แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเองอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม เพื่อให้รู้ธรรมะที่พึงรู้ยิ่งเห็นจริงได้ เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งใจฟังธรรมะทรงแสดง และปฏิบัติตามหลักสัมโพชฌงค์ ดังที่ได้แสดงมาแล้ว คือตั้งสติความระลึกกำหนด ตั้งต้นแต่ระลึกกำหนดไปตามธรรมะที่แสดง เป็นสติ และตั้งสติก็คือตั้งสมาธินั้นเองในการฟัง รวมเป็นสติปัฏฐานดังที่แสดงแล้ว สติก็เป็นสติ ฐานะตั้งก็คือสมาธิ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ และพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมให้รู้จักธรรมะ ว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล นี่เป็นอัพยากฤตคือเป็นกลางๆ นี่มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นธัมวิจยะสัมโพชฌงค์ และต่อๆ ไปก็ย่อมจะเป็นอันปฏิบัติในสติปัฏฐานโดยโพชฌงค์
สภาพธรรมดาของชีวิต
และเมื่อปฏิบัติโดยโพชฌงค์ดั่งนี้ ตั้งแต่สติและธัมวิจยะ แม้เพียงสองข้อนี้ ก็จะทำให้รู้จักสภาพธรรมดาของอัตภาพหรือของชีวิตนี้ กาย เวทนา จิต ธรรม และข้อธรรมนั้นโดยเฉพาะคือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นสภาพธรรม คือธรรมะที่เป็นสภาพมีภาวะของตนตามเหตุและผล ตามเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่เพราะมีตัณหาอุปาทาน มีสัญโญชน์ จึงได้เป็นอกุศลขึ้นมา ดังที่ตรัสในข้อนิวรณ์ที่ได้กล่าวแล้ว
จึงได้ตรัสสอนให้ทำสติปัฏฐานคือตั้งสติกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม และกำหนดถึงกิเลสที่บังเกิดขึ้น อันอาศัยทั้ง ๔ ข้อนี้ที่ประกอบกันเป็นไปอยู่ และก็ตรัสสอนให้กำหนดในทางที่เห็นง่ายถึงความเกิดขึ้นของกิเลส ก็คือให้กำหนดอายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกัน ที่ทุกคนมีอยู่เป็นปรกติ จึงเกิดสัญโญชน์คือความผูกใจในอายตนะ และเมื่อยกขึ้นมาชี้ให้เห็นชัด ก็คือผูกใจอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราว จึงได้เป็นอุปาทานขึ้น เป็นตัณหา เป็นอุปาทานขึ้น เป็นนิวรณ์ที่ปรากฏอยู่ในใจ อันปล้นใจ กลุ้มรุมใจ ปรากฏอยู่ แต่เมื่อได้มีสติตั้งกำหนดให้รู้ทัน ก็ย่อมจะได้กำหนดรู้กาย เวทนา จิต ธรรมดังกล่าว ว่ามีอยู่เป็นไปอยู่อย่างนี้ๆ สภาพธรรมดาของสิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏเป็นความเกิดความดับ
เพราะฉะนั้น จึงได้มีปหานะคือการละสัญโญชน์ขึ้นเอง จากสติที่กำหนดรู้นี้ และก็ละตัณหาอุปาทานได้ และก็ทำสติ สมาธิ ที่ตั้งกำหนด และตัวความรู้ที่เป็นปัญญานี้ให้เจริญยิ่งขึ้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมจะละสังโญชน์อันเป็นกิเลส พร้อมทั้งตัณหา อุปาทาน นิวรณ์ ที่บังเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน คือในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และก็ละทุกข์ได้ อันเนื่องมาจากกิเลสเหล่านี้
จิตในขั้นที่เพ่งรู้อยู่ในภายใน
จิตจึงบริสุทธิ์จากกิเลสจากทุกข์ ก็ได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิยิ่งขึ้น และได้อุเบกขาคือความที่เพ่งรู้อยู่ในภายใน ไม่หวั่นไหวไปด้วยความยินดีด้วยความยินร้าย ละความยินดีละความยินร้ายได้ จิตก็ตั้งกำหนดอยู่ในตัวความสงบ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตได้อุเบกขาดั่งนี้ที่มีอาการตั้งสงบอยู่ในภายใน อันสืบเนื่องมาจากสมาธิ ไม่หวั่นไหวด้วยความยินดี ไม่หวั่นไหวด้วยความยินร้าย
แต่ว่ามีความรู้ที่สว่าง ความรู้ที่แจ่มแจ้ง ความรู้ที่โพลงขึ้น ไม่เจือปนด้วยถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ไม่เจือปนด้วยความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความสงสัยเคลือบแคลง อันสืบเนื่องมาจากที่ละยินดีละยินร้ายได้ คือละกามฉันท์ ละพยาบาทได้ จิตก็สว่างโพลงแจ่มใสปราศจากความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม มีสติที่รู้ตัวอยู่ทั้งหมด และมีปัญญาคือตัวความรู้ที่แจ่มแจ้ง เหมือนอย่างเป็นไฟที่สว่างแจ่มใสอยู่ในภายใน จิตที่ประกอบด้วยสมาธิอุเบกขาดังที่แสดงมานี้ อันเป็นสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นจิตที่พร้อมที่จะรู้ เป็นจิตที่ได้รับการซักฟอกมาแล้วโดยลำดับ เปรียบเหมือนผ้าที่สะอาดควรที่จะรับน้ำย้อมได้
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสัจจะปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยสัจจะคือความจริง อันได้แก่อริยสัจจ์ต่อเข้าในตอนนี้ ก็เป็นอันว่าสติปัฏฐานที่ทรงแสดงมาตั้งแต่ต้นทั้งหมด ในข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรม ก็มาประมวลเข้าในสัจจะทั้ง ๔ นี้ทั้งหมด ได้ตรัสสอนให้รู้จักทุกข์ อันเรียกว่าทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ สมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธสัจจะสภาพที่จริงคือนิโรธความดับทุกข์ และมรรคสัจจะสภาพที่จริงคือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ความรู้ในข้อทุกขสัจจะ
กล่าวเฉพาะในข้อทุกข์นั้น ได้ตรัสสอนให้รู้จักจับแต่สภาวทุกข์ ทุกข์ที่เป็นไปตามสภาพคือตามภาวะของตน ตามเหตุปัจจัยของตน ดังที่ตรัสว่า ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ ทั้ง ๓ นี้เป็นสภาวทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ คือตามภาวะของตน ตามเหตุปัจจัยของตน คือของตน คือของธรรมชาติธรรมดา
สังขารคือเบญจขันธ์นี้ หรืออายตนะทั้งปวงนี้ หรือที่สรุปเรียกว่านามรูป และแม้สิ่งที่เป็นสังขารทั้งหมด แต่ว่ายกเอาจำเพาะที่มีใจครองก่อน คือที่มีจิตวิญญาณ เป็นขันธ์สังขารของมนุษย์ก็ตาม ของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม จำพวกที่เป็นกายเนื้อ หรือแม้จำพวกที่เป็นกายทิพย์คือเทพพรหมทั้งหลาย หรือที่บังเกิดในอบายภูมิเป็นพวกโอปปาติกะคือเกิดขึ้นมาเป็นกายละเอียด เช่นเป็นผู้เกิดในนรก หรือเป็น เปรต อสุรกาย ทั้งหมดรวมเรียกว่าเป็นจำพวกที่เป็นโอปปาติกะ เช่นเป็นกายทิพย์ หรือเป็นกายนรก กายเปรต อสุรกาย ก็เป็นสังขารทั้งหมด ซึ่งเมื่อเกิดคือมีชาติความเกิดเป็นเบื้องต้น ก็ต้องมีชราความแก่ มรณะความตายในที่สุด คือต้องดับเหมือนกันหมด ( เริ่ม) แม้สังขารร่างกายของพระอรหันต์ พระสรีระของพระพุทธเจ้าเอง ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ซึ่งเรียกว่านิพพานดับขันธ์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาวทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ
จากนี้ก็ตรัสทุกข์ที่เกิดทางจิตใจ อันสืบเนื่องมาจากตัณหาอุปาทาน รวมเรียกว่ากิเลส คือความโศกเป็นทุกข์ ความรัญจวนคร่ำครวญเป็นทุกข์ และแถมความไม่สบายกายเข้าในที่นี้ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เรียกว่าปกิณกะทุกข์ ทุกข์เบ็ดเตล็ดที่บังเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว เช่นอาพาธป่วยไข้เป็นทุกข์ ความไม่สบายใจเป็นทุกข์ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์
ต่อจากนี้ก็ตรัสสรุปเข้าเป็นความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์ คือเมื่อมีตัณหามีอุปาทาน ก็ต้องมีรัก มีไม่รัก ซึ่งเป็นลักษณะรักก็กามฉันท์ ไม่รักก็เป็นพยาบาทหรือไม่ชอบ และต่อจากนี้ก็ตรัสสรุปเข้าอีกเป็นหนึ่ง ก็คือว่าปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ อันนี้ชี้ชัดว่ารวมเข้าแล้วก็เพราะอุปาทาน ตัณหาอุปาทาน อันทำให้ปรารถนา ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ และความปรารถนาที่เป็นส่วนใหญ่นั้นก็ย่อมจะไม่สมหวัง
ดังเช่นเมื่อมีชาติความเกิดเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีความแก่ความตายเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้แก่ไม่ให้ตายก็ไม่ได้ เมื่อมีโศกเป็นต้นเป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้มีโศกก็ไม่ได้ และการที่จะต้องมีทุกข์เหล่านี้เป็นธรรมดา จะปรารถนาไม่ให้มีทุกข์ดั่งนี้ก็ไม่ได้นั้น ก็เพราะเหตุว่ามีตัณหามีอุปาทาน
เพราะฉะนั้นในที่สุดก็ได้ตรัสสรุปเข้าทั้งหมด ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ก็ได้ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อเป็นนามรูป ซึ่งคำนี้ก็มีเน้นอยู่ที่ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ เมื่อไม่ยึดถือก็ย่อมไม่เป็นทุกข์ คือหมายความว่าผู้ไม่ยึดถือนั้นไม่เป็นทุกข์เพราะขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ เองนั้นเมื่อมีอยู่ ก็ต้องเป็นไปตามคติธรรมดา คือต้องเป็นไปตามหมวดของสภาวทุกข์ มีเกิดก็ต้องมีแก่มีตาย แต่ว่าผู้ที่ไม่ยึดถือก็ย่อมไม่เป็นทุกข์ เพราะเหตุที่ขันธ์ ๕ เมื่อเกิดต้องแก่ต้องตาย เพราะว่ามีความรู้แจ่มแจ้งว่าเป็นธรรมดา ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ไปในสิ่งที่ไม่ได้ยึดถือนั้น ต่อเมื่อยึดถือจึงต้องเป็นทุกข์ไปในสิ่งที่ยึดถือนั้น จึงได้ตรัสเน้นเข้ามาว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือเป็นทุกข์ ก็เป็นอันว่าได้ทรงชี้ให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ โดยเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ ดังที่ตรัสจำแนกนั้น อันเรียกว่าทุกขทุกข์ ทุกข์ที่โดยเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ
ดั่งนี้ชื่อว่าเห็นทุกข์
เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดฟังด้วยจิตใจที่ได้รับการฟอกด้วยการปฏิบัติมาโดยลำดับ ฟังอริยสัจจ์ จึงจะเข้าใจอริยสัจจ์ ดังเช่นฟังทุกขสัจจะ จึงจะเข้าใจทุกขสัจจะนี้ซาบซึ้ง จนถึงเห็นทุกข์ได้ดังธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นทุกสิ่งที่เกิดดับดั่งนี้ชื่อว่าเห็นทุกข์ เพราะทุกข์นั้นก็คือเกิดดับ เห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ และต้องเป็นดั่งนี้ครอบโลกไปหมด จึงเห็นสัจจะคือความจริงที่ครอบโลกทั้งหมด ไม่มียกเว้น
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป