แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน อันวิญญูคือผู้รู้นั้นก็คือรู้ด้วยสติและปัญญา อันเกิดจากการปฏิบัติอบรมสติและปัญญาให้บังเกิดขึ้น อาศัยปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร และแม้ว่าจะมีหมวดข้อแห่งธรรมะเป็นอันมาก แต่ก็เป็นไปตามพระพุทธภาษิต ที่ตรัสไว้ว่า เอกายโนมัคโค เป็นทางที่ต่อเนื่องกันเป็นอันเดียวกัน พูดสั้นว่าเป็นทางเดียวกัน
ปริยัติสัทธรรม
และแม้ว่าในการแสดงซึ่งเป็นปริยัติจะต้องแสดง ยกขึ้นแสดงข้อใดข้อหนึ่งแยกแยะออกไป ซึ่งเป็นการจำแนกแจกธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกเอาไว้ ซึ่งดูเป็นการจำแนกออกไปให้มากข้อ อาจเห็นว่าเป็นการยากต่อการจดจำ ยากต่อการปฏิบัติ ทำให้เกิดความลังเลสงสัย หรือไขว้เขว นี้ก็เป็นธรรมดาของปริยัติ คือคำสั่งสอนซึ่งเป็นการจำแนกแจกธรรม
ดังในพระพุทธคุณบทว่า ภควา ซึ่งมีความหมายอย่างหนึ่งว่า ผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน เมื่อเป็นวาจาออกมาอันจะฟังได้ทางหูอาศัยโสตประสาท หรือแม้ในภายหลังนี้เป็นหนังสือขึ้นมา อ่านได้ทางตาจักขุประสาท ก็ชื่อว่าเป็นปริยัติทั้งนั้น ซึ่งรวมอยู่ในสัทธรรม ๓ ข้อแรกคือปริยัติสัทธรรม อันนับว่าเป็นหลักสำคัญในเบื้องต้น
ลำดับของการปฏิบัติ
แต่ว่าเมื่อจับปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้โดยลำดับ ดังในมหาสติปัฏฐานสูตร อันเริ่มด้วยอานาปานปัพพะ ข้อว่าด้วยลมหายในเข้าออก ในหมวดกายานุปัสสนา ก็ให้ปฏิบัติไปตามที่ทรงสั่งสอนไว้นั้น ดังที่ตรัสสอนไว้ว่าให้ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง นั่งตั้งกายตรง ขัดบัลลังก์ คือนั่งขัดสะหมาด หรือขัดสมาธิ ดำรงสติจำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ดั่งนี้เป็นต้น
ซึ่งพระอาจารย์ได้แสดงแนวปฏิบัติในข้อนี้ไว้ เป็นการอธิบายพระพุทธพจน์โดยตรง กันหลายวิธี แต่เมื่อรวมเข้ามาแล้วก็เพื่อให้จิตรวมเข้ามากำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ดังที่ได้ตรัสสอนเอาไว้เป็นหลักในการปฏิบัติไว้ว่า มีสติกำหนดรู้ภายในภายนอก ทั้งภายในทั้งภายนอก มีสติกำหนดรู้ว่ามีเกิดเป็นธรรมดา มีเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดทั้งเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา
ในข้อนั้นๆ เช่นในข้อต้นคือกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ก็ให้มีสติกำหนดรู้ดังกล่าว ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก หรือว่าตั้งสติกำหนดว่าข้อนั้นข้อนั้นมีอยู่เช่นในข้อดังกล่าวนี้ก็ตั้งสติกำหนดรู้ว่า ลมหายใจเข้ามีอยู่ ลมหายใจออกมีอยู่ เพื่อสักแต่ว่ารู้ หรือเพียงเพื่อรู้ เพื่อเพียงว่าเป็นที่ตั้งสติ โดยไม่ติดอยู่ด้วยความยินดียินร้าย หรือประกอบด้วยความยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก ดั่งนี้
อนุปัสสนา
ทุกๆ ข้อ เมื่อปฏิบัติดังกล่าวนี้ก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติทำสติ คือความกำหนดรู้ ทำให้จิตสงบสงัดจากกามเป็นต้นว่าความยินดีความยินร้าย พร้อมทั้งอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความยินดียินร้ายทั้งหลาย ซึ่งก็รวมเข้าในกายเวทนาจิตธรรมเหล่านี้นั่นแหละ (เริ่ม) และเมื่อเป็นดั่งนี้ จิตจึงชื่อว่าเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นอยู่ในกายเวทนาจิตธรรมข้อนั้นๆ ตามแต่จะยกขึ้นมาเป็นที่ตั้งของสติอันเรียกว่ากรรมฐาน และชื่อว่าได้สมถะคือความสงบ คือสงบใจ จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นสมาธิเป็นสมถะซึ่งได้ในคำว่า อนุปัสสนา รู้ตามเห็นตาม ในคำว่ากายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา ก็คือว่ากายเวทนาจิตธรรม รวมเข้าด้วยอนุปัสนาทุกบท ก็คือเห็นตามรู้ตามได้แก่รู้ทันเห็นทันนั้นเอง ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
ปัญญาที่เห็นเกิดดับ
และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้ได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ในลักษณะที่เป็นไปเองของกายเวทนาจิตธรรมทุกข้อ ก็คือว่าเกิดดับ ทำให้ได้ปัญญาที่เรียกว่าวิปัสสนา คืออนุปัสสนานั้นเองมาเป็นวิปัสสนา เห็นแจ้งรู้แจ้ง ก็ได้ในคำว่ารู้เท่าในความเกิดดับของอะไรๆ ทุกอย่างในโลก ซึ่งอะไรๆ ทุกอย่างในโลกนั้นก็รวมเข้าในกายในเวทนาในจิตในธรรมนี่แหละ ทุกอย่างเกิด ทุกอย่างนั้นก็ดับ เป็นไปอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะของอะไรๆ ในโลกนั้นเอง ต้องเกิดต้องดับ ไม่มีอะไรๆ ในโลกที่ไม่เกิดไม่ดับ
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ทันอะไรๆ ในโลก ก็ชื่อว่ารู้ทันโลก เมื่อรู้เท่าอะไรๆ ในโลก ก็ชื่อว่ารู้เท่าโลก การที่จะรู้จักโลก ก็คือรู้อะไรๆ ในโลกนั้นเอง คำว่าอะไรๆ นั้นก็หมายความว่าทุกอย่างในโลก ชื่อว่าอะไรๆ ในโลกทั้งหมด และเมื่อรู้ดั่งนี้ก็ชื่อว่ารู้จักโลก ก็คือรู้จักอะไรๆ ในโลกนั้นเอง และจะชื่อว่ารู้จักโลกนั้นก็คือว่าจะต้องรู้ทันโลกรู้เท่าโลก รู้ทันก็คือว่าต้องได้อนุปัสสนา รู้ตามเห็นตาม เหมือนอย่างว่าจะเดินตามใครก็ตาม จะวิ่งตามใครก็ตาม ก็ต้องการที่จะให้เดินตามทันหรือวิ่งตามทัน ใครๆ นั้น และเมื่อวิ่งตามทัน หรือเดินตามทัน ก็เป็นอันว่าทันกัน ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่ทันกัน และเมื่อทันกันแล้ว จึงเป็นอันว่าได้มาถึงเท่ากันเสมอกัน
เพราะฉะนั้น อนุปัสสนาคือเห็นตามก็คือเห็นทัน วิปัสสนาคือเห็นแจ้งรู้แจ้ง ก็คือว่ารู้เท่า เมื่อรู้เท่าดั่งนี้จึงจะแจ้งหรือว่าแจ่มแจ้งอยู่ในสิ่งที่รู้นั้น เมื่อรู้ทันอันเป็นวิปัสสนา จึงจะเป็นอันว่าได้ทันกันทั้งภายในทั้งภายนอก ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นอันว่าไม่ทัน เมื่อทันกันทั้งภายในทั้งภายนอกของสิ่งนั้น จึงเป็นอันว่าทันกัน เพราะฉะนั้นอนุปัสสนาจึงต้องเห็นตามรู้ตามทั้งภายในทั้งภายนอก ภายในภายนอกของสิ่งนั้นๆ เองที่เป็นไปอยู่ และวิปัสสนาเห็นแจ้งรู้แจ้ง ซึ่งเป็นรู้เท่า ก็คือรู้เท่าถึงลักษณะที่เป็นไปอยู่ของสิ่งนั้นๆ คือเกิดดับ คือสิ่งนั้นๆ มีลักษณะเป็นไปอยู่เท่าใดก็รู้เท่านั้น ไม่รู้หย่อนไปกว่านั้น ไม่รู้เกินไปกว่านั้น
เกิดดับ สันตติ
และอะไรๆ ในโลกนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดที่ดับ ซึ่งเป็นการกล่าวโดยสรุป เกิด ดับ หัวท้าย หัวก็เกิด ท้ายก็ดับ แต่เมื่อแสดงโดยพิสดารออกไปอีกก็แถมตั้งอยู่ซึ่งอยู่ตรงกลาง คือก่อนจะดับก็ตั้งอยู่ ซึ่งตั้งอยู่นี้ก็ตั้งอยู่เร็วบ้าง ช้าบ้าง และในข้อที่ว่าเร็วหรือช้านี้ก็แสดงได้ถึงภาวะของสิ่งนั้นเองที่เร็วหรือช้า หรือแสดงถึงความที่สามารถต่อเนื่องกันไปได้เร็วหรือช้า คือในเนื้อแท้ความตั้งอยู่นั้นชั่วขณะเดียว แล้วก็ดับไป ซึ่งความตั้งอยู่ขณะเดียวนี้ของจิตกับของกาย ของจิตย่อมเร็วกว่าของกาย ซึ่งเป็นภาวะที่ตั้งอยู่จริงๆ แต่แม้เช่นนั้นก็ไม่ช้ามาก เพราะฉะนั้นเมื่อแสดงอย่างละเอียดแล้ว เกิดดับจึงมีอยู่ทุกขณะของอะไรๆ ในโลก โดยเฉพาะของร่างกายอันประกอบด้วยจิตใจและชีวิตนี้ หรือว่าของนามรูปนี้ ของเบญจขันธ์นี้ ของกายใจนี้ ย่อมเกิดดับอยู่ทุกขณะโดยละเอียด
และบางอย่างก็มีอาการที่แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นเช่นนั้น แม้ของกายเอง เช่นความตั้งอยู่ของอวัยวะที่ละเอียดมากในร่างกายนี้ เช่นสมองต้องอาศัยมีโลหิตเข้าไปหล่อเลี้ยงอยู่ทุกขณะ ถ้าหากว่าเกิดเส้นโลหิตอุดตันเพียงระยะสั้น สมองก็เสียไปแล้ว นี้แสดงว่าแม้อวัยวะทางร่างกายที่ละเอียดนั้นก็เกิดดับอยู่ แต่อาศัยที่มีเครื่องหล่อเลี้ยงเข้าไปต่อเนื่องกัน นี้แหละเรียกว่าสันตติซึ่งทำให้เห็นเป็นยาว ดังชีวิตของทุกๆ คนนี้ ทั้งส่วนกายทั้งส่วนใจก็เกิดดับ หรือรวมว่า เวทนา จิต ธรรม ทั้ง ๔ นี้ก็เกิดดับอยู่ทุกขณะ แต่อาศัยที่มีสันตติคือความสืบต่อ จึงได้ยาวตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดขึ้นมา จนถึงจะสิ้นสันตติคือความสืบต่อจึงดับสลายไปในที่สุด จึงทำให้อายุของชีวิตนี้ต่างๆ กัน สั้นบ้างยาวบ้าง และยาวนั้นก็ไปจนถึงสิบๆ ปี เจ็ดสิบปี แปดสิบปี เก้าสิบปี หรือถึงร้อยปีเกินไปก็น้อย ก็สิ้นสันตติก็ดับกันในที่สุด
วิปัสสนา
เพราะฉะนั้นวิปัสสนานั้นก็คือพิจารณาให้เห็นเกิดดับ เป็นอันให้รู้เท่าของอะไรๆ ในโลก หรือว่าของกายเวทนาจิตธรรมอะไรๆ ในโลก คือทั้งหมดในโลก หรือว่า โลกทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดดับ ดังนี้เป็นวิปัสสนา ซึ่งเมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานตาม เอกายนมรรค คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ให้ถูกต้องแล้ว ก็จะทำให้ได้สมาธิได้สมถะ สืบไปจนถึงได้ปัญญาและวิปัสสนา ซึ่งเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสและกองทุกข์ ก้าวล่วงโสกะปริเทวะคือความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ ดับทุกข์โทมนัส บรรลุญายธรรมคือธรรมะที่พึงบรรลุ ทำให้แจ้งนิพพาน ดับสิ้นกิเลสและกองทุกข์ในที่สุด ก็อาศัยเอกายนมรรคทางไปอันเอก คือสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้นี้
และการปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น ก็อาศัยการปฏิบัติไปตามบทที่ทรงสั่งสอนนั้นแหละ สุดแต่จะเลือกเอาข้อใดข้อหนึ่ง โดยไม่ต้องไปลังเลสงสัย หรือไปคิดสับสนเอาเอง และเมื่อปฏิบัติไปตามทางแล้ว ก็จะได้สติที่ไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม รวมกันอยู่แห่งเดียวกัน ติดต่อไปด้วยกัน เพราะว่ากายนี้ก็มีเวทนามีจิตมีธรรมประกอบอยู่ เวทนานี้เล่าก็มีกายมีจิตมีธรรมประกอบอยู่ จิตนี้เล่าก็มีกายมีเวทนามีธรรมประกอบอยู่ ธรรมนี้เล่าก็มีกายมีเวทนามีจิตประกอบอยู่ เป็นก้อนเดียวกัน ในการปฏิบัตินั้นเพียงแต่ว่ายกขึ้นมาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นที่ตั้งของสติ
และเมื่อสติตั้งขึ้นได้แล้ว สติกำหนดรู้กายแล้ว ก็ย่อมจะรู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม แม้ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกันแต่ว่าการปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น เมื่อจับตั้งแต่ข้อกายย่อมสะดวกดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว และย่อมเป็นเหตุเป็นผลที่ส่งเสริมกันไปด้วย จะพึงกล่าวได้ว่ากายก็ปรุงเวทนา เวทนาก็ปรุงจิต จิตก็ปรุงธรรม หรืออีกอย่างหนึ่งเวทนานั้นเองก็ปรุงกาย ปรุงจิต ปรุงธรรม จิตนั้นเองก็ปรุงกาย ปรุงเวทนา ปรุงธรรม ธรรมะนั้นเองก็ปรุงกาย เวทนา จิต อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปอยู่ คือ ๔ ข้อนี้อิงกันอยู่เป็นชีวิตร่างกายอันนี้
และทำสติ และทำปัญญาให้รู้เท่า ให้รู้ทันรู้เท่าดังที่กล่าวมา คือให้เป็นอนุปัสสนา และเป็นวิปัสสนาตามที่กล่าวมา ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติที่สงเคราะห์เข้าในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นั้นเอง คือเป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นหลักในการปฏิบัติ และก็จะสืบต่อขึ้นไปเอง คือเมื่อได้สัมโพชฌงค์ ๓ ข้อนี้ ก็ย่อมจะได้ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ขึ้นไปโดยลำดับ อันจะต่อไปให้ถึงญาณในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นหมวดสุดท้ายในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้
และตามที่ตรัสจำแนกเอาไว้ เช่นในข้อนิวรณ์ ที่ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดรู้นิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิต พร้อมทั้งให้รู้ว่านิวรณ์เกิดขึ้นด้วยประการใด ดับไปด้วยประการใด ก็ตอบได้โดยสังเขปในทางปฏิบัติว่า นิวรณ์เกิดขึ้นก็เพราะว่าไม่มีสติที่รู้ทัน ไม่มีวิปัสสนาที่รู้เท่านิวรณ์ก็เกิดขึ้น นิวรณ์จะดับไปอย่างไร ด้วยมีสติที่รู้ทัน มีปัญญาที่รู้เท่า และที่ดับไปแล้วละไปแล้ว จะไม่บังเกิดอีกได้ด้วยประการใด ก็ด้วยการที่มีสติและปัญญาดังกล่าวนี้ หรือมีอนุปัสสนา มีวิปัสสนาดังที่กล่าวอย่างสมบูรณ์ เป็นอกุปธรรมธรรมะที่ไม่กำเริบ คือเป็นมรรคเป็นผลที่เป็นอริยมรรคอริยผล นั่นก็ทำให้นิวรณ์ที่ละแล้วไม่เกิดขึ้นอีกได้
แม้ในข้อโพชฌงค์นั้นเองก็เหมือนกัน ในข้ออายตนะที่แสดงถึงสังโยชน์ก็เหมือนกัน คือสังโยชน์นั้นที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็ด้วยประการที่ไม่มีสติไม่มีปัญญา ขาดสติขาดปัญญา จะละด้วยประการใด ก็ละด้วยสติด้วยปัญญา และที่ละไปแล้วจะไม่บังเกิดขึ้นอีกได้ด้วยประการใด ก็ด้วยประการที่มีสติมีปัญญา ที่เป็นมรรคผล ที่เป็นอกุปปธรรม ธรรมะที่ไม่กำเริบ
ในโพชฌงค์ก็เหมือนกัน โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็ด้วยประการที่มีสติมีปัญญา และที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ดับไปด้วยประการใด ก็ด้วยการที่มีสติปัญญาที่เป็นมรรคผล อันเป็นอกุปปธรรมธรรมะที่ไม่กำเริบ ก็เป็นเหตุผลที่อิงกันอยู่ดั่งนี้ อย่างง่ายๆ ในทางปฏิบัติ ซึ่งเข้าใจได้ง่าย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป