แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ได้แสดงพระพุทธคุณนำมาโดยลำดับ ในวันนี้ก็จักแสดงพระพุทธคุณอีกบทหนึ่งนำ คือบทว่าพุทโธ พระพุทธคุณบทนี้พระอาจารย์ได้อธิบายไว้โดยย่อว่า ชื่อว่าพุทโธ หรือพุทธะ ด้วยสามารถแห่งญาณ คือความหยั่งรู้ซึ่งบังเกิดขึ้นในที่สุดแห่งวิโมกข์คือความหลุดพ้น เพราะรู้ญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ได้ทั้งหมดทุกอย่าง และท่านได้อธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า ชื่อว่าพุทโธเพราะรู้สัจจะทั้งหลาย และเพราะยังผู้อื่นให้รู้ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ดั่งนี้
โดยที่พระพุทธคุณบทนี้ก็มีถ้อยคำที่ใกล้เคียงกันกับบทว่าสัมมาสัมพุทโธ หรือสัมมาสัมพุทธะ และในพระพุทธคุณบทนั้นเป็นที่นับถือกันว่าเป็นพระพุทธคุณบทใหญ่คู่กับบทว่าอะระหัง ซึ่งเราทั้งหลายก็มาเรียกกันเป็นภาษาไทยว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ในพระพุทธคุณบทนี้ คือบทว่าสัมมาสัมพุทธะ ก็แปลกันว่าพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือพระผู้ตรัสรู้ชอบเอง ก็มีคำว่าพุทธะเป็นบทใหญ่ และมีบทประกอบว่าเองโดยชอบ หรือโดยชอบเอง และในคำว่าพุทโธหรือพุทธะของบทนี้ ก็มีอธิบายหลักว่ารู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง ทั้งมีความหมายถึงว่าสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ได้ด้วย คือตั้งพุทธศาสนาขึ้นได้ด้วย จึ่งเรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ ถ้าตรัสรู้เองชอบโดยลำพังพระองค์เอง มิได้สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มิได้ตั้งพุทธศาสนาขึ้น ก็เรียกว่าปัจเจกพุทธะ ดั่งที่เราเรียกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่แปลพระผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์เองพระองค์เดียว เมื่อสอนผู้อื่นด้วย ตั้งพุทธศาสนาขึ้นได้ จึ่งเรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะฉะนั้น แม้คำว่าพุทธะในคำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้ ก็มีความหมายถึงทั้งตรัสรู้เอง และทั้งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ตั้งพุทธศาสนาขึ้นได้ด้วย
ครั้นมาถึงบทว่าพุทโธ ก็มีอธิบายในความหมายหลักเช่นเดียวกัน ว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามซึ่งสัจจะทั้งหลาย และแม้ว่าท่านจะให้คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่าชื่อว่าพุทโธหรือพุทธะ ด้วยสามารถแห่งญาณคือความหยั่งรู้ อันเกิดขึ้นในที่สุดของวิโมกข์คือความหลุดพ้น เพราะรู้ญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ทุกอย่างได้ทั้งหมด มีคำว่าญายะธรรม หรือ เญยยะ ที่แปลว่าธรรมะที่พึงรู้หรือข้อที่พึงรู้ ซึ่งเป็นคำกลางๆ แต่ว่าเมื่อจะถามว่าอะไรเป็นข้อที่พึงรู้ก็ตอบได้ว่า ก็คือสัจจะความจริงของจริงของแท้ คือธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงนั้นเอง อันเป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ เป็นวิมุติคือความหลุดพ้น หรือที่เรียกว่าวิโมกข์ เรียกว่านิพพาน อันเป็นภูมิที่สุดอันพึงได้พึงถึงในพุทธศาสนา เป็นที่ดับแห่งกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น
ญายะธรรมธรรมะที่พึงรู้ ก็คือธรรมะที่พึงปฏิบัติให้ได้ให้ถึงมรรคผลนิพพาน อันเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ธรรมะดังกล่าวทุกข้อทุกบทเรียกว่าเป็นญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ทั้งนั้น ก็รวมเข้าโดยย่อในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง ทุกข์ก็เป็นญายะธรรม คือเป็นข้อที่พึงรู้ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็เป็นญายะธรรม เป็นข้อที่พึงรู้ ทุกขนิโรธความดับทุกข์ก็เป็นญายะธรรม ธรรมะที่พึงรู้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือมรรค ก็เป็นญาญะธรรม คือธรรมะที่พึงรู้ เพราะฉะนั้น แม้คำว่าญายะธรรมนี้ ก็ชี้มาถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้นเอง
พระพุทธเจ้าทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ในที่สุดแห่งวิมุติคือความหลุดพ้น หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่ามีวิมุติคือความหลุดพ้นเป็นที่สุดก็ได้ คือวิมุติความหลุดพ้น วิมุติญาณทัสสนะความรู้ความเห็นในความหลุดพ้น อันความรู้ความเห็นในวิมุติคือความหลุดพ้นนี้ตามลำดับของธรรมะ ย่อมเกิดในที่สุดแห่งวิมุติ ดังที่แสดงว่าเมื่อพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ก็ทรงแสดงอย่างนี้ และเมื่อแสดงถึงพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นพุทธสาวก ก็ทรงแสดงอย่างนี้
คือเมื่อกล่าวโดยลำดับเป็นธรรมขันธ์ คือกองแห่งธรรมะ อันจำแนกไว้ว่า สีลขันธ์กองศีล สมาธิขันธ์กองสมาธิ ปัญาขันธ์กองปัญญา วิมุติขันธ์กองวิมุติ วิมุติญาณทัสสนะขันธ์ กองแห่งญาณทัสสนะความรู้ความเห็นในวิมุติ ก็โดยอธิบายว่า ปฏิบัติมาในศีลในสมาธิในปัญญา จึงประสบวิมุติคือความหลุดพ้น คือจิตพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เมื่อพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว ความรู้ว่าพ้นแล้วนี้คือ วิมุติญาณทัสสนะ มีเป็นที่สุดของวิมุติ ท่านผู้รู้จบแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จบแล้ว ทรงเป็นพระพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลายรู้จบตามแล้ว เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็ย่อมรู้ว่าท่านพ้นแล้วแต่ละองค์
เพราะฉะนั้น เมื่อมาอธิบายจับเอาพระญาณข้อนี้เป็นเหตุให้ได้พระนามว่าพุทโธ ผู้รู้แล้ว ก็คือผู้รู้จบ เป็นความหมายที่ต้องการจะแสดงให้ชัดเจนถึงความรู้ของพระองค์ที่รู้จบนี้ ใช้คำว่ารู้จบคำเดียวอาจจะยังไม่พอ หากใช้ว่ารู้จบสิ้นก็จะได้ความที่ชัดขึ้น รู้จบหมดสิ้น ไม่มีรู้อื่นที่จะยิ่งขึ้นไปกว่า และจบสิ้นกิจที่จะพึงทำต่อไปเพื่อที่จะให้รู้เช่นนี้อีก ทั้งจบสิ้นกิเลส จบสิ้นกองทุกข์ทั้งสิ้น
พระองค์ทรงรู้จบสิ้นด้วยพระองค์เอง และสอนผู้อื่นให้รู้จบสิ้นได้ด้วย เมื่อสรุปอธิบายของพระอาจารย์ที่ท่านอธิบายไว้ ดังที่ยกมาข้างต้นนั้น เข้าในคำว่ารู้จบสิ้นดั่งนี้ ก็ย่อมจะทำให้มีความเห็นความเข้าใจ ที่พอจะเป็นเหตุผลว่าแยกออกมาอีกเป็นพระพุทธคุณอีกบทหนึ่งคือพุทโธ จากคำว่าสัมมาสัมพุทโธ มาเป็นพุทโธคำเดียว รู้จบสิ้นแล้ว ทั้งสอนให้ผู้อื่นรู้จบสิ้นได้ด้วย
และคำว่าพุทโธนี้ ก็เป็นคำที่เรียกพระพุทธเจ้าทั่วไป ดังที่เราทั้งหลายมาเรียกเป็นภาษาไทยว่าพระพุทธเจ้า ก็มาจากพระพุทธคุณบทว่าพุทโธนี้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำที่นิยมเรียกพระพุทธเจ้าโดยทั่วไป ตลอดถึงศาสนาของพระองค์ ก็เรียกว่าพุทธศาสนา ซึ่งคำนี้ก็มาจากพระโอวาทครั้งสำคัญของพระองค์ ที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งได้ตรัสไว้ว่า สัพพะ ปาปัสสะ อกรณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลัส สูปสัมปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตตะ ปริโย ทปนัง ชำระจิตของตนให้ผ่องใส เอตัง พุทธานสาสนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย คือเป็นพุทธศาสนาดั่งนี้
เพราะฉะนั้น คำว่าพุทโธนี้จึงเป็นคำที่ใช้มาก เป็นคำที่เรียกมาก เป็นที่รู้จะกันว่าเมื่อกล่าวว่าพุทธะหรือพุทโธ ก็หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ไม่ได้หมายถึงผู้อื่น และแม้ในการปฏิบัติกรรมฐาน พระอาจารย์ก็สอนให้บริกรรมว่าพุทโธ เช่น กำหนดลมหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธ เมื่อมาเป็นนามของรัตนะทั้ง ๓ ก็เรียกว่า พุทธะ ธัมมะ สังฆะ พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นคำที่เรียกทั่วไปเป็นที่รู้จัก ซึ่งมีความหมายอันสำคัญคือผู้รู้จบสิ้นแล้ว อีกคำหนึ่งผู้รู้พ้นแล้ว คำว่าพ้นกับคำว่าสิ้นนั้นก็มีความหมายในด้านสิ้นกิเลสพ้นกิเลส สิ้นทุกข์พ้นทุกข์ได้ด้วยกัน พุทโธผู้รู้จบสิ้นแล้ว พุทโธผู้รู้พ้นแล้ว
อนึ่ง พระอาจารย์ไทยเราท่านนิยมแปลคำว่าพุทโธอีกอย่างหนึ่งว่า ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว และมีอธิบายว่า เป็นผู้รู้ จนเป็นผู้ตื่น หรือเป็นผู้ตื่นด้วยความรู้ การอธิบายคำว่าพุทโธดั่งนี้ก็ได้ความถูกต้อง ทั้งโดยพยัญชนะคือถ้อยคำ ทั้งโดยอรรถะคือเนื้อความ เพราะคำว่าพุทธะนี้ท่านใช้ในภาษาบาลีว่าเป็นผู้ตื่นก็มี (เริ่ม) เพราะฉะนั้นมาอธิบายคำว่าพุทโธนี้ว่าเป็นผู้ตื่นดังกล่าวก็ย่อมเหมาะ ทำให้เห็นว่าเป็นพระพุทธคุณบทที่แตกต่างจากบทว่าสัมมาสัมพุทธะ ทั้งไม่ผิดพยัญชนะคือถ้อยคำด้วย
คำว่าตื่นหรือคำว่ารู้นี้ เมื่อพิจารณาแล้วก็ย่อมจะเห็นว่ามีเนื้อความอย่างเดียวกัน แต่ต้องเข้าใจว่าคำว่าตื่นนี้ ไม่ใช่หมายความว่าตื่นเต้นตื่นข่าว ซึ่งเป็นความหลง อย่างคำว่ามงคลตื่นข่าว คือการหลงถืออะไรว่าเป็นมงคลตามข่าวที่ลือกันที่พูดกัน เรียกว่ามงคลตื่นข่าว ดั่งนี้ ไม่ใช่ความหมายว่าตื่นในที่นี้
คำว่าตื่นในที่นี้หมายถึงตื่นจากหลับ ดังที่เรียกกันว่าตื่นนอน ตื่นจากหลับ เมื่อยังนอนหลับอยู่นั้นก็ไม่รู้อะไร เหมือนอย่างคนที่นอนหลับทั่วไปก็ไม่รู้อะไร ร่างกายพักผ่อน ตาหูก็พักผ่อน นอกจากจะฝันเห็น แต่ก็เรียกว่าเป็นความฝัน ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน อย่างคนที่ตื่นอยู่โดยธรรมดา เมื่อตื่นนอนคือตื่นจากหลับ ตาจึงจะเห็นอะไร หูได้ยินอะไร ตามปรกติธรรมดา เพราะฉะนั้น ตื่นดังกล่าวนี้จึงมีความหมายว่ารู้นั้นเอง เมื่อนอนหลับไม่รู้ไม่เห็นอะไร ตื่นขึ้นมาจากหลับจึงเห็นจึงรู้อะไรได้เป็นปรกติ ดั่งที่ทุกคนรู้เห็นอยู่ ดั่งนี้เรียกว่าตื่น ก็คือรู้นั้นเอง
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตื่นแล้ว ก็คือรู้จบสิ้นแล้ว รู้พ้นแล้วดังกล่าวนั้น และทรงเป็นผู้เบิกบานแล้วในคุณธรรมทั้งหลายเต็มที่ เหมือนอย่างดอกบัวที่บานเต็มที่ และแม้คำว่าเบิกบาน อันเทียบด้วยดอกบัวบานเต็มที่นี้ ก็มีความหมายถึงรู้จบสิ้น หรือรู้พ้นดังกล่าวอีกนั่นแหละ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาดูสัตว์โลก ทีแรกทรงเห็นว่าธรรมะที่ได้ตรัสรู้ลุ่มลึก จะไม่มีผู้อื่นรู้ตามได้ จึ่งได้ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อที่จะมีความขวนขวายน้อย คือไม่สอน เมื่อไม่สอนก็ไม่ตั้งพุทธศาสนา จึงเท่ากับว่าจะทรงเป็นพระปัจเจกพุทธะละ
แต่เมื่อได้ทรงพิจารณาดูสัตวโลก ก็ทรงเห็นว่ามีหลายจำพวก จำพวกที่สามารถรู้ได้เร็ว เหมือนดั่งดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว ต้องแสงอาทิตย์ก็จะเบิกบานขึ้นทันที ดั่งนี้ก็มี จำพวกที่จะต้องอธิบายจึงจะรู้ เหมือนอย่างดอกบัวที่เสมอน้ำ วันรุ่งขึ้นก็จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ต้องแสงอาทิตย์ก็จะบานขึ้นทันที ดังนี้ก็มี จำพวกที่ต้องอธิบายบ่อยๆ แนะนำบ่อยๆ จึงจะรู้ได้ เหมือนอย่างดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลงไป อีกวันสองวันก็จะโผล่ขึ้นมาบานได้ ก็มี จำพวกที่ทึบมากนักไม่อาจที่จะรู้ได้ เหมือนอย่างดอกบัวที่อยู่ก้นสระ จะต้องเป็นอาหารของปลาเต่า ไม่อาจที่จะโผล่ขึ้นมาบานได้ ดั่งนี้ก็มี
เมื่อทรงเห็นดั่งนี้จึงได้ทรงทำสังขาราธิษฐาน อธิษฐานพระหทัยที่จะดำรงชีวิตสังขารโปรดสัตวโลก คือโปรดเวไนยนิกรหมู่ชนที่จะพึงแนะนำอบรมได้ ๓ จำพวกข้างต้นนั้น ตั้งพุทธศาสนาให้ฝังรากลงในโลก ตั้งพุทธบริษัทภิกษุภิกษุณีอุบาสกอุบาสิกาขึ้นแล้ว จึงจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดั่งนี้เรียกว่าทรงทำสังขาราธิษฐาน ตั้งพระหฤทัยที่จะดำรงชีวิตสังขารประกาศพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น พุทโธผู้เบิกบานแล้วก็เหมือนอย่างดอกบัว ที่โผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ ต้องแสงอาทิตย์บานขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นดอกบัวดอกแรกในโลก ที่ได้รับแสงธรรมเบิกบานขึ้นแล้วในโลก และก็ทรงสั่งสอนเวไนยนิกร หมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้ให้บานตาม เพราะฉะนั้น จึงทรงได้พระนามว่าพุทโธ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป