แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสั่งสอน ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้ง ๖ บทนี้ แต่การแสดงอธิบายได้จำแนกไปแต่ละข้อ เพื่อเห็นชัดตามพยัญชนะคือถ้อยคำ และอรรถคือเนื้อความของข้อนั้นๆ และก็ได้แสดงมาจนถึงข้อสุดท้าย และตั้งข้อสุดท้ายเป็นหลักอธิบายมาหลายครั้ง จนถึงมาจับอธิบายธรรมะในมหาสติปัฏฐานสูตร
และเมื่อมาถึงข้อโพชฌงค์ ๗ ก็ได้แสดงอธิบายว่า ข้อโพชฌงค์ ๗ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ทั้งในธรรมะที่เป็นลำดับหมวดกันไป และได้ตรัสไว้โดยเอกเทศอีกด้วย ( เริ่ม) ซึ่งทรงแสดงเป็นหลักในการปฏิบัติธรรม ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานทุกข้อทุกบท ดังที่ได้ยกเอาพรหมวิหาร ๔ มาเป็นนิทัศนะ คือเป็นเครื่องแสดงให้เห็นตามหลักดังกล่าว เพราะฉะนั้น หมวดโพชฌงค์นี้จึงเป็นหมวดสำคัญ จะได้แสดงต่อไปตามแนวปฏิบัติ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมะที่เป็นองค์พระคุณของความรู้พร้อมคือสติ ความระลึกได้ หรือความกำหนดรู้ และธัมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือธัมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม วิจัยธรรม และ วิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียรละส่วนที่เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นโทษ เพียรธรรมบำเพ็ญส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศลเป็นคุณ ทั้งสามข้อนี้เป็นหลักในการปฏิบัติทั่วไป
และก็พึงเข้าใจด้วยว่าในการปฏิบัติทำสติก็ดี ธัมวิจยะก็ดี ทำความเพียรก็ดี ต้องให้เป็นสัมโพชฌงค์ หรือโพชฌงค์ คือให้ประกอบด้วยความรู้ด้วย ดังที่ได้มีแสดงองค์ประกอบในการปฏิบัติทุกอย่างว่าให้มีโยนิโสมนสิการ คือการทำไว้ในใจโดยแยบคาย ได้แก่การใช้ความใคร่ครวญในข้อที่ปฏิบัติของตน จับเหตุจับผลให้ถูกต้อง ตั้งแต่เบื้องต้นไปโดยตลอด กับอีกข้อหนึ่งให้มีกัลยาณมิตรคือมิตรที่งาม ก็คือผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมีครูอาจารย์ หรือผู้ปฏิบัติร่วมกันที่สามารถให้คำแนะนำได้ ครูอาจารย์นั้นก็มีพระพุทธเจ้าเป็นยอด เป็นสูงสุด และครูอาจารย์ที่รับฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จนถึงสามารถที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นได้โดยถูกต้อง เพราะฉะนั้น ในศรัทธาคือความเชื่อ จึงได้แสดงตถาคตโพธิสัทธา
ความเชื่อความตรัสรู้ของพระตถาคตพุทธเจ้า ไว้เป็นหลักในหมวดธรรมทั้งปวง โดยทรงเป็นกัลยาณมิตรที่หนึ่ง ครูอาจารย์ต่อๆ มาก็เป็นกัลยาณมิตรต่อๆ มา แต่ต้องถือพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง ทุกๆ ครูบาอาจารย์ก็ต้องรวมอยู่ในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าสั่งสอนออกไปนอกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็รับปฏิบัติไม่ได้ หรือรับนับถือไม่ได้ ต้องมีพระพุทธเจ้าและคำสั่งสอนของพระองค์เป็นที่รวม เป็นที่ตัดสินของการสอน และการปฏิบัติทุกอย่าง
พระพุทธเจ้าจึงเป็นยอดกัลยาณมิตร ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ และนำมาปฏิบัติ โดยตนเองก็มีโยนิโสมนสิการ การใส่ใจไว้โดยแยบคายคือจับเหตุจับผลให้ถูกต้องให้ตลอด ดั่งนี้ สติ ธัมวิจยะ และวิริยะ ก็เป็นสัมโพชฌงค์ขึ้นมา ด้วยอำนาจของโยนิโสมนสิการ อาศัยกัลยาณมิตรซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นที่หนึ่ง เป็นยอด และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ได้แสดงมาแล้ว ก็ต้องอาศัยสัมโพชฌงค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ในการปฏิบัติ ตั้งแต่หมวดกายานุปัสสนา ทุกปัพพะ คือทุกข้อ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และในข้อธรรมานุปัสสนา ที่จับแสดงนิวรณ์ ต่อมาก็แสดงขันธ์ แสดงอายตนะ และจึงมาถึงหมวดโพชฌงค์ อันเป็นตัวหลักที่จะต่อเชื่อม ระหว่างธรรมปฏิบัติในเบื้องต้น กับมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจจ์ ๔ เป็นการเข้าถึงสัจจธรรม อันเป็นหลักสำคัญในพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ดังที่ได้ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนา และเมื่อพิจารณาจับความสำคัญของสติปัฏฐานมาโดยลำดับแล้ว เมื่อมาถึงขั้นโพชฌงค์ดั่งนี้ก็ย่อมจะจับความสำคัญได้ว่า จิตอันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๓ และธรรมอันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๔ เป็นหลักในการปฏิบัติ ซึ่งจิตและธรรมนี้ก็ต้องประกอบมาตั้งแต่ในข้อกายและเวทนา แต่ว่าเป็นข้อที่ละเอียดจึงได้ตรัสสอนให้จับพิจารณากาย พิจารณาเวทนา มาเป็นเบื้องต้น
เพราะกายกับเวทนานั้นเป็นของหยาบ กายเองก็เป็นวัตถุประกอบขึ้นด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย มาถึงเวทนา แม้ว่าเวทนาจะจัดเข้าในนามธรรม แต่ว่าก็เป็นนามธรรมที่หยาบ เพราะว่าเวทนาที่เป็นไปทางกายนั้น ย่อมประกอบอยู่กับกาย หรือประกอบอยู่กับรูปกาย
เวทนาทางจิตจึงเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้นกายเองก็มีเวทนาประจำอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิต แต่ว่าเป็นนามธรรม การจับพิจารณารูปกายซึ่งเป็นวัตถุขึ้นก่อน จึงกำหนดได้ง่าย และเมื่อจิตรวมก็กำหนดเวทนาที่ปรากฏขึ้น เวทนาทางกายก็ปรากฏชัด เวทนาทางจิตก็จะปรากฏชัดขึ้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ ภาวะจิตก็จะปรากฏขึ้น เพราะว่าจิตนี้ก็จะต้องประกอบอยู่กับกายและเวทนา ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่คือยังไม่ดับจิต กายเวทนาก็ประกอบอยู่กับจิต จิตก็ประกอบอยู่กับกายและเวทนา และเมื่อจิตปรากฏขึ้นธรรมะในจิตก็จะปรากฏขึ้น เพราะว่าธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิต จิตประกอบด้วยธรรมะ ส่วนดีก็เป็นกุศลธรรม ส่วนชั่วก็เป็นอกุศลธรรม ส่วนที่เป็นกลางๆ ก็เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่กล่าวว่าดี ไม่กล่าวว่าชั่ว
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสข้อที่ว่าด้วย นิวรณ์ อันเป็นอกุศลธรรมที่ปรากฏอยู่ในจิต โดยที่จิตของสามัญชนทั่วไปย่อมเป็น กามาวจรจิต จิตที่เที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม คือประกอบด้วย กิเลสกามประกอบด้วยวัตถุกาม กิเลสกามก็คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ เป็นต้นว่าราคะความติดใจยินดี นันทิความเพลิดเพลิน
วัตถุกาม ก็คือพัสดุหรือสิ่งอันเป็นที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจ คือเป็นที่เกิดขึ้นของ กิเลสกาม ก็ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจทั้งหลาย จิตสามัญชนจึงท่องเที่ยวไปในกามดังกล่าวอยู่โดยปรกติ เป็นกามาวจรจิต
เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดู กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ ซึ่งมีอยู่ในจิตที่เป็นกามาพจรนี้ และให้ตั้งสติกำหนดดูพยาบาท เพราะเมื่อมีกามฉันท์ กามฉันท์ต้องการอารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ครั้นไปพบอารมณ์ที่ไม่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดความกระทบกระทั่ง โกรธแค้นขัดเคือง จนถึงเป็นความมุ่งร้าย ก็รวมอยู่ในข้อพยาบาท และให้ตั้งสติกำหนดดูความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ อันสืบเนื่องกันมาจากสองข้อข้างต้นนั้นด้วย เหล่านี้เป็นนิวรณ์ซึ่งเป็นกั้นจิตไว้ไม่ให้เป็นสมาธิ และทำปัญญาคือความรู้ให้ทรามกำลัง ด้วยต้องการที่จะให้ปฏิบัติทำสติกำหนดให้รู้จักนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้น พร้อมทั้งเหตุ และทำความดับนิวรณ์เสีย เมื่อดับนิวรณ์เสียได้จึงจะได้สมาธิ และได้ปัญญา ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือทำสมาธิไม่ได้สมาธิ ก็เพราะว่าละนิวรณ์ไม่ได้ และไม่ได้ปัญญาก็เพราะละนิวรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจว่าการละนิวรณ์นี้เองเป็นผลที่มุ่งหมายของการทำสมาธิ ทำสมาธิก็เพื่อละนิวรณ์
พระพุทธเจ้าตรัสกรรมฐานไว้เป็นอันมาก ในหมวดสมถกรรมฐานทั้งหลายก็เพื่อละนิวรณ์ และกรรมฐานที่ตรัสสอนไว้นั้นก็เหมือนอย่างยาที่รักษาโรค เพราะนิวรณ์มีหลายข้อ จึงตรัสกรรมฐานไว้หลายข้อเพื่อที่จะแก้นิวรณ์ข้อนั้นๆ เหมือนอย่างว่าเป็นโรคกามฉันท์ ก็ต้องใช้ยาคือกรรมฐานสำหรับแก้กามฉันท์ เป็นโรคพยาบาทก็ต้องใช้ยาคือกรรมฐานสำหรับที่จะแก้พยาบาท ดั่งนี้เป็นต้น
อันนี้แหละจึงต้องใช้โยนิโสมนสิการ จึงจะจับกรรมฐานมาปฏิบัติ เพื่อละนิวรณ์ของตนให้สำเร็จได้ ถ้าหากว่าจับกรรมฐานมาปฏิบัติไม่ถูก ก็ยากที่จะละนิวรณ์ได้ ก็ได้สมาธิยาก และในการตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดนิวรณ์ทุกข้อนั้น ก็ตรัสสอนให้รู้ถึงเหตุให้เกิดนิวรณ์ ให้รู้ถึงวิธีที่จะดับนิวรณ์ ให้รู้ถึงวิธีที่นิวรณ์ที่ดับแล้วละแล้วจะไม่บังเกิดขึ้นอีกด้วย ในข้อนี้เองซึ่งแสดงว่าการปฏิบัติก็ต้องใช้โพชฌงค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ คือสติ ธัมวิจยะ และวิริยะ ประกอบกันไป ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ก็แยกแยะไม่ถูกว่าอะไรเป็นเหตุของนิวรณ์ และอะไรเป็นวิธีที่จะดับนิวรณ์ และอะไรเป็นวิธีที่จะทำนิวรณ์ที่ดับละแล้วไม่บังเกิดขึ้นอีกได้ ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ก็ประกอบกันอยู่ในสติปัฏฐานทั้งหมดนี่แหละ ไม่ต้องไปหาเหตุผลที่ไหน แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะมิได้ทรงเฉลยเอาไว้ในข้อนิวรณ์โดยตรง แต่ว่าลำดับธรรมะที่ทรงแสดงต่อมา ก็เป็นเครื่องเฉลยให้จับเหตุจับผลกันได้ในตัว
ดังที่จะได้แสดงต่อไปว่าเมื่อได้ตรัสในข้อนิวรณ์แล้ว ก็มาตรัสให้กำหนดขันธ์ ๕ และอายตนะ เป็นอันว่าให้มาทำความรู้จักขันธ์ รู้จักอายตนะ อันเป็นหลักสำคัญในการที่จะปฏิบัติเชื่อมต่อระหว่างสมาธิกับปัญญา หรือระหว่างสมถะและวิปัสสนา ขันธ์ ๕ และอายตนะนี้เป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา จะต้องกำหนดให้รู้จักขันธ์ ๕ ให้รู้จักอายตะ จึงจะเห็นไตรลักษณ์ คือลักษณะเครื่องกำหนดหมายที่ไม่เที่ยง ที่เป็นทุกข์ และที่เป็นอนัตตา อันมีอยู่ที่ขันธ์ ๕ และที่อายตนะ
และแม้ใน ๒ ข้อนี้ ก็ได้ตรัสให้ทำสติกำหนดอีกเหมือนกัน ให้รู้จักว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้ เกิดอย่างนี้ ดับอย่างนี้ และมาในข้ออายตนะก็ตรัสสอนให้รู้จักตา รู้จักรูป และให้รู้จักสัญโญชน์คือความผูกใจที่อาศัยตากับรูปบังเกิดขึ้น ให้รู้จักหูรู้จักเสียง ให้รู้จักจมูกรู้จักกลิ่น ให้รู้จักลิ้นให้รู้จักรส ให้รู้จักกายให้รู้จักโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง ให้รู้จักมโนคือใจ ให้รู้จักธรรมะคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในใจ และให้รู้จักสัญโญชน์คือความผูกใจความประกอบใจไว้ ซึ่งอาศัยหูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจ และธรรมะคือเรื่องราว บังเกิดขึ้นแต่ละข้อ (เริ่ม) ทั้งให้รู้จักว่าสัญโญชน์บังเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปได้อย่างนี้ และจะพึงไม่เกิดขึ้นอีกได้อย่างนี้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้นจึงมาถึงข้อสำคัญที่จะพึงเข้าใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสัญโญชน์ต่อไป ซึ่งจะผูกพันอยู่กับกรรมฐานทุกข้อ และกับขันธ์ อายตนะ ซึ่งเป็นฝ่ายอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ กับทั้งกิเลสทุกๆ ข้อที่บังเกิดขึ้น
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป