แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ได้ยกพระธรรมคุณทั้งหมดนี้ เป็นหัวข้อแสดงธรรมกถามาโดยลำดับจนถึงข้อที่ ๖ และก็ได้กล่าวแล้วว่า ธรรมะทุกข้อทั้งหมด ทุกข้อทุกบท ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้งหมดนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น การที่ยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นแสดง สำหรับพระธรรมคุณบทใดบทหนึ่ง จึงเป็นเพียงยกขึ้นสาธกเท่านั้น
และก็ได้แสดงอิงหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดตามดู กาย เวทนา จิต ธรรม และในข้อธรรมก็แสดงไปโดยลำดับข้อในสติปัฏฐาน จนถึงโพชฌงค์ และก็ได้แสดงแล้วว่าโพชฌงค์นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงร่วมกับธรรมะหมวดอื่น ดังเช่นในโพธิปักขิยธรรม และในมหาสติปัฏฐานสูตรเอง ถึงตรัสแสดงไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนา ก็ทรงแสดงตั้งต้นด้วยข้อที่ว่าด้วยนิวรณ์ ข้อที่ว่าด้วยขันธ์ ๕ ข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ และจนถึงโพชฌงค์ ๗
อีกอย่างหนึ่งตรัสแสดงโดยเอกเทศคือจำเพาะหมวดโพชฌงค์เท่านั้น และก็ได้ตรัสไว้ด้วยว่าเป็นหลักปฏิบัติในการเจริญกรรมฐานทุกอย่าง (เริ่ม) แม้สมถกรรมฐานก็ปฏิบัติเจริญสมถกรรมฐานตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ และก็ได้แสดงยกมาเป็นนิทัศนะ ตัวอย่างในหมวดพรหมวิหารธรรม ซึ่งได้แสดงมาแล้วในข้อเมตตา การปฏิบัติเจริญเมตตา หรือทำเมตตาให้บังเกิดขึ้น ก็ปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗
กรุณา ตามหลักโพชฌงค์ ๗
ในวันนี้จะแสดงต่อในข้อ กรุณา ซึ่งปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗ เช่นเดียวกัน กรุณานั้นพระอาจารย์ได้ให้เป็นคำไทยไว้เช่นว่า ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็นข้อปฏิบัติที่ใช้ในเมื่อต้องการอบรมจิตให้มีความสงสาร ปรารถนาให้ผู้ที่ประสบความทุกข์ พ้นจากความทุกข์ที่ประสบอยู่นั้น และใช้ในเมื่อประสบผู้ที่ประสบความทุกข์ ก็คิดช่วยให้พ้นทุกข์ และเมื่อช่วยได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ช่วย แต่เมื่อช่วยไม่ได้ก็คิดแผ่จิตออกไป ตั้งปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์
กรุณาดังที่กล่าวมานี้แสดงว่าเป็นเครื่องดับ วิหิงสา คือความคิดเบียดเบียน การกระทำเบียดเบียนต่างๆ ที่จะให้บุคคลหรือสัตว์ทั้งหลายต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน และอีกอย่างหนึ่งแสดงว่าในการทำคือปฏิบัติอบรมกรุณาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น ก็อาจจะเกิดโทมนัสคือความเสียใจในเพราะความทุกข์ร้อนของผู้อื่น ได้คิดถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่น ได้เห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่น
กรุณา โทมนัส
เพราะว่าการปฏิบัติในกรุณานี้ก็ดี ความโทมนัสเสียใจที่บังเกิดขึ้นก็ดี ย่อมมีที่ตั้งคล้ายคลึงกัน คือปรารภถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่นเช่นเดียวกัน เช่นปรารภถึงความที่ผู้อื่นต้องหมดสิ้นจากสิ่งทั้งหลาย ที่ร่วมเข้าเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ บางคนได้มาแล้วก็สิ้นไป บางคนก็ไม่สามารถจะได้ จึงทำให้เขาต้องทุกข์ร้อน เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติอบรมกรุณาให้บังเกิดขึ้น ก็คิดถึงความทุกข์ร้อนของเขาดั่งนี้ โทมนัสที่บังเกิดขึ้นก็ปรารภถึงความทุกข์ร้อนของเขาดั่งนี้ และโดยเฉพาะเมื่อบุคคลซึ่งเป็นที่รักต้องประสบความทุกข์ร้อน ก็ย่อมจะบังเกิดความโทมนัสเสียใจ
เพราะฉะนั้นกรุณากับโทมนัสจึงมีที่ตั้งแห่งความบังเกิดขึ้นเป็นอย่างเดียวกัน ฉะนั้นในการปฏิบัติทำกรุณาให้บังเกิดขึ้น ซึ่งปรารภถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่น ทำใจให้เกิดความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ หรือว่าปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ดังที่กล่าวมา ถ้าสัตว์บุคคลที่คิดถึงนั้นๆ เป็นที่รักก็อาจจะเกิดโทมนัสขึ้นด้วย หรือว่าเมื่อทราบถึงความทุกข์ร้อนของบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ก็เกิดโทมนัสขึ้นมาเสียก่อนกรุณา เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในกรุณานั้นนอกจากที่จะเพื่อดับวิหิงสา ความคิดเบียดเบียนและการเบียดเบียนดังกล่าว ก็ต้องระวังมิให้เกิดโทมนัสขึ้นด้วย และโดยเฉพาะเมื่อทราบถึงความทุกข์เดือดร้อนของคนซึ่งเป็นที่รัก โทมนัสก็อาจเข้ามาก่อน
ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงสมควรที่จะกำหนดให้รู้จิตของตน ว่าโทมนัสที่บังเกิดขึ้นนี้ไม่เป็นประโยชน์ เขาต้องเป็นทุกข์ ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ตามเขาไปด้วย แล้วก็ช่วยอะไรกันไม่ได้ เป็นอันว่าติดความทุกข์กันเหมือนอย่างติดเชื้อโรคกัน แล้วต่างก็ช่วยกันไม่ได้ สมควรที่จะมาคิดช่วยดีกว่า ช่วยให้เขาพ้นทุกข์นั้น เท่าที่สามารถจะทำได้ในทางต่างๆ
ภัยที่พ่อแม่ลูกช่วยกันไม่ได้
แต่เมื่อช่วยไม่ได้แล้วก็เป็นอันว่าไม่ได้ ตัวอย่างที่ช่วยไม่ได้นั้นมีอยู่เป็นอันมาก ว่าถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ซึ่งตรัสแสดงไว้ว่าภัยที่ พ่อ แม่ ญาติ ซึ่งเป็นที่รัก ลูก ก็ช่วยกันไม่ได้ ก็คือแก่เจ็บตาย เป็น อมาตาปุตติกภัย เป็นภัยที่พ่อแม่ที่ลูกช่วยกันไม่ได้ เพราะว่าแก่เจ็บตายนั้นเป็นสภาวทุกข์ ทุกข์ซึ่งมีอยู่ตามสภาพของร่างกาย ชีวิต แต่ว่าภัยอย่างอื่นนั้นเช่นว่าอัคคีภัย โจรภัย เป็นต้น ก็อาจช่วยกันได้บ้าง ช่วยกันไม่ได้บ้าง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดั่งนี้
แม้ตัวอย่างอื่นก็เป็นต้นว่าผู้ที่ทำความผิด ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ ถูกศาลตัดสินลงโทษ เช่นต้องถูกจองจำ พ่อแม่ญาติมิตรทั้งหลายก็อาจที่จะขวนขวายช่วยในทางที่พึงทำ เช่นว่าขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ว่าเมื่อได้ทำอย่างเต็มที่แล้วไม่สำเร็จ ก็เป็นอันว่าช่วยไม่ได้ การที่จะไปช่วยอย่างอื่นด้วยวิธีที่ผิด เช่นยุยงให้ผู้ที่ต้องโทษนั้นแหกคุกหนี หรือแย่งตัวหนีดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นกิจที่ผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการช่วยในทางที่ผิด การที่ช่วยนั้นจึงต้องเป็นข้อที่พึงช่วยได้ในทางที่ถูกต้อง แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องแก่เจ็บตายแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าพ่อแม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทำกรุณาจึงต้องมีวิธีปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้ สรุปเข้ามาก็คือว่า ใช้กรุณานี้เองเป็นเครื่องดับโทมนัสด้วย และเป็นเครื่องดับวิหิงสาด้วย
พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าโทมนัสนั้นเป็นศัตรูที่ใกล้ของกรุณา เพราะมีที่ตั้งเป็นอันอันเดียวกัน ส่วนวิหิงสานั้นเป็นศัตรูที่ไกล และเมื่อได้ปฏิบัติกรุณาให้บังเกิดขึ้น โดยที่ดับวิหิงสาได้ด้วย ดับโทมนัสได้ด้วย ก็เป็นการปฏิบัติทำกรุณาที่บริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้น
เมตตากับสิเนหามีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน
ในข้อเมตตาที่แสดงไปนั้นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งได้แสดงไปแล้วว่าเป็นเครื่องดับพยาบาท และเป็นเครื่องดับสิเนหาราคะ สำหรับเมตตานั้นกับสิเนหาราคะก็มีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน คือว่าสัตว์บุคคลทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งของเมตตานั้น ก็คือสัตว์บุคคลที่ได้มีจิตใจมุ่งให้เขาเป็นสุข มีความสุขความเจริญ มีความสวัสดี ก็เรียกว่ามี สุภะ คือความดีงามเป็นที่ตั้ง สิเนหาราคะก็เช่นเดียวกัน ย่อมเกิดขึ้นในสัตว์บุคคล ซึ่งมีความดีงามเป็นที่ตั้ง เห็นยึดถือว่าดีงามก็เกิดสิเนหาราคะ และเมื่อจิตใจเห็นดีงามก็เกิดเมตตา หรือเป็นที่ตั้งของเมตตา
เพราะฉะนั้นการเจริญเมตตาจึงต้องทำใจให้เห็นดีงาม ในสัตว์บุคคลซึ่งแผ่เมตตาไป คือสงบความเกลียด เมตตาจึงจะบังเกิดขึ้นแทน ถ้าความเกลียดหรือพยาบาทยังตั้งอยู่ เมตตาก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ว่าในการที่เริ่มปฏิบัตินั้นจิตยังไม่อ่อนโยนพอ ก็ต้องพยายามพิจารณาไป ในทางที่จะดับโทสะพยาบาท ดับความเกลียด บางทีก็แผ่ไปดื้อๆ ถึงเกลียดก็แผ่ไปละ ก็แผ่ไปให้เขาที่เกลียดนั้นเป็นสุข ก็ได้ผลเหมือนกัน ก็จะทำให้ความเกลียดจางลงไปๆ จนสงบ ก็แปลว่าเห็นผู้นั้นว่าดีงาม หรือเทียบกับบุคคลที่ดีงามได้
เมื่อจิตสงบโทสะพยาบาท เมตตาก็ตั้งขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ราคะสิเนหาก็อาจตั้งขึ้นได้เหมือนกัน อาจจะราคะสิเนหาออกหน้าไปเลย หรือว่าเมตตาออกหน้า และมีราคะสิเนหาตาม ไปด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น ในการทำเมตตาจึงต้องระวังราคะสิเนหา บางทีเมื่อเห็นสัตว์บุคคลนั้นนี้ว่าดีงาม หรือสวยงาม ราคะสิเนหาก็บังเกิดขึ้นนำหน้า เมตตายังไม่มา ราคะสิเนหามาก่อน เมื่อเป็นดั่งนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็ให้ทำความรู้สึกในจิตของตน และก็ตั้งเมตตาขึ้นมาแทน คือขอให้เขาเป็นสุขโดยที่ละหรือดับราคะสิเนหา และก็ดับโทสะพยาบาท หรือกันโทสะพยาบาทไม่ให้บังเกิดขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แสดงว่าราคะสิเนหานั้นเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา เพราะมีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน ส่วนโทสะพยาบาทนั้นเป็นศัตรูที่ไกล และเมื่อปฏิบัติเมตตาให้ถูกต้อง ละได้ทั้งสองอย่าง ทั้งโทสะพยาบาท และทั้งราคะสิเนหา ก็เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ เรื่องเมตตานี้เป็นการที่มากล่าวซ้ำเข้า เพื่อให้คู่กับกรุณา
การปฏิบัติเริ่มด้วยสติสัมโพชฌงค์
ตามที่แสดงมานี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า ในการปฏิบัติทำกรุณาให้บังเกิดขึ้น หรือทั้งเมตตาทั้งกรุณาดังที่กล่าวมา ก็จะต้องเริ่มด้วยสติสัมโพชฌงค์ องค์คือความรู้คือสติ สติที่ตั้งกำหนด ตั้งกำหนดสัตว์บุคคลที่จะแผ่กรุณาให้ หรือที่จะอบรมกรุณาให้บังเกิดขึ้น เพราะว่าจะต้องมีสัตว์บุคคลเป็นที่ตั้ง จะต้องกำหนดถึงคนนั้นคนนี้โดยเจาะจง หรือกำหนดถึงโดยไม่เจาะจง
เช่นดังที่มีแสดงว่ากำหนดโดยเจาะจง ก็เช่นกำหนดว่าสตรีทั้งปวง บุรุษทั้งปวง อริยบุคคลทั้งปวง บุคคลที่มิใช่อริยะทั้งปวง เทพทั้งปวง มนุษย์ทั้งปวง สัตว์ที่ตกต่ำทั้งปวง คือพวกตกอบายภูมิ พวกอบายภูมิกำเนิด หรือว่าจำเพาะเจาะจงเข้าไปอีกว่าสัตว์บุคคลนั้นนี้ ดั่งนี้ก็เป็นการที่ตั้งสติกำหนดถึงโดยเจาะจง โดยไม่เจาะจงก็คือสัตว์ทั้งปวง ปราณทั้งปวงคือสัตว์ที่มีชีวิตหายใจทั้งปวง ภูตะคือสัตว์ที่เป็นมาแล้ว คือเกิดแล้วทั้งปวง บุคคลทั้งปวง ผู้ที่มีเนื่องด้วยอัตภาพทั้งปวง ทุกกำเนิดไม่ว่าเพศชนิดดังที่เรียกสั้นๆ ว่าสรรพสัตว์ ที่ทั่วถึงก็คือไม่มีประมาณคือทั้งหมด สำหรับข้อกรุณานี้ก็คือว่าจงพ้นจากความทุกข์ที่ประสบอยู่ ที่บังเกิดขึ้นอยู่ ดั่งนี้เป็นสติสัมโพชฌงค์ที่ใช้ในการปฏิบัติอบรมกรุณา
ในที่นี้แสดงข้อกรุณาก็ยกข้อกรุณาขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นก็ทุกข้อ และก็ต้องคอยมีธรรมวิจัยจำแนกเลือกเฟ้นธรรมที่บังเกิดขึ้นในการปฏิบัติอบรมกรุณานี้ เมื่อมีวิหิงสาบังเกิดขึ้นจิตยังผูกโกรธใครต่อใครอยู่ ก็คิดเบียดเบียน ก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ เป็นของเลว เป็นธรรมะที่เทียบด้วยสีดำ หรือว่าเกิดโทมนัสขึ้นก็ให้รู้ว่าเป็นของที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ควรจะไปเกิดโทมนัส ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์
ในเมื่อกรุณาบังเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่ากรุณาบังเกิดขึ้น คือเป็นความคิดช่วยให้พ้นทุกข์ปรารถนาให้พ้นทุกข์อย่างบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือพิจารณาจับเหตุจับผลให้ถูกต้อง ดั่งนี้เป็นธรรมวิจัยซึ่งต้องมีอยู่เป็นประจำ และเมื่อวิจัยออกไปได้ว่านี่ถูกนี่ผิด ก็เพียรละสิ่งที่ผิดไม่ให้บังเกิดขึ้นครอบงำใจ ให้ดับไป เพียรปฏิบัติให้บังเกิดขึ้นแต่สิ่งที่ถูก หรือกรุณาที่ถูกต้อง ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ โดย (เริ่ม) จะต้องมีธัมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นผู้ที่เลือกเฟ้นก่อน ใจของตัวเองนี่แหละเลือกเฟ้น แล้วใจของตัวเองนี่แหละรู้ ซึ่งสืบมาจากสติดังที่กล่าวมา
ฉะนั้นเมื่อเป็นสติสัมโพฌงค์ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ขึ้นดังนี้ ในการปฏิบัติอบรมกรุณา ก็ย่อมจะบังเกิดปีติสัมโพชฌงค์คือความอิ่มใจ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายสงบใจมีสุข และจะได้สมาธิเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ ได้อุเบกขาของใจ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทำข้อกรุณานี้ให้บังเกิดขึ้นโดยถูกต้องอย่างสมบูรณ์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป