แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะเป็น สวากขาตธรรม คือธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา เพราะฉะนั้นธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วนั้น จึงเป็นธรรมะอันประกอบด้วยพระธรรมคุณ ทุกข้อดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับ จนถึงข้อ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ก็คือควรน้อมจิตนี้เองเข้ามาสู่ธรรม หรือควรน้อมธรรมเข้าสู่จิต ถ้าไม่น้อมเข้ามาดังกล่าวนี้ ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนั้น ก็ไม่บรรลุถึงบุคคล บุคคลก็ไม่บรรลุถึงธรรมะ จะต้องมีการน้อมเข้ามาจึงจะได้บรรลุธรรมะ หรือธรรมะบรรลุบุคคล หรือบุคคลถึงธรรมะ ธรรมะถึงบุคคล
และการน้อมเข้ามานั้น ก็ได้แสดงมาเมื่อยกสติปัฏฐานขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็น้อมเข้ามากำหนดกายเวทนาจิตธรรม และก็ได้กำลังแสดงถึงข้อเวทนา ซึ่งข้อเวทนานี้เป็นข้อที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ในที่ทั้งหลาย แก่บุคคลทั้งหลายเป็นอันมาก ตลอดถึงทรงแสดงแก่พระอัครสาวก ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุถึงธรรมะสูงสุด ดังที่ได้กล่าวแล้วเหมือนกัน และเวทนานี้ตามปฏิจจสมุปบาทเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ซึ่งได้อ้างมาแล้วเหมือนกัน
กิเลสสืบเนื่องมาจากเวทนา
และยังมีในพระสูตรอื่น ดังเช่น ธชัคคสูตร ที่ได้ตรัสไว้โดยความว่า แม้อาสวะอนุสัยคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ที่ท่านเปรียบเหมือนเป็นตะกอนก้นตุ่ม อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด ก็สืบเนื่องมาจากเวทนาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เวทนานี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องปรุงจิต การกำหนดเวทนาจึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะ จะพึงตั้งสติหัดกำหนด ตามนัยยะที่ได้ตรัสสอนไว้
สำหรับที่ตรัสถึงอาสวะอนุสัย ก็สืบมาจากเวทนานั้น ดังจะได้นำเอาใจความมาแสดงโดยสังเขปว่า บุคคลอันสุขเวทนาถูกต้องย่อมอภินันท์ยินดีเพลิดเพลิน ย่อมชมชื่นสยบติดอยู่ เมื่อเป็นดั่งนี้ ราคานุสัย ราคะคือความติดใจยินดีย่อมตกตะกอน นอนจมอยู่ในจิตสันดาน อันเรียกว่า ราคานุสัย (เริ่ม) บุคคลอันทุกขเวทนาถูกต้องย่อมโศกเศร้าเสียใจ ลำบากใจ รัญจวนใจ ตีอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล
ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งจิต ซึ่งเป็นต้นของกิเลสกองโทสะ ย่อมตกตะกอนนอนจมอยู่ในจิตสันดานเป็น ปฏิฆานุสัย กิเลสที่นอนจมจิตสันดาน คือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง บุคคลอันเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขถูกต้อง ย่อมไม่รู้ความเกิดขึ้น ความดับไป ย่อมไม่รู้ผลส่วนดี ที่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้ผลส่วนโทษ ย่อมไม่รู้การนำจิตออก เมื่อเป็นดั่งนี้อวิชชาคือความไม่รู้แจ่มแจ้ง ก็ตกตะกอนนอนจมอยู่ในจิตสันดาน เป็น อวิชชานุสัยอนุสัยกิเลสที่นอนจมจิตสันดาน คือ อวิชชา
บุคคลไม่ละราคานุสัยในสุขเวทนา ไม่บรรเทาปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ไม่ถอนอวิชชานุสัยในเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขหรืออุเบกขาเวทนา ไม่ละอวิชชา ไม่ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น ย่อมไม่เป็นฐานะว่าจะกระทำให้ถึงที่สุดทุกข์ในปัจจุบันได้
ส่วนบุคคลผู้ที่สุขเวทนาถูกต้องย่อมไม่อภินันท์ ยินดีเพลิดเพลิน ไม่ชื่นชม ไม่สยบติด ราคานุสัยก็ไม่เกิดขึ้น บุคคลอันทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมไม่โศกเศร้าเสียใจ ลำบากใจ ไม่รัญจวนใจ ไม่ตีอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล ปฏิฆานุสัยก็ไม่เกิดขึ้น บุคคลอันเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขถูกต้อง ย่อมรู้ความเกิดความดับ ย่อมรู้ส่วนเป็นคุณที่ทำให้พอใจ ส่วนที่เป็นโทษ ย่อมรู้การนำจิตออกไปได้ อวิชชานุสัยก็ไม่เกิดขึ้น
บุคคลผู้ละราคานุสัยในสุขเวทนา บรรเทาปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ถอนอวิชชานุสัยในเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น ย่อมเป็นฐานะที่จะทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้ในปัจจุบัน ดั่งนี้
สติกำหนดตามดูจิต
ตามพระพุทธภาษิตใน ธชัคคสูตร ที่ได้ตัดตอนมากล่าวโดยย่อนี้ แสดงว่าเวทนาเป็นปัจจัยอันสำคัญนำให้เกิดกิเลส จนถึงขั้นอนุสัย คือกิเลสที่นอนจมอยู่ในจิตสันดาน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดตามดูจิตสืบต่อจากเวทนา ที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติดูตามจิต ซึ่งแปลโดยสังเขปว่าตั้งสติตามดูจิต คือกำหนดดูจิตของตน จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะความติดใจยินดี จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะความติดใจยินดี จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะความขัดแค้นโกรธเคือง จิตปราศจากโทสะก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะความหลงก็ให้รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็ให้รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตถึงความเป็นใหญ่ที่เรียกว่า มหัคตะ คือบรรลุถึงสมาธิขั้นอัปปนาแนบแน่น ถึงฌานก็ให้รู้ว่าจิตถึงความเป็นใหญ่ จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่ก็ให้รู้ว่าจิตไม่ถึงความเป็นใหญ่ จิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าเช่นเป็นจิตที่ยังไม่ได้สมาธิอะไร ซึ่งต่ำกว่าจิตที่ได้สมาธิ หรือว่าแม้จิตที่ได้สมาธิ ก็ยังเป็นสมาธิขั้นบริกรรมชั่วครู่ชั่วขณะ ซึ่งต่ำกว่าสมาธิที่เป็นอุปจาร คือเฉียดที่จะสงบจริง คือที่ยังมีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่าอีกโดยลำดับขึ้นไป ดั่งนี้
จิตที่เป็นอนุตระคือไม่มีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า คือเป็นจิตที่บรรลุถึงขั้นสูง ซึ่งหมายความว่าขั้นสูงสำหรับในชั้นนั้นๆ ก็ให้รู้ หรือว่าสูงสุดทีเดียวก็ให้รู้ จิตที่ได้สมาธิมีสมาธิตั้งมั่น ก็ให้รู้ จิตที่ไม่มีสมาธิไม่มีความตั้งมั่น ก็ให้รู้ จิตที่วิมุติหลุดพ้น หมายถึงหลุดพ้นตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไป ดังที่เรียกว่า ตทังควิมุติ หลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ แม้ชั่วคราวก็ให้รู้ จิตที่ไม่วิมุติหลุดพ้น ก็ให้รู้ ดั่งนี้ คือน้อมจิตนี้เองเข้ามาดูจิตว่าจิตเป็นไปอย่างไรอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับจิตที่ตรัสแสดงไว้ให้ตั้งสติกำหนดดู คู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คือจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ จิตที่มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ จิตที่มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ สำหรับจิตที่มีราคะ จิตที่มีโทสะ จิตที่มีโมหะ ก็สืบเนื่องมาจากเวทนาดังที่กล่าวมาแล้ว คือเมื่อมีสุขเวทนา อันสุขเวทนาถูกต้อง และยังมีความยินดี บันเทิง ชื่นชม สยบติด ก็นำให้จิตนี้เป็นจิตที่มีราคะคือความติดใจยินดี จิตที่ได้รับทุกขเวทนา อันทุกขเวทนาถูกต้องก็โศกเศร้าเสียใจลำบากใจ ทุกข์ใจ รัญจวนใจ ตีอกคร่ำครวญ หลงใหล ก็นำให้เกิดโทสะ เป็นจิตที่มีโทสะ เมื่อได้รับเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข หรืออุเบกขาเวทนา ก็ไม่กำหนดดูให้รู้จักเกิดรู้จักดับของเวทนานี้ ไม่กำหนดดูให้รู้คุณรู้โทษของเวทนานี้ ไม่กำหนดนำจิตออกจากเวทนานี้ ก็เป็นจิตที่มีโมหะคือความหลง
กำหนดดูจิตให้ถึงเวทนา
ก็เมื่อกำหนดเวทนา ก็จะนำไปถึงจิต และกำหนดจิตดูว่าจิตมีราคะก็ให้รู้ มีโทสะก็ให้รู้ มีโมหะก็ให้รู้ ดั่งนี้ ก็ทำให้รู้จิตว่าเป็นจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ อันสืบเนื่องมาจากเวทนาดังกล่าว ดูเวทนาก็ถึงจิต และดูจิตก็จะถึงเวทนา ที่สัมพันธ์กัน และก็ให้รู้อาการของจิตที่มีราคะ ว่าคือมีความติดใจยินดี ที่มีโทสะก็มีความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง ที่มีโมหะก็คือมีความหลง คือไม่รู้
คราวนี้เมื่อมาเป็นผู้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ในขณะที่ได้รับเวทนา เมื่อได้รับสุขเวทนาก็ทำจิตให้ไม่อภินันท์เพลิดเพลินยินดี ไม่ให้ชื่นชม ไม่ให้สยบติด เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะปราศจากราคะในอารมณ์นั้นเมื่อได้รับทุกขเวทนาก็ทำจิตไม่ให้โศกเศร้าเสียใจ เป็นทุกข์ใจ ลำบากใจ ไม่ให้รัญจวนใจ ไม่ให้ตีอกคร่ำครวญ ไม่ให้หลงใหล เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ปราศจากโทสะ
เมื่อได้รับเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อันเป็นอุเบกขาเวทนา ก็กำหนดพิจารณาให้รู้จัก และกำหนดให้รู้จักเกิดดับ คุณโทษ และการที่นำจิตออกได้ ดั่งนี้ก็ทำให้จิตปราศจากโมหะในอารมณ์นั้น ก็เป็นอันว่าการกำหนดดูจิตนั้น ก็กำหนดดูไปให้ถึงเวทนา หรือว่าเมื่อกำหนดเวทนา ก็กำหนดให้ถึงจิตซึ่งสัมพันธ์กัน ดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อรู้ และหากว่าไม่ได้ปฏิบัติปล่อยจิตไปตามอารมณ์ ก็ย่อมจะเป็นจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะมีความติดใจยินดี เพราะมีความทุกข์กระทบกระทั่ง เพราะมีความไม่รู้ตามเป็นจริง หากปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คอยที่จะกำหนดดูให้รู้จักเวทนา และไม่ทำความอภินันท์ในสุขเวทนา ไม่ทำความทุกข์ขัดใจในทุกขเวทนา ไม่ทำความไม่รู้ในอุเบกขาเวทนาหรือเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ดั่งนี้ก็เป็นจิตที่ปราศจากราคะโทสะโมหะในอารมณ์นั้น
อารมณ์ ๖
เพราะฉะนั้น จิตนี้รับอารมณ์คือ เรื่องที่ประสบทางตา หรือทางจักขุทวาร ทางตา ประตูตา โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป รับอารมณ์ทางโสตะทวารคือประตู หรือทางหูโดยเป็น สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง รับอารมณ์ทางฆานะทวาร คือทางจมูกโดยเป็น คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น รับอารมณ์ทางชิวหาทวาร ประตูลิ้น หรือทางลิ้นโดยเป็น รสารมณ์ อารมณ์คือรส รับอารมณ์ทางกายทวารโดยเป็น โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง รับอารมณ์คือธัมมะเรื่องราวทางมโนทวาร ประตูใจ หรือทางใจ โดยเป็น ธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะ ในที่นี้หมายถึงเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว หรือที่คิดว่าจะได้ประสบพบผ่านต่อไป อารมณ์เหล่านี้คู่กันอยู่กับจิตเสมอ
จิต อารมณ์ กิเลส
อารมณ์นั้นได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง ไม่ใช่หมายถึงภาวะของจิตที่รัก หรือที่ชัง หรือที่หลง ที่คนมักจะพูดกันว่าอารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดี ที่หมายถึงจิตที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี แต่อารมณ์นั้นหมายถึงเรื่องดังที่กล่าวมานั้น
แต่ว่าถ้าเรียกว่าอารมณ์ดี หรือเรียกว่าอารมณ์ไม่ดี เช่นคนนี้กำลังโกรธก็ว่าอารมณ์ไม่ดี อารมณ์หงุดหงิด ถ้าพูดด้วยความเข้าใจว่าอันความโกรธความหงุดหงิดนั้น ย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความโกรธของความหงุดหงิด เพราะฉะนั้นตัวอารมณ์กับตัวอาการของจิตที่โกรธที่หงุดหงิด ก็ประกอบกันอยู่เป็นสังขาร คือผสมปรุงแต่งกันอยู่ กิเลสกับอารมณ์ผสมปรุงแต่งกันอยู่ และก็ผสมปรุงแต่งกันอยู่ที่จิต ก็เป็นอันว่ามี ๓ สิ่ง คือจิต ๑ อารมณ์ ๑ กิเลส ๑ ผสมปรุงแต่งกันอยู่ เป็นสังขารคือสิ่งประสมปรุงแต่ง
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็อาจพูดได้เหมือนกัน เช่นเมื่อจิตผสมปรุงแต่งกันอยู่ กับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความโกรธ และตัวความโกรธเอง ก็พูดได้เหมือนกันว่าจิตไม่ดี อารมณ์ไม่ดี เพราะว่า ต้องมีทั้งจิต ทั้งอารมณ์ ทั้งกิเลส รวมกันอยู่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งดังที่กล่าวมาแล้ว
วิธีพิจารณาที่เรียกว่าเจาะแทง
เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาที่เป็นสติปัฏฐานนั้น ก็คือเป็นการพิจารณาแยก แยกสังขารคือความผสมปรุงแต่งกันของ ๓ สิ่งนี้ ให้แยกออกจากกันเสีย ตั้งต้นแต่การที่มาจับพิจารณาดู ว่าจิตที่มีราคะก็เพราะ ๑ มีจิต ๒ มีอารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะ ๓ มีกิเลสตัวราคะ ประกอบกันอยู่ปรุงแต่งกันอยู่ จึงเป็นจิตมีราคะขึ้น
จิตมีโทสะก็มี ๓ สิ่งนี้อีกเหมือนกัน คือจิต ๑ อารมณ์เป็นที่ตั้งของโทสะ ๑ กิเลสตัวโทสะ ๑ ผสมปรุงแต่งกันอยู่ จิตที่มีโมหะก็เช่นเดียวกัน มีจิต ๑ อารมณ์เป็นที่ตั้งของโมหะ ๑ กิเลสตัวโมหะ ๑ มาประกอบกันอยู่ พิจารณาแยกออกดั่งนี้
และเมื่อพิจารณาแยกออกดั่งนี้ นี่แหละเรียกว่าเป็นวิธีพิจารณาที่เรียกว่าเจาะแทง เหมือนอย่างที่ใช้สว่านเจาะ หรือใช้เลื่อยๆ ไม้ ทำให้ไม้ที่เป็นท่อนเดียวกันเป็นหลายท่อน หรือว่าทำไม้ที่ไม่เป็นช่องเป็นรู ให้เป็นช่องเป็นรูตามต้องการ การพิจารณาเจาะแทงดั่งนี้ คือเป็นการที่แยก แยกความผสมปรุงแต่งกันในจิตนี้เอง ออกเป็นส่วนๆ ให้รู้ตามเป็นจริง
ขั้นตอนการดับกิเลส
และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ทำความรู้ในโทษ ในเมื่อจิตมีราคะก็ให้รู้ในโทษ จิตมีโทสะก็ให้รู้ในโทษ จิตมีโมหะก็ให้รู้ในโทษ ว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นเครื่องดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส และเมื่อได้ความรู้ขึ้นมาดั่งนี้ ความผสมปรุงแต่งกันทั้ง ๓ นี้ ก็จะแยกออกจากกัน คือเรียกว่าแตกออกจากกัน ก็เป็นความดับ
จิตที่มีราคะก็มี ๓ สิ่งนั้นมารวมกัน และเมื่อมาพิจารณาแยกธาตุออกไปว่าทั้ง ๓ สิ่งนี้มารวมกัน ให้ทั้ง ๓ สิ่งนี้กระจายออกจากกัน ก็จะเป็นจิตที่ปราศจากราคะ และเมื่อทั้ง ๓ สิ่งนี้แยกตัวออกจากกันได้ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส และกิเลสก็ดับ
จิตที่มีโทสะก็กำหนดพิจารณาดูเช่นเดียวกัน และก็แยกออกไปให้รู้ในโทษ อารมณ์ฝ่ายที่มีโทษ และกิเลสฝ่ายที่มีโทษนั้นก็ดับ ก็เป็นจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็เช่นเดียวกัน ก็กำหนดดู และก็แยกออกไปพร้อมทั้งให้รู้จักโทษ เมื่อเป็นดั่งนี้ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งโมหะ และตัวโมหะก็จะดับ ก็เป็นจิตปราศจากโมหะในอารมณ์นั้น
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้ จึงเป็นการปฏิบัติในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เชื่อมกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเมื่อมาถึงขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ก็มุ่งมาดูที่ตัวจิตนี้เป็นที่ตั้ง แล้วก็สาวไปที่เวทนา ตั้งสติกำหนด จำแนกแจกแจงส่วนผสมปรุงแต่งจิตนี้ออกไปดังที่กล่าว ก็จะทำให้จิตที่มีราคะเป็นจิตที่ปราศจากราคะ ทำให้จิตที่มีโทสะเป็นจิตที่ปราศจากโทสะ ทำจิตที่มีโมหะปราศจากโมหะในอารมณ์นั้นๆ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป