แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่า ภควา ในความหมายว่า พระผู้มีภาคยะคือพระบารมี พระพุทธคุณบทนี้พระอาจารย์ได้แสดงความหมายไว้หลายอย่าง แต่ที่จะแสดงในวันนี้เพียงในความหมายดังกล่าว พระผู้มีภาคยะคือพระบารมี หรือมีคำแปลให้ฟังง่ายสำหรับคนทั่วไปว่า พระผู้มีโชค อันหมายถึงมีโชคดี แต่ว่าความหมายนี้ถ้าไม่เข้าใจตามคลองธรรม ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าเป็นโชคดีโชคร้าย เหมือนอย่างที่โลกพูดกัน
แต่ความหมายของคำว่า ผู้มีโชค ในที่นี้ก็คือ มีพระบารมี นั้นเอง และคำว่าบารมีนี้ไทยเราก็ได้นำมาใช้ทั้งในทางพระพุทธศาสนา และในทางประเทศชาติ ในทางพระพุทธศาสนานั้นก็ใช้หมายถึงพระพุทธเจ้า เมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณคือความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาตลอดชาติเป็นอันมาก และแม้พระสาวกก็มีใช้ว่าบำเพ็ญบารมีมา ดังที่มีคำเรียกว่า สาวกปารมี บารมีของพระสาวก ส่วนในทางประเทศชาติบ้านเมืองนั้นก็มีใช้ดั่งเช่น พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมี ซึ่งก็หมายถึงบุญอันสูง จึงเรียกว่าบุญบารมีประกอบกันดั่งนี้ก็มี
บุญกิริยา
พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็คือได้ทรงบำเพ็ญบุญ เป็นบุญกิริยาคือกระทำบุญ อันได้แก่ความดีต่างๆ มาเป็นอันมาก ซึ่งได้มีแสดงรวมเข้าใน บารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานะ เมตตาและ อุเบกขา เหล่านี้ล้วนเป็นบุญกิริยา คือการกระทำบุญทางกายทางวาจาทางใจนี้เอง ซึ่งการกระทำบุญดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นเครื่องชำระฟอกล้างจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสอาสวะทั้งหลาย อันนับว่าเป็นบุญส่วนเหตุ ทำให้ได้ความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ อันเป็นเหตุให้เกิดความสุข อันเป็นบุญส่วนผล เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้แปลความว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย บุญเป็นชื่อของความสุข ดั่งนี้
การกระทำบุญทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังกล่าวนั้น เมื่อกระทำก็เป็นกิริยาที่ทำ เช่น ศีล ก็ต้องมีกิริยาที่สมาทานศีล ทาน ก็มีกิริยาที่ให้ เช่นให้วัตถุที่พึงให้ต่างๆ แม้การทำบุญอย่างอื่นก็ต้องมีกิริยาที่ทำดังที่กล่าวมา อันกิริยาที่ทำนี้เมื่อทำไปคราวหนึ่งๆ แล้ว ก็ล่วงไปๆ เหมือนอย่างการให้ทาน เช่นการตักบาตรพระ ก็ทำเสร็จกันไปคราวหนึ่งๆ กิริยาที่ทำนั้นก็ล่วงไปๆ แต่ว่ายังมีสภาพที่เรียกว่ากรรม ยังไม่ล่วงไป ยังคงอยู่ หากว่าจะถามว่าคงอยู่ที่ไหน ก็ต้องขอยืมคำว่าจิตมาใช้ ว่าคงอยู่ที่จิตนี้เอง เป็นตัวกรรมที่ยังติดอยู่ และมิใช่แต่บุญเท่านั้น บาปก็เหมือนกัน การทำบาปที่ทำกันครั้งหนึ่งๆ ก็เรียกว่าเป็นกิริยาที่ทำ เช่น จะฆ่าสัตว์ก็ต้องมีกิริยาที่ฆ่า ทำการฆ่า จะลักทรัพย์ก็ต้องมีกิริยาที่ลัก ทำการลัก แต่กิริยาที่ทำนี้ทำคราวหนึ่งๆ แล้วก็ล่วงไปๆ แต่ว่าสภาพที่เรียกว่ากรรม อันเกิดจากกิริยาที่ทำบาปนั้นๆ ยังคงอยู่ ก็คงอยู่ในจิตใจนี้เอง
บุญกรรม บาปกรรม
สำหรับกรรมที่เป็นส่วนบุญคือเกิดจากการทำบุญต่างๆ ก็เรียกว่าเป็นบุญกรรม หรือกุศลกรรม ส่วนกรรมที่เป็นบาปอันเกิดจากการกระทำบาปต่างๆ ก็เรียกว่าบาปกรรม หรืออกุศลกรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทุกคนพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของๆ ตน เราเป็นทายาทรับผลของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักกระทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็จะต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ในที่อื่นอีกว่า บุคคลผู้จะต้องตาย ย่อมถือเอาบุญบาปที่กระทำแล้วไว้ไป ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น กรรมทั้งที่เป็นกุศลกรรม ทั้งที่เป็นอกุศลกรรม ที่ทุกๆ คนได้กระทำไว้ จึงยังเป็นของๆ ตน และติดตนไป ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นั้น ในข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ๕ ข้อ ว่า
เรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น และ เรามีกรรมเป็นของๆ ตน
รวมเป็น ๕ ข้อ ใน ๔ ข้อข้างต้นนั้น ก็เป็นอันได้ทรงสอนว่า นามรูปหรือชีวิตนี้ อันประกอบด้วยร่างกายและจิตใจครองอยู่ ไม่ใช่เป็นของๆ ตน แม้สมบัติพัสถานทั้งหลาย บุคคลซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย ก็ไม่ใช่เป็นของๆ ตน เพราะว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย และต้องพลัดพรากเป็นธรรมดา ถ้าเป็นของๆ ตน ก็จะต้องไม่พลัดพราก จะต้องไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย
ส่วนข้อ ๕ นี้พระองค์ไม่ตรัสอย่างนั้น ตรัสว่ามีกรรมเป็นของๆ ตน อันแสดงว่าบุญบาปที่ทุกคนทำไว้นั้น กิริยาที่ทำก็เสร็จไปๆ คราวหนึ่งๆ แต่ว่าสภาพที่เป็นกรรมยังคงอยู่ ไม่หายไปไม่หมดไป ซึ่งยังติดตนไป
ตามนัยยะพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้นี้ ก็จะทำให้กล่าวได้ว่า ทุกคนเมื่อเกิดมา ก็นำบุญบาปอันเป็นส่วนกรรมที่กระทำไว้แล้วมาด้วย อยู่ในปัจุบันนี้ ก็มีกรรมที่เป็นบุญบาปซึ่งกระทำไว้ติดตนอยู่ และเมื่อร่างกายนี้แตกสลาย ตนก็พาเอาบุญบาปนี้ไป คือพาเอากรรมที่เป็นบุญบาปนี้ไป เพราะฉะนั้นจึงตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่ามีกรรมเป็นของๆ ตน เพื่อว่าจะได้มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายใจ มีความรังเกียจต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป จะได้ไม่กระทำบาป ก่ออกุศลกรรมบาปกรรมขึ้นในตน แต่ให้กระทำบุญ ก่อบุญกรรมหรือกุศลกรรมขึ้นในตน
ความหมายของคำว่าบารมี
อนึ่ง คำว่ากรรมย่อมมีความหมายถึงส่วนที่ยังคงอยู่ ทั้งส่วนบุญทั้งส่วนบาป จึงมีอีกคำหนึ่งคือคำว่า บารมี อันหมายจำเพาะถึงส่วนที่เป็นกุศลกรรม หรือบุญกรรมคือกรรมดี และมีความหมายที่เน้นเข้ามาว่า มิใช่เป็นความดีที่กระทำโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย แต่ว่าหมายถึงกรรมดีที่กระทำด้วยมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะต้องกระทำความดีอันเป็นบุญกรรม กุศลกรรมบ่อยๆ สั่งสมเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมาย เพื่อให้สำเร็จถึงจุดหมายที่ต้องการ
เช่น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงตั้งความปรารถนาเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม ที่แปลว่าธรรมะที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่บารมี ดังที่ได้มีระบุไว้ ๑๐ ประการดังกล่าว แต่ว่าการบำเพ็ญความดีอันเป็นบุญกรรม เป็นกุศลกรรมเพื่อให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้นจะทำเพียงวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว ชาติเดียวให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้ เพราะว่าจะต้องชำระจิตใจนี้ให้สิ้นอาสวะกิเลสทั้งสิ้น ที่เรียกว่าเป็นขีณาสวะ คือเป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วนั้นส่วนหนึ่ง ทั้งจะต้องทำความดีเพิ่มพูนปัญญาสามารถต่างๆ เพื่อที่จะทรงประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลกได้ เพราะว่าความเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นนั้น มิใช่ว่าจะปฏิบัติเพื่อให้สิ้นกิเลสทั้งปวงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังจะต้องประกอบด้วยความรู้ความสามารถในอันที่จะประกาศตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น ตั้งบริษัท ๔ ขึ้น
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงทำกิเลสให้สิ้น เรียกว่าเป็นพระอรหันต์คือสิ้นกิเลส ยังทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ทศพลญาณ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา เป็นต้น อีกเป็นอันมาก จึงทำให้ทรงสามารถประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพระพุทธศาสนา และบริษัท ๔ ขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องทรงบำเพ็ญความดีต่างๆ ดังที่ยกขึ้นไว้ ๑๐ ประการนั้น ตลอดเวลาช้านาน ยิ่งกว่าสาวกบารมี ซึ่งสาวกบารมีนั้นไม่ต้องตรัสรู้ด้วยตนเอง ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ก็เป็นผู้รู้ตาม และไม่สามารถจะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นได้ ได้แต่สอนตามพระพุทธเจ้า และช่วยรักษาพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นไว้สืบต่อมา เพราะฉะนั้น บารมีที่เป็นสาวกบารมีนี้ จึงน้อยกว่าบารมีที่เป็นพุทธบารมี หรือพุทธภูมิ
เพราะฉะนั้นคำว่าบารมีนี้ท่านจึงแสดงว่า มาจากคำว่าปรมะ ที่แปลว่าอย่างยิ่ง หรือแปลว่ายอด อันหมายความว่ากระทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงยอด และแปลว่าฝั่ง ก็คือถึงฝั่ง อันหมายถึงว่าจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ที่ตั้งใจเอาไว้ ความดีที่ทำสั่งสมให้ยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับดั่งนี้แหละ เพื่อผลที่ตั้งอธิษฐานจิตเอาไว้นี้แหละ เรียกว่าบารมี และแม้ความดีที่ทุกๆ คนกระทำ ถึงแม้ว่าจะมิได้มีจุดหมายดังกล่าว แต่ว่าทำสะสมเพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่นทำทานอยู่เสมอ รักษาศีลอยู่เสมอ ปฏิบัติ (เริ่ม)…ความดีข้ออื่นอยู่เสมอ ทั้งด้านทานศีลภาวนา หรือว่าศีลสมาธิปัญญา หรือว่ามรรคมีองค์ ๘ เมื่อปฏิบัติกระทำเพิ่มเติมอยู่เสมอๆ ความดีที่กระทำไว้เสมอๆ นี้ ก็เพิ่มเติมยิ่งขึ้นๆ ก็เรียกว่าบารมีได้เหมือนกัน
ความหมายของคำว่าอาสวะ
แม้ในด้านความชั่วที่กระทำไว้ ก็เพิ่มเติมขึ้นได้เสมอๆ เหมือนกัน ตลอดจนถึงกิเลส กิเลสกองโลภ กองโกรธ กองหลง ที่จิตใจนี้ประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง อยู่บ่อยๆ โลภ โกรธ หลงก็เพิ่มขึ้นๆ ได้อีกเหมือนกัน และโลภ โกรธ หลงที่เกิดขึ้นคราวหนึ่งๆ ก็ดับไปคราวหนึ่งๆ แต่ว่ายังทิ้งตะกอนอยู่ในจิตเรียกว่า อาสวะ ที่แปลว่าดอง หรือว่าหมักหมม เรียกว่า อนุสัย ที่แปลว่านอนจม หรือหมักหมม อาสวะอนุสัยนี้ตรงกันข้ามกับบารมี บารมีเป็นส่วนดีที่เก็บไว้ อาสวะอนุสัยเป็นส่วนชั่วที่เก็บไว้
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นอันมาก แม้ว่าจะทรงได้ประสบผลตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สิ้นภาระหน้าที่ๆ จะต้องกระทำความดี เพื่อสิ้นกิเลส เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปอีกแล้ว แปลว่าทรงบรรลุถึงสุดดีสุดชั่ว เพราะว่าดีนั้นก็เพื่อชำระชั่ว เมื่อทำดีถึงที่สุดก็ชำระชั่วได้หมดสิ้น บำเพ็ญบารมีถึงที่สุดก็ชำระอาสวะกิเลสได้หมดสิ้น ก็เป็นอันว่าสิ้นทั้งดีทั้งชั่ว คือสุดดีสุดชั่ว ไม่ต้องทำดีเพื่อละชั่วกันต่อไปอีก เพราะว่าชั่วหมดแล้ว ก็เป็นอันว่าสุดดีแล้ว ก็สุดชั่วแล้ว จึงมีคำเรียกท่านผู้อยู่ในภาวะเช่นนี้ว่า ลอยบุญลอยบาปแล้ว คือพระอรหันต์ทั้งหลาย แม้เช่นนั้นก็ยังทรงบำเพ็ญพุทธกิจประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น บารมีที่ทรงกระทำไว้ แม้ว่าจะถึงที่สุดแล้ว ก็ยังอำนวยผลให้บังเกิดความผาสุกสะดวกต่างๆ ทั้งที่เป็นไปในทางกาย ทั้งที่เป็นไปในทางจิตใจ หรือทั้งที่เป็นส่วนโลกิยะ ทั้งที่เป็นส่วนโลกุตระ
พระพุทธเจ้าทรงได้รับความเคารพนับถือบูชาจากโลกอย่างสูงสุด ได้ทรงปราศจากความขัดข้องแร้นแค้น ทั้งทางพระวรกาย ทั้งทางพระหฤทัย ทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้สำเร็จตามที่ทรงตั้งสังขาราธิษฐาน คืออธิษฐานพระทัยดำรงอายุสังขาร เพื่อประกาศพระพุทธศาสนา ให้พระศาสนาของพระองค์ตั้งมั่นขึ้นในโลก ประดิษฐานบริษัททั้ง ๔ ให้บริษัททั้ง ๔ บังเกิดขึ้นในโลก ก็เป็นอันว่าได้ทรงประสบความสำเร็จ ตามพระพุทธาธิษฐาน จึงได้ทรงปลงอายุสังขาร และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในเมื่อได้ทรงประสบความสำเร็จในการประกาศพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์แล้ว เหล่านี้ก็เพราะพระบารมีนี้เอง ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นอย่างยิ่งยอด เพราะฉะนั้น จึงทรงได้พระนามว่าพระภคยะคือพระผู้มีพระบารมี มีพระบารมีเป็นเยี่ยมยอด
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและปฏิบัติทำความสงบทางจิตใจต่อไป