แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน
ได้กล่าวมาแล้วโดยลำดับว่าพระธรรมคุณทั้งบทนี้ ย่อมเป็นพระธรรมคุณของธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอน เป็นพุทธศาสนาซึ่งเป็นปริยัติธรรม และที่ปฏิบัติเป็นปฏิบัติธรรม และที่รู้แจ้งแทงตลอดเป็นปฏิเวธธรรมทั้งหมด และก็ได้แสดงยกสติปัฏฐานมาอธิบายประกอบพระธรรมคุณทั้งหมด ๖ บทนี้ จนถึงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้แสดงสติกำหนดพิจารณาตามดูนิวรณ์ ดูขันธ์ ๕
และก็ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของนิวรณ์ และขันธ์ ๕ ถึงอายตนะ ที่ตรัสแสดงเป็นอันดับไปจากขันธ์ ๕ คือตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป ให้รู้จักสัญโญชน์ หรือสังโยชน์ ความผูกที่แสดงแล้วว่าความผูกใจ อาศัยตาและรูปบังเกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักหู ให้รู้จักเสียง ให้รู้จักสังโยชน์ ที่อาศัยหูกับเสียงบังเกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักจมูก ให้รู้จักกลิ่น ให้รู้จักสังโยชน์ที่อาศัยจมูกกับกลิ่นบังเกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักลิ้นให้รู้จักรส ให้รู้จักสังโยชน์ที่อาศัยลิ้นและรสบังเกิดขึ้น
ตั้งสติกำหนดดูกาย กำหนดดูโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง กำหนดดูสังโยชน์ที่อาศัยกายและโผฏฐัพพะบังเกิดขึ้น ตั้งสติกำหนดดูมโนคือใจ ให้รู้จักธรรมะคือเรื่องราว ให้รู้จักสังโยชน์ที่อาศัยมโนและธรรมะคือเรื่องราวบังเกิดขึ้น และตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักประการที่สังโยชน์ที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น ให้รู้จักประการที่ละสังโยชน์ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ให้รู้จักประการที่สังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่บังเกิดขึ้นอีกดั่งนี้
ปัจจุบันธรรม
ข้อที่เกี่ยวด้วยอายตนะนี้ทรงมุ่งแสดงให้รู้จักสังโยชน์คือความผูกใจ ที่อาศัยอายตนะภายในและภายนอกที่คู่กันทั้ง ๖ บังเกิดขึ้น คือเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น เกิดสังโยชน์ผูกใจขึ้นมา ก็ทำสติดูให้รู้จัก รู้จักทั้ง ตา รูป หู เสียง เป็นต้น และให้รู้จักสังโยชน์ที่อาศัยอายตนะเหล่านี้บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกัน ด้วยหัดทำสติกำหนดดูเป็นปัจจุบันธรรม คือธรรมะที่บังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เพราะว่าทุกๆ คนนั้นก็ต้องเปิดตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ รับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวอยู่ตลอดเวลา และจิตนี้เองเมื่อน้อมออกไปรู้ทางตาหูเป็นต้น ซึ่งรูปเสียงเป็นต้น ก็มีสังโยชน์คือความผูกใจอยู่ ที่กล่าวกันง่ายๆ ก็คือผูกใจอยู่ในรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูกได้ทราบ รสที่ลิ้นได้ทราบ โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่กายได้ทราบ และธรรมะคือเรื่องราวที่ใจมโนคือใจ ได้คิด ได้รู้ ก็พูดเข้าใจกันดั่งนี้ แต่ไม่ได้รวมเอาตาหูเป็นต้นเข้าด้วย
แต่อันที่จริงนั้นเมื่อจิตน้อมออกรับรูปทางตา และเกิดสัญโญชน์ขึ้น คือความผูกใจ ก็กล่าวว่าผูกใจอยู่ที่รูปที่ตาเห็น แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องผูกใจที่ตาด้วยเหมือนกัน เพราะรูปจะปรากฏขึ้นก็ด้วยตา อาศัยตา เพราะฉะนั้นเมื่อผูกใจในรูป ก็ผูกใจอยู่ในตาด้วย คู่กันไป เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูตาด้วยรูปด้วย แล้วก็ให้รู้ด้วยว่าสังโยชน์คือความผูกใจนี้บังเกิดขึ้นอาศัยตารูปเป็นต้น เป็นสติที่ให้รู้อยู่เป็นปัจจุบันธรรม
นิวรณ์ ๕ สืบมาจากสังโยชน์
อันความผูกใจนี้รู้ได้ด้วยสติ เพราะว่าปรากฏเป็นอาการที่เป็น ฉันทราคะ ความพอใจติดใจ หรือความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจ ปรากฏเป็นกามฉันท์ หรือว่าปรากฏเป็นความกระทบกระทั่งก็เป็นพยาบาท ปรากฏเป็นความสยบติดหรือความไม่รู้ซึ่งเป็นโมหะ ก็เป็นความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่านรำคาญ และความเคลือบแคลงสงสัย เพราะฉะนั้นนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้น จึงปรากฏบังเกิดขึ้นในจิต สืบจากสังโยชน์คือความผูกใจนี้เอง และในข้อ จิตตานุปัสสนาที่ตรัสสอนให้ดูจิต ก็ตรัสย่อเข้าเป็นจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ
ครั้นมาถึงหมวดธรรมานุปัสสนา ก็ทรงขยายความออกเป็นนิวรณ์ ๕ เพื่อให้กำหนดพิจารณาอาการของราคะโทสะโมหะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และทั้งหมดนี้ก็สืบมาจากสัญโญชน์นี่แหละ ถ้าหากว่าใจไม่ผูกก็ปรากฏเป็นเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นอยู่แค่นั้น รูปเสียงเป็นต้นก็ตกไปแค่ได้เห็นแค่ได้ยิน และอาการที่รูปเสียงเป็นต้นซึ่งจิตน้อมออกรับ เป็นเห็นรูปทางตาได้ยินเสียงทางหูเป็นต้นนั้น แต่ละครั้งก็แต่ละอย่าง และก็เกิดดับอยู่แค่นั้นทุกครั้งทุกอย่างไป แต่ว่าที่ยังไม่ดับก็โดยที่เป็นสังโยชน์คือผูกใจ หรือว่าใจผูกอยู่ในสิ่งที่ตาเห็นสิ่งที่หูได้ยินเป็นต้นที่ดับไปแล้ว นั้นเอง แต่มาผูกอยู่ในใจเป็นสังโยชน์
อะไรคืออารมณ์
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผูกอยู่ในใจนี้ จึงเรียกว่าอารมณ์คือว่าเรื่อง อะไรคืออารมณ์ได้มีพระพุทธาธิบายตรัสเอาไว้ว่าคือเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ จิตหมกมุ่นถึง นี่แหละคืออารมณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผูกใจหรือใจผูกก็คืออารมณ์นี้เอง เพราะว่า ตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้นที่ประจวบกันนั้นดับไปแล้ว และรูปที่ตาเห็นนั้น เช่นเป็นบุคคล เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ ก็ตั้งอยู่ในภายนอกทั้งนั้น จะเอามาใส่ไว้ในใจไม่ได้ สิ่งที่ใส่ไว้ในใจนั้นก็คืออารมณ์นี้เอง
แม้ว่าสิ่งที่เป็นสมบัติพัสถานของตนเองเช่นเป็นบ้านเรือน เป็นทรัพย์สินสิ่งนั้น ทรัพย์สินสิ่งนี้ ทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่อยู่ในภายนอกทั้งนั้น ส่วนที่เข้ามาว่าเป็นของเรา สิ่งนี้ของเรา สิ่งนั้นของเรา ก็โดยที่ยังเป็นสังโยชน์ คือที่ผูกใจหรือใจผูกนี้เอง ผูกเอามาตั้งไว้ในใจ ว่าเป็นสิ่งนั้น ว่าเป็นสิ่งนี้ ว่าเป็นเจ้าของสิ่งนั้นเป็นเจ้าของสิ่งนี้
แต่อันที่จริงนั้น ทุกๆ อย่างนั้นอยู่ในภายนอกใจทั้งนั้น ไม่ได้เอามาใส่ไว้ในใจ เพราะฉะนั้นความยึดถือ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ที่เรียกว่าอุปาทานนี้ จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่อาศัยอยู่ที่ขันธ์ ๕ นี่แหละ ซึ่งรวมเข้าก็เป็นกายและใจ หรือนามรูปดังที่ได้อธิบายแล้ว
อุปาทานขันธ์
และอุปาทานความยึดถือนี้ ก็ยึดถือทั้งขันธ์ ๕ หรือว่านามรูปเองด้วย ว่าเป็นเราเป็นของเรา เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสเรียกว่าเป็น อุปาทานขันธ์ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ และตัวความยึดถือนี้เองก็อาศัยเนื่องอยู่ในขันธ์ ๕ เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ ก็เนื่องกัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกกันไม่ออก จะแยกเอาสิ่งนั้นทิ้งเสีย สิ่งนี้ออกเสีย ดั่งนี้ไม่ได้ ต้องรวมกันอยู่เป็นขันธ์ ๕ เป็นก้อนเป็นกองอยู่ด้วยกัน บุคคลจึงยังดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งจะต้องมีทั้ง ๕ หรือว่าย่อลงเป็นนามรูป ก็ต้องมีทั้งนามทั้งรูป มีแต่ส่วนรูปไม่มีนาม มีแต่นามไม่มีรูปนั้นก็ไม่ได้ ต้องอาศัยกัน
และขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นสิ่งเกิดดับ เมื่อแสดงโดยปัจจุบันธรรม เมื่อตั้งต้นขึ้นที่อายตนะภายในภายนอก อายตนะภายในภายนอกนี้ก็เป็นรูป เว้นแต่ข้อมโนคือใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เนื่องอยู่ในส่วนที่เป็นรูป ๕ ข้อ หรือ ๕ คู่ข้างต้น และก็อาศัยอายตนะที่เป็นรูปนี้เองพร้อมทั้งมโนคือใจด้วยประกอบกัน คือตากับรูปประกอบกัน หรือประจวบกัน หูกับเสียงประกอบกันประจวบกันดั่งนี้เป็นต้น ก็เกิดวิญญาณขึ้น คือเกิดความรู้ที่เรียกว่าเห็นที่เรียกว่าได้ยินเป็นต้นขึ้น และทั้งอายตนะภายในภายนอกที่เป็นคู่กัน และวิญญาณที่บังเกิดขึ้นนี้ มารวมกันเข้าก็เป็นสัมผัส คือกระทบถึงจิตที่แรงขึ้นก็เป็นเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข แล้วก็เป็นสัญญาความจำได้หมายรู้ แล้วก็เป็นสังขารความคิดปรุงหรือปรุงคิด และเมื่อปรุงคิดหรือคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วย
ก็เป็นวิญญาณสืบต่อไปอีก หรือว่าจิตตกภวังค์สิ้นสุดลงแค่นั้นในอารมณ์อันหนึ่ง และเมื่อรับอารมณ์อันใหม่ขึ้นมาก็บังเกิดเป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ขึ้นมาอีก แล้วจิตก็ตกภวังค์ หรือว่าจะแสดงสืบเนื่องกันไม่กล่าวถึงจิตตกภวังค์คือเป็นของละเอียด ก็เป็นวิญญาณขึ้นมาอีก สืบต่อกันไปอยู่ดั่งนี้
เกิดดับ
เพราะฉะนั้น ความเป็นไปของขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นวิบากขันธ์ ซึ่งเมื่อแสดงโดยปัจจุบันธรรม ก็มีความบังเกิดขึ้นเป็นปัจจุบันธรรมสืบจากอายตนะ ซึ่งมาประจวบกัน เกิดดับอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลาเป็นธรรมดา นิวรณ์เองก็เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายเป็นธรรมดา สังโยชน์ก็เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายเป็นธรรมดา
แต่สังโยชน์นี้แยกออกไปเป็นกิเลส นิวรณ์ก็แยกออกไปเป็นกิเลส สังโยชน์นั้นเองเป็นตัวต้น แล้วก็เป็นนิวรณ์ ดังที่แสดงแล้ว ก็เป็นฝ่ายกิเลสที่อาศัยขันธ์ ๕ นี่แหละบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสแยกมาแสดงจำเพาะอายตนะภายในภายนอก ซึ่งเป็นต้นของความบังเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ในปัจจุบัน หรือเป็นวิญญาณ แล้วก็เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร ในอารมณ์นั้นๆ ที่จิตออกรับอาศัยอายตนะภายในภายนอกเป็นคู่กันดังที่กล่าว
เพราะฉะนั้นความเกิดความดับของนิวรณ์ก็ดี ของขันธ์ ๕ ก็ดี ของอายตนะก็ดี ตลอดจนถึงของสังโยชน์เอง จึงมีอยู่เป็นธรรมดาในอารมณ์ทั้งหลาย เป็นแต่เพียงว่าหัดตั้งสตินี้เองให้ระลึกรู้ในปัจจุบัน คือให้ทัน ให้ทันกับความเป็นไปของกระบวนจิต หรือว่าของกระบวนขันธ์อายตนะ และเมื่อตั้งสติกำหนดดูให้ทันแล้ว ก็จะปรากฏความเกิดความดับ
(เริ่ม) ฉะนั้นในข้อที่ว่านิวรณ์ก็ดี ขันธ์ก็ดี สังโยชน์ก็ดี เกิดโดยประการใด ดับโดยประการใด ละโดยประการใด ละแล้วไม่เกิดอีกโดยประการใด ก็โดยประการที่ทำสตินี้เอง ให้รู้ทันต่อกระบวนการของความเกิดดับ ของนิวรณ์ ของขันธ์ ของอายตนะ สิ่งที่ปกปิดก็คือว่าตัวโมหะคือความหลงนี้เอง ที่หลงยึดเข้ามาผูกพันจิตใจ เพราะฉะนั้น จึงบังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นนิวรณ์ เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ เป็นสังโยชน์ในจิตใจ และก็ตั้งอยู่ในจิตใจ นี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้บังเกิดเป็นตัวกิเลสขึ้น และเป็นทุกข์ขึ้น ปกปิดความเกิดความดับซึ่งเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นจึงต้องหัดทำสตินี้ให้รู้ ให้ว่องไว ให้ทัน และเมื่อรู้ว่องไวทันแล้วก็จะกั้นกิเลสไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ กั้นความผูกใจได้ กั้นสังโยชน์ได้ กั้นนิวรณ์ไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเห็นเกิดเห็นดับขึ้นมา เมื่อเห็นเกิดเห็นดับคู่กันขึ้นมาดั่งนี้แล้ว จึงไม่เห็นอะไรที่จะตั้งอยู่ให้รัก หรือให้ชังเป็นต้น หรือว่าให้เป็นสังโยชน์คือผูกใจ หรือใจผูกเป็นต้น เพราะว่าเมื่อเห็นว่าดับแล้วจะผูกอะไร
ส่วนที่ไม่เห็นว่าดับนั้นจึงผูก และที่เห็นว่าไม่ดับนั้นก็คือว่าเอามาตั้งไว้ในใจ ผูกอยู่ในใจ ให้เกิดขึ้นใหม่ในใจ ก็เอาสิ่งที่ดับไปแล้วนั่นแหละ คือที่ประสบพบผ่านมาแล้ว ดับไปแล้วนั่นแหละ มาผูกไว้ในใจ ตั้งขึ้นใหม่ในใจ เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นในใจ อยู่ในใจทั้งนั้น ใจนี้เองเป็นตัวที่เก็บเข้ามา แล้วก็เป็นตัวที่ตั้งขึ้น ปลุกขึ้นมา ให้สิ่งที่ดับมาบังเกิดขึ้น และให้ตั้งอยู่ แล้วก็ยินดียินร้ายหลงอยู่ในสิ่งที่ตั้งอยู่ในใจนี่แหละ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อหัดทำสติให้รู้เท่าทันแล้วจะได้ปัญญาที่รู้ความจริง ว่านี่เป็นโมหะคือตัวหลงทั้งนั้น เป็นอวิชชาคือไม่รู้จริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการหัดทำสติให้ว่องไวดั่งนี้จึงเป็นไปทั้งเพื่อสติ สมาธิ และเพื่อปัญญา ซึ่งในหมวดธรรมานุปัสสนานี้เป็นหมวดที่ตรัสสอนไว้เพื่อเจริญทางปัญญาเป็นที่ตั้ง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป