แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เป็นธรรมอันพึงเรียกให้มาดูได้ จะอธิบายบทนี้ที่เราทั้งหลายสวดกันว่า เอหิปัสสิโก พึงเรียกให้มาดูได้ต่อไป ได้แสดงแล้วว่าเรียกให้มาดูนั้น เรียกใครให้มาดู สำหรับผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ก็พึงเรียกตนเองนี่แหละให้มาดู ให้มาดูธรรม หรือพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
เพราะว่าธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วนั้น ก็ตรัสแสดงที่ตนเองของบุคคลทุกๆ คน ไม่ได้ทรงแสดงที่อื่น เพราะฉะนั้นผู้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ จึงอาจนำธรรมะที่ทรงสั่งสอน เหมือนอย่างแว่นมาส่องดูเงาหน้าของตนเอง คือมาดูตนเองได้ ดังที่ได้ยกพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระราหุลให้ใช้แว่นพิจารณาตนเอง คือปัญญานี้เอง เหมือนอย่างแว่นส่องดูตนเอง พิจารณากายกรรมวจีกรรมมโนกรรมของตนเอง
ข้อที่ตรัสสอนพระราหุลเรื่องธาตุ
อนึ่ง ยังได้ตรัสสอนพระราหุลในสมัยต่อมาอีก ซึ่งจะได้หยิบยกมาแสดงในบางตอน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระราหุลให้พิจารณากายนี้อันแยกออกเป็นธาตุ คือพิจารณาแยกธาตุกายนี้ออกเป็น ๕ คือปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาสธาตุ ธาตุคือช่องว่าง พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบว่า ธาตุทั้งปวงนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่ธาตุทั้งปวงนี้ ธาตุทั้งปวงนี้มิใช่อัตตาตัวตนของเรา
คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนนี้ แม้จะตรัสสอนแก่พระราหุล แต่ก็เป็นคำสอนที่ชื่อว่าสอนแก่บุคคลทั่วไป จึงพึงใช้เป็นเหมือนอย่างแว่นส่อง ส่องเข้ามาดูธาตุทั้งปวงนี้ที่กายนี้ของทุกๆ คน ให้เป็นเอหิปัสสิโกเรียกตนเองนี้แหละมาดู ดูธาตุที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนที่กายอันนี้ และเมื่อเรียกตนเองให้มาดู ด้วยใช้สติความกำหนด ใช้ญาณหรือปัญญาพิจารณาตามที่ทรงสั่งสอน ก็ย่อมจะเห็นธาตุเหล่านี้ได้ที่ตนเอง ตามที่ทรงสั่งสอน ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เหลวไหลก็เป็นอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นวาโยธาตุ ธาตุลม ส่วนที่เป็นช่องว่างก็เป็นอากาสธาตุ ธาตุอากาศ
เพราะฉะนั้น กายนี้จึงเป็นสักแต่ว่าเป็นธาตุที่มาประชุมกันอยู่ มารวมกันอยู่เป็นก้อนกายอันนี้ จึงมิใช่เป็นอัตตาตัวตน ตามที่มีสมมติบัญญัติว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ตามที่ยึดถือกันว่าดังนั้น (เริ่ม) ความเป็นของเรา ความที่เราเป็นธาตุเหล่านี้ หรือธาตุเหล่านี้เป็นอัตตาตัวตนของเรานั้น เป็นอุปาทานคือความยึดถือ ด้วยอำนาจของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และเป็นสมมติบัญญัติสำหรับเรียกร้องกัน แต่ความจริงนั้นเป็นสักแต่ว่าธาตุมาประชุมกันอยู่ ไม่ใช่เป็นของเรา เราก็ไม่ใช่เป็นนั้น นั่นก็ไม่ใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา เมื่อเรียกตนเองให้เข้ามาดู โดยใช้แว่นส่องคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ มาส่องดู ดูด้วยสติ ดูด้วยปัญญา ที่ตนเอง ก็ย่อมจะเห็นตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทุกประการ
ข้อที่ตรัสสอนพระราหุลเรื่องภาวนา
อนึ่ง ยังได้ตรัสสอนพระราหุลไว้ต่อไปอีกว่า ให้ทำภาวนาคืออบรมใจเสมอกับปฐวีคือดิน เมื่ออบรมใจให้เสมอกับปฐวีคือดินได้ ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจทั้งหลาย ทั้งที่น่ายินดี ทั้งที่ไม่น่ายินดี ซึ่งบังเกิดขึ้น ก็จักไม่ครอบงำจิตได้ คนทั้งหลายย่อมทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง ทิ้งก้อนเขฬะบ้าง ทิ้งน้ำหนองน้ำเหลืองบ้าง น้ำเลือดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินย่อมไม่สะอิดสะเอียน ไม่รังเกียจไม่อึดอัด รับของที่คนทิ้งลงไป ทั้งที่สะอาด ทั้งที่ไม่สะอาด ดังกล่าวได้ทั้งนั้น ฉันใด เมื่อทำภาวนาอบรมใจให้เสมอกับแผ่นดินได้ ก็ฉันนั้น ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจทั้งหลาย ทั้งที่น่าพอใจ ทั้งที่ไม่น่าพอใจ ย่อมไม่ครอบงำใจได้ ฉันนั้น
อนึ่ง พึงอบรม พึงทำภาวนาอบรมใจ ให้เสมอกับอาโปคือน้ำเช่นเดียวกัน ให้เสมอกับเตโชคือไฟเช่นเดียวกัน ให้เสมอกับวาโยคือลมเช่นเดียวกัน ให้เสมอกับอากาสคือช่องว่างเช่นเดียวกัน ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจทั้งหลาย ทั้งที่น่ายินดี ทั้งที่ไม่น่ายินดี ที่บังเกิดขึ้น ย่อมไม่ครอบงำใจได้ คนทั้งหลายทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างดังกล่าวลงในน้ำ ลงในไฟ น้ำก็ไม่อึดอัดไม่รังเกียจรับได้ทั้งนั้น ไฟก็ไม่อึดอัดไม่รังเกียจไหม้ได้ทั้งนั้น แม้ทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างดังกล่าวในลม ลมก็พัดไปได้ทั้งนั้น ไม่รังเกียจไม่อึดอัด และแม้เมื่อโยนของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างไปในอากาส ก็ไม่มีที่จะตั้งอยู่ในอากาสได้ อากาสก็คงเป็นช่องว่างอยู่นั่นแหละ ฉันใด เมื่อทำภาวนาอบรมใจให้เสมอกับอาโปคือน้ำ เตโชคือไฟ วาโยคือลม อากาสคือช่องว่าง ก็ฉันนั้นเช่นเดียวกัน ผัสสะทั้งหลายคืออารมณ์ที่มากระทบใจ มาสัมผัสกับใจทั้งหลาย ทั้งที่น่าชอบใจ ทั้งที่ไม่น่าชอบใจ ก็ตั้งครอบงำจิตใจไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเรียกตนเองว่าจงมาดู โดยใช้แว่นส่องคือคำสอนของพระพุทธเจ้านี้มาส่องดูที่ตน ใช้สติใช้ปัญญาพิจารณา ที่เรียกว่าทำภาวนาอบรมใจนี้ ให้เสมอด้วยธาตุทั้ง ๕ ดังกล่าว ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าคนทั้งหลายทิ้งของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างลงไป ธาตุทั้ง ๕ ทั้งปวงเหล่านี้ก็ไม่อึดอัด ไม่เดือดร้อน ไม่ระอา ไม่รำคาญ ดินก็รับได้ น้ำก็รับได้ ลมก็พัดไปได้ ไฟก็ไหม้ได้ ลมก็พัดได้ อากาสเล่าก็ไม่มีที่จะรับติดเอาไว้ในอากาส คงต้องล่วงหล่นลงหมด ก็ไม่อึดอัดไม่รำคาญ คงเป็นอากาสคือช่องว่างอยู่นั่นแหละ
ทำภาวนาคืออบรมใจให้เป็นเสมอด้วยธาตุทั้ง ๕ ดังกล่าวนี้ เมื่อเวลาที่มีอารมณ์เข้ามากระทบมาสัมผัสใจ ก็ย่อมจะสงบใจได้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี คือถ้าเป็นอารมณ์ที่น่ายินดี ก็จะไม่ทำใจให้กำเริบฟุ้งซ่านขึ้นด้วยอำนาจความยินดี เมื่อเป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีก็ไม่ทำใจให้ฟุบแฟบเสียใจหรือโกรธแค้น ไม่ให้เกิดความยินดีความยินร้าย รักษาจิตนี้ให้เป็นอุเบกขาคือเข้าไปเพ่งเฉยสงบอยู่ได้ ว่าสิ่งทั้งปวงที่มากระทบใจมาสัมผัสใจ ไม่ว่าจะน่ายินดี ไม่ว่าจะไม่น่ายินดี ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรยินดีไม่ควรยินร้าย ไม่ควรที่จะยึดถือมาก่อให้เกิดความยินดีความยินร้ายขึ้น
เหมือนอย่างของที่สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้างตกลงไปในดิน ก็ไม่ทำให้ดินเดือดร้อนอะไร ก็ย่อยละลายกลายเป็นดินไปในที่สุด ตกลงไปในน้ำ น้ำก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็ไหลละลายไปในน้ำหมด ใส่เข้าไปในไฟ ไฟก็ไม่เดือดร้อนอะไร ไฟก็ไหม้หมด หรือว่าโยนไปที่ลม หรือว่าลมพัดมา ลมก็ไม่เดือดร้อนอะไร ก็พัดไปได้ทั้งหมด หรือจะโยนขึ้นไปในอากาส ก็ไม่มีที่จะติดขัดอยู่ในอากาส ก็ตกลงมาหมด อากาสก็ไม่เดือดร้อนอะไร
เพราะฉะนั้น จิตใจก็เหมือนกัน ให้ทำใจให้ได้เหมือนอย่างดิน อย่างน้ำ อย่างไฟ อย่างลม อย่างอากาส ยกตัวอย่างอากาสขึ้นมาเพิ่มเติมอีกสักหน่อยหนึ่ง ว่าใจนี้เมื่อไม่ยึดก็เหมือนอากาส แต่ถ้ายึดก็ไม่เหมือนอากาส คือเมื่อไม่ยึดอารมณ์ทุกอย่างที่ผ่านมา ก็สักแต่ว่าผ่านมา แล้วก็ผ่านไป คือตกไปหมด ไม่มีที่จะเก็บเข้ามาปรุง ให้เกิดเป็นความยินดีความยินร้าย ความหลงติด นอนจมเป็นอาสวะอนุสัยอยู่ในจิต ก็เพราะเหตุที่มีความยึดถือจึงได้เกิดความยินดีความยินร้าย แต่ถ้าทำจิตให้เหมือนอย่างอากาสแล้ว ก็จะไม่ยึดไม่ติดอะไร อะไรผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป หรือเรียกว่าเกิดแล้วก็ดับไป
ทุกอย่างเกิดดับอยู่ทุกขณะ
ซึ่งความจริงนั้น ทุกอย่างนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดดับไปอยู่ทุกขณะ แต่เพราะไปยึดเอาไว้ คือไปยึดเอาสิ่งที่ดับแล้วนั่นแหละ มาไว้เหมือนอย่างไม่ดับ คล้ายๆ กับไปยึดเงาเอาว่าเป็นตัวตน จึงได้เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย พร้อมทั้งหลงงมงายติดอยู่ พร้อมทั้งความทุกข์ต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องปฏิบัติให้เป็นเอหิปัสสิโก เรียกตนให้มาดู ใช้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแว่นส่องดูที่ตนเอง และก็ปฏิบัติทำจิตตภาวนา ให้เสมอกับธาตุทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมานั้น ก็จะทำให้รักษาจิตนี้ให้เป็นอุเบกขาอยู่ในอารมณ์ทั้งหลายได้
ข้อที่ตรัสสอนพรหมวิหารธรรม
อนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพระราหุลต่อไปอีกว่า ให้เจริญเมตตา ก็จะดับโทสะพยาบาทได้ จะละโทสะพยาบาทได้ ให้เจริญกรุณา ก็จะละจะดับวิหิงสาความคิดเบียดเบียนได้ ให้เจริญมุทิตา ก็จะละจะดับอรติความไม่ยินดีด้วย คือความริษยาได้ ให้เจริญอุเบกขา ก็จะดับปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งได้ ให้เจริญอสุภสัญญา ความกำหนดหมายกายนี้ว่าไม่งาม ก็จะดับราคะคือความติดใจยินดีได้ ให้เจริญอนิจจสัญญา ความสำคัญหมายขันธ์ ๕ ย่อลงเป็นนามรูป หรือรวมว่าสังขารทั้งหมด ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ก็จะดับอัสมิมานะความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็นได้ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ให้ปฏิบัติธรรมให้เป็นเอหิปัสสิโกอีกเช่นเดียวกัน เรียกตนเองนี้แหละให้มาดู อาศัยแว่นที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้มาส่องดู แล้วก็ปฏิบัติอบรมเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ให้บังเกิดขึ้น ก็จะดับกิเลสทั้งปวงดังที่ตรัสไว้นั้นได้ จะดับโทสะพยาบาทได้ จะดับวิหิงสาความคิดเบียดเบียนได้ จะดับอรติความไม่ยินดีด้วย คือความริษยาได้ จะดับปฏิฆะความกระทบกระทั่งใจได้ จะดับราคะความติดใจยินดีได้ ตลอดถึงจะดับอัสมิมานะความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็นต่างๆ ได้ ดั่งนี้
ฉะนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นแว่นส่องสำหรับทุกๆ คนจะได้ส่องดูตนเองทั้งนั้น แต่จะต้องเรียกตนให้มาดู โดยใช้แว่นที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนี้ส่องดู เพราะไม่อาศัยแว่นของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ ตนเองก็ไม่มีสติปัญญาพอที่จะรู้ ที่จะดูได้ ที่จะเห็นได้ เหมือนอย่างที่ไม่สามารถจะเห็นหน้าของตัวเองได้ ตาของตัวเองนั้นได้แต่ดูไปข้างนอก แต่จะดูหน้าของตัวเองนั้นไม่ได้ จิตใจที่มีกิเลสอยู่โดยมากก็เช่นนั้น มุ่งออกไปข้างนอก ไปเพ่งข้างนอก แต่ว่ายากที่จะเพ่งเข้ามาข้างใน ดูข้างในได้ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตทั้งหลายมีการเพ่งตนเอง หรือเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง คนพาลเพ่งผู้อื่นเป็นกำลัง บัณฑิตเพ่งตนเองเป็นกำลัง ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นแว่นส่อง แต่ก็ต้องเรียกตนเองให้จับแว่นส่องของพระพุทธเจ้านี้มาส่องดูตน จึงจะเห็นตน และก็ปฏิบัติได้ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และเมื่อปฏิบัติได้อย่างไร ก็ย่อมจะรู้ตนเห็นตนว่าปฏิบัติได้อย่างไรตามเป็นจริง นี้ต้องอาศัยข้อนี้แหละ เอหิปัสสิโก จงเรียกให้มาดู คือเรียกตนเองให้มาดู ให้มาปฏิบัติ และเมื่อเรียกตนเองให้มาดูให้ปฏิบัติได้ ก็สามารถที่จะเรียกผู้อื่นให้มาดูได้ ด้วยการที่แสดงธรรมะสั่งสอนอบรมกันต่อไป
การปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อทุกบทก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นเอหิปัสสิโก เรียกตนให้มาดู ใช้แว่นส่องคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ มาส่องมาดูตามที่ทรงสั่งสอน อาศัยสติปัญญา หรือญาณของตนนี่แหละพิจารณา ก็จะปฏิบัติตั้งสติ ให้สติตั้งเป็นสติปัฏฐานได้ในข้อนั้นๆ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป