แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า ภควา ในความหมายว่า ผู้จำแนกแจกธรรม ความหมายนี้ได้เป็นที่นิยมใช้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมศึกษาธรรมกันโดยมาก ดังที่สวดแปลบทนี้ว่า ภควาผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชาชน ธรรมะที่เราทั้งหลายได้ศึกษา ได้รู้ ได้ปฏิบัติกันอยู่ ก็ได้มาจากการที่ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนของพระบรมศาสดา ดังที่เราทั้งหลายได้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เช่นรู้จักอกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล รู้จักกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ และศีลที่ยิ่งขึ้นไปกว่า รู้จักสมาธิ รู้จักกรรมฐานที่เป็นส่วนสมถะกรรมฐาน รู้จักปัญญา รู้จักวิปัสสนากรรมฐาน รู้จักอริยสัจจ์ ๔ ตลอดจนถึงมรรคผลนิพพาน
รวมความว่ารู้จักสัตถุศาสน์คำสอนของพระศาสดา ที่จัดเป็นวินัยปิฎก สุตตันตะปิฎก อภิธรรมปิฎก อันเรียกว่าพระไตรปิฎก รู้จักขันธ์ อายตนะ ธาตุ รู้จักโพชฌงค์ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้เป็นต้น ก็จากธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแสดงสั่งสอนไว้ ถ้าไม่ทรงจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนไว้ เราทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ นี้เป็นส่วนปริยัติธรรม
ปริยัติชี้ทางปฏิบัติ
และปริยัติธรรมนี้เองก็ชี้ทางปฏิบัติ เป็นปฏิบัติธรรมแก่ผู้ที่มุ่งปฏิบัติทั้งหลาย ในด้านปฏิบัตินี้ที่พระองค์ได้ทรงจำแนกไว้ ก็ได้แสดงมาในพระพุทธคุณบทต้นๆ โดยลำดับ จนมาถึงในความหมายว่าทรงหักกิเลส ดับกิเลส ก็คือหักใจ หรือดับใจ และก็ได้แสดงมาแล้วว่า ใจนี้สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อใจไปที่ไหนตัวเราก็ไปที่นั่น และคำว่าตัวเรานี้ก็เป็นคำยกขึ้นกล่าวอย่างง่ายๆ ตามที่จะพึงเข้าใจกันได้
และเมื่อจะชี้ลงไปที่ตัวเราว่าคืออะไร ก็ชี้ได้อย่างหนึ่งว่าคือ ตัวตัณหาอุปาทาน ความอยากยึดว่าตัวเราของเรา หากจะถามว่าอยากยึดซึ่งอะไร ก็ตอบได้ว่าอยากยึดซึ่งนามรูปนี้เอง คือยึดนามรูปว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา ของเรานั้นก็เนื่องมาจากตัวเรา เมื่อมีตัวเราก็มีของเรา เพราะฉะนั้น ตัวเราก็คือตัวตัณหาอุปาทานที่อยากยึดอยู่ในนามรูป และนามรูปนี้เมื่อแยกออกไปอีกก็คือขันธ์ ๕ ได้แก่
กองรูป
กองเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข
กองสัญญา ความจำได้หมายรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมะเรื่องราว
กองสังขาร คือความคิดปรุงหรือปรุงคิดไปในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ธรรมะคือเรื่องราวที่จำได้นั้น
กองวิญญาณ ก็คือความรู้เห็นรู้ได้ยินในรูปในเสียง รู้ทราบในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ และรู้คิดในธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย
ขันธ์ ๕ นามรูป
ขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความอยากยึด จึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ ก็คือยึดถือว่านี่เป็นของเรา นี่ก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา เราเป็นนี่ก็คือเรา เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ นี่ก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาตัวตนของเรา พูดสั้นๆ ก็คือว่าเป็นที่ยึดว่าตัวเรา และขันธ์ ๕ นี้ย่อเข้าก็เป็น นามรูป รูป ก็เป็นรูป นาม ก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะฉะนั้น นามรูปก็เป็น อุปาทานะนามรูป นามรูปเป็นที่ยึดถือดังกล่าวมานั้น และตัณหาอุปาทานนี้ก็บังเกิดขึ้นที่ใจ อยู่กับใจ เพราะฉะนั้น เมื่อใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทานไปที่ไหน ตัวเราคือนามรูปก็ไปที่นั่น เมื่อยังมีตัณหาอุปาทานนำอยู่ ใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทานนั้นก็ย่อมจะเที่ยวไป ในเรื่องรูป เรื่องเวทนา เรื่องสัญญา เรื่องสังขาร เรื่องวิญญาณ อันเป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ เพราะฉะนั้น ตัวเราคือนามรูปก็ไปที่นั่น
และเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าสติเป็นเครื่องกั้น ป้องกันกระแสของตัณหาอุปาทานทั้งหลาย ปัญญาเป็นเครื่องละ ปิดกระแสของตัณหาอุปาทานทั้งหลาย ก็ปฏิบัติทำสติและปัญญา กำหนดดูใจนี้ที่เที่ยวไปในเรื่องรูปเป็นต้นดังกล่าวแล้ว จนถึงกั้นได้ ป้องกันได้ ซึ่งกระแสของตัณหาอุปาทาน ปิดดับกระแสของตัณหาอุปาทานได้ เมื่อป้องกันกั้นปิดดับได้เมื่อใด ตัณหาอุปาทานก็ดับไปเมื่อนั้น ในเรื่องนั้น เช่นว่า กั้นป้องกันปิดดับได้ในเรื่องรูปนั้น ตัณหาอุปาทานก็ดับไปในเรื่องรูปนั้น และเมื่อตัณหาอุปาทานดับ ตัวเราหรือว่านามรูปที่ไปกับใจในเรื่องรูปนั้น ก็ดับไปพร้อมกับตัวใจเอง ซึ่งดับไปในเรื่องนั้น สติปัญญาที่ทำหน้าที่กั้นปิด ทำหน้าที่ดับ เมื่อกั้นปิดได้ดับได้สำเร็จ สติปัญญานั้นก็ดับไปในๆ เรื่องรูปนั้น ก็เป็นอันว่าดับกันไปได้ในเรื่องหนึ่ง
แต่ว่าเพราะยังมีอาสวะอนุสัย ยังไม่สิ้นอาสวะอนุสัย คือกิเลสที่ดองสันดาน นอนจมหมักหมกอยู่ในสันดาน เมื่อประสบอารมณ์คือเรื่อง เช่นเรื่องรูปเรื่องเสียงเป็นต้นขึ้นใหม่อีก อาสวะที่ดองสันดานก็โผล่ขึ้นมา เป็นตัณหาอุปาทานในรูปในเสียงที่มาใหม่นั้น ใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทานนั้นก็เที่ยวไปในเรื่องของรูปเสียงใหม่นั้น ตัวเรานามรูปก็ไปกับใจ ก็ใช้สติใช้ปัญญาป้องกันกั้นปิดดับกันอีก และเมื่อทำสำเร็จ ตัณหาอุปาทานก็ดับ ใจก็ดับไปในเรื่องนั้น ตัวเรานามรูปก็ดับไปในเรื่องนั้น สติปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติก็ดับไปในเรื่องนั้น ทำกิจสำเร็จแล้ว
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่า เพราะวิญญาณคือใจดับ นามรูปก็ดับ สติปัญญาก็ดับ ดับไปในที่ไหน ก็ดับไปในที่ๆ ตัณหาอุปาทานดับ ที่ๆ ใจดับนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นในที่ใด ก็ดับไปในที่นั้น ใจเกิดขึ้นในที่ใด ก็ดับไปในที่นั้น สติปัญญาที่ปฏิบัติเพื่อดับในที่ใด เมื่อดับแล้ว สติปัญญาเองก็ดับไปในที่นั้นด้วย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดในด้านปฏิบัติธรรม จึงมีเกิดดับอยู่ด้วยกันดั่งนี้ กิเลสก็เกิดดับ ใจก็เกิดดับ ตัวเราหรือนามรูปก็เกิดดับ สติปัญญาก็เกิดดับ แต่ว่าเพราะเหตุว่ายังไม่เสร็จกิจ เพราะยังมีอาสวะอนุสัย กิเลสก็โผล่ขึ้นมาอีก ทั้งหมดก็ต้องเกิดดับกันอีก ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสจำแนกแจกธรรมให้เราทั้งหลายได้ทราบ ในขั้นปฏิบัติทางจิตใจอันละเอียดดั่งนี้ และก็ยังได้ตรัสสอนไว้อีกว่า ตัวเราที่ไปกับใจอันประกอบด้วยตัณหาอุปาทาน อันตั้งขึ้นในนามรูป หรือในขันธ์ ๕ ดังที่กล่าวมานั้น ที่เป็นไปดั่งนี้ไม่รู้จักจบสิ้น ก็เพราะเหตุที่บุคคลซึ่งยังข้องติดอยู่ในโลกทั่วไป เป็นบุถุชน เป็นสามัญชน ยังมีความเพลิดเพลินยินดี คำนึงถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว ว่าเราได้มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ๆ มาในอดีต ยังมีความเพลินยินดีหวังถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอนาคตคือที่ยังไม่มาถึง ว่าเราพึงมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ๆ ในอนาคต
แม้ว่าจะมิได้มีความเพลิดเพลินยินดีคำนึงถึงอดีตหรือหวังถึงอนาคต ก็ยังมีความเห็นยึดถืออยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นปัจจุบันว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเห็นตัวเราว่ายังมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเห็นว่ามีตัวเราในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเห็นว่ายังมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในตัวเรา (เริ่ม) ก็คือยังมีความเห็นยึดถืออยู่ในระหว่างตัวเรากับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่แยกออกจากกันไปได้ เพราะฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแม้ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ก็ปรากฏว่าเป็นตัวเรา ดังเช่นที่ทุกๆ คนมีความรู้สึกกันอยู่ เช่นว่าขณะที่นั่งอยู่นี้ ก็ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเรานั่งอยู่ เมื่อเดินก็ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเราเดิน ยืนนอนก็ย่อมจะรู้สึกว่าตัวเรายืนนอน ดั่งนี้เป็นต้น เป็นอันว่ายังมีความเห็นยึดถือว่าตัวเราอยู่นั่นแหละแม้ในปัจจุบัน ทั้งยังมีความยินดีเพลิดเพลิน ก็คือตัวเราที่เป็นปัจจุบันนี่แหละ ยังมีความยินดีเพลิดเพลิน คำนึงอดีตบ้าง หวังถึงอนาคตบ้างดังที่กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงยังคงไม่มีปัญญาเห็นแจ้ง ไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในปัจจุบัน เพราะว่าในปัจจุบันนี้เองก็ยังมีตัวเราอันเป็นตัณหาอุปาทาน บังสัจจะคือความจริงอยู่ ทั้งไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในอดีต เพราะยังมีความเพลิดเพลินยินดีคำนึงถึงอดีตโดยเป็นตัวเราอยู่ ยังมีความเพลิดเพลินยินดีหวังถึงอนาคตโดยยังหวังเป็นตัวเราอยู่ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น จึงยังไม่เห็นแจ้งในสัจจะคือความจริงที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต รวมปัจจุบันเข้าด้วยก็ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นอันว่ายังไม่มีปัญญาเห็นแจ้งในกาลทั้ง ๓ เพราะฉะนั้น จิตใจนี้จึงยังถูกครอบงำอยู่ด้วยอวิชชาโมหะ ด้วยตัณหาอุปาทาน
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้จำแนก จำแนกว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญาณส่วนที่เป็นอดีต ที่จิตใจนี้ยังมีความเพลิดเพลินยินดีคำนึงถึงอยู่นั้นดับไปแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แล้ว ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง เพื่อที่จะได้ดับใจเสียจากส่วนที่เป็นอดีต ดับใจเสียจากส่วนที่เป็นอนาคต ไม่ให้ใจนี้ท่องเที่ยวออกไป เพราะส่วนที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง ตรัสสอนให้รู้จักจำแนกดั่งนี้ ให้จิตใจนี้รับรู้ตามที่ทรงสั่งสอน และเมื่อจิตใจนี้รับรู้ตามที่ทรงสั่งสอนได้ ก็จะดับใจจากอดีตได้ ดับใจจากอนาคตได้ ก็เป็นอันว่าดับตัวเราจากอดีตได้ ดับตัวเราจากอนาคตได้ ก็เป็นอันว่าดับนามรูป หรือดับขันธ์ ๕ ที่ไปกับตัวเราในส่วนอดีตได้ในส่วนอนาคตได้ นามรูปหรือขันธ์ที่ไปกับตัวเราดังกล่าวนี้ ก็หมายถึงนามรูปหรือขันธ์ที่เป็นชั้นใน ที่ไปกับตัวเรา ไปกับใจดั่งที่กล่าวมาแล้ว
ปัจจุบันธรรม
จึงเหลือแต่ปัจจุบัน ก็ให้มากำหนดเจาะแทงลงไปที่ปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้เจาะแทงอะไรอื่น เจาะแทงตัวเราที่รู้สึกว่าตัวเราอยู่ในปัจจุบันนี้ เช่นว่าในปัจจุบันนี้เมื่อนั่งเมื่อนอน ก็รู้สึกว่าตัวเรานี่นั่งเมื่อนอน ซึ่งตัวเรานี้ก็คือตัณหาอุปาทานความอยากยึด อยากยึดอยู่ในอะไร ก็อยากยึดอยู่ในขันธ์ ๕ หรือนามรูปที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งอื่น อยากยึดอยู่ในนามรูปในขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นตัวเราอยู่ในปัจจุบัน พิจารณาให้เห็นลงไป เจาะแทงตัวเราลงไปว่าตัวเรานั้นไม่มี ตัวเราเกิดจากตัณหาอุปาทาน อยากยึดว่าตัวเราว่าของเรา เพราะฉะนั้น ตัวเรานี้ก็คือตัวตัณหาอุปาทาน ซึ่งอันที่จริงนั้นตัวเราไม่มี ตัวเราก็คือตัณหาอุปาทาน
ตัณหาอุปาทานนั้นเล่า ก็เป็นตัวอวิชชา ตัวโมหะ ความไม่รู้ความหลง เพราะเหตุว่าขันธ์ ๕ ที่เป็นปัจจุบัน นามรูปที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นไปอยู่นี้เป็นสิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น หากขันธ์ ๕ หรือนามรูปเป็นตัวเรา ตัวเราก็เกิดดับ เกิดดับอยู่ในปัจจุบันนี้เอง เกิดแล้วก็ดับไปทันทีอยู่ในปัจจุบัน
วิปัสสนาภูมิ
เพราะฉะนั้น ก็ให้เพ่งพินิจเจาะแทงตัวเรา อันเป็นตัณหาอุปาทานนี้ลงไป ให้พบนามรูป หรือพบว่านี่รูปนี่เวทนานี่สัญญานี่สังขารนี่วิญญาณ และเมื่อพบนามรูป พบรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้ เป็นปัจจุบันธรรม ก็เป็นอันได้พบวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนา และเมื่อพบวิปัสสนาภูมิ ไตรลักษณ์ของวิปัสสนาภูมินี้ก็จะปรากฏ คือนามรูป หรือว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะปรากฏความเกิดความดับ เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ปรากฏว่าตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
คือเมื่อเกิดเป็นรูปเป็นนามขึ้นมา เกิดเป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณขึ้นมา ก็ไม่ตั้งอยู่ ต้องแปรไปเปลี่ยนไปดับไป เป็นทุกข์ จึงบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ เป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ถ้าเป็นตัวตนแล้วต้องบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาได้ แต่นี่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นว่านามรูปหรือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้เป็นอนิจจะไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา ก็แปลว่าไตรลักษณ์ปรากฏ เมื่อไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นแม้แต่น้อยก็ชื่อว่าเห็นแจ้งเป็นวิปัสสนา และเมื่อเห็นแจ้งก็ย่อมจะไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน ไม่ยินดีไม่ยินร้ายอยู่ในนามรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร วิญญาณ นามรูปนี้หรือว่าขันธ์ ๕ นี้ ก็จะไม่เป็นที่ตั้งของตัณหาอุปาทาน ก็เป็นอันว่าดับใจได้ คือใจที่ประกอบเป็นตัณหาอุปาทาน เพราะว่าดับตัณหาอุปาทานได้
และสติปัญญาที่ทำมาจนได้อย่างนี้ ก็ดับไปเป็นขั้นๆ แล้วก็ต้องปฏิบัติกันให้เป็นสติปัญญาขึ้นมาอีก เพราะยังไม่เสร็จกิจ ต้องทำกันต่อไปอีก แต่ทุกอย่างก็ต้องเกิดดับๆ ไปดั่งนี้พร้อมกัน ใจดับ ตัณหาอุปาทานดับ นามรูปหรือว่าขันธ์ดับ สติปัญญาดับ ในข้อนี้ในเรื่องนี้ และเกิดเรื่องใหม่ข้ออื่นใหม่ขึ้น ใจก็เกิดขึ้นอีก ตัณหาอุปาทานเกิดขึ้นอีก นามรูปขันธ์ ๕ เกิดขึ้นอีก สติปัญญาก็ต้องอบรมขึ้นอีกเพื่อดับ และเมื่อดับก็ดับไปด้วยกันหมด และเมื่อเกิดก็ต้องปฏิบัติทำสติปัญญาให้เกิดขึ้นเพื่อดับ และเมื่อดับก็ดับไปด้วยกันหมด ก็เกิดดับไปอย่างนี้ทุกๆ ฝ่าย
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป