แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงสมาธิในสติปัฏฐานสติปัฏฐานนั้นได้เคยแสดงแล้วว่า แปลว่า ตั้งสติ อันหมายถึงการปฏิบัติ แปลว่า สติตั้ง อันหมายถึงผลของการปฏิบัติ ว่าถึงในการปฏิบัติตั้งสติ ก็จะต้องมีที่ตั้งของสติ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติ ที่กายเวทนาจิตและธรรม ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นที่ตั้งสติ สตินั้นแปลกันว่าความระลึกได้ ซึ่งมีความหมายว่าระลึกคือนึกถึง และก็นึกได้ด้วย
สติคือความระลึกได้นี้ได้มีพระพุทธาธิบายไว้โดยความว่าระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ คล้ายกับสัญญาที่แปลว่าความกำหนดหมายหรือความจำหมาย แต่สัญญานั้นใช้ในความหมายดังกล่าวในอารมณ์ คือเรื่อง ที่มาประสบพบพานทางอายตนะโดยปรกติ เป็นความรู้ จำรูปจำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และจำธรรมะคือเรื่องราวที่ประสบพบผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ เมื่อรู้จำดังกล่าวก็ผ่านไปๆ ในเรื่องนั้นๆ
แต่สติคือความระลึกได้นี้แม้ผ่านไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ในเรื่องนั้นๆ แม้นานก็ยังระลึกได้ คือเมื่อนึกถึงก็ยังนึกถึงได้ จึงมีความหมายที่เป็นความกำหนดจดจำ อันยาวนานกว่าสัญญา สัญญานั้นรู้จำในเรื่องที่ประสบพบผ่านนั้นๆ ดังกล่าว แล้วก็ผ่านไปๆ จะเรียกว่าเกิดดับไป เกิดดับไป ก็ได้ แต่สตินี้แม้จะเป็นเรื่องที่มีสัญญาความรู้จำเกิดดับๆ ไปแล้ว สติก็ยังระลึกได้ เพราะสตินี้ตั้งอยู่ในจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ อันเรียกว่าวิญญาณธาตุ อันเป็นตัวเดิม สติดังกล่าวได้มีพระพุทธาธิบายตรัสไว้
ส่วนสติในสติปัฏฐานเป็นสติที่ตรัสสอนให้ตั้งในกายเวทนาจิตธรรมด้วยอนุปัสสนาคือตามดูหรือดูตาม มุ่งถึงอนุปัสสนาดูตามกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นปัจจุบัน ส่วนสติที่กล่าวมาในเบื้องต้นระลึกได้ถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้นั้น เป็นสติระลึกได้ในเรื่องที่เป็นอดีตคือที่ล่วงไปแล้วแม้นาน ทำอะไรไว้ พูดอะไรไว้ ในอดีตที่ล่วงไปนานๆ ก็ยังระลึกได้
ส่วนสติในสติปัฏฐาน (เริ่ม) มีพระพุทธาธิบายให้ตั้งสติด้วยอนุปัสสนาคือด้วยวิธีตามดู หรือดูตาม กาย เวทนา จิต ธรรม โดยตรงก็หมายถึงที่เป็นปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน คือกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสติในสติปัฏฐานนี้จึงมุ่งถึงสติในปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน อันคำว่าปัจจุบันธรรมที่นำมาใช้ในที่นี้ ก็หมายรวมถึงทั้ง ๔ นั้นนั่นแหละ คือ ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม รวมเรียกว่าปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน คือเรื่องที่เป็นปัจจุบันธรรม คำนี้จึงเป็นคำคลุมถึงทั้ง ๔
และเมื่อจำแนกปัจจุบันธรรมในที่นี้ออกเป็น ๔ คำว่าธรรมะข้อที่ ๔ นั้นจึงมีความหมายถึงภาวะ หรือว่าเรื่องที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต ปรากฏเป็นความคิด เป็นสิ่งที่คิด เป็นสิ่งที่ประกอบอยู่ในจิต ในความคิด อันเป็นภาวะในจิต ซึ่งทุกๆ คนมีอยู่เป็นส่วนดีก็มี เป็นส่วนชั่วไม่ดีก็มี เป็นกลางๆ ก็มี ที่เป็นส่วนดีนั้นคือเป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศลทั้งหลาย เป็นต้นว่า สติความระลึกได้ สมาธิความตั้งใจมั่น เมตตาความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ หรือกุศลเจตนาความตั้งใจความจงใจที่เป็นกุศลทั้งหลาย ในการบุญการกุศลทั้งหลาย อันสำเร็จด้วยทานบ้าง ด้วยศีลบ้าง ด้วยภาวนาบ้าง เหล่านี้เป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล หรือว่าจะรวมเข้าว่าเป็นกุศลมูล มูลของกุศลทั้งหลาย คือความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ก็ได้
ส่วนที่เป็นตรงกันข้ามคือส่วนที่ชั่วที่ไม่ดี ก็คืออกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรมะที่เป็นอกุศล เป็นต้นว่านิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่น่าปรารถนาพอใจทั้งปวง พยาบาทความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งสรุปเข้าในกิเลสกองราคะหรือโลภะ กองโทสะ กองโมหะ อันเป็นอกุศลมูล มูลของอกุศลทั้งหลาย
ส่วนที่เป็นกลางๆ นั้นก็คือเป็นความคิดความนึกเรื่องต่างๆ ไปโดยปรกติธรรมดาไม่เป็นความดี ไม่เป็นความชั่วอย่างไร เช่นความคิดที่จะทะนุบำรุงกาย อาบน้ำชำระกาย ความคิดที่จะบริโภคอาหาร ใช้สอยเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้ต่างๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป สำหรับที่จะทำนุบำรุงกาย หรือว่าที่จะประกอบอาชีพการงาน ไปในทางที่ถูกที่ชอบโดยปรกติ เหล่านี้ก็เป็นอัพยากตธรรมธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว รวมเข้าก็คือธรรมะทั้งหลายดังกล่าวที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต นี่แหละคือธรรมะอันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๔ ซึ่งทุกคนก็มีธรรมะดังกล่าวนี้บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เป็นไปอยู่ในจิต เป็นเรื่องนั้นบ้าง เป็นเรื่องนี้บ้าง อยู่เป็นประจำ
มาถึงข้อ ๓ คือจิต ก็เป็นธรรมชาติที่ทุกคนมีอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่มีสรีระสัณฐาน มีคูหาคือกายนี้เป็นที่อาศัย แม้ว่าไม่มีสรีระสัณฐาน แต่ทุกคนก็รู้ว่าทุกคนมีจิตใจ ก็โดยรู้จักจิตใจที่ตัวความรู้ ที่ตัวความคิด ของตนเองนี้เอง เพราะจิตใจนี้เป็นตัวธาตุรู้ และมีลักษณะที่รู้ที่คิด อันความรู้ความคิดนี้เป็นสิ่งที่อาศัยกันจะกล่าวว่าคิดก็คือรู้ รู้ก็คือคิดก็ได้ เพราะว่าที่ปรากฏเป็นรู้ขึ้นมาก็ด้วยความคิด และที่ปรากฏเป็นความคิดก็ด้วยความรู้ เพราะว่าใครจะคิดในสิ่งที่ไม่รู้นั้นไม่ได้ จะคิดได้ในสิ่งที่รู้เท่านั้น และความรู้ก็เช่นเดียวกัน จะปรากฏหรือจะแสดงเป็นความรู้ขึ้นมาได้ก็ด้วยความคิด
เพราะฉะนั้นคิดกับรู้นี่จึงเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกัน และทุกๆ คนก็ย่อมรู้ความคิด รู้ความรู้ของตนเอง ตนรู้อะไร ตนคิดอะไรก็ย่อมรู้ ว่าเรากำลังคิด เรากำลังรู้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีสรีระสัณฐาน ทุกคนก็รู้จิตใจของตนเองได้ที่ความรู้ความคิดดังกล่าว และนอกจากนี้ย่อมรู้จิตของตนว่าเป็นอย่างไร จิตมีราคะความติดใจยินดี หรือโลภความโลภ หรือว่าจิตมีโทสะโกรธแค้นขัดเคือง หรือว่าจิตมีโมหะคือความหลงใหล ก็ย่อมรู้ว่าจิตของเราเป็นอย่างนี้ๆ หรือว่าจิตไม่มีราคะโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ คือกำลังสงบ ก็ย่อมรู้จิตของตนว่าเป็นอย่างนี้ๆ เช่นเดียวกัน
และเวทนาอันเป็นข้อที่ ๒ อันได้แก่ เป็นความรู้อย่างหนึ่งของจิตนั่นแหละ ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเป็นไปทางกายเป็นไปทางจิตเอง ที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ทุกคนก็รู้ เมื่อความเย็นมาสัมผัสกับร่างกาย หรือความร้อนมาสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งทำให้เป็นสุขบ้าง ทำให้เป็นทุกข์บ้าง หรือแม้เหลือบยุงมากัดที่ร่างกายทำให้รู้สึกแสบคันเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นทุกขเวทนาทางกาย ทุกคนก็รู้ หรือเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรทางตาทางหูที่นำให้ไม่สบายใจ หรือทำให้สบายใจ อันเป็นสุขเป็นทุกข์ทางใจ ทุกคนก็รู้ หรือว่าสิ่งที่มาประสบพบผ่านดังกล่าว ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง อันเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้เป็นสุข ไม่พอจะให้เป็นทุกข์ ก็เฉยๆ ซึ่งก็มีอยู่เป็นอันมาก ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน เป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข เพราะเป็นความรู้ รู้ถึงความสัมผัสแห่งสิ่งหรือเรื่องนั้นๆ ทางกายทางใจ แต่ว่าไม่พอที่จะให้เป็นสุข ไม่พอที่จะให้เป็นทุกข์ ก็เฉยๆ ที่เรียกว่าเป็นกลางๆ ทุกคนก็รู้
มาถึงข้อที่ ๑คือกายเอง คือร่างกายอันประกอบด้วยธาตุที่เป็นวัตถุต่างๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ทุกๆ คนมีอยู่ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบนี้ ทุกคนก็รู้ สำหรับร่างกายที่เป็นอวัยวะภายนอกนั้น ทุกคนก็เห็นด้วยตาได้ ส่วนที่เป็นอวัยวะภายใน ภายในหนังหุ้ม ทุกคนไม่เห็นด้วยตา แต่ก็รู้ได้พิสูจน์ได้ อย่างเอ็กซ์เรย์ส่องดูได้ เป็นอวัยวะภายในต่างๆ ร่างกายนี้ที่หายใจเข้าหายใจออกอยู่ ที่ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน อันเป็นอิริยาบถใหญ่ ประกอบด้วยอิริยาบถเล็กน้อย รวมเข้าก็เป็นอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ เมื่อธาตุ ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ก็เป็นร่างกายที่ยังดำรงชีวิต เมื่อธาตุ ๔ นี้แตกสลายก็กลายเป็นศพ ต้องนำไปเผาไปฝัง เพราะฉะนั้น กายเวทนาจิตธรรม หรือว่าธรรมจิตเวทนาและกาย ทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นอัตภาพ คือสมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพ เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเราอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว กายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้ ทุกๆ คนที่ยังดำรงชีวิตอยู่ ย่อมประกอบกันอยู่ ย่อมเป็นไปอยู่ทุกขณะ และก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป หากจะจับเอาธรรมะข้อที่ ๔ ขึ้นเป็นต้น คือเอาเรื่องหรือเอาสิ่ง เอาภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิต เมื่อภาวะหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตเป็นอย่างไร จิตเองก็เป็นไปตาม และเวทนาก็เป็นไปตาม กายเองก็เป็นไปตาม
ยกตัวอย่างเมื่ออกุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิตเช่นโทสะพยาบาท จิตเองก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะพยาบาท เป็นจิตที่ร้าย เวทนาเองก็ต้องเป็นทุกข์ คือเป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจ ร้อนรุ่มไปตามจิตอันประกอบด้วยโทสะพยาบาท กายเองก็วิปริตแปรปรวนไปตาม ดังเช่น อาการร่างกายของคนโกรธ แสดงออกมาทางสายตา ทางหน้า ทางอวัยวะร่างกาย ทางวาจา ดังอาการของคนโกรธทั้งหลายที่ทุกๆ คนก็เห็น แม้ตนเองก็ย่อมรู้ตนเอง นี้ยกเอาธรรมะข้อที่ ๔ เป็นที่ตั้ง อีก ๓ ข้อก็ตามกันมาหมด
หรือว่าจะยกเอาข้อที่๓ ขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้เหมือนกัน คือเมื่อจิตนี้เป็นจิตที่ร้าย หรือว่าเป็นจิตที่คิดในทางร้าย เช่นคิดไปในเรื่องที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็ทำให้ธรรมะอกุศลธรรมกองโทสะบังเกิดขึ้นในจิต เวทนาก็เป็นทุกขเวทนา คือทำให้รุ่มร้อนกายรุ่มร้อนใจ กายเองก็วิปริตไปตามดังกล่าว หรือจะยกเอาข้อเวทนาขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้ เมื่อเวทนาเป็นสุข เวทนานี้เองก็ปรุงจิตให้ชอบให้ติดในสุข จึงปรากฏเป็นความติด เป็นตัณหาเป็นราคะในสุข ร่างกายเองก็ปรากฏทางตาทางหน้าทางกิริยาต่างๆ ไปตามอาการของกิเลสกองตัณหาราคะดังกล่าวนั้น
หรือจะยกเอาข้อที่๑ คือกาย ขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้ คือเมื่อกายนี้ได้สัมผัสทางกาย กับสิ่งที่เป็นที่ตั้งของสุข ก็เกิดสุขเวทนา สุขเวทนาก็ปรุงจิต ให้เป็นตัณหาราคะในสุข (เริ่ม) หรือว่าเมื่อกายนี้สัมผัสกับสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ก็เกิดทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็ปรุงจิต ให้เกิดโทสะปฏิฆะหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของทุกข์นั้น
ก็เป็นอันว่าทุกข้อนั้นเป็นต้นเป็นปลายของกันและกันได้ต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้สติ ด้วยวิธี อนุปัสสนา คือตามดู ตามดูตามรู้ตามเห็นกายเวทนาจิตธรรมว่าเป็นไปอยู่อย่างไรในปัจจุบัน
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป