แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วดังบทที่สวดว่า สวากขาโต ภควตาธัมโม เป็นสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ ยกหมวดธรรมต่างๆ เข้ามาสาธกอธิบาย และก็ได้กล่าวแล้วว่าธรรมะทุกข้อทุกบทนั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้งหมดนี้ด้วยกัน ข้อที่ยกมาสาธกแสดงก็เพียงเพื่อมาอธิบายในแต่ละบทของพระธรรมคุณเท่านั้น และก็ได้ยกสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาสาธกแสดงอธิบาย จนถึงข้อที่ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ และก็อธิบายโพชฌงค์นี้โดยพรหมวิหารทั้ง ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งได้อธิบายมาแล้ว
ในวันนี้ก็จะแสดงในข้ออุเบกขาอันเป็นข้อที่ ๔ และแสดงทางปฏิบัติเจริญอุเบกขาพรหมวิหารข้อนี้ตามทางแห่งโพชฌงค์ ๗ ดังที่ได้อธิบายแสดงแล้วในข้อเมตตา กรุณา และมุทิตา มาถึงอุเบกขาข้อนี้อันเป็นข้อที่ ๔ ท่านอธิบายโดยทั่วไปว่าคือความที่วางจิตเป็นกลาง ไม่เสียใจในเมื่อผู้อื่นประสบวิบัติ หรือไม่ดีใจในเมื่อผู้อื่นซึ่งไม่เป็นที่รักประสบวิบัติ แต่มีใจเป็นกลางไม่ยินดีไม่ยินร้าย โดยที่พิจารณาปลงใจลงในกรรม และผลของกรรม ว่าผู้นั้นผู้นี้ หรือแสดงรวมว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่นพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย จักกระทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่วก็จักต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น
อุเบกขาข้อนี้ มักแปลกันอีกคำหนึ่งว่าความวางเฉย แต่ว่าความวางเฉยนี้ก็จะต้องอธิบายว่าวางเฉยอย่างไร ถ้าหากว่ามีความเข้าใจผิดก็จะทำให้การปฏิบัติในข้ออุเบกขานี้ผิดไปได้ แต่ที่ได้อธิบายมาข้างต้นนั้นเป็นการอธิบายตามหลักใหญ่ของอุเบกขาข้อนี้ โดยที่เมตตานั้นเป็นความตั้งใจปรารถนาให้เป็นสุข ดั่งที่แปลกันว่าคือความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข มุทิตานั้น กรุณานั้น คือความที่ตั้งใจช่วยให้พ้นทุกข์ ดังที่แปลกันว่าความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตานั้นเป็นความที่พลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีเจริญ ก็มักจะแปลกันอย่างนั้นว่ายินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดี
ส่วนอุเบกข้อนี้แปลให้เข้าใจกันถูกต้องยิ่งขึ้นเฉพาะในข้อนี้ ก็มักแปลว่าความที่มีใจเป็นกลาง ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในเมื่อผู้อื่นประสบวิบัติ สำหรับผู้อื่นที่ประสบวิบัตินั้น โดยปรกติถ้าเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่รักก็มักจะเกิดความเสียใจ ถ้าเป็นบุคคลที่เป็นศัตรูก็มักจะบังเกิดความดีใจ ตามวิสัยของจิตที่ยังไม่ได้รับการอบรม และมักจะยกเอาวิบัติขึ้นมาเป็นที่ตั้ง
แต่ว่าตามความหมายนั้น แม้ประสบสมบัติ เมื่อเขาประสบสมบัติเต็มที่แล้วไม่ต้องช่วยเขาอีก ดั่งนี้ก็ใช้อุเบกขาได้ ดั่งเช่นบิดามารดาที่เลี้ยงดูบุตรธิดามา ช่วยมาโดยตลอดจนบุตรธิดามีความเจริญ และเติบใหญ่พึ่งตัวเองได้แล้ว บิดามารดาก็วางอุเบกขาได้ ที่ว่าวางอุเบกขานั้นก็คือหมายความว่าวางใจเป็นกลางได้ ไม่ต้องไปขวนขวายที่จะช่วยต่อไป และแม้ว่าเมื่อเขายังประกอบด้วยความสุข ความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ดีอยู่ มารดาบิดาไม่ต้องไปช่วยให้เขาพ้นทุกข์อะไร เมื่อเป็นดั่งนี้ก็วางอุเบกขาได้ หรือว่าเขาได้ดีมีสุขเป็นพื้นอยู่ เป็นปรกติแล้ว ก็ไม่ต้องไปพลอยยินดีอีก ดั่งนี้ก็วางอุเบกขาได้
แต่เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็เหมือนอย่างว่า ไม่ต้องเมตตา ไม่ต้องกรุณา ไม่ต้องมุทิตา ก็เป็นอย่างนั้นจริงในเมื่อไม่ต้องคิดช่วยให้เขาเจริญยิ่งขึ้น หรือไม่ต้องช่วยให้เขาพ้นทุกข์ หรือว่าไม่ต้องพลอยยินดีอะไรอีกเพราะเขาได้ดีมีสุขอยู่แล้ว ในขณะเช่นนี้ก็วางอุเบกขาได้ ต่อเมื่อมีอะไรที่ควรจะให้เขามีความสุขยิ่งขึ้น ดั่งนี้ก็มาใช้เมตตา เมื่อเขาเป็นทุกข์ก็มาใช้กรุณา เมื่อเขาได้รับความสุขความเจริญอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ก็มาใช้มุทิตา ครั้นแล้วก็มาพักอยู่ในอุเบกขา
โดยที่มาพิจารณาปลงใจลงไปในกรรม และผลของกรรม เมื่อเขามีความสุขความเจริญ ยังไม่มีความทุกข์เดือดร้อน ได้ดีมีสุขอยู่ตามสมควร ก็เป็นอันว่าเขาได้ประกอบกรรมที่ดี และได้รับผลที่ดี และเมื่อเขามีความบกพร่องมีความทุกข์ก็จะต้องช่วยเหลือกันต่อไป ต้องมีเมตตามีกรุณากันต่อไป เมื่อเขาได้ดีอะไรขึ้นอีก ก็มีมุทิตากันต่อไป แต่ว่าในเมื่อถึงคราวที่ช่วยไม่ได้ ดั่งนี้ก็ต้องวางใจให้เป็นอุเบกขา ปลงลงในกรรม และผลของกรรมเหมือนกัน เช่นว่าเขาเจ็บป่วยรักษาไม่หาย ก็ต้องปลงใจลงไปในกรรม ในผลของกรรม
เขาต้องล้มตายลงไปช่วยไม่ได้ ก็ต้องปลงใจลงไปในกรรมในผลของกรรม ว่าเป็นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้ว อันเป็นส่วนที่บาปเป็นอกุศล เมื่อกรรมนั้นมาปรากฏผลขึ้นก็ต้องทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนจนถึงช่วยไม่ได้ หรือว่าต้องล้มตาย และก็เป็นไปตามคติธรรมดาของชีวิตสังขารทั้งหลายจะต้องเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมาปฏิบัติในข้ออุเบกขาวางใจเป็นกลาง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่าอุเบกขาคือความที่มีใจเป็นกลางนี้ เป็นเครื่องกำจัดราคะความติดใจ ชอบใจ และปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ ราคะนั้นก็เป็นฝ่ายกองราคะ ปฏิฆะนั้นก็เป็นฝ่ายกองโทสะ
และนอกจากนี้ท่านยังมุ่งหมายถึงอุเบกขาชนิดที่ประกอบด้วยความรู้ ไม่ใช่อุเบกขาที่ไม่ประกอบด้วยความรู้ เพราะว่าอันอุเบกขาคือความวางใจเป็นกลาง หรือที่แปลกันว่าความวางเฉยนั้น ย่อมมีอยู่แก่ทุกๆ คนในอารมณ์ทั้งหลาย คือเมื่อทุกๆ คนประสบอารมณ์ อารมณ์บางอย่างที่เป็นที่ตั้งของโสมนัส ก็ย่อมเกิดโสมนัสความสุขใจความดีใจ ( เริ่ม) อารมณ์บางอย่างเป็นที่ตั้งของโทมนัส ก็เกิดโทมนัสความทุกข์ใจไม่สบายใจ แต่อารมณ์บางอย่างไม่พอที่จะให้เป็นที่ตั้งของโสมนัสโทมนัสดังกล่าว ก็บังเกิดอุเบกขา คือความวางเฉยอันหมายความว่าความรู้สึกเฉยๆ แต่ว่าไม่ประกอบด้วยความรู้ เพราะมิได้พิจารณาให้เห็นโทษของความไม่รู้ เห็นคุณของความรู้ จึงวางเฉยไปเท่านั้น และความวางเฉยดังที่กล่าวมานี้ ก็ไม่เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอะไรในใจลงได้
เพราะว่า หากว่าอารมณ์นั้น ที่เฉยๆ นั้น มามีอะไรที่ทำให้น่าชอบใจขึ้นก็เกิดโสมนัสขึ้นมา เกิดราคะขึ้นมา ถ้ามีอะไรที่ทำให้ไม่ชอบใจขึ้นก็เกิดโทมนัสขึ้นมา เกิดโทสะขึ้นมา เกิดปฏิฆะขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงเป็นความเฉยๆ ที่ไม่มีคุณค่าอะไรทางธรรมปฏิบัติดังกล่าว และความวางเฉยดังที่กล่าวมานี้เรียกว่า อัญญาณุเบกขา ความวางเฉยด้วยความไม่รู้ ซึ่งคนหนึ่งๆ นั้น ในวันหนึ่งๆ ก็มีอุเบกขาเช่นนี้อยู่เป็นอันมาก
เพราะว่าอารมณ์ที่มาประสบนั้นมีอยู่มากมายทุกเวลานาที ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดยินดีบ้างยินร้ายบ้าง โสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง ไปทุกๆ อย่าง ที่เฉยๆ อยู่ก็มีเป็นอันมาก แต่ก็เป็นเฉยด้วยความไม่รู้ ดั่งนี้ไม่ใช่เป็นอุเบกขาในพรหมวิหาร อุเบกขาในพรหมวิหารนั้นต้องเป็นวางเฉยด้วยความรู้ คือรู้ด้วยการพิจารณา ปลงใจลงไปในกรรมและผลของกรรม จนใจเป็นกลางได้ แม้ว่าในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก และทั้งในบุคคลที่ไม่เป็นที่รัก วางใจลงเป็นกลางได้เหมือนกัน
และอุเบกขาดังที่กล่าวมานี้ย่อมทำให้จิตใจนี้ปราศจากอคติคือความลำเอียง ทำให้ไม่ลำเอียงด้วยความรักชอบที่เรียกว่า ฉันทาคติ ไม่ให้ลำเอียงด้วยความชัง อันเรียกว่าโทสาคติ ไม่ให้ลำเอียงด้วยความหลง อันเรียกว่าโมหาคติ ไม่ให้ลำเอียงด้วยความกลัว อันเรียกว่า พยาคติ
ใจที่ไม่ลำเอียงดั่งนี้เป็นใจที่ประกอบด้วยความเป็นธรรมถูกต้อง ซึ่งบัญญัติคำกันขึ้นว่ายุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นหลักสำคัญในพรหมวิหารทุกข้อ เพราะว่าเมื่อทำจิตใจให้มีความยุติธรรม เพราะปลงลงไปในกรรมและผลของกรรมได้ดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้การปฏิบัติในข้อเมตตาเป็นต้นนั้น เป็นไปโดยถูกต้องด้วย เป็นต้นว่ามารดาบิดาย่อมมีเมตตาในบุตรธิดาอยู่โดยธรรมชาติ แม้ว่าจะยังไม่เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ทีเดียว เพราะยังประกอบด้วยความสิเนหาในบุตรธิดา คือความรักที่เป็นตัวความผูกพันในบุตรธิดา ที่ได้แสดงมาแล้วว่าเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา มารดานั้นมีทั้งเมตตามีทั้งสิเนหา ยังแยกกันไม่ออก จึงยังไม่เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น
ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติในข้ออุเบกขานี้ด้วย ก็จะทำให้เมตตาของมารดาบิดานั้น เป็นไปโดยถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นต้นว่าเมื่อบุตรธิดาไปทำผิด เช่นไปรังแกผู้อื่นในทางใดทางหนึ่ง เมื่อมีผู้มาฟ้องหากมารดาบิดาไม่มีอุเบกขาดังกล่าว ย่อมจะเข้ากับลูก ไม่ยอมที่จะรับฟังว่าลูกผิด เพราะว่ามีความรักความสิเนหา มีกำลังแรง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงไม่มีการที่จะตักเตือนว่ากล่าวลูก เข้ากับลูกอยู่เสมอ ว่าเป็นลูกของเราแล้วต้องถูกเสมอ ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าเป็นการที่เมตตาในทางที่ผิด ไม่ใช่เมตตาในทางที่ถูก
แต่ถ้าหากว่ามารดาบิดามีใจยุติธรรม พิจารณาหยั่งลงในกรรมในผลของกรรม ก็คือว่ารู้จักผิดรู้จักถูก อะไรถูกก็ถูก อะไรผิดก็ผิด นี่คือที่ปลงลงไปในกรรมมีความหมายอย่างนี้ รู้จักผิดรู้จักถูก จึงพิจารณาลูกของตัว รับฟังคำฟ้องของผู้อื่น สอบสวนดูว่าผิดหรือถูก ถ้าลูกของตนผิดก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน หรือลงโทษตามสมควร เพื่อให้ไม่ประพฤติผิดอีกต่อไป แต่เมื่อลูกถูก ก็ยอมรับว่าถูก การปฏิบัติดั่งนี้ต้องมีอุเบกขาข้อที่ ๔ นี้เป็นหลัก คือรู้จักที่จะมีใจเป็นกลาง โดยไม่ถือว่าลูกเขาลูกเรา แต่ถือเอาถูกผิดเป็นที่ตั้ง ลูกของใครก็ตาม เมื่อผิดก็ว่าผิด เมื่อถูกก็ว่าถูก และเมื่อผิดก็ตักเตือนว่ากล่าวกัน อบรมกัน และเมื่อถูกก็ว่าถูก ควรชมก็ชม ควรส่งเสริมก็ส่งเสริม ดั่งนี้
แม้ในข้อกรุณาก็เหมือนกัน ต้องมีอุเบกขาเป็นหลัก รู้จักผิดรู้จักถูก ไม่ใช่ว่าจะต้องช่วยกันไปทุกเรื่องทุกราว แม้ว่าคนที่รักของตนไปทำผิดต้องโทษทางบ้านเมือง ก็เป็นอันว่าต้องวางอุเบกขา ช่วยไม่ได้ เขาต้องไปตามความผิดของเขา ตามโทษานุโทษ ตามกฎหมายบ้านเมือง ถ้าหากว่าไม่มีอุเบกขา..จะต้องช่วยละ ก็เป็นอันว่าช่วยให้นักโทษแหกคุก ช่วยให้คนที่รักแหกคุก อะไรเหล่านี้เป็นต้น ดั่งนี้เป็นการช่วยในทางที่ผิด ก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีใจเป็นอุเบกขาวางใจเป็นกลางได้ รู้จักผิดรู้จักถูกอยู่แล้วก็จะทำให้ช่วยในสิ่งที่ควรช่วย แต่สิ่งที่ช่วยไม่ได้ ก็ต้องวางอุเบกขา ช่วยไม่ได้
แม้ในข้อมุทิตาก็เหมือนกัน ก็ต้องมีความพลอยยินดีในทางที่ถูก ถ้าพลอยยินดีในทางที่ผิดแล้ว ก็ทำให้เสีย เหมือนอย่างที่มีนิทานสุภาษิตสอนเอาไว้ถึงพ่อแม่ที่ส่งเสริมให้ลูกเป็นโจร เมื่อลูกไปขโมยทรัพย์ของผู้อื่นมา พ่อแม่ก็ดีใจสรรเสริญ เออ ..ว่าเก่ง ไปเอานั้นเอานี่มาได้ ก็ทำให้ลูกนั้นฮึกเหิม ลักขโมยเขายิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงเมื่อเติบใหญ่แล้วก็ถูกจับต้องโทษในฐานะเป็นโจร อย่างนี้ก็เพราะมุทิตาของพ่อแม่ ลูกไปทำผิดได้อะไรมาให้ก็ดีใจส่งเสริม เป็นมุทิตาในทางที่ผิด ดั่งนี้ก็เพราะขาดอุเบกขา คือความที่มีใจเป็นกลาง คือมีใจยุติธรรมดังที่กล่าวมา
เพราะฉะนั้น อุเบกขาข้อนี้จึงเป็นหลัก ทำให้การปฏิบัติในเมตตากรุณามุทิตานั้นเป็นไปโดยถูกต้องด้วย ทั้งทำให้ปฏิบัติทำเมตตากรุณามุทิตายิ่งๆ ขึ้นด้วย ไม่ใช่หมายความว่า มีอุเบกขาคือวางเฉยไม่ต้องช่วยอะไร ดั่งที่มีผู้เข้าใจผิดไปเขียนแสดงถึงพุทธศาสนาสอนให้มีอุเบกขา เล่าถึงเรื่องที่ลงเรือเที่ยวไปในแม่น้ำ และก็มีผู้ที่ตกน้ำ และก็มีผู้พูดขึ้นว่าพระพุทธเจ้าสอนให้อุเบกขา ให้วางเฉยไม่ต้องช่วย เขาเขียนแสดงถึงความแปลการแปลความหมายในธรรมะไปในทางที่ผิด เพื่อทำลายพุทธศาสนาดั่งนี้
เพราะอันที่จริงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอุเบกขาอย่างนี้ เมื่อควรจะต้องช่วยก็ต้องช่วย เช่นคนตกน้ำก็ต้องพยายามช่วย แม้ว่าตนเองจะกระโดดลงไปช่วยอุ้มเอาขึ้นมาไม่ได้ ก็หาทางช่วยด้วยวิธีอื่น เช่นเรือหาแพอะไรไปช่วย หรือว่าถ้าเป็นคนสามารถว่ายน้ำเก่ง ลงไปช่วยได้ ก็กระโดดลงไปช่วย แต่หากว่าถ้ากระโดดลงไปช่วยไม่ได้เพราะจะทำให้เป็นอันตรายไปด้วยกัน ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าจนใจต้องหาวิธีอื่น ไม่ใช่ว่าดูดาย อันแสดงถึงความที่มีใจที่เรียกว่าใจดำ ไม่ใช่สอนอย่างนั้น สอนให้ช่วย
แต่ว่าเมื่อไม่เข้าใจ ก็ไปสอน ก็ไปแสดงว่าพุทธศาสนาสอนให้อุเบกขา ไม่ต้องช่วยกันละ ไอ้ที่มันตกน้ำไปก็เพราะกรรมของเขาทำให้ตกน้ำ แล้วไปแปลความหมายของกรรมไปว่าอย่างนั้น คือแปลความหมายของการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปลงใจลงในกรรม ก็ไปแสดงอย่างนั้นว่าเป็นกรรม กรรมของคนตกน้ำไม่ต้องไปช่วย ให้วางอุเบกขา ดั่งนี้เป็นการที่แสดงธรรมะผิด แกล้งแสดงบิดเบือนให้ผิดไปจากความเป็นจริง หรือว่าเข้าใจผิดอย่างนั้น
การเข้าใจธรรมะผิดดั่งนี้ย่อมมีโทษมาก เมื่อไปปฏิบัติเข้า ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความเข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง การปฏิบัติจึงจะถูกต้อง อุเบกขาย่อมมีหลักในการปฏิบัติสำคัญดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้น ในการเจริญพรหมวิหารจึงต้องเจริญปฏิบัติให้ถึงข้อที่ ๔ จึงจะเป็นพรหมที่ครบสี่หน้าโดยสมมติ คือเป็นพรหมวิหารที่สมบูรณ์ และแม้ในข้อนี้ก็ต้องปฏิบัติไปตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ คือจะต้องมีสติกำหนดดูถึงสัตว์บุคคลที่จะปฏิบัติในอุเบกขา และก็ต้องตั้งจิตพิจารณาลงไปในกรรมในผลของกรรมโดยถูกต้อง
และจะต้องมีธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม เมื่ออะไรบังเกิดขึ้นในใจ ในการปฏิบัตินี้ ถ้าเป็นความยินดีความยินร้ายความโสมนัสโทมนัส ก็เรียกว่าผิด ถ้าหากว่าเป็นความสงบโสมนัสโทมนัสได้ สงบราคะปฏิฆะได้ และทำไปด้วยความรู้ที่พิจารณาลงไปในกรรมในผลของกรรมโดยถูกต้อง ใจก็เกิดเป็นกลางขึ้นได้โดยถูกต้อง ดั่งนี้เป็นเรื่องของธัมวิจยะและเมื่อจำแนกได้ดั่งนี้แล้วก็ต้องทำความเพียรที่จะละฝ่ายผิด ปฏิบัติในฝ่ายถูก คืออุเบกขาที่บริสุทธิ์นี้ให้บังเกิดขึ้น ก็เป็นวิริยะ
และก็จะได้ปีติ ได้ปัสสัทธิ ได้สมาธิ ได้อุเบกขาในโพชฌงค์ คือในธรรมะ คือความที่มีใจเพ่งเข้ามาไม่เพ่งออกไป มีลักษณะเป็นความที่วางคือไม่ยึดถือ เป็นลักษณะที่เฉยคือไม่วุ่นวาย สงบอยู่ในภายในได้ เป็นใจที่ยุติธรรม ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขาในโพชฌงค์ และอุเบกขาในโพชฌงค์นี้เองก็ไปทำให้การปฏิบัติอุเบกขาในสัตว์บุคคลเป็นไปโดยถูกต้อง
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป