แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
การอบรมจิตได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเรียกว่าจิตตภาวนา ที่แปลว่าอบรมจิต คำว่าภาวนาก็ใช้กันในภาษาไทย เช่นพูดกันว่า ทำภาวนาทางจิตใจ บางทีก็หมายถึงการที่ใช้ถ้อยคำสำหรับภาวนา เช่นภาวนาว่าพุทโธ ภาวนาว่าอรหัง ซึ่งพูดหมายถึงว่ากำหนดคำว่าอรหังหรือพุทโธไว้ในใจ กำหนดอยู่ว่าพุทโธว่าอรหังเป็นต้น ก็เป็นภาวนา หรือเปล่งเป็นวาจาเบาๆ ว่า พุทโธ หรือว่า อรหัง ก็เรียกกันว่าภาวนาในภาษาไทย
ความหมายของคำว่าภาวนา
แต่สำหรับในภาษาธรรมะนั้นคำว่าภาวนาแปลว่าการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น เช่นว่าทำศีลให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา ทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา ทำปัญญาให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา คำว่าทำให้มีขึ้น ก็คือให้มีศีลขึ้น ให้มีสมาธิขึ้น ให้มีปัญญาขึ้น คำว่าทำให้เป็นก็คือทำให้เป็นศีลขึ้นให้เป็นสมาธิขึ้น ให้เป็นปัญญาขึ้น ก็คือการปฏิบัตินั้นเอง การปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดั่งนี้เรียกว่าภาวนา
ส่วนการกำหนดว่าพุทโธว่าอรหังเป็นต้นหรือการเปล่งวาจาเบาๆ ว่าพุทโธว่าอรหังเป็นต้นนั้น ก็มีคำเรียกว่าบริกรรม ซึ่งเป็นการปฏิบัติเบื้องต้น คำว่าบริกรรมนี้ บัดนี้ในภาษาไทยมาใช้ว่าบริการ โดยความก็คล้ายๆ กับบริกรรมนั่นแหละ การกำหนดใจ หรือการเปล่งวาจาเบาๆ ดังกล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ จึงเรียกว่าบริกรรมภาวนา คือการปฏิบัติที่จะทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นดังกล่าวนั้นในขั้นบริกรรม คือในขั้นปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งอาศัยความกำหนดใจ หรือแม้การเปล่งวาจาเบาๆ นี้เป็นเรื่องของถ้อยคำ
จิตตภาวนาการอบรมจิตการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นในจิต พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้โดยใจความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง แต่ว่าเศร้าหมองไปด้วยอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา จิตนี้วิมุติคือหลุดพ้นจากอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามาได้ ด้วยอาศัยจิตตภาวนาคือการปฏิบัติอบรมจิต
ฉะนั้นตามพระพุทธภาษิตนี้จึงเป็นอันตรัสแสดงถึงเรื่องจิต อันเป็นสิ่งสำคัญที่มีอยู่ในทุกๆ คน ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง ดังที่ได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นนี้จึงควรทำความเข้าใจว่า การปฏิบัติทำจิตตภาวนา คืออบรมจิตให้วิมุติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตที่จรเข้ามานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ก็เพราะว่า อันเครื่องเศร้าหมองที่ทำให้จิตเศร้าหมอง อันเรียกว่ากิเลสไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปลอมเข้ามาสู่จิต เหมือนอย่างเป็นอาคันตุกะคือเป็นแขก คือผู้ที่มาหา ไม่ใช่เป็นตัวเจ้าของบ้าน แต่ว่าแขกที่เข้ามาหา ซึ่งเป็นอาคันตุกะคือผู้จรมานี้ เมื่อจรเข้ามาสู่จิต อาศัยอยู่ในจิต ก็ทำจิตให้เศร้าหมอง จิตที่มีธรรมชาติปภัสสร ก็กลายเป็นจิตที่เศร้าหมอง
อุปกิเลส
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปกิเลส ที่ใช้ว่ากิเลสที่จรเข้ามา เพื่อให้เป็นที่เข้าใจว่ากิเลสนั้นเป็นอาคันตุกะ คือเป็นผู้ที่จรเข้ามา เป็นสิ่งที่จรเข้ามาสู่จิต ไม่ใช่เป็นเจ้าของจิต เป็นเนื้อแท้ของจิต ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อทำภาวนาคือการอบรมจิต จึงวิมุติหลุดพ้น จากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามานั้นได้ ข้อนี้เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติพุทธศาสนาที่ทุกคนควรจะทำความเข้าใจดังที่ตรัสไว้ เพราะว่าถ้ากิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่อยู่ในจิตทั้งหลายเป็นเนื้อแท้ของจิต เป็นธรรมชาติของจิตแล้วก็ไม่สามารถที่จะละได้ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้หลุดพ้นได้ แต่เพราะเหตุที่ว่าไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ ไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต แต่ว่าเป็นอาคันตุกะ คือเป็นผู้ที่จรเข้ามา เป็นสิ่งที่จรเข้ามา จึงละได้ ชำระได้ หลุดพ้นได้ คือหมายความว่าปฏิบัติทำจิตนี้ให้หลุดพ้นได้ ดั่งนี้
สมถะ วิปัสสนา
วิธีปฏิบัติอบรมจิตนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อ ก็ได้แก่วิธีปฏิบัติที่เรียกว่าสมาธิ กับวิธีปฏิบัติที่เรียกปัญญา สมาธินี้คือความตั้งมั่นของจิต ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ตามเหตุผล ตามเป็นจริง หรือความรู้ทั่วถึงความจริงตามเหตุผล สมาธิและปัญญานี้เป็นวิธีอบรมจิต อันเรียกว่าจิตตภาวนา แต่ก็มีคำเรียกที่ต่างออกไป เช่นเรียกว่า สมถะ วิปัสสนา สมถะก็คือวิธีปฏิบัติทำจิตให้สงบ วิปัสสนาก็คือวิธีปฏิบัติทำจิตให้รู้แจ้งเห็นจริง สมถะกับสมาธิก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน วิปัสสนากับปัญญาก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน
อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าสัญมะ คือวิธีสำรวมระวัง ทมะ คือวิธีข่ม สัญมะวิธีสำรวมระวังนั้น ก็เนื่องถึงสติที่สำรวมระวังจิตใจ ก็มีความหมายถึงมีสติสำรวมระวังจิตใจ เพื่อให้จิตใจสงบ ซึ่งเรียกว่าสมถะ หรือว่าให้จิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ฉะนั้น สัญมะคือวิธีสำรวมระวังจิตใจด้วยสติเพื่อให้สงบ เพื่อให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ จึงมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน ทมะ ข่มก็คือวิธีข่มใจ ก็หมายถึงว่าข่มใจ ฝึกใจด้วยปัญญานั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายถึงการปฏิบัติในขั้นปัญญา หรือขั้นวิปัสสนา จึงเป็นพวกเดียวกันชั้นเดียวกัน
สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา
จิตภาวนาวิธีอบรมจิตดังกล่าวนี้จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น เหมือนอย่างเป็นพื้นดินสำหรับรองรับสัตว์บุคคลทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน ฉันใดก็ดี ศีลก็เป็นภาคพื้น เป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น คือที่จะปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดังที่กล่าวมา เพราะฉะนั้น การปฏิบัติพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว จึงต้องมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันเรียกว่า ไตรสิกขา คือข้อที่พึงศึกษา ๓ ประการ หรือว่าการศึกษา ๓ ประการ
(เริ่ม) สิกขา เป็นภาษาบาลี ศึกษามาจากภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา มาเป็นภาษาไทยว่า ศึกษา อันมีความหมายรวมทั้งการเรียน ทั้งการปฏิบัติ ยังไม่รู้ก็เรียนให้รู้ ยังไม่ปฏิบัติก็ปฏิบัติ คือว่าเริ่มตั้งแต่เรียนให้รู้ และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติ รวมเข้าในคำว่า ศึกษาในทางพุทธศาสนา มิได้มีความหมายว่าเล่าเรียนอย่างเดียว ดังที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย สีลสิกขา ศึกษาในศีล ก็คือเรียนให้รู้จักศีล และปฏิบัติในศีล ทำศีลให้มีขึ้นมาให้เป็นขึ้นมา
จิตตสิกขา ศึกษาจิต ก็คือเรียนให้รู้จักวิธีปฏิบัติอบรมจิต และก็ปฏิบัติอบรมจิต ซึ่งในขั้นนี้มีความหมายแค่ให้จิตเป็นสมาธิ หรือให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปัญญาสิกขา ศึกษาในปัญญา ก็เรียนให้รู้จักวิธีปฏิบัติอบรมปัญญา และก็ปฏิบัติอบรมปัญญาให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา
เมื่อเรียกว่าสิกขาในข้อสมาธิ ไม่เรียกว่าสมาธิสิกขา แต่เรียกว่าจิตตสิกขา ซึ่งก็มีความหมายจำเพาะการปฏิบัติในขั้นสมาธิดังที่กล่าวมาแล้ว สิกขาทั้งสามนี้เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ สำหรับเป็นข้อปฏิบัติกล่าวโดยย่อ และก็ได้ตรัสเอาไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติกันเรื่อยไป จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด จึงจะเป็นอันว่าจบสิกขา หรือว่าจบศึกษา
การศึกษาในทางโลกนั้นก็มีกำหนดชั้นว่าจบชั้นนั้นชั้นนี้เช่นจบประถมศึกษา จบมัธยมศึกษา จบอุดมศึกษา ในทางพระพุทธศาสนานั้นการศึกษาก็มีจบ แต่ว่าจบศึกษาของพุทธศาสนานั้น จบในเมื่อปฏิบัติในไตรสิกขาดังกล่าวจนบรรลุวิมุติ คือความหลุดพ้นจากกิเลส และกองทุกข์ทั้งสิ้น ดังที่กล่าวว่าบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเอง และเมื่อได้บรรลุวิมุติคือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นแล้ว จึงเรียกว่าจบศึกษา
เนวเสขานาเสขะ เสขะ อเสขะ
เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงได้มีการแบ่งผู้ศึกษาไว้ดั่งนี้ คือผู้ที่ปฏิบัติพุทธศาสนา ปฏิบัติในไตรสิกขาโดยย่อดังกล่าวมา ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ แต่ว่ายังไม่บรรลุมรรคผล ตั้งแต่ในขั้นต้นเรียกว่า เนวเสขานาเสขะ คือเป็นผู้ศึกษาก็มิใช่ เป็นผู้ที่ไม่ศึกษาคือจบศึกษาแล้วก็มิใช่ คือยังไม่จัดว่าเป็น เสขะ ผู้ศึกษา หรือนักศึกษา สำหรับจบนั้นยังไม่ต้องพูด แต่ว่าชื่อที่เรียกก็กล่าวรวมเข้ามาด้วยว่าเป็น เสขะ คือผู้ศึกษาก็ไม่ใช่ เป็น อเสขะ คือผู้ไม่ศึกษา คือจบศึกษาก็ไม่ใช่ และเมื่อได้ปฏิบัติไปจนบรรลุมรรคผลตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคก็เรียกว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ศึกษาหรือเป็นนักศึกษา เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วจึงจะเรียกว่า อเสขะ ผู้ที่มิใช่ศึกษา คือเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว และก็เรียกว่าเป็นผู้ที่เสร็จกิจ คือได้มีกรณียะคือกิจที่พึงทำ เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ อันได้ทำเสร็จแล้ว จึงเป็นผู้ที่เสร็จกิจที่จะพึงกระทำเพื่อละกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็นผู้จบศึกษา
ขีณาสวะ
เพราะฉะนั้นการจบศึกษาในพุทธศาสนานั้น จึงกำหนดด้วยการที่ปฏิบัติในไตรสิกขาจนบรรลุวิมุติคือความหลุดพ้น จากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็น ขีณาสวะ คือเป็นผู้ที่มีอาสวะสิ้นแล้ว แต่ว่าก่อนที่จะได้จบศึกษาก็จะต้องศึกษาต้องเล่าเรียนให้รู้ และก็ต้องปฏิบัติกันอยู่เรื่อยๆ ขึ้นไป ยิ่งๆ ขึ้นไป แม้ว่าในขณะที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลเบื้องต้น ท่านจะไม่เรียกว่าเป็นผู้ศึกษา หรือเป็นนักศึกษาก็ตาม แต่ว่าก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่เริ่มปฏิบัติอยู่
ความหมายของคำว่าเสขะ
มาพิจารณาว่าทำไมท่านจึงไม่เรียกผู้ที่กำลังปฏิบัติอยู่แม้ว่าจะไม่บรรลุมรรคผลเบื้องต้นว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ศึกษาหรือเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ก็เพราะว่า คำว่าผู้ศึกษาหรือนักศึกษาอันเรียกว่า เสขะ ในพุทธศาสนานั้น จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติที่เข้าทางที่ชอบ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้ คือเข้าทางศีล เข้าทางสมาธิ เข้าทางปัญญา นั้นเอง ถ้าหากว่ายังปฏิบัติเข้าทางบ้างไม่เข้าทางบ้าง ก็ยังไม่ควรจะเรียกว่าเป็นผู้ศึกษา เป็นผู้ปฏิบัติ หรือเรียกว่าเป็นนักศึกษาพุทธศาสนา เพราะยังมีโอกาสที่ปฏิบัติไม่เข้าทางพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติไม่เข้าทางพุทธศาสนา จะเรียกว่าเป็นผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาหาได้ไม่
เนวเสขานาเสขะบุคคล
บรรดาผู้ที่ยังเป็นสามัญชนหรือเรียกว่าเป็นบุถุชนอยู่นั้น ก็ย่อมจะปฏิบัติเข้าทางบ้างไม่เข้าทางบ้าง ในขณะที่ได้มีสติ ได้มีปัญญา คอยระมัดระวัง คอยฝึก คอยข่มจิตใจอยู่ ก็ย่อมจะปฏิบัติเข้าทางศีล เข้าทางสมาธิ เข้าทางปัญญาในพุทธศาสนาได้ แต่ในขณะที่ขาดสติสำหรับที่จะระมัดระวัง ขาดปัญญาที่จะฝึกใจ ข่มใจของตนเอง ย่อมปฏิบัติออกนอกทางพุทธศาสนาได้ ยังประพฤติละเมิดศีลได้ ยังมีจิตใจเป็นไปตามอำนาจของกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง หรือยังเป็นไปตามอำนาจของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจของตนเอง ก็แปลว่าจิตใจออกนอกทาง ยังมีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากทำนองคลองธรรมได้
เพราะฉะนั้นในขณะที่เป็นดั่งนี้ก็เรียกว่าปฏิบัตินอกทางพุทธศาสนา นอกทางศีล นอกทางสมาธิ นอกทางปัญญา จึงไม่อาจจะเรียกว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติพุทธศาสนา เพราะข้อที่ปฏิบัตินั้นไม่เข้าทางพุทธศาสนา ไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า สามัญชนหรือที่เรียกว่าบุถุชนก็ย่อมเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ยอมเรียกว่าเป็น เสขะ ผู้ศึกษา หรือเป็นนักศึกษาพุทธศาสนา
โสดาบันบุคคล
ส่วนท่านที่ได้ปฏิบัติจนบรรลุถึงมรรคผลตั้งแต่เบื้องต้นดังที่ได้เรียกว่าเป็น โสดาบันบุคคล ที่แปลว่าเป็นผู้เข้าสู่กระแสธรรมแล้ว ย่อมจะมีความปฏิบัติไม่ออกนอกทางศีล และโดยเฉพาะก็คือศีล ๕
ศีล ๕ จะบังเกิดมีขึ้นเป็นธรรมชาติธรรมดา ของท่านผู้ที่มีจิตใจเข้ากระแสธรรมแล้ว ไม่มีที่จะคิดล่วงละเมิดศีล ๕ จิตใจที่จะคิดล่วงละเมิดศีล ๕ ก็ไม่มี ก็เป็นอันว่าความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เข้าศีล ๕ จิตใจก็เข้าศีล ๕ ไม่มีที่จะคิดละเมิดออกไป ความรู้ความเห็นก็ยืนยันรับรองในศีล ๕ ไม่มีความคิดที่จะละเมิด ไม่มีความรู้ความเห็นที่จะผิดออกไป เพราะฉะนั้น จึงได้เรียกว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ศึกษาเป็นนักศึกษาได้ เพราะว่าไม่มีที่จะปฏิบัติออกนอกทางศีล ทางสมาธิ ทางปัญญา ในขั้นตั้งแต่ขั้นศีล ๕ นี้ขึ้นไป และก็จะมุ่งหน้าโดยกระแสธรรมนี้จะนำไปสู่ภูมิชั้นที่สูงๆ ยิ่งขึ้นไป ไม่มีที่จะถอยหลังกลับ จึงเรียกว่า เสขะ คือเป็นผู้ที่ศึกษา หรือเป็นนักศึกษาในพุทธศาสนา
แต่ว่าก็ต้องเข้าใจว่าท่านแบ่งไว้ดั่งนี้แบ่งไว้ตามขั้นตอนของการปฏิบัติ ผู้ที่จะเป็น อเสขะ คือจบศึกษาก็จะต้องมาจาก เสขะ คือเป็นนักศึกษา หรือเป็นผู้ศึกษา ผู้ที่เป็น เสขะ นั้นเล่าก็จะต้องมาจากขั้นที่ยังไม่ใช่ เสขะ คือมิใช่นักศึกษา คือเป็นผู้ที่เริ่มต้น อย่างที่สามัญชนทั่วไปได้ปฏิบัติกันนี้แหละ ต้องเริ่มต้นขึ้นจากขั้นที่มิใช่ เสขะ และมิใช่ อเสขะ คือขั้นสามัญชนนี้เอง ต้องเริ่มต้นขึ้นจากในขั้นนี้ จะเรียกว่าในขั้นอนุบาล ในขั้นประถม ในขั้นมัธยมก็ได้ เพราะแม้ว่าในทางโลกเองที่เรียกว่านิสิต หรือเรียกว่านักศึกษานั้น ก็มาเรียกในขั้นมหาวิทยาลัย แต่ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่เรียกว่านักศึกษา ไม่เรียกว่านิสิต แต่เรียกว่านักเรียน นักเรียนอนุบาล นักเรียนประถม นักเรียนมัธยม มาเข้ามหาวิทยาลัยจึงจะเรียกว่านักศึกษา หรือเรียกว่านิสิต ฉันใดก็ดี ในทางพุทธศาสนานั้น ในขั้นที่ปฏิบัติกันเบื้องต้นนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นขั้นนักเรียน ต่อเมื่อบรรลุมรรคผลเบื้องต้นขึ้นไปจึงจะเรียกว่าเป็นนักศึกษา หรือผู้ศึกษา จนจบบรรลุวิมุติหลุดพ้น ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปในที่สุดแล้ว จึงจะจบศึกษา ก็อาจจะเทียบกันได้ดั่งนี้
เพราะฉะนั้น แม้ในขั้นที่เป็นนักเรียน ถึงจะยังไม่ถึงนักศึกษาก็เป็นขั้นต้นอันเป็นขั้นสำคัญ เพราะบรรดานักศึกษาทั้งหลายก็ต้องมาจากความเป็นนักเรียนก่อน และมาจากนักเรียนอนุบาล นักเรียนประถม นักเรียนมัธยม ดังที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติกันอยู่นี้เอง เพราะฉะนั้น ในขั้นที่เป็นนักเรียนนี้จึงเป็นขั้นสำคัญ อันจะนำไปสู่ขั้นสูงขึ้นไป ก็คือในขั้นที่จะต้องฝึกปฏิบัติ ในศีล ในสมาธิ และในปัญญา กันไปโดยลำดับนี้เอง
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป