แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นสวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ได้แสดงอธิบายมาถึงบทที่ ๖ นี้ โดยสาธกสติปัฏฐานมาถึงธรรมานุปัสสนาในข้อโพชฌงค์ และก็ได้ยกอธิบายการปฏิบัติโพชฌงค์ในพรหมวิหารธรรม และก็ได้แสดงอธิบายมาถึงข้อมุทิตาพรหมวิหารอันเป็นข้อที่ ๓
โดยปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ คือการปฏิบัติโพชฌงค์ในกรรมฐานทั้งหลาย และก็ได้ทรงยกเอากรรมฐาน อันเป็นฝ่ายสมถะเป็นอันมากมาสาธกแสดง ด้วยการปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ และหมวดพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นหมวดหนึ่งที่ตรัสเอาไว้ในพรหมวิหารข้อที่ ๓ มุทิตา ที่ท่านแปลกันไว้ในภาษาไทยว่า ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีความเจริญ ปราศจากความไม่ยินดีในความสุขความเจริญของผู้อื่น อันเรียกกันว่า ริษยา พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำจิตให้ยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ความสุขความเจริญ ปราศจากความริษยา ไม่พอใจในความสุขความเจริญของผู้อื่น
อันความริษยานี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นกิเลสข้อหนึ่ง ในจิตใจของสามัญชนทั้งปวง เช่นเดียวกับโทสะพยาบาท และวิหิงสา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนถึงธรรมะ สำหรับที่จะเป็นเครื่องดับกิเลสที่บังเกิดขึ้นเหล่านี้แต่ละข้อ และในการอบรมจิตให้มีมุทิตานี้ ก็อบรมจิตให้แผ่ไปได้ทั้งโดยเจาะจง ทั้งโดยไม่เจาะจง โดยเจาะจงนั้นก็ดังเช่นที่ได้ยกมาแสดงในข้อเมตตากรุณา โดยไม่เจาะจงก็เช่นเดียวกัน และก็ต้องระมัดระวังไม่ให้บังเกิดโสมนัส คือความยินดีอีกอย่างหนึ่ง บังเกิดขึ้นในความสุขความเจริญของผู้อื่น โสมนัสคำนี้ก็แปลกันว่าความยินดีบ้าง ความดีใจบ้าง ความชอบใจบ้าง อันประกอบด้วยความกระหยิ่มใจใคร่จะได้เช่นนั้นบ้าง อันนับว่าเป็นกิเลส คือทำให้เกิดโลภะตัณหาอยากที่จะได้จะถึงความสุขความเจริญเช่นนั้นบ้าง อาการดั่งนี้รวมเข้าในคำว่าโสมนัสในที่นี้ จึงตรงกันข้ามกับคำว่ามุทิตา ความพลอยยินดี อันผู้ที่ได้รับความสุขความเจริญนั้น ก็ย่อมมีความยินดีในความสุขความเจริญของเขา ส่วนผู้ที่เจริญมุทิตานี้เป็นคนอื่น ซึ่งเมื่อได้เห็นเมื่อได้ยินว่าเขามีความสุขความเจริญ ก็พลอยยินดีกับเขาด้วย คือมีใจแช่มชื่นปราศจากความริษยา
และก็ไม่เป็นโสมนัสคือความพลอยดีใจ อันเป็นฝ่ายกิเลส ซึ่งประกอบด้วยความกระหยิ่มใคร่จะได้ อันเป็นโลภะตัณหาในความสุขความเจริญนั้นเพื่อตน คือไม่ยินดีเพื่อตนนั้นเอง แต่ยินดีเพื่อผู้ที่เขาได้เขาถึงโดยไม่ริษยา แต่ถ้ามายินดีเพื่อตนขึ้นเมื่อใดก็เป็นโสมนัสเมื่อนั้น และก็เป็นกิเลส อันโสมนัสนี้มีที่ตั้งใกล้กัน คล้ายกันหรือเป็นอันเดียวกันกับมุทิตา คือมุทิตานั้นก็เป็นข้อที่พึงปฏิบัติในเมื่อผู้อื่นได้ประสบสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เมื่อเขาได้ประสบก็เรียกว่าเขาได้ความสุขความเจริญ เป็นไปในทางง่าย หากว่าจะยกตัวอย่างในโลกธรรมทั้ง ๘ ก็คือได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญได้สุขต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นที่ตั้งของมุทิตา และก็เป็นที่ตั้งของโสมนัสด้วย
เพราะฉะนั้น โดยปรกติจิตของสามัญชนที่ยังไม่ได้อบรม เมื่อเขาได้ประสบความสุขความเจริญดังกล่าว ก็มักจะเกิดความริษยา และมักจะเกิดโสมนัสได้ด้วยในเมื่อคิดกระหยิ่มมาเพื่อตน คิดฝันว่าตนก็จะได้อย่างงั้นอย่างงี้ อย่างเขา เมื่อคิดฝันไปว่าได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจดั่งนั้น คิดไปก็โสมนัสยินดีไป แต่ว่าเมื่อเขาได้..ริษยา จิตสามัญชนมักจะเป็นดั่งนี้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้แก้ด้วยปฏิบัติทางมุทิตา อบรมจิตให้มีมุทิตา ให้เป็นความยินดีในความสุขความเจริญของเขา เพื่อเขา ไม่ให้เป็นยินดีเพื่อตนซึ่งเป็นโสมนัส เพราะว่าเขาได้ ไม่ใช่ตนได้ ก็ยินดีเพื่อเขา เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะเป็นการปฏิบัติที่ดับได้ทั้งริษยา และทั้งโสมนัสดังกล่าว เป็นมุทิตาที่เรียกว่าความพลอยยินดี อันเป็นพรหมวิหารธรรม
ในการปฏิบัติอบรมจิตให้ประกอบด้วยมุทิตาดังกล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยหลักโพชฌงค์ทั้ง ๗ ตั้งต้นแต่หลักสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือสติความระลึกได้ คือต้องตั้งสติกำหนดถึงสัตว์บุคคลนั้นๆ โดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจง ก็คือสัตว์ทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้ได้ประสบความสุขความเจริญ
ที่ตั้งจิตว่าขออย่าให้เขาพลัดพรากหมดสิ้นไปจากสมบัติที่ได้แล้ว ให้เขาดำรงอยู่ในสมบัติที่ได้แล้ว อันเป็นความปรารถนาดีต่อเขา เมื่อทำสติให้กำหนดอยู่ในบุคคลผู้ที่ได้สมบัติแห่งความสุขความเจริญต่างๆ และตั้งจิตเจตนาคือความคิดจงใจให้เขาไม่พลัดพรากไปจากสมบัติที่ได้แล้ว ดั่งนี้ ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติเจริญอบรมมุทิตาด้วยสติสัมโพชฌงค์ และในการที่ทำสติสัมโพชฌงค์ดั่งนี้ ก็จะต้องมีธัมวิจยสัมโพชฌงค์ข้อที่ ๒ ประกอบกันไป เพราะว่าอกุศลจิตต่างๆ ย่อมบังเกิดแทรกแซงขึ้นได้ในการตั้งสติแผ่มุทิตาจิตดังกล่าวนี้ อันเป็นความริษยาบ้าง เป็นโสมนัสบ้าง
ความริษยานั้นก็คือความไม่ยินดี ที่จะให้เขามีความสุขความเจริญ ให้บรรลุถึงสมบัติดังกล่าว และก็หมายถึงว่าทำให้เกิดความคิดที่จะทำลาย ให้เขาพลัดพรากไปจากสมบัติที่ได้แล้วนั้นด้วย อันเนื่องมาจากความริษยา เพราะความริษยานี้ย่อมมีความหมายไปถึงความคิดทำลาย ความดีความสุขของคนอื่นดังกล่าวนั้นด้วย
เพราะฉะนั้นท่านจึงได้แสดงว่าความริษยานี้มีโทษมาก เป็นเครื่องทำลายความดีความสุขของคนอื่น และก็ชื่อว่าเป็นเครื่องทำลายความดีความสุขของส่วนรวม ของหมู่ชนด้วย อันหมู่ชนที่ดำรงอยู่ได้โดยเป็นครอบครัว เป็นหมู่เล็กขึ้นไป ใหญ่ขึ้นไป จนถึงเป็นประเทศชาติ ก็เพราะมีบุคคลในครอบครัวในหมู่ในประเทศชาติเป็นคนดี ประกอบคุณงามความดี ซึ่งเป็นเครื่องเกื้อกูลต่างๆ โดยลำดับมา
เพราะฉะนั้นทุกๆ คนจึงต่างได้มีท่านผู้เป็นบุพการีของตน คือผู้ที่ทำอุปการะก่อนตั้งแต่ในครอบครัวขึ้นไปจนถึงในประเทศชาติ หรือเป็นโลก ซึ่งได้ทำคุณงามความดีต่างๆ ไว้ทำให้หมู่ชนดำรงอยู่ได้ มีความสุขความเจริญ เพราะฉะนั้นความสุขความเจริญของครอบครัวตลอดจนถึงของประเทศชาติของโลก
ย่อมบังเกิดขึ้นจากคุณงามความดีของผู้ทรงคุณงามความดีทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าหากว่า ถ้าใครดีขึ้นมาก็ต้องริษยากัน ต้องทำลายกันลงไปดั่งนี้แล้ว ก็เป็นการที่ตัดความสุขความเจริญของหมู่ อันรวมมาถึงแก่ของตัวเองด้วย ถ้าคนดีทั้งหลายได้ถูกริษยา ถูกทำลายไปเสียโดยมากแล้ว หมู่ชนเรานี้ หรือว่าโลกนี้ก็จะเต็มไปด้วยความเดือดร้อนต่างๆ ความชั่วต่างๆ ความทุกข์ทรมานต่างๆ ความเบียดเบียนกันต่างๆ แต่การที่ได้พากันมีความสุขความเจริญอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่ายังมีคนดีอยู่ในหมู่ในโลก ที่ประกอบคุณงามความดีเกื้อกูลต่างๆ เพราะฉะนั้นริษยาจึงเป็นสิ่งที่มีโทษมาก
และแม้ความโสมนัสคือความยินดีเพื่อตัวเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่มีโทษมาก เพราะทำให้เป็นผู้ที่มีความเห็นแก่ตัว มุ่งจะให้ตัวได้ลาภได้ยศได้สรรเสริญได้สุขแต่เพียงผู้เดียว หรือแต่เพียงที่เป็นพวกพ้องของตัว ญาติของตัว อันเป็นความคิดที่คับแคบ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ขวนขวายมาเฉพาะเพื่อตัว เพื่อพวกของตัว ญาติมิตรของตัว ตัดรอนผู้อื่นที่เขาจะได้ดีมีสุขบ้าง เพราะฉะนั้นทั้งริษยาและความที่มีโสมนัสเพื่อตัว และพูดง่ายๆ ก็คือว่าริษยาผู้อื่น แต่ไม่ริษยาตัว ผู้อื่นได้ดีมีสุขริษยาแต่ว่าตัวได้ดีมีสุขโสมนัสยินดี ดั่งนี้ จึงเป็นเครื่องตัดทอนความเจริญทั้งของตัวเองและทั้งของผู้อื่น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนให้มีมุทิตา เป็นการที่รู้จักทำใจให้กว้างขวาง เมื่อเขาได้ดีมีสุขก็ยินดีเพื่อเขา และเมื่อตัวได้ดีมีสุขจะยินดีเพื่อตัวเป็นโสมนัสก็ไม่ว่ากระไร ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมีได้ แต่ว่าไม่ใช่ว่ามีความคิดคับแคบ เมื่อเขาได้ดีมีสุขก็ไปเพ้อฝันว่าทำไมตัวจะได้ ก็ยินดีไปว่าตัวจะได้ ต่อเมื่อไปริษยาคือตัดรอนเขาลงไป เพื่อตัวจะได้ดั่งนี้
( เริ่ม ) เพราะฉะนั้น มุทิตาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากพิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่ามีความสำคัญจริงๆ ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วโดยสังเขป เพราะฉะนั้น จึงต้องมีธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรมในใจของตัวเอง ในเมื่อความริษยาในความดีความสุขของผู้อื่น และโสมนัสคือพอใจแต่เฉพาะให้ตัวได้ดีมีสุขเท่านั้น อันเป็นความคับแคบ ดั่งนี้บังเกิดขึ้น ก็ให้รู้จักว่า นี่เป็นอกุศล นี่มีโทษ นี่เป็นของเลว นี่เป็นธรรมะที่เรียกว่าสีดำ เทียบกันกับสีขาว เมื่อพิจารณาให้รู้จักโทษดั่งนี้ก็เป็นธรรมวิจัยขึ้นในส่วนหนึ่ง และเมื่อปฏิบัติอบรมมุทิตาให้บังเกิดขึ้น ก็ให้รู้จักว่ามุทิตาคือความยินดี คือความคิดว่าขอให้เขาอย่าได้เสื่อมจากความสุขที่เขาได้ อันแสดงถึงความเป็นผู้ที่มีใจกว้าง และทำให้จิตบริสุทธิ์จากริษยาจากโสมนัสเพื่อตัวดังกล่าว มุทิตาดังที่กล่าวมานี้เป็นกุศล ไม่มีโทษ เป็นธรรมะที่ประณีต เป็นธรรมะที่เป็นส่วนขาว รู้จักแยกสิ่งที่ผุดขึ้นในใจตัวเองดั่งนี้ให้รู้จัก หากเป็นมุทิตาขึ้นมาก็ให้รู้ว่านี่ดี ถ้าเป็นริษยาเป็นโสมนัสเพื่อตัวก็ให้รู้ว่านี่ไม่ดี และก็ให้รู้ว่าส่วนที่ไม่ดีนั้นก็ต้องละเสีย แต่ว่าส่วนที่ดีนั้นควรจะอบรมให้บังเกิดขึ้น
กล่าวเฉพาะในข้อนี้ ริษยากับโสมนัสเพื่อตัวเป็นข้อที่ควรละเสีย ส่วนมุทิตาเป็นข้อที่ควรอบรมให้มีขึ้น ดั่งนี้เป็นธรรมวิจัยจำแนกธรรม จำแนกธรรมในใจของตัวเองนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญมาก อะไรผุดขึ้นในใจตัวเองก็ให้รู้ ชั่วก็ให้รู้ว่าชั่ว ดีก็ให้รู้ว่าดี ดั่งนี้แล้วก็เป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงมาถึงข้อ ๓ วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือความเพียร ก็คือต้องเพียรละฝ่ายอกุศล ต้องเพียรอบรมฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้น ประกอบด้วยความริเริ่ม คือให้เริ่มที่จะละฝ่ายอกุศล เริ่มที่จะอบรมฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้น ให้เป็นความริเริ่มขึ้นมา คือคอยละริษยาละโสมนัสเพื่อตัว และอบรมมุทิตาให้บังเกิดขึ้น คือทำใจให้พลอยยินดี โดยทำใจให้คิดตั้งเจตนาของใจให้แรงออกไป ว่าขอให้เขาอย่าได้เสื่อมจากสุขสมบัติต่างๆ ที่เขาได้ มุ่งใจออกไปให้แรงให้เขาไม่เสื่อมจากสุขสมบัติที่เขาได้ ให้เป็นความเริ่ม เริ่มที่จะละ เริ่มที่จะอบรมดั่งนี้ขึ้นมาในใจ
และตรวจดูใจของตัวเองก็รู้ว่าเริ่มได้ไหม ถ้าใจยังขุ่นมัวอยู่ เอาแต่ริษยาเขา เอาแต่มุ่งเพื่อใจตัวเองเท่านั้น ก็แปลว่ามุทิตาไม่เกิด มุทิตานั้นไม่ใช่เกิดด้วยคิดว่าเกิด แต่ว่าเกิดด้วยความตั้งเจตนาอบรมใจตัวเองให้คิดไป คิดฝ่าแรงของริษยา ของความยินดีเพื่อตัว ออกไปแรงๆ แม้ว่ายังดับริษยาไม่ได้ ยังดับความยินดีเพื่อตัวไม่ได้ ก็ฝ่ากิเลสเหล่านี้ออกไปแรงๆ ในด้านตรงกันข้าม คือในด้านว่าขอให้เขาอย่าได้พลาด อย่าได้เสื่อมเสียไปจากสุขสมบัติที่เขาได้ และเมื่อมุ่งใจออกไปแรงๆ ดั่งนี้บ่อยๆ กำลังใจที่มุ่งแรงออกไปดั่งนี้ ก็จะมีพลังยิ่งกว่ากำลังของริษยาของความยินดีเพื่อตัว ก็จะทำให้ความริษยาและความยินดีเพื่อตัวนั้น ค่อยๆ เสื่อมกำลังลงไป มุทิตาก็มีกำลังมากขึ้น แล้วก็ต้องดำเนินความเพียรดั่งนี้ต่อไป ให้ก้าวหน้าไปจนกว่าจะดับริษยาได้ ดับความพอใจเพื่อตัวเท่านั้นได้ และก็ส่งจิตออกไปด้วยมุทิตาได้สะดวกขึ้นเป็นมุทิตาที่บริสุทธิ์ขึ้น ผุดผ่องขึ้น จากริษยาจากโสมนัสเพื่อตัวดังที่กล่าวนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้มุทิตาพรหมวิหารนี้บังเกิดขึ้นในจิตได้ ปรากฏอยู่ในจิตได้ ผ่องแผ้วอยู่ในจิต
และความที่ผ่องแผ้วอยู่ในจิตนี้ ก็ทำให้จิตนี้เองได้ปีติคือความอิ่มใจ อันเกิดจากจิตผ่องแผ้ว จิตที่บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง แม้ที่กล่าวมา จึงทำให้ได้ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือปีติ และเมื่อได้ปีติดั่งนี้แล้วก็จะได้ได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือปัสสัทธิ ความสงบกายความสงบใจ มีสุข และเมื่อได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ได้สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้พร้อมคือสมาธิความตั้งใจมั่น มีจิตที่สงบสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย มีอารมณ์เป็นอันเดียว คือว่ามีมุทิตาความที่จิตมุ่งดีปรารถนาดีออกไป เป็นความเบิกบานยินดีในความได้ดีมีสุขของผู้อื่น ปราศจากริษยา ปราศจากความยินดีเพื่อตัว แต่เป็นความยินดีเพื่อเขาในความสุขความสำเร็จของเขา
จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ และเมื่อเป็นสมาธิก็จะได้อุเบกขาสัมโพชฌงค์อันเป็นข้อที่ ๗ องค์แห่งความรู้พร้อมคืออุเบกขา คือความที่จิตเพ่งสงบเฉยอยู่ด้วยมุทิตาในภายใน เป็นจิตที่บริสุทธิ์และกำกับอยู่กับสมาธิ เพราะฉะนั้นเมื่อการปฏิบัติอบรมมุทิตาพรหมวิหาร ตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังกล่าวมานี้ จึงจะได้มุทิตาพรหมวิหารตั้งขึ้นในจิต อันเป็นสมถกรรมฐานข้อหนึ่ง
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป