แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
พระพุทธเจ้าผู้ทรงจำแนกแจกธรรม ได้ทรงจำแนกแจกธรรมไว้ดีแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว ดังบทพระธรรมคุณว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม นั้น ก็ได้ทรงจำแนกตรัสบอกไว้ ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญาความจำหมาย มีใจครองของทุกๆ คนนี้เอง ได้ตรัสบอกจัดจำแนกไว้ก็ภายในกายดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อันเป็นสัจจะคือความจริงซึ่งเป็นธรรมดา ก็น้อมเข้ามาในกายมีสัญญามีใจของตนเอง หรือเรียกสั้นว่าที่กายใจนี้ ของทุกๆ คนนี้เอง ก็จะพบว่าเป็นสัจจะคือเป็นความจริงตามที่ทรงสั่งสอน ทรงสั่งสอนว่าข้อนี้ทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้ ข้อนี้เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้ ข้อนี้ทุกขนิโรธดับทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้ ข้อนี้เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้
เมื่อดูเข้ามาที่กายใจนี้ ก็จะพบว่านี้เป็นทุกข์ นี้เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นนิโรธความดับทุกข์ นี้เป็นมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกคนจึงสามารถฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าใจได้ เพราะธรรมที่ทรงแสดงก็คือตัวธรรมดาที่เป็นความจริง และก็เป็นธรรมดา และความจริงที่กายใจนี้ของตนเอง
ตัณหาจริต
แต่วิธีอธิบายแสดงของพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่ามีปริยายคือทางที่แสดงเป็นอันมาก ตามควรแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ผู้ฟังที่มีปรกติรักสวยรักงามของร่างกาย ที่เรียกว่ามีตัณหาจริตอย่างหยาบ ก็ทรงแสดงสั่งสอนให้ทำสติ หรือตั้งสติคือกำหนดใจ พิจารณากาย ให้รู้จักกาย รวมเข้าก็คือว่าให้รู้จักว่าเป็นสิ่งที่เกิดที่ดับ เพื่อที่จะได้ละตัณหาจริตอย่างหยาบของตนได้
บุคคลที่มีปรกติไม่ติดในกายมากนัก แต่ยังติดในเวทนา คือต้องการให้มีความสุขกายสุขใจเป็นสำคัญ แม้ว่าร่างกายจะไม่สวยสดงดงาม จะไม่ตกแต่งให้สวยสดงดงามก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความสุขสบายกายสบายใจก็แล้วกัน เรียกว่าเป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด พระองค์ก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดพิจารณาเวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่บังเกิดขึ้น ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ละตัณหาจริตอย่างละเอียดเสีย
ทิฏฐิจริต
บุคคลที่ไม่ติดในกายมากนัก ไม่ติดในเวทนามากนัก แต่ว่ายังติดในจิตใจ คือต้องการที่จะให้จิตใจได้พบกับสิ่งที่ต้องการ เพราะจิตใจนี้ย่อมมีความต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็ไม่คำนึงถึงสวยงามทางร่างกาย ไม่คำนึงถึงสุขทุกข์ทางกายทางใจมากนัก มุ่งที่จะให้สำเร็จตามที่ใจปรารถนาเป็นที่ตั้ง แม้ว่าจะต้องสกปรกทางร่างกาย จะต้องเป็นทุกข์ทางกายทางใจอย่างไรก็ไม่ว่า มุ่งให้ได้ดังใจ เป็นที่ตั้ง ก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดพิจารณาจิต บุคคลจำพวกนี้เรียกว่าเป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ เมื่อทำสติกำหนดพิจารณาจิตให้รู้จิตที่เป็นไปอยู่ เป็นอย่างนั้นบ้างเป็นอย่างนี้บ้าง คือปรารถนาอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง รวมเข้าก็คือว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับเช่นเดียวกัน ก็จะทำให้ละทิฏฐิจริตอย่างหยาบนี้ได้
ส่วนบางคนนั้นก็ไม่ติดทางกายทางเวทนา หรือทางจิตใจดังกล่าวมากนัก ก็มาติดอยู่ในเรื่องของจิต คือต้องการให้ได้อารมณ์คือเรื่องที่ชอบที่ปรารถนาเป็นสำคัญ มุ่งเรื่องเป็นที่ตั้ง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ตรัสสอนให้พิจารณาธรรมะคือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต บุคคลจำพวกนี้เรียกว่ามีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด เมื่อทำสติกำหนดพิจารณาธรรมะคือเรื่องในจิต ก็ย่อมจะละทิฏฐิอย่างละเอียดนี้ได้ บุคคลในโลกย่อมมีจริตกันอยู่ดังที่กล่าวมานี้ และทุกคนก็อาจจะมีกันอยู่ทั้ง ๔ ข้อ อาจจะแตกต่างกันว่ามีข้อไหนมากข้อไหนน้อย แต่ก็มีด้วยกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ย่อมจะละจริตอัธยาศัยดังที่กล่าวนั้นได้ มาเป็นผู้ที่มีจิตปราศจากจริตที่เป็นกิเลสต่างๆ จึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์ และพระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงสอนสติปัฏฐานมาโดยลำดับตามหมวดต่างๆ
ในพระสูตรใหญ่ของสติปัฏฐาน ที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐานสูตร ที่ได้แสดงมาโดยลำดับ มาถึงขั้นที่จิตบริสุทธิ์จากจริตต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบทั้งที่เป็นส่วนละเอียด สมควรที่จะ (เริ่ม) ทรงแสดงสัจจะคือความจริง ที่เป็นความจริงอย่างยิ่ง จึงได้ตรัสแสดงให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งก็รวมอยู่ในข้อสุดท้ายของหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นด้วย และก็ได้ทรงแสดงอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นทุกข์เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสรวมเข้ามาในขันธ์ ๕ อายตนะ ๖
ขันธ์ ๕
ขันธ์ ๕ นั้นก็คือว่า ทรงจำแนกแยกอัตภาพ คือภาวะที่ยึดถือกันว่าเป็นตัวเราของเรานี้ออกเป็น ๕ กอง คือรูปขันธ์ กองรูป รูปกายอันนี้ เวทนาขันธ์กองเวทนาก็คือ ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญาขันธ์กองสัญญาก็คือความรู้จำหมายต่างๆ จำรูปจำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องทางกาย จำธรรมะคือเรื่องราวทางใจ เป็นต้น สังขารขันธ์กองสังขารก็คือความคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆ ไปในรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าว คิดดีบ้างคิดไม่ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆ บ้าง วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ คือความรู้ที่เรียกว่าเห็น ความรู้ที่เรียกว่าได้ยิน ความทราบที่เรียกว่าได้ทราบกลิ่น ได้ทราบรส ได้ทราบสิ่งถูกต้อง และความรู้ที่เรียกว่าความรู้ความคิดนั่นแหละทางมโนคือใจ อันเรียกว่าวิญญาณ
อายตนะภายในภายนอก
และได้ตรัสสอนให้รู้จักอายตนะทั้ง ๖ คือตาอันหมายประสาททางตาที่เห็นรูปได้ หูอันหมายถึงประสาททางหูที่ได้ยินเสียงได้ จมูกอันหมายถึงประสาททางจมูกที่ทราบกลิ่นได้ ลิ้นที่หมายถึงประสาทลิ้นที่ทราบรสได้ กายหมายถึงประสาทกายที่ได้ทราบสิ่งถูกต้องได้ และมโนคือใจที่หมายถึงมันสมองที่เกิดกำกับไป มีกำกับไปกับตาหูจมูกลิ้นกาย และมีลำพังที่เรียกว่าเป็นความคิดความรู้ต่างๆ
ตรัสสอนให้รู้จักพร้อมกับสิ่งที่คู่กัน ที่ต่อกัน คือรูปที่ต่อกับตา เสียงที่ต่อกับหู กลิ่นที่ต่อกับจมูก รสที่ต่อกับลิ้น สิ่งถูกต้องที่ต่อกับกาย ธรรมะคือเรื่องราวที่ต่อกับมโนคือใจ ก็เป็นอันว่าตาหูจมูกลิ้นกายและมโนคือใจ เรียกว่าเป็นอายตนะภายใน อายตนะแปลว่า ที่ต่อ เป็นที่ต่อภายใน ส่วนรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราว เรียกว่าเป็นอายตนะคือที่ต่อภายนอก ทั้งสองนี้ย่อมต่อกันอยู่เสมอในทุกๆ คน ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นจนถึงหลับไปใหม่ แม้ในขณะที่หลับตัวมโนที่แปลว่าใจ ที่ในปัจจุบันอันมักจะหมายเอามันสมอง กับธรรมะคือเรื่องราวก็ยังไม่ยอมหลับ ยังต่อกันอยู่ปรากฏเป็นความฝัน หลับสนิทคือไม่ฝันนั้นแหละจึงจะพัก คือมโนกับธรรมะคือเรื่องราวจึงจะพัก แต่โดยปรกตินั้นมักจะไม่ค่อยพัก ยังต่อกันอยู่เป็นความฝัน ฝันที่เป็นความฝันอย่างหยาบก็จะแจ้ง ตื่นขึ้นมาจำได้ ฝันที่เป็นความฝันอย่างละเอียดไม่จะแจ้ง ตื่นขึ้นมาก็ลืมหมดจำไม่ได้
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จักขันธ์ ๕ กับอายตนะทั้ง ๖ คือ ๖ คู่ เมื่อเรียงเป็นรายข้อก็เป็น ๑๒ คือภายใน ๖ ภายนอก ๖ ก็เป็น ๑๒ ตรัสสอนให้รู้จักขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ นี้ที่ตนเอง โดยให้มีสติกำหนดดูให้รู้จักที่ตัวเองนี่แหละ ว่านี่เป็นรูปขันธ์กองรูป นี่เป็นเวทนาขันธ์กองเวทนา นี่เป็นสัญญาขันธ์กองสัญญา นี่เป็นสังขารขันธ์กองสังขาร นี่เป็นวิญญาณขันธ์กองวิญญาณ นี่เป็นตานี่เป็นรูปที่มาประจวบกัน นี่เป็นหูนี่เป็นเสียงที่มาประจวบกัน นี่เป็นจมูกนี่เป็นกลิ่นที่มาประจวบกัน นี่เป็นลิ้นนี่เป็นรสที่มาประจวบกัน นี่เป็นกายนี่เป็นโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่มาประจวบกัน นี่เป็นมโนคือใจนี่เป็นธรรมะคือเรื่องราวที่มาประจวบกัน
นามรูป
และโดยเฉพาะขันธ์ ๕ นั้นสรุปเข้าก็เป็น ๒ คือรูปก็เป็น รูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม คือ ๔ ข้อข้างหลังเป็นนาม นาม นั้นก็อธิบายกันเป็น ๒ คืออธิบายว่าไม่ใช่ รูป สักแต่ว่าเป็น นาม คือชื่อเรียก นี่เป็นอธิบายสามัญ อีกอย่างหนึ่งอธิบายที่ลึกซึ้งเข้ามา ว่านามคืออาการที่จิตน้อมออกไป น้อมออกไปรู้ คือทุกคนนี้ประกอบด้วยกายส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง กายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุ ประกอบขึ้นด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ได้ยินได้ ทราบกลิ่น ทราบรส และทราบถูกต้องได้
แต่ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่มีรูป ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อสรีรัง ไม่มีสรีระ คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย ซึ่งพระอาจารย์ได้แก้ว่าถ้ำที่เป็นที่อาศัยของจิตก็คือร่างกายทั้งหมดนี้ และก็มีความเข้าใจกันมาแต่โบราณเหมือนกันว่า จิตนี้อาศัยอยู่กับหทัยคือหัวใจที่เต้นอยู่นี้ หัวใจจึงเรียกว่า หทัยวัตถุ แปลว่าหทัยที่เป็นวัตถุคือที่ตั้งที่อาศัยของจิต แต่มาในปัจจุบันนี้เข้าใจกันว่า จิตนี้อาศัยอยู่กับสมองที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ และก็สมกับพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่ามีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย เพราะว่าถ้ำนั้นก็มีลักษณะเป็นโพรงเข้าไปในภูเขา ก็คล้ายๆ กับกะโหลกศีรษะนี้ ก็มีโพรงที่มันสมองอาศัยอยู่ จิตไม่ใช่มันสมองแต่อาศัยอยู่กับมันสมอง แต่ที่เป็นพระพุทธภาษิตเองนั้น ไม่ได้ตรัสชี้เอาไว้ว่าจิตอาศัยอยู่ที่ไหนในส่วนของร่างกายอันนี้ ตรัสไว้เพียงว่า คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย แล้วก็มาแปลความกันเอง มาอธิบายกันเองในภายหลัง ดั่งพระอาจารย์ในปางก่อนก็อธิบายกันว่า ร่างกายทั้งหมด เป็นการกล่าวรวมๆ แต่ก็มีบางอาจารย์ที่เข้าใจว่าอยู่กับ หทัยที่เต้นอยู่นี้ ก็น่าพิจารณาเหมือนกัน เพราะในครั้งโบราณนั้นถือเอาสิ่งที่พอจะรู้ได้ พอที่จะเข้าใจได้ เป็นหลักในการที่จะวินิจฉัยว่าอะไรเป็นอะไร
เพราะหทัยที่เต้นอยู่นี้ ในเมื่อหทัยนี้ยังเต้นอยู่ก็แปลว่าจิตยังอยู่ในร่างกายอันนี้ ชีวิตยังอยู่ แต่เมื่อหัวใจหยุดเต้นก็แปลว่าจิตนี้ไม่มีอยู่ในร่างกายนี้แล้ว กายนี้ก็เป็นศพ เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจกันว่าหัวใจอันนี้เป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่อาศัยของจิต จึงเรียกว่าหทัยวัตถุ หทัยที่เป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้งของจิต ก็วินิจฉัยกันตามที่จะพึงรู้ได้ แต่พระพุทธเจ้าเองไม่ได้ตรัสชี้เอาไว้ ทรงแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นอันว่าในร่างกายอันนี้มีจิตอยู่ ประกอบกายและจิตด้วยกันจึงมีชีวิต อันนี้เป็นหลักสำคัญ พระอาจารย์จึงได้แสดงอธิบายไว้กว้างๆ ว่า คูหาอันเป็นที่อาศัยของจิตก็คือกายทั้งหมดนี้ ก็เป็นอันว่าสิ้นเรื่องไป ไม่ต้องไปชี้ว่าที่ไหน และเมื่อกายและจิตนี้ยังอาศัยกันอยู่ ร่างกายอันนี้ก็มีชีวิต
ภวังคจิต
และจิตนี้เองในขณะที่อยู่เฉยๆ ไม่มีอารมณ์ก็เรียกว่า ภวังคจิต คำว่า ภวังคะ นั้นแปลว่าองค์ของภพ ซึ่งมีความหมายว่าตัวจิตนี้เองยังเป็นตัวองค์ของภพ คือของภพชาติ ซึ่งเป็นวัฏฏะความเวียนว่ายตายเกิด และเมื่อจิตนี้ยังอยู่เฉยๆ ไม่มีอารมณ์ ก็คงอยู่เป็นองค์อวัยวะของภพชาติ แปลว่าภพชาตินี้ยังดำรงอยู่ ยังไม่ตาย
ถ้าไม่มีจิตที่เป็นตัวภวังคะองค์ของภพชาติแล้ว ร่างกายอันนี้ก็ตาย กลายเป็นศพ เมื่อยังมีภพมีชาติคือยังมีความเป็นอยู่ ยังมีความเกิด ยังไม่ดับ ยังไม่ตาย ชีวิตจึงดำรงอยู่ ก็คือจิตนี้เองยังอยู่ในร่างกายอันนี้เป็นตัว ภวังคะ องค์ของภพของชาติ ที่ทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่เป็นไปอยู่ ไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคะ
อารมณ์ ๖
คราวนี้เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ โดยที่ตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นต้น ก็แปลว่าเป็นอารมณ์ที่มากระทบ จิตก็ออกจากภวังค์คือภาวะที่อยู่เฉยๆ นั้น น้อมออกรับรู้อารมณ์ อารมณ์นั้นมีพระพุทธาธิบายว่าได้แก่ เรื่องที่จิต เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นครุ่นคิดถึง นี้คืออารมณ์ ก็มี ๖ คือ รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป ก็รูปที่มาประจวบกับตานั่นแหละ สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง เสียงที่มาประจวบกับหูนั่นแหละ คันธารมณ์อารมณ์คือกลิ่น ก็คือกลิ่นที่มาประจวบกับจมูกนั่นแหละ รสารมณ์ อารมณ์คือรส ก็คือรสที่มาประจวบกับลิ้นนั่นแหละ โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ ก็คือโผฏฐัพพะที่สิ่งถูกต้อง ที่มาถูกต้องกับกายประจวบกับกายนั่นแหละ ธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราว ก็ได้แก่เรื่องราวที่มาประจวบกับมโนคือใจนั่นแหละ
วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา
เพราะฉะนั้น จึงพึงเข้าใจว่าสิ่งที่เข้าถึงจิตนั้นคืออารมณ์ดังที่กล่าวมานี้ เพราะจะเอารูปเอาเสียงจริงๆ เข้าไปใส่ในจิตนั้นไม่ได้ แต่จิตรับได้ก็คืออารมณ์คือเรื่องของรูปเรื่องของเสียงเป็นต้น ดังที่กล่าวมานั้น และจิตที่ออกรับอารมณ์นี้ขั้นที่ ๑ ก็เป็นวิญญาณ ความรู้อารมณ์ที่เรียกว่าเห็น เรียกว่าได้ยิน เรียกว่าได้ทราบ เรียกว่าได้รู้ได้คิดดังที่กล่าวมาแล้ว ขั้นที่ ๒ ก็เป็น สัมผัส คือความถูกต้องถึงจิต ความกระทบถึงจิต อันหมายถึงอายตนะภายในภายนอกที่คู่กัน กับวิญญาณที่เกิดสืบเนื่องกันไป สามอย่างนี้มาประชุมกันก็เป็นสัมผัสกระทบใจ เป็นขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ก็เป็น เวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ขั้นที่ ๔ ก็เป็น สัญญา ความจำหมาย คือรู้จำ ขั้นที่ ๕ ก็เป็น สังขาร คิดปรุงหรือปรุงคิด หรือเรียกชื่อว่า สัญเจตนา ความปรุงทางใจ
ตัณหา วิตก วิจาร
ขั้นต่อไปก็เป็น ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ข้อต่อไปก็เป็น วิตก คือความตรึก ขั้นต่อไปก็เป็น วิจาร คือความตรอง ตัณหานั้นที่เป็นตัวทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็เกิดขึ้นอาศัยความเป็นไปดังที่กล่าวมานี้นี่แหละ ซึ่งมีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า ตัณหานั้นก็เกิดขึ้นใน ตากับรูป วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา สังขารหรือสัญเจตนา ตัณหาเองปรากฏรูปร่างชัดเป็นตัวตัณหาขึ้นเองที่ตรงขั้นนี้ แล้วก็เป็นวิตกวิจารตรึกตรองไปตามอำนาจของตัณหานั้น ก็เกิดขึ้นดังกล่าวมานี้นี่แหละ
เพราะฉะนั้นเมื่อได้ตรัสสอนให้กำหนดรู้จักทุกข์ ว่าตัวขันธ์อายตนะดังที่กล่าวมานั้น เป็นตัวทุกข์อย่างไรแล้ว จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักตัวตัณหา ซึ่งเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ว่าเกิดขึ้นตามสายดังที่แสดงมา อันนี้ต้องอาศัยสติที่กำหนดให้ว่องไวให้ทัน แล้วจึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวรู้เท่า จึงจะรู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ คือตัวตัณหาในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ต่อไปนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป