แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงไตรสิกขา สีลสิกขาจิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือศีลสมาธิปัญญา พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนให้ปฏิบัติธรรมะที่ทรงสั่งสอน ดังเช่นไตรสิกขาดังกล่าว อันที่จริงธรรมะที่ทรงสั่งสอนนี้ก็เป็นธรรมชาติธรรมดา ที่ทุกๆ คนต่างมีพื้นอยู่ในจิตใจของตน และโดยเฉพาะผู้ที่เกิดมาเป็น มนุษย์ ที่แปลว่า ผู้มี มนะ คือใจ หรือความรู้สูง เป็นผลของกุศลซึ่งได้ประกอบกระทำมา จึงได้มาถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ ผู้มี มนะ ความรู้ หรือ ใจสูง ที่ว่าเป็นผลของกุศล
ความหมายของคำว่ากุศล
คำว่ากุศลนั้นแปลว่ากิจของคนฉลาดโดยตรงความฉลาดนี่แหละเป็นกุศล ก็คือปัญญานั้นเอง เพราะฉะนั้น ทุกคนเกิดมาจึงมี สชาติปัญญา ที่ว่าปัญญาที่ได้มากับชาติคือความเกิด มาพร้อมกับชาติคือความเกิด มนุษย์หรือคนจึงมีความรู้สูงมาแต่กำเนิด ต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เพราะฉะนั้นตั้งแต่บังเกิดมีสัตว์โลกมาในโลกนี้ก็ว่าได้ มนุษย์ได้มีความเจริญต่างๆ ทั้งในด้านวัตถุ ทั้งในด้านจิตใจ ในด้านวัตถุนั้นก็มีความรู้ความฉลาดสามารถสร้างบ้านสร้างเมืองสร้างสิ่งต่างๆ อันอำนวยทั้งความสุข ทั้งความทุกข์ ทั้งเพื่อสร้าง ทั้งเพื่อทำลายกัน ดังที่ปรากฏ ในทางจิตใจก็มีความเจริญ ได้มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอกบังเกิดขึ้นในโลก ก็จากหมู่มนุษย์นี้เอง อันแสดงถึงมีความเจริญทางจิตใจถึงที่สุด สามารถปฏิบัติทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้ ส่วนสัตว์เดรัจฉานนั้น เรียกว่าตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ ก็อยู่คงที่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใหญ่ ไม่มีความเจริญคืบหน้าเหมือนอย่างมนุษย์
สชาติปัญญา
ที่มนุษย์เป็นดั่งนี้ก็เพราะอำนาจของกุศลโดยตรงก็คือ สชาติปัญญา ปัญญาที่ได้มาพร้อมกับชาติคือความเกิด นี้เองคือธรรมะที่แปลว่า ทรงไว้ คือเป็นสภาพที่ทรงไว้ ทรงตัวเองคือทรงธรรมะเอง โดยเป็นสัจจะคือความจริงอยู่ทุกกาลสมัย ดังที่เรียกว่าเป็น อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา และทรงผู้ที่ทรงธรรมะให้ทรง หรือดำรงอยู่ได้ (เริ่ม) เช่นเดียวกับชีวิตซึ่งเป็นเครื่องทรงหรือดำรงร่างกายหรือรวมเรียกว่าบุคคล สัตว์ ให้ดำรงอยู่หรือให้ทรงอยู่ เช่นร่างกายที่มีชีวิต ก็เป็นร่างกายที่ดำรงอยู่ทรงอยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ ชีวิตเป็นเครื่องทรงหรือดำรงร่างกายนี้ดังกล่าว แต่ถ้าขาดชีวิตไม่มีชีวิต ร่างกายนี้ก็ต้องนอนทอดทิ้งอยู่บนแผ่นดิน ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมายืนเดินนั่งนอนได้ เพราะไม่มีเครื่องทรงอยู่ คือชีวิต และเครื่องทรงอยู่คือชีวิตนี้ก็ประกอบด้วยจิตใจ และกายอันนี้ที่รวมกันอยู่นั้นเอง
ชีวิตประกอบด้วยธาตุ ๖
กายและจิตใจนี้ทรงอยู่ดำรงอยู่หรือว่ากล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือธาตุทั้ง ๖ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าบุรุษสตรีนี้มีธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาสคือช่องว่าง กับวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ประกอบกันอยู่ ทรงอยู่ จึงดำรงความเป็นสัตว์บุคคล เป็นชายเป็นหญิงที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ ถ้าธาตุเหล่านี้แตกสลาย ความทรงอยู่ดำรงอยู่ของชีวิตก็ต้องสิ้นไปหมดไป สิ่งที่ดำรงอยู่หรือทรงอยู่ อันเป็นเครื่องให้ทรงอยู่หรือดำรงอยู่ดั่งกล่าวนี้ ก็เท่ากับเป็นธรรมะ ที่แปลว่าทรงอยู่หรือดำรงอยู่ คุณอันเป็นเครื่องให้ทรงอยู่ดำรงอยู่ก็คือธรรมะนั้นเอง ตัวธรรมะเองนั้นก็ทรงอยู่ดำรงอยู่ และส่วนที่เป็นคุณก็เป็นเครื่องทำให้ทรงอยู่ดำรงอยู่ ในทางที่เป็นคุณด้วย
และแม้ส่วนที่เป็นโทษก็เช่นเดียวกันเมื่อเป็นโทษก็เป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่โดยความเป็นโทษ และทำให้ผู้ที่มีอยู่ ก็ทรงอยู่ดำรงอยู่โดยความเป็นโทษ ในทุกๆ คนย่อมมีสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ดังกล่าวมานี้ และนอกจากส่วนที่เป็นคุณและส่วนที่เป็นโทษแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่คุณไม่ใช่โทษ ก็เป็นส่วนที่ทรงอยู่ดำรงอยู่เช่นเดียวกัน
ธรรมะ ๓ อย่าง
เพราะฉะนั้นทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง จึงได้ตรัสแสดงไว้ทั้งหมด ว่าธรรมะคือส่วนที่ทรงอยู่ดำรงอยู่นี้มีเป็น ๓ คือ กุสลาธรรมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล อกุสลาธรรมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล อัพยากตาธรรมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤตคือไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล
กุสลาธรรมา อกุสลาธรรมา
เมื่อจะชี้ตัวอย่างธรรมะที่เป็นส่วนกุศลก็ได้มีอยู่ในบุคคลผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ยกข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ สชาติปัญญา ปัญญาที่ได้มากับชาติคือความเกิด พร้อมทั้งสังขารร่างกาย จิตใจ อันพร้อมที่จะได้ปฏิบัติกระทำในทางพัฒนา คือทำให้เกิดความเจริญ นี้เป็นตัวอย่างของกุศลธรรม ส่วนที่เป็นอกุศลธรรมนั้น ก็ยกตัวอย่างได้แก่ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ที่ไม่ได้ สชาติปัญญา มาเหมือนอย่างมนุษย์ มีร่างกายพร้อมทั้งจิตใจไม่อาจที่จะปฏิบัติ พัฒนาให้บังเกิดความเจริญ
อัพยากตาธรรมา
ส่วนที่เป็นกลางๆ นั้นก็หมายถึงร่างกายและจิตใจเองที่ได้มาโดยธรรมชาติธรรมดาตลอดจนถึงการกระทำที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เช่นการ ยืน เดิน นั่ง นอน การบริโภค การถ่าย ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของร่างกาย ตลอดจนถึงการดู การฟัง การสูดดม การลิ้มรส การถูกต้องทางกาย ความคิดต่างๆ รวมทั้งการกระทำอะไรๆ การพูดอะไรๆ การคิดอะไรๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา เหล่านี้นับว่าเป็นของกลางๆ เช่นคนที่ต้องยืนเดินนั่งนอน ต้องกินดื่มทำพูดคิด ต่างๆ เป็นต้นดังกล่าว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบุญ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าบาป ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าความดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าความชั่ว เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว
กรรมย่อมเกิดจากการกระทำ
พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนให้ใช้สิ่งที่มีเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดานี่แหละ ละความชั่ว กระทำความดีต่างๆ คือว่าใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ใช้ลิ้น ใช้กาย ใช้มนะคือใจ พร้อมทั้งวาจา หรือว่าใช้ทวารทั้ง ๓ คือ กาย วาจา ใจ เว้นจากอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล ประกอบกุศลธรรม คือธรรมะที่เป็นกุศลต่างๆ เพราะว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ย่อมเกิดขึ้นจากการกระทำ อันประกอบด้วยเจตนาคือความจงใจ สำเร็จเป็นการงานที่กระทำต่างๆ อันเรียกว่ากรรม แปลว่าการงานที่กระทำ เมื่อทำดีก็เป็นกรรมดี เมื่อทำชั่วก็เป็นกรรมชั่ว เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งถึงการกระทำ การงานที่กระทำดังกล่าวนี้จึงเรียกว่ากรรม และกรรมดังกล่าวมานี้คือการกระทำ หรือการงานที่กระทำ เมื่อทำชั่วเราก็เรียกกันในภาษาไทยว่า ทำความชั่ว ทำดีก็เรียกกันในภาษาไทยว่า ทำความดี มีคำว่า “ ความ" ความดี ความชั่ว
เพราะฉะนั้น คำว่าความดี ก็คือกุศลธรรมนั้นเอง ความชั่ว ก็คืออกุศลธรรมนั้นเอง ซึ่งแสดงว่า ต้องมีความดี ต้องมีความชั่ว อยู่ในโลกนี้ ไม่ใช่ไม่มี มีความดี มีความชั่ว มีความดีก็คือมีกุศลธรรม มีความชั่วก็คือมีอกุศลธรรม คำว่าธรรมะนั้นเป็นสภาพ ก็คือตัว “ความ” ที่เราพูดกันในภาษาไทยนี้เอง แต่ว่าความดีความชั่วนี้จะปรากฏด้วยการกระทำ เมื่อกระทำความดีก็เป็นกรรมดี เมื่อกระทำความชั่วก็เป็นกรรมชั่ว แต่เมื่อไม่กระทำ ความดีความชั่วก็ย่อมยังไม่มาเกิดขึ้นในบุคคล ต่อเมื่อกระทำจึงจะมาบังเกิดขึ้นในบุคคล และเมื่อมาบังเกิดขึ้นในบุคคล ก็ทำให้บุคคลเป็นคนดี หรือว่าเป็นคนชั่ว ไปตามความดีหรือความชั่วที่กระทำ และก็เป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วขึ้นทันที ที่ได้กระทำความดีหรือความชั่วนั้น นี้เป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน
เครื่องมือกระทำกรรม
ในการกระทำความดีหรือความชั่วทั้ง๒ อย่างนี้ ก็ต้องอาศัยธรรมะที่เป็นกลางๆ อันมีอยู่ในบุคคลทุกคน คือกายใจ หรือกายและจิต หรือว่าสังขารร่างกาย ที่สมมติเรียกว่าอัตภาพตัวตนนี้แหละ หรือว่าโดยตรงเมื่อยกเอาทวารคือทางที่จะกระทำกรรม ก็คือกายทวารทางกาย วจีทวารทางวาจา มโนทวารทางใจ นี้เอง ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ คือเป็นส่วนที่เป็นกลางๆ เป็น “ความ” ที่เป็นกลางๆ ซึ่งทุกคนได้มาตั้งแต่กำเนิด เกิดมาก็มีกายและจิตนี้มา มีสังขารร่างกายนี้มา มีกายวาจาใจนี้มา หรือเรียกตามภาษาธรรมะว่าเป็นวิบากขันธ์ คือเป็นขันธ์ที่เป็นวิบากคือเป็นส่วนผล ที่ได้มาตั้งแต่เกิด ไม่เรียกว่าเป็นดี หรือไม่เรียกว่าเป็นชั่ว เป็นกลางๆ ก็ให้ใช้ส่วนที่เป็นกลางๆ นี้แหละ โดยเว้นจากกรรมที่ชั่วที่ผิด อันเรียกว่าอกุศลกรรม หรือบาปกรรม ประกอบกรรมที่ดีที่ชอบอันเรียกว่าบุญกรรม หรือกุศลกรรม และก็ตรัสให้ชำระจิตใจของเรา ของตนเองนี่แหละ ให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะจิตใจนี้เป็นส่วนสำคัญ
กาย ใจ อายตนะ
มาจับกล่าวถึงศีลสมาธิปัญญาพระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนจากธรรมชาติธรรมดา คือธรรมะที่เป็นกลางๆ ที่ทุกคนมีอยู่นี่แหละ เพราะว่าทุกคนนั้นก็ต้องมีกายพร้อมทั้งใจ อันประกอบด้วยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนคือใจ และทุกคนเมื่อจะทำอะไรก็ต้องใช้ร่างกายใช้ตาใช้หูเป็นต้น เช่นว่าเมื่อจะฟังอะไรก็ต้องใช้หูฟัง จะดูอะไรก็ต้องใช้ตาดู จะทราบกลิ่นก็ต้องใช้จมูก จะทราบรสก็ต้องใช้ลิ้น จะทราบสิ่งถูกต้องก็ต้องใช้กาย จะคิดจะรู้อะไรก็ต้องใช้มโนคือใจ ก็ต้องอาศัยอายตนะเหล่านี้นั่นเอง และโดยเฉพาะอายตนะ ๕ ข้อข้างต้นคือตาหูจมูกลิ้นและกายนั้น เป็นส่วนประสาททางร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนภายนอก ส่วนมโนอันเป็นข้อที่ ๖ นั้นเป็นส่วนภายในประกอบกันอยู่ เพราะฉะนั้น การที่จะทำอะไรทุกอย่างจึงต้องอาศัยทั้ง ๖ ทางนี้ประกอบกัน
ยกตัวอย่างเช่นกำลังฟังธรรมบรรยายอยู่นี้ก็ต้องมีร่างกายพร้อมที่จะฟัง ดังเช่นที่นั่งสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ สำรวมกายนั้นก็คือร่างกายพร้อมทั้งหู เรียกว่าเงี่ยหูที่จะฟัง กายก็ต้องมีความสำรวม สำรวมวาจานั้นก็คือต้องสำรวมความคิด ซึ่งเป็นต้นของวาจา ไม่คิดไปในเรื่องอื่น และสำรวมใจนั้นก็คือต้องตั้งใจ มีความตั้งใจที่จะฟัง เรียกว่าในการฟังนี้ หูก็ต้องฟัง วาจาคือความคิดก็ต้องคิดไปในสิ่งที่ฟัง ใจก็ต้องตั้งที่จะฟัง คือใจก็ต้องฟัง แปลว่าหูก็ต้องฟัง ใจก็ต้องฟัง และความคิดก็ต้องคิดไปตามที่ฟัง ดั่งนี้ จึงจะฟังได้ยิน และเมื่อฟังได้ยินก็รู้เรื่องที่ฟัง เข้าใจเรื่องที่ฟัง ความรู้เรื่องที่ฟังเข้าใจเรื่องที่ฟังนี้ คือตัว ปัญญา และความที่ตั้งใจฟังเป็นตัว สมาธิ ความที่สำรวมกายเงี่ยหูฟังเป็น ศีล
ฉะนั้นจึงจะเห็นได้ว่าแม้ในการฟังธรรมบรรยายที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ กายก็ต้องเป็นศีล คือต้องมีความเป็นปรกติ มีความสำรวม ใจก็ต้องมีสมาธิคือตั้งใจ ตั้งใจฟัง จึงจะได้ปัญญาคือความที่ฟังได้ยิน และได้ความรู้ความเข้าใจตามที่ฟัง ตามที่จะพึงได้ อันเป็นตัวปัญญา ทุกคนจะต้องใช้อาการของร่างกายที่ต้องสำรวม อาการของใจที่ต้องตั้งใจ ดั่งนี้ พร้อมทั้งความคิดไปตาม จึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทำนั้นๆ ต้องเป็นดั่งนี้ทุกอย่าง อันจะขาดเสียมิได้ ถ้าขาดเสียแล้วการทำการงานทุกอย่างไม่มีความสำเร็จ ตั้งแต่เป็นเด็กเรียนหนังสือมาในขั้นต้น จนถึงเรียนสำเร็จ
และเมื่อทำการงานอะไรทุกอย่างก็จะต้องอาศัยอาการทั้ง ๓ นี้ (เริ่ม) คือความสำรวมทางกาย ความตั้งใจ และปัญญา ที่ได้จากอาการทั้ง ๓ นั้น มาประกอบกระทำการงานต่างๆ ต้องมีอาการทั้ง ๓ นี้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น จึงจะสำเร็จเป็นการงานทุกอย่าง แต่ว่าในการประกอบกระทำ อาการทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวนี้ ย่อมเป็นไปได้ทั้งในทางดี ทั้งในทางชั่ว จะทำความดีก็จะต้องมีความสำรวมทางกายเพื่อที่จะทำ มีความตั้งใจที่จะทำ มีปัญญาที่จะทำ จะทำความชั่วก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความสำรวมทางกายที่จะทำชั่ว ตั้งใจที่จะทำชั่ว มีปัญญาที่จะทำชั่ว
เพราะฉะนั้น อาการทั้ง ๓ นี้ เมื่อว่าถึงตัวอาการทั้ง ๓ นี้จริงๆ ย่อมเป็นของกลางๆ แต่ว่าใช้ไปได้ทั้งในทางดี ทั้งในทางชั่ว เหมือนอย่างมือทั้ง ๒ ของทุกๆ คนที่มีอยู่ ก็เป็นของกลางๆ มือไม่ดีไม่ชั่วอะไร เป็นของกลางๆ แต่ว่าถ้าใช้มือทำความชั่ว เช่นว่าไปชกต่อยใครต่อใคร ทำร้ายใครต่อใคร ก็เป็นการทำชั่ว แต่ถ้าใช้มือทำดี เช่นใช้มือทำการทำงานที่เป็นประโยชน์ ทำบุญทำกุศลต่างๆ ก็เป็นการใช้ทำความดี ตัวมือเองนั้นไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว แต่ว่าตัวบุคคลนั่นแหละเมื่อใช้มือทำดีก็เป็นการทำดี ใช้มือทำชั่วก็เป็นการทำชั่ว
ข้อที่ทรงบัญญัติไตรสิกขา
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้สิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา คือเป็นสิ่งที่คนเรามีอยู่แล้ว และก็กระทำกันอยู่แล้วนี่แหละ ให้กระทำความดี ละความชั่ว และให้เพิ่มพลังของการกระทำโดยเพิ่มพลังของอาการที่มีอยู่เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดานี่แหละ ให้มีพลังในการที่จะละความชั่ว ที่จะกระทำความดีให้มากขึ้น จึงได้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติ อันเรียกว่าเป็นศีล ข้อปฏิบัติอันเรียกว่าเป็นสมาธิ ข้อปฏิบัติอันเรียกว่าปัญญา ให้เป็นข้อที่เรียกว่าเป็นสิกขาหรือศึกษา คือให้ศึกษาให้รู้จัก
และฝึกปฏิบัติให้เป็นขึ้นให้มีขึ้นให้เป็นศีลขึ้น ให้เป็นสมาธิขึ้น ให้เป็นปัญญาขึ้น ฝึกหัดกายวาจาใจนี้เอง ให้เว้นจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลายทางกายทางวาจาทางใจ โดยที่งดเว้นใจของตัวเองให้ได้จาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง จากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันจะดึงไปให้ประพฤติทางกาย ประพฤติทางวาจา ประพฤติทางใจ เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นทุจริตต่างๆ ดั่งนี้เป็น ศีล ให้ฝึกปฏิบัติจิตใจนี้ให้สงบจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย ให้มีอารมณ์เป็นอันเดียวในทางที่ดีที่ชอบ ให้จิตตั้งมั่นอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว อันเป็นอารมณ์ที่ดีที่ชอบนั้น อันจะทำให้จิตใจให้สงบจากกาม จากอกุศลธรรมทั้งหลายเป็น สมาธิ
และให้ฝึกตัวความรู้ที่เป็นสชาติปัญญา ปัญญาโดยชาติกำเนิด และที่ได้สั่งสมเพิ่มเติมมานี้ ให้เป็นความรู้ที่เข้าถึงสัจจะ ที่เป็นตัวความจริงในตนเอง ให้รู้จักนามรูปหรือขันธ์ ๕ โดยเป็นไตรลักษณ์ อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง อนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน เพื่อละความยึดมั่นถือมั่นในตัวเราของเรา อันเป็น ปัญญา ที่กำจัด หรือที่ดับกิเลสและกองทุกข์
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป