แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะนั้นแสดงในพระธรรมคุณที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว สันทิฏฐิโก เป็นธรรมะอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก เป็นธรรมะไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก เป็นธรรมะที่พึงเรียกให้มาดู ซึ่งได้แสดงมาโดยลำดับ และโดยเฉพาะเป็นธรรมะที่พึงเรียกให้มาดูนั้น โดยตรงก็คือพึงเรียกตนเองนี่แหละให้มาดู
เมื่อเรียกตนเองให้มาดู ด้วยอาศัยสติความระลึกกำหนด ญาณปัญญา ความหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง จึงจะรู้จะเห็นธรรมะทั้งที่เป็นส่วนปริยัติธรรม ทั้งที่เป็นส่วนปฏิบัติธรรม และทั้งที่เป็นส่วนปฏิเวธธรรม ความรู้แจ้งแทงตลอด อันหมายถึงผลของการปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงมรรคผลนิพพาน
เพราะธรรมะเป็นสภาพที่มีอยู่ และเป็นสภาพที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉะนั้น จึงควรเรียกให้มาดู เพราะมีอยู่จึงเห็นได้ และเพราะเป็นสภาพบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงทำให้ผู้ดูได้รับความบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยมีการน้อมเข้ามา ดังบทพระธรรมคุณต่อไปว่าโอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา โดยตรงก็คือน้อมจิตนี้เองเข้ามา เข้ามาดู จึงจะรู้จึงจะเห็น
จิต วิญญาณธาตุ ธาตุรู้
จิตนี้เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ และเป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง แต่ว่าเพราะจิตนี้มีกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามาตั้งอาศัยอยู่ในจิต จึงเรียกกิเลสว่าอุปกิเลส แปลว่ากิเลสที่จรเข้ามา จึงทำจิตนี้ให้เศร้าหมองไป และกิเลสนี้เองก็เป็นเครื่องปิดบังธาตุรู้ ไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นตามเป็นจริง แต่ว่าให้รู้ให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง
เพราะว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติรู้ ก็ต้องรู้ ไม่รู้ผิดก็ต้องรู้ถูก หรือไม่รู้ถูกก็ต้องรู้ผิด เมื่อจิตเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรเข้ามา ทำให้ความปภัสสรคือผุดผ่อง ความผุดผ่องของจิตมัวหมอง เหมือนอย่างแว่นส่องหรือกระจกเงา หรือแม้แว่นตาที่มัวหมอง มีฝุ่นละอองจับ มีสิ่งสกปรกจับ ย่อมทำให้ไม่อาจที่จะส่องดูได้ หรือว่าส่อง หรือว่าสวมแว่นดูอะไรให้เห็นได้ จิตก็เป็นเหมือนเช่นนั้น เมื่อมีเครื่องเศร้าหมองตั้งอยู่ในจิต ทำให้ความปภัสสรคือผุดผ่องของจิตนั้นมัวหมองไปไม่ปรากฏ ก็ทำให้รู้ผิดเห็นผิด
ต่อเมื่อได้ชำระล้างเช็ดสิ่งที่เศร้าหมองนั้น ที่แว่นส่องหรือที่กระจก หรือที่แว่นตา ให้แว่นส่องสะอาดบริสุทธิ์ ให้แว่นตาสะอาดบริสุทธิ์ จึงจะส่องดูอะไรได้ หรือส่อง หรือสวมแว่นอ่านหนังสือได้ ดูอะไรได้ จิตก็เช่นเดียวกันเมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมอง ความปภัสสรของจิตที่เป็นธรรมชาติปรากฏเต็มที่ จึงจะทำให้ รู้ถูก เห็นถูก รู้ชอบ เห็นชอบ ตามที่เป็นจริง
ธรรมชาติของจิต
และจิตนี้มีธรรมชาติเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ เมื่อน้อมไปทางไหนมากก็เอนเอียงๆ ไปทางนั้น เป็นไปทางนั้นมาก ไม่เอนเอียงไปทางอื่น ไม่เป็นไปในทางอื่น ความน้อมไปของจิตดังกล่าวนี้ ก็น้อมไปด้วยวิตกความตรึกนึกคิด วิจารความตรอง เมื่อจิตนี้วิตกวิจารนึกคิดตริตรองไปในทางใดมากก็น้อมไปในทางนั้นมาก ไม่น้อมไปในทางอื่น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ดั่งนี้ในพระสูตรที่เรียกว่า เทวธาวิตักกสูตร พระสูตรที่ตรัสสอนให้ทำวิตกคือความตรึกนึกคิดให้เป็น ๒ ส่วน คือให้เป็นฝ่ายอกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลส่วนหนึ่ง ให้เป็นกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลอีกส่วนหนึ่ง ด้วยปัญญาคือความรู้นี้เอง
เมื่อจิตคิดไปด้วยอกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศล คือกามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกาม คืออารมณ์ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย พยาบาทวิตกตรึกนึกคิดไปในทางประทุษร้ายปองร้าย วิหิงสาวิตกตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน ก็ให้รู้ ว่าบัดนี้เราตรึกนึกคิดไปอย่างนี้ๆ และความตรึกนึกคิดไปอย่างนี้ๆ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองทั้งผู้อื่นบ้าง เป็นเหตุดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นเพื่อนิพพานคือความดับกิเลส เมื่อทำปัญญาคือความรู้ให้เกิดขึ้นดั่งนี้ ให้จิตนี้รับรู้ในโทษของความตรึกนึกคิด ที่เป็นอกุศลดังกล่าว อกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลดังกล่าวก็จะดับไป
ดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทำอกุศลวิตกความตรึกนึกคิด ที่เป็นอกุศลไว้กองหนึ่ง ไว้ส่วนหนึ่ง ด้วยปัญญาคือความรู้ เมื่อตรึกนึกคิดไปในทางกุศลอันตรงกันข้าม คือในการออกจากกาม ในไม่พยาบาทมุ่งร้ายปองร้าย ในความไม่เบียดเบียน ก็ให้รู้ว่าบัดนี้เราตรึกนึกคิดอย่างนี้ๆ ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นไปเพื่อดับปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพานคือความดับกิเลส เมื่อทำความรู้ให้จิตรับรู้อยู่ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้ทำกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลไว้อีกกองหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง
และได้ตรัสเอาไว้ว่า (เริ่ม) เมื่อวิตกคือตรึกนึกคิด วิจารคือตรอง ไปในฝ่ายอกุศลมาก ก็ย่อมละฝ่ายกุศล ย่อมตั้งอยู่ในฝ่ายอกุศลมาก ความน้อมไปของจิตใจก็ย่อมน้อมไปในฝ่ายอกุศลมาก แต่ถ้าตรึกนึกคิดตริตรองไปมากในฝ่ายกุศล ก็จะละฝ่ายอกุศล จะตั้งอยู่ในฝ่ายกุศลมาก ความน้อมไปของจิตก็จะน้อมไปฝ่ายกุศลมาก จิตย่อมมีธรรมชาติที่น้อมไปทางใดทางหนึ่งมากดั่งนี้ แต่ว่าเมื่อน้อมไปในฝ่ายอกุศล ผู้ปฏิบัติก็พึงห้ามจิต หยุดจิต เตือนจิต ให้หยุดจากความน้อมไปในทางอกุศลนั้น ซึ่งตรัสอุปมาไว้เหมือนอย่างคนเลี้ยงโค ที่ต้อนโคไปเลี้ยงในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน นาเต็มไปด้วยข้าวกล้า ฝูงโคก็จะเแวะเวียนกินข้าวกล้าของชาวนา คนเลี้ยงโคก็ต้องใช้ปฏักตีบ้างแทงบ้าง ต้อนขับไล่ห้ามมิให้ฝูงวัวแวะเวียนกินข้าวของชาวนา ฉันใด
บุคคลก็ต้องคอยห้ามจิต เตือนจิต ดุจิต แนะนำจิตให้หยุดจากความตรึกนึกคิดตริตรองไปในอกุศลทั้งหลายฉันนั้น เพราะว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้ เมื่อให้คำแนะนำตักเตือนห้ามปรามดุว่าจิตของตนเอง จิตก็จะสามารถรับรู้ได้ และก็จะหยุดได้จากความตรึกนึกคิดตริตรองไปในฝ่ายอกุศลนั้นๆ และก็เตือนได้แนะนำได้ให้ตรึกนึกคิดไปแต่ในฝ่ายกุศล เมื่อตรึกนึกคิดไปในฝ่ายกุศลอยู่แล้ว ก็ต้องรักษาไว้ให้ตรึกนึกคิดอยู่แต่ในฝ่ายกุศลแต่ส่วนเดียว และก็ได้ตรัสสอนอีกว่า แม้ว่าจะตรึกนึกคิดตริตรองอยู่แต่ในฝ่ายกุศลอย่างเดียว ถ้ามากเกินไปคือตรึกนึกคิดไปในทางกุศลนั้น ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ไม่ต้องพักกัน ก็จะทำให้กายนี้ลำบาก จะทำให้จิตนี้ฟุ้งขึ้น เพราะฉะนั้นแม้จะตรึกนึกคิดตริตรองไปในทางกุศล ก็ให้เป็นไปพอสมควร และก็ต้องปฏิบัติหยุดแม้ความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลนั้น ตั้งจิตให้สงบอยู่ในภายใน รู้ธรรมะในภายในจิตว่ามีอยู่ คือรู้ความสงบนี้เองที่เป็นภายใน อยู่กับความสงบในภายใน เมื่อเป็นดั่งนี้กายก็จะไม่ลำบาก จิตก็จะไม่เดือดร้อน จะไม่ฟุ้งขึ้น จะเป็นไปเพื่อสมาธิ จนถึงสมาธิที่แนบแน่น จนถึงฌาน เป็นไปเพื่อวิชชาคือความรู้ หรือญาณคือความหยั่งรู้ที่สูงขึ้นจนถึงที่สุด
จิตตั้งอยู่ในกุศลทำสมาธิได้ง่าย
และเมื่อปฏิบัติหัดจิตให้น้อมมาในทางกุศลมาก คือตรึกนึกคิดตริตรองมาในฝ่ายกุศลมาก จิตก็จะตั้งอยู่ในฝ่ายกุศลมาก และก็จะทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ง่าย ซึ่งตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างคนเลี้ยงโคที่ต้อนโคเลี้ยงในปลายฤดูร้อน ท้องนาก็ไม่มีข้าวกล้า ก็ปล่อยโคให้เที่ยวหากินไปตามสบาย ไม่ต้องกลัวว่าโคจะไปแวะเวียนกินข้าวกล้าของชาวนา ผู้เลี้ยงโคเองก็นั่งพักได้ที่ใต้ร่มไม้ เพียงแต่คอยดูว่าโคอยู่ที่นั่นๆ เท่านั้น ไม่ต้องไปคอยไล่คอยต้อน เพราะกลัวว่าโคจะกินข้าวของชาวนา เพราะว่านาในเวลานั้นไม่มีข้าวกล้าอยู่แล้ว มีแต่หญ้าสำหรับที่จะให้โคกิน
จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติให้น้อมมาในทางกุศลมาก ก็จะตั้งอยู่ในกุศลมาก อยู่ตัวอยู่ในทางกุศลมาก เพราะฉะนั้น อาการที่จะต้องคอยกวดขันจิตก็น้อยลงได้ อาการที่จะห้ามปรามจิตที่จะดุว่าจิตก็น้อยลงได้ เพราะว่าจิตน้อมมาในทางกุศลอยู่ตัวขึ้นมากแล้ว ผู้ปฏิบัติก็นั่งสงบอยู่ในภายในได้ คือตั้งอยู่ในสมาธิ ทำจิตให้มีอารมณ์เป็นอันเดียว คนเลี้ยงโคนั้นนั่งสงบอยู่ใต้โคนไม้ ทำความรู้อยู่ว่าโคอยู่ที่นั่น ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมะนั้นก็ตั้งจิตสงบอยู่ในภายใน รู้ว่าจิตมีอยู่ อารมณ์ที่จิตกำหนดมีอยู่ ในภายใน
ข้อที่เรียกว่ามีอารมณ์เดียว
อันอารมณ์ที่จิตกำหนดที่มีอยู่ในภายในนั้น ก็คือว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติ ดังเช่นสติปัฏฐาน ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม ก็ทำความกำหนดอยู่ในภายใน ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมะมีอยู่ ตามที่กำหนดตั้งไว้ และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะมีอารมณ์เป็นอันเดียวตั้งอยู่ในภายใน เป็นสติปัฏฐานตั้งสติอยู่ในภายใน
การปฏิบัติดั่งนี้ก็ต้องอาศัย โอปนยิโก น้อมเข้ามา คือน้อมจิตนี้เองเข้ามา ในกุศลธรรมทั้งหลาย ในกุศลวิตกทั้งหลาย และน้อมเข้ามาในสมาธิ น้อมเข้ามาในปัญญา เมื่อเป็นดั่งนี้จิตจึงจะได้ธรรมะที่ปฏิบัติ จึงจะถึงธรรมที่ปฏิบัติ จึงจะรู้จึงจะเห็นธรรมะ เพราะฉะนั้น พระธรรมคุณบทนี้ จึงเป็นหลักปฏิบัติอันสำคัญอีกข้อหนึ่ง สืบเนื่องมาจากข้อต้นๆ เรียกตนให้มาดู ก็จะต้องน้อมจิตนี้เองเข้ามาดู ถ้าไม่น้อมจิตนี้เข้ามาดูแล้วก็จะเห็นธรรมะไม่ได้ แต่ว่าการที่จะน้อมจิตเข้ามาดูนั้น ก็ต้องปฏิบัติหัดน้อมเข้ามา
ตั้งต้นแต่หัดทำความรู้จักวิตกวิจารในจิตใจของตนเอง คือรู้จักความนึกคิดตริตรองในจิตใจของตนเอง เป็นอกุศลก็ให้รู้ เป็นกุศลก็ให้รู้ เท่ากับแยกไว้เป็น ๒ กอง และให้รู้ถึงโทษของวิตกวิจารที่เป็นฝ่ายอกุศล ให้รู้ถึงคุณของวิตกวิจารที่เป็นฝ่ายกุศล ปฏิบัติห้ามจิตของตนไม่ให้มีวิตกวิจารไปในฝ่ายอกุศล แต่แนะนำตักเตือนให้วิตกวิจารไปในฝ่ายกุศล และในเบื้องต้นก็จะเป็นการปฏิบัติลำบาก เพราะจิตนี้เคยน้อมไปในฝ่ายอกุศลอยู่เป็นอาจิณ เมื่อกลับมาน้อมไปในฝ่ายกุศลก็เป็นการยาก เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงมักจะบ่นกันว่าทำสมาธิไม่ได้ ปฏิบัติในศีลก็ไม่ได้ คือห้ามจิตไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้
เพราะฉะนั้น ตนเองก็ต้องเป็นนายโคบาล ที่คอยถือปฏัก ที่จะป้องกันจิตของตัวเอง ที่เปรียบเหมือนโค ที่ชอบแวะกินข้าวกล้าในนาของชาวนา เช่นเดียวกับจิตที่ชอบวิตกวิจาร ไปในกามทั้งหลาย ไปในทางพยาบาท ไปในทางเบียดเบียน ก็ต้องคอยลงปฏักจิตนี้แหละ ห้ามจิต หัดให้น้อมมาในทางกุศล เช่นในการปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ที่ปฏิบัติกันอยู่ แปลว่าที่แรกก็ต้องลงปฏักกัน ลงปฏักจิตของตัวเอง หัดให้น้อมเข้ามาในทางกุศล และเมื่อหัดบ่อยๆ ดั่งนี้แล้ว ความน้อมของจิตก็จะน้อมมาเองโดยสะดวก การที่จะต้องลงปฏักจิตก็ไม่ต้องกัน เลิกได้
เหมือนอย่างนายโคบาลที่ปล่อยโคให้เที่ยวกินหญ้าอยู่ในปลายฤดูร้อน นาไม่มีข้าวกล้า คนเลี้ยงโคก็นั่งสบายอยู่ใต้ต้นไม้ คอยดูว่าโคอยู่ที่นั่นที่นี่เท่านั้น เหมือนดั่งจิตตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้ว่ากายมีอยู่ เวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ธรรมมีอยู่ การปฏิบัติก็เป็นไปได้ง่ายในเมื่อจิตน้อมเข้ามาในทางกุศลได้มาก และอยู่ตัวขึ้นแล้ว นี่แหละคือโอปนยิโก พึงน้อมเข้ามา ก็คือพึงน้อมจิตนี้เองเข้ามาสู่ธรรมะ จึงจะได้เห็นธรรมะ จึงจะได้บรรลุธรรมะ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป