แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วสันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ดั่งนี้ ธรรมะทุกข้อทุกบทย่อมประกอบด้วยลักษณะที่เป็นพระธรรมคุณทั้ง ๖ บทนี้ และได้กำลังแสดงอธิบายในข้อที่ ๖ ที่มุ่งถึงผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน และในการอธิบายก็ได้ยกเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ มาอธิบายเข้าในพระธรรมคุณ ตั้งแต่ในพระธรรมคุณบทข้างต้น จับแต่สติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณากาย อันเป็นข้อที่ ๑ กำหนดพิจารณาเวทนาอันเป็นข้อที่ ๒ กำหนดพิจารณาจิต อันเป็นข้อที่ ๓ และกำหนดพิจารณาธรรม อันเป็นข้อที่ ๔ โดยที่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมาโดยลำดับ
และโดยเฉพาะในข้อจิตและข้อธรรมนี้ก็ได้แสดงอธิบายมาแล้ว เป็นการทำความเข้าใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกัน และในส่วนจำเพาะของข้อ ซึ่งก็จะได้แสดงอธิบายในข้อตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมต่อไป แต่ก็ควรที่จะได้กลับกล่าวย้อนถึงอนุสนธิคือความต่อเนื่องกันสักเล็กน้อย (เริ่ม) คือเมื่อจับพิจารณาจิต รู้จิต ก็ย่อมจะรู้ธรรมะในจิตด้วย เพราะว่าจิตเป็นอย่างไรก็สุดแต่ธรรมะที่ตั้งอยู่ในจิต ดังเช่นจิตมีราคะ ก็เพราะมีราคะตั้งอยู่ในจิต จิตมีโทสะโมหะก็เพราะมีโทสะโมหะตั้งอยู่ในจิต ลำพังจิตเองนั้นเป็นกลางๆ
จิตและเจตสิก
เพราะฉะนั้น ในอภิธรรมจึงได้แสดงถึงจิตและเจตสิกเป็นข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ รูป และนิพพานเป็นข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ และโดยเฉพาะจิตและเจตสิกนี้ เจตสิกก็คือธรรมะที่เกิดขึ้นในจิต โดยทั่วไปก็คือธรรมะในข้อธรรมานุปัสสนานี้เอง เป็นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต ฉะนั้นเมื่อกำหนดดูจิต ก็ย่อมจะเห็นธรรมะที่ตั้งอยู่ในจิต หรือเจตสิกดังกล่าวนี้ด้วย
ถ้าไม่มีธรรมะตั้งอยู่ในจิต ตัวจิตเองก็เป็นธรรมดาไม่เป็นอะไร คือไม่เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว จะกล่าวว่าเป็นกลางๆ ก็ได้ จิตก็คงตั้งอยู่ในสภาพเป็นธาตุรู้ ที่เรียกวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ และมีลักษณะที่ปภัสสรคือผุดผ่อง ความปภัสสรคือผุดผ่อง กับความเป็นธาตุรู้เป็นธรรมชาติธรรมดาของจิต
เพราะฉะนั้นลำพังจิตเองท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำที่ไม่มีสี แต่ว่าน้ำนั้นกลายเป็นน้ำมีสีก็เพราะเมื่อมีสีแดงผสมก็เป็นน้ำสีแดง มีสีเขียวผสมก็เป็นน้ำสีเขียวก็เป็นน้ำสีเขียว มีสีเหลืองผสมก็เป็นน้ำสีเหลือง ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นจิตมีราคะ หรือมีโทสะ มีโมหะ ก็เพราะมีราคะมีโทสะมีโมหะเข้าผสม และเมื่อมองดูจิตที่เป็นอย่างไรก็จะต้องเห็นธรรมะที่ผสมอยู่ในจิตด้วย เหมือนอย่างมองดูน้ำที่ผสมสี ก็ย่อมจะเห็นสีของน้ำ เป็นสีแดง สีเขียว เหลืองเป็นต้น ดังกล่าวนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จึงพึงทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานดั่งนี้
กามาวจรจิต
และก็พึงทำความเข้าใจต่อไปอีกว่า อันธรรมะที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ในจิตนั้น เมื่อกล่าวรวมเข้ามาก็เป็น ๓ คือเป็นอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล เป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลางๆ มิใช่กุศลมิใช่อกุศล ธรรมะที่ตั้งอยู่ในจิตก็รวมเข้าเป็นธรรมะ ๓ กอง หรือ ๓ ชนิด ดั่งนี้ และจิตที่เป็นสามัญ ซึ่งเรียกว่าเป็น กามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม หยั่งลงในกามนั้นก็ย่อมเป็นจิตมีราคะ มีโทสะ หรือมีโมหะ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติในจิตตานุปัสสนากำหนดพิจารณาจิต ดูจิต ก็ทรงตั้งต้นว่าจิตมีราคะ หรือปราศจากราคะ ก็ให้รู้ดังนี้เป็นต้น เพราะว่าพื้นของจิตที่เป็นกามาวจรของโลกทั่วไปนั้น ก็ย่อมประกอบด้วยกิเลส ๓ กองนี้อยู่ด้วยกัน
ฉะนั้นตรัสสอนให้กำหนดดูจิต มุ่งดูที่ตัวจิตว่าเป็นอย่างไร คือจิตมีราคะ หรือปราศจากราคะเป็นต้นก็ให้รู้ดั่งนี้แล้ว จึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตโดยตรง เป็นข้อที่ ๔ อันนับว่าเป็นข้อสำคัญ
นิวรณ์ ๕ คือราคะโทสะโมหะ
เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนตั้งต้นให้กำหนดดูจิตอันประกอบด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็คือดูนิวรณ์ทั้ง ๕ มุ่งดูนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่บังเกิดขึ้นในจิต นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็คือราคะโทสะโมหะนั้นแหละ แต่ว่าตรัสขยายออกไปเป็น ๕ และเรื่องนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็ได้แสดงแล้ว ทั้งคำว่าชื่อของนิวรณ์ พร้อมทั้งคำว่านิวรณ์แปลว่าอะไร หมายถึงอะไร และ ๕ ข้อนั้นมีอะไรบ้าง และทั้ง ๕ ข้อนั้นก็รวมเข้าในกิเลส ๓ กอง คือราคะโทสะโมหะนั้นเอง
ตรัสสอนให้กำหนดดูนิวรณ์เหล่านี้ที่บังเกิดขึ้นในจิต นิวรณ์ข้อไหนบังเกิดขึ้นในจิต ก็ให้รู้ และให้รู้ถึงประการที่ทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น ให้รู้ถึงประการที่จะละนิวรณ์ได้ ให้รู้ถึงประการที่จะปฏิบัติทำนิวรณ์ที่ละแล้วไม่ให้บังเกิดขึ้นอีก และประการทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้จำเพาะข้อๆ โดยประการต่างๆ แต่ว่าในที่นี้ได้เว้นประการอื่น แสดงจับเข้ามาตามสายของ ขันธ์ อายตนะ สังโยชน์ ที่ตรัสไว้ตามลำดับในข้อธรรมานุปัสสนา นี่แหละไม่ยกมาจากที่อื่น
ก็คือว่าประการที่ให้นิวรณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ในจิต ก็ได้แก่สังโยชน์คือความผูกใจในอารมณ์คือเรื่องที่ผ่านทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น เมื่อเกิดอารมณ์คือเรื่องที่จิตนี้รับเข้ามาทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น ก็มีสังโยชน์คือผูก คือจิตผูกอยู่กับอารมณ์ หรืออารมณ์ผูกอยู่กับจิต ตัวความผูกนี้เอง ก็ทำให้แสดงอาการเป็นผูกใจชอบ ดั่งนี้ ก็เกิดเป็นกามฉันท์ขึ้น ผูกใจโกรธก็เกิดเป็นโทสะพยาบาทขึ้น ผูกใจหลงก็เกิดเป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม กุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย แต่ว่าสำหรับข้อความรำคาญที่คู่กับความฟุ้งซ่านนั้น พระอาจารย์ท่านจัดเข้าในกองโทสะก็มี ก็เป็นอันว่าตัวสังโยชน์คือผูกใจนี่แหละ เป็นต้นนำให้เป็นนิวรณ์ขึ้นมาทั้ง ๕ นั้น ดั่งนี้ก็ได้แสดงมาแล้ว
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖
ในวันนี้ก็จะได้กล่าวเพิ่มเติมตามพระพุทธโอวาทอีกว่า อันนิวรณ์ สังโยชน์ ผูกใจดังที่กล่าวมานี้ ก็อาศัยขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เหล่านี้แหละบังเกิดขึ้น ทุกคนมีขันธ์ ๕ มีอายตนะ ๖ มาตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา ก็เริ่มมีขันธ์ ๕ มีอายตนะ ๖ จนถึงเมื่อสมบูรณ์จึงได้คลอดออกมา มีขันธ์ ๕ มีอายตนะทั้ง ๖ เว้นไว้แต่บางคนที่บกพร่อง เช่นคลอดออกมาขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ บางอย่างพิกลพิการ เช่นว่าตาบอดเป็นต้น
เพราะฉะนั้นขันธ์อายตนะเหล่านี้จึงได้ชื่อว่าเป็นวิบากขันธ์ ขันธ์ที่เป็นวิบาก วิบากอายตนะ อายตนะคือวิบาก คือเป็นผลของกรรมเก่า โดยเฉพาะก็คือชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิดมาตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ และขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ เมื่อเป็นวิบากจึงเป็นของกลางๆ ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป เพราะเป็นตัวผล แต่ว่าก็เป็นที่อาศัยบังเกิดขึ้นของกิเลส ของบุญ และบาป แต่ตัวขันธ์ ตัวอายตนะเอง ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป
ในข้อนี้เมื่อนึกเทียบดูอย่างง่ายๆ เช่น คนที่ไปตีใคร ก็ต้องใช้มือตี หรือว่าเอามือจับไม้ไปตีเขา คนที่ตีนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ตี และชื่อว่าได้กระทำการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการตี เป็นผู้ที่ได้กระทำความชั่วอันเป็นบาป เพราะเหตุที่ หรือในข้อที่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการตี แต่ว่ามือหรือไม้ที่ใช้ตีเขานั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป แม้เมื่อใช้มือหยิบของทำบุญเช่นใส่บาตรพระ หรือว่าให้แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นการทำทาน ผู้ที่กระทำนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำบุญทำทาน แต่ว่ามือที่หยิบของให้เขานั้นไม่ชื่อว่าเป็นบุญหรือเป็นบาปอย่างไร เพราะเป็นเครื่องมือสำหรับที่จะใช้ ดังที่กล่าวมานี้ก็ยกขึ้นเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงว่าขันธ์อายตนะนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป
แต่เป็นเครื่องมือสำหรับที่จะทำบุญทำบาปได้ การทำบุญทำบาปก็ต้องอาศัยขันธ์อาศัยอายตนะทำ ผู้ทำก็เป็นบุญเป็นบาป แต่ว่าขันธ์อายตนะนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เพราะฉะนั้นขันธ์อายตนะนี้จึงเป็นกลางๆ อันเรียกว่าอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นอัพยากฤต ไม่ยืนยันว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป
ข้อพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕
พระพุทธเจ้าครั้นตรัสแสดงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มด้วยข้อนิวรณ์ ต่อจากข้อนิวรณ์จึงได้ทรงแสดงขันธ์ ๕ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ อันได้แก่ตั้งสติกำหนดพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ อันเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ว่ารูปอย่างนี้ ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ ความบังเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณอย่างนี้
คือกำหนดดูให้รู้จัก ตัวรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พร้อมทั้งความเกิดพร้อมทั้งความดับ ว่าเป็นอย่างนี้ๆ สำหรับความกำหนดดูให้รู้จัก พร้อมทั้งความเกิดความดับนี้ พึงตั้งสติกำหนดพิจารณาดู ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก่อน ให้รู้จักว่ารูป ก็คือรูปกายอันนี้ อันประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ เวทนาก็คือความรู้นี้เอง ซึ่งเป็นความรู้สุขรู้ทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะว่าที่จะเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจ ที่บังเกิดขึ้นแก่ทุกๆ คน ก็โดยที่ทุกๆ คนรู้นี้เอง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ก็เป็นขึ้นด้วยความรู้
ถ้าไม่มีความรู้แล้ว อาการที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นตัวเวทนานี้จึงเป็นตัวรู้ ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อฉีดยาชาที่ร่างกาย และหมอก็ทำการผ่าตัดที่ร่างกายตรงนั้น ไม่ปรากฏเป็นทุกข์ก็เพราะว่าไม่มีตัวรู้อยู่ที่ร่างกายส่วนนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีตัวรู้หมอจะทำอะไรก็ไม่มีเจ็บ ทุกขเวทนาก็ไม่เกิด หรือแม้สุขเวทนาก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขทางกายทางใจ จึงอยู่ที่รู้นี้เอง รู้ที่มีอาการสบายก็เรียกว่าสุข รู้ที่มีอาการไม่สบายก็เรียกว่าทุกข์ รู้ที่มีอาการเป็นกลางๆ ก็เรียกว่าไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ก็ให้รู้จักว่านี่คือเวทนา
มาถึง สัญญา ให้รู้จักว่าก็คือความจำได้หมายรู้ ที่จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะ จำเรื่องราวอะไรต่างๆ ได้ นี่ก็คือสัญญาสังขาร ก็คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิดทางใจ ก็คิดเรื่องรูปบ้างเรื่องเสียงบ้างเรื่องกลิ่นบ้างเรื่องรสบ้างเรื่องโผฏฐัพพะบ้าง เรื่องของเรื่องต่างๆ เหล่านี้บ้าง คิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆ บ้าง นี่ก็เป็นสังขาร
(เริ่ม) การเห็น การได้ยิน การทราบ การคิด การรู้ ต่างๆ เหล่านี้ก็เป็น วิญญาณ แม้สัญญาสังขารวิญญาณทั้ง ๓ นี้ ก็เป็นความรู้อีกเหมือนกัน ถ้าไม่มีความรู้อยู่ ก็ไม่เป็นสัญญา ไม่เป็นสังขาร ไม่เป็นวิญญาณ แต่ว่าความรู้นั้น เมื่อเป็นความรู้จำก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดก็เป็นสังขาร รู้เห็นรู้ได้ยินก็เป็นวิญญาณ
ขันธ์ ๕ เกิดดับเป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้นก็ทำความรู้จักขันธ์ ๕ ดั่งนี้ ที่ตนเอง รูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ และก็ให้รู้ความเกิดความดับ ว่าทั้ง ๕ นี้ก็มีความเกิดความดับเป็นธรรมดา และประการที่ทำให้ เกิด เป็นอย่างไร ประการที่ ดับ เป็นอย่างไร ก็ต้องกำหนดไปตามข้ออายตนะได้ ก็เกิดดับทางอายตนะนั่นแหละ แต่ว่าในวันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ เกิดดับของขันธ์ ๕ ทางอายตนะอย่างไร จะได้ไปว่าในข้ออายตนะต่อไป ตลอดจนถึงกิเลสที่สืบเนื่อง
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป