แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงจิตตภาวนาการอบรมจิตและโดยตรงตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรมจิตนี้แหละเป็นหลักสำคัญ แม้ว่าจะได้ตรัสธรรมโดยปริยายคือทางเป็นอันมาก แต่ก็รวมอยู่ที่จิตนี้เอง การถึงสรณะ คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึง ก็ต้องถึงให้ถึงจิตใจ จิตใจต้องถึง จะปฏิบัติในศีลก็ต้องให้ถึงจิตใจ ในสมาธินั้นตรัสเป็นจิตตสิกขา อบรมจิตโดยตรง ปัญญาก็ต้องอบรมที่จิตใจนี้เอง ให้ธาตุรู้ของจิตใจเกิดปัญญาคือความรู้อันถูกต้อง การปฏิบัติแม้ในเบื้องต้น ก็ต้องให้ถึงจิตใจดังกล่าว ได้แสดงสรณะและศีลมาตามสมควรจึงจะได้จับในขั้นสติ ขั้นสมาธิ และปัญญา สืบต่อไป
ด้วยอาศัยพระพุทธภาษิตที่ตรัสตอบแก่ภิกษุรูปหนึ่งภิกษุรูปนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลถามข้อที่พึงปฏิบัติโดยย่อ เพื่อว่าจะได้ออกไปปฏิบัติอยู่ผู้เดียว พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน ซึ่งมีความโดยย่อว่า ให้ปฏิบัติทำเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลายให้บริสุทธิ์ อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ตรัสว่า ศีลที่บริสุทธิ์ดีแล้ว และทิฏฐิคือความเห็นที่ตรง ๒ ข้อนี้เป็น เบื้องต้นของกุศลธรรม ทั้งหลาย แล้วตรัสต่อไปว่า อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล พึงปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยอาการทั้ง ๓ คือตั้งสติกำหนดดูกาย กำหนดดูเวทนา กำหนดดูจิต กำหนดดูธรรม ในภายใน ในภายนอก ทั้งภายในและภายนอก ดั่งนี้
ภิกษุรูปนั้นได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้ว ก็ได้หลีกออกไปปฏิบัติอยู่ผู้เดียวตามพระพุทธโอวาท ก็ได้บรรลุถึงธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา คือเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น พระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนไว้โดยย่อนี้ จึงถือเป็นหลักปฏิบัติ ของผู้ปฏิบัติธรรมะทั้งหลายได้
ข้อแรกก็คือ ปฏิบัติเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลายหรือในกุศลธรรมทั้งหลายให้บริสุทธิ์ คือปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ดี และทำความเห็นให้ตรง การปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ดีนั้น ก็ต้องรักษาศีลให้ถึงใจ ไม่ให้ใจคิดล่วงละเมิด แม้ว่าจะไม่ทำทางกายทางวาจา การไม่ละเมิดศีลทางกายทางวาจานั้น ศีลก็ไม่ขาด แต่ว่าถ้าใจยังละเมิดอยู่ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ดี แม้ว่าจะไม่ขาดก็ไม่บริสุทธิ์ดี เพราะฉะนั้น จึงต้องรักษาจิตใจนี้ ไม่คิดละเมิด ด้วยทำจิตใจให้สงบ เป็นปรกติ เป็นจิตใจอันประกอบด้วยความสำรวม โดยมีสติสำรวมระวังอยู่เสมอ ดั่งนี้ ศีลจึงจะบริสุทธิ์ ดี
และข้อสองคือ ทำความเห็นให้ตรงคือให้ถูกตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต่อคลองธรรม ไม่ทำความเห็นนอกทางแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านอกคลองธรรม ข้อนี้เป็นข้อสำคัญคู่กันไปกับทำศีลให้บริสุทธิ์ดี และทั้ง ๒ ข้อนี้เองที่ตรัสว่าเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย หรือในกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าหากว่าไม่มี ๒ ข้อที่เป็นเบื้องต้นนี้ ท่ามกลางและที่สุดของกุศลธรรมทั้งหลาย หรือในกุศล ธรรมทั้งหลายก็มีขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมี ๒ ข้อนี้เป็นเบื้องต้น
การที่มาปฏิบัติรักษาศีลเป็นคฤหัสถ์ก็ดี เป็นบรรพชิตคือผู้บวชก็ดี จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ดี ก็เป็นการมาปฏิบัติเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายข้อที่ ๑ ซึ่งการปฏิบัติในศีลนี้ ก็พึงปฏิบัติให้บริสุทธิ์ดี คือให้ถึงจิตใจ ให้จิตใจเป็นศีลดังกล่าวการที่มาเล่าเรียน สดับตรับฟังคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาก็ดี อ่านหนังสือพระพุทธศาสนาก็ดี ก็เพื่อที่จะให้มีความรู้ความเห็นตรง คือถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเอง และอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าถูกต้องตามคลองธรรมเพราะพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนตามคลองธรรม คือทรงสั่งสอนความจริงตามเหตุและผล หรือเหตุผลตามความเป็นจริง เช่นให้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักสัจจะคือความจริงที่ยิ่งๆ ขึ้นไป จนถึงในอริยสัจจ์ทั้ง ๔
และอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ก็ได้ตรัสไว้ว่า เป็นที่รวมของกุศลธรรมทั้งสิ้นที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอน เมื่อทำความรู้ความเห็นให้ถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยปัญญา หรือด้วยญาณทัสนะความรู้ความเห็น ก็เป็นอันว่าได้ทำความเห็นให้ตรง แต่ว่าความเห็นตรงอันเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลายนี้ก็ไม่ได้มุ่งถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พึงถึงด้วยปัญญา หรือด้วยความรู้ความเห็นอันเป็นระดับสูง
แต่หมายถึงระดับที่เป็นสามัญรวมเข้าในเหตุผลที่เป็นสามัญนั้นเอง เช่นว่า เหตุผลทางกรรม คือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจ ที่เป็นอกุศล ที่เป็นกุศล หรือว่าที่เป็นบาปที่เป็นบุญ ที่เป็นคุณเป็นโทษ เป็นประโยชน์มิใช่ประโยชน์ กรรมที่กระทำทั้งปวงที่เป็นส่วนดีคือที่เป็นกุศล เป็นคุณเป็นประโยชน์ ก็ให้เกิดผลดี ส่วนที่เป็นอกุศลที่เป็นส่วนชั่ว เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ก็ให้ผลชั่ว (เริ่ม) และการปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้นในพุทธศาสนานั้น พึงปฏิบัติอย่างไร วิธีไหน ก็ต้องศึกษาให้มีความรู้ความเห็นให้ตรง ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตรงต่อคลองธรรม
ข้อว่าตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็คือพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้อย่างใด มีพระพุทธาธิบายคือความประสงค์หรือความหมายเป็นอย่างใด ก็รู้ตรงตามที่ทรงสั่งสอนไว้ ที่ว่าตามคลองธรรมนั้น ก็คือมีความรู้ความเห็นในศีล ตรงต่อศีลจริงๆ มีความรู้ความเห็นในสมาธิ ตรงต่อสมาธิจริงๆ มีความรู้ความเห็นในปัญญา ตรงต่อปัญญาจริงๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน หรือว่าตามพระพุทธาธิบาย การที่มาสดับตรับฟังคำสั่งสอน อ่านหนังสือธรรมะทั้งหลาย คิดพิจารณาความหมายของธรรมะทั้งหลาย ก็เพื่อให้มีความเห็นตรงดังที่กล่าวมานี้ เบื้องต้นนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะต้องปฏิบัติ แล้วจึงตรัสสอนให้อาศัยศีล ปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าว
และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ยังได้ตรัสแสดงไว้อีกว่า พึงปฏิบัติได้สำหรับบุถุชน สำหรับเสขะบุคคลซึ่งเป็นอัญญะบุคคล ตั้งแต่ขั้นโสดาบันขึ้นไปแต่ยังไม่ถึงเป็นพระอรหันต์ ตลอดจนถึงอเสขะบุคคลคือพระอรหันต์ทั้งหลาย ทุกจำพวกตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ สำหรับบุถุชนหรือสามัญชนที่ตรัสยกเป็นตัวอย่างเช่นภิกษุใหม่ที่มาบวชไม่นาน ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ทำจิตให้รวมมีอารมณ์อันเดียว เพื่อญาณคือความหยั่งรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม สำหรับอริยบุคคลที่ยังเป็นเสขะ คือเป็น โสดาบันบุคคล สกทาคามีบุคคล อนาคามีบุคคล ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อปริญญาคือทำความรู้รอบคอบ ใน กาย เวทนา จิต ธรรม ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตรัสว่าปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ พรากจิตออกจาก กาย เวทนา จิต ธรรม
จึงเป็นอันว่าสติปัฏฐานทั้ง๔ นี้เป็นข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น ที่เป็นสามัญชน หรือเป็นภิกษุผู้บวชเข้ามาใหม่ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ เป็นอริยบุคคลที่เป็นเสขะบุคคล ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ ที่เป็นอริยบุคคลขั้นอเสขะผู้เสร็จกิจเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ แต่ว่าเพื่อผลต่างกัน สำหรับสามัญชนก็เพื่อญาณคือความรู้กายเวทนาจิตธรรม เสขะบุคคลก็เพื่อปริญญากำหนดรู้กายเวทนาจิตธรรม หรือรู้รอบคอบกายเวทนาจิตธรรม อเสขะบุคคลก็เพื่อแยกจิตออกจากกายเวทนาจิตธรรม เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้จึงเป็นหลักปฏิบัติใหญ่ เป็นสมถกรรมฐานด้วย เป็นวิปัสสนากรรมฐานด้วย ต่อกันไป ที่เป็นสมถกรรมฐานนั้นก็คือปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ กำหนดกายเวทนาจิตธรรม ที่เป็นวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็คือทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกายเวทนาจิตธรรม ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสติเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ หรือเรียกว่าสตินำหน้า เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสติปัฏฐาน
การจะทำสมาธิก็ต้องอาศัยสติการจะทำวิปัสสนาก็ต้องอาศัยสติ เพราะฉะนั้น จึงได้เรียกว่าสติปัฏฐานที่ได้เคยแสดงแล้วว่า แปลกันง่ายๆ ว่าตั้งสติ อย่างหนึ่ง สติตั้ง อีกอย่างหนึ่ง ในขั้นปฏิบัตินั้นแปลว่า ตั้งสติ และเมื่อปฏิบัติจนตั้งสติได้ก็แปลว่า สติตั้ง ที่แปลว่า ตั้งสติ นั้นเป็นขั้นปฏิบัติ ที่แปลว่า สติตั้ง นั้นเป็นขั้นผลของการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้ก็รวมอยู่ที่กายและใจ หรือกายและจิตของทุกๆ คนนี้เอง รวมเข้าก็คือตัวอัตภาพอันนี้ และที่เรียกว่าอัตภาพนี้ก็เรียกตามสมมติบัญญัติ คือกายและใจของทุกๆ คนนี้ ก็สมมติบัญญัติว่าเป็นอัตตาตัวตน หรือเรียกว่าอัตภาวะหรืออัตภาพที่แปลว่าเป็นอัตตาตัวตน ภาวะก็แปลว่าความมีความเป็น เมื่อมารวมอัตตาเป็นอัตภาพ ก็แปลว่าเป็นอัตตาตัวตน และก็เรียกอีกอย่างหนึ่งตามที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา
อันอัตภาพซึ่งเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเราดังกล่าวนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสจำแนกแจกแจงออกไปหลายนัยยะ เช่น จำแนกแจกแจงออกไปเป็นขันธ์ ๕ จำแนกแจกแจงออกไปเป็นอายตนะ ๖ จำแนกแจกแจงออกไปเป็นธาตุ ๑๘ จำแนกแจกแจงออกไปย่อขันธ์ ๕ เป็นนามรูป จำแนกแจกแจงออกไปเป็นสติปัฏฐาน ๔ คือที่ตั้งของสติทั้ง ๔ กายเวทนาจิตธรรม ตามควรแก่การที่จะเป็นกรรมฐาน สำหรับเป็นที่ตั้งสติ เป็นที่ตั้งสมาธิ หรือเป็นที่ตั้งของปัญญาที่จะพิจารณา แต่อันที่จริงนั้นทั้งหมดนี้ก็รวมเข้าเป็นสมมติบัญญัติที่ว่าอัตภาพ ตัวเราของเรานี่แหละทั้งหมด
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป