก็ได้มีผู้ที่ได้ฟังธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมขึ้นโดยลำดับมา และท่านผู้ที่ได้บรรลุธรรมในขั้นเป็นโสดาบันนั้น เมื่อได้บรรลุแล้วก็ไม่ออกบวช ยังอยู่ครองเรือนอยู่ก็มี ออกบวชก็มี และแม้ผู้ที่เป็นสกทาคามีบุคคลก็เช่นเดียวกัน ออกบวชก็มี ครองเรือนอยู่ก็มี ผู้ที่ได้บรรลุเป็นอนาคามีบุคคลแล้วที่ยังไม่ออกบวช ยังอยู่ในบ้านเรือนก็มี
แต่สำหรับที่เป็นอนาคามีบุคคลซึ่งยังไม่ออกบวชนั้นก็มีแสดงว่า เพราะยังมีภาระที่จะเลี้ยงดูท่านบุพการี คือมารดาบิดาของตนอยู่ จึงยังไม่ออกบวช ส่วนที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น โดยมากบรรลุเมื่อออกบวชแล้ว แต่ก็มีอยู่ที่บรรลุเมื่อยังเป็นฆราวาส แต่เมื่อบรรลุแล้วก็ออกบวชในวันนั้น เพราะเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่อยู่ในฐานะที่จะอยู่ในบ้านในเรือน ต้องออกบวช
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้เป็นอริยะบุคคลซึ่งยังไม่ออกบวช ก็นับว่าเป็นคฤหัสถ์ ยังอยู่ครองเรือน หรืออยู่ในบ้านเรือน แต่แม้เช่นนั้นเมื่อถือการนับว่าละกิเลสได้บางส่วนขึ้นไปแล้ว ก็นับเป็นสงฆ์ได้ ท่านที่เป็นคฤหัสถ์เหล่านั้นก็นับเข้าในสาวกสังโฆ หมู่แห่งสาวกผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้าได้ เพราะว่านับรวมอยู่ในบุคคล ๔ คู่ ๘ จำพวก ดั่งที่กล่าวมา และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนา ต่อมาก็ได้มีผู้ที่เข้ามาขอบวชเป็นภิกษุสามเณร และภิกษุสามเณรเหล่านั้นก็ได้ปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน แต่ผู้ที่เข้ามาบวชเมื่อมีมากเข้า ก็มีผู้ที่ประพฤติสิ่งอันไม่สมควรแก่ความเป็นสมณะ พระองค์จึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับที่ผู้เข้าบวชปฏิบัติ และผู้ที่ออกบวชเป็นภิกษุจึงต้องปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัตินั้น ต่อมาเมื่อมีสามเณรก็มีวินัยบัญญัติสำหรับสามเณรที่ผ่อนลงมา
และต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุเถระให้อุปสมบทได้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา อุปสมบทด้วยการถึงสรณะ ๓ และต่อมาอีกเมื่อมีภิกษุมากขึ้น ก็ตรัสให้สงฆ์อันหมายความว่าหมู่แห่งภิกษุ ที่ได้รับอุปสมบทตามพระวินัยนี้ประชุมกันให้การอุปสมบท นับกำหนดว่าตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีอุปสมบทโดยสงฆ์ดังกล่าว อันเรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา อุปสมบทด้วยญัติเป็นที่ ๔ คือตั้งญัติหนหนึ่ง สวดประกาศอันเรียกว่าอนุสาวนาสามหนก็เป็น ๔ เที่ยว จึงสำเร็จเป็นภิกษุซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
สมมติสงฆ์ อริยะสงฆ์
และสำหรับในสังฆกรรมอย่างอื่นก็โปรดให้ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ประชุมกันเรียกว่าเป็นสงฆ์ประกอบสังฆกรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดมีสงฆ์ขึ้นอีกตามพระวินัย อันเรียกว่าการกสงฆ์ คือสงฆ์ที่ปฏิบัติสังฆกรรม หรือวินัยสงฆ์ สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ หรือที่เรียกกันโดยมากว่าสมมติสงฆ์ สงฆ์โดยสมมติ อันคำว่าสงฆ์โดยสมมตินี้ไม่ใช่หมายความว่า “สักแต่ว่า” หรือ “เหมือนอย่างว่า” เหมือนอย่างที่เราพูดกันในภาษาไทยว่า “สมมุติว่า”
คือไม่ใช่เป็นจริง ตี๊ต่างว่า เหมือนอย่างว่า แต่สมมติสงฆ์ในที่นี้หมายถึงสงฆ์ที่บัญญัติขึ้นมาตามพระวินัย คือคำว่า “สมมติ” นั้นแปลว่ามีมติร่วมกัน หรือมีมติพร้อมกัน มาจากคำว่า “สัง” คำหนึ่ง “มติ” อีกคำหนึ่ง คำว่ามตินั้นก็พูดกันในภาษาไทย เช่นว่าที่ประชุมลงมติว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเมื่อมีมติพร้อมกันก็เป็นอันว่าตกลงตามนั้น หรือที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นเช่นว่าครึ่งหนึ่ง หรือกว่าครึ่งอะไรเป็นต้น ได้มติอย่างนั้นก็ชื่อว่าตกลงกันอย่างนั้น และเมื่อตกลงกันอย่างนั้นก็แปลว่าพร้อมกัน ก็ต้องรับรองทั้งหมด
ก็เรียกว่า“สัมมติ” คือสมมติ คือมีมติร่วมกัน มีมติพร้อมกัน สมมติสงฆ์ในที่นี้ จึงมีความหมายความว่าหมู่แห่งภิกษุที่ประชุมกันปรึกษากัน แล้วก็มีมติพร้อมกันทั้งหมดรับรองในกรรมที่กระทำนั้น เช่นประชุมกันประกอบอุปสมบทกรรม พระที่ประชุมทั้งหมดนั้นตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ต้องมีมติเห็นชอบพร้อมกันรับรอง โดยไม่มีรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านขึ้นมา
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า“สมมติสงฆ์” สงฆ์โดยสมมติ คือสงฆ์ที่จะมีมติร่วมกัน รับรองสังฆกรรมนั้นๆ และก็เป็นสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติแต่งตั้งขึ้นตามพระวินัย แต่งตั้งขึ้นนั้นก็เป็นสมมติอย่างหนึ่งคือรับรอง เป็นที่รับรองพร้อมกัน เพราะฉะนั้น จึงได้บังเกิดมีคำว่า “สังฆะ” นี้ขึ้นเป็น ๒ อย่าง คือเป็น อริยะสงฆ์ อย่างหนึ่ง เป็น วินัยสงฆ์ หรือ สมมติสงฆ์ อย่างหนึ่ง อริยสงฆ์นั้นนับเอาการละกิเลสได้เป็นประการสำคัญ ผู้ที่ละกิเลสได้ตั้งแต่บางส่วนขึ้นไปจนถึงหมดสิ้น จะบวชเป็นภิกษุสามเณรก็ตาม จะเป็นฆราวาสก็ตาม ก็นับชื่อว่าเป็นอริยสงฆ์ได้
แต่สำหรับสมมติสงฆ์หรือวินัยสงฆ์นั้นต้องเป็นภิกษุที่อุปสมบทโดยถูกต้อง และมาประชุมกันตามที่มีวินัยกำหนด บางอย่างก็ ๔ รูป บางอย่างก็ ๕ รูป บางอย่างก็มากกว่านั้น ปรึกษาหารือกัน สวด ปรึกษาหารือกัน และเมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ชื่อว่ามีมติร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ใช้ได้ ก็เป็นวินัยสงฆ์หรือสมมติสงฆ์ จึงมีสงฆ์ ๒ อย่างดั่งนี้ แต่ว่าสงฆ์ที่เป็นรัตนะหรือเป็นสรณะนั้นมุ่งถึงอริยสงฆ์ที่มี ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘
สติปัฏฐานโดยสังเขป
อนึ่ง วันนี้เป็นวันที่จะได้เริ่มมีการอธิบายสวดสติปัฏฐานสูตรใหญ่ อันเรียกว่ามหาสติปัฏฐาน อันเป็นข้อปฏิบัติทางจิตตภาวนา การอบรมจิตทางสมาธิทางปัญญาประกอบกันไป (เริ่ม ) เพราะฉะนั้นจึงจะอธิบายคำว่าสติโดยสังเขป สตินั้นคือความระลึกความกำหนดของจิตในสิ่งที่ต้องการระลึกต้องการกำหนด โดยที่รวมจิตเข้ามากำหนด รวมจิตเข้ามาระลึก เมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานก็รวมจิตเข้ามากำหนด รวมจิตเข้ามาระลึก ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ซึ่งจะมีการอธิบายต่อไป
และในวันนี้ก็ให้ปฏิบัติทำสติกำหนดระลึกในกาย ส่วนที่เป็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นำจิตเข้ามาตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ตามอาการที่ลมหายใจกระทบ คือที่ปลายจมูก เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้ามากระทบที่ปลายจมูก แล้วก็เข้าไป เหมือนอย่างผ่านอุระคือทรวงอกไปจนถึงอุทรคือท้องที่พองขึ้น และหายใจออกก็เหมือนอย่างออกผ่านอุทรผ่านอุระคือหน้าอก มาออกที่ปลายจมูก ให้มีสติกำหนดอยู่ รู้อาการของลมหายใจที่เข้าออกดั่งนี้
และเมื่อได้มีสติกำหนดอาการดังกล่าวหลายครั้งจนรู้ทางของลม ก็หยุดที่จะส่งจิตเข้านำจิตออกดังกล่าว มาหยุดอยู่ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ เป็นการรวมใจเข้ามา และในการรวมใจเข้ามานี้โดยง่ายๆ ก็ใช้พุทโธ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจรวมอยู่ ดั่งนี้เป็นสมาธิ กำหนดให้รู้อยู่ในภายในดั่งนี้เป็นเบื้องต้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป