แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อันวิญญูคือผู้รู้พึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ธรรมะอันประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้ง ๖ นี้ ย่อมรวมเข้าในสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นของจริงของแท้ อันปรากฏที่จิตนี้เอง และจิตนี้เมื่อมีธรรมะปรากฏขึ้นในจิตก็เรียกว่าเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ คือเป็นจิตที่รู้ แต่ว่ารู้ที่ถูกต้องไม่ใช่รู้ผิดรู้หลง เป็นความรู้ที่รู้ตามพระพุทธเจ้า ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เมื่อเห็นชอบจึงเป็นวิญญูคือผู้รู้
อันความรู้ตามพระพุทธเจ้านี้ ย่อมต้องอาศัยการฟัง หรือการอ่าน การท่องบ่นจำทรง การพินิจพิจารณาที่เรียกว่าเพ่งด้วยใจ คือเพ่งพินิจ คือดู ดูธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ดูธรรมะอันปรากฏขึ้นที่จิตและขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็นอันได้แก่ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น อันหมายถึงทำความเข้าใจให้ถูกต้องดั่งนี้ จึงเป็นสัมมาทิฏฐิเห็นชอบขึ้น และเมื่อเห็นชอบขึ้นจึงเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้
ฉะนั้น การอบรมจิตนี้ให้เป็นจิตเพ่งพินิจเพื่อรู้ จึงเป็นการปฏิบัติที่จะทำให้เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ขึ้น รวมเข้าก็ดังกล่าว คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แสดงทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ และสมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ มาโดยลำดับ และจึงมาถึงทุกขนิโรธความดับทุกข์ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่เรียกสั้นว่ามรรค
และพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้วว่าทุกข์คืออะไร สมุทัยคืออะไร และในข้อสมุทัยนั้นก็ได้แสดงแล้ว ได้ทรงยกเอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ขึ้นมาเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ต่างๆ และก็ได้ทรงแสดงต่อไปถึงทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ ว่าคือดับตัณหา โดยสำรอกตัณหาออกได้สิ้นเชิง สละตัณหาได้สิ้นเชิง สละคืนตัณหาได้สิ้นเชิง พ้นตัณหาได้สิ้นเชิง และไม่มีอาลัยพัวพันด้วยตัณหาทั้งหมด ดั่งนี้คือความดับทุกข์
ได้ตรัสแสดงมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็ได้แก่ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือญาณหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ สัมมาสังกัปปะดำริชอบ ก็คือดำริออกจากกาม ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน สัมมาวาจาเจรจาชอบ ก็คือเว้นจากพูดเท็จพูดส่อเสียดพูดคำหยาบพูดสำรากเพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะการงานชอบ ก็คือเว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เว้นจากประพฤติผิดในกาม หรือเว้นจากอพรหมจริยกิจ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือละมิจฉาอาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ สัมมาวายามะเพียรชอบ ก็คือเพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดแล้วให้ตั้งอยู่ และปฏิบัติให้บริบูรณ์ต่อไป สัมมาสติ ระลึกชอบก็คือระลึกกำหนดกายเวทนาจิตธรรม อันเรียกว่าสติปัฏฐาน สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ ก็คือตั้งใจอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยทำจิตใจให้สงบจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย โดยปฏิบัติให้เป็น ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ อุปจารสมาธิ สมาธิที่เฉียดเข้าไปใกล้ที่จะตั้งมั่นแน่วแน่ จนถึง อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น
ปัญญา ศีล สมาธิ
มรรคมีองค์ ๘ นี้ ย่อเข้าก็เป็น สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา โดยที่ตรัสแสดงปัญญาสิกขาก่อน คือสัมมาทิฏฐิเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะดำริชอบ ก็เป็นปัญญาสิกขา จากนั้นทรงแสดงสีลสิกขา คือสัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ แล้วจึงทรงแสดงจิตสิกขา คือสมาธิ ได้แก่สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติ สติระลึกชอบ สัมมาสมาธิ สมาธิตั้งใจตั้งมั่นชอบ ดั่งนี้
อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ อันวิญญูคือผู้รู้พึงเห็นเอง และเห็นได้ เมื่อเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ ด้วยปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นั้น โดยไม่จำกัดกาลเวลา และวิญญูคือผู้รู้นี้เองได้เรียกตนเองนี่แหละให้มาดู ให้มาดูสัจจะทั้ง ๔ นี้ และวิญญูคือผู้รู้นี้เองที่น้อมเข้ามา คือน้อมจิตมารู้สัจจะ หรือน้อมสัจจะเข้าสู่จิต และวิญญูคือผู้รู้นี้เองที่รู้จำเพาะตน จิตนี้เองจะพึงเป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ธรรมคุณทั้งหมดนี้ก็มาปรากฏขึ้นที่จิตนี้ ก็คือสัจจะทั้ง ๔ นั้นเอง จิตนี้เองจะเป็นผู้รู้จักทุกข์
ตัณหาคือเหตุให้เกิดทุกข์
เพราะทุกข์ทั้งปวงนั้นย่อมปรากฏอยู่ที่กายและใจนี้เอง และปรากฏอยู่ที่กายและใจของทุกๆ คน ปรากฏอยู่ในโลกทั้งสิ้น จิตนี้เองรู้จักตัณหาคือเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะเหตุว่าตัณหานี้ย่อมปรากฏขึ้นที่จิต คือจิตนี้เองดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย ที่มาปรากฏทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ โดยที่เมื่อตาเห็นรูปอะไร เสียง..หูได้ยินเสียงอะไร จมูกได้ทราบกลิ่นอะไร ลิ้นได้ทราบรสอะไร กายได้ถูกต้องโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องอะไร มโนคือใจได้รู้ได้คิดเรื่องอะไร
จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ และในเรื่องราวที่มาต่อเข้ากับตาหูเป็นต้นนั้น และจิตนี้เองก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในความรู้ต่างๆ ของจิตที่ปรากฏขึ้นเป็นอันดับ คือในความรู้ที่ปรากฏเป็นการเห็นการได้ยิน การได้ทราบ การได้รู้ได้คิด และจิตนี้เองก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในสัมผัสคือสิ่งที่มากระทบจิต ก็ได้แก่อายตนะภายนอกอายตนะภายในดังกล่าว
ประกอบกับความรู้ของจิตที่เป็นตัวเห็นตัวได้ยินนั้น อันเรียกว่าวิญญาณ ก็มาเป็นสัมผัสกับจิต จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในสัมผัสนั้น ก็มาปรากฏเป็นความรู้ของจิตที่ยิ่งขึ้นเป็น รู้เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเรียกว่าเวทนา จิตก็ดิ้นรนกระสับกระส่ายไปในเวทนา แล้วมาปรากฏเป็นสัญญาคือความรู้จำ จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะ จำเรื่องราวเหล่านั้นได้ จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในความจำเหล่านั้น
แล้วมาปรากฏเป็นตัวความคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในตัวความคิดปรุงหรือปรุงคิดเหล่านั้น จึงมาปรากฏเป็นตัณหาขึ้นเต็มรูปเป็นความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในรูปเป็นต้น จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปกับตัณหาเหล่านั้น แล้วก็มาปรากฏเป็นวิตกความตรึกนึกคิดต่อไป เป็นวิจารความตรองต่อไป จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในวิตกวิจารเหล่านั้น
ทางบังเกิดขึ้นของตัณหา
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะจับทางบังเกิดขึ้นของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก คืออาการที่จิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปเป็นตัณหาชนิดต่างๆ เริ่มมาจากตาหูเป็นต้นที่มาประสบกับรูปเสียงเป็นต้น มาเป็นอาการรู้ของจิตต่างๆ ดังที่กล่าวมา ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งเหล่านี้ตัณหาก็ไม่ปรากฏขึ้นมาได้ ต่อเมื่อมีสิ่งเหล่านี้เช่นว่าตาเห็นรูปหูได้ยินเสียง ตัณหาจึงปรากฏขึ้นมาได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้น เป็นสิ่งที่ไปกับนันทิคือความเพลิดเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี มีความเพลิดเพลินยินดียิ่งขึ้นในอารมณ์นั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ ซึ่งมีทางบังเกิดขึ้นดังที่กล่าวมานั้น
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า ความเกิดขึ้นของตัณหานั้นย่อมตั้งต้นมาตั้งแต่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวที่มาประจวบกันของทุกๆ คน เรียกว่าเป็นต้น แล้วก็แล่นเข้ามาเหมือนอย่างไฟฟ้าที่แล่นไปตามสายไฟฟ้า ตัณหาก็เช่นเดียวกันย่อมแล่นไปตามสายของวิถีจิต อันเริ่มมาตั้งแต่ตาหูรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าวโดยลำดับ และปรกตินั้นสามัญชนทุกคนย่อมมีตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ เชื่อมต่อกันอยู่ดั่งนี้ และบรรดาสิ่งที่เชื่อมต่อเหล่านี้ตั้งต้นแต่ตาหูรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าวนั้น ก็รวมอยู่ในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์นั่นแหละ
เมื่อยังไม่ปฏิบัติให้เกิดปัญญา
แต่ว่าเมื่อยังไม่ปฏิบัติในมรรคให้เกิดปัญญา จิตนี้ยังเป็นจิตที่ยังมีหลง ถือเอาผิด ยังเป็นจิตที่ยังมีอวิชชา ยังมีโมหะ ฉะนั้นจึงได้หลงติดหลงหลงยินดี มีตัณหาวิ่งไปอยู่ในทุกข์ทั้งหลาย และเมื่อตัณหาวิ่งไปอยู่ในทุกข์ทั้งหลาย ตัณหานี้เองก็ยึดถือในสิ่งเหล่านี้ไปด้วย ว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นตัวตนของเรา และเมื่อยึดถือดั่งนี้ย่อมยึดถือในทางฝืนธรรมดา เพราะว่าธรรมดาของสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ ก็คือเกิดขึ้นดับไป แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มิใช่เป็นตัวเรา มิใช่เป็นของเรา ดังที่เรียกว่าอนิจจะคือไม่เที่ยงต้องเกิดดับ ทุกขะคือเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และเป็นอนัตตา มิใช่เป็นตัวตน ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา
แต่เมื่อตัณหาบังเกิดขึ้นก็ยึดถือ ต้องการให้เที่ยง ต้องการให้ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ต้องการให้เป็นตัวเราของเรา เป็นการฝืนคติธรรมดา ฉะนั้นเมื่อสิ่งทั้งหลายต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามคติธรรมดา จึงต้องเป็นทุกข์โศกต่างๆ เดือดร้อนต่างๆ ปรากฏเป็นทุกขเวทนาต่างๆ ตามที่เข้าใจกันว่าเป็นตัวทุกข์ก็คือทุกขเวทนา เหมือนอย่างคนทั่วไปเข้าใจทุกขเวทนาว่าเป็นทุกข์ อาการที่แสดงออกมาก็เป็นความเศร้าโศก ร้องไห้คร่ำครวญ นั่นเป็นทุกข์
(เริ่ม) แต่เมื่อตรงกันข้าม ประสบกับสิ่งที่เป็นที่รักต่างๆ ได้รับผลที่น่าปรารถนาพอใจอันมีอยู่ของกามทั้งหลาย เป็นความสดชื่น เป็นสุข เป็นการหัวเราะ เป็นการร่าเริง ก็เข้าใจว่าเป็นสุข เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ทำให้ตัณหาเจริญมากขึ้น เติบโตมากขึ้น ดิ้นรนไปในสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งหลายมากขึ้น ยึดถือมากขึ้น
ทุกข์คือต้องเกิดดับ
แต่ว่าในที่สุดนั้น สิ่งที่เป็นทุกข์ก็ต้องเป็นทุกข์ คือต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อหัวเราะแล้วก็ต้องร้องไห้ ต้องเป็นทุกข์ในที่สุดเหมือนกันหมด ผู้ที่เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้นั้นย่อมมองเห็นว่า ทั้งสิ่งที่น่าหัวเราะ ทั้งสิ่งที่น่าร้องไห้นั้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะทุกๆ อย่างนั้น ต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
เพราะฉะนั้นจึงไม่ยึดถือโดยที่เมื่อกำหนดได้ในความจริง เป็นวิญญูขึ้นมาด้วยการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าในศีลในสมาธิในปัญญา ย่อมมองเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง ที่เรียกว่าวิญญูคือรู้จักทุกข์ว่าเป็นทุกข์ รู้จักตัณหาคือสมุทัยว่าเหตุเกิดทุกข์ ไม่ใช่เหตุเกิดสุข รู้จักความดับตัณหาว่าเป็นความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่วางเฉยได้ ไม่ยึดถือในสิ่งที่เป็นทุกข์ ปล่อยวางได้
ความดับตัณหา
เพราะฉะนั้น ความดับตัณหาจึงบังเกิดขึ้น ตั้งแต่ตากับรูป หูกับเสียงเป็นต้นขึ้นมา ดับได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นนั้น เมื่อมาเป็นความรู้ทางใจในอารมณ์ซึ่งมาจากตากับรูปหูกับเสียงเป็นต้นนั้น มาเป็นวิญญาณที่เป็นการเห็นการได้ยิน เป็นสัมผัส เป็นเวทนา ที่ปรากฏเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง เป็นสัญญาจำได้หมายรู้ เป็นความคิดปรุง ปรุงคิด และเป็นตัณหาเอง เป็นวิตกเป็นวิจาร ย่อมไม่ยึดถือทั้งหมด จึงเป็นผู้ดับตัณหาได้ ปล่อยตัณหาได้ วางตัณหาได้ พ้นตัณหาได้ ไม่อาลัยพัวพันอยู่กับตัณหา ก็คือไม่อาลัยพัวพันอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งปวง มีตากับรูปหูกับเสียงเป็นต้นนั้น เป็นผู้รู้ รู้ที่ปล่อยได้วางได้
ความดับทุกข์
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นความดับทุกข์ รู้ที่เป็นเหตุปล่อยวางได้มากเท่าใด ก็ดับทุกข์ได้มากเท่านั้น รู้ที่เป็นเหตุปล่อยวางได้ในเรื่องอันใด ก็ดับทุกข์ในเรื่องอันนั้นได้ รู้และปล่อยวางได้สิบเรื่อง ก็ดับทุกข์ได้สิบเรื่อง รู้และปล่อยวางได้มากกว่านั้น ก็ดับทุกข์ได้มากกว่านั้น รู้และปล่อยวางได้ทั้งหมด ก็ดับทุกข์ได้ทั้งหมด ซึ่งความรู้นี้ อันทำให้เป็นวิญญูคือผู้รู้ ย่อมเกิดจากการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ คือศีลสมาธิปัญญา อันหมายความว่าต้องปฏิบัติให้ถึงปัญญา และการที่จะปฏิบัติให้ถึงปัญญาได้ ก็ต้องปฏิบัติให้ได้สมาธิ ให้ได้ศีล คือจะต้องมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ จึงจะถึงปัญญา
เหมือนอย่างมีดที่จะตัดไม้ตัดสิ่งทั้งหลาย ก็จะต้องมีคมมีด แต่ว่าคมมีดนั้นจะมีแต่คมเท่านั้นไม่ได้ จะต้องมีตัวมีด จะต้องมีด้ามมีดสำหรับถืออยู่พร้อม เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะใช้คมตัดไม้ หรือตัดสิ่งที่ต้องการตัดได้ ซึ่งส่วนที่คมนั้นก็มีอยู่ที่ส่วนหนึ่งของเหล็กเท่านั้น แต่ว่าส่วนที่เป็นตัวมีดประกอบด้วยด้ามนั้นมีเป็นอันมาก แต่ความสำคัญของมีดอยู่ที่คมที่จะตัด แต่จะเป็นมีดขึ้นมาได้ก็ต้องมีตัวมีด สันของมีดข้างหลังนั้นก็เป็นสันที่ทื่อ ตัดอะไรไม่ได้แต่ก็ต้องมี ด้ามก็ตัดอะไรไม่ได้แต่ก็ต้องมี ประกอบกันเป็นมีด
การปฏิบัติในไตรสิกขาต้องให้ถึงปัญญา
ศีลสมาธิปัญญานั้นก็เช่นเดียวกัน สมาธินั้น ถ้าลำพังสมาธิก็ได้แต่สงบ หรือสะกดกิเลสไว้ จะตัดกิเลสไม่ได้ เหมือนอย่างสันของมีดข้างหลัง ศีลนั้นก็เช่นเดียวกัน ก็ได้แต่สงบภัยสงบเวรทางกายทางวาจาทางใจ ก็เท่ากับด้าม แต่ว่าก็จำเป็นที่จะต้องมีทั้งหมด เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในไตรสิกขานั้น ต้องปฏิบัติให้ถึงปัญญา และก็จะต้องตั้งต้นแต่ศีล จะต้องมีสมาธิ และจะต้องมีปัญญา ต้องปฏิบัติศีลสมาธิให้ถึงปัญญา จะปฏิบัติในศีลก็ต้องให้ถึงสมาธิ และเมื่อปฏิบัติในสมาธิก็ต้องให้ถึงปัญญา เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นเครื่องตัดกิเลสได้ จะทำให้เป็นวิญญูคือเป็นผู้รู้ที่ปล่อยวางได้
เพราะฉะนั้นวิญญูคือผู้รู้รวมเข้ามาแล้ว ก็คือรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อปฏิบัติให้เป็นวิญญูขึ้นมาดั่งนี้ พระธรรมคุณจะปรากฏครบทุกบท จะได้ความรู้ขึ้นว่า โอหนอพระพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้จริง โอหนอพระธรรม พระธรรมเป็นสัจจะคือเป็นความจริง โอหนอพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นผู้ที่ปฏิบัติดีจริง คือเป็นผู้ปฏิบัติให้เป็นวิญญูขึ้นมา จึงจะเป็นพระสงฆ์ที่ถูกต้อง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป