แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณนำในบทว่าพุทโธ ที่ได้เคยแสดงแล้วในความหมายว่าพระผู้รู้พ้น พระผู้ตื่น พระผู้เบิกบาน วันนี้จะเริ่มประมวลความด้วยเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งได้เคยผ่านพบประวัติของท่านที่เขียนเล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่าท่านไปพัก... (เริ่ม) ของพวกชาวแม้วหรือม้ง ว่าจังหวัดเชียงใหม่ และได้มีชาวแม้วหรือม้งมาคอยปฏิบัติท่านอยู่ ได้เห็นท่านเดินไปเดินมาอยู่เสมอ ที่เรียกว่าเดินจงกรม เขามีความสงสัยจึงได้ถามท่านว่า อะไรหาย ท่านกำลังเดินหาอะไร ท่านก็ตอบว่าพุทโธหาย กำลังเดินหาพุทโธ เขาก็กล่าวอาสาท่านว่าเขาจะช่วยหาด้วย ท่านจึงบอกว่าก็ให้เขาเดินหาได้ ให้เรียกหาพุทโธ พุทโธ เขาก็ปฏิบัติตาม เดินไปเดินมาตามท่าน ด้วยจิตใจที่เรียกหา พุทโธ พุทโธ เขาก็ได้ความสว่าง หรือแสงสว่างขึ้นในจิต ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจว่าพุทโธที่ท่านแสวงหานั้น จะเป็นความสว่างหรือแสงสว่างในจิตที่เกิดขึ้นแก่เขา เรื่องนี้ให้คติแห่งการปฏิบัติทางจิตใจอย่างดียิ่ง ว่าแม้แต่แม้วซึ่งไม่เคยรู้จักพุทธศาสนา เมื่อได้เรียกหาพุทโธพุทโธในจิตใจ ก็จะได้ความสว่างหรือแสงสว่างขึ้นในจิต ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจแม้ในขั้นนี้ว่า เป็นพุทโธที่ท่านอาจารย์ท่านค้นหาอยู่
อารมณ์ ๖
จิตใจนี้โดยปรกติย่อมเรียกหาอารมณ์ต่างๆ อยู่เสมอ เรียกหาสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ เป็นต้นว่าเรียกหาลาภคือสิ่งที่จะพึงได้ตามที่ใคร่ตามที่ปรารถนาต้องการ เรียกหายยศคือความเป็นใหญ่ความมีบริวาร ความมีเกียรติชื่อเสียง เรียกหาสรรเสริญ เรียกหาความสุขต่างๆ อันรวมเรียกว่าเป็นอารมณ์คือเรื่องที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือที่ปรารถนาต้องการ ไม่ประสงค์ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ต่างๆ และบรรดาสิ่งที่จิตใจเรียกหาเหล่านี้ เมื่อกล่าวจำแนกประเภทก็มากมาย เป็นบุคคลที่รักใคร่ปรารถนาพอใจก็มี เป็นสัตว์สิ่งของแก้วแหวนเงินทอง บ้านเรือนสิ่งต่างๆ ที่ปรารถนาพอใจก็มี และนอกจากนี้จิตใจนี้ยังเรียกหาบรรดาบุคคลสัตว์วัตถุต่างๆ ที่ล่วงไปแล้ว หรือว่าที่ยังไม่มาถึง และเมื่อจิตใจเรียกหาอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือบุคคลสัตว์วัตถุที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ คือที่ปรารถนาพอใจต้องการดังกล่าวมานี้ เมื่อได้มาก็ย่อมมีความยินดีมีความสุข และสยบติดอยู่ เมื่อไม่ได้ หรือว่าต้องพลัดพรากไปก็มีความทุกข์เดือดร้อน
และบรรดาสิ่งที่จิตใจเรียกหาต้องการเหล่านี้ ก็อาจรวมเข้าเป็นอารมณ์ทั้ง ๖ อารมณ์ก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูปที่เห็นทางตา สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียงที่ได้ยินทางหู คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่นที่ได้สูดดมทางจมูก รสารมณ์ อามณ์คือรสที่ได้ลิ้มทางลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือสิ่งถูกต้องที่ถูกต้องทางกาย ธรรมารมณ์อารมณ์คือธรรมะอันหมายถึงเรื่อง เรื่องของรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ ที่ได้รู้ได้คิดทางมโนคือใจ
ธรรมเมา
การเรียกหาอารมณ์ทั้ง ๖ ของจิตเหล่านี้เมื่อสรุปเข้าแล้ว ก็เรียกหาส่วนที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้วบ้าง เรียกหาสิ่งที่เป็นอนาคตคือยังไม่มาถึงบ้าง และสยบติดอยู่ในอารมณ์ที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน สำหรับอารมณ์ที่เรียกหาอันเป็นอดีตคือล่วงไปแล้วนั้น ก็คือจิตเรียกหาบุคคลบ้าง สัตว์และวัตถุต่างๆ บ้าง ที่ได้ล่วงไปแล้ว พ้นไปแล้ว ซึ่งมีคำเรียกอารมณ์ที่ล่วงไปแล้วดังกล่าวนี้ว่าธรรมะคือเรื่องก็ได้ และเรียกหาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ก็เรียกว่าธรรมะคือเรื่องที่ยังไม่มาถึงก็ได้ ลักษณะของธรรมะคือเรื่องหรืออารมณ์ที่จิตนี้เรียกหา อันเป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี หลวงปู่แหวนท่านบอกว่าธรรมเมา ไม่ใช่ธรรมา หรือธรรมโม และแม้ธรรมะหรืออารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน คือที่จิตนี้กำลังประสบอยู่ได้รับอยู่ ซึ่งจิตนี้ก็ผูกพันติดสยบอยู่ ก็เป็นธรรมเมาเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นธรรมโม หรือเป็นธรรมา
เมื่อเป็นดั่งนี้จิตนี้จึงไม่สงบดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ด้วยอาการที่ปรากฏเป็นราคะความติดใจยินดีบ้าง เป็นโทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง เป็นโมหะคือความหลง ก็คือหลงรักหลงชัง หลงสยบติดอยู่บ้าง และอาการที่จิตนี้ประกอบด้วยกิเลสดังกล่าวมาเป็นจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย อาการที่จิตนี้เป็นดังกล่าวก็เรียกรวมว่าตัณหา และเมื่อเป็นตัณหาจึงมีความอาดูร ที่แปลว่าความกระสับกระส่ายความเดือดร้อน ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาสิ่งที่จิตเรียกหา อันเป็นธรรมเมาดังที่หลวงปู่แหวนท่านว่านั้น ก็ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง
สงฺขตลกฺขณ คือลักษณะของสิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหลาย อันเรียกว่าสังขารนั้น
อุปฺปาโท ปญฺญายติ มีความเกิดขึ้นปรากฏ
วโย ปญฺญายติ มีความเสื่อมไปสิ้นไปปรากฏ
ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อตั้งอยู่มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ
เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น ๒ คือมีความเกิดขึ้น และมีความดับไปเป็นธรรมดา
โลกธรรม
ฉะนั้น บรรดาทุกอย่างที่จิตนี้เรียกหา จะเป็นบุคคลก็ตาม จะเป็นสัตว์วัตถุต่างๆ ก็ตาม จึงไม่บังเกิดตามที่จิตนี้ต้องการ เพราะว่าจิตนี้ต้องการเรียกหาแต่สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจเท่านั้น แต่ไม่เรียกหาไม่ต้องการสิ่งที่ไม่รักใคร่ปรารถนาพอใจ บรรดาสิ่งที่จิตนี้ได้รับจริงๆ นั้นหาเป็นไปตามที่จิตนี้เรียกหาต้องการดังกล่าวไม่ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักโลกธรรม ธรรมะสำหรับโลก ซึ่งบังเกิดขึ้นทั้งแก่บุถุชน ทั้งแก่อริยบุคคล คือ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ โลกธรรมทั้ง ๘ นี้ย่อมวนเวียนไปตามสัตวโลก สัตวโลกก็วนเวียนไปตามโลกธรรมทั้ง ๘ นี้ เมื่อมีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภ มียศก็ต้องมีเสื่อมยศ เมื่อมีสรรเสริญก็ต้องมีนินทา เมื่อมีสุขก็ต้องมีทุกข์เป็นคู่กันไป
เพราะฉะนั้น เมื่อจิตนี้เรียกหาอารมณ์หรือธรรมะทั้งหลาย อันเป็นส่วนอดีตที่ล่วงไปแล้วบ้าง เป็นส่วนอนาคตยังไม่มาถึงบ้าง ผูกพันยึดถือสยบติดอยู่ในธรรมะหรืออารมณ์ที่เป็นปัจจุบันบ้าง จึงได้เป็นธรรมเมา ไม่เป็นธรรมโมหรือธรรมะ คือจิตนี้เองมีความเมา อันได้แก่ตัวโมหะคือความหลงสยบติดอยู่ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงต้องมีโสกะความโศกความแห้งใจ ปริเทวะความร้องไห้คร่ำครวญรัญจวนใจ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ อุปายาสความคับแค้นใจ อันเป็นตัวทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ที่จิตนี้เองต้องเสวยอยู่ น้อยหรือมาก ตามแต่ว่าจะมีความเมาที่เป็นธรรมเมาอยู่ในอารมณ์ หรือในธรรมะดังกล่าวนั้นมากหรือน้อยเพียงไร และเพราะเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงบรรดาธรรมะที่เป็นธรรมเมา ดังที่กล่าวแล้วนั้นว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ธรรมะทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เพราะเมื่อยึดมั่นเข้าแล้วก็เป็นธรรมเมา และทำให้เกิดทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์
และอาการที่จิตเรียกหาต้องการ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสชี้ให้รู้จักว่านี่แหละ คือตัวตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันเป็นตัวทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น จิตที่เรียกหาของสามัญชนทั้งหลายอยู่โดยปรกตินั้น จึงเป็นตัณหาอุปาทานนั้นเอง จึงเป็นเครื่องที่นำทุกข์นี้มาสู่จิตใจ เพราะฉะนั้นจะแก้ทุกข์ทางจิตใจนี้ด้วยวิธีที่ยิ่งเรียกหาสิ่งที่ปรารถนาต้องการ อันเป็นธรรมเมาดังกล่าวแล้วสักเท่าไร เพื่อที่จะดับทุกข์ของจิตใจนั้นหาได้ไม่ ไม่สามารถจะดับทุกข์ของจิตใจได้ ในเมื่อยังธรรมเมาอยู่ดังที่กล่าว ยังยึดมั่นธรรมะที่เป็นธรรมเมาทั้งปวงดังกล่าวอยู่ ตามพระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นมาอ้างนั้น
เว้นไว้เสียแต่ว่าจิตนี้จะเรียกหาพุทโธ แม้ว่าเรียกหาพุทโธด้วยนึกถึงพระพุทธรูป นึกถึงพุทธประวัติ หรือนึกถึงพระพุทธคุณตามที่รู้ ก็ย่อมเรียกว่าเป็นการได้ทำกรรมฐาน มีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ขึ้นแล้ว เป็นการที่เหมือนอย่างเริ่มนำพุทโธนี้เป็นลิ่มอันใหม่ เข้ามาตอกสลักลิ่มอันเก่าที่เสียบแทงใจอยู่ คือตัณหาที่เป็นตัวธรรมเมา พร้อมทั้งอารมณ์ที่เป็นตัวธรรมเมาออกไปจากจิตใจ ทำให้จิตใจนี้สงบจากการเรียกหาทุกข์เข้ามาสู่จิตใจได้ มีพุทโธเข้ามาตั้งอยู่ในจิตใจแทน เรียกหา พุทโธ พุทโธ อยู่ในจิตใจ
พุทธานุสสติ
และเมื่อจิตใจนี้ได้ความสงบจากอารมณ์ที่เป็นธรรมเมาทั้งหลาย หรือเรียกตามศัพท์แสงว่า สงบจากอกุศลวิตก สงบจากกามอกุศลธรรมทั้งหลาย จิตก็ได้สมาธิ มีพุทโธเป็นอารมณ์ตั้งอยู่ในจิต จะปรากฏเป็นพระพุทธรูป พระพุทธเจ้าขึ้นในจิตก็ตาม เป็นพระพุทธคุณคือพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาคุณปรากฏขึ้นในจิตใจก็ตาม ได้ทั้งนั้น หรือแม้ว่าปรากฏเป็นโอภาสความสว่าง แสงสว่างขึ้นในจิตใจ อันเป็นนิมิตของสมาธิคือจิตที่สงบนี้ก็ตาม จิตนี้ก็เริ่มพ้นจากตัณหาจากอารมณ์ที่เป็นตัวธรรมเมา มาสู่ธรรมะหรือธรรมโม ได้ความพ้นทุกข์ ได้ความสุขทางจิตใจขึ้นเป็นเบื้องต้น และเมื่อกำหนดพิจารณาพุทโธนี้ให้รู้ซึ้ง ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้พ้น ทรงเป็นผู้ตื่นหรือรู้ตื่น ทรงเป็นผู้รู้เบิกบานหรือผู้เบิกบานอย่างนั้นๆ ก็จะยิ่งได้ความสว่างในจิตใจขึ้นด้วยปัญญา จนอาจเป็นธรรมาจภูมิดูกายขึ้น เป็นวิปัสสนาหรือเป็นปัญญาตามภูมิตามชั้นของการปฏิบัติ
(เริ่ม) เพราะฉะนั้น การเรียกหาพุทโธ การแสวงหาพุทโธจึงมีประโยชน์มาก ผู้ปฏิบัติธรรมควรที่จะปฏิบัติลดการเรียกหาสิ่งอื่นซึ่งเป็นธรรมเมา มาเรียกหาพุทโธซึ่งเป็นธรรมโม ย่อมจะได้รับผลของการปฏิบัติธรรม จะได้รู้จักพระรัตนตรัย จะได้รู้จักพุทธศาสนา ขึ้นในจิตใจของตนเอง
ต่อจากนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป