แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าอนุตโรปุริสทัมสารถิ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึกไม่มียิ่งขึ้นไปกว่า ได้แสดงมาแล้ว ๒ ครั้งแต่ยังไม่หมดอธิบาย แม้โดยมีบาลีพระพุทธภาษิตยกขึ้นสาธก จึงจะแสดงอธิบายต่อในวันนี้ ด้วยยกพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ทรงเป็นอนุตโรปุริสทัมสารถิ สารถีฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก ไม่มียิ่งขึ้นไปกว่า ได้ประทานพระพุทธาธิบายว่า ช้างที่ควรฝึก ม้าที่ควรฝึก โคที่ควรฝึก อันบุคคลผู้ฝึกให้วิ่งไป ย่อมวิ่งไปในทิศทั้งหลายได้เพียงทิศเดียว คือในทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้ เท่านั้น แต่บุคคลที่ควรฝึก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกให้แล่นไป ย่อมแล่นไปได้ในทิศทั้ง ๘ ดั่งนี้ และก็ได้ประทานพระพุทธาธิบายว่า ทิศทั้ง ๘ นั้นก็คือวิโมกข์ ๘
วิโมกข์ ๘
อันได้แก่
ข้อ ๑ ปฏิบัติทำสมาธิกำหนดรูปนิมิต ย่อมเห็นรูปทั้งหลายในภายนอก
ข้อ ๒ ปฏิบัติทำสมาธิไม่กำหนดรูปนิมิตในภายใน เห็นรูปทั้งหลายในภายนอก
ข้อ ๓ ปฏิบัติทำสมาธิน้อมไปว่างาม
ข้อ ๔ ล่วงรูปสัญญาความกำหนดหมายว่ารูป ดับปฏิฆะสัญญาความกำหนดหมายสิ่งที่เป็นที่กระทบได้ ก็คือรูป ไม่ใส่ใจสัญญาคือความกำหนดหมายต่างๆ เข้าถึงอารมณ์ว่าอากาสไม่มีที่สุด อันเรียกว่า อากาสานัญจายตนะ
ข้อ ๕ ล่วงอารมณ์ว่าอากาศไม่มีที่สุด เข้าถึงอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุด
ข้อ ๖ ล่วงอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สุด เข้าถึงอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี
ข้อ ๗ ล่วงอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี เข้าถึงอารมณ์ที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ และ
ข้อ ๘ ล่วงอารมณ์นั้น ดับสัญญาเวทนา ดั่งนี้
นี้เป็นความในพระพุทธาธิบายที่ตรัสไว้ ว่าได้ทรงฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก ให้แล่นไปในทิศทั้ง ๘ ได้ ในคราวเดียว ก็คือในวิโมกข์ทั้ง ๘
สมาธิ ฌาน สมาบัติ
ท่านได้อธิบายหมวดธรรมนี้ไว้โดยความว่า คำว่า วิโมกข์ นั้นในที่นี้เป็นชื่อของสมาธิ หรือฌาน อันหมายถึงสมาธิที่แนบแน่น หรือสมาบัติ ก็หมายถึงการเข้าสมาธิที่แนบแน่น ซึ่งแปลได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเครื่องพ้นจากธรรมะที่เป็นข้าศึกทั้งหลาย ก็คือจากนิวรณ์กิเลสที่กั้นจิตไว้มิให้ได้สมาธิ มีกามฉันท์เป็นต้น และทำปัญญาให้อ่อนกำลังลง เหล่านี้เรียกว่าธรรมะที่เป็นข้าศึก ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นได้จากธรรมะที่เป็นข้าศึกดั่งนี้ ก็คือสมาธิดังกล่าว
อีกอย่างหนึ่งแปลว่า น้อมไปด้วยดี คือเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้สมาธิดำเนินไปสะดวกไม่ขัดข้อง ที่เปรียบเหมือนอย่างว่า ทารกน้อยที่นอนหลับอยู่บนตักของบิดาหรือมารดา นอนสบาย เพราะตักของมารดาหรือบิดานั้นนุ่ม และก็เต็มใจที่จะให้ลูกน้อยนอนหลับอยู่บนตักของตน เด็กที่นอนหลับนั้นจึงหลับอย่างสบาย
สมาธิที่เป็นไปสะดวกในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ ดั่งนี้เรียกว่าวิโมกข์ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติที่ได้ความสะดวกในการปฏิบัตินี้ ได้สมาธิยิ่งๆ ขึ้นไปโดยสะดวก ตั้งแต่อุปจาระสมาธิ สมาธิเฉียดๆ จนถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น จนถึงฌานหรือสมาบัติดังกล่าว ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นด้วยดีจากธรรมะที่เป็นข้าศึก หรือว่าข้อปฏิบัติที่ทำให้สมาธิดำเนินไปได้สะดวก ที่เรียกว่าน้อมไปเป็นไปได้สะดวก ตั้งแต่เบื้องต้นยิ่งๆ ขึ้นไปดังนี้เรียกว่าวิโมกข์
รูปนิมิต
และวิโมกข์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้นี้ ข้อ ๑ คือทำสมาธิกำหนดรูปนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายในรูป มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ได้แก่สมาธิที่ทุกคนปฏิบัติกันอยู่เป็นพื้นเช่น กายคตาสติ สติที่กำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออกนั้นก็เป็นรูป เมื่อกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็เรียกว่าเป็นนิมิตของสมาธิ คือเป็นเครื่องกำหนดของสมาธิ เป็นเครื่องหมายของจิตสำหรับที่จะตั้งเป็นสมาธิ แม้กายคตาสติ สติที่ไปในกาย กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นการกำหนดรูปนิมิต ( เริ่ม ๘๕/๒ ) แม้ในข้ออื่น เช่นกำหนดกสิณ เช่นวรรณกสิณคือกำหนดสี สำหรับเป็นเครื่องจูงใจให้ตั้งเป็นสมาธิ เช่นกำหนดสีเขียวสีเหลืองสีแดงสีขาว
ในสิ่งที่มีสีดังกล่าวเรียกว่าวรรณกสิณ กสิณที่เกี่ยวด้วยสีเพื่อให้จิตตั้งเป็นสมาธิ ก็เป็นรูปสมาธิ แม้ว่าในการกำหนดปฏิบัติแผ่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันเรียกว่าพรหมวิหารธรรม ซึ่งเป็นไปในสัตว์บุคคลทั้งหลายโดยเจาะจงบ้าง โดยไม่เจาะจงบ้าง สำหรับพรหมวิหารธรรมมีเมตตาเป็นต้นนั้น เป็นภาวะในจิตใจ แต่ว่าต้องตั้งอยู่ในสัตว์บุคคลทั้งหลายซึ่งเกี่ยวกับรูป เพราะฉะนั้นจึงจัดเข้าในรูปนิมิต แม้ว่าเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธรรมานุสสติระลึกถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสสติระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ก็ยังมีคุณเป็นที่กำหนดหมายของจิตให้เป็นสมาธิ ซึ่งก็นับเนื่องอยู่ว่าเป็นรูปเหมือนกัน เพราะยังมีปรากฏเป็นภาวะหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นที่หมายอยู่ในจิตใจ ก็นับว่าเป็นรูปนิมิต
เพราะฉะนั้นคำว่า รูป นี้จึงมีความหมายถึงสิ่งที่เป็นวัตถุ ใช้เป็นที่ตั้งกำหนดทำสมาธิ หรือแม้ว่าไม่เป็นวัตถุ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังเนื่องอยู่ในวัตถุ ก็นับว่าเป็นรูปด้วย ดั่งเช่นที่ตรัสเรียกว่า ปิยะรูป สาตะรูป ซึ่งแม้ที่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เช่นเป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นวิตก เป็นวิจาร ก็นับว่าเป็นปิยรูปสาตรูปด้วยเหมือนกัน เพราะว่าแม้ตัณหาเป็นต้นนั้น ก็เป็นไปในรูปเสียงเป็นต้น ยังเนื่องอยู่ด้วยรูป เพราะฉะนั้น จึงรวมเรียกว่าเป็น รูปนิมิต ทั้งหมด
รูปฌาน
และผู้ที่ได้สมาธิด้วยกำหนดรูปนิมิตดั่งนี้ ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นแน่วแน่ อันเรียกว่า ฌาน ที่แปลความเพ่ง คือว่าเพ่งแน่วแน่ลงไป ก็รวมเข้าว่าเป็นรูปฌาน ฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ หรือฌานที่กำหนดรูปนิมิต พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทำสมาธิกำหนดรูปนิมิตดั่งนี้ และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้เห็นรูปทั้งหลายที่กำหนดในสมาธินั้นในภายนอกได้ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๑
และข้อที่ ๒ นั้นก็คือมิได้กำหนดรูปนิมิตในภายใน คือมิได้กำหนดผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น ที่เป็นภายใน หรือว่ามิได้กำหนดกสิณที่เป็นวรรณะกสิณ คือกสิณที่เกี่ยวกับสี สีเขียวสีเหลืองสีแดงสีขาว ของผมขนเล็บฟันเป็นต้น ของตนเอง แต่กำหนดในภายนอก แม้ดั่งนี้ก็ปฏิบัติได้ และก็เห็นรูปทั้งหลายในภายนอก
ข้อ ๓ แม้มิได้ปฏิบัติตามข้อ ๑ ข้อ ๒ แต่ปฏิบัติทำสมาธิกำหนดแผ่เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาออกไป ในสัตว์บุคคลทั้งหลาย เจาะจงบ้าง ไม่เจาะจง จนถึงไม่มีประมาณบ้าง ดั่งนี้ สัตว์บุคคลทั้งหลายก็ย่อมไม่ปรากฏเป็นปฏิกูล ด้วยอำนาจของเมตตาเป็นต้นที่แผ่ออกไปนั้น คือปรากฏว่าสัตว์บุคคลทั้งปวงที่แผ่เมตตาออกไปนั้นงดงาม ไม่ปฏิกูล ด้วยอำนาจของเมตตาเป็นต้น แต่มิใช่อำนาจของกาม ถ้ากามเกิดขึ้นเมื่อไร เมตตาสมาธิก็ตกไปเมื่อนั้น แต่เมื่อเมตตาสมาธิบังเกิดขึ้นในสัตว์บุคคลทั้งหลาย สัตว์บุคคลทั้งหลายก็ไม่ปรากฏว่าเป็นปฏิกูล แต่ปรากฏว่างาม งามด้วยเมตตา มิใช่งามด้วยกามกิเลส
และแม้ว่าปฏิบัติทำกสิณให้เป็นเครื่องจูงใจให้ได้สมาธิ กำหนดสีเขียวสีเหลืองสีแดงสีขาวดังกล่าวอันเป็นสีที่บริสุทธิ์ ก็ชื่อว่าเป็นการที่ปฏิบัติทำสมาธิให้น้อมไป เป็นความงามเช่นเดียวกัน ข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ดั่งที่กล่าวมานี้ ก็นับอยู่ในข้อรูปสมาธินั้นเอง
อากาสานัญจายตนะ
ต่อจากนั้นจึงได้ตรัสข้อ ๔ ที่ก้าวล่วงรูปสัญญา ความกำหนดหมายว่ารูป ที่เป็นรูปนิมิตดังกล่าว ดับปฏิฆะสัญญา ก็คือเมื่อล่วงรูปได้ ก็ดับปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งได้ เพราะเมื่อมีรูป รูปนี้เองเป็นที่ตั้งของความกระทบกระทั่ง เช่นว่าเมื่อมีรูปอยู่ขวางหน้า เช่นต้นไม้ หรือวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งขวางหน้าอยู่ เวลาเดินไปก็ย่อมจะต้องกระทบกับสิ่งนั้น ที่ขวางหน้าอยู่นั้น แต่ว่าถ้าข้างหน้านั้นไม่มีรูปที่เป็นวัตถุอะไรขวางอยู่ การเดินไปก็ไม่ต้องกระทบกระทั่งอะไร เพราะฉะนั้นเมื่อล่วงรูปสัญญาได้ ก็ดับปฏิฆะสัญญาความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่งได้ และก็ไม่ใส่ใจถึงสัญญาคือความกำหนดหมายอะไรต่างๆ ทั้งหมด ดั่งนี้ ก็ทำสมาธิให้เข้าถึงอารมณ์ว่า อากาสไม่มีที่สุด อากาสไม่มีที่สุด อากาสก็คือช่องว่างไม่มีที่สุด อันเรียกว่าอากาสานัญจายตนะ ก็เป็นอันว่าเข้ามาสู่ อรูปสมาธิ สมาธิที่ไม่กำหนดรูปเป็นอารมณ์ อันนับว่าเป็นข้อที่ ๔
วิญญาณัญจายตนะ
และข้อที่ ๕ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ล่วงอารมณ์ว่าอากาสไม่มีที่สุด มากำหนดอารมณ์ว่าวิญญาณคือความรู้ไม่มีที่สุด อันเรียกว่าวิญญาณัญจายตนะ ก็นับว่าเป็นข้อที่ ๕
อากิญจัญญายตนะ
ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ก็ล่วงข้อที่ ๕ ที่กำหนดว่าวิญญาณคือความรู้ไม่มีที่สุด มากำหนดอารมณ์ว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี อันเรียกว่าอากิญจัญญายตนะ อันเป็นข้อที่ ๖
เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ล่วงข้อที่ ๖ นี้ มาถึงข้อที่ ๗ ก็คือกำหนดในอารมณ์ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี จนถึงมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ก็คือว่า จะว่ามีสัญญาคือความกำหนดหมายอย่างจะแจ้งก็ไม่ได้ หรือว่าจะไม่มีสัญญาก็ไม่ได้ เพราะจะต้องมีความกำหนดหมายอยู่ แต่ว่าสิ่งที่กำหนดหมายนี้ละเอียดเหลือเกิน น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มีนั้นก็เป็นละเอียดอยู่แล้ว กำหนดอยู่ที่น้อยหนึ่งนิดหนึ่งนั้น อันเป็นข้อที่ ๖ แต่ข้อที่ ๗ นี้ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น คือตัวสัญญาคือความกำหนดหมายนั้น มีเหมือนไม่มี แต่ว่าสติมีอยู่สมบูรณ์ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๗ ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ข้อที่ ๗ นี้เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ
สัญญาเวทยิตนิโรธ
ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็ดับสัญญาเวทนาอันเรียกว่า สัญญาเวทยิตะนิโรธ อันเป็นข้อที่ ๘ เหล่านี้เป็นที่สุดของสมาธิ อันเรียกว่าวิโมกข์ ซึ่งมี ๘ ข้อ
พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้ทำสมาธิ คือสอนปุริสทัมมะ บุรุษบุคคลที่ควรฝึกนี้ ให้วิ่งไปในทิศทั้ง ๘ คือในวิโมกข์ทั้ง ๘ นี้ได้ เพราะฉะนั้น จึงได้พระนามว่าทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีที่จะยิ่งขึ้นไปกว่า
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป