แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเองอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาในตน ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
อันความรู้จำเพาะตนนี้ย่อมเป็นธรรมดาของความรู้ทั้งหลาย แม้ความรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ ก็เป็นความรู้จำเพาะตน ความรู้ศิลปวิทยาการทั้งหลายก็เป็นความรู้จำเพาะตน ผู้ใดศึกษาเล่าเรียนผู้นั้นก็รู้จำเพาะตน เมื่อใครต้องการจะรู้ก็ต้องศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัจจะคือความจริง ที่เป็นของความรู้ทั้งหลายทุกอย่าง และก็พึงบอกผู้อื่นได้เพื่อให้รู้ตาม เท่าที่ภาษาที่ใช้อยู่จะพึงบอกได้
แต่จะให้ผู้รับบอก ได้รู้ได้เห็น เหมือนอย่างได้รู้ได้เห็นด้วยตนเองนั้นย่อมไม่ได้ ผู้ที่ต้องการจะรู้จะเห็นจริงๆ ก็ต้องปฏิบัติให้รู้ให้เห็นด้วยตนเอง เหมือนอย่างสิ่งทั้งหลายที่เห็นได้ด้วยตา ผู้ที่ไปเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยตาตนเอง และมาบอกผู้ที่ยังไม่ได้ไปเห็นด้วยตาตนเองนั้น ก็บอกได้เท่าที่ภาษาที่ใช้จะสามารถบอกได้ ก็พอให้ผู้ฟังได้ทราบทางที่จะไปสู่ที่นั้น และได้ทราบลักษณะบางประการของสิ่งนั้น แต่ว่าก็ไม่เหมือนอย่างไปเห็นด้วยตาตนเอง เมื่อไปเห็นด้วยตาตนเองนั่นแหละก็จะเห็นได้จริง และก็จะรู้ว่าคำที่บอกเล่านั้นเป็นจริงอย่างไร
แม้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงสั่งสอนก็เช่นเดียวกัน ก็ทำให้ผู้ฟังได้รู้ทางปฏิบัติที่จะได้รู้ได้เห็นธรรมะนั้น และได้ทราบลักษณะบางประการของธรรมะนั้น อันจะเป็นทางนำให้ไปดูให้รู้ให้เห็นด้วยตนเองได้ แต่ว่าต้องปฏิบัติตามที่ตรัสสอน เพื่อให้บรรลุถึงธรรมะที่ตรัสสอนนั้น จึงจะรู้จึงจะเห็นธรรมะนั้นด้วยตนเอง และก็จะได้ทราบทันทีว่าธรรมะที่ทรงสั่งสอนไว้นั้นเป็นความจริง เป็นธรรมะที่เป็นอย่างเดียวกับที่ตนได้ปฏิบัติ จนถึงรู้เห็นได้ด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นจึงได้ความรู้ขึ้นอย่างแน่นอนทันทีว่าอโหพุทโธ จริงหนอพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ ประเสริฐจริง เป็นผู้ตรัสรู้ อโหธัมโม ประเสริฐจริงธรรมะ อโหสังโฆ ประเสริฐจริงสังฆะหรือพระสงฆ์ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้
ข้อปฏิบัติที่รู้เห็นได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแสดงทางปฏิบัติในสติปัฏฐานดั่งที่ได้แสดงมา ผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติไปโดยลำดับก็ย่อมจะได้รู้ได้เห็นในธรรมะที่ตนปฏิบัติไปนั้น และเมื่อปฏิบัติให้ถูกทางเข้าทาง ย่อมจะได้พบสัจจะคือความจริงตามที่ทรงสั่งสอน และข้อที่ปฏิบัตินั้นก็เป็นข้อที่ปฏิบัติได้ที่รู้เห็นได้ ที่ว่ากันว่ายากหรือง่าย ก็ว่าไปตามพื้นปฏิบัติของผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติอยู่ในพื้นของตน ก็ย่อมรู้สึกว่าไม่ยาก เมื่อปฏิบัติที่อยู่สูงกว่าพื้นของตนขึ้นไป ก็อาจจะรู้สึกว่ายาก
แต่อันที่จริงนั้นการปฏิบัติไม่ยากไม่ง่าย เหมือนอย่างการขึ้นบันใดก็เป็นการไม่ยากไม่ง่าย จะเกิดยากเกิดง่ายก็ในเมื่อการขึ้นนั้นเมื่อขึ้นสูงทีเดียวมาก หรือก้าวขึ้นไปหลายๆ ขั้นทีหนึ่ง จึงจะรู้สึกว่ายาก และเมื่อจะก้าวขึ้นไปมากขั้นเกินไป ก็ไม่สามารถ คือเป็นอันว่าทำไม่ได้ และเมื่อก้าวขึ้นไปหยุดอยู่เฉยๆ หรือขึ้นไปทีละน้อย ก็อาจจะรู้สึกว่าง่าย ก็เป็นอันว่าอยู่ที่ขั้นของการปฏิบัติ พื้นของการปฏิบัติ เมื่อทำไปโดยลำดับแล้ว ก็เหมือนขึ้นบันใดไปตามลำดับขั้น ไม่ใช่เป็นการยากไม่ใช่เป็นการง่าย เป็นไปโดยปรกติธรรมดา
เอกายโนมัคโค
และแม้จับปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งตามที่ทรงสอน ก็ย่อมโยงถึงข้ออื่นได้ด้วย เพราะว่าธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้นเป็น เอกายโนมัคโค คือเป็นทางไปอันเดียวกัน ที่ต่อเนื่องกันไป ที่อยู่ในทางเดียวกัน เป็นอันเดียวกัน ไม่แตกแยก ดังที่ได้แสดงมาในสติปัฏฐานถึงข้ออายตนปัพพะ โพชฌังคปัพพะ ที่ต่อกัน และได้แสดงข้อที่ว่าด้วยโพชฌงค์ ซึ่งใช้เป็นหลักในการปฏิบัติทั้งฝ่ายสมถะและฝ่ายวิปัสสนา และจะได้ขยายความในข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ซึ่งได้ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้จักอายตนะภายใน อายตนะภายนอก ที่คู่กัน กับสังโยชน์ คือความประกอบใจไว้ หรือผูกใจไว้ ที่อาศัยความประจวบกันของอายตนะที่คู่กันนั้นบังเกิดขึ้น ซึ่งในข้อนี้นับว่าเป็นข้อหลักของผู้ปฏิบัติธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งโยงไปถึงข้ออื่น
สังโยชน์ นิวรณ์
อันสังโยชน์ หรือสัญโญชน์ ที่แปลว่าประกอบไว้ หรือผูกไว้ หมายถึงอาการที่จิตนี้ผูก หรือประกอบอยู่กับรูปที่เห็นทางตา ก็เรียกว่าผูกอยู่กับตาและรูปนั่นเอง ข้อนี้ย่อมมีอยู่แก่จิตที่เป็นกามาพจร คือที่ยังเที่ยวไปในกามโดยปรกติ เพราะว่าจิตที่ได้ออกรู้อารมณ์ รับอารมณ์ทางตา คือเมื่อตาและรูปประจวบกัน จิตก็ออกรับรูปทางตานั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นเรื่องที่นำมาผูกใจไว้ มาคิด มาปรุง
แม้ข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน คือในอายตนะข้อต่อๆ ไปที่เป็นคู่ๆ เช่นหูกับเสียงเป็นต้น ก็เช่นเดียวกัน จิตก็ออกรับมาเป็นอารมณ์ มาผูกใจไว้ แม้ว่าการที่อายตนะมาประจวบกันนั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ว่าอารมณ์ก็ยังติดค้างอยู่ในใจไม่ผ่านพ้นไป เพราะว่าจิตนี้เองผูกเอาไว้ ประกอบเอาไว้ หรือจะกล่าวว่ากิเลสที่เป็นเครื่องผูกเป็นเครื่องประกอบยังผูกอารมณ์ไว้กับจิตก็ได้ นี่แหละคือสัญโญชน์
และสังโยชน์ หรือสัญโญชน์ ดังที่กล่าวมานี้ ท่านยกเอา ฉันทราคะ ความติดด้วยอำนาจของความพอใจ หรือพูดรวมกันว่าความพอใจรักใคร่ หรือความพอใจติดใจก็ได้ ลักษณะดังกล่าวนี้จึงเป็นกามฉันท์นิวรณ์ และเมื่อมีกามฉันท์นิวรณ์ ก็มีนิวรณ์ข้ออื่นๆ มีพยาบาทนิวรณ์เป็นต้น ทั้ง ๕ ข้อ ก็สืบเนื่องมาจากอาการที่จิตผูกไว้หรือประกอบไว้ ดังกล่าวนี้นั่นเอง เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าสังโยชน์หรือสัญโญชน์ดังกล่าวนี้ก็คือนิวรณ์ หรือว่านำให้บังเกิดเป็นนิวรณ์ต่อไปก็ได้ โดยที่จะต้องมีผูกมีประกอบใจไว้ก่อน เรื่องรักเรื่องชังจึงจะบังเกิดขึ้นต่อไป ถ้าหากว่าใจไม่ผูกไว้ไม่ประกอบไว้ซึ่งอารมณ์ทั้งปวงนั้น รักชังก็จะไม่เกิด จะว่าดั่งนี้ก็ได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ใจผูกเอาไว้ประกอบเอาไว้ ไม่ปล่อย
จิตที่เป็นกามาพจร
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้ทำสติในขณะที่ตากับรูปประจวบกัน จนถึงมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกันเป็นต้น ในตอนนี้ยังไม่ได้ตรัสสอนให้ละ ตรัสสอนให้รู้ ให้มีสติรู้จักตา ให้มีสติรู้จักรูปที่ตาเห็น ให้มีสติรู้จักสังโยชน์ คืออาการที่ใจผูก หรือประกอบไว้ในรูปที่ตาเห็นนั้น คือว่าจิตที่เป็นกามาพจรย่อมจะต้องมีการผูก หรือการประกอบไว้ดังกล่าวนี้ เพราะฉะนั้น ในขั้นแรกจึงยังไม่ตรัสสอนให้ละ แต่ตรัสสอนให้รู้จัก ให้รู้จักตา รู้จักรูป รู้จักสัญโญชน์ที่อาศัยตาและรูปบังเกิดขึ้น คือให้ทำสติคอยตามดู ตามรู้ตามเห็นอาการของจิต ที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ตามปรกติ
เพราะว่าโดยปรกติสามัญชนนั้น ไม่ใช้สติเข้ามาดูเข้ามารู้เข้ามาเห็นภาวะทางจิตใจของตนว่าเป็นอย่างไร แต่ไปเกาะติดอยู่ที่อารมณ์นั้นเอง ไปปรุงอารมณ์นั้นเอง อารมณ์ที่จะปรุงนั้นก็ต้องตั้งขึ้นในใจ คือตั้งขึ้นในจิตก่อน ถ้าหากว่าอารมณ์ไม่ตั้งขึ้นในจิต จิตก็ไม่สามารถจะปรุงได้ อารมณ์ต้องตั้งขึ้นในจิต อารมณ์จะตั้งขึ้นในจิตได้ก็ต้องมีการผูกไว้ มีการประกอบไว้ เหมือนอย่างวัตถุที่เอามือกำเอาไว้ หยิบก้อนหิน กำก้อนหินไว้ ก้อนหินก็อยู่ในมือ ต่อเมื่อแบมือ ไม่กำ ปล่อยมือลงก้อนหินก็ตกลง
เพราะฉะนั้น ลักษณะแรกที่สุดก็คือว่าเกาะเอาไว้ กำเอาไว้ ก็คือว่าประกอบไว้ ผูกไว้นี้เอง ต้องมีอาการดั่งนี้บังเกิดขึ้นก่อน คือตั้งขึ้นในจิตก่อน ผูกไว้ในจิตก่อน แล้วจิตก็ปรุง จึงเป็นรักเป็นชังต่างๆ (เริ่ม) ถ้าหากว่าจิตปล่อย ไม่กำเอาไว้ ไม่ผูกเอาไว้ ไม่ประกอบไว้ การปรุงก็มีขึ้นไม่ได้ รัก ชัง หลง ต่างๆ ก็มีไม่ได้
สติกำหนดรู้กระบวนของจิต
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้รู้ทันภาวะของจิตที่เป็นไปอยู่ดังที่กล่าว ดั่งนี้เป็นตัวสติในข้อนี้ และเมื่อได้มีสติทันในข้อนี้ จึงได้ตรัสสอนให้ทำความรู้จักต่อไป ว่าสังโยชน์ดังกล่าวนี้บังเกิดขึ้นด้วยประการใด และจะดับไปด้วยประการใด ละไปด้วยประการใด และเมื่อละได้แล้วดับไปได้แล้วจะไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไปด้วยประการใด
เมื่อพิจารณาตามแนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน ก็ต้องอาศัยความที่มีสติให้รู้ทันต่อกระบวนของจิตดังที่กล่าว และเมื่อรู้ทันกระบวนของจิตดังที่กล่าว ก็จะทำให้มีความรู้ในอาการที่ปรุงของจิต เป็นรักเป็นชังเป็นหลงที่เรียกว่านิวรณ์นั้นได้ต่อไป
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
และเมื่อกำหนดรู้ได้ดั่งนี้ ก็อาศัยทางปฏิบัติที่ตรัสสอนไว้ในข้อที่ว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และอุปาทานต่อไป จึงมาถึงข้อเวทนา ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อเวทนา ให้รู้จักเวทนา แต่การรู้จักเวทนานั้นต้องให้รู้ถึงความดับเวทนาด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อเห็นความเกิดดับของเวทนา อันเป็นข้อเวทนาสติปัฏฐานนั้นเอง ในขณะที่ตากับรูปได้ประจวบกันก็ย่อมจะเกิดเวทนา เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความเกิดดับของเวทนา ก็ย่อมจะเป็นเครื่องป้องกัน ไม่ให้สัญโญชน์บังเกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อเห็นดับใจก็ไม่ผูกในสิ่งที่ดับ
ใจจะผูกในสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ไม่ดับ แต่ว่าเมื่อเห็นดับในสิ่งใดจิตจะไม่ผูกในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ความเห็นเกิดเห็นดับคู่กันไปทันทีในเวทนา จึงนำให้จิตนี้ไม่ผูกในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของเวทนา เพราะจะต้องเกิดเวทนาขึ้นมาก่อน เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อเป็นสุขเวทนาในสิ่งใด สัญโญชน์ก็บังเกิดขึ้นในสิ่งนั้น เป็นฝ่ายกามฉันท์ หรือฉันทราคะ หรือราคะ ทุกขเวทนาบังเกิดขึ้นในสิ่งใด สัญโญชน์ในทางปฏิฆะกระทบกระทั่งหรือพยาบาทก็บังเกิดขึ้น เวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบังเกิดขึ้นในสิ่งใด สัญโญชน์อันเป็นฝ่ายโมหะ คือความหลงก็บังเกิดขึ้น
ที่กล่าวดั่งนี้เป็นการกล่าวรวมสังโยชน์กับนิวรณ์เข้าด้วยดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น เพราะเป็นกิเลสที่ใกล้กันที่สุด ประกอบกันอยู่ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในสติปัฏฐาน จึงต้องอาศัยในข้อเวทนาเข้ามาประกอบ
กายปรุงเวทนา เวทนาปรุงจิต
และในข้อเวทนานี้เล่า สิ่งที่ปรุงเวทนานั้นก็อยู่ที่กายนั้นเอง หรือจะกล่าวว่าก็คืออายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ ข้อนั้น พร้อมทั้ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้ง ๕ ข้อที่คู่กัน ก็ล้วนเป็นกายทั้งนั้น คือเป็นรูปกายทั้งนั้น มโนกับธรรมะอันเป็นคู่ที่ ๖ คือใจก็ประกอบอยู่ด้วยกันกับกาย ก็นับเข้าในข้อกาย สำหรับมโนกับธรรมะคือเรื่องราวก็ประกอบอยู่ด้วยกัน ไม่แยกจากกัน ในขณะที่ยังดำรงชีวิตอยู่ ยังมีอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยการปฏิบัติในข้อกายานุปัสสนา เห็นเกิดเห็นดับของกาย เมื่อเห็นเกิดเห็นดับของกาย ก็จะทำให้เวทนานั้นไม่เกิดเป็นปัจจัย คือเป็นเหตุให้เกิดสังโยชน์ ให้เกิดกิเลส
พิจารณาให้เห็นเกิดดับ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อกาย ก็ต้องอาศัยปฏิบัติประกอบเข้ามาด้วย และการที่พิจารณาให้เห็นเกิดเห็นดับของกายนั้นเห็นได้ง่าย สืบมาเวทนา ก็ปฏิบัติให้เห็นเกิดเห็นดับได้ เพราะกายนี้เองก็ปรุงเวทนา เวทนาเองก็ปรุงจิตให้เป็นต่างๆ และธรรมะนั้นเองก็เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิต อันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากเวทนาปรุงจิตนั้นอย่างหนึ่ง และเป็นผลที่บังเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือการปฏิบัติธรรมอีกทางหนึ่งประกอบกัน
เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าความสำคัญจึงอยู่ที่ความที่มีสติ มากำหนดให้รู้จักอายตนะภายในภายนอก ให้รู้จักสัญโญชน์ และแยกออกไปได้ กำหนดให้รู้จักอายตนะภายในภายนอกนั้นเป็นกาย ก็คือเป็นกายนี้เองซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ให้รู้จักเกิด ให้รู้จักดับ และกายนี้เองคืออายตนะภายในภายนอกนี่เองมาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา ก็กำหนดให้รู้จักเวทนา และกำหนดให้รู้จักจิตที่สืบเนื่องกัน ซึ่งต่างก็ปรุงกันและกัน จนถึงปรุงเป็นกิเลสขึ้น แต่เมื่อกำหนดดูให้รู้จักเกิดจักดับอันเป็นข้อสำคัญแล้ว ก็จะทำให้ไม่เกิดเวทนาที่ก่อกิเลส และไม่ปรุงจิตก่อกิเลสเป็นสัญโญชน์คือผูกใจขึ้น
เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จิตใจนี้จะไม่ผูกพันประกอบอยู่กับสิ่งดับ เมื่อเห็นดับเสียแล้วใจก็ไม่ผูก ใจก็ปล่อย ใจก็วาง เมื่อสัญโญชน์ไม่มีคือไม่ผูก ก็ไม่มีอะไรจะปรุงจะแต่งให้เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง หรือเป็นรักเป็นชังเป็นหลงขึ้นมาได้ ก็ไม่บังเกิดเป็นกิเลสขึ้นมา
การปฏิบัติดั่งนี้จึงต้องอาศัยสัมโพชฌงค์ทั้ง ๓ ข้อดังที่กล่าวมา คือต้องอาศัยสติ ต้องอาศัยธัมวิจัยเลือกเฟ้นธรรม ให้รู้จักธรรมะที่เป็นไปในกระบวนของจิต และให้มีวิริยะคือความเพียร เพียรที่จะละส่วนที่เป็นกิเลส อบรมส่วนที่เป็นสติที่เป็นปัญญาให้บังเกิดขึ้น ให้สตินี้เป็นสติที่รู้ทัน และให้มีปัญญาที่เป็นความรู้เท่า ความรู้เท่าของกายเวทนาจิตธรรมที่เกิดดับ และเมื่อความเกิดดับปรากฏขึ้น จิตก็จะไม่มีสังโยชน์คือผูก และเมื่อจิตไม่มีสังโยชน์คือผูก ก็ไม่ปรุงให้เป็นรักเป็นชังเป็นหลงอะไรขึ้นมา ทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับไปตามธรรมดา จะต้องมีสติที่รู้เท่าเสียก่อน จึงจะได้ปัญญาที่รู้ทันในความเกิดความดับของสิ่งทั้งหลาย
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป