แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะนั้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และทรงแสดงสั่งสอน เป็น สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก เป็นธรรมะอันผู้ปฏิบัติได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ซึ่งได้แสดงมาโดยลำดับ จนถึงควรน้อมเข้ามาด้วยสติระลึกกำหนด ญาณปรีชาหยั่งรู้ในเวทนา คือความเสวยอารมณ์เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง
และเวทนานี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกขึ้น เพื่อปฏิบัติกำหนดเวทนา เพื่อหน่ายไม่ยึดถือในเวทนาว่าเป็นทางปฏิบัติดับตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่าเวทนาเป็นเรื่องสำคัญของทุกๆ คน ซึ่งนำให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ทั้งในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นก็ได้ตรัสไว้ว่า เวทนา ปัจจยาตัณหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดั่งนี้
เวทนาเป็นปัจจัยแห่งกิเลสตัณหา
อันกิเลสคือตัณหาที่ตรัสว่ามีเวทนาเป็นปัจจัยโดยตรงก็ดี หรือกิเลสกองราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้ กองโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง กองโมหะความหลง ก็ดี ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ย่อมเนื่องมาจากเวทนา โดยปรกติคือเมื่อได้สุขโสมนัสเวทนา ในอารมณ์อันใด ในสิ่งอันใด ก็นำให้เกิดราคะหรือโลภะในอารมณ์นั้นในสิ่งนั้น เมื่อได้ทุกขโทมนัสในอารมณ์อันใดหรือในสิ่งอันใด ก็นำให้เกิดโทสะในอารมณ์นั้นในสิ่งนั้น เมื่อได้อุเบกขาเวทนาในอารมณ์อันใดในสิ่งอันใด และมิได้พิจารณา ก็นำให้เกิดโมหะคือความหลง หรือว่าความไม่รู้ตามเป็นจริง ในอารมณ์นั้นในสิ่งนั้น ดั่งนี้ และเพราะกิเลสที่บังเกิดขึ้นนี้เอง จึงก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรมต่างๆ ที่เป็นบาปอกุศลทุจริตต่างๆ อย่างร้ายแรงบ้าง อย่างกลางๆ บ้าง หรืออย่างเบาบ้าง สุดแต่กำลังอำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นนั้น
ภูมิพื้นแห่งจิตใจเป็นไปตามกรรมกิเลส
เมื่อบังเกิดกิเลสก่อบาปอกุศลกรรมต่างๆ ขึ้นดั่งนี้ จึงทำให้ภูมิพื้นแห่งจิตใจของบุคคลแต่ละคนนั้น เป็นไปตามกิเลสและกรรม เป็นวิบากคือผลซึ่งบังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เอง คือในขณะที่ยังเป็นบุรุษชายหญิงอยู่ในโลกนี้นี่แหละ ร่างกายนั้นก็เป็นคนเป็นมนุษย์ แต่ว่าภูมิพื้นทางจิตใจนั้นไม่เป็นคนไม่เป็นมนุษย์ก็ได้ ในเมื่อปฏิบัติประกอบอกุศลกรรมต่างๆ ไปตามอำนาจของกิเลส
มนุสเนริยโก มนุสเปโต มนุสเดรัจฉาโน
เพราะฉะนั้นจึงมีคำเรียกกันว่า มนุสสนิรยโก มนุษย์นรก คือร่างกายเป็นคน แต่ว่าภูมิพื้นทางจิตใจนั้นเป็นนรก เพราะประกอบกรรมที่เป็นบาปอกุศลอย่างแรง ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาอย่างแรง เรียกว่า มนุสสเปโต มนุษย์เปรตบ้าง ก็เพราะกิเลสและกรรมที่ประกอบกระทำ ที่เปลี่ยนภูมิพื้นของจิตใจให้เป็นเปรต มีความหิวระหายอยู่เสมอ หรือดังที่เรียกว่า มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์เดรัจฉาน ก็เพราะกิเลสและกรรมที่ประกอบกระทำ โดยปราศจากหิริโอตตัปปะ เหมือนอย่างสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าหากว่าบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพราะได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รู้จักมีสติกำหนดรู้ ญาณความหยั่งรู้ในเวทนาอยู่ ดั่งที่ตรัสสอนไว้ ว่าให้พิจารณาว่าเวทนาเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้สุขโสมนัสก็มีสติกำหนดให้รู้จักดั่งนี้ เวทนาดังกล่าวก็จะไม่นำให้เกิดราคะโลภะ ในอารมณ์หรือในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขโสมนัสนั้น เมื่อได้ทุกข์โทมนัสก็มีสติมีญาณกำหนดรู้หยั่งรู้ดั่งนั้น ก็จะทำให้ระงับใจได้อีกเช่นเดียวกัน เวทนาดังกล่าวไม่นำให้เกิดโทสะ (เริ่ม) และเมื่อประสบอุเบกขาเวทนาก็ทำสติ และญาณกำหนดรู้หยั่งรู้ดั่งกล่าว ไม่ปล่อยให้เป็นไปโดยไม่รู้ ก็จะทำให้ทวีปัญญาคือความหยั่งรู้ ทวีสติคือความระลึกได้ดีขึ้น เป็นเครื่องรักษาจิตใจ ให้พ้นจากความหลงถือเอาผิด และความไม่รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้
มนุสมนุสโส มนุสเทโว มนุสอริโย
และเมื่อเป็นดั่งนี้เวทนาจึงไม่นำให้เกิดกิเลสตัณหา อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม ต้องเปลี่ยนภูมิภพของจิตใจ เป็นไปในทางทุคติ คติที่ไม่ดีต่างๆ ดั่งที่กล่าว แต่เวทนานี้เองก็จะสนับสนุนใจให้มีพลังในอันที่จะละชั่วทำดี จึงทำให้เป็นมนุษย์ที่เรียกกันว่ามนุสสมนุสโส มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ คือที่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ซึ่งมนุษย์ควรจะตั้งอยู่ ยิ่งกว่านั้นก็เป็น มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา คือเป็นผู้มี่ที่มีศีลธรรม มีหิริมีโอตตัปปะ มีสุกกะธรรม ธรรมะที่ขาวสะอาด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีความสงบกายวาจาใจยิ่งขึ้น หรือยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็เป็น มนุสสอริโย มนุษย์ผู้เป็นอริยะ ดั่งเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายทุกชั้น
ข้อที่ตรัสสอนท่านพระโมคคัลลานะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เมื่อทรงสั่งสอนท่านพระอัครสาวกทั้งสอง คือพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร เมื่อก่อนที่ท่านจะได้บรรลุถึงอรหัตมรรคอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ดังที่มีแสดงไว้ว่าท่านพระโมคคัลลานะได้กราบทูลถามว่า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นอันชื่อว่าน้อมไปในธรรม ที่ละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสสอนโดยความว่า
อริยสาวกเมื่อได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่พึงยึดมั่น ดั่งนี้แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ชัดธรรมทั้งปวง และเมื่อรู้ชัดธรรมทั้งปวง ก็กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง เมื่อกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ เมื่อได้เสวยเวทนาอะไร จะเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ดี ก็ไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นก็ย่อมคลายความติดใจยินดี เพราะมีความเบื่อหน่าย หรือเมื่อกล่าวโดยลำดับ เมื่อเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม ก็น้อมระลึกถึงคำสั่งสอนที่ได้สดับมาว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น จึงพิจารณาเวทนาให้เห็นว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมบังเกิดความหน่าย เมื่อหน่ายก็สิ้นติดใจยินดี ไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่ต้องสะดุ้ง ดับกิเลสได้เฉพาะตัว ดั่งนี้ ท่านพระโมคคัลลานะก็ได้ปฏิบัติที่ทรงสั่งสอน ก็ได้บรรลุผลสูงสุดในพุทธศาสนา
ข้อที่ตรัสสอนท่านพระสารีบุตร
แม้ท่านพระสารีบุตรก็เช่นเดียวกัน ได้ฟังธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอน แก่ ฑีฆนขะ อคิเวสนโคตร ในถ้ำสุกรฆาตาบนเขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนแก่ท่านปริพาชกผู้นั้น ซึ่งมีท่านพระสารีบุตรนั่งเฝ้าอยู่ด้วย โดยที่ท่านปริพาชกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ทิฏฐิคือความคิดเห็นทุกอย่างตนไม่ชอบใจทั้งหมด
พระพุทธองค์จึงตรัสว่าถ้าเช่นนั้นทิฏฐิคือความคิดเห็นของท่าน ตามที่ท่านได้กล่าวนั้น ก็ไม่ควรแก่ท่านเช่นเดียวกัน จึงได้ตรัสสอนต่อไปว่า คนในโลกนี้ก็มีทิฏฐิต่างๆ กันอยู่ ๓ จำพวก คือจำพวก ๑ ก็เห็นว่าทิฏฐิความคิดเห็นทั้งหมดไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจทั้งหมด จำพวกที่ ๒ ก็เห็นว่าทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้งปวงควรแก่ตน ตนชอบใจทั้งหมด จำพวกที่ ๓ ก็เห็นว่าทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้งปวง บางอย่างก็ควรแก่ตน ตนชอบ บางอย่างก็ไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบ
พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าบรรดาทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้ง ๓ นี้ จำพวกที่ว่าทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้งหมด ไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจทั้งหมด ก็เป็นไปในข้างโทสะ ความขัดใจไม่ชอบใจ ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก่ตนทั้งหมดชอบใจทั้งหมด ก็เป็นไปในฝ่ายราคะความติดใจยินดี ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก่ตน ชอบใจตนบางอย่าง ไม่ควรแก่ตน ไม่ชอบใจตนบางอย่าง ก็เป็นไปในด้านราคะความติดใจยินดีบ้าง โทสะความขัดใจไม่ชอบใจบ้าง
เพราะฉะนั้น จึงควรละทิฏฐิความคิดเห็นที่เป็นไปดั่งนั้นทั้งหมด โดยไม่ยึดมั่นในทิฏฐิคือความคิดเห็นอันใดอันหนึ่ง เพราะว่าเมื่อมีความยึดมั่นอยู่ย่อมเป็นไปเพื่อความวิวาท เพื่อความพิฆาตหมายมั่น และเพื่อความเบียดเบียน แต่เมื่อไม่ยึดถือทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ
ข้อที่ตรัสสอนเรื่องกายเวทนา
และพระพุทธองค์ก็ตรัสสอนอบรมต่อไป เพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทรงยกกายขึ้นแสดง ว่ากายอันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้ เป็นกายที่ต้องอบต้องรมให้หายกลิ่น ต้องขัดสีมลทินกายกันอยู่เป็นประจำ เป็นสิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณากายนี้ให้เห็นตามเป็นจริง ก็จะไม่ติดใจยินดีในกามทั้งหลาย
และเมื่อเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้พิจารณา คือในขณะที่เสวยสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ในขณะที่เสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุขเวทนา อุเบกขาเวทนา ในขณะที่เสวยอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เสวยสุขเวทนา ไม่เสวยทุกขเวทนา ย่อมเสวยเวทนาในเวลาหนึ่งแต่เพียงอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่ทุกข์ก็อุเบกขา และเวทนาที่เสวยนี้ก็บังเกิดขึ้นตามปัจจัย และก็ต้องเสื่อมไปจางไปสลายไป
เมื่อพิจารณาให้เห็นเวทนาตามเป็นจริงดั่งนี้ก็จะเบื่อหน่าย จะคลายความติดใจยินดี จะหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่น ท่านพระสารีบุตรได้ฟังธรรมะที่ทรงแสดงแก่ท่านปริพาชกนั้น ก็เข้าใจในธรรมะที่ทรงแสดง ว่าตรัสสอนมิให้ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ขีณาสพดั่งนี้
เพราะฉะนั้น เรื่องเวทนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อหัดทำสติกำหนดเวทนาที่ประสบอยู่ให้รู้ตามเป็นจริงว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเป็นการกั้นมิให้กิเลสตัณหาบังเกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดกิเลสตัณหาขึ้นก็ไม่เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ซึ่งบังเกิดสืบเนื่องไปจากกิเลสตัณหา
เพราะฉะนั้นการที่มาตั้งสติกำหนดเวทนาดั่งนี้ จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ น้อมไปเพื่อธรรมะที่สิ้นตัณหา ก็คือเป็นโอปนยิโก น้อมไปเพื่อธรรมะที่สิ้นตัณหา อันเป็นวัตถุที่ประสงค์แห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา และเป็นการปฏิบัติที่แม้ยังไม่สิ้นตัณหาได้ ก็เป็นการสกัดกั้นมิให้ตัณหาบังเกิดขึ้น มิให้กิเลสบังเกิดขึ้นอันสืบจากเวทนา หรือว่าบังเกิดขึ้นก็ไม่มาก ไม่มีกำลังเต็มที่ เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติบรรเทากิเลสไปด้วย ฉะนั้น โอปนยิโกคือปฏิบัติน้อมจิตไปเพื่อสิ้นตัณหานี้ จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกตรงต่อพระธรรมคุณบทนี้
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป