แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงสติปัฏฐานมาโดยลำดับ จนถึงอริยสัจจ์ ๔ และก็ได้แสดงข้อทุกขอริยสัจจ์ คืออริยสัจจ์คือทุกข์มาแล้ว จะแสดงในข้อทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ อริยสัจจ์คือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ หมวดอริยสัจจ์นี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ สืบต่อจากโพชฌงค์ และก็ได้แสดงถึงสติปัฏฐานในข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต และข้อธรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมารวมอยู่เป็น เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว เป็นก้อนเดียวกัน อันจะพึงกล่าวได้ว่ารวมกันอยู่เป็นอัตภาพ คือเป็นภาวะที่สำคัญหมายยึดถือว่าตัวตน คือตัวเราของเรานี้เอง
เป็นแต่เพียงว่าในการแสดงนั้น ก็ต้องหยิบยกเอาลักษณะใดลักษณะหนึ่งของก้อนที่รวมกันอยู่นี้ขึ้นมาแสดง และก็ตรัสแสดงในทางที่ปฏิบัติได้ คือใช้เป็นที่ตั้งของสติได้ และแม้ว่าจะหยิบยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาเป็นที่ตั้งสติกำหนด ก็โยงถึงกันหมด ดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับ และก็มาประมวลเข้าโดยจับหลักแห่งการปฏิบัติ ที่จะต้องใช้สำหรับทุกข้อ ก็คือหลักปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นั้น และแม้ที่จับกำหนดข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรม ก็เป็นการหยิบยกเอาขึ้นมาพิจารณาจำเพาะข้อดังที่กล่าวนั้น
เมื่อมาถึงข้อที่ ๔ คือข้อธรรมะ ซึ่งเป็นการกำหนดพิจารณาในขั้นที่ละเอียด พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสให้กำหนดในข้อที่ละเอียดนี้ ที่ปรากฏอยู่ในจิตใจเสมอ สำหรับสามัญชนทั่วไป คือข้อนิวรณ์ และเมื่อปฏิบัติสงบนิวรณ์ได้ จิตก็ผ่องใสสงบ
ขันธ์ ๕
จึงได้ตรัสสอนให้มากำหนดอัตภาพนี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรานี้ แยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ และที่ขันธ์ ๕ นี้เอง ก็ประกอบด้วยรูปและนาม อาศัยกันอยู่ ความปรากฏแห่งรูปและนาม ก็ต้องอาศัยอายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน จึงเป็นรูปเป็นนามขึ้นมา จึงได้ตรัสข้ออายตนะทั้ง ๖ และก็ได้ตรัสถึงแนวอันเป็นหลักปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ อันเริ่มด้วยความตั้งสติ และเมื่อปฏิบัติตามหลักของโพฌงค์ ๗ นี้ถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมาธิก็จะดี จะบริสุทธิ์ จิตก็จะสว่างแจ่มใจสงบอยู่ในภายใน เท่ากับว่าโพชฌงค์ที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ จนถึงขั้นสมาธิขั้นอุเบกขา เป็นเครื่องฟอกชำระจิตให้บริสุทธิ์
ทำให้จิตนี้เป็นจิตอ่อนควรแก่การงาน สมควรที่จะได้รับธรรมะ อันเป็นทางปัญญาโดยตรง ที่ตรัสเปรียบไว้ในที่อื่นว่าเหมือนอย่างว่าผ้าที่สกปรก จะนำมาย้อมด้วยสีต่างๆ ตามต้องการ สีย่อมไม่จับผ้านั้น จะต้องซักผ้านั้นให้สะอาด แล้วจึงนำมาย้อมสี สีก็จะจับ ฉันใดก็ดี จิตที่ชำระฟอกล้างแล้วด้วยสมาธิด้วยอุเบกขา ก็เป็นจิตที่จะรับธรรมะจนถึงอริยสัจจ์ได้ ฉะนั้นเมื่อทรงแสดงถึงโพชฌงค์ทั้ง ๗ อันประกอบสมาธิอุเบกขา อันเป็นเครื่องชำระจิตอย่างยิ่ง จึงได้ทรงแสดงสัจจะปัพพะข้อว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔ และในข้อที่ว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔ นี้ ก็เริ่มด้วยทุกข์สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ อันได้แสดงมาแล้วตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ว่าทุกข์คืออะไรบ้าง
ทุกข์คือสภาวทุกข์ คือปกิณกะทุกข์ทางใจ และเมื่อย่อเข้ามาแล้ว ก็รวมอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ ก็คือขันธ์ ๕ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา คือเป็นตัวอัตภาพนี้เอง พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ สำหรับเป็นข้อปฏิบัติมาตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็เหมือนเป็นการทรงแสดงอัตภาพนี้แยกออกเป็น ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเมื่อแสดงอย่างนี้ย่อมเหมาะเป็นที่ตั้งของสติ
อุปาทานขันธ์
และเมื่อมาถึงการปฏิบัติเพื่อปัญญา หรือเพื่อวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริง ก็ตรัสเปลี่ยนมาเป็นขันธ์ ๕ คือแยกอัตภาพอันนี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา ว่าอันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน แม้จะรวมกันอยู่เป็นก้อนกายก้อนใจอันนี้ เป็นอัตภาพนี้ แต่ก็ประกอบขึ้นด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงก็เป็นนามรูปหรือว่ารูปนาม และขันธ์ ๕ หรือรูปนามนี้เป็นวิบากคือเป็นผลของกิเลสของกรรมในอดีต เป็นตัวเหตุปัจจัยให้ก่อเกิดเป็นขันธ์ ๕ เป็นรูปเป็นนามขึ้นมา
เมื่อเป็นวิบากดั่งนี้ จึงไม่ใช่เป็นตัวกุศลหรืออกุศล แต่เป็นตัววิบากคือเป็นตัวผล ก็ผลของกุศลและอกุศลนั่นแหละ ซึ่งเป็นตัวกรรมอันสืบเนื่องมาจากกิเลส แต่วิบากคือผลนี้ไม่ใช่เป็นตัวกรรมไม่ใช่ตัวกิเลส เป็นตัวผล เมื่อยังมีกิเลสอยู่จึงยึดถือขันธ์ ๕ อันย่อลงเป็นนามรูปนี้ ว่าเป็นตัวเราของเรา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ ซึ่งตรัสสรุปเข้าว่านี่แหละคือตัวทุกข์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เพราะมีกิเลสจึงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา แต่ก่อนที่จะได้ตรัสสรุปเข้ามาดั่งนี้ ก็ได้ตรัสเริ่มมาแล้วถึงทุกข์ที่ตรัสมาตั้งแต่เบื้องต้น ซึ่งได้ตรัสให้รู้ถึงสภาวทุกข์ก่อน แล้วก็ตรัสปกิณกะทุกข์ที่ทุกคนมีกันอยู่เป็นประจำ คือโสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจ ไม่สบายใจ พร้อมทั้งไม่สบายกาย คับแค้นใจ ซึ่งคนมีอยู่เป็นปรกติ ได้ตรัสสรุปเข้ามาในชั้นต้นก่อน เป็นทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นอันได้ทรงชี้ให้รู้จักเข้ามาว่า เพราะมีสิ่งที่เป็นที่รัก กับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ฉะนั้นเมื่อไปพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักจึงเป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักจึงเป็นทุกข์
ความที่มีสิ่งเป็นที่รักไม่เป็นที่รักขึ้นนี้ ก็ตรัสชี้ให้ชัดเข้ามาต่อไปอีกว่า รวมเข้าเป็นหนึ่งก็คือปรารถนาไม่ได้สมหวัง เพราะทุกคนนั้นต่างปรารถนาที่จะได้ประสบกับสิ่งที่เป็นที่รัก ไม่ต้องการที่จะพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก แต่เมื่อไปได้ประสบผลต่างจากที่ปรารถนา คือประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นความปรารถนาไม่สมหวัง ก็เป็นอันทรงชี้ให้เริ่มรู้จักต้นสายของทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก และชี้เข้ามาอีกเป็นตัวความปรารถนา
แล้วจึงได้ตรัสประมวลเข้าเป็นกล่าวโดยย่อว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ อันคำว่าอุปาทานยึดถือนี้ ก็รวมความปรารถนาเข้ามาด้วย เพราะมีความปรารถนาจึงมีความยึดถือ และความยึดถือนี้เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดความปรารถนาต่อไปอีก ก็เป็นอันว่าทั้งสองนี้ต่างก็สนับสนุนกัน ความปรารถนากับความยึดถือ แต่เมื่อกล่าวตามลำดับก็ตรัสไว้ว่าความปรารถนามาก่อน แล้วจึงยึดถือ ถ้าหากว่าไม่ปรารถนาก็ปล่อยวางได้ไม่ยึดถือ
ทุกข์เนื่องมาจากความยึดถือ
(เริ่ม) เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันได้ทรงเริ่มที่จะแนะนำให้รู้จักตัวทุกข์ ว่าเนื่องมาจากความปรารถนายึดถือ อันเป็นเหตุให้มีสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก สืบเนื่องกันไป แล้วก็สืบไปถึงทุกข์ต่างๆ มี โสกะปริเทวะ โศกเศร้า รัญจวนใจ คร่ำครวญ อันเป็นอาการของทุกข์ต่างๆ ของจิตใจ ที่ทุกๆ คนมีกันอยู่ ก็สืบเนื่องมาจากความปรารถนายึดถือ และก็มาถึงประมวลเข้าทั้งหมด ก็เข้าในขันธ์ ๕ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเรานี่แหละ เพราะมีความยึดถือว่าตัวเราของเราดั่งนี้ ตัวขันธ์ ๕ เอง หรือย่อลงเป็นนามรูปนั้น ก็เป็นวิบากดังที่กล่าว และก็เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปตามสภาวะ คือภาวะของตน อันได้แก่มีเกิดเป็นเบื้องต้นที่เรียกว่าชาติ มีชราความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ชำรุดทรุดโทรมเป็นท่ามกลาง มาจนถึงมีมรณะคือความแตกสลายที่เรียกว่าตายเป็นที่สุด เป็นธรรมดา เหมือนอย่างสิ่งทั้งหลายที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง
อันรวมเรียกว่าโลกทั้งหมดนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีเกิดคือมาประกอบกันเข้า แล้วก็มีแปรปรวนเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีสลายในที่สุด เหมือนกันหมด เรียกว่าเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของโลก ของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสังขาร คือสิ่งประสมปรุงแต่งทั้งหมด เพราะฉะนั้น เพราะบุคคลไปยึดถือว่าตัวเราของเรา เมื่อนามรูปหรือขันธ์ ๕ นี้เกิด ก็รู้สึกว่าตัวเราของเราเกิด แก่ก็รู้สึกว่าตัวเราของเราแก่ ตายก็รู้สึกว่าตัวเราของเราตาย และก็มีความยึดถือต้องการปรารถนาที่จะไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติธรรมดา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงต้องเป็นทุกข์ไปด้วยกับนามรูปหรือขันธ์ ๕ นี้
ทุกขสมุทัยสัจจะ
อันตัวขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั้น เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่มีตัวไม่มีตนของนามรูปหรือขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นทุกข์ แต่สัตว์บุคคลผู้ที่ยึดถือนี้เองเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์ที่สร้างขึ้นเอง เพราะความยึดถือ เหนี่ยวรั้ง ไม่ต้องการที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ปรารถนาที่จะให้แก่ ไม่ให้ตาย ตลอดถึงเจ็บ แปรปรวนเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงหมวดทุกข์สัจจะนี้ เริ่มชี้ที่จะให้ทุกๆ คนได้รู้จัก ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างไร และสืบเนื่องมาถึงความที่มีที่รัก มีไม่เป็นที่รัก มีปรารถนา มียึดถือ เป็นอันว่าได้ทรงเริ่มชี้ให้รู้จักสมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ จึงได้ตรัสในข้อที่ ๒ คือสมุทัยสัจจะ สัจจะคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงยกตัณหาขึ้นแสดง ว่าคือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจนี้เอง เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์
เมื่อได้ฟังเรื่องทุกข์ และจับพิจารณามาโดยลำดับแล้ว ก็ย่อมทำให้มีความเข้าใจขึ้นทันที ว่าเพราะตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนี้เอง เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ต่างๆ ที่ตรัสไว้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ และก็ได้ตรัสเป็นอธิบาย เพื่อให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้นประกอบด้วยโดยที่ทรงชี้ว่า คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ ซึ่งเป็นไปเพื่อภพใหม่ เพื่อความเป็นใหม่ แปลกันว่าเพื่อภพชาติใหม่บ้าง หรือเพื่อความเป็นนั่นเป็นนี่ใหม่บ้าง อันประกอบไปกับความเพลินที่เรียกว่านันทิ ความติดใจที่เรียกว่าราคะ มีอภินันท์คือความเพลิดเพลินยิ่งขึ้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ
ตัณหา ๓
และก็ได้ตรัสจำแนกลักษณะออกไปเป็น ๓ คือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือกล่าวสรุปเข้ามาก็เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ หรือว่าอยากที่จะให้สิ่งที่ไม่ชอบ ภาวะที่ไม่ชอบสิ้นไปหมดไป
เมื่อสรุปเข้าแล้ว กามตัณหาและภวตัณหานั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อที่จะดึงเข้ามา คือดึงเอากามเข้ามา ดึงเอาภพเข้ามา แต่ว่าวิภวตัณหานั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากที่จะผลักออกไป ผลักสิ่งที่ไม่ชอบออกไป ภาวะที่ไม่ชอบออกไป เพราะฉะนั้น จิตที่ถูกตัณหาครอบงำแล้ว จึงประกอบไปด้วยความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อที่จะดึงเข้ามาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะผลักออกไปอย่างหนึ่ง หรือเพื่อที่จะสร้างขึ้นมาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะทำลายอีกอย่างหนึ่ง จิตใจของสัตว์บุคคลในโลกที่ยังมีตัณหาอยู่ ย่อมเป็นเช่นนี้
เพราะฉะนั้นในโลกนี้จึงได้มีการสร้างขึ้นบ้าง มีการทำลายกันบ้าง ทั้งสองอย่างคู่กันไป เมื่อเป็นโลกอยู่ก็จะต้องมีการสร้าง และการทำลายดั่งนี้ คู่กันไป คำว่าเมื่อเป็นโลกอยู่ก็หมายความเมื่อยังเป็นตัณหา ยังมีตัณหาอยู่ ก็ต้องเป็นดั่งนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักเหตุของทุกข์ว่าคือตัณหานี้เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น และตัณหานี้ก็บังเกิดขึ้นที่จิตใจนี้เอง ก็ให้กำหนดที่จิตใจนี้เองของทุกๆ คน คือของตนเอง เพราะว่าเมื่อตัณหาบังเกิดขึ้นปรากฏอยู่ในจิต ทุกคนเมื่อกำหนดพิจารณาอยู่ก็ย่อมรู้ได้ ว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเกิดขึ้น เป็นกามตัณหาบ้าง เป็นภวตัณหาบ้าง เป็นวิภวตัณหาบ้าง และก็ให้กำหนดให้รู้จักว่านี่แหละคือตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่มีที่ไหน มีที่จิตใจนี้เอง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป