แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าวิชชาจรณสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นวิชชาสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ซึ่งได้แสดงอธิบายแล้ว จึงจะแสดงจรณะสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ
จรณะ ๑๐
คำว่าจรณะนี้แปลกันว่าข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา ใน อัมพัทธสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เองเป็น ๑๐ ประการ คือ สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ถึงพร้อมด้วย สติ สัมปชัญญะ สันโดษ เสพเสนาสนะอันสงัด ชำระจิตจาก นิวรณ์ ทั้งหลาย รวมเป็น ๖ ข้อ และรูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔ อีก ๔ ข้อ ก็รวมเป็น ๑๐ ประการหรือ ๑๐ ข้อ
สีลสัมปทา อินทรียสังวร
สีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล ได้ตรัสแสดงไว้สำหรับภิกษุ ก็คือถึงพร้อมด้วยศีล อันได้แก่สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระความประพฤติและโคจรคือที่เที่ยว มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย และได้ตรัสแสดงสีลสัมปทา คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ไว้อีกโดยพิสดาร ศีลนี้เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชา เป็นข้อที่ ๑
อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ อันได้แก่มีสติรักษาตาในขณะที่ประจวบกับรูป หูในขณะที่ประจวบกับเสียง จมูกในขณะที่ประจวบกับกลิ่น ลิ้นในขณะที่ประจวบกับรส ( เริ่ม ) ...กายในขณะที่ประจวบกับโผฏฐัพพะ และมโนหรือมนะคือใจ ในขณะที่ประจวบกับธรรมะคือเรื่องราว โดยมีสติรักษาไว้ คือรักษาใจนี้เอง มิให้ยึดถือรูปที่ตาเห็นเสียงที่หูได้ยินเป็นต้นนั้น โดยนิมิตคือทั้งหมด หรือโดยอนุพยัญชนะคือบางส่วน มิให้อาสวะคือกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ระบุไว้ก็คือความยินดีความยินร้ายไหลเข้าสู่จิตใจ ให้สิ่งที่ตาเห็น สิ่งที่หูได้ยินเป็นต้นนั้นตกอยู่แค่ตาแค่หู จึงเป็นสักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้เห็นเป็นต้น ไม่ยึดถือให้กิเลสอกุศลธรรมทั้งหลายเข้าสู่จิตใจ เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๒
สติ สัมปชัญญะ
ถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ สติก็คือความระลึกได้ สัมปชัญญะก็คือความรู้ตัว ในอารมณ์ทั้งหลาย ในอิริยาบถทั้งหลาย สติคือความระลึกได้นี้เมื่อมีอยู่ ก็จะทำให้มีความรู้ตัว และความรู้ตัวนี้เมื่อมีอยู่ ก็จะทำให้มีสติความระลึกได้ ทั้งสองนี้จึงต้องอาศัยกัน ประกอบกันเป็นไป แม้ว่าจะยกขึ้นกล่าวเพียงข้อเดียวว่าสติ ก็จะต้องมีสัมปชัญญะรวมอยู่ด้วย หรือจะยกสัมปชัญญะขึ้นกล่าว ก็ต้องมีสติรวมอยู่ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หายใจเข้าหายใจออก เมื่อสติไม่กำหนดก็ย่อมไม่มีความรู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก ดั่งโดยปรกตินั้นทุกคนมักจะไม่ได้นึกถึงลมหายใจเข้าออกของตน เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออกอยู่ ต่อเมื่อมีสติกำหนดที่ลมหายใจ จึงมีความรู้ตัวอยู่ในลมหายใจ และในขณะที่มีความรู้ตัวอยู่ในลมหายใจนี้ สติก็ย่อมกำหนดอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะจึงต้องอิงอยู่กับสติ และสติก็ต้องอิงอยู่กับสัมปชัญญะคู่กันไป สติที่มีสัมปชัญญะจึงเป็นสติที่สมบูรณ์ สัมปชัญญะที่มีสติจึงเป็นสัมปชัญญะที่สมบูรณ์
และความถึงพร้อมด้วยสัมปชัญญะนี้ ก็ให้มีอยู่ในการที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิด และในการที่กำลังทำ ในการที่กำลังพูด ในการที่กำลังคิด ตลอดจนถึงในการที่ทำแล้วพูดแล้วคิดแล้ว และให้มีในสัมปชัญญะยืนเดินนั่งนอน ซึ่งในข้อนี้ท่านยกสัมปชัญญะขึ้นเป็นหัวหน้า ว่าให้มีความรู้ตัว คือเมื่อเดินก็รู้ตัวว่าเดิน เมื่อยืนเมื่อนั่งเมื่อนอน ก็รู้ตัวว่ายืนนั่งนอน หรือเมื่อเยื้องกรายในอิริยาบถเล็กน้อย เช่นก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง แลเหลียว เหยียดอวัยวะออกไป คู้อวัยวะเข้ามา นุ่งห่มกินดื่มลิ้มเรียกว่านำเข้า ขับถ่ายเรียกว่านำออก และรวมทั้งในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการนอน ในการหลับ ในการตื่น ในการพูด ในการนิ่ง ทั้งหมด ก็ให้มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว สำหรับในอิริยาบถใหญ่ในอิริยาบถน้อยดั่งนี้ ท่านยกเอาสัมปชัญญะขึ้นเป็นหัวหน้า
แต่ก็ต้องมีสติด้วย คือเมื่อจะทำอิริยาบถ หรือผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอันใด ก็ให้มีสติกำหนดอยู่ในการทำในการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอันนั้น จึงจะมีความรู้ตัวในอิริยาบถที่ทำ ในอิริยาบถที่ผลัดเปลี่ยน หัดให้มีสติสัมปชัญญะอยู่กับตนให้มากหรือให้เสมอ และเมื่อเสมอได้จึงจะมีสติสมบูรณ์ ที่ท่านแสดงว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติสมบูรณ์ แต่เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็บกพร่องน้อยบ้างมากบ้าง แต่ก็ต้องพยายามหัดปฏิบัติให้มีสติมากที่สุด พร้อมทั้งสัมปชัญญะรักษาตน ให้เป็น สติเนปักกะ ที่แปลว่ามีสติรักษาตน เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๓
สันโดษ
สันโดษคือความยินดีพอใจด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย คืออาหารผ้านุ่งห่มที่อยู่อาศัยยาแก้ไข้ ตลอดถึงในสิ่งอื่นที่พึงได้พึงถึงทั้งหลาย หรือที่ได้ที่ถึงทั้งหลายตามมีตามได้ ท่านเรียกว่า ยถาลาภะสันโดษ และพระอาจารย์ยังได้แสดงอธิบาย ตลอดจนถึงความยินดีพอใจตามกำลัง อันเรียกว่า ยถาพละสันโดษ ความยินดีพอใจตามที่ถูกที่ควร อันเรียกว่า ยถาสาริปสันโดษ เป็นจรณะคือเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๔
กายวิเวก
เสพเสนาสนะอันสงัด ก็คือที่นอนที่นั่งอันสงัด เป็นต้นว่าป่าโคนไม้เรือนว่าง หรือที่ใดที่หนึ่งอันเป็นที่สงัด เป็นกายวิเวกสงัดกาย และเป็นไปเพื่อจิตตวิเวกสงัดจิต อุปธิวิเวกสงัดกิเลส เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๕
เปลื้องจิตจากนิวรณ์ ๕
เปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้ง ๕ นิวรณ์คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบ และทำปัญญาคือความรู้ให้อ่อน จึงเป็นเครื่องกั้นมิให้ได้สมาธิ มิให้ได้ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง มี ๕ คือ ๑ กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย อันเรียกว่าวัตถุกาม ด้วยอำนาจของกิเลสกาม คือตัวความใคร่ความติดใจยินดี ความปรารถนาต้องการ นิวรณ์ข้อนี้มีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็เหมือนอย่างคนที่เป็นหนี้เขา ก็ต้องส่งดอกแก่เจ้าหนี้อยู่เสมอ ฉันใดก็ดี คนที่ถูกกามฉันท์ครอบงำ ก็ทำให้ต้องแสวงหาวัตถุกามทั้งหลาย ส่งกิเลสกาม หรือบำเรอกิเลสกามในจิตใจของตน เหมือนอย่างต้องคอยส่งดอกแก่เจ้าหนี้อยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตใจยังถูกกามฉันท์ครอบงำอยู่ จึงเหมือนอย่างเป็นลูกหนี้ ที่ต้องหาใส่เสนอบำเรอส่งเจ้าหนี้ คือส่งดอกแก่เจ้าหนี้อยู่ตลอดไป
แต่เมื่อเปลื้องจิตจากกามฉันท์เสียได้ โดยที่มาปฏิบัติกำหนดอยู่ในอสุภะนิมิต คือเครื่องกำหนดว่าไม่งาม ในสิ่งที่เป็นอารมณ์ของกามฉันท์นั้น คือกามฉันท์นั้นย่อมเกิดจากความที่มายึดถือ ในสิ่งที่เป็นอารมณ์ของกามฉันท์ว่างาม อันเรียกว่าสุภะนิมิต แต่เมื่อมาปฏิบัติกำหนดลงไปในสิ่งนั้นว่าไม่งาม คือให้เห็นอสุภะนิมิตขึ้น กามฉันท์ก็สงบลงไปได้ ก็เป็นอันว่าเปลื้องหนี้ได้ ไม่ต้องหาวัตถุกามมาส่งดอก แก่เจ้าหนี้ คือกิเลสกามในใจตัวเอง
นิวรณ์ข้อต่อไปก็คือพยาบาท ความโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงมุ่งล้างผลาญให้วิบัติ เมื่อบังเกิดขึ้นในจิตใจ ย่อมทำให้จิตใจรุ่มร้อนไม่สงบ เพราะโทสะนี้ย่อมเสียดแทงจิตใจเหมือนอย่างโรคร้ายที่บังเกิดขึ้นเสียดแทงร่างกาย ทำให้เกิดทุกขเวทนาแรงกล้าตามกำลังของโรค น้อยหรือมาก
โทสะก็เสียดแทงจิตใจให้เจ็บปวดรวดร้าว น้อยหรือมากเหมือนอย่างโรค แต่ว่าเมื่อมาปฏิบัติอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น เมื่อเมตตาบังเกิดขึ้นได้ จิตก็จะพ้นจากพยาบาทได้ เปลื้องจิตจากพยาบาทได้ เพราะฉะนั้นเมตตาจึงเรียกว่า เมตตาเจโตวิมุติ และเมตตานี้เองย่อมดับปฏิฆะนิมิต คือความกำหนดหมายกระทบกระทั่ง อันเป็นมูลของโทสะพยาบาทเสียได้ เมตตาบังเกิดขึ้นแทน ก็เปลื้องโทสะได้ เมตตาที่เปลื้องโทสะนี้ได้ก็เป็นเมตตาเจโตวิมุติ ก็เหมือนอย่างคนที่เป็นโรค ก็พ้นจากโรคได้ หายโรคได้
นิวรณ์ข้อต่อไปก็คือถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม เมื่อบังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็ทำให้กายและจิตใจอ่อนแอท้อแท้ ไม่เข้มแข็งที่จะลุกขึ้นประกอบกรณียะ คือกิจที่ควรทำทั้งหลาย จึงเป็นเหมือนอย่างเรือนจำ ซึ่งเมื่อต้องโทษติดอยู่ในเรือนจำ ก็ต้องนั่งเหงาง่วงอยู่ในเรือนจำ จะไปไหนก็ไม่ได้ แม้ว่าจะต้องทำการงาน ก็ทำการงานตามที่ผู้คุมบังคับ ไม่ปรารถนาจะทำก็ต้องทำ น่าเบื่อหน่าย
ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติเปลื้องจิตจากถีนมิทธะได้ ด้วยการที่มาทำอาโลกะสัญญาความสำคัญหมายว่าสว่าง ทำจิตใจให้สว่าง หรือว่าทำจิตใจให้เข้มแข็งขึ้นด้วยธาตุของความเพียร คืออารัมภธาตุ เริ่มจับทำกรณียะคือกิจที่ควรทำ ในขณะที่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ลุกไม่ขึ้นจากที่นอน ลุกไม่ขึ้นจากที่นั่ง ก็ทำจิตใจให้เข้มแข็งลุกขึ้นมา เริ่มจับทำกิจที่ควรทำทันที ไม่ตามใจคือไม่ตามอำนาจของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ก็เป็นอันว่าได้จับความเพียรทีแรก ดั่งนี้เป็นอารัมภธาตุ และเมื่อเริ่มขึ้นแล้วก็ต่อไปก็เป็นนิคมธาตุ และก็ก้าวไปทีละขั้นๆ ข้างหน้าไม่ถอยหลัง ก็เป็นปรักมธาตุ จนบรรลุความสำเร็จ ดั่งนี้ก็เป็นเครื่องแก้ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งบังเกิดขึ้นจากเหตุหลายอย่าง เช่น บังเกิดขึ้นจากความที่ซึมเซา บังเกิดขึ้นจากการที่พึ่งบริโภคอาหารเหล่านี้เป็นต้น แต่ว่าก็สามารถที่จะเปลื้องจิตจากความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้ ก็เหมือนอย่างพ้นจากเรือนจำได้ เป็นอิสระเสรี
นิวรณ์ข้อต่อไปก็คืออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ย่อมบังเกิดขึ้นจากเรื่องที่ทำให้ฟุ้งซ่านรำคาญใจทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก และเมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว จิตใจนี้ก็เหมือนอย่างเป็นทาส ก็เพราะว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ ก็จะส่งใจนี้ให้ซัดส่ายไปโน่น ซัดส่ายไปนี่ ไม่หยุดอยู่กับที่ได้ ก็เหมือนอย่างทาสที่ถูกนายสั่ง ใช้ให้ทำงานโน่นให้ทำงานนี่ ให้ไปโน่น ให้ไปนี่ อยากจะหยุดนั่งพักบ้าง อยากจะนอนบ้าง ก็ไม่ได้ เพราะเป็นทาสเขา เมื่อนายเขาสั่งให้ไปไหน ให้ทำอะไร ก็ต้องทำ จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ก็ถูกความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ส่งให้ซัดส่ายไปต่างๆ ไม่มีเวลาที่จะหยุด จนถึงเครียดไปเครียดมาในเรื่องทั้งหลายเป็นอันมาก
แต่เมื่อมาปฏิบัติเปลื้องจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ด้วยมากำหนดในสมถะนิมิต เครื่องกำหนดหมายที่ทำให้จิตสงบ เครื่องกำหนดหมายที่ทำให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ไม่มีอารมณ์มาก เช่นสติกำหนดลมหายใจเข้าออก รวมอยู่เป็นอารมณ์เดียว ก็จะเปลื้องจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ก็เหมือนอย่างว่าเปลื้องตนออกจากความเป็นทาสเขาได้
ข้อต่อไปก็คือ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจ อันบังเกิดขึ้นจากเรื่องอันเป็นที่ตั้งของวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก เช่นบางทีก็คิดไปว่า เมื่อก่อนนี้เราเป็นอะไรมาจากไหน เดี๋ยวนี้เราเป็นอะไร และต่อไปเราจะเป็นอะไร ดั่งนี้เป็นต้น
ตลอดจนถึงเรื่องที่ไม่น่าจะคิดต่างๆ อีกเป็นอันมาก ที่ชอบนำเอามาคิด ก็ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย เมื่อบังเกิดขึ้นครอบงำใจ ก็ทำให้จิตใจนี้ไม่ได้ข้อตกลงที่แน่นอน เต็มไปด้วยความสงสัยว่าอะไรจะเป็นอะไร เป็นอันว่าจะทำอะไรก็ทำไปไม่ได้สะดวก เพราะมัวสงสัยอยู่ เช่นว่าจะทำยังไง จะมีผลอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น ก็เป็นอันว่าทำให้ไม่ได้ความแน่นอนใจ ทำให้ขาดความเชื่อในตัวเอง ที่จะทำอะไรลงไปให้ถูกต้อง ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่าเดินทางไกล เพราะว่าการเดินทางไกลนั้น จะต้องเดินนานกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง และถ้ายิ่งหลงทางก็ยิ่งเป็นอันว่าไปไกลหนักขึ้น
วิจิกิจฉาก็เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถที่จะถึงข้อตัดสินใจได้ หรือว่าข้อยุติลงได้ ว่านั่นเป็นนี่ นี่เป็นนั่น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เหมือนอย่างเดินทางไกลที่ไม่รู้จักถึงสักทีหนึ่ง แต่ว่าเมื่อมาเปลื้องความสงสัยเสียได้ ด้วยใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาจับเหตุจับผลมาใส่ใจ ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล หรืออะไรเป็นผลอะไรเป็นเหตุ ให้ถูกต้อง ตลอดจนถึงศึกษาสำเหนียกไต่ถามท่านผู้รู้ และนำมาไตร่ตรองพิจารณาและมาปฏิบัติ ก็จะทำให้สามารถพบข้อยุติได้ ได้ความตกลงใจได้ จะทำให้ได้ความเชื่อมั่นในตนเอง ในอันที่จะทำอะไรลงไป
( เริ่ม ) เพราะฉะนั้น วิจิกิจฉานี้จึงเป็นโทษมาก ในกิจการเป็นอันมาก ที่ถ้ามัวลังเลๆ อยู่แล้วก็เป็นอันว่า ทำอะไรไม่ได้ ทำให้ไม่ทันการไม่ทันเวลา และมีเหตุการณ์เป็นอันมากที่จะต้องตัดสินใจฉับพลัน แต่ว่าถ้ามีวิจิกิจฉาอยู่แล้วก็ตัดสินใจไม่ได้ ขาดข้อตกลงใจ ทำให้เป็นอันว่าล่วงขณะไป ซึ่งมีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีขณะล่วงไปแล้วย่อมเศร้าโศก คือย่อมเป็นทุกข์ ดั่งนี้ ก็วิจิกิจฉานี้เองเป็นข้อสำคัญ ก็เหมือนอย่างเดินทางไกลไม่รู้จักถึงกันสักทีหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อเปลื้องวิจิกิจฉาเสียได้ ก็เป็นอันว่าเดินทางถึงกันซะทีหนึ่ง
การปฏิบัติเปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ นับเป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๖ และรูปฌานที่๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อีก ๔ ข้อ รวมเป็น ๑๐ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาไว้เองในอัมพัทธสูตร
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป