แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าโลกวิทูผู้รู้โลก ได้แสดงพระพุทธคุณบทนี้ครั้งหนึ่งแล้ว โดยอธิบายที่พระอาจารย์ได้นำเอาพระพุทธพจน์ ที่ตรัสไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดโลก รู้จักความดับโลก รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก จึงทรงได้พระนามว่าโลกวิทูผู้รู้โลก อีกอย่างหนึ่งพระอาจารย์ได้อธิบายว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้สังขารโลก โลกคือสังขาร สัตตโลกหรือสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ และโอกาสโลก โลกคือโอกาสอันได้แก่พื้นพิภพ อีกอย่างหนึ่งเรียง โอกาสโลกไว้เป็นที่ ๑ สังขารโลกไว้เป็นที่ ๒ สัตตโลก หรือ สัตวโลกไว้เป็นที่ ๓
โอกาสโลก
จะได้แสดงอธิบายโดยนับ โอกาสโลก โลกคือโอกาสอันได้แก่พื้นพิภพเป็นอันดับที่ ๑ อันโอกาสโลก โลกคือโอกาส อันได้แก่พื้นพิภพนี้ ท่านใช้คำว่า โอกาส ซึ่งตามพยัญชนะก็แปลว่าเป็นที่ที่ไถได้ หรือว่าขีดได้ ที่แปลว่าเป็นที่ที่ไถได้นั้น ก็โดยที่มีมูลธาตุของศัพท์เช่นเดียวกับคำว่า กสิ ในคำว่ากสิกรรม ที่ว่าการงานคือการไถ อันหมายถึงการทำนา และคำว่าโอกาสก็เป็นธาตุอันเดียวกับกสิกรรมนั่นแหละ คือเป็นที่ที่ไถได้ ขีดได้ โดยที่เป็นพื้นแผ่นดินเป็นวัตถุ ตรงกันข้ามกับคำว่า อากาส ที่แปลกันว่าช่องว่าง ตามพยัญชนะก็แปลว่าเป็นที่ที่ไถไม่ได้ ขีดไม่ได้ เหมือนดังในอากาศที่รู้จักกัน จะขีดอะไรในอากาศให้ปรากฏเป็นรอยก็ขีดไม่ได้ จะไถหว่านอะไรในอากาศก็ไม่ได้ เพราะเป็นช่องว่าง ส่วนคำว่าโอกาสนี้เป็นที่ที่ไถหว่านได้ ดังเป็นพื้นแผ่นดิน เป็นที่ไถหว่าน เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นชื่อของโลกโดยใช้คำว่าโอกาสโลกโลกคือโอกาส จึงหมายถึงพื้นพิภพ ที่ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ส่องสว่างปรากฏอยู่นี้ ทั้งหมดก็รวมก็เรียกว่าโอกาสโลก
พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้โอกาสโลก โลกคือพื้นพิภพด้วยความรู้โดยสามัญ ดังที่ได้เสด็จจาริกไปสู่รัฐ สู่คามนิคมชนบทนั้นๆ อันเป็นที่ตั้งของเมืองของบ้านนั้นๆ และได้ทรงรู้โอกาสโลกโดยเป็นธาตุดินน้ำไฟลมซึ่งเป็นส่วนใหญ่ อันเป็นที่ก่อเกิดขึ้นของสังขารทั้งหลาย และแม้พื้นพิภพที่ปรากฏแก่ตาหูเป็นต้น ที่เรียกว่าเป็นธาตุดินน้ำไฟลมสำหรับพิจารณาในทางกรรมฐาน ก็คงเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งอยู่นั่นเอง แต่ก็ต้องมีส่วนที่เป็นธาตุแท้ของส่วนสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนละเอียด
โลกิยะ โลกุตระ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้โอกาสโลก ทรงรู้จักโอกาสโลกคือพื้นพิภพ ทั้งโดยสามัญ ทั้งโดยพิเศษอย่างยิ่ง คือโดยเป็นธาตุอย่างแท้จริง และพระองค์ตรัสรู้ด้วยความรู้ที่พรากออกจากสิ่งที่รู้ คือไม่ยึดถืออยู่ในสิ่งที่รู้ โดยเป็นเราเป็นของเรา แต่เป็นความรู้ที่พรากออก เพราะฉะนั้น จึงทรงรู้จัก แต่ว่าไม่ติดไม่ยึด จึงไม่เป็นโลกิยะ หรือโลกีย์ที่แปลว่ายึดอยู่กับโลก เกี่ยวอยู่กับโลก แต่เป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก คือรู้และพรากออกได้ พ้นได้ ไม่ติดไม่ยึด
สังขารโลก
( เริ่ม) สังขารโลก โลกคือสังขาร อันได้แก่สิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย ก็ได้แก่ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ตลอดจนถึงหมู่สัตว์ ซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งหลาย จากพื้นพิภพนี้ มาเป็นสิ่งนั้นมาเป็นสิ่งนี้ เช่นมาเป็นต้นไม้เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำลำคลอง มาเป็นหมู่สัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน ซึ่งต่างดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สังขารโลก โลกคือสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งปวง พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้บังเกิดเป็นสังขารต่างๆ ขึ้น ดังที่ท่านพระอาจารย์ได้ยกมาจำแนกไว้เป็นต้นว่า
ทรงรู้จักโลกที่มี ๑ ก็คือข้อที่สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร
ทรงรู้จักโลก ๒ คือนาม ๑ รูป ๑
ทรงรู้จักโลก ๓ ก็คือเวทนาทั้ง ๓
ทรงรู้จักโลก ๔ ก็คืออาหารทั้ง ๔
ทรงรู้จักโลก ๕ ก็คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕
ทรงรู้จักโลก ๖ ก็คืออายตนะทั้ง ๖
ทรงรู้จักโลก ๗ ก็คือวิญญาณฐิติที่ตั้งแห่งวิญญาณ ๗
ทรงรู้จักโลก ๘ ก็คือโลกธรรมทั้ง ๘
ทรงรู้จักโลก ๙ ก็คือสัตตาวาสที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้ง ๙
ทรงรู้จักโลก ๑๐ ก็คืออายตนะทั้ง ๑๐
ทรงรู้จักโลก ๑๒ ก็คืออายตนะ ๑๒
ทรงรู้จักโลก ๑๘ ก็คือธาตุ ๑๘ ธาตุ ๑๘ นั้นก็ได้แก่ธาตุคืออายตนะภายใน ๖ ธาตุคืออายตนะภายนอก ๖ ธาตุคือวิญญาณที่รู้ทางอายตนะอีก ๖ ก็รวมเป็น ๑๘
แม้สังขารโลกพระองค์ได้ตรัสรู้ และพรากออกไม่ยึดถือ ไม่เกี่ยวข้อง จึงทรงเป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก ทรงพ้นโลก ส่วนผู้ที่รู้จักสังขารโลกและยังยึดถือ ยังไม่พรากจิตออกได้ ก็เรียกว่าเป็นโลกิยะ หรือโลกีย์เกี่ยวอยู่กับโลก
สัตตโลก สัตวโลก
สัตตโลกหรือสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้จักสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ทุกจำพวก โดยที่ได้ทรงรู้จักอาศยะหรืออาศัย คือที่อาศัยของจิต เป็นฝ่ายดีบ้าง เป็นฝ่ายชั่วบ้าง เมื่อเป็นกิเลสก็เป็นที่อาศัยฝ่ายชั่ว เมื่อเป็นบารมีเป็นคุณธรรมก็เป็นที่อาศัยฝ่ายดี ทรงรู้จักอนุสัยคือกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของสัตวโลกทั้งหลาย ทรงรู้จักจริตอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย
ทรงรู้จัก อธิมุติ คือความน้อมไป ความเอนเอียงไปแห่งจิตของสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้จักผงคือกิเลสที่เข้าตาใจของสัตว์ทั้งหลายว่าผู้ใดมีน้อย ผู้ใดมีมาก ทรงรู้จักอินทรีย์คือธรรมะที่ครองจิตใจ อันได้แก่ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ของสัตว์ทั้งหลายว่าใครมีแก่กล้า ใครมีอ่อน ได้ทรงรู้จักอาการของสัตว์ทั้งหลายว่าใครมีอาการดี ใครมีอาการไม่ดี ทรงรู้จักพื้นแห่งปัญญาของสัตว์ทั้งหลายว่าใครรู้ได้ง่าย ใครรู้ได้ยาก
ทรงรู้จักพื้นภูมิของสัตว์ทั้งหลาย อันเกี่ยวแก่กิเลส เกี่ยวแก่กรรม เกี่ยวแก่ปัญญาเป็นต้น ว่าใครเป็นภัพพสัตว์คือเป็นสัตว์ที่สมควรที่จะรับธรรมะ บรรลุถึงธรรมะได้ ใครเป็นสัตว์ที่เป็นอภัพพะคือไม่สมควร ที่เรียกว่าอาภัพ ไม่สามารถที่จะรับธรรมะ ที่จะเข้าถึงธรรมะได้ พระองค์ได้ทรงรู้จักสัตวโลกโดยอาการที่ท่านพระอาจารย์ได้ยกมาดังที่กล่าวนี้ และมิได้รู้ติดหรือว่ารู้ยึด ได้ทรงรู้พรากออกได้ จึงทรงเป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้โลก โดยที่ทรงรู้จักโอกาสโลก โลกคือโอกาสอันได้แก่พื้นพิภพ ทรงรู้จักสังขารโลก โลกคือสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย ทรงรู้จักสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ มิได้ทรงรู้ติดรู้ยึด ผู้ที่รู้ติดรู้ยึดย่อมเป็นโลกิยะหรือโลกีย์ เกี่ยวข้องอยู่กับโลกติดอยู่กับโลก แต่เพราะทรงรู้พราก คือจิตของพระองค์พรากออกได้จากโลก จึงเป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก อยู่เหนือโอกาสโลก อยู่เหนือสังขารโลก อยู่เหนือสัตวโลก ทรงพ้นจากโลกทั้งหมด และความตรัสรู้โลกของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงปฏิบัติพุทธกิจที่เป็นอรรถะจริยา ประพฤติประโยชน์กระทำประโยชน์แก่โลก กระทำประโยชน์โดยที่ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน โปรดสัตว์โลก โปรดให้สัตว์โลกคือหมู่สัตว์ที่เป็นภัพพสัตว์คือสัตว์ผู้ที่สมควร เป็นเวไนยยะคือผู้ที่แนะนำได้ ให้รู้สัจจะคือความจริงที่ทรงสั่งสอน ทำกิเลสและกองทุกข์ให้บันเทาเบาบาง หรือให้สิ้นไปได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง เพราะเหตุที่ทรงรู้จักโลกดังกล่าวนี้เอง
โลกโดยสมมติ โลกโดยปรมัตถ์
อนึ่ง ความรู้จักโลกนั้น ก็อาจจะประมวลย่อเข้าได้ว่า คือรู้จักโลกโดยสมมติ กับรู้จักโลกโดยปรมัตถ์ รู้จักโลกโดยสมมตินั้น ก็คือรู้จักโลกโดยที่แยกออกโดยส่วนใหญ่ เป็นโอกาสโลก เป็นสังขารโลก เป็นสัตวโลก และแยกละเอียดออกไปอีก โอกาสโลกก็แยกออกเป็นพื้นพิภพส่วนนั้นส่วนนี้ สังขารโลกก็แยกออกเป็นสังขารประเภทต่างๆ ซึ่งบางจำพวกก็มีใจครอง บางจำพวกก็ไม่มีใจครอง และแม้สัตวโลก หมู่สัตว์ก็แยกออกไปต่างๆ ในหมู่มนุษย์หมู่เดรัจฉานที่เห็นๆ กันอยู่นี้เอง ก็ยังแยกออกไปอีกมากมาย และเมื่อแยกสรุปดังที่ตรัสแสดงเอาไว้ ก็ได้แก่หมู่สัตว์เมื่อนับจากต่ำขึ้นมา ก็เป็นหมู่สัตว์ในอบายภูมิ หมู่สัตว์ในสุคติภูมิคือหมู่มนุษย์ และที่สูงขึ้นไปก็หมู่เทพหมู่พรหมทั้งหลาย ซึ่งรวมเข้าที่ตรัสแสดงไว้ก็เป็นวิญญาณฐิติ ที่ตั้งของวิญญาณ ๗ หรือสัตตาวาส ที่อยู่อาศัยของสัตว์ ๙
และก็ได้ตรัสเอาไว้ในอรูปฌานโดยยกข้อขึ้นพิจารณา ในข้อที่ว่าอากาศไม่มีที่สุด วิญญาณไม่มีที่สุด ในข้อว่าวิญญาณไม่มีที่สุดนี้ ก็แสดงว่าวิญญาณมีมากมายหาที่สุดมิได้ ก็วิญญาณอันหาที่สุดมิได้นี้เองซึ่งรวมอยู่ในคำว่าสัตตโลก หรือสัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ ซึ่งวนเวียนเกิดแก่ตาย จุติคือเคลื่อนออกจากกายที่แตกสลาย อุปบัติคือเข้าถึงภพชาติใหม่ ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้
ดังที่ปรากฏแก่พระญาณของพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ซึ่งทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณที่รู้ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ ดังที่เรียกสั้นๆ ว่าระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ ญาณที่รู้จุติคือความเคลื่อน และอุปบัติคือความเข้าถึงชาติภพนั้นของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม และอาสวักขยญาณ ญาณที่รู้ความสิ้นไป หรือญาณคือความรู้เป็นเหตุสิ้นไปของอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน อันได้แก่รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อีกอย่างหนึ่งก็คือรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดโลก รู้จักความดับโลก รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก และได้ทรงรู้จักอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน รู้จักเหตุเกิดอาสวะ รู้จักความดับอาสวะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น จึงทรงตรัสรู้โลกนี้เอง และก็ทรงนำความตรัสรู้นี้มาสอนโลก คือทรงนำความรู้ที่ทรงรู้จักโอกาสโลก สังขารโลก สัตวโลก มาทรงสอนโลก คือทรงสอนสัตวโลกให้บรรลุสุขประโยชน์ตามภูมิตามชั้น ตามแต่สัตวโลกนั้นๆ จะมีความเป็นภัพพบุคคล คือบุคคลผู้ที่สมควรเพียงไร หรือเป็นเวไนยยะจะพึงแนะนำได้เพียงไร และซึ่งเป็นปุริสทัมมะคือเป็นบุคคลที่ฝึกได้เพียงไร
พระองค์ได้ทรงรู้โลกโดยสมมติต่างๆ และได้ทรงรู้จักโลกปรมัตถ์ คือโดยที่ชื่อว่าโลกนี้ก็เพราะเป็นสิ่งที่ชำรุด สิ่งใดที่ชำรุดสิ่งนั้นได้ชื่อว่าเป็นโลก เพราะฉะนั้นที่ขึ้นชื่อว่าโลกจะมีสมมติบัญญัติเรียกว่าอะไร เช่นเรียกว่า โอกาสโลก สังขารโลก สัตวโลก หรือเรียกย่อยออกไปเป็นอย่างอื่นอย่างไรก็ตาม แต่ก็รวมเข้าในคำเดียวว่าชำรุด เพราะฉะนั้น อรรถะที่เป็นปรมัตถ์คือที่เป็นเนื้อความอย่างละเอียดที่สุด ย่อที่สุดของโลกก็คือว่าชำรุด สิ่งใดชำรุดสิ่งนั้นได้ชื่อว่าโลก
และตรงกันข้ามกับธรรมะ สิ่งใดที่ดำรงอยู่สิ่งนั้นได้ชื่อว่าธรรม เพราะฉะนั้น โลกจึงเป็นสิ่งที่ชำรุด ธรรมจึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ ก็ได้แก่สัจจะที่เป็นตัวความจริง ตลอดจนถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น โลกโดยปรมัตถ์จึงเป็นสิ่งที่ชำรุด เป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่ชื่อว่าทุกขะเป็นทุกข์ คือดำรงอยู่คงที่มิได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน คือมิใช่เรามิใช่เป็นของเรา จะบังให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงรู้จักโลกดั่งนี้ จึงได้ชื่อว่าโลกวิทูผู้รู้โลก
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป