แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงขันติมาครั้งหนึ่งจะแสดงต่อไป ขันติที่จะแสดงต่อไปนี้มีความหมายในทางเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ ขันติดังกล่าวนี้เรียกว่า อนุโลมิกขันติ ขันติที่เป็นไปโดยอนุโลม คืออนุโลมต่อความเห็นชอบ ก็คืออนุโลมอริยมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เพื่อกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย
ขันติดังกล่าวนี้เป็นขันติที่มีความหมายเป็นพิเศษกว่าขันติทั่วๆ ไป แม้ตามที่ได้แสดงอธิบายแล้ว และได้มีความหมายในทางเดียวกัน กับขันติที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือ ตีติกขา ความทนทาน เป็นบรมตบะ คือเป็นธรรมะที่เผากิเลสอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อนิพพาน
ดังที่ตรัสต่อไปว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธะทั้งหลายกล่าวนิพพานว่าเป็นอย่างยิ่ง ขันติเป็นบรมตบะ ดั่งนี้ จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อีกว่า ขันติ พลัง วยะ ตินัง ขันติเป็นกำลังของนักพรต หรือผู้บำเพ็ญพรตทั้งหลาย ดั่งนี้
อันขันติดังกล่าวว่าตีติกขาขันติ ในโอวาทปาติโมกข์ หรือ อนุโลมิกขันติ ที่ยกขึ้นมาแสดงในวันนี้ จึงมีความหมายว่าเป็นความอดทน เป็นความทนทาน ต่ออารมณ์ทั้งหลาย คืออารมณ์ คือรูปที่เห็นทางตา อารมณ์คือเสียงที่ได้ยินทางหู อารมณ์คือกลิ่นที่ได้ทราบทางจมูก อารมณ์คือรสที่ได้ทราบทางลิ้น อารมณ์คือสิ่งถูกต้องที่ได้ทราบทางกาย อารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราวที่ได้รู้ได้คิดทางมโนคือใจ
อดทนต่ออารมณ์เหล่านี้เพราะอารมณ์เหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งราคะความติดใจยินดีก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโทสะความโกรธแค้นก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโมหะความหลงก็มี เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเกิดราคะโทสะโมหะ หรือว่าโลภโกรธหลงขึ้น ไหลเข้าสู่ใจหรือจิต เพราะฉะนั้น อดทนต่ออารมณ์ทั้งหลาย จึงมีความหมายถึงอดทนต่อกิเลสทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นจากอารมณ์นั้นๆ ด้วย
ขันติที่เป็นอนุโลมขันติหรืออนุโลมิกขันติ จึงมีความหมายถึงความอดทนต่ออารมณ์ ต่อกิเลสดังกล่าว เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นบรมตบะ คือเป็นเครื่องแผดเผากิเลส ผู้ที่ปฏิบัติขันติ ฝึกจิตใจให้มีความอดทนต่ออารมณ์ทั้งหลาย ต่อกิเลสทั้งหลาย ย่อมสามารถเผากิเลสทั้งหลายได้ ดับกิเลสทั้งหลายได้ เช่นเมื่อความโลภบังเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นที่ตั้งของความโลภ หรือราคะความติดใจยินดีบังเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นที่ตั้งของราคะ ก็มีความอดทน ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของโลภะหรือราคะ เมื่อความอดทนนี้มีกำลังที่แรงกว่ากำลังของกิเลส ก็ชนะกิเลสได้ กิเลสก็ดับหายไป เหมือนอย่างถูกเผาไป
เมื่อโทสะบังเกิดขึ้นก็เช่นเดียวกันมีความอดทนต่อโทสะ ต่ออารมณ์ของโทสะ ไม่ยอมแพ้อำนาจของโทสะ และเมื่อความอดทนนี้มีกำลังกว่า โทสะกับอารมณ์ของโทสะก็ดับหายไป เหมือนอย่างถูกเผาสิ้นไป
โมหะก็เช่นเดียวกัน ความหลงถือเอาผิด หลงติดอยู่ในวัตถุอันเป็นที่ตั้งของความหลง มีความอดทนต่อความหลง ความติด และอารมณ์ของความหลงนั้น เมื่อความอดทนมีกำลังก็เอาชนะโมหะได้ โมหะก็ดับหายไป เหมือนอย่างถูกเผาไป
ในการปฏิบัติทำขันติคือความอดทนนี้เมื่อประกอบไปด้วยกับการปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ก็ทำให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ขึ้นมาได้ ขันติที่ประกอบด้วยปัญญานับว่าเป็นยอดของขันติที่ประกอบด้วยสมาธิด้วยศีล แต่ว่าก็ต้องอาศัยการปฏิบัติทั้งในศีลทั้งในสมาธิทั้งในปัญญาประกอบกันไป ทั้ง ๓ นี้มีปัญญาเป็นยอด แต่เมื่อมียอดก็ต้องหมายความว่าต้องมีต้นมีรากด้วย ศีลก็เหมือนอย่างราก สมาธิก็เหมือนอย่างต้น ปัญญาก็เหมือนอย่างยอด เมื่อเทียบกับต้นไม้ ฉะนั้น แม้จะยกยอดขึ้นมาแสดง ก็ต้องหมายความว่าต้องมีลำต้นต้องมีรากอยู่ด้วยกัน เป็นแต่เพียงต้องการจะชี้ว่าปัญญาเป็นยอด
เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า ปัญญาเห็นอย่างไรจึงจะเป็นฐานะที่ว่าประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ ได้ตรัสแสดงไว้ว่า เมื่อยังเห็นสังขารอะไรๆ โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข เห็นธรรมะอะไรๆ คือทั้งส่วนที่เป็นสังขารทั้งส่วนที่เป็นวิสังขาร โดยความเป็นอัตตาตัวตน เมื่อยังเห็นดั่งนี้อยู่ก็ไม่เป็นฐานะที่จะชื่อว่าประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ และเมื่อไม่ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ ก็ไม่เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่ความเป็นชอบ คือหยั่งลงสู่อริยมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และเมื่อยังไม่หยั่งลงสู่ความเป็นชอบ หรือว่าสู่ สัมมัตตนิยาม คือความกำหนดแน่โดยความเป็นชอบ ก็ไม่เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย
ต่อเมื่อเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยงโดยความเป็นทุกข์ เห็นธรรมอะไรๆ ทั้งปวงโดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน จึงเป็นฐานะที่จะชื่อว่าประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ และเมื่อประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ ก็เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่นิยาม คือความกำหนดแน่แห่งความเป็นชอบ คือสู่นิยามแห่งอริยมรรคมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และเมื่อหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ ก็เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย
อนึ่งเมื่อยังเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ก็เช่นเดียวกัน ไม่เป็นฐานะที่จะประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ ไม่เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ ไม่เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย ต่อเมื่อเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข ดังที่มีปาฐะว่านิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นบรมสุข จึงจะเป็นฐานะที่ประกอบด้วยอนุโลมิกขันติ เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย ดั่งนี้
และจะชื่อว่าได้อนุโลมิกขันติด้วยอาการอย่างไรจะชื่อว่าหยั่งลงสู่ความเป็นชอบด้วยอาการอย่างไร ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสจำแนกอาการไว้เป็นอันมาก แต่อาจสรุปลงได้เป็น ๓ คือเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา เห็นนิพพาน โดยความเป็นเที่ยง โดยความเป็นสุข และโดยความเป็นปรมัตถ์ หรือ ปรมัตถะ คือมีอรรถะอย่างยิ่ง
กล่าวคือเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมได้อนุโลมิกขันติ เห็นความดับขันธ์ ๕ เป็นนิโรธคือความดับทุกข์เป็นของเที่ยงแท้ เป็นนิพพาน ย่อมได้หรือหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ คือสู่ทางอริยมรรค เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นทุกข์ ย่อมได้อนุโลมมิกะขันติ เห็นความดับขันธ์ ๕ เป็นนิโรธคือความดับทุกข์ เป็นสุข เป็นนิพพาน ย่อมหยั่งลง ย่อมได้นิยามแห่งความเป็นชอบ เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอนัตตา ย่อมได้อนุโลมิกขันติ เห็นความดับขันธ์ ๕ เป็นนิโรธคือความดับทุกข์ เป็น ปรมัตถะ คือ มีอรรถะอย่างยิ่ง อย่างละเอียด เป็นนิพพาน ย่อมหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น อนุโลมิกขันตินี้จึงเป็นข้อสำคัญศีล สมาธิ ปัญญา อาศัยขันติมาก่อน คือในการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญานั้นก็ต้องใช้ขันติ ต้องประกอบด้วยขันติ และเมื่อได้ศีลสมาธิปัญญาขึ้นก็ทำให้ได้ขันติที่สูงขึ้น คืออนุโลมิกขันติดังกล่าว คือเมื่อได้ปัญญาเห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เมื่อได้ปัญญาดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้อนุโลมิกะขันติ ซึ่งนำไปสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ คืออริยมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลายได้
เพราะฉะนั้น นิยามแห่งความเป็นชอบคืออริยมรรค จึงกล่าวได้ว่าเป็นมรรคนั้นเอง และเมื่อได้มรรคก็ย่อมได้ผล คือกระทำให้แจ้งผลทั้งหลาย คืออริยผลทั้งหลาย ได้อริยมรรค ก็ได้อริยผล อนุโลมิกขันตินั้น จึงเป็นขันติที่อนุโลมต่ออริยมรรคอริยผล สอดคล้องต่ออริยมรรคอริยผล เป็นขันติที่ได้มาจากปัญญาที่เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
และในการที่จะปฏิบัติในปัญญาในสมาธิในศีลก็ต้องอาศัยขันติคือความอดทนมาโดยลำดับ แผดเผากิเลสมาโดยลำดับ ถ้าไม่อาศัยขันติก็ไม่อาจที่จะปฏิบัติให้สำเร็จได้ เป็นขันติในขั้นปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น ครั้นได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา จึงได้ขันติที่เป็นอนุโลมต่อมรรคผล อันเรียกว่าอนุโลมิกขันตินี้ มีลักษณะเป็นความทนทาน ไม่หวั่นไหว อันจะเปรียบได้อย่างภูเขาหินล้วน ไม่หวั่นไหวด้วยลมอันพัดมาแต่ทิศทั้งปวง ต่างจากต้นไม้เป็นต้นทั้งใหญ่ทั้งเล็ก เมื่อถูกลมพัดแม้จะไม่หักก็ไหว และแม้ว่าจะไม่โค่นล้มทั้งต้น กิ่งใบก็อาจที่จะหักหล่น ถ้าหากว่าถูกลมแรงมากก็จะต้องล้มทั้งต้น แต่ภูเขาหินล้วนนั้นย่อมทนได้ต่อลมอันพัดมาแต่ทิศทั้งปวง
อนุโลมมิกะขันติก็เช่นเดียวกันเมื่อปฏิบัติให้เห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ได้ จิตก็จะแข็งแกร่งทนทาน ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์และกิเลสทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงนำสู่อริยมรรคสู่อริยผล จึงเรียกว่าอนุโลมิกขันติ ขันติที่อนุโลม คืออนุโลมต่ออริยมรรคที่เรียกว่านิยามแห่งความเป็นชอบ และอริยผลทั้งหลาย ดั่งนี้
ตามที่แสดงมานี้แสดงตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้ เป็นขันติที่มีลักษณะพิเศษกว่าขันติทั่วไป แต่ว่าในการปฏิบัตินั้นก็จะต้องปฏิบัติตั้งแต่ขันติคือความอดทน มีน้ำอดน้ำทน มีความอดกลั้นทนทาน ต่ออารมณ์และกิเลสทั้งหลาย ซึ่งอาจจะทนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ว่าเมื่อฝึกอยู่บ่อยๆ แล้ว ก็จะทำให้ความอดทนนี้มีพลังยิ่งขึ้น สามารถอดทนต่ออารมณ์และกิเลสได้มากขึ้น พร้อมทั้งเมื่อมีโสรัจจะคือความที่ทำใจให้สบายโดยระบายอารมณ์และกิเลส ที่อัดอยู่ในใจออกไป ไม่ปล่อยให้อัดเอาไว้ ระบายใจออกไปให้สบาย อาศัยสติอาศัยปัญญา และอาศัยธรรมะอื่นๆ เช่นเมตตากรุณาเป็นต้น เข้ามาช่วย และเมื่อระบายออกไปได้ใจก็สบาย เมื่อใจสบาย กายวาจาก็เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม เพราะฉะนั้นจึงตรัสแสดงว่าธรรมะคู่นี้ ขันติคือความอดทน โสรัจจะที่ท่านแปลว่าความเสงี่ยม เป็นธรรมะที่ทำให้งาม ดั่งนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป