แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า ภควา ในความหมายว่า ผู้มีการไป คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพทั้ง ๓ อันคายแล้ว คือว่าละได้แล้ว นำ พระพุทธคุณบทนี้มีความหมายอิงพยัญชนะ คือถ้อยคำของบทว่า ภควาอีกนัยยะหนึ่งดังกล่าว จึงนำให้ระลึกถึงจิตที่เป็นจิตเดิม เป็นธาตุรู้เดิม ที่เรียกว่าภวังคะจิต จิตที่เป็นองค์อวัยวะ หรือองค์ประกอบของภพ ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่าทุกคนมีกายและจิตประกอบกันอยู่ คือจิตที่เป็นธาตุรู้ ที่เป็นต้นเดิม ของความคิดความรู้ทั้งหลาย
และเพราะเหตุที่ธาตุรู้นี้ยังมาประกอบอยู่กับกายเริ่มแต่ ชาติ คือความเกิด จนถึง มรณะ คือความตาย ธาตุรู้ที่เป็นจิตเดิมนี้ หรือที่เป็นภวังคะจิตนี้ ก็เคลื่อนออกจากกายที่แตกสลายนี้ ไปถือภพชาติใหม่ ในเมื่อยังมีตัณหาคือกิเลส จึงยังมีการไป ไปในภพทั้งหลายที่เป็นกามภพบ้าง รูปภพบ้าง อรูปภพบ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อจิตนี้หรือเมื่อธาตุรู้นี้ยังมีกิเลส คืออาสวะกิเลสที่ดองจิต อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต จึงเป็นจิตที่มีชาติมีภพอยู่ในปัจจุบัน และจะมีชาติภพสืบต่อไป พระพุทธเจ้าได้ทรงละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากทั้งปวงได้ ละการไปคือตัณหาดังกล่าวได้ในภพทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงทรงสิ้นชาติสิ้นภพที่ได้ในบทว่าภควานี้ ที่แปลว่าผู้มีการไป คือตัณหาในภพทั้งหลาย อันคายเสียแล้ว คายได้แล้ว คือละได้แล้ว
ปฏิบัติธรรมก็เพื่อดับตัณหา
เพราะฉะนั้นจึงมาถึงการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงคาย คือละการไปคือตัณหาในภพทั้งหลายได้แล้ว ทรงสั่งสอนไว้ ก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติคาย คือละตัณหาอันเป็นเหตุให้ไปในภพทั้งหลายเสีย เพราะฉะนั้น จึงมาถึงการปฏิบัติทางจิตซึ่งได้กล่าวมาโดยลำดับ ว่าจะต้องปฏิบัติหักใจดับใจ หรือหักกิเลสดับกิเลส ด้วยการที่ดับตัวเรา ดับตัณหาอุปาทาน ดับนามรูป ที่ประกอบด้วยตัณหาอุปาทาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในจิตนี้เอง
เพราะเมื่อไม่ปฏิบัติดับตัณหาอุปาทานก็ก่อตัว เพิ่มเติมอาสวะอนุสัยในจิต ก่อตัวเราของเราให้ใหญ่โต เมื่อรวมเข้ามาทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่ใจนี้เอง ตัณหาอุปาทานก็อยู่ที่ใจ นามรูปก็อยู่ที่ใจ ตัวเราก็อยู่ที่ใจ และไปกับใจ และใจหรือจิตนี้ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า น้อมไปรู้รูปเรื่องทั้งหลาย หรืออารมณ์ทั้งหลาย เป็นนาม และรูปเรื่องทั้งหลายที่น้อมไปรู้นั้นก็คือรูป รวมอยู่ในคำว่ารูป แม้ว่าจะตั้งต้นมาจากรูปจริงๆ เช่นรูปที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน
แต่ว่าเมื่อมาตั้งอยู่ในใจ ก็มิใช่ว่าเอารูปเอาเสียงข้างนอกนั้นมาใส่ไว้ในใจ อันที่จริงเอารูปเรื่อง คือว่าเรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้นนั่นเอง คือเอาเรื่อง แต่เพื่อให้คำสัมพันธ์กันกับรูป จึงใช้คำว่ารูปเรื่อง ซึ่งคำว่ารูปนี้ใช้หมายถึงคำว่าเรื่อง หรือธรรมะที่เป็นชื่อ ไม่มีรูปสัณฐาน ที่ยืมเรียกว่านามธรรม อย่างเช่นปิยะรูป รูปเป็นที่รัก ก็หมายถึงตั้งแต่ที่เป็นรูปเสียงจริงๆ มาจนถึงนามธรรม อันหมายถึงว่าเป็นธรรมะที่ไม่มีรูป เช่นวิญญาณสัมผัสเป็นต้น จนถึง ตัณหา วิตก วิจาร เหล่านี้ก็เรียกว่า ปิยะรูป รูปเป็นที่รัก สาตะรูป รูปเป็นที่พอใจ ก็คือรูปเรื่องที่ตั้งขึ้นในใจนั้นเอง
ภวังคจิต วิถีจิต นามรูป
เพราะว่าการที่ใจหรือจิตนี้ จะคิดจะนึกจะรู้ในเรื่องอันใด เรื่องอันนั้นก็จะต้องปรากฏ เหมือนอย่างมีรูปร่างขึ้นในใจ เพราะฉะนั้นจึงเรียกเอาสิ่งที่ไม่ใช่รูปนี้ว่า เป็นรูปไปด้วย คือเป็นรูปเรื่องที่ตั้งขึ้นในใจ เป็นนิมิตคือเครื่องกำหนดอยู่ในใจ อันนี้เรียกว่า รูป นาม ก็คือความที่จิตที่เป็นตัวเดิมที่เป็นภวังคะจิตนั้น น้อมออกไปรู้รูปเรื่องทั้งปวงเหล่านี้ ความน้อมออกไปรู้ของจิตนี้ ก็ดังที่ได้เปรียบแล้วว่า เหมือนอย่างที่น้อมแขนออกไป คือเอื้อมแขนออกไปหยิบสิ่งนั้นสิ่งนี้ เสร็จแล้วก็นำแขนกลับเข้ามา จิตที่น้อมออกไปรู้รูปเรื่องทั้งหลายดังกล่าวนั้น ออกไปแล้วก็กลับเข้ามา เมื่อกลับเข้ามาก็มาเป็นภวังคะจิต และเมื่อน้อมออกไปก็เรียกว่าเป็นวิถีจิต จิตที่เป็นไปในวิถี คือในการเดินทางออกไปรู้รูปเรื่องต่างๆ และอาจจะพูดว่าความที่จิตน้อมออกไปรู้รูปเรื่องต่างๆ เป็นนามดั่งนี้ก็ยาว เรียกสั้นเข้ามาจึงเรียกว่าเป็นความรู้ความคิดต่างๆ ที่ทุกคนเมื่อคิดเมื่อรู้ก็ย่อมรู้ได้ด้วยตนเองว่าเรากำลังคิด เรากำลังรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพูดอย่างสั้นๆ เข้ามาก็คือตัวความรู้ความคิดนี่แหละเป็นนาม (เริ่ม)...และเมื่อมีความรู้ความคิดก็จะต้องมีว่ารู้ซึ่งอะไร คิดซึ่งเรื่องอะไร ก็เรื่องที่คิด เรื่องที่รู้ นั้นแหละคือรูป
เพราะนั้นนามรูปนี้เองจึงบังเกิดขึ้นอยู่ในจิตนี้แหละ อยู่ในใจนี่แหละ ทุกขณะไป และทุกเฉพาะเรื่อง ทุกเฉพาะเรื่องไป และเมื่อคิดรู้เรื่องอะไร ก็แปลว่าเกิด แล้วก็ดับไปในเรื่องนั้น ก็คิดรู้เรื่องอื่น เรื่องอื่นนั้นก็เกิดดับไปในเรื่องอื่นนั้น ก็เป็นไปอยู่ดังนี้ รวดเร็วมากเหมือนอย่างกังหัน ดั่งที่กล่าวแล้ว และกังหันนั้นเมื่อหมุนหมุนตั้งต้นไปจากไหน ก็หมุนกลับมาสู่ที่ตั้งต้นนั้น แล้วก็หมุนไปใหม่ แล้วก็กลับมาสู่ที่ตั้งต้นนั้น แต่ว่าหมุนเร็วมาก จนมองไม่เห็นซี่ของจังหัน จนทำให้จับได้ยากว่าตั้งต้นที่ไหน แต่อันที่จริงนั้นเมื่อหมุนไป ก็จะต้องหมุนกลับมาสู่ที่ตั้งต้นทุกคราวไป
นามรูป เกิดดับ
เพราะฉะนั้นตอนนี้แหละที่เรียกว่าเกิดดับ ก็คือว่าเมื่อหมุนออกไปจากที่ตั้งต้น เมื่อเริ่มก็เรียกว่าเกิด เมื่อหมุนกลับมาสู่ที่ตั้งต้นใหม่ก็เรียกว่าดับ และเริ่มจากจุดตั้งต้นไปอีกก็เรียกว่าเกิด กลับมาสู่ที่ตั้งต้นใหม่ก็เรียกว่าดับ เพราะฉะนั้น ตัวจังหันที่หมุนนั้นจึงมีเกิดดับๆ อยู่ดั่งนี้ แต่ว่าเพราะหมุนไปเร็วมาก มองไม่เห็นว่าตั้งต้นที่ไหน เหมือนอย่างว่าไม่มีการตั้งต้น เนื่องเป็นอันเดียวกันไปตลอด
อันนี้แหละที่ทำให้ไม่เห็นเกิดดับทั้งยังมีตัณหาอุปาทานเข้ามาบัง เพราะว่าเมื่อตัณหาอุปาทานมีอยู่ ตัวเราก็มี เพราะฉะนั้น จึงรู้สึกเหมือนอย่างว่าตัวเรานี้ตั้งอยู่ ไม่มีเกิดดับ เหมือนอย่างว่ากังหันนั้นหมุนอยู่ตลอดเป็นอันเดียวกัน ไม่มีการเกิดดับของๆ จังหันในรอบหนึ่งๆ เป็นตัวจังหันที่หมุนอยู่ตลอดเวลา เป็นอันเดียวกันไปตลอดเวลา ก็จังหันนั่นแหละคือนามรูป แต่ว่ามีสมมติบัญญัติเสียว่ากังหัน ก็เป็นตัวกังหันขึ้นมา เมื่อเป็นตัวกังหันขึ้นมาและหมุนเร็ว จึงมองไม่เห็นซี่ของกังหัน ไม่เห็นการไปของจังหันจากจุดเริ่มต้น และกลับมาสู่จุดเดิม ซึ่งเป็นเกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลานั้น เหมือนอย่างว่าหมุนอยู่เป็นอันเดียวกันตลอดเวลา
นามรูปอันนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อมีสมมติบัญญัติว่าเป็นตัวเรา เป็นหญิงเป็นชาย เป็นบุคคลนั้นเป็นบุคคลนี้เป็นต้น เป็นสมมติบัญญัติ แล้วก็มีตัณหาอุปาทานเข้าประกอบอีก ก็เลยเป็นตัวเราที่ตั้งอยู่ บังปัญญาที่จะเกิดขึ้นเห็นเกิดดับได้
ต้องเห็นสิ่งที่เกิดดับก่อน
แม้ว่าจะได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสสอนไว้ให้กำหนดให้รู้จักขันธ์อายตนะธาตุ หรือนามรูป ให้เห็นเกิดดับของนามรูป ในการที่จะปฏิบัติให้เห็นได้ก็ยาก ในเมื่อจิตนี้ยังหมุนเป็นกังหันอยู่ มองไม่เห็นว่าอะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป รู้แต่ว่าเป็นตัวเราอยู่ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราชอบอย่างนี้สิ่งนี้ ชังอย่างนี้สิ่งนี้ หรือว่าหลงอย่างนี้สิ่งนี้ เหล่านี้เป็นต้น หรือเพลิดเพลินยินดีติดอยู่ เหล่านี้ก็เป็นกิเลสขึ้นมา เพราะฉะนั้น ในเมื่อจิตนี้ยังหมุนเป็นกังหันไปในอารมณ์ทั้งหลายอยู่ดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติยากที่จะให้เห็นเกิดดับ ให้เห็นนามรูป ให้เห็นเกิดดับได้
ในขั้นนี้ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า จะเห็นเกิดดับได้ก็ต้องเห็นสิ่งที่เกิดดับก่อน สิ่งที่เกิดดับนั้นคือนามรูป ซึ่งหมายรวมไปถึงขันธ์อายตนะธาตุเป็นต้น ที่รวมเรียกในคำว่าวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิของวิปัสสนา เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ต้องเห็นนามรูปก่อน และเมื่อเห็นนามรูปจึงจะเห็นเกิดดับของนามรูปได้ คราวนี้ในเมื่อจิตนี้ยังหมุนเป็นกังหันอยู่การที่จะให้เห็นนามรูปก็เป็นการยาก เหมือนอย่างว่าในเมื่อกังหันยังหมุนติ้วอยู่ จะให้มองเห็นซี่ของกังหันอย่างชัดเจน ว่ากังหันมีกี่ซี่ ดุมของกังหันอยู่ที่ไหน ซี่ของกังหันอยู่ที่ไหน ไม่สามารถจะมองเห็นได้ ในเมื่อกังหันยังหมุนติ้วอยู่
จิตก็เหมือนกันเมื่อจิตยังหมุนเป็นกังหันอยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย การที่จะให้เห็นนามรูปนั้นเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปยาก เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิ และจะมีสมาธิก็ต้องมีศีลเป็นภาคพื้น และจะต้องมีสรณะคือที่พึ่ง อันได้แก่พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นผู้นำทาง เพราะฉะนั้น สรณะคมณ์การถึงสรณะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องถึงสรณะ คือพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์นี้ให้ถึงใจ ให้ถึงจิต ให้ถึงตัวธาตุรู้ และเมื่อเป็นดั่งนี้ สรณะก็จะเป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องนำ นำจิตใจนี้ไปสู่คลองธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไปสู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา แปลว่านำจิตใจนี้ให้ไปสู่ธรรมปฏิบัติทั้งปวง สู่ผลของธรรมปฏิบัติทั้งปวง เป็นอันห้ามจิตนี้ไม่ให้ไปสู่กระแสของตัณหา แต่ให้ไปสู่กระแสของธรรม
เพราะฉะนั้นผู้ที่ถึงสรณะว่าพุทธังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง ธัมมังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง สังฆังสรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง จะต้องถึงให้มีจิตใจดำเนินสู่กระแสธรรม ห้ามมิให้ดำเนินไปสู่กระแสตัณหา และเมื่อจิตใจนี้เดินไปสู่กระแสธรรม ก็แปลว่าได้มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ คือที่พึ่ง เดินไปในทางของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ไม่เดินไปนอกทางของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์
เครื่องนำสู่ธรรมปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นสรณะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นผู้นำ เป็นเครื่องนำไปสู่กระแสธรรมของผู้ปฏิบัติธรรม และเมื่อได้มีสรณะดังกล่าวมานี้ ก็เป็นอันว่าได้เข้าสู่ศีล ศีลเป็นข้อๆ ก็เช่นศีล ๕ เป็นต้น ศีลที่ไม่มีข้อก็คือศีลที่เป็นความปรกติของจิต จิตที่เป็นปรกติ ไม่ถูกอกุศลมูลราคะหรือโลภะโทสะโมหะ หรือตัณหาดึงเอาไป ให้ก่อเจตนาจงใจประกอบบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ทางกายทางวาจาทางใจ มีใจสงบเป็นปรกติ ดั่งนี้เป็นตัวศีล ซึ่งมีข้อเดียว ไม่ว่าใครจะถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แต่เมื่อมีจิตเป็นปรกติ สงบดังกล่าว ก็เป็นอันว่าได้เข้าถึงตัวศีลอย่างเดียวกัน
อันนี้แหละเป็นพื้นฐานของกุศลธรรมทั้งหลายมีสมาธิเป็นต้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ตั้งมั่น โดยที่มีสติกำหนดอยู่ในกรรมฐาน ในส่วนที่เป็นสมถะกรรมฐานนั้น ก็เป็นการทำจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน แต่ว่ายังไม่เกิดปัญญา เป็นการหัดทำจิตให้สงบ ไม่ให้หมุนติ้วเป็นกังหันดังที่กล่าวแล้ว
วิปัสสนาภูมิ
เพราะเมื่อจิตหัดทำสมาธิได้ความสงบย่อมจะหยุดหมุนติ้วเป็นกังหัน เพราะว่าตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เหมือนอย่างการหยุดกังหันไม่ให้หมุน และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงเปลี่ยนอารมณ์ของสมาธิแค่สมถะดังกล่าวนั้น มาเป็นสมาธิในวิปัสสนากรรมฐาน คือกรรมฐานที่เพื่อวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริง ด้วยมาทำสมาธิคือกำหนดดูอยู่ในวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาดังกล่าวนั้น ก็คือขันธ์อายตนะธาตุ หรือว่ายกเอามาในที่นี้ก็นามรูป ดังที่กล่าวมาโดยลำดับ มากำหนดดูนามดูรูป ดั่งนี้แหละจึงจะเห็นวิปัสสนาภูมิ เห็นนามเห็นรูป ว่านี่นามนี่รูป เหมือนอย่างว่าเมื่อหยุดจังหันไม่ให้หมุนได้ ก็ดูตัวจังหันนั้น จึงจะมองเห็นซี่ของจังหันว่ามีกี่ซี่ เห็นดุมของกังหันว่าอยู่ที่ไหน เห็นกรอบหรือกงของกังหันว่ากลมอย่างนั้น แปลว่าเห็นกังหันได้ทั้งตัวทั้งหมด ในเมื่อกังหันหยุดหมุน
จิตก็เหมือนกันจิตจะต้องหยุดหมุนคือจิตจะต้องได้สมาธิ และเมื่อจิตได้สมาธิมีสมาธินั่นแหละ จึงมากำหนดดูอยู่ซึ่งนามรูป อันบังเกิดขึ้นที่จิตอันเป็นปัจจุบัน จึงจะเห็นตัวนามรูป เห็นความคิดความรู้อยู่ในปัจจุบัน เห็นสิ่งที่รู้ที่คิดอยู่ในปัจจุบัน ความคิดความรู้คืออาการที่จิตน้อมออกคิดออกรู้ นี่เป็นนาม สิ่งที่จิตคิดจิตรู้ รูปเรื่องที่จิตคิดจิตรู้ต่างๆ นี่เป็นรูป
คราวนี้เมื่อจิตเป็นสมาธิดังกล่าวไม่หมุนดังกล่าวนั้น ก็มีปัญหาว่าแล้วจะเห็นนามรูปที่ไหน ก็ตอบได้ว่าก็เห็นนามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรมนั่นแหละ เช่นปัจจุบันธรรมนี้กำลังคิดกำลังนึก ก็รู้ความคิดความนึกรู้ความรู้ และรู้สิ่งที่ หรือรูปเรื่องที่จิตรู้ จิตคิด จิตนึกอยู่ในปัจจุบัน และถ้ากำหนดอารมณ์ของสมาธิอะไร เช่นว่ากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก กำลังมีลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นกรรมฐานอยู่ ก็ดูนามรูปลงไป ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ ว่าความรู้ความคิดถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก นี่เป็นตัวนาม รูปเรื่องของลมหายใจเข้าลมหายใจออก นี่เป็นรูป
นามรูปที่เป็นปัจจุบันธรรม
ก็ดูนามดูรูปลงไปที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่กำหนดนั่นแหละ ก็เป็นอันว่า ได้กำหนดนามรูปในปัจจุบันธรรม ที่บังเกิดขึ้นในสมาธินั้นเอง ไม่ต้องไปหาที่ไหน แล้วก็อยู่ในขอบเขตที่เห็นได้ง่าย เหมือนอย่างดูจังหันที่หยุดหมุน จะมองเห็นกงเห็นซี่ดุมอะไรของจังหันได้หมด หรือว่าเห็นส่วนสัดของจังหันได้หมด กังหันจะเป็นรูปอะไรก็ตาม ก็มองเห็นได้หมด
เพราะฉะนั้นเมื่อมาดูสิ่งที่ปรากฏอยู่ปัจจุบัน ความรู้ความคิด สิ่งที่รู้ที่คิดอยู่ที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้ เป็นนามเป็นรูปดังกล่าว ก็จะเห็นนามเห็นรูปชัด และเมื่อเห็นชัดก็จะมองเห็นความหมุนไปของนามรูป ที่เป็นเรียกว่าเป็นกังหันเหมือนกัน แต่ว่าหมุนช้าเข้า จะมองเห็นเกิดเห็นดับ อยู่ในอารมณ์ทั้งหลายที่เป็นปัจจุบันธรรม อันเป็นความเห็นเกิดดับชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิแล้วจะทำวิปัสสนาได้ยาก เพราะจิตจะหมุนติ้วเป็นจังหันอยู่ จะให้มองเห็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือวิปัสสนาภูมินั้นก็เป็นไปไม่ได้ จะต้องทำจิตให้หยุดหมุน เป็นสมาธิเสียก่อน นั่นแหละ และกำหนดลงไปจึงจะเห็นนามเห็นรูป
วิปัสสนาญาณ
และเมื่อเห็นนามเห็นรูปจึงจะเห็นเกิดเห็นดับ อันเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นข้อปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นข้อสำคัญ จะต้องมีสรณะ จะต้องมีศีล จะต้องมีสมาธิ แล้วจึงจะได้ปัญญาอันเป็นวิปัสสนาญาณ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป