แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงอธิบายพระพุทธคุณนำในบทว่าพุทโธ ในความหมายว่าผู้ตื่น พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้รู้จบสิ้น เป็นผู้รู้พ้น จนทรงเป็นผู้ตื่นจากความหลับคือกิเลส อันได้แก่อวิชชาความไม่รู้ในสัจจะ อันเป็นญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ โมหะความหลงถือเอาผิด พร้อมทั้งกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิง จึงทรงเป็นผู้พ้นจากมายา สิ่งหลอกลวง หรือความหลอกลวง คือกิเลส ฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ตื่นด้วยความรู้อย่างสมบูรณ์ในญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้คือสัจจะทั้งหลาย
มายาของโลก
อันมายาที่หลอกลวงหรือความหลอกลวงนี้ เป็นส่วนทางกายก็มี เป็นส่วนทางจิตก็มี ที่เป็นส่วนทางกายนั้น ดังเช่นความรู้ทางประสาทของร่างกายทั้งหลาย ที่รวมเข้าก็เป็น จักขุประสาท ประสาทตาที่ทำให้เห็น หรือที่เป็นเครื่องเห็น โสตะประสาท ประสาทหูที่ทำให้ได้ยิน หรือเป็นเครื่องได้ยิน ฆานะประสาท ประสาทจมูกที่ทำให้ได้กลิ่น ทราบกลิ่น หรือเป็นเหตุทราบกลิ่น ชิวหาประสาท ประสาทลิ้นที่ทำให้ได้รสทราบรส หรือเป็นเครื่องได้รสทราบรส กายประสาท ประสาทกายที่ทำให้ได้รับถูกต้อง หรือทราบสิ่งถูกต้อง
ประสาททั้ง ๕ นี้ย่อมรับวิสัยคืออารมณ์ อันได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสและโผฏฐัพพะอยู่เป็นประจำ ความรู้ที่ได้ทางประสาททั้ง ๕ นี้ ปรากฏเป็นการเห็น การได้ยิน การได้ทราบกลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ ของทุกๆ คนอยู่เป็นประจำ และความรู้ทางประสาททั้ง ๕ ดังกล่าวตามที่ปรากฏ เช่นการเห็นรูป ก็เป็นรูปที่งามบ้าง ไม่งามบ้าง หรือที่เรียกว่าถูกตาบ้าง ไม่ถูกตาบ้าง ความรู้ทางหูในเสียง ทางโสตะประสาทก็ปรากฏเป็นเสียง ที่ไพเราะบ้าง ไม่ไพเราะบ้าง ที่แรงบ้าง ที่เบาบ้าง ที่ถูกหูบ้าง ไม่ถูกหูบ้าง ความรู้ที่ได้ทางจมูก ทางประสาทคือกลิ่นต่างๆ ก็เป็นกลิ่นที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง ความรู้ที่ได้ทางลิ้น หรือชิวหาประสาทก็ปรากฏเป็นรส ที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง ที่อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง ความรู้ที่ได้ทางกาย คือกายประสาท ก็คือโผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้องต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งถูกต้องที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง
ความรู้ที่ได้เหล่านี้ดังกล่าว กล่าวได้ว่าเป็นมายาอย่างหนึ่ง ยังไม่ใช่สัจจะคือความจริง เป็นมายาที่ทำให้มีความรู้สึกว่าน่าชอบใจ ไม่น่าชอบใจดังกล่าวนั้น ซึ่งความจริงแล้วลักษณะที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจดังกล่าวนั้น ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทั้งหลายไม่มี แต่ว่าทุกคนนั้นย่อมติดอยู่ในมายา ของประสาททั้งหลาย ของวิสัยหรืออารมณ์ของประสาททั้งหลาย ทางร่างกายดังกล่าวนั้นกันอยู่โดยทั่วไป ย่อมไม่ล่วงไปถึงสัจจะคือความจริง
ในข้อนี้จะยกตัวอย่างให้เห็นได้สักข้อหนึ่ง คือความรู้ที่ได้ทางชิวหาประสาท ประสาทลิ้น เป็นรสที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง เป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสไม่เผ็ด รสหวาน รสขม รสเฝื่อน ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งก็เป็นความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ในเมื่อบริโภคอาหาร แต่อันที่จริงนั้นรสต่างๆ ดังกล่าวนั้น ปรากฏอยู่แค่ลิ้นเท่านั้น ที่บุคคลเมื่อบริโภคอาหาร เคี้ยวอาหาร ลิ้นก็ทราบรสเหล่านี้ แต่เมื่อเคี้ยวอาหาร และผ่านลิ้นเข้าไปแล้ว รสเหล่านี้จะไม่ปรากฏเลย ดังเมื่อผ่านลิ้นล่วงลำคอเข้าไป ความรู้สึกในรสเหล่านี้หายไปหมด ไม่มีให้รู้สึกว่าเปรี้ยวเค็มหวานขมอีกเลย เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในรสต่างๆ ดังกล่าวจึงอยู่แค่ลิ้น ผ่านลิ้นไปแล้วก็หายหมด
รูปที่เห็นทางจักขุประสาท เป็นรูปที่น่าชอบใจบ้าง ไม่น่าชอบใจบ้าง ก็เหมือนกัน เมื่อผ่านเข้าไปแล้วก็หายหมด ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูกก็เหมือนกัน ทางกายก็เหมือนกัน ประสาทเหล่านี้เองที่ทำให้รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ ที่น่าชอบใจบ้างไม่น่าชอบใจบ้าง และความรู้ดังกล่าวนี้ก็เป็นมายา ไม่ใช่เป็นความรู้จริง คนทั้งหลายก็ติดอยู่ในมายานี้เท่านั้น มายาของตาหูจมูกลิ้นกายใจ ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราว และที่กล่าวมานั้น ๕ ข้อข้างต้น ยังไม่ได้กล่าวถึงข้อมโนคือใจที่คู่กับธรรมะคือเรื่องราว แต่เมื่อยกขึ้นเป็นประสาทท่านก็แสดงไว้เพียง ๕ มโนนั้นไม่แสดงว่าเป็นประสาท แต่อันที่จริงนั้นประสาท ๕ ข้างต้นจะปรากฏขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยมีมโนข้อที่ ๖ นี้ เข้าประกอบอยู่ด้วยทุกข้อ คือจะต้องมีใจนี่เข้าประกอบด้วย จึงจะเป็นความรู้ขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงยกขึ้นแสดงเพียง ๕ ข้อข้างต้น แต่อันที่จริงนั้นก็ ๖ ข้อนั่นแหละ
มายาของประสาททั้ง ๕
เมื่อบุคคลติดอยู่ในมายาของประสาททั้ง ๕ ของวิสัยคืออารมณ์ทั้ง ๕ ดังกล่าวนั้น จึงได้มีความหลงยึดถืออยู่ในความรู้ทางประสาทเหล่านี้ และในสิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งของความรู้นั้น คือมีความหลงเข้าใจผิดอยู่ในรูปในเสียงในกลิ่นในรสในโผฏฐัพพะ นี้เป็นตัวอวิชชาด้วย ซึ่งนับว่าเป็นตัวต้นเดิม คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง เมื่อไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง จึงมีโมหะคือความหลงถือเอาผิด ทำให้คนทั้งหลายต้องขวนขวายสร้างแสวงหา และบริโภควิสัยหรืออารมณ์ ที่น่าปรารถนาพอใจ เช่น ต้องการรูปที่น่าปรารถนาพอใจก็คือที่งดงาม ต้องการเสียงที่น่าปรารถนาพอใจคือที่ไพเราะ ต้องการกลิ่นที่น่าปรารถนาพอใจ ต้องการรสที่น่าปรารถนาพอใจ ต้องการโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่น่าปรารถนาพอใจ จึงได้สร้างได้แสวงหาได้รวบรวมสิ่งเหล่านี้ที่น่าปรารถนาพอใจ มาเพื่อบริโภคใช้สอยต่างๆ โดยที่ไม่ได้นึกว่าทั้งหมดล้วนเป็นมายา คือไม่ใช่เป็นตัวความจริง
ฉะนั้น มายาทางประสาทของร่างกายดังกล่าวจึงเป็นมายาโลกอย่างหนึ่ง ที่ครอบงำโลกอยู่โดยทั่วไป ทำให้วิสัยหรืออารมณ์ของมายาโลกเหล่านี้ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะดังกล่าวนั้น เป็นกาม
มายาของจิตใจ
(เริ่ม)...ดังที่เรียกว่ากามคุณบ้าง กามคุณารมณ์บ้าง ที่ครองใจสัตวโลกทั้งหลายอยู่ กันอยู่โดยทั่วไป และเมื่อกล่าวดั่งนี้จึงล่วงเข้ามาถึงมายาของจิตใจ ก็คือตัวอวิชชาความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริง โมหะคือความหลงซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐาน อันทำให้สัตวโลกนี้หลงรักบ้าง หลงชังบ้าง กลายเป็นกิเลส ๓ กองขึ้นมา คือเป็นราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้กองหนึ่ง โทสะความโกรธแค้นขัดเคืองกองหนึ่ง โมหะความหลงอีกกองหนึ่ง
แต่อันที่จริงนั้นความหลงย่อมมีอยู่เป็นพื้นฐาน อันสืบมาจากอวิชชาดังกล่าว แต่ก็อาจแยกได้เป็น ๓ กองเหมือนกัน โดยที่เวทนาคือการเสวยอารมณ์ของบุคคล หรือของสัตวโลกนั้น ย่อมปรากฏเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เมื่อได้ประสบอารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ทำให้ได้เสวยสุข ได้ประสบสุข ได้สุขเวทนา อันนี้ก็เป็นที่ตั้งของราคะ หรือโลภะ เมื่อประสบอารมณ์อันไม่ปรารถนาพอใจก็เป็นที่ตั้งของโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง เมื่อประสบอารมณ์อันเป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้รู้สึกว่าพอใจหรือไม่พอใจ ก็และไม่ได้พิจารณาให้เห็นตามสัจจะคือความจริง ว่าเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ก็เป็นที่ตั้งของโมหะคือความหลง คือแม้ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เป็นกลางๆ ดั่งนั้นก็ตาม แต่ก็ยังสยบติดอยู่ ไม่รู้ ไม่พ้นไปได้
อาการของตัณหา
เพราะฉะนั้น จึงอาจจำแนกกิเลสออกเป็น ๓ กองได้ดั่งนี้ และกิเลสทุกๆ กองนั้นก็กล่าวได้ว่าเมื่อบังเกิดขึ้น ก็ล้วนทำให้จิตใจนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายต่างๆ ไปในอารมณ์เหล่านั้น อาการที่จิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายต่างๆ นั้นคือตัณหา ที่แปลกันว่าความดิ้นรนของจิตใจ หรือแปลว่าความทะยานอยาก ซึ่งในความหมายนั้นไม่ใช่หมายถึงว่าอยากที่เป็นราคะความติดใจยินดี หรือโลภะโลภอยากได้อย่างเดียว แต่หมายถึงทุกอย่าง เพราะว่าเมื่อเสวยหรือประสบสุข จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปในสุข เมื่อเสวยหรือประสบทุกข์ จิตก็ดิ้นรนกระสับกระส่ายกวัดแกว่งไปในทุกข์ เมื่อประสบหรือเสวยอารมณ์ที่เป็นกลางๆ จิตก็ดิ้นรนกวัดแกว่ง กระสับกระส่ายไปในอารมณ์ที่เป็นกลางๆ นั้น คือว่าติดอยู่ไม่พรากออก และก็ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ด้วย ดังที่ปรากฏว่าคิดไปต่างๆ ปรุงไปต่างๆ อาการที่จิตคิดไปต่างๆ ปรุงแต่งไปต่างๆ ในอารมณ์ นี่แหละเป็นตัวตัณหาที่มีอยู่เป็นประจำ
ทุกขสมุทัย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสยกเอาตัณหาขึ้นมาแสดงอีกอย่างหนึ่ง และทรงแสดงยกขึ้นเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะว่าตัณหานี้ย่อมมีครอบไปในจิตทั้งปวงที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส นับตั้งแต่อวิชชาลงมา จนถึงกองโลภหรือกองราคะ กองโทสะกองโมหะดังกล่าวนั้น จิตย่อมมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพราะความผูกพันเพราะความติดปรากฏ และตัณหานี้เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดความผูกพันความติดด้วย ความติดความผูกพันก็สนับสนุนให้เกิดตัณหาด้วย เพิ่มตัณหาด้วย เพราะฉะนั้น หากว่าจะเรียกแยกเป็นตัณหาเป็นอุปาทานความดิ้นรนความยึดถือก็ได้ รวมกันเข้าก็ได้ เมื่อยกขึ้นมาข้อเดียว ก็ต้องแปลว่ามีทั้งสองข้อรวมกันอยู่ในจิต
เหล่านี้ล้วนเป็นมายาของจิตใจทั้งนั้น ที่สัตวโลกตกอยู่ในอำนาจของมายาดังกล่าว และมายาทางจิตใจนี้ ก็สืบมาจากมายาของร่างกาย ของประสาททางร่างกาย ดังกล่าวมาข้างต้น มายาของประสาททางร่างกาย ก็เป็นเครื่องให้เกิดมายาทางจิตใจ เพิ่มมายาทางจิตใจ เป็นอันว่าทั้งสองนี้ประกอบอยู่ด้วยกัน เพราะเหตุที่ว่าสัตวโลกนั้นยังมีอวิชชาความไม่รู้ในสัจจะคือความจริงดังกล่าวนี้ เป็นเหตุสำคัญ จึงมีโมหะคือความหลงติดอยู่
เพราะฉะนั้น ความรู้ความเห็นความคิดของจิต ของสัตวโลก จึงเป็นไปตามอำนาจแห่งมายาของโลก มายาของจิตใจดังกล่าว ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้คิดตามสัจจะที่เป็นตัวความจริง เพราะฉะนั้น จึงเท่ากับไม่รู้ เท่ากับหลับไม่ตื่น บางทีก็หลับสนิทไม่ฝัน บางทีก็หลับฝัน แต่สิ่งที่ฝันเห็นนั้น ก็ไม่ใช่เป็นสัจจะคือความจริง เป็นความฝัน นี้หมายถึงว่าการหลับการฝันที่เป็นธรรมดาของบุคคล คือบุคคลเมื่อหลับ หลับไม่ฝันก็ไม่รู้อะไร เมื่อฝันก็รู้ รู้ในความฝัน แต่นั่นก็เป็นฝันไม่ใช่เป็นความจริง เมื่อตื่นขึ้นมาสิ่งที่ฝันนั้นก็หายหมด ตื่นขึ้นมาแล้วจึงรู้ว่านั่นฝันไป และสิ่งที่ปรากฏในความฝันนั้นก็ไม่มีจริง เป็นความฝันทั้งสิ้น แต่ว่าจะมารู้ได้ในเมื่อตื่นขึ้นมา ในขณะที่กำลังหลับอยู่นั้นหารู้ว่าฝันไม่ คิดว่าจริงในความฝัน ตื่นขึ้นมาจึงรู้ ฉันใดก็ดี
สัตวโลกเหมือนอย่างหลับฝัน
สัตวโลกเรานี้เมื่อตกอยู่ในอำนาจของมายาโลกมายาจิตใจดังกล่าวนั้น จึงเหมือนอย่างหลับ กำลังหลับอยู่ และบางทีก็หลับฝัน ก็ปรากฏในความฝันว่า รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง ที่ประสบพบพาน น่าปรารถนาพอใจบ้าง ไม่น่าปรารถนาพอใจบ้าง แล้วก็ขวนขวายแสวงหาบริโภคกันต่างๆ ก็มีความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง แต่ว่าสุขนั้นน้อย ทุกข์มาก ที่ประสบกันอยู่
เหล่านี้เหมือนอย่างกำลังฝันอยู่ทั้งนั้น เป็นความฝันทั้งตื่น ด้วยอำนาจของอวิชชาโมหะที่ครองใจ จึงตกอยู่ในอำนาจมายาโลกมายาของจิตใจ เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่าสัตวโลกต่างพากันดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ในอารมณ์โลกทั้งหลาย ต่างมีความยึดถืออารมณ์โลกทั้งหลายว่า นั่นน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ นั่นไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ นั่นเป็นตัวเรา นั่นเป็นของๆ เรา และครั้นเมื่ออารมณ์โลกเหล่านั้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จึงได้เกิดโสกะแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจต่างๆ ไขว่คว้าในสิ่งที่ปรารถนาต้องการ ผลักไสไปในสิ่งที่ไม่ปรารถนาต้องการ และเมื่อไขว่คว้าได้บ้างก็หัวเราะชอบใจ สบายใจ เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์โทมนัส คิดจะผลักออกไปในสิ่งที่ไม่ชอบ ผลักออกไปได้ก็ดีใจ ผลักไปไม่ได้ก็เสียใจ ต้องหัวเราะบ้าง ต้องร้องไห้กันอยู่บ้าง เป็นไปกันอยู่ดั่งนี้ ในความฝันทั้งนั้น เพราะเหตุที่ยังไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง จิตจึงยังมีอวิชชา ยังมีโมหะครอบครองอยู่ จึงเป็นไปดั่งนี้ ก็เหมือนอย่างว่าหลับกันอยู่ทั้งหมด ฝันกันอยู่ทั้งหมด
ทุกข์คือเกิดดับ
พระพุทธเจ้าครั้นได้ตรัสรู้ในสัจจะคือความจริง ทรงรู้จักทุกข์ ว่าสิ่งทั้งหมดที่เป็นมายาโลกเป็นอารมณ์โลกทั้งปวงนั้นเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ที่แสดงโดยบุคคลก็คือว่า ต้องเกิดแก่เจ็บตาย ต้องประจวบต้องพลัดพราก ปรารถนาไม่ได้สมหวัง รวมเข้าก็เป็นขันธโลก รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องตายต้องเจ็บ ต้องประจวบต้องพลัดพราก ต้องปรารถนาไม่ได้สมหวัง รวมเข้าก็คือต้องเกิดต้องดับ เป็นตัวทุกข์คือเป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่ในปัจจุบันนี้ เกิดก็ดับไปทีเดียว แต่ว่ามีเกิดขึ้นใหม่สืบเนื่องกันไม่ขาดสาย ทำให้เหมือนอย่างว่าเกิดอยู่เรื่อย ไม่ดับ
แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์คือเกิดดับนี้เป็นปัจจุบัน คู่กันไป เกิดดับ เกิดดับ จนถึงเห็นดับนำหน้า เห็นอะไรทุกอย่างที่มาทางตาก็ดี ทางหูก็ดีเป็นต้น เป็นความดับนำหน้าอยู่ทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงรู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหาดังกล่าว ทรงรู้จักนิโรธความดับทุกข์คือดับตัณหา ทรงรู้จักมรรคที่มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด รวมเข้าก็เป็นองค์ประกอบที่ให้เกิดญาณคือความหยั่งรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง กำจัดอวิชชาโมหะในจิตใจได้หมดสิ้น จึงทรงตื่นขึ้นทันที รู้สิ่งทั้งหมดในโลกนี้ที่เป็นมายาโลกเป็นอารมณ์โลก ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับหมด เพราะฉะนั้น จึงไม่มีหลงถือผิดอยู่ในอารมณ์โลกทั้งหลาย ไม่ยึดถือว่านั่นงามนั่นไม่งาม ที่เป็นที่ตั้งของชอบหรือชัง กล่าวตรงๆ ก็คือว่าไม่ยึดถือว่านั่นเราชอบ นั่นเราไม่ชอบ นั่นเป็นเรา นั่นเป็นของเรา ไม่มีความยึดถือทั้งหมด
พระพุทธเจ้าทรงตื่นขึ้นมาด้วยพระองค์เองดั่งนี้ ทรงเห็นสัจจะคือความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด โดยรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยประการทั้งปวง อวิชชาดับ โมหะดับ วิชชาบังเกิดขึ้น วิมุติความหลุดพ้นบังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นผู้ตื่นขึ้นในโลก ตื่นจากอวิชชาโมหะ ทรงรู้จักโลกตามความจริง ไม่ยึดถือโลกว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา
ก่อนที่จะทรงตื่นขึ้นด้วยความรู้ดั่งนี้ ก็ยังทรงหลับอยู่แล้วก็ฝันเห็น ก็เหมือนชาวโลกทั้งหลายที่เหมือนอย่างหลับฝันเห็น และยึดถือกันอยู่ แต่ครั้นทรงดับอวิชชาโมหะได้ด้วยปัญญาที่เป็นสัมโพธิญาณ จึงได้ทรงเห็นสัจจะคือความจริงทั้งหมด เหมือนอย่างตื่นขึ้นมาก็เห็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วนั้นเป็นความหลับฝันไปทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นความจริงอันใด จึงทรงเป็นผู้ตื่นขึ้น ทรงพ้นจากอำนาจโลกอำนาจมายาของโลก อยู่เหนือโลกที่เรียกว่าโลกุตระ นี้คือพุทโธผู้ตื่น ทรงตื่นขึ้นจริงๆ แล้วก็ตรัสสอนให้เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นผู้ตื่นขึ้น ดั่งนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงจะพ้นทุกข์ และพ้นทุกข์ได้จริงๆ พุทโธพ้นทุกข์ได้จริงๆ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ทำความสงบสืบต่อไป