แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงคำว่าธรรมหรือธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และที่พระอาจารย์ได้อธิบาย โดยที่คำว่าธรรมหรือธรรมะนี้ได้เรียกกันในที่หลายแห่ง เช่นพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสั่งสอน ตลอดจนถึง กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม รูปธรรม อรูปธรรม เป็นต้น แต่ในความหมายแห่งธรรมที่เป็นรัตนะที่ ๒ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ท่านได้แสดงไว้เป็น ๑๐ คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็น ๙ กับปริยัติธรรมอีก ๑ เป็น ๑๐ และที่แสดงไว้อีกอย่างหนึ่งโดยสรุปเข้ามาก็เป็น ๓ คือปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และ ปฏิเวธธรรม
ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
พระธรรมนี้ได้มีบทสวดสรรเสริญคุณ อันเรียกว่า พระธรรมคุณ ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นต้น ดังที่ได้กล่าวแล้ว จะได้จับอธิบายพระธรรมคุณบทที่ ๑ นี้ ที่แปลว่า ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว และได้มีบทสวดสรรเสริญขยายความออกไป ว่าทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือพระศาสนาคำสั่งสอน หรือพระธรรมวินัย พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์ บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดั่งนี้
บทว่างามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด และบทที่ว่าทรงประกาศพรหมจรรย์คือพระศาสนา คำสั่งสอนคือพระธรรมวินัยนี้ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ก็เป็นคำอธิบายของคำว่า งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด คำนี้แปลมาจากคำว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง คำว่า กัลยาณะ ก็เป็นคำที่ใช้พูดในภาษาไทย แปลกันว่างาม และสำหรับที่ใช้ในพระธรรมคุณนี้ มีแปลเป็นอย่างอื่นก็มี เช่นแปลว่าไพเราะ ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสอันมีลักษณะดังกล่าวนี้ พระอาจารย์ก็ได้แสดงความหมายไว้ เป็นต้นว่า ที่ว่างามในเบื้องต้น ก็คือทรงแสดง ศีล งามในท่ามกลาง ก็คือทรงแสดง สมาธิ งามในที่สุด ก็คือทรงแสดง ปัญญา หรือว่าถ้าเป็นธรรมะมากกว่า ๓ ข้อขึ้นไป เช่นศีลสมาธินั้นเอง เมื่อมีวิมุติเพิ่มเข้าอีกเป็น ๔ ข้อ ก็อธิบายว่างามในเบื้องต้นด้วยศีล งามในที่สุดด้วยวิมุติ งามในท่ามกลางก็ด้วยสมาธิด้วยปัญญา ดั่งนี้เป็นต้น
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมะที่บริบูรณ์ คือว่าไม่ต้องเติมเข้ามาอีก เป็นธรรมที่บริสุทธิ์ คือไม่ผิดไม่ต้องแก้ไข และประกอบด้วยอรรถะคือเนื้อความ ประกอบด้วยพยัญชนะคือถ้อยคำ ก็บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีผิดพลาดบกพร่อง คือว่าใจความกับถ้อยคำเหมาะกันสมกัน และเป็นถ้อยคำเป็นใจความที่ถูกต้องด้วยสมมติบัญญัติของภาษาที่พูด ไม่ใช่ว่าผิดจากสมมติบัญญัติแห่งภาษาที่พูด เรียกว่าเป็นถ้อยคำที่สละสลวย เป็นถ้อยคำที่ไม่ฟุ่มเฟือยคือพูดมากแต่ไร้สาระ และไม่เป็นถ้อยคำที่สั้นจนเสียความ เป็นถ้อยคำที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนบริสุทธิ์บริบูรณ์ ส่องถึงเนื้อความที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ และใจความแห่งถ้อยคำนั้นก็ส่องแสดงถึงสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นความจริง
อันเป็นไปตามลักษณะที่ทรงสั่งสอนดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว ว่าทรงแสดงธรรมในข้อที่ควรรู้ควรเห็น มีเหตุอันผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ และมีปาฏิหาริย์คือว่าปฏิบัติได้ผลสมจริงตามที่ทรงสั่งสอน คือปฏิบัติให้บรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพานได้
เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่ทรงแสดงนั้น จึงสมบูรณ์ด้วยเนื้อความหรือใจความ อันนำให้เกิดความเข้าใจ ให้เกิดความรู้ ทั้งเหตุทั้งผล และให้ปฏิบัติได้ บรรลุถึงผลตามที่ทรงสั่งสอนได้ เป็นการแสดงที่ทำให้เข้าใจ และให้ปฏิบัติได้ไปโดยลำดับ เพื่อผลที่ประสงค์ตามที่ทรงสั่งสอน ไม่มีขาดตกบกพร่อง เหมือนอย่างเป็นทางที่นำไปสู่เป้าหมายที่จะไปถึง ติดต่อกันไปโดยตลอด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หรือว่าถ้าเปรียบด้วยบันได ก็เปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นบันไดที่เป็นขั้นๆ ขึ้นไป ตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย ไม่มีขาดตกบกพร่อง เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ดังกล่าวโดยตลอด ตั้งแต่เบื้องต้นท่ามกลางจนถึงที่สุด ไม่มีบกพร่อง ไม่มีขาดตก
ธรรมะอันเหมาะสมกับอินทรีย์ของบุคคล
และธรรมะที่ทรงแสดงนั้นเป็นธรรมะที่เข้าในลักษณะที่เรียกว่า สันทัสสนา คือทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงได้ สมาทปนา ทำให้เกิดความคิดสมาทานคือรับมาปฏิบัติ สมุตเตชนา เตือนใจให้เกิดความอุตสาหะขะมักเขม้นในอันที่จะปฏิบัติ สัมปหังสนาทำให้บังเกิดความรื่นเริงในการฟังในการปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องหมายความว่า ผู้ฟังจะต้องมีความตั้งใจฟัง และธรรมะที่ฟังนั้นก็เหมาะสมกับอัธยาศัยจิตใจ เหมาะสมแก่พื้นภูมิของจิตใจ ที่เรียกว่าเหมาะสมแก่อินทรีย์ของบุคคล
อิทธิปาฏิหาริย์
ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ ข้อ ข้อที่ ๑ ก็คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ คือการที่แสดงฤทธิ์ได้ อันเป็นเครื่องปราบเป็นเครื่องทำลายมานะทิฏฐิของผู้ที่รับเทศนา และคำว่า อิทธิ นี้ก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าเหาะเหิรเดินฟ้าอย่างที่เข้าใจกันโดยมากอย่างเดียว แต่ว่า หมายถึงการที่จะ หรือวิธีที่จะทำลายทิฏฐิมานะของผู้ฟังได้สำเร็จ
ดังเช่นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดภิกษุเบญจวัคคีย์เพื่อแสดงปฐมเทศนา ในครั้งแรกท่านทั้ง ๕ นั้นไม่ยอมเชื่อว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว เพราะว่าพระองค์ได้ทรงเลิกทุกรกิริยาที่ท่านทั้ง ๕ นั้นนับถือ ท่านทั้ง ๕ จึงคิดว่าได้ทรงท้อถอยเสียแล้ว เวียนมาเพื่อความมักมากคือเพื่อความสุขสำราญเสียแล้ว จึงได้หลีกออกไปพักอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นเห็นพระองค์เสด็จมา ก็ได้เพียงต้อนรับอย่างเสียไม่ได้ พระองค์ก็ต้องใช้พระวาจาตรัสแก่ท่านทั้ง ๕ นั้น ให้ท่านทั้ง ๕ นั้นละทิฏฐิมานะ ยอมฟังคำสั่งสอนของพระองค์ และเมื่อท่านทั้ง ๕ นั้นยอมฟังคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์จึงได้ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรด
การที่ได้ทรงตรัสพระวาจาให้ท่านทั้ง ๕ ละทิฏฐิมานะได้ ยอมฟังเทศนาของพระองค์ นี้แหละคืออิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นกิจเบื้องต้น (เริ่ม) ที่พระพุทธเจ้าจะต้องทำก่อน ถ้าผู้ฟังยังมีทิฏฐิมานะอยู่ พระองค์ก็ยังไม่ทรงแสดงธรรมเทศนา จะต้องทำให้เขาละทิฏฐิมานะ ยอมที่จะฟังเสียก่อน และคำว่ายอมที่จะฟังนี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าให้เขาเชื่อ เป็นแต่เพียงว่าให้ยอมฟัง ให้ตั้งใจที่จะฟังเท่านั้น จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์ไม่บังคับให้เชื่อ เพียงแต่ว่าให้ยอมตั้งใจที่จะฟังเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นขั้นที่ ๑ เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์
อาเทสนาปาฏิหาริย์
มาถึงข้อที่ ๒ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ที่แปลว่าดับใจ เป็นปาฏิหาริย์ หรือว่าดับใจเป็นอัศจรรย์ อันหมายความว่าได้ทรงทราบถึงอัธยาศัยจิตใจ ทรงทราบถึงอินทรีย์ที่แก่กล้า หรือย่อหย่อนของผู้ฟัง ว่าเป็นอย่างไร ได้มีอินทรีย์คือได้มีกำลังของสติปัญญามาเพียงไหน มีอัธยาศัยอย่างไร มีความคุ้นเคยอยู่อย่างไร ก็ทรงแสดงธรรมให้เหมาะแก่พื้นภูมิแห่งจิตใจของเขา ให้เหมาะแก่พื้นภูมิแห่งสติปัญญาของเขา จึงจะทำให้เขารับได้ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๒
อนุสาสนีปาฏิหาริย์
จึงมาถึงข้อที่ ๓ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ทรงพร่ำสอนเป็นอัศจรรย์ ก็คือทรงแสดงธรรมะสั่งสอนชี้แจงแสดงให้เกิดความเข้าใจได้ ที่เรียกว่า สันทัสสนา ให้เกิดความคิดสมาทานที่เรียกว่ารับปฏิบัติ อันเรียกว่า สมาทปนา ให้เกิดความอุตสาหะในอันที่จะปฏิบัติ อันเรียกว่า สมุตเตชนา ให้เกิดความรื่นเริงไม่เบื่อหน่ายในอันที่จะปฏิบัติ อันเรียกว่า สัมปหังสนา เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงสั่งสอนนั้นจึงได้มีคำสรรเสริญว่าตรัสดีแล้ว คืองามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด เป็นคำสั่งสอนที่ประกาศพรหมจรรย์ศาสนาคำสั่งสอนคือพระธรรมวินัย อันบริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดั่งนี้
แต่ทั้งนี้ก็ต้องหมายถึงว่าผู้ฟังต้องมีความตั้งใจฟัง เป็นผู้ที่ละทิฏฐิมานะยอมรับฟัง ยอมรับพิจารณาไตร่ตรองไปตาม และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้ความรู้ได้ความเห็นในธรรม ได้ความรับปฏิบัติ ได้อุตสาหะในอันที่ปฏิบัติ และได้ความรื่นเริงในการฟัง และในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันประกอบด้วยลักษณะอาการ และประกอบด้วยปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ตรัสจึงเป็น สวากขาโต ตรัสดีแล้ว
ธรรมรส
แต่ว่าธรรมะที่พระสาวกได้แสดงกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ก็แสดงตามพระพุทธเจ้า โดยอาศัยหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ว่าผู้แสดงขาดลักษณะอาการ ขาดปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จึงเหมาะบ้างไม่เหมาะบ้างแก่อัธยาศัยจิตใจของบุคคลผู้ฟัง หรือว่าอาจจะเหมาะแก่บางคน ไม่เหมาะแก่บางคน ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ฟังจึงมักจะไม่ได้ความรู้สึกไพเราะหรืองดงามในธรรมที่แสดง
แต่พระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ในการแสดง ด้วยลักษณะอาการที่แสดงดังกล่าว แต่แม้เช่นนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ก็ย่อมเป็นสัจจะคือความจริง ที่มีอยู่ในบุคคลทุกๆ คนนี้เอง ไม่ว่าจะในสมัยไหน
เพราะฉะนั้น หากได้ตั้งใจฟัง ตั้งใจพินิจพิจารณา ขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น ให้มีความเข้าใจแล้ว ก็ย่อมจะได้ธรรมรส รสของธรรม น้อยหรือมาก ธรรมรสที่ได้นี่แหละคือ สวากขาโต ภควตา ธัมโม คือจะได้ความรู้ว่า ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์คือศาสนาคำสั่งสอนคือพระธรรมวินัยอันบริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดั่งนี้ เมื่อฟังธรรมะได้ความรู้สึกดั่งนี้ ก็เรียกว่าได้ธรรมรสคือรสของธรรม
หลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานอันเป็นหลักปฏิบัตินั้นก็คือ การที่ตั้งสติในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม กายนั้นก็ได้แก่กายนี้ที่ทุกๆ คนมีอยู่ ในบัดนี้ก็กำลังนั่งกันอยู่ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เป็นร่างกายที่หายใจเข้า หายใจออกอยู่ เป็นร่างกายที่ต้องอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง เช่นในบัดนี้กำลังอยู่กันในอิริยาบถนั่ง และประกอบด้วยอิริยาบถเล็กน้อย เช่นนั่งในลักษณะนี้ พับเท้าอย่างนี้ วางมืออย่างนี้ ตั้งกายตั้งศีรษะอย่างนี้ หันหน้าอย่างนี้ ดั่งนี้เป็นต้น
กาย
และเป็นร่างกายที่ประกอบด้วยอาการทั้งหลาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น และเมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือส่วนที่แข้นแข็งก็เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลม เมื่อธาตุเหล่านี้ประกอบกันอยู่ ชีวิตก็ยังดำรงอยู่
และเมื่อชีวิตยังดำรงอยู่ร่างกายอันนี้ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ได้ หายใจเข้าออกอยู่ได้โดยปรกติ แต่เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ชีวิตก็สิ้น ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ ก็จะเป็นศพที่ผุเปื่อยไปโดยลำดับ จนถึงเหลือแต่กระดูก และในที่สุดกระดูกที่เหลืออยู่นี้ก็จะผุกร่อนไปหมด นี้ก็คือกาย
เวทนา จิต
และเมื่อร่างกายนี้ธาตุทั้งหลายยังคุมกันอยู่ ชีวิตยังดำรงอยู่ ก็ย่อมมีเวทนา คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายบ้างทางใจบ้าง และก็มีจิตที่ครองกายนี้อยู่เป็นธาตุรู้ ที่รู้อะไรได้ คิดอะไรได้ มีอาการเป็นต่างๆ บางทีก็มีโลภมีโกรธมีหลง บางทีก็สงบโลภโกรธหลง บางทีก็สงบ บางทีก็ฟุ้งซ่าน และบางทีเมื่อปฏิบัติธรรมะจิตก็สงบ หลุดพ้นจากโลภโกรธหลงได้ ชั่วคราว หรือว่านาน หรือว่าตลอดไป แต่เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังหลุดพ้นไม่ได้ ยังมีโลภมีโกรธมีหลง
ธรรม
และเมื่อมีจิตใจก็ต้องมีธรรมะ คือธรรมะที่เป็นส่วนกุศลบ้าง ธรรมะที่เป็นส่วนอกุศลบ้าง ธรรมะที่เป็นกลางๆ บ้าง โดยเฉพาะก็คือธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็คือเรื่องหรือว่าภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ เรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น ก็เช่นอารมณ์คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึงต่างๆ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ในจิตใจ และเมื่อมีเรื่องก็จะต้องมีภาวะของจิตใจที่เป็นความชอบบ้างความชังบ้าง หรือความยินดีบ้างความยินร้ายบ้างอยู่ในเรื่องเหล่านั้น บังเกิดขึ้นสลับซับซ้อน เหล่านี้คือธรรมะ อันได้แก่เรื่องต่างที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ภาวะต่างๆ ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ
ทำไมจึงต้องปฏิบัติในสติปัฏฐาน
ทุกคนก็ย่อมมีกาย ย่อมมีเวทนา ย่อมมีจิต ย่อมมีธรรมะในจิต อยู่ดั่งนี้ด้วยกัน แต่ว่าโดยปรกตินั้นทุกคนไม่ได้ตั้งจิตมากำหนดดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมะในจิตของตน แต่ว่าส่งจิตไปกำหนดในเรื่องนั้นบ้างในเรื่องนี้บ้าง และก็เกิดยินดีบ้างยินร้ายบ้างกันอยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้บังเกิดอกุศลกรรมต่างๆ บังเกิดความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้มาตั้งจิตกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรมของตน นี่แหละคือสติปัฏฐาน
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป