แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า ภควาในความหมายว่า ผู้จำแนกแจกธรรม นำ พระบรมศาสดาได้ทรงจำแนกแจกธรรมอันเป็นปริยัติ และปฏิบัติ ซึ่งได้แสดงมาโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ซึ่งมุ่งทางปฏิบัติ ทางปัญญา หรือทางวิปัสสนา ดังที่เรียกว่าวิปัสสนาญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ อันเป็นเหตุเห็นแจ้งเห็นจริง วิปัสสนาญาณนี้เป็นปัญญาสิกขา ซึ่งเป็นยอดของสิกขาทั้ง ๓
ปริยัติ เบื้องต้นของปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมะเมื่อปฏิบัติให้ถึงปัญญาจึงจะเห็นธรรม คือสัจจะความจริงของจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็โดยมี ปริยัติ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นแหละเป็นเครื่องนำ เพราะฉะนั้นคำว่า ปริยัติ นี้จึงต้องเป็นเบื้องต้นของ ปฏิบัติ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นปริยัติทั้งนั้น แต่ว่าเป็นพุทธปริยัติ คือปริยัติของพระพุทธเจ้า และแม้คำสั่งสอนของพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ท่านได้จำทรงบอกกล่าวสั่งสอนกันสืบมา จนถึงได้จารึกลงเป็นตัวอักษรเป็นหลักฐาน และก็เล่าเรียนบอกกล่าวสั่งสอนกันต่อมา ก็เป็นปริยัติทั้งนั้น และก็นับว่าเป็นพุทธปริยัติ
สัทธรรมปฏิรูป
เว้นไว้แต่ว่าผู้ที่บอกกล่าวสั่งสอนกันต่อมานั้นบอกกล่าวสั่งสอนผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ไม่ชื่อว่าพุทธปริยัติ แต่ว่าเป็นคำสั่งสอนที่เรียกว่ากล่าวตู่พระพุทธวัจนะ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้ ก็อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ดั่งนี้ก็ไม่ใช่เป็นพุทธปริยัติ เป็นสัทธรรมปฏิรูป สัทธรรมปลอม
และแม้ว่าจะไม่อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแต่ครูอาจารย์ที่สั่งสอนกัน กล่าวสั่งสอนหรืออธิบายผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่ไปตามคลองธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ชื่อว่าเป็นพุทธปริยัติเหมือนกัน เป็นความเห็นของอาจารย์นั้นๆ เอง ไม่ใช่เป็นพุทธปริยัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะฉะนั้น ท่านที่มีความเคร่งครัดต่อความที่จะกล่าวผิดไปจากพระพุทธวัจนะ จึงต้องอ้างพระพุทธวัจนะว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ๆ อันมีที่มาจากสัตถุศาสน์ ซึ่งบัดนี้ก็จารึกเป็นตัวอักษรคือพระไตรปิฎก อันเป็นที่รับรองนับถือกันทั่วไป ที่จะต้องมีที่อ้างพระพุทธวัจนะจากพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้นธรรมเนียมที่พระเทศน์จึงต้องมีบทอุเทศคือเป็นพระพุทธภาษิต หรือสาวกภาษิต เป็นบาลี ตั้งนโมสามจบ แล้วก็ยกเอาพุทธภาษิต หรือสาวกภาษิต อันรวมเรียกว่าพุทธศาสนสุภาษิตเป็นบาลีขึ้นเป็นบทอุเทศ คือเป็นหัวข้อแล้วก็แสดงไป อันเป็นเครื่องแสดงว่าพระผู้แสดงนั้นไม่ได้ว่าเอาเองแต่ว่าเป็นการแสดงอธิบายตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และก็ต้องระวังไม่ให้ออกนอกทาง พระพุทธาธิบายคือความประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนไว้นั้น และเมื่อได้มีพระพุทธภาษิตเป็นที่อ้างอิงแน่นอนซึ่งผู้ฟังผู้ศึกษาได้ทราบ แม้ว่าผู้อธิบายจะอธิบายผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่หัวข้อที่ตั้งไว้นั้นเป็นหลัก อันทำให้ผู้รู้ที่ใคร่ครวญก็สามารถจะรู้ได้ ว่าอธิบายไปผิดถูกอย่างไร เพราะมีธรรมะที่เป็นแม่บทตั้งอยู่ข้างหน้า เป็นแนวให้ผู้ที่มีปัญญาใคร่ครวญรู้ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อยังอิงพระพุทธวัจนะพุทธศาสนสุภาษิตอยู่เป็นหลัก โดยที่ยกออกมาให้ปรากฏแก่ผู้ฟัง และผู้แสดงก็แสดงไป ก็ย่อมจะยังพอรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงเป็นความถูกต้องอยู่ได้ แต่ว่าถ้าจะทิ้งเสียหมด ไม่มีอ้างอิงพระพุทธวัจนะหรือพุทธศาสนสุภาษิต และแสดงอธิบายไปๆ ตามอัตโนมัติ คือตามความรู้ความเห็นของตนแต่อย่างเดียว ถ้าหากว่าถูกก็ถูกไป ถ้าว่าผิดก็ทำให้เป็นสัทธรรมปฏิรูปขึ้นโดยที่ผู้แสดงไม่จงใจก็ได้ แต่ว่าเพราะรู้เห็นมาอย่างนี้ ก็แสดงไปอย่างนี้ๆ ถ้าหากว่ารู้เห็นถูกก็ถูก ถ้ารู้เห็นผิดก็ผิด เพราะฉะนั้นพระเถระผู้ที่เคร่งครัดมาตั้งแต่อดีต ท่านจึงประหยัดตนในข้อนี้ ต้องพึ่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ในการแสดง อ้างเอาพระพุทธวัจนะ เป็นหลักฐานยืนยันอยู่ตลอดมา
เพราะฉะนั้นการที่อ้างนั้นจะว่าเป็นปริยัติก็เป็นปริยัติ แล้วก็เป็นปริยัติจริงๆ เป็นพุทธปริยัติ และแม้คำสั่งสอนของใครๆ ที่สั่งสอน เมื่อเป็นวาจาออกมาก็เป็นปริยัติทั้งนั้น แต่ว่าขอให้เป็นพุทธปริยัติ หรือว่าเป็นพุทธศาสนปริยัติ อย่าให้เป็นนอกศาสนา เป็นสัทธรรมปฏิรูป ก็ใช้ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาให้รู้จักพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอรรถะคือเนื้อความ ให้เข้าใจธรรมะคือข้อธรรมอันถูกต้องจึงเป็นข้อสำคัญ จะทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นธรรมานุธรรมะปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติไม่ผิดไปจากพุทธปริยัติดังกล่าว
วิปัสสนาญาณ
(เริ่ม) วิปัสสนาญาณนี้เป็นจุดหมายอันสำคัญที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ให้ถึง น้อยหรือมาก พระพุทธเจ้าก็ได้จำแนกแจกธรรม คือทางแสดงทางปฏิบัติ เพื่อที่จะให้ได้วิปัสสนาญาณดังกล่าวนี้ ดังที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ โดยอ้างเอาพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ถึง ไม่พะวงคิดถึงธรรมะที่เป็นอดีต ไม่หวังถึงธรรมะที่เป็นอนาคต เห็นแจ้งปัจจุบันธรรมในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ เป็นการปฏิบัติหักกิเลสดับกิเลส หักใจหรือดับใจ ดับตัวเรา ดับนามรูป ที่เป็นส่วนอดีต ที่เป็นส่วนอนาคต เห็นปัจจุบันธรรมเป็นอนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการดับกิเลสดับใจในปัจจุบันธรรม
พระพุทธภาษิตที่อ้างและอธิบายมาโดยสังเขปโดยยกเอาเรื่องดับกิเลสดับใจเข้ามารวมอยู่ ก็โดยที่ได้ยกเอาจากพระพุทธพยากรณ์ปัญหาของอชิตะมานพที่ตรัสสอนโดยความที่ว่า เพราะดับวิญญาณ ที่ใช้เรียกในภาษาไทยง่ายๆ ว่าดับใจได้ ก็ดับนามรูปได้ ทั้งดับสติปัญญาที่ปฏิบัติเพื่อดับใจนั้นได้ด้วย ในข้อนั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติอันเดียวกัน
ผู้มีราตรีอันเจริญ
และเรื่องไม่หน่วงถึงอดีตไม่หวังถึงอนาคตนั้นก็เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้ เรียกว่า ภัทเทกรัตตสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยมีราตรีเดียวอันเจริญ พระสูตรนี้เป็นคาถาพุทธภาษิตไม่ยาวนักและถือว่าเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น จึงจะยกเอาพระคาถานี้มาแปลให้ฟัง ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ นั้น อันเป็นที่นับถือว่าเป็นพุทธภาษิตว่าอย่างไร ได้ตรัสไว้ว่า
อตีตํ นานฺวาคเมยฺย ไม่พึงพะวงถึง หน่วงเหนี่ยวใจถึง ธรรมะหรือส่วนที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว
นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ ไม่หวังถึงธรรมะหรือส่วนที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ ส่วนที่เป็นอดีตก็ล่วงไปแล้ว
อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง
ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ส่วนปัจจุบันธรรมคือธรรมะ หรือส่วนที่เป็นปัจจุบัน
ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ เห็นแจ้งในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ
อสํหิรํ อสงฺกุปฺปํ ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน
ตํ วิทฺธา มนุพฺรูหเย พึงเจาะแทงปัจจุบันธรรมนั้น พอกพูนความเจาะแทงนั้น
อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ ความเพียรพึงเร่งรีบกระทำในวันนี้ทีเดียว
โก ชญฺญา มรณํ สุเว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาแต่วันพรุ่งนี้
น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา ความผัดเพี้ยนด้วยความตาย อันมีเสนาใหญ่มิได้เลย
เอวํวิหาริมาตาปึ ผู้ที่มีความเพียรไม่ย่อหย่อนอยู่อย่างนี้
อโหรตฺตมตนฺทิตํ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ตํ เว ภทฺเทกรตฺโตติ สนฺโต อาจิกฺขเต มุนี พระมุนีเรียกผู้ที่มีความเพียรไม่ย่อหย่อนนั้นว่าเป็นผู้สงบ เป็นผู้ที่มีราตรีเดียวเจริญ ดั่งนี้
นี้เป็นพระพุทธภาษิตที่เป็นคาถาซึ่งบรรจุถ้อยคำไม่มากแต่ว่าแสดงแนวปฏิบัติเป็นอย่างดียิ่ง และเพราะเหตุที่แนวปฏิบัติที่แสดงไว้ในพระพุทธภาษิตนี้ เมื่อปฏิบัติไปตามนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่มีความเจริญใจตลอดราตรี ซึ่งมีความหมายว่าตลอดทั้งกลางวันกลางคืนนั่นแหละ เพราะว่าจิตใจนี้เมื่อมิได้อบรมตามพระพุทธภาษิตนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่ประกอบไปด้วยอกุศลวิตกต่างๆ หน่วงเหนี่ยวถึงอดีตบ้าง หวังถึงอนาคตบ้างง่อนแง่นคลอนแคลน ยินดียินร้ายอยู่ในปัจจุบันธรรมบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นจิตใจที่กระสับกระส่ายวุ่นวายไม่สงบ มีทุกข์อยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน แต่ถ้าปฏิบัติตามพระพุทธภาษิตนี้ดับหรือหักกิเลส ดับหรือหักใจในส่วนที่เป็นอดีต ในส่วนที่เป็นอนาคต และในส่วนที่เป็นปัจจุบันได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบ มีจิตใจมีความสุข ตลอดวันตลอดคืน
ยกเอากลางคืนขึ้นเป็นที่ตั้งก็แปลว่าทั้งคืนก็จะมีจิตใจที่สงบ มีสุขอยู่ตลอด ทั้งปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม แปลว่าตลอดราตรีจิตใจเป็นจิตใจที่เจริญ ด้วยความสุขอันเกิดจากความสงบเป็นอันเดียวกันหมด เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ภัทเทกรัตตสูตรเป็นพระสูตรที่ตรัสสอนทางปฏิบัติ ที่จะให้มีความสุขอันเกิดจากความสงบอยู่ตลอดคืนตลอดวัน หรือยกเอาราตรีขึ้นมาก็ตลอดราตรี
อำนาจของฉันทราคะ
พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงตรัสแสดงอธิบายพระอานนท์ก็ได้แสดงอธิบายตามที่ได้ยกมาแสดงอธิบายไว้ในครั้งก่อนๆ นั้นแล้ว และท่านพระมหากัจจายนะก็ได้แสดงอธิบาย ซึ่งท่านเน้นอยู่ที่วิญญาณคือใจ ซึ่งมีปฏิพัทธ์คือความผูกพันด้วยอำนาจของฉันทะราคะ ความพอใจยินดีติดอยู่ หากว่ามีปฏิพัทธ์ คือใจมีปฏิพัทธ์อยู่ใน ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่ถูกต้อง มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราว อันเป็นส่วนอดีต คือล่วงไปแล้ว ก็ย่อมจะมีความอภินันท์ ยินดีเพลิดเพลินอยู่ในส่วนที่เป็นอดีตนั้น หากมีปฏิพัทธ์อยู่ในตากับรูปเป็นต้น อันเป็นส่วนอนาคต ด้วยหวังที่จะได้ในส่วนที่ยังไม่ได้ ก็ย่อมที่จะมีอภินันท์เพลิดเพลินไปในส่วนที่เป็นอนาคตนั้น ในปัจจุบัน ก็คือตากับรูปเป็นต้น ที่เป็นปัจจุบัน หากว่าจิตมีปฏิพัทธ์ ก็ย่อมจะมีอภินันท์ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในส่วนที่เป็นปัจจุบันนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยังง่อนแง่นคลอนแคลน
เพราะฉะนั้นก็ต้องดับใจที่เป็นปฏิพัทธ์ในส่วนที่เป็นอดีต ในส่วนที่เป็นอนาคต และแม้ส่วนที่เป็นปัจจุบัน จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ก็จะต้องทำสติคือความกำหนด ปัญญาคือความรู้ ให้รู้จักอดีตว่าล่วงไปแล้ว ให้รู้จักอนาคตว่ายังไม่มาถึง และให้รู้จักปัจจุบันว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยงทุกขะ เป็นทุกข์อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน โดยเจาะแทงตัวเราลงไปให้เห็นนามรูปให้เห็นขันธ์ ให้เห็นอายตนะ ว่าเป็นสักแต่ว่านามรูป สักแต่ว่าเป็นขันธ์เป็นอายตนะ เป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นอนัตตา
เมื่อเป็นดั่งนี้วิปัสสนาญาณจึงจะปรากฏเป็นความหยั่งรู้ถึงไตรลักษณ์ เป็นความเห็นแจ้งในไตรลักษณ์ เมื่อวิปัสสนาญาณปรากฏขึ้น ใจอันประกอบด้วยปฏิพัทธ์ก็ดับ ตัวปฏิพัทธ์ก็ดับ ตัวเราและนามรูปในเรื่องนั้นก็ดับ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยปัญญา พร้อมทั้งสติ คือสติปัญญาที่เป็นข้อปฏิบัติเพื่อที่จะให้ได้วิปัสสนาญาณอันเป็นความเห็นแจ้ง และเมื่อได้วิปัสสนาญาณขึ้นมา กิเลสก็ดับ ใจนั้นก็ดับ นามรูปนั้นก็ดับ ก็จะได้วิชชาวิมุติอันเป็นความรู้พ้น และจะได้ปัญญาที่เป็นวิชชาวิมุติสืบต่อไป
เพราะฉะนั้นปัญญานั้นจึงมีปัญญาหน้า ปัญญาหลัง มีปัญญาที่สืบต่อไป ปัญญาหน้านั้นก็คือปัญญาเพื่อที่จะได้ตัววิปัสสนาญาณ เพื่อที่จะดับ เพื่อที่จะหักดังกล่าว และเมื่อหักดับได้แล้วก็ได้ปัญญาที่เป็นตัววิชชาวิมุติรู้พ้น และเมื่อได้ปัญญาที่เป็นวิมุติรู้พ้นก็ได้ปัญญาที่เป็นตัวรู้สืบต่อไป เมื่อว่าอย่างสูง ปัญญาหน้านั้นก็เป็นปัญญาที่เป็นมรรค ปัญญาหลังก็เป็นปัญญาที่เป็นผล ปัญญาที่สืบต่อไปก็เป็นนิพพาน เปรียบเหมือนอย่างว่า การเรียนหนังสือเพื่อให้อ่านหนังสือออก นั่นเป็นปัญญาหน้า เมื่ออ่านหนังสือออก อ่านหนังสือได้ก็เป็นปัญญาหลัง และเมื่อได้ปัญญาหลังคืออ่านหนังสือออก ก็อ่านได้ตลอดไป นั่นเป็นปัญญาที่เป็นนิพพาน
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป