แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมเป็น สวากขาตธรรม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก เป็นธรรมควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก เป็นธรรมที่พึงน้อมเข้ามา ก็คือน้อมใจเข้ามาสู่ธรรม หรือน้อมธรรมเข้ามาสู่ใจ เพราะจิตใจนี้เป็นธาตุรู้ และเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง และธรรมะก็เป็นสัจจะธรรมคือธรรมะที่เป็นความจริง เป็นของจริงของแท้ และเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์ นำให้ออกจากทุกข์ได้ ดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้น ธรรมะกับจิตใจจึงเป็นธรรมชาติที่คู่ควรกัน พึงน้อมเข้ามาสู่กันได้ ได้แสดงถึงการน้อมจิตใจเข้าสู่สติปัฏฐาน ที่ตั้งสติในข้อกาย ในข้อเวทนา และก็จะได้แสดงต่อในข้อเวทนา พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำสติคือความระลึกกำหนดเวทนา ให้รู้เวทนา ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยน้อมจิตนี้เองกำหนดเวทนา จึงเป็นสติที่ตั้งในเวทนา และเวทนานั้นก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขเป็นกลางๆ หรือที่เรียกว่าอุเบกขาบ้าง มี ๓ ดังกล่าว
เวทนา ๕
แต่ในที่อื่นได้มีตรัสแสดงเวทนาไว้เป็น ๕ คือ สุขเวทนา เวทนาเป็นสุขทางกาย ทุกขเวทนา เวทนาเป็นทุกข์ทางกาย โสมนัสเวทนา เวทนาเป็นโสมนัสคือสุขทางใจ โทมนัสเวทนา เวทนาเป็นโทมนัสคือทุกข์ทางใจ และ อุเบกขาเวทนา คือเวทนาที่เป็นอุเบกขาอันหมายถึงเป็นกลาง ไม่ใช่สุขกาย ไม่ใช่ทุกข์กาย ไม่ใช่โสมนัสสุขใจ ไม่ใช่โทมนัสทุกข์ใจ ก็เป็นอันเดียวกันกับ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขนั้นเอง
และได้ตรัสสอนให้รู้จักเวทนาที่ประสบอยู่ ที่เสวยอยู่ สุขก็ให้รู้ ทุกข์ก็ให้รู้ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ให้รู้ ทั้งทางกายทั้งทางใจ และที่เป็นสามิสมีเครื่องล่อ คือมีอารมณ์รูปเสียงเป็นต้น ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเป็นเครื่องล่อ คือประกอบไปด้วย หรือว่านำให้เกิดขึ้น จึงเกิดเวทนาเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขขึ้น อันประกอบไปด้วยสิ่งที่เป็นเครื่องล่อให้บังเกิดขึ้นนั้น เรียกว่าสามิส หรือเป็นนิรามิส ไม่มีสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจดังกล่าวนำให้เกิดขึ้น ก็ให้รู้
และได้ตรัสสอนไว้ใน สฬายตนะวิภังคสูตร ตรัสเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เคหะสิตะ อาศัยเรือน กับ เนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน ที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือนโดยความก็คือเป็นสามิสนั้นเอง ส่วนที่เป็นเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะการออกจากเรือน โดยความก็คือเป็นนิรามิสนั้นเอง ซึ่งนำให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งเป็นตัวเวทนาได้ ทั้งที่เป็นไปทางกาย ทั้งที่เป็นไปทางใจ
เคหะสิตะ เวทนาที่อาศัยเรือน
และได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่าที่เป็นสามิสหรือที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือนนั้น ก็คือคิดนึกตรึกตรองถึงรูปบ้างเสียงกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องบ้าง เรื่องราวทั้งหลายบ้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสคือความยินดีพอใจ ก็ได้แก่คิดนึกตรึกตรองถึงรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าวนั้น ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ที่กำลังได้อยู่ หรือที่เคยได้มาแล้ว อันเป็นฝ่ายโลกามิส คือเป็นเครื่องล่อเครื่องชักจูงใจให้ติดให้ยินดีของโลก เมื่อเกิดโสมนัสขึ้น นี่แหละก็คือเป็นโสมนัสเวทนาหรือสุขเวทนาที่เป็นสามิส คือมีอามิสวัตถุที่เป็นเครื่องจูงใจให้ติดให้ยินดีของโลก เป็นเครื่องชักจูงให้บังเกิดขึ้น ล่อให้บังเกิดขึ้น ก็เป็นสุขเวทนาที่มีอามิส หรือเป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน
แต่เมื่อไปนึกตรึกตรองถึงเรื่องทั้งหลายดังกล่าวนั้น อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสคือความเสียใจความทุกข์ใจ ก็ได้แก่คิดนึกตรึกตรองถึงเรื่องเหล่านั้นที่ไม่ได้ตามที่อยากจะได้อยู่ในปัจจุบัน หรือที่เคยไม่ได้มาแล้วในอดีต ก็เกิดโทมนัสขึ้น นี้ก็คือเป็นโทมนัสเวทนา หรือทุกขเวทนา ที่เป็นสามิส มีอามิสเป็นเครื่องล่อ หรือเป็นเคหะสิตะ โทมนัสที่อาศัยเรือน และเมื่อนึกคิดตรึกตรองถึงเรื่องทั้งหลายดังกล่าวมานั้น แต่ว่าไม่พอที่จะให้เกิดสุขหรือทุกข์ โทมนัสหรือโสมนัส ก็เกิดความรู้สึกเฉยๆ เป็นอุเบกขา เหมือนอย่างอุเบกขาคือเฉยๆ ของสามัญชนทั่วไป ที่เมื่อคิดนึกตรึกตรองถึงเรื่องอะไรๆ ที่เป็นเรื่องไม่พอที่จะให้เกิดสุขหรือทุกข์ โสมนัสหรือโทมนัสก็เฉยๆ เรื่อยๆ เป็นไปเองโดยปรกติธรรมดาของสามัญชน ดั่งนี้ ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ คือให้เกิดเป็นอุเบกขาขึ้น หรือเป็นอุเบกขาที่เป็นเคหะสิตะ คืออาศัยเรือน
เนกขัมมะสิตะ การออกจากเรือน
ส่วนเมื่อระลึกตรึกตรองถึงเรื่องดังที่กล่าวมานั้น และก็ได้พิจารณเห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันก็ดี หรือที่ล่วงไปแล้วก็ดี ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาเห็นได้ดั่งนี้ เกิดโสมนัสขึ้น เกิดสุขขึ้น ก็เรียกว่าเป็นสุขที่เป็นนิรามิส ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ หรือว่าเป็นโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน
แต่ว่าเมื่อพิจารณาเห็นดังกล่าวนั้นแล้วก็เกิดคิดขึ้นว่า เมื่อไรหนอเราจึงจักพ้นจากความทุกข์ เพราะเรื่องทั้งหลายดังกล่าวนั้นได้ เหมือนอย่างพระอริยะทั้งหลาย ที่ท่านมีจิตใจพ้นแล้วจากทุกข์ มาดูตัวเองว่ายังต้องเป็นทุกข์อยู่ ต้องเดือดร้อนอยู่ ไม่เป็นสุขเหมือนท่าน อยากจะเป็นสุขเหมือนอย่างท่าน แต่ก็ยังไม่ได้ ก็เกิดโทมนัสใจขึ้นมา ทุกข์ใจขึ้นมา ดั่งนี้ก็เป็นทุกข์ที่เป็นนิรามิส หรือโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออกจากเรือน
แต่ว่าเมื่อพิจารณาเห็นดั่งนั้น คือเห็นว่าสิ่งทั้งหลาย แม้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ซึ่งกำลังประสบอยู่ หรือว่าที่เคยประสบมาแล้ว ล้วนเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จิตใจก็วางเฉยไม่สุขไม่ทุกข์ ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขา อุเบกขาที่เป็นนิรามิส หรือว่าที่เป็นเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน จะเป็นไปดั่งนี้ได้ก็ต้องอาศัยน้อมใจนี้เองเข้ามาสู่เวทนา ประกอบด้วยสติความระลึกกำหนด และญาณหรือปัญญาที่พิจารณาหยั่งรู้ ควบคู่กันไป คือน้อมใจเข้ามาสู่ธรรมะ หรือว่าน้อมธรรมะเข้าสู่ใจ ในเรื่องของเวทนา
เครื่องละเวทนาอย่างหยาบ
และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอนถึงวิธีน้อมใจเข้าสู่สติปัญญากำหนดรู้เวทนา เป็นปฏิบัติธรรมสำหรับที่จะใช้เวทนาอย่างละเอียดเป็นเครื่องละเวทนาอย่างหยาบไปโดยลำดับ กล่าวคือ เมื่อประสบโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน หรือสุขเวทนาที่มีอามิส คือว่าเมื่อได้ประสบรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจอยู่ในปัจจุบัน หรือเคยได้ประสบมาแล้ว และก็คิดนึกตรึกตรองถึงอยู่ ก็ได้โสมนัสได้สุขขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นโลกามิสสุข หรือสามิสสุข เป็นเคหะสิตะโสมนัส ความสุขใจยินดีพอใจที่อาศัยเรือน อันเป็นธรรมดาโลกที่เป็นไปอยู่
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ตรัสสอนให้มาปรารภพิจารณาสิ่งเหล่านั้นที่ทำให้เกิดสุขโสมนัสเหล่านั้น ว่าทั้งหมดนั้นล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ให้เห็นสัจจะคือความจริงในสิ่งเหล่านั้นว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น ดั่งนี้ ก็จะเกิดสุขโสมนัสเวทนาขึ้น เพราะเหตุที่มองเห็นสัจจะคือความจริงของสิ่งเหล่านั้น ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงดังกล่าว เมื่อเป็นดังนี้ก็ชื่อว่าได้มาปฏิบัติทำให้เกิดสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ หรือที่เป็นเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากการติดใจยินดี ออกจากเรือน มาเป็นเครื่องละสุขโสมนัสที่เป็นสามิส ที่เป็นโลกามิส ที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือน ดังที่กล่าวมา
อนึ่ง เมื่อต้องประสบกับทุกข์โทมนัสที่เป็นสามิสหรือโลกามิส หรือที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือน คือไม่ได้ประสบกับรูปเสียงเป็นต้น ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ทั้งเคยไม่ได้มาแล้ว คิดนึกตรึกตรองถึงก็เกิดทุกข์โทมนัสขึ้น ก็เรียกว่าเป็นโลกามิส หรือสามิส หรือเรียกว่าเป็นทุกข์โทมนัสที่อาศัยเรือน เมื่อเป็นดั่งนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้พิจารณาสิ่งเหล่านั้น ว่าบรรดารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย แม้เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาในปัจจุบัน หรือไม่เคยได้มาแล้วในอดีตก็ตาม หรือแม้ที่ได้ก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
(เริ่ม) ท่านผู้ที่เห็นได้อย่างนี้เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม ย่อมเป็นผู้พ้นจากทุกขโทมนัสทั้งหลาย ในเพราะเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ควรจะต้องมาคำนึงถึงตัวเองว่าทำไฉน เราจึงจะได้ความสุขโสมนัส ได้ความพ้นทุกข์ เหมือนอย่างที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านได้ ถ้าหากว่าได้ความพ้นทุกข์เหมือนอย่างท่าน ก็จะไม่ต้องมาเป็นทุกข์โทมนัส อันเกี่ยวกับโลกามิสทั้งหลาย เกี่ยวแก่สิ่งที่อาศัยเรือนอันหมายถึงกามทั้งหลายในโลก ให้บังเกิดทุกข์โทมนัส เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะทำตัวให้พ้นทุกข์เหมือนอย่างพระอริยะได้ ขึ้นแทนดั่งนี้ ก็จะทำให้เกิดทุกข์โทมนัสที่เป็นนิรามิส ที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก เป็นเหตุให้ดับทุกข์โทมนัสที่เป็นโลกามิส หรือที่เป็นสามิส หรือที่อาศัยเรือนได้
อนึ่ง ก็ได้ตรัสสอนไว้อีกว่า แม้ได้อุเบกขาอย่างสามัญชนทั่วไป เมื่อประสบกับเรื่อง เมื่อนึกคิดตรึกตรองถึงเรื่องเหล่านั้น ที่กำลังประสบอยู่ หรือที่เคยประสบมาแล้วก็ตาม อันเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้เกิดทุกข์ ไม่พอที่จะให้เกิดสุข ไม่พอที่จะให้เกิดโสมนัส ไม่พอที่จะให้เกิดโทมนัส เหมือนอย่างสามัญชนทั่วไป เป็นความรู้สึกเฉยๆ เรื่อยๆ ผ่านไปๆ อันเป็นอุเบกขาชนิดที่เรียกว่าไม่ประกอบด้วยความรู้ เรียกว่าเป็นสามิสหรือเป็นโลกามิส หรือเรียกว่าเป็นเคหะสิตะอาศัยบ้านเรือน ซึ่งมีอยู่เป็นอันมากที่ทุกคนประสบอยู่ ก็ให้จับมาพิจารณาว่าแม้เรื่องทั้งหลายเหล่านั้น คือเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และเรื่องราวทางใจ ที่กำลังประสบอยู่ หรือที่ประสบมาแล้วก็ตาม อันทำจิตใจให้เป็นอุเบกขา เพราะไม่พอที่จะให้สุขโสมนัส
หรือทุกข์โทมนัส อย่างที่กำลังประสบกันอยู่โดยมากนั้น แม้สิ่งเหล่านั้นก็เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำใจให้เป็นอุเบกขาเหมือนกัน คือวางใจเป็นกลาง แต่ว่าเป็นอุเบกขาอันประกอบด้วยความรู้ ความรู้ที่พิจารณาให้รู้จักสิ่งเหล่านั้นว่าต้องเป็นเช่นนั้น ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติทำให้เกิดอุเบกขาที่เป็นนิรามิส หรือที่อาศัยเนกขัมมะขึ้นได้ ก็เป็นเครื่องละอุเบกขาที่เป็นโลกามิส หรือสามิส หรือที่อาศัยเรือน อันประกอบด้วยโมหะคือความหลงไม่รู้นั้นได้
และแม้สุขโสมนัสหรือว่าทุกข์โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก หรือที่เป็นนิรามิสนั้นเล่า ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติพิจารณา เพื่อให้บังเกิดเป็นสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส หรือที่อาศัยเนกขัมมะขึ้น โดยไม่นึกมุ่งหมายเทียบเคียงตนเองกับพระอริยะ ไม่อาศัยตัณหากระหยิ่มใจอยากจะได้ อยากจะถึงความพ้นทุกข์อย่างพระอริยะในปัจจุบันทันที พิจารณาเพียงให้รู้จักสัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งปวงนั้น ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าไม่กระหยิ่มอยากจะได้สุขเหมือนอย่างที่พระอริยะท่านได้ เพียงให้รู้จักสัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายดังกล่าว ก็จะเกิดสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส หรือที่เป็นอาศัยเนกขัมมะการออกจากเรือน คือออกจากกาม ก็เป็นอันละทุกข์โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะได้
และแม้เป็นสุขโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ หรือที่เป็นนิรามิส ก็ยังทำใจให้ฟุ้งซ่านได้ กลายเป็นโลกามิส หรือสามิสไปได้ เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติให้ละเอียดขึ้นไปอีก ก็ตรัสสอนให้พิจารณา ให้ซึ้งลงไปในสัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายที่ประสบอยู่ หรือกำลังประสบแล้ว ว่าล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ให้ซึ้งลงไปในความรู้สัจจะนี้ ก็จะได้อุเบกขาคือความวางใจเป็นกลางเฉยๆ คือวางเฉยได้โดยไม่เกิดสุขโสมนัส ก็เป็นอันว่าดับสุขโสมนัสได้ แม้เป็นสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส หรือที่อาศัยเนกขัมมะก็ดับได้ มาทำใจให้เป็นอุเบกขาซึ่งเป็นลักษณะที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่า
อุเบกขา ๒ อย่าง
อนึ่งยังได้ตรัสสอนต่อขึ้นไปถึงว่าแม้อุเบกขานั้นก็มี ๒ อย่าง คืออุเบกขาที่เป็น นานาภาวะ มีภาวะต่างๆ กับอุเบกขาที่เป็น เอกภาวะ หรือเอกภาพ อุเบกขาที่เป็นนานาภาวะมีภาวะต่างๆ นั้น ก็คืออุเบกขาในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องบ้าง ในธรรมะคือเรื่องราวที่คิดหรือที่รู้ทางใจบ้าง อันเรียกว่า ชลังคุเบกขา อุเบกขาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ดั่งนี้ เป็นอุเบกขาที่เรียกว่า นานาภาวะ มีภาวะต่างๆ แต่ก็เป็นนิรามิสด้วยกัน เป็น เนกขัมมสิตะ อาศัยเนกขัมมะด้วยกัน คือเป็นส่วนดีด้วยกัน ส่วนที่เป็นเอกภาวะหรือเอกภาพนั้นก็ได้แก่อุเบกขาในฌาน และที่ตรัสชี้ไว้ก็คือในอรูปฌาน อันเป็นสมาธิอย่างสูง จึงจะเป็นอุเบกขาที่เป็นเอกภาวะ หรือเป็นเอกภาพ เพราะฉะนั้น เมื่อจะปฏิบัติให้สูงขึ้นยิ่ง ให้สูงยิ่งขึ้น ก็ต้องปฏิบัติให้ได้อุเบกขาที่เป็นเอกภาวะ หรือเอกภาพ เป็นเครื่องละอุเบกขาที่เป็นนานาภาวะ มีภาวะต่างๆ
และยังได้ตรัสสอนยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ว่าแม้เป็นอุเบกขาที่เป็นเอกภาวะหรือเอกภาพในฌาน ก็ยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องละตัณหาเป็นเครื่องยึดถือว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา เพราะฉะนั้น ขั้นปฏิบัติสูงสุดก็คือปฏิบัติเพื่อละตัณหา เป็นเครื่องยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา โดยไม่ยึดอุเบกขาแม้ที่เป็นเอกภาพนั้น ต้องปล่อยวางสมาธิที่ให้ได้อุเบกขา อุเบกขาที่เป็นเอกภาพนั้น ไม่ยึดถือว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา เป็นการปฏิบัติละตัณหาเสียให้ได้นั่นแหละ จึงจะเป็นที่สุด ดั่งนี้เป็นอันได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ ให้เกิดเวทนาที่ละเอียด ละเวทนาที่หยาบ หรือว่าปฏิบัติละเวทนาที่หยาบด้วยอาศัยเวทนาที่ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ ก็นับเนื่องเข้าในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ ซึ่งการปฏิบัติดั่งนี้ก็ต้องอาศัยโอปนยิโกน้อมใจเข้าสู่ธรรมะ หรือน้อมธรรมะเข้ามาสู่ใจ อาศัยสติความระลึกกำหนด ญาณปัญญาความหยั่งรู้ในเวทนา และในการปฏิบัติอาศัยเวทนาละเวทนาขึ้นไปโดยลำดับ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป