แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ธรรมะนั้นเป็นสวากขาตธรรม ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นสันทิฏฐิโกอันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ซึ่งได้แสดงมาแล้วโดยความว่า ธรรมะที่กล่าวโดยปริยายหนึ่ง ก็ได้แก่สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง หรือของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งสั่งสอนตามสัจจะธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้น และศาสนธรรมนั้นก็เรียกอีกว่าปริยัติธรรมคือเป็นธรรมที่พึงเล่าเรียน อันได้แก่ตั้งใจสดับตรับฟัง ตั้งใจอ่าน ตั้งใจท่องบ่นจำทรง ตั้งใจเพ่งพินิจขบเจาะด้วยทิฏฐิลงความเห็น คือทำความเข้าใจให้ถูกต้อง จึงนำมาประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรม และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้รับผลของการปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงมรรคผลนิพพาน คือตัดกิเลสกองทุกข์และในสันดานให้สิ้นไป จึงเรียกรวบยอดว่าปฏิเวธธรรม ธรรมะคือความรู้แจ้งแทงตลอด และก็มีแสดงว่ามรรค ๔ ผล ๔ นิพาน ๑ กับปริยัติธรรมรวมเป็น ๑๐ นับถือว่าเป็นธรรมะ ซึ่งเป็นสรณะที่ ๒ หรือเป็นรัตนะที่ ๒ รวมอยู่ในคำว่า พระพุทธะ พระธรรมะ พระสังฆะ
สัจจะธรรมเป็นอกาลิโก
อันสัจจะธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดำรงอยู่ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สุด เพราะไม่มีกาลเวลา เป็นสัจจะธรรมที่ตั้งอยู่ที่ทรงอยู่ที่ดำรงอยู่ และศาสนธรรม ธรรมะคือคำสั่งสอนก็เป็นอมตาวาจา เป็นวาจาที่ไม่ตาย เป็นสัจจะวาจา เพราะฉะนั้นจึงไม่ประกอบด้วยกาลเวลาเช่นเดียวกัน ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย ดั่งได้มีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า (เริ่ม) ธรรมะของสัตบุรุษทั้งหลายไม่เข้าถึงความชรา คือความแก่ความชำรุดทรุดโทรม ดำรงอยู่ทุกกาลสมัย เพราะฉะนั้น ศาสนธรรมคือพุทธศาสนาจึงได้ดำรงอยู่ ปฏิบัติได้อยู่ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้โดยที่ไม่มีข้อบกพร่องที่จะต้องเพิ่มเติม ไม่มีข้อผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข เพราะเป็นสัจจะวาจา เป็นอมตะวาจา วาจาที่เป็นสัจจะเป็นจริง จึงเป็นวาจาที่ไม่ตาย หรือไม่แก่ ไม่ตาย ดำรงอยู่ดังกล่าว
ในการปฏิบัตินั้นเล่า ซึ่งเป็นปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติได้ทุกกาลสมัย ปฏิบัติได้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงบัดนี้ และต่อไปก็ปฏิบัติได้ ผู้ปฏิบัติเองเท่านั้นประกอบด้วยกาลเวลา คือปฏิบัติเมื่อนั่นเมื่อนี่ ปฏิบัติบ้างไม่ปฏิบัติบ้าง เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติเองจึงประกอบด้วยกาลเวลา แต่ธรรมะที่ปฏิบัตินั้น ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา อันหมายความว่าปฏิบัติได้ทุกกาลสมัย ใช้ได้ทุกกาลสมัย และผลของการปฏิบัตินั้น อย่างหนึ่งประกอบด้วยกาลเวลา เพราะเกี่ยวแก่ผลที่เป็นสิ่งเนื่องมาจากเหตุปัจจัยภายนอก เนื่องมาจากสิ่งที่เป็นส่วนสังขารคือสิ่งประสมปรุงแต่ง เช่นเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอุปกรณ์ต่างที่ให้เกิดสุขให้เกิดทุกข์ อันเกี่ยวแก่โลก เกี่ยวแก่สังขาร เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุบ้าง ในภายนอก กล่าวรวมเข้ามาคือเกี่ยวแก่ส่วนที่เป็นร่างกาย หรือเกี่ยวแก่ขันธ์ ๕ ซึ่งรวมเรียกว่าเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ก็ย่อมเนื่องในกาลเวลา แต่ที่ส่วนด้วยผลทางจิตใจแล้ว ไม่เกี่ยวด้วยกาลเวลา ปฏิบัติทางจิตใจตามหลักอริยสัจจ์ อันเป็นหลักคำสั่งสอนหลักของพุทธศาสนา ย่อมให้บังเกิดผลได้ทันที
ธรรมสมาทาน การประกอบกระทำกรรม ๔ ข้อ
ว่าถึงในส่วนที่เกี่ยวแก่สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง สังขารภายในเกี่ยวแก่เบญจขันธ์ กายใจอันนี้ หรือนามรูปอันนี้เกี่ยวแก่โลกธาตุ เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่เป็นบุคคลบ้าง เป็นวัตถุบ้างดังกล่าว ย่อมประกอบด้วยกาลเวลา เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสแสดงถึงเรื่องกรรม คือการที่บุคคลกระทำ ทางกายทางวาจาทางใจ เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นฝ่ายชั่วอันเรียกว่าอกุศลกรรมบ้าง เป็นฝ่ายดีอันเรียกว่ากุศลกรรมหรือบุญกรรมบ้าง บางอย่างก็ให้เสวยผลในปัจจุบัน บางอย่างก็ให้เสวยผลในภายหน้า บางอย่างก็ให้เสวยผลในเวลาที่ถัดจากภายหน้าไป
และความประกอบกระทำกรรมนี้ ท่านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ธรรมสมาทาน แปลว่าสมาทานธรรมะ คือถือปฏิบัติธรรมะ ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบันด้วย ให้ผลเป็นทุกข์ในภายหน้าด้วย ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นสุขในปัจจุบัน ให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน แต่ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า ธรรมสมาทานบางอย่างให้ผลเป็นสุขในปัจจุบันด้วย ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้าด้วย
อกุศลกรรมบถ ๑๐
ข้อที่ ๑ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน และให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้าด้วยนั้น ก็ตรัสยก อกุศลกรรมบถ ทางกรรมที่เป็นอกุศลขึ้นเป็นตัวอย่าง อกุศลกรรมบถทางกรรมที่เป็นอกุศล ที่เป็นกายกรรมทางกายนั้นก็ได้แก่ ปาณาติบาต ทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ด้วยอาการเป็นขโมย กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
อกุศลกรรมบถทางวาจาที่เรียกว่า วจีกรรม ก็ได้แก่มุสาวาทพูดเท็จ ปิสุณาวาจา วาจาส่อเสียด ผรุสวาจา วาจาหยาบ สัมผัปปลาวาจา วาจาเพ้อเจ้อเหลวไหล
อกุศลกรรมบถทางใจอันเรียกว่ามโนกรรม ก็ได้แก่ อภิชฌา โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน พยาบาท มุ่งร้ายปองร้ายผู้อื่น มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติกระทำอกุศลกรรมบถเหล่านี้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยใจที่เป็นทุกข์เดือดร้อน และเมื่อปฏิบัติไปแล้ว ก็ต้องได้เสวยผลของอกุศลกรรมเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้าด้วย เรียกว่าเป็นธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน และให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้าด้วย
ส่วนข้อ ๒ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นสุขในปัจจุบัน แต่ว่าให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า ก็ได้แก่ปฏิบัติกระทำอกุศลกรรมบถเหล่านี้อยู่ในปัจจุบันด้วยใจที่ร่าเริงเป็นสุขสนุกสนาน ก็อาจจะเทียบยกตัวอย่างเช่นว่าเล่นกีฬาสนุกแบบไปล่าสัตว์ตัดชีวิต ไปตกปลายิงเนื้อเป็นต้น เป็นการกีฬา เป็นการสนุกสนาน แต่ว่าจะต้องเสวยผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า ก็ชื่อว่าเป็นธรรมสมาทานที่ให้เสวยผลเป็นสุขในปัจจุบัน แต่ให้ผลเป็นทุกข์ต่อไปภายหน้า
กุศลกรรมบถ ๑๐
ส่วนข้อ ๓ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน แต่ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า ก็ได้แก่ฝ่ายกุศลกรรมบถอันตรงกันข้าม ทางกายกรรมก็เช่นการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในทางกาม ทางวาจาก็คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ทางใจที่เป็นมโนกรรมก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และเป็นสัมมาทิฏฐิคือมีความเห็นชอบ เมื่อประพฤติปฏิบัติกระทำกุศลกรรมบถเหล่านี้ด้วยทุกข์โทมนัส เช่นต้องจำใจทำ หรือว่าต้องลำบากในการกระทำ ก็เป็นการเสวยผลเป็นทุกข์อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า ก็ชื่อว่าเป็นธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นทุกข์ในปัจจุบัน แต่ให้สุขต่อไปภายหน้า
ข้อ ๔ ธรรมสมาทานที่ให้ผลเป็นสุขในปัจจุบันด้วย ให้ผลเป็นสุขต่อไปภายหน้าด้วย ก็ยกตัวอย่างกุศลกรรมบถทั้งหลายดังกล่าว ในขณะที่ปฏิบัติกระทำอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำด้วยสุขโสมนัส ต่อไปภายหน้าก็ได้สุขโสมนัส ก็เป็นธรรมสมาทานที่ให้เสวยผลเป็นสุขในปัจจุบัน และให้เสวยผลเป็นสุขต่อไปภายหน้า
ผลกรรมประกอบด้วยกาลเวลา
ธรรมสมาทานหรือการกระทำกรรมดีกรรมชั่วดังกล่าว มีการให้ผลประกอบด้วยกาลเวลาก็เพราะว่า เกี่ยวแก่สุขโสมนัส หรือว่าเกี่ยวแก่สุขทุกข์ เกี่ยวแก่เหตุปัจจัยที่นำให้ได้สุขได้ทุกข์ ซึ่งเป็น สังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งเกี่ยวแก่นามรูปอันนี้ ชีวิตร่างกายอันนี้ แต่เกิดจากวัตถุทั้งหลายในโลก บุคคลทั้งหลายในโลกเป็นต้นที่เกี่ยวข้อง อันล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เรียกว่าเกี่ยวแก่ภายนอก เหล่านี้จึงเนื่องด้วยกาลเวลา ในการปฏิบัติเกี่ยวแก่บุคคล เกี่ยวแก่เทศะ เกี่ยวแก่สิ่งทั้งหลายในโลก ต้องอาศัยกาลเวลามาประกอบ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนไว้ว่าให้มีกาลัญญูให้รู้จักกาลเวลา
ส่วนที่ไม่เกี่ยวแก่กาลเวลา ก็คือเกี่ยวแก่ภูมิชั้นในจิตใจโดยตรง เกี่ยวแก่ข้อปฏิบัติทางจิตใจโดยตรง ซึ่งเข้าหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ไม่เกี่ยวแก่กาลเวลา คือแม้ในการที่ประกอบกรรมต่างๆ ดีหรือชั่ว หรือสมาทานธรรมะอันเรียกว่าธรรมสมาทานฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล เมื่อสมาทานฝ่ายอกุศล ประกอบกรรมฝ่ายอกุศล ก็เป็นคนชั่วขึ้นทันที ภูมิชั้นของตนของจิตใจก็เป็นชั่วขึ้นทันที เมื่อสมาทานฝ่ายกุศล ประกอบกรรมที่เป็นกุศล ภูมิชั้นของตนของจิตใจก็เป็นคนดีขึ้นทันที ภาวะของตน ของจิตใจ อันเป็นส่วนภายในนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ทำดีเมื่อใดก็เป็นคนดีเมื่อนั้น ทำชั่วเมื่อใดก็เป็นคนชั่วเมื่อนั้น ตนเองจะรู้หรือไม่รู้ตนเอง คนอื่นจะรู้หรือไม่รู้ ไม่เป็นประมาณ แต่ว่าเมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นคนชั่วขึ้นทันที เมื่อทำดีก็ต้องเป็นคนดีขึ้นทันที นี้ในส่วนกรรม ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
แต่ว่าที่เกี่ยวแก่ส่วนภายนอกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ เป็นผลที่เกี่ยวแก่สุขทุกข์ต่างๆ นั้นจึงประกอบด้วยกาลเวลา เป็นภายนอก เป็นส่วนสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งในภายนอก เป็นส่วนโลกภายนอก ส่วนตนที่เป็นภายใน จิตใจที่เป็นภายในของทุกคน นี่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลาอย่างนั้น แต่ว่าในข้อนี้ต้องอาศัยปัญญาที่พิจารณาดูตามเหตุและผล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แล้วจึงจะเข้าใจในสัจจะคือความจริงข้อนี้ และเมื่อเข้าใจในสัจจะความจริงข้อนี้ได้ ก็จะให้ผลดีแก่ตนเองมาก ทำให้ตนเองเกิดหิริความละอายใจต่อความชั่ว รังเกียจต่อความชั่ว โอตตัปปะความเกรงกลัวต่อความชั่ว เว้นความชั่ว มีฉันทะในอันทำความดี หรือกล่าวเป็นศัพท์แสงว่า เว้นอกุศลธรรมสมาทาน เว้นอกุศลกรรม แต่มาประกอบกุศลธรรมสมาทาน ประกอบกุศลกรรมต่างๆ
ผลติดต่อกับเหตุทันที
และเมื่อพิจารณาตรงเข้าในหลักอริยสัจจ์ เมื่อมีสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ อันเรียกว่าทุกขสมุทัย หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก สืบมาถึงอุปาทานความยึดถือ เมื่อมีความอยากความยึดขึ้นในสิ่งใดในเวลาใด ก็เกิดทุกข์ขึ้นในสิ่งนั้นในเวลานั้นทันที เมื่อดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือในสิ่งใดเวลาใด ก็ดับทุกข์ในสิ่งนั้นในเวลานั้นทันที เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา คือไม่ต้องรอว่าจะปฏิบัติแล้ว จะต้องไปได้รับผลเป็นทุกข์ หรือเป็นความดับทุกข์เมื่อนั่นเมื่อนี่ ได้รับผลที่สืบเนื่องติดต่อไปทันที ตั้งแต่ในขั้นปฏิบัติเบื้องต้นที่สามัญชนทุกคนปฏิบัติกันอยู่ และก็เป็นดั่งนี้เรื่อยไป จนถึงเป็นอริยมรรคอริยผล เมื่อเป็นอริยมรรคก็สืบต่อเป็นอริยผลขึ้นทันที ไม่มีคั่น คือไม่มีระยะเวลาที่ต้องรอ ต้องเว้น ไม่มีคั่น ผลติดต่อกับเหตุทันที ผลติดต่อกับมรรคทันที และผลติดต่อกับเหตุทันทีนี้ ก็มิใช่ว่าจะมีในตอนเป็นมรรค เป็นอริยมรรคอริยผล ย่อมมีอยู่ในตอนที่เป็นปัจจุบันเบื้องต้นที่ปฏิบัติกันอยู่นี่แหละ
มีตัณหาอุปาทานขึ้น ก็มีทุกข์ขึ้นทันที ดับตัณหาอุปาทานได้ ก็ดับทุกข์ได้ทันที เป็นเหตุและผลที่ติดต่อกันไปทันที ทั้งฝ่ายเกิดทุกข์ ทั้งฝ่ายดับทุกข์ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
บุถุชนย่อมปฏิบัติในด้านก่อทุกข์
แต่ว่าเพราะผู้ปฏิบัติเองมีกาลเวลาในการปฏิบัติ คือปฏิบัติเมื่อนั่น ปฏิบัติเมื่อนี่ ปฏิบัติบ้าง ไม่ปฏิบัติบ้าง และสำหรับสามัญชนส่วนใหญ่นั้นไปปฏิบัติในด้านตรงกันข้าม ไม่ใช่ว่าไม่ปฏิบัติในด้านดับทุกข์แล้ว จะอยู่เฉยๆ ไม่ใช่เช่นนั้น ที่เป็นบุถุชนอยู่นั้น ย่อมปฏิบัติในด้านก่อทุกข์กันอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นอกาลิโกกันอยู่ในด้านก่อทุกข์
เพราะว่ามีตัณหามีอุปาทานประจำกันอยู่ในจิตใจ ทั้งที่เป็นส่วนละเอียดคือเป็นตัณหานุสัย ตัณหาที่นอนเนื่องอยู่ในใจ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบขึ้นมา เป็นตัณหาที่บังเกิดขึ้นในใจ อยากได้โน่นอยากได้นี่ ยึดโน่นยึดนี่ และที่เป็นอย่างหยาบขึ้นมาอีก จนถึงให้ละเมิดออกทางกายทางวาจาทางใจ คือเป็นกรรม เป็นกรรมที่เป็นกายกรรมวจีกรรมมโนกรรมต่างๆ ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้น และเมื่อเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่ากรรมกิเลส (เริ่ม) คืออกุศลกรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกรรมกิเลสไว้ มีการฆ่าการลักการพูดปด การประพฤติผิดในกาม การพูดปด
เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสามัญชนหรือบุถุชนทั้งปวงนั้น เป็นอกาลิโกอยู่กับทุกข์ กับทุกขสมุทัย เป็นพื้นประจำอยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน แม้ว่าจะไม่มีกิเลสส่วนที่หยาบมาก ก็ยังมีกิเลสส่วนที่บังเกิดอยู่ในใจ หรือเมื่อว่า แม้ว่าใจจะสงบ ก็ยังมีส่วนที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในใจ
เพราะฉะนั้น จึงอยู่กับกิเลส ไม่ไกลกิเลส อยู่ใกล้กิเลส อยู่กับกิเลส เป็นอกาลิโกอยู่กับกิเลส จึงเป็นอกาลิโกอยู่กับทุกข์ คือมีกิเลสอยู่เรื่อย มีทุกข์อยู่เรื่อยไม่กำหนดว่าเวลาไหน ก็ขอยืมคำว่าอกาลิโกมาพูดในทางนี้ว่าสามัญชนหรือบุถุชนมักจะเป็นกันอยู่ดั่งนี้ ยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก มีอุปาทานความยึดถือ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีทุกข์
ฉะนั้น ถ้าหากว่ามาปฏิบัติกระทำให้มากในฝ่ายดับทุกข์ คือลดละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ เมื่อละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอุปาทานความยึดถือได้ ก็ละทุกข์ได้ ไม่มีอะไรเข้ามาทำใจที่ละตัณหาอุปาทานให้เป็นทุกข์ขึ้นได้ มนุษย์ก็ทำไม่ได้ เทวดาก็ทำไม่ได้ พรหมก็ทำไม่ได้ ที่จะทำใจที่ละตัณหาอุปาทานนั้นให้เป็นทุกข์ ที่มนุษย์ด้วยกันทำได้ เทวดาทำได้ พรหมทำได้นั้น ก็เพราะว่ายังมีตัณหามีอุปาทานอยู่ ในมนุษย์บ้าง ในเทวดาบ้าง ในพรหมบ้าง ในมารบ้าง ในวัตถุต่างๆ บ้าง จึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่ในใจ ยึดเอาสิ่งใดเข้ามาก็มีสิ่งนั้นตั้งอยู่ในใจ ยึดเอาทรัพย์สินเงินทองเข้ามา ทรัพย์สินเงินทองก็ตั้งอยู่ในใจ ยึดเอามนุษย์คนไหนเข้ามา มนุษย์คนนั้นก็ตั้งอยู่ในใจ ยึดเอาเทวดามารพรหมองค์ไหนเข้ามาตั้งอยู่ในใจ เทวดามารพรหมองค์นั้นก็มาตั้งอยู่ในใจ จึงอยู่ที่ความยึด
เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดดูให้รู้ดั่งนี้แล้ว ก็ตั้งใจปฏิบัติเพื่อละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ ไม่อยาก ไม่ยึด ปล่อยวาง เมื่อเป็นดั่งนี้ทุกอย่างนั้นก็ตกไปจากใจหมด ไม่ตั้งอยู่ในใจ ทุกข์ก็ตกไปหมดจากใจ คือว่าตกไปทันที สืบต่อกันทันที ดับตัณหาอุปาทานเมื่อใด ทุกข์ก็ดับเมื่อนั้นต่อกันทันทีไม่มีคั่น ไม่มีอะไรในระหว่าง เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลาดั่งนี้ เกี่ยวกับภาวะทางจิตใจ ภูมิชั้นของตนซึ่งเป็นภายในย่อมเป็นอยู่ดั่งนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา การปฏิบัติทางจิตใจพร้อมทั้งกายวาจา ตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นมา จนถึงมรรคผลนิพานก็ย่อมเป็นดั่งนี้ เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
สมาธินิมิต สมาธิบริขาร
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิ สอนให้รู้จักนิมิตเครื่องกำหนดสมาธิ สอนให้รู้จักบริขารเครื่องบำรุง เครื่องใช้ของสมาธิ ให้รู้จักสมาธิภาวนา อบรมสมาธิ โดยตรัสสอนไว้โดยใจความว่า สมาธิ ก็คือเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว หรือความมีอารมณ์อันเดียวของจิต ชื่อว่าสมาธิ สมาธินิมิต เครื่องกำหนดแห่งสมาธิ สติที่กำหนดดูให้รู้ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรม เป็นสมาธินิมิต สมาธิบริขาร เครื่องใช้สอยของสมาธิ เครื่องอาศัยของสมาธิก็คือปธานะ การตั้งความเพียร สมาธิภาวนา ก็คือการปฏิบัติอบรมกระทำให้มากซึ่งสมาธิ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป